วันศุกร์

ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ว่าด้วยเวทนา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว 👉ว่าด้วยกาม ,👉ว่าด้วยรูป

เมื่อเหล่าภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล นับตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ถูกเหล่าเดียรถีย์นักบวชนอกศาสนา ตั้งคำถาม ถามขึ้นมาว่า "พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้ในกาม กำหนดรู้ในรูป กำหนดรู้ในเวทนา กำหนดรู้พวกนี้สำนักเราก็กำหนดรู้ได้ แล้วมันจะต่างอะไรกันกับสำนักท่าน ที่พระพระสมณโคดมเป็นผู้กำหนด"

เหล่าภิกษุผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอริยบุคคล ไม่มีใครสามารถตอบคำถามหรือทำลายวาทะจาบจ้วงตีเสมอของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้สักคน เลยได้แต่นั่งนิ่ง คอตก หลบสายตา รอเวลาออกบิณฑบาตร เมื่อฉันภัตเสร็จกิจเรียบร้อยแล้วเหล่าภิกษุ จึงเข้าไปถามหาคำตอบถึงความแตกต่างในเรื่อง กาม รูป เวทนา จากพระพุทธองค์

🔅ว่าด้วยเรื่องของ เวทนา

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ในสมัยใด ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยใด ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ในสมัยใด ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่ามีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็น โทษของเวทนาทั้งหลาย"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย การกำจัด การละฉันทราคะ ของเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย"


🙏 อรรถาธิบาย
ให้สังเกตุตามหลักอิทัปปัจจยตาใน👉ปฎิจสมุปบาทก็จะเห็นความสัมพันธ์กันว่า เมื่อผัสสะมี>>เวทนาก็มีตาม เมื่อเวทนามี>>ตัณหาก็มีตาม ดังนั้นเวทนาจึงอยู่ระหว่างผัสสะ กับ ตัณหา การจะรู้เวทนานั้นต้องใช้สติเข้าไปกำหนดรู้  

วิธีฝึกตามรู้เวทนา
ถ้ารู้สึกเป็นสุข ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ อารมณ์ตอนนี้ สุข”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ อารมณ์ตอนนี้ ทุกข์”
ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็ให้กำหนด รู้ว่า“ อารมณ์ตอนนี้ เฉยๆ”
( เวทนา ๓ อารมณ์นี้ รู้ได้ด้วยสติ)

รู้อารมณ์ละเอียดขึ้น
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์สุขนี้เกิดจากกาม” (เช่น อารมณ์สุขนี้เกิดเพราะพอใจในสิ่งกระทบ ลมเย็นๆ คำชื่นชม สัมผัสนุ่มนวล ฯ)
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์ทุกข์นี้เกิดจากกาม” (เช่น อารมณ์ทุกข์นี้เกิดเพราะไม่พอใจ ที่ถูกข้ามหน้าขามตา ถูกตำหนิ ถูกทำร้าย ถูกเมิน ถูกกระทบกระทั่งทำร้ายฯ)

ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ อารมณ์สุขนี้ไม่ได้เกิดจากกาม” (เช่น นิรามิสสุข การเจริญภาวนา จิตใจสงบ มีความพอใจโดยไม่ต้องมีอะไรมากระทบ)
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้ไม่ได้เกิดจากกาม” (เช่น นิรามิสทุกข์ ความเสื่อมโทรมของสังขาร รู้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ที่แน่นอนมีกระทบไม่มีกระทบทุกข์นั้นย่อมมีเป็นธรรมดา)

ถ้ารู้สึกเฉยๆ ที่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความเฉยๆ นี้เกิดจากกาม” (เช่น เมื่อถูกกระทบทางอายตนะ เห็นรูปงาม,ไม่งาม เสียงไพเราะ หรือเสียงด่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น ฯ อะไรก็ตามที่เป็นกามคุณ ๕ มากระทบแต่วางจิตวางใจเฉยๆ ก็นั่นแหล่ะคืออุเบกขาที่เกิดจากอามิส)
ถ้ารู้สึกเฉยๆ ที่ไม่อิงอาศัยอามิสก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความเฉยๆ นี้ไม่อิงกาม” (เช่น ผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน คือล่วงพ้นจากณาน ๓ ไปแล้ว สภาวะจิตขณะนั้นเป็นสภาวะที่บริสุทธิสมบูรณ์ที่สุด 
👉อธิบาย การบรรลุจตุตถณาน)

อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยกาม
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น