แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด

ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ว่าด้วยเวทนา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว 👉ว่าด้วยกาม ,👉ว่าด้วยรูป

เมื่อเหล่าภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล นับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ถูกเหล่าเดียรถีย์นักบวชนอกศาสนา ตั้งคำถาม ถามขึ้นมาว่า "พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้ในกาม กำหนดรู้ในรูป กำหนดรู้ในเวทนา กำหนดรู้พวกนี้สำนักเราก็กำหนดรู้ได้ แล้วมันจะต่างอะไรกันกับสำนักท่าน ที่พระพระสมณโคดมเป็นผู้กำหนด"

เหล่าภิกษุผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอริยบุคคล ไม่มีใครสามารถตอบคำถามหรือทำลายวาทะจาบจ้วงตีเสมอของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้สักคน เลยได้แต่นั่งนิ่ง คอตก หลบสายตา รอเวลาออกบิณฑบาตร เมื่อฉันภัตเสร็จกิจเรียบร้อยแล้วเหล่าภิกษุ จึงเข้าไปถามหาคำตอบถึงความแตกต่างในเรื่อง กาม รูป เวทนา จากพระพุทธองค์

🔅ว่าด้วยเรื่องของ เวทนา

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ในสมัยใด ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยใด ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ในสมัยใด ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่ามีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็น โทษของเวทนาทั้งหลาย"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย การกำจัด การละฉันทราคะ ของเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย"


🙏 อรรถาธิบาย
ให้สังเกตุตามหลักอิทัปปัจจยตาใน👉ปฎิจสมุปบาทก็จะเห็นความสัมพันธ์กันว่า เมื่อผัสสะมี>>เวทนาก็มีตาม เมื่อเวทนามี>>ตัณหาก็มีตาม ดังนั้นเวทนาจึงอยู่ระหว่างผัสสะ กับ ตัณหา การจะรู้เวทนานั้นต้องใช้สติเข้าไปกำหนดรู้  

วิธีฝึกตามรู้เวทนา
ถ้ารู้สึกเป็นสุข ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ อารมณ์ตอนนี้ สุข”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ อารมณ์ตอนนี้ ทุกข์”
ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็ให้กำหนด รู้ว่า“ อารมณ์ตอนนี้ เฉยๆ”
( เวทนา ๓ อารมณ์นี้ รู้ได้ด้วยสติ)

รู้อารมณ์ละเอียดขึ้น
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์สุขนี้เกิดจากกาม” (เช่น อารมณ์สุขนี้เกิดเพราะพอใจในสิ่งกระทบ ลมเย็นๆ คำชื่นชม สัมผัสนุ่มนวล ฯ)
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์ทุกข์นี้เกิดจากกาม” (เช่น อารมณ์ทุกข์นี้เกิดเพราะไม่พอใจ ที่ถูกข้ามหน้าขามตา ถูกตำหนิ ถูกทำร้าย ถูกเมิน ถูกกระทบกระทั่งทำร้ายฯ)

ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์สุขนี้ไม่ได้เกิดจากกาม” (เช่น นิรามิสสุข การเจริญภาวนา จิตใจสงบ มีความพอใจโดยไม่ต้องมีอะไรมากระทบ)
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้ไม่ได้เกิดจากกาม” (เช่น นิรามิสทุกข์ ความเสื่อมโทรมของสังขาร รู้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ที่แน่นอนมีกระทบไม่มีกระทบทุกข์นั้นย่อมมีเป็นธรรมดา)

ถ้ารู้สึกเฉยๆ ที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความเฉยๆ นี้เกิดจากกาม” (เช่น เมื่อถูกกระทบทางอายตนะ เห็นรูปงาม,ไม่งาม เสียงไพเราะ หรือเสียงด่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น ฯ อะไรก็ตามที่เป็นกามคุณ ๕ มากระทบแต่วางจิตวางใจเฉยๆ ก็นั่นแหล่ะคืออุเบกขาที่เกิดจากอามิส)
ถ้ารู้สึกเฉยๆ ที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความเฉยๆ นี้ไม่อิงกาม” (เช่น ผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน คือล่วงพ้นจากณาน ๓ ไปแล้ว สภาวะจิตขณะนั้นเป็นสภาวะที่บริสุทธิสมบูรณ์ที่สุด 
👉อธิบาย การบรรลุจตุตถณาน)

อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยกาม
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา

ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ว่าด้วยรูป

 ความเดิมจากตอนที่แล้ว 👉ว่าด้วยกาม


เมื่อเหล่าภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล นับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ถูกเหล่า
เดียรถีย์นักบวชนอกศาสนา ตั้งคำถาม ถามขึ้นมาว่า "พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้ในกาม กำหนดรู้ในรูป กำหนดรู้ในเวทนา กำหนดรู้พวกนี้สำนักเราก็กำหนดรู้ได้ แล้วมันจะต่างอะไรกันกับสำนักท่าน ที่พระพระสมณโคดมเป็นผู้กำหนด"

เหล่าภิกษุผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอริยบุคคล ไม่มีใครสามารถตอบคำถามหรือทำลายวาทะจาบจ้วงตีเสมอของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้สักคน เลยได้แต่นั่งนิ่ง คอตก หลบสายตา รอเวลาออกบิณฑบาตร เมื่อฉันภัตเสร็จกิจเรียบร้อยแล้วเหล่าภิกษุ จึงเข้าไปถามหาคำตอบถึงความแตกต่างในเรื่อง กาม รูป เวทนา จากพระพุทธองค์

🔅ว่าด้วยเรื่องของ รูป

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของรูปทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เหมือนอย่างว่า นางสาวเผ่ากษัตริย์ เผ่าพราหมณ์ หรือเผ่าคฤหบดีมีอายุระบุได้ว่า ๑๕ ปี หรือ ๑๖ ปี ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นนางคนนั้น งดงามเปล่งปลั่งเป็นอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่เล่า?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสุข
ความโสมนัสอันใดแล ที่บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความงามเปล่งปลั่ง นี้เป็นคุณของรูปทั้งหลาย"(ดูแล้วเห็นแล้ว สบายตา สบายใจ ชื่นใจ สุขใจ) 

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของรูปทั้งหลาย?
บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละในโลกนี้ ในสมัยใด เมื่อมีอายุ ๘๐-๙๐ หรือ ๑๐๐ ปี โดยกำเนิดเป็นยายแก่ มีซี่โครงคดดังกลอนเรือนร่างขดงอ ถือไม้เท้ากระงกกระเงิ่น เดินสั่นระทวย กระสับกระส่าย ผ่านวัยเยาว์ไปแล้วมีฟันหลุด ผมหงอก ผมโกร๋น ศีรษะล้าน เนื้อเหี่ยว มีตัว ตกกระ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในครั้งก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" (ดูแล้วเห็นแล้ว ไม่สบายตา ไม่สบายใจ หดหู่ ทุกข์ใจ) พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลายอีก"

"ประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละมีอาพาธ มีทุกข์เจ็บหนัก นอนจมมูตรคูถของตน ต้องให้คนอื่นพยุงลุก ต้องให้คนอื่นคอยประคอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ตายได้ ๑ วันก็ดี ตายได้ ๒ วันก็ดี ตายได้ ๓ วันก็ดี เป็นซากศพขึ้นพองก็ดี มีสีเขียวก็ดี เกิดหนอนชอนไชก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงการุมกันจิกกินบ้าง ฝูงแร้งรุมกันจิกกินบ้าง ฝูงนกเค้ารุมกันจิกกินบ้าง ฝูงสุนัขรุมกันกัดกินบ้าง ฝูงสุนัขจิ้งจอกรุมกันกัดกินบ้าง ฝูงปาณกชาติต่างๆ รุมกันกัดกินบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า มีแต่โครงกระดูก มีเนื้อและเลือดติดอยู่ มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูก ปราศจากเนื้อเปื้อนเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูกปราศจากเนื้อและเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ เป็นแต่กระดูก ปราศจากเอ็นยึด กระจัดกระจายไปในทิศน้อยทิศใหญ่ คือ กระดูกมือทางหนึ่ง กระดูกเท้าทางหนึ่ง กระดูกแข้งทางหนึ่ง กระดูกขาทางหนึ่ง กระดูกสะเอวทางหนึ่ง กระดูกสันหลัง ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกทางหนึ่ง กระดูกแขนทางหนึ่ง กระดูกไหล่ทาง หนึ่ง กระดูกคอทางหนึ่ง กระดูกคางทางหนึ่ง กระดูกฟันทางหนึ่ง หัวกะโหลกทางหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวนั้นแหละ เป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า เหลือแต่กระดูกสีขาว เปรียบเทียบได้กับสีสังข์ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกตกค้างแรมปีเรียงรายเป็นหย่อมๆ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกผุแหลกยุ่ย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?" พวกภิกษุ พากันกราบทูลว่า "เป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ต่างเป็นโทษของรูปทั้งหลาย"


🙏แทรกอรรถาธิบาย
รูป ไม่ว่าจะมองอะไรแล้วรู้สึกว่าสุขใจ มันก็สุขเพราะกามสุข มีระยะเวลาจำกัดแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้รู้สึกสุข เช่นมองที่รูปร่างกาย มองบุตร มองสามี ภรรยา ฯ ณ.เวลาหนึ่งเราเห็นรูปนั้นแล้วสบายตาสบายใจก็ขอให้พึงระลึกไว้ว่า ณ.อีกเวลาหนึ่ง รูปนั้นก็ต้องมีอันเปลี่ยนแปลง มีอันวิบัติ แตกทำลาย สูญสลายไปตามธรรมดา ตามกฏไตรลักษณ์ นั้นเพราะอะไร? เพราะโลกธาตุนี้มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือนโลกฝั่งนิพพานธาตุ พระพุทธองค์ก่อนจะออกบวช ท่านเห็นรูปของมนุษย์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจเพียงครั้งเดียวก็เกิดความสลดสังเวช เกิดทุกข์ใจท่วมท้นจนทนอยู่ไม่ได้ต้องหาทางหาวิธีหลุดพ้น ส่วนมนุษย์ปถุชนทั่วไป เห็นรูปแล้วชอบใจก็อยากเห็นอีก เห็นรูปสวยๆงามๆ เห็นแล้วก็ชื่นใจ คอยเฝ้า คอยติดตามเป็นแฟนคลับ ดูว่าเขาจะทำอะไรดูแล้วปรุงแต่งสังขารทางความคิดให้วิจิตรพิศดาร เมื่อรูปหนึ่งแปรเปลี่ยนไป ความโทมนัสก็เกิดขึ้นในจิตก่อเป็นทุกขเวทนาว่ารูปที่เคยสวยงาม รูปที่เราเคยพอใจ บัดนี้รูปนั้นวิบัติไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว ความส้องเสพแสวงหากามคุณก็จะเล่นงานให้ต้องหารูปอย่างอื่นมาเสพสนองต่อ เมื่อหามาเสพได้ใหม่ฉันทราคะก็เกิดความพอใจยินดีด้วยโมหะคิดไปว่านั่นน่ะแหล่ะคือความสุข ได้สนองความสุขแล้ว แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงความสุขปลอมๆ ความสุขที่เจือด้วยกิเลส สุขจากวัตถุภายนอก มันไม่ใช่สุขที่แท้จริงเพราะมันย่อมถูกความแปรเปลี่ยนถูกเบียดเบียนให้คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ในทุกขณะ เราแค่เสพเสวยดื่มด่ำมันอยู่ชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็แสวงหากันใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปในทุกภพทุกชาติ ก็อย่างที่ว่าไว้ พระเจ้าสุทโธนะพระบิดาเจ้าชายสิตธัตถะราชกุมารจับคนแก่ คนเจ็บ คนพิการ คนตาย แยกออกไปจากกบิลภัสด์ุ ไปสร้างหมู่บ้านคนแก่ คนเจ็บ คนใกล้ตาย อยู่นอกเมือง

เจ้าชายตั้งแต่เกิดจนพระชนม์ ๒๙ ชันษา เห็นแต่รูปที่เจริญตาเจริญใจ นั่นคือเห็นแต่รูปฝ่ายที่เป็นคุณมาตลอด รูปที่เป็นคุณก็มาจากบุญกุศลผลกรรมเก่านั่นแหล่ะที่ทำให้เห็นรูปที่เจริญตาเจริญใจ (ทบทวนได้ใน 👉รูปสมุทเทสนัย) แต่เมื่อได้เห็นรูปที่ไม่เจริญตาไม่เจริญใจแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เจ้าชายก็เกิดความสลดสังเวช มีดำริขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรดีหนอ มนุษย์ทั้งหลายจักพ้นจากความทุกข์ของความแก่ ความเจ็บ ความตายเหล่านี้ไปได้ ครุ่นคริดในวังคิดไปก็คิดไม่ออกเพราะไม่ใช่สถานที่สงบสำหรับวิปัสนาธรรม จนเห็นรูปของสมณะนักบวชเดินผ่านตานั่นแหล่ะท่านจึงมีดำริถึงการออกบวช


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะ(ความพอใจที่ได้ส้องเสพ)ในรูปทั้งหลาย การละฉันทราคะในรูปทั้งหลายนั้นได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของรูปโดยความเป็นคุณ ไม่รู้ชัดโทษของรูปโดยความเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย อย่างที่กล่าวมานี้ตามความเป็นจริง ชนพวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้ได้ด้วยตนเองหรือว่าจักชักจูงผู้อื่นให้รอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยความเป็นคุณ รู้ชัดโทษของรูปโดยความเป็นโทษ และรู้ชัดการถ่ายถอนของรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวมานี้ ตามความเป็นจริง ชนพวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเองได้ และจักชักจูงผู้อื่นให้รอบรู้ตามได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้"



อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยกาม
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅
ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา


ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ว่าด้วยกาม

"เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และ เกิดแต่หญ้าปล้อง ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่องจองจำนั้น ว่าเป็นของมั่นคงไม่ ความกำหนัดใดของชนทั้งหลายผู้กำหนัด ยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตรแลในภรรยาทั้งหลายใด นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่นว่า เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง มีปกติเหนี่ยวลง อันหย่อนเปลื้องได้โดยยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั่นแล้ว เป็นผู้ไม่มีไยดี ละกามสุขแล้วบวช"

                    

🔅ว่าด้วยเรื่องของกาม

เกริ่นนำ แม้เทวดาก็ยังลุ่มหลงในกาม เมื่อจุติจากภพสวรรค์นั้นแล้วโดยเกือบทั้งหมดจะไปเกิดต่อในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน (อามกธัญญเปยยาล) มีเทวดาเพียงจำนวนน้อยนิดเทียบเท่าฝุ่นในปลายเล็บจากเทวดาทั้งหมดที่มีจำนวนเทียบเท่าผืนปฐพีที่จะได้กลับมาเกิดในสุขคติภูมิคือ มนุษย์ เทวดา พรหม อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นท่านสาธุชนไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจึงมีเทวดาที่ยังมีมิจฉาทิฎฐิอยู่

        ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้อบรมสั่งสอนเหล่าภิกษุว่า ในอดีตเคยมีเรื่องนี้มาก่อน มีเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ลุ่มหลงด้วยกามคุณรายล้อมล้อมด้วยหมู่นางอัปสรมีวิมานอยู่ในสวนนันทวันได้กล่าวมิจฉาคาถาขึ้นว่า "เทวดาเหล่าใดไม่เคยเห็นสวนนันทวันที่มีนางอัปสรคอยปรนเปรอ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข"

เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกับเทวดานั้นด้วยคาถาว่า "ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข ฯ"

ระหว่างที่พระพุทธองค์ กำลังแสดงธรรมแก่เหล่าภิกษุสาวกให้เห็นความพอใจที่จะส้องเสพกามของเทวดาในชั้นดาวดึงส์ ก็มีเทวดาตนหนึ่งได้กล่าวคาถานี้แทรกขึ้นมาในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

"คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย บุตรบางพวกทำกสิกรรมแล้ว ย่อมยังยุ้งข้าวเปลือกให้เต็ม บางพวกทำการค้าแล้วย่อมนำเงินและทองมา บางพวกบำรุงพระราชา (รับราชการ) ย่อมได้วัตถุทั้งหลายมียานพาหนะ คามนิคมเป็นต้น มารดาหรือบิดาเมื่อเสวยสิริอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุตรเหล่านั้น ย่อมยินดี อีกอย่างหนึ่ง มารดาหรือบิดาเห็นบุตรทั้งหลายผู้อันบุคคลตกแต่งประดับประดา ทำให้เกิดความยินดี เสวยอยู่ซึ่งสมบัติในวันรื่นเริงเป็นต้น ย่อมยินดีด้วยเหตุนั้น (เทวดาหมายเอาความเป็นไปอย่างนั้นว่ามีความสุข จึงกล่าวว่าคนมีบุตรย่อมยินดี เพราะบุตรทั้งหลายดังนี้)

คนมีโค ก็ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรฉันใด แม้คนมีโคก็ฉันนั้น คนมีโคเห็นมณฑลแห่งโค (สนามโค) สมบูรณ์แล้ว เพราะอาศัยโคทั้งหลาย เสวยสมบัติ คือเบญจโครส (ผลผลิตจากนมโค ๕ อย่าง ได้แก่นมสด นมส้ม เปรียง เนยใส เนยข้น) จึงชื่อว่าย่อมยินดี เพราะโคทั้งหลาย

เพราะอุปธิเป็นความดีของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นจะไม่มียินดีเลย ฯ ความว่า บุคคลใดไม่มีอุปธิ คือเว้นจากการถึงพร้อมด้วยกามคุณ เป็นผู้ขัดสน มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก บุคคลนั้นแลย่อมยินดีไม่ได้ ถามว่า มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีได้อย่างไร" 

 
>>ขยายคำว่า อุปธิ
อุปธิ แปลว่า สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส ในบทว่า อุปธีหิ นรสฺส นนฺทนา นี้ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ
๑. กามูปธิ อุปธิคือกามกิเลส เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๒. ขันธูปธิ อุปธิคือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๓. กิเลสูปธิ อุปธิคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๔. อภิสังขารูปธิ อุปธิคือความปรุงแต่งกิเลสต่างๆทางความคิด เป็นเหตุให้สร้างกรรม

จริงอยู่ แม้กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่าอุปธิ เพราะความพอใจในกามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โดยอาศัยกามเป็นที่ตั้งของความสุข กามเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส ความพอใจเหล่านี้ แต่ในบทนี้เราหมายเอาขยายความเฉพาะอุปธิ คือ กามูปธิ ตามที่เทวดาปุจฉา พูดอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ก็คือเทวดาถามหาความสุขจากปัจจัยภายนอกที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ว่าสิ่งนั้นแหล่ะด้วยอาศัยวัตถุกามภายนอกมากระทบ จึงจะนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้ที่ยังมีอุปธิ (กามกิเลส)

พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ยินเทวดากล่าวคาถาแบบนั้น ทรงพระดำริว่า เทวดานี้ย่อมทำเรื่องแห่งความเศร้าโศกให้เป็นเรื่องน่ายินดี เราจักแสดงความที่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้าโศกแก่เธอดังนี้ เมื่อจะทำลายวาทะของเทวดานั้น ด้วยอุปมานั้นนั่นเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

"บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย
บุคคลมีโค ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น
เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน
บุคคลใดไม่มีอุปธิ (กามกิเลส) บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย ฯ"


😔ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่ เรื่องอัญญเดียรถีย์

          สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้นในเวลาเช้าเหล่าภิกษุสาวกกำลังเตรียมตัวออกบิณฑบาตร แต่ก็เห็นว่ายังเช้าเกินไป* (จากการที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปดินแดนพุทธภูมิ จะเห็นว่าคนอินเดียไม่นิยมนอนตื่นเช้าอย่างคนไทย มื้อเช้าเขามักเริ่มทานอาหารกันในเวลา ๙-๑๐ น. และมื้อเย็นไปทานกันในเวลา ๑๙-๒๐ น. ในเวลาเช้าตรู่ข้าพเจ้าเคยออกจากพุทธคยาเดินหาการัมจายดื่มแก้หนาวก็หาไม่ได้สักแก้ว ไม่มีร้านค้าไหนเปิดหรือใครตื่นนอนแต่เช้าเพื่อขายของอย่างคนไทยเลย ต้องรอจนสายโด่ง ๙ โมง ๑๐ โมง นั่นแหล่ะ ถึงจะเริ่มมีคนมาขาย ในพระสูตรนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าภิกษุสมัยพุทธกาลคงไม่รีบร้อนออกบิณฑบาตรกันเหมือนภิกษุไทยเราในสมัยนี้ โดยธรรมเนียมปฎิบัติของไทยเราก็นิยมเริ่มออกบิณฑบาตรเมื่ออาทิตย์ทอแสงจนเห็นลายมือตนเองได้ชัด และมักจะกลับเข้าวัดขบฉันมื้อเช้ากันก่อน ๘ นาฬิกา) เมื่อเหล่าพระภิกษุที่อาศัยในพระวิหารเห็นว่าออกบิณฑบาตรยามนี้คงยังไม่มีใครตื่นนอนแน่ จึงคิดกันว่า งั้นพวกเราไปนั่งรอเวลาที่อารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์กันดีกว่า (ให้นึกถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ขนาด ๘๐ ไร่ ที่มีวิหารมีอารามอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่มากมาย) 

เมื่อเหล่าภิกษุได้เข้าไปนั่งในอารามของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ก็ทำการทักทายปราศัยกันตามธรรมเนียม ระหว่างที่กำลังนั่งรอ พวกปริพาชกก็กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า "ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ (พึงทราบว่าแม้นพวกนักบวชนอกศาสนาเขาก็ทำณานได้ถึงสมาบัติ ๘ เขาก็รู้จักกาม รูป เวทนา เช่นเดียวกัน) ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสำนักเรากับสำนักของพระสมณโคดม? "

ภิกษุเหล่าเมื่อถูกปริพาชกซักถาม ก็นั่งนิ่งไม่รู้จะโต้ตอบหรือคัดค้านวาทะจาบจ้วงนั้นอย่างไร เมื่อถึงเวลาเหล่าภิกษุก็ถือบาตรเดินบิณฑบาตรในเมืองสาวัตถี ระหว่างนั้นก็ได้แต่ครุ่นคิดว่าเมื่อบิณฑบาตรเสร็จแล้วจะเอาคำถามนี้แหล่ะไปถามต่อพระบรมศาสดา ครั้นในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เหล่าภิกษุจึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลเล่าเรื่องถึงที่มาที่ไปและคำถามของปริพาชกให้พระพุทธองค์ฟัง

พระผู้มีพระภาคเมื่อได้สดับคำถามของปริพาชกแล้วจึงทรงตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะตั้งคำถามมาอย่างนี้อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อะไรเล่าเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ถูกพวกเธอถามอย่างนี้ จักไม่พอใจเลย และจักต้องคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะข้อนั้นมิใช่วิสัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นผู้ที่จะพึงยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ได้ในโลกนี้ รวมถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ เป็นไปกับด้วยสมณะ และพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จักไม่มีใครพยากรณ์ตอบปัญหาเหล่านี้ได้ เว้นไว้แต่ตถาคต หรือสาวกของตถาคต หรือมิฉะนั้นก็ฟังจากนี้เท่านั้นจึงจะพยากรณ์ตอบได้"

(ตรงนี้ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านทดลองตอบคำถามปริพาชกด้วยปัญญาของท่านเองก่อน หากท่านตอบได้ถูกต้องและตรง ท่านก็มั่นใจได้เลยว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธองค์อย่างเต็มภาคภูมิ หากท่านตอบไม่ได้ หรือตอบแบบเดาสุ่ม ท่านก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะคำตอบนี้ไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ เทวดา พรหม ที่ไม่ได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธองค์จะพึงตอบได้ แต่ท่านจะได้ฟังคำเฉลยจากพุทธพจน์ดังต่อไปนี้)



"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็น 👉คุณของกามทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลายกามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
๑. รูปที่พึงเห็นด้วยตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. เสียงที่พึงได้ยินด้วยหู น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๓. กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๔. รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด 
๕. สัมผัสที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็น 👉โทษของกามทั้งหลาย? (ข้อนี้ใช้ร่วม ขยายคำตอบในวาทะของเทวดาที่กล่าวว่า คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย และ อุปธิเป็นความดีของคน )

ดูกรภิกษุทั้งกุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันประกอบศิลปใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาวต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลืบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (ตรงนี้แยกกันให้ชัดก่อนระหว่างคุณกับโทษ คุณของกามก็มี ซึ่งก็มีผลมาจากกุศลผลบุญ ทำให้พบเห็นสัมผัสได้ยิน ฯ สิ่งที่เจริญตาเจริญใจ ส่วนโทษของกาม คือทำให้ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฎ เกิดมาแล้วก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพมีความเหน็ดเหนื่อย มีทุกข์มาก ทำไปก็ด้วยความปารถนาบำรุงบำเรอทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อตายไปก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยใหญ่ไม่สิ้นสุด)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นสำเร็จผลกับเขา เขาก็ยังต้องเสวยทุกข์โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ (สมัยนี้ก็เทียบได้กับการเสียภาษี) ทำอย่างไรจะไม่โดนปล้น ทรัพย์สินจะไม่วอดวายชิบหายเพราะไฟไหม้ น้ำท่วม ทายาทอัปรีย์จะไม่เอาไปผลาญจนหมด เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าสิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (แม้ปัจจุบันเราก็ยังเห็นตามข่าวอยู่ทั่วไป พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ ลูกฆ่าพ่อ ลูกฆ่าแม่ สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี ฆ่ากันก็เพราะกาม มีรสชาติของกามที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวผลักดันการกระทำต่างๆที่เป็นอกุศลกรรม)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลาย ถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้น เรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแซ่บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าเสียบ้าง ตัดหูเสียบ้าง ตัดจมูกเสียบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกเสียบ้าง กระทำกรรมกรณ์ ชื่อพิลังคถาลิก (วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะ) บ้าง ชื่อสังขมุณฑกะ (ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์) บ้าง ชื่อราหูมุข (เอาไฟยัดปาก) บ้าง ชื่อโชติมาลิก (ทำบ่วงไฟเป็นพวงมาลัยคล้องคอ) บ้าง ชื่อหัตถปัชโชติก (สุมไฟให้ลุกไหม้อยู่บนมือ) บ้าง ชื่อเอรกวัตติก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้เดินลากเหยียบหนังตัวเอง) บ้าง ชื่อจีรกวาสิก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว) บ้าง ชื่อเอเณยยกะ (สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศแล้วเอาไฟเผา) บ้าง ชื่อพลิสมังสิก (ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อเอ็นออกมา) บ้าง ชื่อกหาปณกะ (เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ ขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์) บ้าง ชื่อขาราปฏิจฉก (เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูก) บ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติก (ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันแล้วหมุนหลาวไปเรื่อยๆ) บ้าง ชื่อปลาลปีฐก (ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้) รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้ามีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น (ความโหดร้ายของมนุษย์นั้น แม้ในยุคปัจจุบันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ข้าพเจ้าก็ยังเห็นความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อกันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในยุคอดีต และดูเหมือนจะมากขึ้นเสียด้วยเพียงแต่คนส่วนมากไม่ค่อยสนใจที่จะรับรู้มัน คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรับแต่ความรู้สึกเพียงด้านเดียวที่ทำให้ตนเอง ครอบครัว คนรัก รู้สึกอบอุ่นสบายใจ เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ความโหดเหี้ยมของมนุษย์ต่างก็ทวีคูณขึ้นตามกระแสของกาม ลองมองให้แยบคายแล้วมนัสสิการมันดูจะเห็นว่ายิ่งกามเฟื่องฟูจิตใจของมนุษย์ก็ยิ่งตกต่ำและทุกข์ก็ยิ่งถาถมความเป็นทุกข์ให้มากยิ่งขึ้นไปในทุกๆสังคม ทุกชนชั้น)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น"


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการ 👉ถ่ายถอนของกามทั้งหลาย?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะ(ความพอใจที่ได้ส้องเสพ)ในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใด นี้เป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษและการถ่ายถอนกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้"



จบในส่วนของวิสัชนาเรื่องกาม ใช้ตอบคำถามใน ๒ ส่วน
๑. ใช้ตอบคำถามเทวดา ที่ปุจฉามาว่า "มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีอย่างไร" ในส่วนของคุณมันก็มีแต่มีน้อย ในส่วนของโทษมันมีมาก อาหาร เสื้อผ้า วิหารฯ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยหามา อีกทั้งยังต้องเหนื่อยในการบำรุงรักษา ระหว่างทางที่เสาะหาก็มีทั้งกระทำดี กระทำชั่ว ฝ่ายดีเมื่อมีโภคะตามปารถนาแล้วก็ถูกจี้ปล้นแย่งชิงได้ ทิ้งเป็นมรดกก็ถูกลูกหลานเผาผลาณได้ ก็ยังความโศกเศร้าโทมนัสให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น หากโภคะนั้นหาได้มาด้วยการกระทำที่ไม่ดีก็มีโทษโดนจองจำ โดนฆ่า ทุบตี ทรมารต่างๆนาๆ มีชีวิตอยู่คลุกเคล้ากับกามสุขจนถึงวันตาย เมื่อจากภพนี้แล้วปฎิสนธิจิตก็นำสู่อบายภพแล้วก็เวียนตายเวียนเกิด จนกว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งถ้ายังไม่มีดำริที่คิดจะถ่ายถอนออกจากกาม ไม่สำรวม ไม่สังวร ไม่กำจัดฉันทราคะที่เกิดแล้วให้น้อยลง จะยังพอใจกับการส้องเสพในกามเหมือนเทวดาที่ยกย่องการบำรุงบำเรอของนางอัปสรในสวนนันทวันว่าเลิศเรอ เมื่อเสวยสุขจนหมดบุญก็ต้องกลับมาเวียนเกิดในสังสารวัฎ หากระลึกขึ้นได้ก็จะไม่ต่างจากกุลบุตรที่ตรากตรำทำงานเพื่อหาโภคะ พอวันหนึ่งเมื่อโภคะนั้นหายไปก็เศร้าโศกเสียใจว่าสิ่งที่เราเคยได้ สิ่งที่เราเคยมี บัดนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้วหนอ เทวดาหากละรึกได้ก็คงเศร้าเสียดายไม่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วเทวดาเมื่อหมดบุญจากสวรรค์มักไปเกิดในนรกต่อเป็นส่วนมาก มีทุกขเวทนามากจนระลึกอะไรนอกจากความทุกข์ไปไม่ได้

๒. ใช้ตอบปริพาชกอัญญเดียรถีย์ โดยใช้ปฏิปุจฉาย้อนคำถามนั้นกลับไปก่อน ในเมื่อปริพาชกบอกสำนักเขาก็สอนเรื่องกามแลัวจะไปต่างอะไรกันกับที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็ถามกลับว่าแล้วท่านรู้จักกามดีถ่องแท้หรือยัง กามมีข้อดีอะไร มีข้อเสียอะไร และอะไรเป็นวิธีออกจากกาม? นี่ถามปฎิปุจฉากลับไปแบบนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงรับรองแล้วว่าไม่มีทางตอบได้ ไม่ว่ามนุษย์ เทวดา พรหม หากไม่มีสุตตะมยปัญญาที่มาจากการศึกษาคำสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่มีทางตอบคำถามนี้ได้ เพราะคำถามนี้ถ้าจะตอบกันให้ถูกก็ต้องเข้าใจในอริยสัจ ๔ เสียก่อน และต้องเข้าใจในปฎิจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับที่เป็นตัวสมุทัยในอริยสัจอีกชั้นนึง และต้องเข้าถึงนิโรธะสัจจะ สัมผัสกระแสพระนิพพานแม้ชั่วขณะหนึ่งจึงจะเกิดการรู้แจ้งตามองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตทังคะ,วิกขัมภนะ,สมุจเฉท,ปฏิปัสสัทธิ,นิสสรณะ
 คือในสภาวะของนิโรธนั้นจิตจะคายออกซึ่งตัณหาทั้งหมด ผู้ที่ได้สัมผัสสภาวะนั้นแล้วจะรู้และเข้าใจถึงการพ้นออกจากกาม การที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกามอย่างแท้จริง แม้ได้นิพพานเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ถือว่าในขณะนั้นมรรคสมบูรณ์จนปัญญาญาณเกิดขึ้นมาได้ ทำให้เข้าใจรู้แจ้งในอริยสัจตามพระพุทธองค์อย่างถ่องแท้ นี่ต้องเห็นต้องเข้าใจกันขนาดนี้ พระพุทธองค์ถึงรับรองถ้าไม่ใช่ตถาคต หรือสาวกของพระพุทธองค์ จะไม่มีทางแทงตลอดตอบคำถามนี้ได้อย่างถูกต้องแน่นอน เมื่อเขาตอบไม่ได้เราจึงค่อยสาธยายแก้ปัญหา บอกถึงคุณ, โทษและการถ่ายถอนออกจากกามให้เขาฟัง 


อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยกาม
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 
ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๓


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๖ สัจจกนิครนถ์

เรื่องมีอยู่ว่า สัจจกนิครนถ์ผู้นี้ได้เล่าเรียนปริศนาต่างๆในสำนักของบิดามารดาถึง ๕๐๐ ข้อ แล้วก็ออกเที่ยวสั่งสนทนากับผู้ใดก็ไม่มีใครที่จะตอบต้านทานวาทะปฏิภาณโวหารของสัจจกนิครนถ์ได้ กิตติศัพท์นี้ก็เล่าลือไปในทิศานุทิศ มหาชนนับถือพากันมาเป็นศิษย์มากมาย (ในสมัยนั้น เค้าว่ากันด้วยวาทะด้วยเหตุด้วยผล ใครมีวาทะที่ไม่มีใครแก้ต่างได้เขาก็ถือว่าชนะ เป็นปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญามาก)

ฝ่ายสัจจกนิครนถ์นั้นก็สำคัญใจเป็นแน่ว่า ตนนั้นเป็นผู้มีปัญญาวิชาความรู้เลอเลิศกว่าคนทั้งหลาย และภายในท้องของตนนั้น เต็มไปด้วยปัญญาวิชาความรู้ทั้งนั้น คิดกลัวว่าสักวันหนึ่งท้องของตนจะต้องแตกจะทลายไปเพราะความรู้แน่นเหลือเกินจึงทำโครงเหล็กรัดท้องเอาไว้ วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้ยินคำสรรเสริญว่าพระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุคคลในโลก ทรงพระปัญญารู้เหตุในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่จะเทียบเคียงให้เป็นสองได้ บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก เมื่อสัจจกนิครนถ์ทราบความดังนั้น ก็พองขนด้วยความผยอง อยากปรามาส ตั้งใจจะถามข้อปริศนาอันลึกลับ ให้พระพุทธเจ้าแพ้แก่ตนให้จงได้ จึงพาศิษย์เป็นอันมากมายังเมืองไพศาลี แล้วเชิญพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ องค์ให้เสด็จมาสู่สำนักพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้เห็นจริงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ

คราวนั้น เป็นมหาสมาคมใหญ่ บรรดาชาวเมืองไพศาลีก็พากันมาประชุมพร้อมกันเป็นสองพวก คือสัมมาทิฏฐิพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าชนะ พวกมิจฉาทิฏฐิอีกพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยสัจจกนิครนถ์ อยากจะให้สัจจกนิครนถชนะ หากเมื่อสัจจกนิครนถ์ชนะจะได้ยกวาทะของตนขึ้นให้สูงประหนึ่งว่าธงชัย ว่าแล้วก็ถามข้อปริศนาอันลึกลับด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก้ได้ทุก ๆ ข้อด้วยพระปัญญาอันรุ่งเรืองดังประทีป สัจจกนิครนถ์ถึงความปราชัยพ่ายแพ้พระบารมีญาณของพระองค์แล้วจึงมอบตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


ตัวอย่างข้อวาทะ

สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ท่านสอนใครต่อใครว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวอย่างนี้ว่า รูปก็คือตัวตนเรา เวทนาก็คือความรู้สึกของเรา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ของเรา สังขารก็คือความปรุงแต่งต่างๆของเรา วิญญาณก็คือจิตวิญญาณของเรา ขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ล้วนเป็นอัตตาตัวตนของเราทั้งสิ้น ท่านจะกล่าวว่าขันธ์เหล่านี้ไม่ใช่ของเราได้อย่างไร?  

พระพุทธองค์ทรงซักถามสัจจกนิครนถ์ด้วยอุปมา

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ (ชื่อตระกูล ของสัจจกะ) ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู มีอำนาจสังประหารใครก็ได้ในดินแดนตน สั่งริบทรัพย์ หรือสั่งเนรเทศใครๆก็ได้ ในเขตแดนอาณาจักรของตน ถูกต้องไหม?
สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ในพระราชอาณาเขตอำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้นควรจะเป็นเช่นนั้น คือสั่งประหารใครก็ได้ ริบทรัพย์ใครก็ได้ เณรเทศใคก็ได้ ใครๆก็ไม่พ้นราชอำนาจของราชาในอาณาเขตตน

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย บังคับบัญชารูป) สั่งดังนี้ได้หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถามครั้งที่สอง ก็นิ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงตอบคำถาม ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง แล้วมิได้ตอบสัจจะธรรมนั้น ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น

สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช (มีเพียงพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่) ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน ได้ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามมาอีกครั้งเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย) สั่งดังนี้ได้หรือ?สัจจกนิครนถ์ : ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๗ นันโทปนันทนาคราช

เรื่องมีว่า นันโทปนันทนาคราช เป็นสัตว์จำพวกพญานาคอาศัยอยู่ในเทวภูมิ จริงๆสัตว์ในภพภูมินี้ก็ล้วนต่างอุบัติมาด้วยผลของบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องของทิฎฐินี้ ถ้าไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆมาเลย ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลแม้ในชั้นโสดาบันก็จะยังมีโมหะคือความหลงผิดอยู่ด้วยตัวของนันโทปนันทะเองก็ยังเป็นผู้ที่หลงผิดอยู่คือยังมีมิจฉาทิฎฐิพร้อมด้วยฤทธานุภาพจากกุศลเก่าที่ีเคยสั่งสมไว้ก็มีมากมาย

ในเช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของนันโทปนันทนาคราช ซึ่งกำลังจะเสื่อมคลายจากมิจฉาทิฎฐิและจะกลับมีจิตใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ก็ทรงมีอุบายวิธี จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ผู้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เสด็จไปสู่เทวโลกโดยอากาศ นันโทปนันทนาคราชเห็นพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เหาะมาแต่ไกล สำคัญว่าจะเหาะข้ามศีรษะตนไปก็นึกโกรธ จึงนิรมิตอัตภาพตนเองให้ใหญ่โตพันเขาสุเมรุไว้ ๗ รอบ แล้วยกพังพานปกคลุมเขาพระสุเมรุและดาวดึงส์ไว้ แล้วบันดาลให้เป็นควันมืดครึ้มไปหมด

พระรัฐปาละเห็นอาการดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "แต่ก่อนเมื่อมาถึงที่นี้ เคยได้มองเห็นเขาพระสุเมรุและสุทัศนนครกับเวชยันตปราสาท มาบัดนี้ทำไมจึงมองไม่เห็น เป็นด้วยเหตุใด"
พระองค์ตรัสว่า "เป็นด้วยฤทธิ์ของนันโทปนันทนาคราช" พระเถระหลายองค์กราบทูลขอรับอาสาไปทรมานนันโทปนันทนาคราช แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้พระโมคคัลลานะไปทรมาน (การทรมานคือการปราบพยศของกิเลสด้วยวิธีของพระพุทธองค์ ซึ่งจะใช้วิธีแตกต่างกันไปตามจริตของผู้ที่ต้องถูกทรมาน) ในที่นี้ให้พระโมคคัลลานะนิรมิตกายเป็นนาคราช ใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า แล้วไปตวัดรัดนันโทปนันทนาคราชเข้าไว้กับเขาพระสุเมรุ โดยแน่นหนาถึง ๑๕ รอบ นาคราช พ่นพิษให้เป็นควันและเปลวไฟ ท่านก็พ่นควันพ่นเปลวไฟบ้าง พิษและเปลวไฟของพญานาคราชไม่มีอานุภาพพอที่จะทำให้พระอรหันต์อย่างพระโมคคัลลานะรู้สึกแสบร้อนแต่อย่างใด มีแต่ตัวของพญานาคราชเองที่ร้อนจนทนไม่ไหว จึงขอให้ท่านโมคคัลลานะจำแลงเป็นพญานาคเลย ท่านก็คืนอัตภาพเป็นพระเถระดังเก่า แล้วก็แสดงฤทธิ์เหาะเข้าช่องจมูกของฉันโทปนันทนาคราช เข้าไปเบื้องขวาก็ออกเบื้องซ้าย เข้าเบื้องซ้ายก็ออกเบื้องขวา นาคราชก็ยิงโมโห คิดว่าถ้าท่านเหาะเข้าไปในปากเมื่อไหร่จะเคี้ยวเสียให้ละเอียด ท่านโมคคัลลานะท่านก็รู้ใจพญานาค จึงเหาะเข้าทางปาก เข้าไปเดินจงกรมอยู่ในท้องแล้วเดินกลับออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชอ้าปากคอยจะบดเคี้ยวแต่ก็ไม่ทัน ครั้นตัวเองที่เคยมีทิฎฐิคิดว่าตนยิ่งใหญ่มีฤทธิ์มากก็เริ่มคลายทิฎฐิตน เพราะทำอย่างไรก็เห็นท่าจะสู้ฤทธิ์ท่านโมคัลลานะไม่ไหว จึงเริ่มหนี ท่านโมคคัลลานะก็จำแลงเป็นครุฑใหญ่บินไปตามจับ นาคราชแพ้ฤทธิ์ท่านโมคคัลลานะ จึงได้สำรอกทิฎฐิมานะของตนออกแล้วจำแลงเป็นมานพเข้าไปกราบนมัสการขอขมาท่านโมคคัลลานะ แต่ท่านโมคัลลานะท่านว่าท่านรับคำขอขมานี้ไม่ได้ จึงพาไปเฝ้าทูลต่อพระพุทธเจ้า แล้วพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พญานาคาราชเมื่อคลายพยศลง และได้รับฟังพระสัทธรรมจากองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บังเกิดมีความเลื่อมใสขอเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๘ พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ 

เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในป่าสุภวันใต้ร่มไม้รังใหญ่ต้นหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของท้าวพกาพรหมว่ากำลังมีทิฎฐิที่หลงผิด พระพุทธองค์จึงเสด็จโปรดพกาพรหมด้วยการทรมานทิฎฐิที่หลงผิดนั้นลง พกาพรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็อุบัติขึ้นในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง 👉ย้อนดูลำดับชั้นของพรหม ในครั้งเริ่มแรกที่มาอุบัติในพรหมโลกนั้นยังไม่มีพรหมองค์อื่นๆ มาอุบัติในชั้นนี้ ครั้นพออยู่เป็นพรหมองค์เดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อน เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมอุบัติขึ้นใหม่ มีขึ้นมาเรื่อยๆ (พวกที่มาเกิดด้วยกำลังของณาน) พรหมที่มาทีหลังก็เห็นว่ามีพกามหาพรหมผู้นี้อยู่ก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตให้ตนเกิดขึ้นมาจึงนับถือว่าเป็นพรหมบิดา ท้าวพกาพรหมก็เข้าใจว่า เพราะตนนั่นแหล่ะเป็นผู้เนรมิตบันดาลให้พรหมอื่นๆเกิดขึ้น (คือไปประจวบกับตอนนั้นนึกอยากมีพรหมองค์อื่นบ้าง อยากมีเพื่อนน่ะ) มันเป็นเหตุการณ์ต่อกันแบบนี้ก็เลยหลงผิดว่าตนนั่นแหล่ะเป็นพรหมผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ

ในพรหมชั้นนี้ก็มีมารสันดานหยาบ คิดหวังประจบสอพลอท้าวพกาพรหมจึงกล่าวคำสอพลอว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นพระผู้สร้างสรรค์ สร้างทั้งภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมท่านช่างเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งใหญ่นัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า"

แม้ท้าวพกาพรหมเองจะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ แต่มารสันดานหบาบก็กล่าวสรรเสริญเยินยอแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน แม้ตัวพกาพรหมเองจะรู้ว่าไม่จริงแต่ก็ชอบที่จะฟังคำยกย่องสรรเสริญ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจของพกาพรหม ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีกิเลสว่า "เรานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่เราอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้เลย "

เมื่อพกาพรหมมีทิฎฐิไปแบบนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงทราบทิฎฐิของพกาพรหมเช่นเดียวกัน ทรงเห็นว่ามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่มีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบในเวลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะเพียงเทียบเท่ากับบุรุษเหยียดแขนออกแล้วงอกลับเท่านั้นเองก็เสด็จไปถึงพรหมโลกแล้ว เมื่อท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธองค์มาปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วก็เอกปากกล่าวปราศรัยกันโดยธรรมดาว่า " ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ"

พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าเห็นใจนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาคือกิเลสได้เข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "

พญามารใจหยาบที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล " ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "

ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารถหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เส็ดจลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ )

เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า " ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ตติยฌาน จึงต้องจุติจากเวหัปผลาพรหมลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องจุติในสุภกิณหาพรหม แล้วมาอุบัติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "

ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า "พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก" จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอย มีน้ำใจอ่อนน้อม ปฎิบัติทางตรงคือสัมมาทิฎฐิอันดี จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังพระเชตวัน

👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์

พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม





อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๒

 👉 กลับไปก่อนหน้า 

🔅 
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่องช้างนาฬาคิรี

เรื่องนี้มีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกันแล้วไปที่โรงช้าง ส่งควาญช้างให้มอมสุราพญาช้างนาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแค่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรี ให้วิ่งสวนทางตรงมาหาพระพุทธองค์ ช้างเมาสุราอาละวาดวิ่งไล่แทงคนอลหม่าน เห็นกลุ่มสมณะนำโดยพระพุทธเจ้าก็ยกชูงวงปรบหูตีหาวิ่งตรงมาจะแทงพระพุทธองค์ ทันใดนั้นพระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้ง แล้วแต่พระอานนท์ก็ไม่ยอมหนีให้พ้นทาง พระพุทธองค์จึงบันดาลให้พระอานนท์กลับเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่สงฆ์ เวลานั้นก็ยังมีหญิงแม่ลูกอ่อนนางหนึ่ง กำลังตกใจสุดขีดเลยอุ้มบุตรตัวเองหนีช้างตรงมาที่กลุ่มของพระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่าจะหนีไม่พ้นแล้ว ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสียกับพื้นถนน แล้วตัวเองก็วิ่งหนีออกข้างทางไป



ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะเหยียบหรือจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่พระเมตตาเฉพาะเจาะจงต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติ เสื่อมคลายจากความเมามัน ครองสติกลับเป็นปรกติยืนทอดงวงลงต่ำและไม่เข้าไปประทุษร้ายเด็กนั้น กลับเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพองแล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา

เวลานั้นฝูงมหาชนที่คอยตักบาตร และถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและฝ่ายปืนในที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสนพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้าง จนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้วพญาช้างถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค กลับไปโรงของตน โดยปรกติ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร

เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้น บ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อนางมันตาพราหมณ์ บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้นมารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นจึงไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักศาปาโมกข์ อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารก็เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามานพทั้ง ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมาก และหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยความเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามานพคนอื่น ๆ พวกมานพเหล่านั้นก็มีความริษยาพากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒-๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมานพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำจึงคิดว่า เราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพด้วยอุบายปัญญา คือจะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า

อาจารย์จึงวางแผนเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้แล้วกระซิบว่า "ศาสตร์ที่ท่านเรียนจากเราน่ะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่งแล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ ประเสริฐสุดในโลกได้คนหนึ่ง" เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง เที่ยวฆ่ามนุษย์ทั้งในเมืองตามบ้านเรือนและในป่า ฆ่าใครไปก็ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ เจาะร้อยเป็นพวงสะพายแล่งไว้กับตัว ในเวลานั้น ยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เพราะเหตุที่ตัดนิ้วมาร้อยแบบนี้จึงมีนามปรากฏว่า องคุลีมาลโจร


วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลีมาลโจรว่ายังเป็นผู้ที่ฝึกได้ ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่าสมณะองค์นี้คงจะต้องถึงที่ตายแล้ว เราจะฆ่าและตัดนิ้วมือได้ครบพัน คิดแล้วก็ชักดาบเงื้อมือวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิให้เกิดแม่น้ำขวางหน้าองคุลีมาลโจรบ้าง ให้เกิดเป็นป่ารกชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลีมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่ารก วิ่งตามเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน ยิ่งเร่งตามพระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนพระพุทธองค์จะยิ่งอยู่ห่างออกไป ทั้งๆที่ก็เห็นว่าพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินตามปรกติแต่ทำอย่างไรก็ตามไม่ทัน พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีสัทธรรมประการต่าง ๆ องคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้กล่าวสัทธรรมได้ลุ่มลึกนัก ชะรอยว่าจะเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว การเจอกันครั้งนี้พระองค์คงเสด็จมาด้วยพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ คิดแล้วก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนโยนนอบน้อมทั้งอาวุธลง แล้วคลานเข่ามาถวายนมัสการด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลีมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถศึกษาเรื่องขององคุลีมาลโจรเพิ่มเติมได้ที่ 👉องคุลีมาลสูตร


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

เรื่องมีว่า ในสมัยหลังพุทธพรรษาที่ ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธ์องค์ก็เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองจำนวนมาก จนพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา อีกทั้งรู้สึกลาภสักการที่ตนเคยได้จากชาวเมืองเสื่อมถอยลดน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายกล่าวโทษพระพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจผิดเลิกนับถือ คณะเดียรถีย์จะได้กลับมาเฟื่องฟูด้วยลาภสักการะใหม่อีกครั้ง จึงไปอ้อนวอนให้นางจิญจมาณวิกาผู้เป็นสาวิกาของตน นางผู้นี้มีรูปร่างงดงาม หน้าตาสะสวย ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี วางแผนเป็นอุบายวิธี ให้นางถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่าจะไปร่วมหลับนอนกับพระพุทธเจ้า และตอนออกก็ให้เดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมให้ทำกลับมาดังนี้ทุก ๆ วัน ประมาณ ๓-๔ เดือน ค่อยเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นเหมือนสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวไปประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า คนอันธพาลเหล่านั้นเป็นพวกโง่งม ได้ยินดังนั้นก็ต้องถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่

ครั้นกาลนานมาประมาณ ๘-๙ เดือน ก็ให้นางจิญจมาณวิกาหาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องแล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด แล้วจึงชักชวนคนอันธพาลที่เคยหลอกไว้เป็นอันมากให้พากันไปยังพระเชตวัน จากนั้นให้นางจิญจมาณวิกาเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ แล้วจงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่าได้ร่วมรักหลับนอนกันจนมีครรภ์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงตามแผนอุบายของเดียรถีย์ และด้วยมารยาของนางจิญจมาณวิกา ทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่พุทธบริษัท บางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนาง บางพวกก็ไม่เชื่อ บางพวกก็มีความลังเลสงสัย ในขณะนั้นก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อย แฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกาขาดเป็นสองท่อนดังถูกตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาพ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ มหาชนบริษัททั้งหลายเมื่อเห็นกลมารยาของนางก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วก็พากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับตาลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็ไม่อาจรองรับอกุศลกรรมอันหนักที่นางได้กระทำไว้ จึงสูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็นในคราวนั้น



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม