แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทุกข์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทุกข์ แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์

(ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย

 (ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย

เท่าที่ได้บรรยายมา ถ้าเข้าใจความหมายของทุกข์ในอริยสัจ และแยกออกได้ชัดจากทุกข์ในไตรลักษณ์พร้อมทั้งมองเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างทุกข์ในหมวดธรรม ๒ ชุดนี้แล้ว ก็ถือเป็นอันสมวัตถุประสงค์ระหว่างที่บรรยายนั้น ได้ยกทุกข์ชื่อต่างๆ หรือทุกข์ในลักษณะอาการต่างๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่าง และได้ขอให้เข้าใจว่า ทุกข์ต่างๆ มากมายนั้น ไม่พึงถือเป็นเรื่องเคร่งครัดนัก แต่มองได้ว่าเป็นการที่ท่านยกขึ้นมากล่าวเพื่อนำความเข้าใจ ให้ง่ายและชัด เป็นเรื่องที่ต่างกันไปไดตามถิ่นฐานกาลสมัย พูดง่ายๆ ก็คือแสดงตัวอย่างเรื่องราวที่เป็นปัญหาของมนุษย์ (ใครในสมัยนี้ ถ้าสนใจ ก็อาจจะรวบรวมปัญหาหรือทุกข์ของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันมาทำเป็นบัญชีไว้) ดังที่ท้ายสุด พระพุทธเจ้าก็ทรงสรุปไว้ให้แล้ว ที่ว่า “โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ คือทุกข์” เมื่อได้ความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะแสดงชื่อทุกข์ที่ท่านจำแนกแจกแจงไว้ในที่ต่างๆ ให้เห็นตัวอย่างต่อไป ทุกข์ที่ท่านจำแนกไว้ ส่วนใหญ่เป็นทุกข์ในอริยสัจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคน เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข เป็นสิ่งควรคำนึงเพื่อปลดเปลื้องเสียด้วยการปฏิบัติ ส่วนทุกข์ที่ครอบคลุมความทั้งหมดอย่างในไตรลักษณ์ ท่านแสดงไว้แต่พอเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันตามความเป็นจริงในที่นี้จะยกมาแสดงเฉพาะชุดสำคัญๆ หรือที่ท่านกล่าวถึงกันบ่อยๆ ดังนี้

ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
เป็นชุดไขความสำหรับแสดงความหมายของทุกข์ในอริยสัจ ๔ มีดังนี้

๑) ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ต่างๆ อเนกประการ ท่านแบ่งซอยออกเป็น
    ก. คัพโภกกันติมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการเกิดอยู่ในครรภ์ อยู่ในที่อันแสนจะคับแคบอึดอัด มีดตื้อ แออัดด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ ดุจหนอนในของเน่าหรือในน้ำครำ
    ข. คัพภปริหรณมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการบริหารครรภ์ มารดาจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลุก นั่ง เดิน วิ่ง แรงหรือเบา กินดื่มของร้อนเย็นเปรี้ยวเผ็ด เป็นต้น มีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทั้งสิ้น
    ค. คัพภวิปัตติมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการวิบัติของครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก เด็กตายในครรภ์ต้องผ่าตัดออก เป็นต้น
    ง. วิชายนมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการคลอด ทั้งถูกกระทุ่งกระแทกพลิกหัน ทั้งถูกกดถูกบีบถูกอัดกว่าจะผ่านช่องอันแสนแคบออกมาได้ เจ็บปวดแสนสาหัส
    จ. พหินิกขมนมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการออกมาภายนอก เด็กแรกคลอดมีร่างกายและผิวละเอียดอ่อนดังแผลใหม่ ถูกสัมผัสจับต้องเช็ดล้างแสนเจ็บแสบ
    ฉ. อัตตุปักกมมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากทำตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตายบ้าง ประพฤติวัตรบำเพ็ญตบะทรมานตนบ้าง โกรธเคืองเขาแล้วไม่กินข้าว หรือทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น
    ช. ปรุปักกมมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากคนอื่นทำให้ เช่น ถูกฆ่า ถูกจองจำ ถูกทำร้าย เป็นต้น
๒) ชรา ความแก่ ทำให้อวัยวะทั้งหลายย่อหย่อนอ่อนแอ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น ทำหน้าที่
บกพร่องผิดเพี้ยน กำลังวังชาเสื่อมถอย หมดความแคล่วคล่องว่องไว ผิวพรรณไม่งดงามผ่องใสหนังเหี่ยวย่น ความจำเลอะเลือนเผลอไผล เสื่อมอำนาจและความเป็นเสรีทั้งภายนอกและภายในเกิดทุกข์กายและทุกข์ใจได้มาก
๓) มรณะ ความตาย ยามจะสิ้นชีพ เคยทำชั่วไว้ ก็เห็นนิมิตของบาปกรรม มีคนหรือของรักก็ต้องพลัดพรากจากไป ส่วนประกอบในร่างกายก็พากันหยุดทำหน้าที่ ทุกข์ทางกายก็อาจมีมาก จะทำอะไรจะแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้แก้ไขไม่ได้
๔) โสกะ ความเศร้าโศก ได้แก่ความแห้งใจ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น
๕) ปริเทวะ ความคร่ำครวญหรือร่ำไร ได้แก่ บ่นเพ้อไปต่างๆ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น
๖) ทุกข์ ความทุกข์กาย ได้แก่ เจ็บปวด เช่น กายบาดเจ็บ ถูกบีบคั้น เป็นโรค เป็นต้น (*๑๔๙)
๗) โทมนัส ความทุกข์ใจ ได้แก่ เจ็บปวดรวดร้าวใจ ที่ทำให้ร้องไห้ ตีอกชกหัว ลงดิ้น เชือดตัวเอง กินยาพิษ ผูกคอตาย เป็นต้น
๘) อุปายาส ความคับแค้น หรือสิ้นหวัง ได้แก่ เร่าร้อนทอดถอนใจ ในเมื่อความโศกเศร้าเพิ่มทวี เป็นต้น
๙) อัปปิยสัมปโยค การประสบคนหรือสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รัก เช่น ต้องพบต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ชอบหรือชิงชัง เป็นต้น
๑๐) ปิยวิปโยค การพลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เช่น จากญาติ จากคนรัก สูญเสียทรัพย์สิน
๑๑) อิจฉตาลาภ การไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา คือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวัง
๑๒) อุปาทานขันธ์ ขันธ์ทั้งห้าซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน กล่าวคือ ทุกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นทุกข์ของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อว่าโดยสรุป หรือโดยรวบยอด ก็คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒(*๑๕๐)
เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆ ในแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปฏิจฉันนทุกข์ ทุกข์ปิดบัง หรือทุกข์ซ่อนเร้น ไม่ปรากฏออกมาให้เห็นชัดๆ เช่น ปวดหู ปวดฟัน ใจเร่าร้อนเพราะไฟราคะและไฟโทสะ เป็นต้น
๒) อัปปฏิจฉันนทุกข์ ทุกข์ไม่ปิดบังหรือทุกข์เปิดเผย เช่น ถูกหนามตำ ถูกเฆี่ยน ถูกมีดฟัน เป็นต้น

ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒ (*๑๕๑)
เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆ อีกแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปริยายทุกข์ ทุกข์โดยปริยาย หรือทุกข์โดยอ้อม ได้แก่ ทุกข์ทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากทุกขเวทนา
๒) นิปปริยายทุกข์ ทุกข์โดยนิปริยาย หรือทุกข์โดยตรง ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์ ที่เรียกว่าทุกขทุกข์ หรือทุกขเวทนา นั่นเอง


ในคัมภีร์มหานิทเทส และจูฬนิทเทส บางแห่งแสดงชื่อทุกข์ไว้อีกเป็นอันมาก (*๑๕๒) มีทั้งที่ซ้ำกับที่แสดงไว้แล้วข้างต้น และที่แปลกออกไป ขอยกมาจัดเป็นกลุ่มๆ ให้ดูง่าย ดังนี้

ก) ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสก-ปริเทว-ทุกขะโทมนัสส-อุปายาสทุกข์
ข) เนรยิกทุกข์ ติรัจฉานโยนิกทุกข์ ปิตติวิสยิกทุกข์ มานุสกทุกข์ (ทุกข์ของสัตว์นรก ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉาน ทุกข์ของสัตว์ในแดนเปรต ทุกข์ของมนุษย์)
ค) คัพโภกกันติมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการลงเกิดในครรภ์) คัพเกฐิติมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการอยู่ในครรภ์) คัพภวุฏฐานมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการออกจากครรภ์) ชาตัสสูปนิพันธิกทุกข์ (ทุกข์ติดพันตัวของผู้ที่เกิดแล้ว) ชาตัสสปราเธยยกทุกข์ (ทุกข์เนื่องจากต้องขึ้นต่อผู้อื่นของผู้ที่เกิดแล้ว) อัตตูปักกมทุกข์ (ทุกข์ที่ตัวทำแก่ตัวเอง) ปรูปักกมทุกข์ (ทุกข์จากคนอื่นทำให้)
ง) ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปริณามทุกข์
จ) โรคต่างๆ เช่น โรคตา โรคหู เป็นต้น รวม ๓๕ ชื่อ
ฉ) อาพาธ คือ ความเจ็บไข้ที่เกิดจากสมุฏฐาน ๘ อย่าง คือ ดี เสมหะ ลม สมุฏฐานต่างๆ ประชุมกันอุตุแปรปรวน บริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ถูกเขาทำ เช่น ฆ่าและจองจำ เป็นต้น และผลกรรม
ช) หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ ทุกข์จากสัมผัสแห่งเหลือบยุงลมแดดและสัตว์เลื้อยคลาน
ญ) ทุกข์เพราะความตายของมารดา ความตายของบิดา ความตายของพี่น้องชาย ความตายของพี่น้องหญิง ความตายของบุตร ความตายของธิดา
ฎ) ทุกข์เพราะความสูญเสียญาติ ความสูญเสียโภคะ ความสูญเสียด้วยโรค ความสูญเสียศีล ความสูญเสียทิฏฐิ

ในมหาทุกขักขันธสูตร และจูฬทุกขักขันธสูตร (*๑๕๓) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกขขันธ์ คือกองทุกข์ต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาแก่มนุษย์สืบเนื่องมาจากกาม โดยสรุป ทุกขขันธ์ หรือกองทุกข์เหล่านั้น ได้แก่

ก) ความลำบากตรากตรำเดือดร้อน ตลอดกระทั่งสูญเสียชีวิต เนื่องมาจากประกอบการงานหาเลี้ยงชีพ
ข) ความเศร้าโศกเสียใจ ในเมื่อเพียรพยายามในการอาชีพแล้ว โภคะไม่สำเร็จผล
ค) แม้เมื่อโภคะสำเร็จผลแล้ว ก็เกิดความทุกข์ยากลำบากใจ ในการที่ต้องคอยอารักขาโภคทรัพย์
ง) ความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อสูญเสียโภคทรัพย์นั้นไป อารักขาไว้ไม่สำเร็จ เช่น ถูกโจรปล้น ไฟไหม้
จ) การทะเลาะวิวาทแก่งแย่ง ทำร้ายกัน ถึงตายบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ระหว่างราชากับราชาบ้าง คฤหบดีกับคฤหบดีบ้าง แม้กระทั่งระหว่างมารดาบิดากับบุตร พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน
ฉ) การทำสงครามประหัตประหารกันระหว่างหมู่ชน ๒ ฝ่าย ในสมรภูมิ ซึ่งต่างพากันล้มตายและได้รับความทุกข์แสนสาหัสเพราะถูกอาวุธหรือเนื่องมาจากการต่อสู้กันนั้น
ช) การทำสงครามที่ฝ่ายหนึ่งรุกรานโจมตีบ้านเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง และจากการต่อสู้กันก็ต้องบาดเจ็บล้มตาย ได้รับทุกข์เป็นอันมาก
ญ) การทำทุจริตก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น ปล้นทรัพย์ ทำความผิดทางเพศ เป็นต้น แล้วถูกจับกุมลงโทษต่างๆ ถึงตายบ้าง ไม่ถึงตายบ้าง
ฎ) การประกอบกรรมทุจริตทางกาย วาจา ใจ ครั้นตายแล้วก็ไปได้รับทุกข์ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ในพระบาลีและอรรถกถา ยังกล่าวถึงทุกข์ชื่ออื่นๆ กระจายกันอยู่แห่งละเล็กละน้อยอีกหลายแห่ง บางแห่งมีเพียงคำบรรยายอาการของความทุกข์ (เหมือนอย่างในมหาทุกขักขันธสูตร และจูฬทุกขักขันธสูตรข้างบนนี้) โดยไม่เรียกชื่อทุกข์ไว้โดยเฉพาะ บางแห่งก็ระบุชื่อทุกข์เฉพาะอย่างลงไป เช่น สังสารทุกข์ (*๑๕๔) อบายทุกข์ วัฏฏมูลกทุกข์ อาหารปริเยฏฐิทุกข์ (*๑๕๕) เป็นต้น (*๑๕๖)

อย่างไรก็ดี เรื่องทุกข์นี้ เราสามารถพรรณนาแสดงรายชื่อขยายรายการออกไปได้อีกเป็นอันมาก เพราะปัญหาของมนุษย์มีมากมาย ทั้งทุกข์ที่เป็นสามัญแก่ชีวิตโดยทั่วไป และทุกข์ที่แปลกกันออกไปตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัย ถิ่นฐาน และสถานการณ์ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องบรรยายในที่นี้ให้เยิ่นเย้อเนิ่นนาน

ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องรู้ความมุ่งหมาย
การที่ท่านแสดงชื่อทุกข์ต่างๆ ไว้มากมายนั้น ก็เพื่อให้เรารู้จักมันตามสภาพ คือตามที่เป็นจริง (ปริญญากิจ) เพื่อปฏิบัติต่อทุกข์นั้นๆ อย่างถูกต้อง ด้วยการยอมรับรู้สู้หน้าสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งตนจะต้องเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เลี่ยงหนี อำพรางปิดตาหลอกตัวเอง หรือแม้กระทั่งปลอบใจตนประดุจดังว่าทุกข์เหล่านั้นไม่มีอยู่ หรือตนเองหลีกหลบไปได้แล้ว และกลายเป็นสร้างปมปัญหา เสริมทุกข์ให้หนักหนาซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ให้เข้าเผชิญหน้า ทำความรู้จัก แล้วเอาชนะ อยู่เหนือมัน ทำตนให้ปลอดพ้นได้จากทุกข์เหล่านั้น ปฏิบัติต่อทุกข์โดยทางที่จะทำให้ทุกข์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่อย่างชั่วคราว จนถึงโดยถาวร

(๑๔๙) พึงสังเกตว่า ในทุกข์ชุดนี้ ไม่มีพยาธิ ซึ่งตามปรกติจะต่อจากชรา ที่เป็นเช่นนี้ ท่านอธิบายว่า เพราะพยาธินั้นเป็นทุกข์ที่ไม่แน่นอนตายตัว คือหลายคนมี แต่บางคนก็อาจจะไม่มี และอีกประการหนึ่ง พยาธินั้นจัดเข้าในข้อทุกข์กายนี้แล้ว (วิสุทธิฎีกา ๓/๑๗๙) อย่างไรก็ดี ในบาลีบางแห่งก็พบว่ามีพยาธิอยู่ในทุกข์ชุดนี้ด้วย ในกรณีเช่นนั้น ขอให้ดูอธิบายใน วินยฎีกา ๔/๖๕
(๑๕๐) วิสุทธิ.๓/๘๓-๘๔; วิภงค.อ.๑๒๐; ปญจ.อ.๓๓๖; วินยฎีกา ๔/๑๓; วิสุทธิ ฎีกา ๓/๑๘๑
(๑๕๑) วิสุทธิ.๓/๔๓-๘๔; วิภงด.อ.๑๒๐; ปญจ.อ.๓๓๖; วินยฎีกา ๔/๑๓; วิสุทธิ ฎีกา ๓/๑๘๑
(๑๕๒) ขุ.ม.๒๙/๒๓/๑๙; ๕๑/๕๒; ข.จ.๓๐/๖๘/๑๓; ๑๔๔/๗๔, ๑๔๐/๓๐๖
(๑๕๓) ม.ม.๑๒/๑๕๘/๑๖๙, ๒๑๓/๑๘๑)
(๑๕๔) เช่น วิสุทธิ.๓/๑๒๖; วิภงค.อ.๑๘๘,๑๙๓; บางแห่งในจูฬนิทเทส เช่น ๓๐/๖๘/๑๔ ฉบับอักษรไทย มี สสารทุกข์ แต่ความจริงเป็นปาฐะที่คลาดเคลื่อน ที่ถูกต้องเป็นสงฺขารทุกข์
(๑๕๕) ทุกข์ ๓ ชื่อหลังนี้ กล่าวถึงบ่อยๆ ในสังเวควัตถุ (เรื่องน่าสังเวช หรือสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช) ๘ ประการ (เช่น วิสุทธิ.๑/๑๗๑ ที่.อ.๒/๒๕๓; ม.อ.๑/๔๐๘; ส.อ.๓/๒๕๐; ฯลฯ); อาหารปริเยฏฐิทุกข์ (ทุกข์ในการแสวงหาอาหาร หรือทุกข์เกิดจากการหากิน) ก็ตรงกับเนื้อความในข้อ ก) ข้างบนนี้ ส่วนทุกข์ชื่ออื่นๆ ก็รวมอยู่แล้วในคำบรรยายข้างต้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
(๑๕๖) ในหนังสือธรรมวิจารณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒๐ พ.ศ.๒๕๐๑) หน้า ๑๓-๑๗ ทรงประมวลทุกข์ชื่อต่างๆ จากหลายแหล่งมารวมไว้ ๑๐ อย่าง บางอย่างทรงตั้งชื่อเรียกใหม่ให้เป็นพวกๆกัน มีดังนี้ ๑. สภาวทุกข์ หรือทุกข์ประจำสังขาร คือชาติ ชรา มรณะ ๒. ปกิณณกทุกข์ หรือทุกข์จร คือโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส (รวมทั้ง อัปปิยสัมปโยค ปิยวิปโยค และอิจฉตาลาภ) ๓. นิพัทธทุกข์ คือ ทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เจ้าเรือน ได้แก่หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ๔. พยาธิทุกข์ หรือทุกขเวทนา ๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์คือความเร้ารุม หรือทุกข์ร้อน ได้แก่ความกระวนกระวายใจเพราะไฟกิเลส ๖. วิปากทุกข์ หรือผลกรรม ได้แก่วิปฏิสาร การถูกลงอาชญา การตกอบาย ๗. สหคตทุกข์ ทุกข์ไปด้วยกันหรือทุกข์กำกับกัน คือทุกข์ที่พ่วงมากับโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์ เช่น ได้ลาภแล้วทุกข์เพราะระวังรักษา ๘. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน ได้แก่ อาชีวทุกข์ คือ ทุกข์เนื่องด้วยการหาเลี้ยงชีวิต ๙. วิวาทมูลกทุกข์ คือทุกข์มีวิวาทเป็นมูล เช่น กลัวแพ้ หวั่นหวาดในการรบกัน สู้คดีกัน ๑๐. ทุกขขันธ์ หรือทุกข์รวบยอด คือ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                    (ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา




วันเสาร์

๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

 ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แสดงอรรถของทุกขตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเป็นของมีภัย (ภยฎเฐน)" (*๑๒๘) ที่ว่า “มีภัย” นั้น จะแปลว่า เป็นภัย หรือ น่ากลัว ก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลว่า สังขารทั้งปวงเป็นสภาพที่ผุพังแตกสลายได้ จะต้องย่อยยับมลายสิ้นไป จึงไม่มีความปลอดภัย ไม่ให้ความปลอดโปร่งโล่งใจหรือความเบาใจอย่างเต็มที่แท้จริง หมายความว่า ตัวมันเองก็มีภัยที่จะต้องเสื่อมโทรมสิ้นสลายไป มันจึงก่อให้เกิดภัย คือความกลัวและความน่ากลัวแก่ใครก็ตามที่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง

ส่วนคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ คำอธิบายที่ท่านใช้บ่อยมี ๒ นัย คือ “ชื่อว่าเป็นทุกข์โดยความหมายว่า มีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลาย (อุปฺปาทวยปฏิปีฬนฎเฐน (*๑๒๙) หรือ อุปฺปาทวยปฏิปีฬนตาย) (*๑๓๐) ทั้งบีบคั้นขัดแย้งต่อประดาสิ่งที่ประกอบอยู่กับมัน และทั้งมันเองก็ถูกสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยนั้นบีบคั้นขัดแย้ง (*๑๓๑) “และ (ชื่อว่าเป็นทุกข์) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขวตฺถุตาย (*๑๓๒) หรือ ทุกฺขวตฺถุโต) (*๑๓๓)” คือ เป็นที่รองรับของความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เช่น ก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ พูดให้ง่ายเข้าว่า ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ เป็นต้น หรือที่เรียกว่าบีบคั้น ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกบีบคั้น เป็นต้น

ความหมายที่ท่านประมวลไว้ครบถ้วนที่สุดมี ๔ นัย
คือ เป็นทุกข์ด้วยอรรถ ๔ อย่าง ดังนี้ (*๑๓๔)

    ๑. อภิณหสมุปติปีฟันโต เพราะมีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คือ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้น ความเสื่อมโทรม และความแตกสลาย และบีบคั้นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา กับสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วย หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยต่างก็เกิดขึ้น ต่างก็โทรมไป ต่างก็แตกสลาย
    ๒. ทุกขมโต เพราะเป็นสภาพที่ทนได้ยาก คือคงทนอยู่ไม่ไหว หมายความว่า คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
จะต้องเปลี่ยน จะต้องกลาย จะต้องหมดสภาพไป เพราะความเกิดขึ้นและความโทรมสลายนั้น
    ๓. ทุกขวตถุโต เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเป็นที่รองรับสภาวะแห่งทุกข์ ซึ่งก็หมายความด้วยว่า เมื่อโยงมาถึงคน หรือในแง่ที่คนเกี่ยวข้อง ก็เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์ เช่น ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกบีบคั้นเป็นต้น (อรรถกถาและฎีกา อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งทุกขตาทั้ง ๓ และแห่งสังสารทุกข์ ) (*๑๓๖)
    ๔. สุขปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความสุข คือ โดยสภาวะของมันเอง ที่ถูกปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นขัดแย้งและคงสภาพอยู่ไม่ได้ มันก็ปฏิเสธหรือกีดกั้นภาวะราบรื่นคล่องสะดวกอยู่ในตัว (เป็นเรื่องที่คนจะต้องดิ้นรนจัดสรรปัจจัยทั้งหลายเอา โดยที่ความสุขที่เป็นตัวสภาวะจริง ก็มีแต่เพียงความรู้สึก)


อธิบายว่า สภาวะที่มีเป็นพื้น ได้แก่ ทุกข์ คือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังขารทั้งหลาย ที่จริงก็เพียงเป็นสภาวะตามปกติธรรมดาของธรรมชาติ แต่ในสภาพที่เกี่ยวข้องกับคน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) เมื่อใดทุกข์คือความบีบคั้นกดดันนั้นผ่อนคลายไป หรือคนปลอดพ้นจากทุกข์นั้น ก็เรียกว่ามีความสุขหรือรู้สึกสุข ยิ่งทำให้เกิดทุกข์คือบีบคั้นกดดัน ทำให้รู้สึก ขาด พร่อง กระหาย หิว มากเท่าใด ในเวลาที่ทำให้ผ่อนหายปลอดพ้นจากทุกข์หรือความบีบกดนั้น ก็ยิ่งรู้สึกสุขมากขึ้นเท่านั้น เหมือนคนที่ถูกทำให้ร้อนมาก เช่น เดินมาในกลางแดด พอเข้ามาในที่ร้อนน้อยลงหรืออุ่นลง ก็รู้สึกเย็น ยิ่งได้เข้าไปในที่ที่เย็นตามปกติ ก็จะรู้สึกเย็นสบายมาก ในทางตรงข้าม ถ้าทำให้ได้รับความรู้สึกสุข (สุขเวทนา) แรงมาก พอเกิดความทุกข์ ก็จะรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) รุนแรงมากด้วยเช่นกัน แม้แต่ทุกข์เพียงเล็กน้อยที่ตามปกติจะไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็อาจจะรู้สึกทุกข์ได้มาก

เหมือนคนอยู่ในที่ที่เย็นสบายมาก พอออกไปสู่ที่ร้อน ก็รู้สึกร้อนมาก แม้แต่สภาวะที่คนอื่นๆ หรือตัวเขาเอง
เคยรู้สึกเฉยๆ เขาก็อาจจะกลับรู้สึกเป็นร้อนไป พูดลึกลงไปอีก ให้ตรงความจริงแท้ว่า ที่ว่าเป็นสุขหรือรู้สึกสุข (สุขเวทนา) นั้น ตามที่แท้จริงก็ไม่ใช่ปลอดพ้นหรือหายทุกข์ แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขีดขั้นหนึ่งของทุกข์เท่านั้น กล่าวคือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่ผ่อนหรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งหรือในอัตราหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสุข เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุข แต่ถ้าเกินกว่านั้นไป ก็กลายเป็นต้องทนหรือเหลือทน เรียกว่า เป็นทุกข์ คือรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ว่าที่แท้จริงก็มีแต่ทุกข์ คือแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเหมือนกับเรื่องความร้อน และความเย็น ว่าที่จริง ความเย็นไม่มี มีแต่ความรู้สึกเย็น สภาวะที่เป็นพื้นก็คือ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จนถึงไม่มีความร้อน ที่คนเราพูดว่าเย็นสบายนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งที่แท้แล้วเป็นความร้อนในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าร้อนน้อยหรือมากเกินกว่าระดับนั้นแล้ว ก็หารู้สึกสบายไม่

โดยนัยนี้ ความสุข หรือพูดให้เต็มว่า ความรู้สึกสุขคือสุขเวทนา ก็เป็นทุกข์ ทั้งในความหมายว่าเป็นทุกข์ระดับหนึ่ง มีสภาวะเพียงความรู้สึก และในความหมายว่า เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อความบีบคั้นกดดัน ขัดแย้ง จะต้องกลาย จะต้องผันแปร จะต้องหมดไป เหมือนกับว่าทุกข์ที่เป็นตัวสภาวะนั้นไม่ยอมให้สุขยืนยงคงอยู่ได้ตลอดไป  อนึ่ง ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ที่อ้างถึงข้างต้นว่า ท่านแสดงอรรถคือความหมายของ “ทุกข์” ซึ่งเป็นข้อที่ ๒ ในไตรลักษณ์ไว้อย่างเดียวว่า เป็นสิ่งมีภัย (ภยฺฎเฐน) นั้น เมื่อถึงตอนที่อธิบายเรื่องอริยสัจ ท่านได้แสดงอรรถของทุกข์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจว่ามี ๔ อย่าง คือ มีความหมายว่าบีบคั้น (ปีฟันฎฺฐ) มีความหมายว่าเป็นสังขตะ (สงฺขตฏฺฐ) มีความหมายว่าแผดเผา (สนุตาปฎฺฐ) และมีความหมายว่าผันแปร (วิปริณามฏฺฐ) (*๑๓๗) เห็นว่า ความหมาย ๔ นัยนี้ใช้กับทุกข์ในไตรลักษณ์ได้ด้วย จึงขอนำมาเพิ่มไว้ ณ ที่นี้ โดยตัดข้อที่ ๑ และข้อที่ ๔ (ปีฟันฎฐ และ วิปริณามฎฐ) ออกไป คงได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ

    ๕. สงขตฎร โดยความหมายว่าเป็นของปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยต่างๆ รุมกันหรือมาชุมนุมกันปรุงแต่งเอามีสภาพที่ขึ้นต่อปัจจัย ไม่เป็นของคงตัว
    ๖. สนุตาปฎร โดยความหมายว่าแผดเผา คือ ในตัวของมันเองก็มีสภาพที่แผดเผาให้กร่อนโทรมย่อยยับสลายไป และทั้งแผดเผาผู้มีกิเลสที่เข้าไปยึดติดถือมั่นมันให้เร่าร้อนกระวนกระวายไปด้วย (*๑๓๘)

๑๒๘) ข.ปฏิ.๓๑/๗๙/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕
๑๒๙) วิสุทธิ.๓/๒๖๐
๑๓๐) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๑) วิสุทธิ.ฎีกา ๓/๔๖๒
๑๓๒) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๓) เช่น วิสุทธิ.๓/๘๗
๑๓๔) วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๑ (ข้อแรกเป็น สนุตาป); วิภงค.อ.๖๒
๑๓๕) ความหมายในภาษาไทยที่แปลตามตัวอักษรว่า ทนได้ยาก อาจให้รู้สึกว่าเข้ากันดีกับทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวด ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นสิ่งที่คนทนได้ยาก แต่นั่นเป็นเพียงถ้อยคำแสดงความหมายที่พอดีมาตรงกับความรู้สึก ความจริง ความหมายนั้นเป็นสำนวนในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึงคงทนอยู่ไม่ได้ หรือคงสภาพอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะของสังขารทั้งหมดทุกอย่างดังได้อธิบายข้างบนนั้น
๑๓๖) เช่น วินยฎีกา ๓/๘๑; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๖๒, ๕๔๐
๑๓๗) ขุ.ปฏิ.๓๑/๔๕/๒๔, ๕๕๕๕๕๙; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๗๖; วิภงค.อ.๑๐๗; อนึ่ง ม.อ.๒/๑๕๑ จัด สนุตาป เป็นข้อที่ ๑ ในอรรถ ๔ ข้างต้น
๑๓๘) คำอธิบายในที่นี้ หนักข้างอัตโนมัติ ผู้ต้องการคำอธิบายในอรรถกถาและฎีกา ฟังดู ปฏิส.อ.๑๑๙,๑๒๓; วิสุทธิฎีกา ๓/๑๗๑

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา