ค. ความสำคัญและความสัมพันธ์ของคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ด้าน

ยังมีข้อควรทราบอีกบางประการเกี่ยวกับความสำคัญของคุณค่าทางจริยธรรมทั้งสองอย่างของไตรลักษณ์ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทั้งสองนั้น ซึ่งจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

🔅๑. คุณค่าด้านการทำจิต กับคุณค่าด้านการทำกิจ
ช่วยปิดช่องเสียของกันและกัน และช่วยเสริมกันให้เกิดคุณประโยชน์โดยสมบูรณ์

ก. คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำกิจหรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ดังนี้
        ๑) ช่วยให้การทำกิจเป็นไปโดยบริสุทธิ์ คือ ทำการด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปมของกิเลสที่แอบแฝงคอยชักพาไป ปฏิบัติตรงไปตรงมาตามเหตุปัจจัย เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีงามอย่างแท้จริง
        ๒) ช่วยให้การทำกิจดำเนินไปด้วยความสุข คือ ปิดช่องเสียสำคัญของนักทำกิจ ที่เมื่อกระตือรือร้นเร่งรัดทำงาน ก็มักทำด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีความเครียดกังวลมาก เพราะทำด้วยถูกแรงกิเลสบีบคั้น เช่น ทำด้วยความกลัว ด้วยความคิดแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เป็นต้น เปลี่ยนเป็นทำงานด้วยจิตใจที่สงบสุข เบิกบาน ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน ที่ช่วยให้ทำใจเป็นอิสระได้เสมอ

นอกจากนั้น ในเมื่อผู้ทำกิจเห็นคุณค่าของความบริสุทธิ์หลุดพ้นและความสงบสุขของจิตแล้ว การทำงานสร้างสรรค์พัฒนาต่างๆ ภายนอก ก็จะเป็นไปโดยมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความมีชีวิตที่บริสุทธิ์และสุขสงบไปด้วย พูดสั้นๆ ว่า การพัฒนาวัตถุจะดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาจิตใจ

ข. คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท ช่วยเสริมคุณค่าด้านการทำจิตหรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ คือ ตามหลักสามัญที่ว่า คนทั่วไปเมื่อสุขสบายแล้ว ก็มักประมาท โดยหยุดนิ่งเฉยเสีย คือไม่กระตือรือร้นที่จะทำกิจต่อไป ไม่เฉพาะคนผู้สร้างสรรค์พัฒนาวัตถุหรือแก้ไขปัญหาภายนอกเท่านั้น ที่เมื่อเจริญสุขสบายแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้ว มักจะประมาท แม้แต่คนที่ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้แล้ว จิตใจหายทุกข์ โล่งสบาย ก็มักติดเพลินในความสงบสบายใจนั้น แล้วหยุดนิ่งเฉย ไม่แก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ ไม่เร่งรัดตนเองให้ทำกิจที่ควรทำ ทั้งเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาภายนอกต่อไป คุณค่าด้านการทำกิจของไตรลักษณ์ จะปิดช่องเสียนี้ และเร่งเร้าผู้นั้นให้กระตือรือร้นทำกิจต่อไป

กล่าวโดยย่อ ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง คุณค่าทั้งสองด้านนี้จะต้องประสานและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน การทำจิตจะต้องช่วยการทำกิจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยให้ทำอย่างบริสุทธิ์และมีความสุข ไม่ใช่มาหยุดหรือถ่วงการทำกิจ การทำกิจก็จะต้องเสริมการทำจิตไม่ให้กลายเป็นความติดเพลิน แต่ให้เร่งรัดก้าวหน้าต่อไป การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น จะแก้ไขปัญหาเรื่องทำการด้วยใจมีทุกข์ และสบายแล้วหยุด ให้กลายเป็นทำกิจ ด้วยจิตสบาย และถึงแม้สบายก็ยังทำกิจ หรือ เมื่อสร้างความเจริญอยู่ ก็ไม่มีทุกข์ เมื่อเจริญสบายแล้ว ก็ไม่นิ่งหยุด สามารถเอาการทำจิตมาคุมการทำกิจ และเอาการทำกิจไปสนับสนุนการทำจิต ให้ได้ผลสมบูรณ์ด้วยกันและพร้อมกันทั้งสองด้าน

🔅๒. คุณค่าทั้งสองด้านต่างก็อาศัยปัญญาหรือมีแกนรวมที่ปัญญา

ก. ในด้านการทำจิต ปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้หายยึดติดถือมั่นในสังขารสามารถสละ ละ ปล่อยวาง ทำใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระ ยิ่งรู้เท่าทันชัดเจนมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้น บรรลุภูมิธรรมสูงขึ้น และสามารถดำรงอิสรภาพของจิตไว้ได้ตลอดเวลา เช่น เมื่อได้ฌานได้วิปัสสนาก็รู้เท่าทันแม้แต่สุขในฌาน ในวิปัสสนานั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วไม่ติดในสุขนั้น ไม่ติดในฌานในวิปัสสนานั้น เป็นต้น

ข. ในด้านการทำกิจ ปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นเร้าเตือนที่จะเร่งทำกิจ ใช้ชีวิตใช้เวลาให้เกิดคุณค่ามากที่สุด ความรู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ทำให้พิจารณาค้นหาเหตุปัจจัย เพื่อแก้ไขที่เหตุปัจจัย หรือทำการให้ตรงตัวเหตุตัวปัจจัย ความรู้และทำให้ตรงตัวเหตุปัจจัยนี้ รวมไปถึงการพิจารณาทบทวนวิเคราะห์หาเหตุปัจจัยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงส่วนที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเป็นบทเรียน และกำหนดเหตุปัจจัยที่จะต้องเกี่ยวข้องในการที่จะกระทำ เพื่อป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาต่อไปด้วย

🔅๓. คุณค่าทางจริยธรรมทั้งสองข้อของไตรลักษณ์ แสดงถึงความสำคัญอย่างยวดยิ่งของหลักไตรลักษณ์ ดังนี้

ก. ไตรลักษณ์ เป็นจุดบรรจบของสภาวสัจจะสำหรับปัญญา จะรู้เข้าใจให้เกิดความหลุดพ้นเป็นอิสระ และของจริยธรรมที่จะต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือ ไตรลักษณ์นั้นเป็นสภาวสัจจะหรือความจริงตามสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับปัญญาจะรู้เข้าใจ ซึ่งเมื่อรู้เข้าใจเท่าทันแล้ว ก็จะทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ และในเวลาเดียวกันนั้น ไตรลักษณ์ ก็เป็นเครื่องเร้าเตือน ทำให้ผู้รู้เข้าใจไตรลักษณ์แล้ว เกิดความไม่ประมาท เร่งรัดทำกิจที่ควรทำ และหลีกเว้นการที่ควรเว้น ขวนขวายสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมต่างๆ

ข. ไตรลักษณ์เป็นจุดกำเนิดของจริยธรรมตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย ข้อนี้ก็มีเหตุผลทำนองเดียวกับข้อ ก. คือ ความสำนึกในไตรลักษณ์เป็นเครื่องเร้าเตือนให้ไม่ประมาท ทำให้เว้นชั่ว ทำดี ทำกิจสร้างสรรค์ ทำให้มีการประพฤติจริยธรรมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นขึ้นไป จนในที่สุดเมื่อมีความรู้แจ้งชัดในไตรลักษณ์โดยสมบูรณ์ ก็จะทำให้สามารถดำรงจิตเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง หลุดพ้น เป็นเสรีโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของจริยธรรม

ค. ไตรลักษณ์ เป็นที่บรรจบของโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม กล่าวคือ คุณค่าด้านการทำจิตหรือความมีใจหลุดพ้นเป็นอิสระนั้น เป็นคุณค่าในระดับโลกุตระ ส่วนคุณค่าด้านการทำกิจหรือความไม่ประมาท เป็นคุณค่าระดับโลกิยะ การที่คุณค่าทั้งสองด้านนั้น ช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ก็เป็นเครื่องแสดงว่าในชีวิตที่พึงปรารถนา โลกิยธรรมกับโลกุตรธรรมจะอิงอาศัยไปด้วยกันพร้อมๆ กัน ดังหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ พระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งเป็นบุคคลแบบอย่างสูงสุด เป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เป็นอิสระแล้วโดยสมบูรณ์ และอิสรภาพสมบูรณ์ของจิตนั้น ท่านได้ทำสำเร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท พระอรหันต์จึงเป็นบุคคลระดับเดียวที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญความไม่ประมาทแล้วโดยสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้ทำกิจสำเร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท แม้เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของพหูชนด้วยความไม่ประมาทต่อไป (มีพุทธพจน์บางแห่งตรัสแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์ไว้ว่า “เป็นผู้ไม่อาจ (คือเป็นไปไม่ได้) ที่จะประมาท”ท่านแสดงเหตุผลว่า เพราะกิจที่พึ่งทำด้วยความไม่ประมาท พระอรหันต์เหล่านั้นได้ทำเสร็จแล้ว) แม้คนทั่วไปที่ยังเป็นปุถุชน ก็ควรดำเนินตามแบบอย่างของท่านผู้บรรลุจุดหมายสูงสุดแล้วเหล่านี้ ด้วยการดำเนินชีวิตที่จะให้ได้คุณค่าทั้งสองด้านของไตรลักษณ์ คือ ทั้งทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระเท่าที่จะทำได้ในวิสัยของตน และทั้งทำกิจด้วยความไม่ประมาทไปด้วยพร้อมกัน

ง. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ เป็นหลักประกันของศีลธรรมที่สมบูรณ์ ซึ่งได้ผลแน่นอนมั่นคง และเด็ดขาด อธิบายว่า สิ่งที่จะเป็นหลักประกันให้คนมีศีลธรรมได้อย่างแน่นอนเด็ดขาดมี ๒ อย่าง คือ
        ๑) จิตไม่เอา คือ ความรู้สึกของจิตใจที่ไม่เกาะเกี่ยว ไม่อยาก ไม่ปรารถนาอามิส ไม่คิดละเมิดหรือคิดที่จะทำผิดใดๆ เลย เพราะจิตพ้นไป ใจอยู่เหนือ ไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้กระทำเช่นนั้นเหลืออยู่ หมดความเห็นแก่ตัว
        ๒) ความสุขที่ดีกว่า อย่างที่ท่านเรียกว่า ความสุขอันประณีต ซึ่งเข้าถึงได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ไม่ต้องอาศัยการกระทำที่ผิดศีลธรรมเลย

ว่าที่จริง เพียงข้อ ๑) อย่างเดียว ก็เป็นหลักประกันที่เพียงพออยู่แล้ว สำหรับความเป็นอยู่ที่จะไม่มีการประพฤติผิดศีลธรรม หรือละเมิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ส่วนข้อที่ ๒) เป็นคุณค่าที่เสริมเพิ่มให้แน่นหนายิ่งขึ้นไปอีก คุณค่าข้อที่ ๑ ของไตรลักษณ์ คือคุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความเป็นอิสระหลุดพ้นของจิตอำนวยสิ่งที่จะเป็นหลักประกันของศีลธรรมทั้งสองข้อนี้ กล่าวคือ ความรู้เท่าทันสังขาร มองเห็นไตรลักษณ์ ย่อมทำให้จิตใจเป็นอิสระ หายยึดติดผูกพัน สลัดพ้นไป ลอยตัว ไม่เห็นสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ว่าน่าเอา น่าเป็น หรือน่าเกลียด น่าชัง ที่จะเป็นเหตุให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นการผิดศีลธรรม พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลธรรมเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้ประพฤติผิดศีลธรรมนั้นเลย อีกประการหนึ่ง ความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิต เป็นเหตุให้เกิดความสุขอย่างประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดศีลธรรมนั้น คือ ผู้หลุดพ้น มีความรู้สึกเป็นเสรี ปลอดโปร่งโล่งเบา เบิกบานผ่องใส และบางท่านก็อาจจะได้สมาธิได้ฌานที่ทำให้มีความสุขประณีตแบบต่างๆ ได้อีก เมื่อมีความสุขอยู่แล้ว และเป็นสุขที่ดีกว่า ก็จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้นั้นย่อมจะไม่เกิดความคิดใดๆ ที่จะละเมิดศีลธรรมเพื่อหวังความสุขที่ตนยังไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เป็นหลักประกันข้อที่ ๒) คือความสุขที่ประณีตอย่างเดียว ถ้าเป็นสุขในระดับโลกิยะ เช่น ได้ฌาน เป็นต้น ก็ยังไม่เป็นหลักประกันที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์ เพราะผู้ได้สุขประณีตระดับโลกิยะ อาจถอยกลับมาหมกมุ่นในสุขหยาบๆ ได้อีก จะให้ปลอดภัยแท้จริง ต้องได้หลักประกันข้อที่ ๑) คือ จิตไม่เอาด้วย มิฉะนั้นก็ต้องเป็นสุขประณีตขั้นโลกุตระ ซึ่งก็ย่อมมาด้วยกันกับหลักประกันข้อที่ ๑ อยู่เองเป็นธรรมดา

อารยชน บุคคลโสดาบัน เป็นผู้ที่มีหลักประกันทางศีลธรรมทั้งสองข้อที่กล่าวนี้อยู่กับตัวแล้ว จึงเป็นผู้มีศีลธรรมสมบูรณ์ จะไม่มีการประพฤติผิดศีลธรรมใดๆ เลยอย่างแน่นอน แม้โดยหลักการท่านก็เรียกพระอริยบุคคล หรือตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป ว่าเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าต้องการให้ศีลธรรมแผ่ทั่วไปในสังคมอย่างมั่นคง ก็จะต้องพัฒนาคนส่วนใหญ่ให้เป็นโสดาบัน จึงจะประสบความสำเร็จแท้จริง ถ้าไม่สามารถสร้างหลักประกัน ๒ อย่างนี้ขึ้น ความหวังที่จะให้สังคมมีศีลธรรมมั่นคงก็เป็นไปได้ยาก เพราะมีเชื้อหรือความโน้มเอียงที่จะละเมิดศีลธรรมอยู่ภายในตัวคนทั่วๆ ไป อันได้แก่จิตที่จะเอา หรือกิเลสที่จะละเมิด ในกรณีเช่นนี้ การสร้างเสริมศีลธรรมจะต้องใช้วิธีสร้างระบบการบังคับควบคุม การข่มฝืน หรือใช้พลังอย่างอื่นที่แรงกว่ามากดหรือท่วมท้นออกไป ซึ่งย่อมไม่ปลอดภัยจริง และไม่ได้ผลสมบูรณ์

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สำเร็จผลด้วยดีของวิธีการเช่นนี้ มีอยู่ทั่วไป เช่น คนในยุคปัจจุบันนี้เอง ได้เล่าเรียนกันมามากๆ ทั้งที่รู้อยู่ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด เป็นคุณหรือเป็นโทษ แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ความชัง ความหลงมัวเมา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ละเมิดศีล ทำการที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง (เช่น ดื่มสุรา เป็นทาสยาเสพติด) บ้าง เบียดเบียนสังคม (เช่น ทุจริต แย่งชิง เอาเปรียบคนตลอดจนตัดไม้ทำลายป่า) บ้าง คำชี้แจงโดยเหตุผลก็ดี การใช้กฎหมายบังคับก็ดี ปรากฏว่าได้ผลน้อยกว่าที่ควรไม่แน่ไม่จริง บางที่เหมือนเล่นเอาเถิดกัน

ในกรณีที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันของศีลธรรมอย่างที่กล่าวข้างต้น มนุษย์ทั่วไปจะใช้วิธีการต่อไปนี้ในการรักษาหรือส่งเสริมศีลธรรม ซึ่งได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่เด็ดขาด คือ

👉ใช้พลังความกลัว โดยขู่บังคับด้วยอำนาจของคน ได้แก่การวางกฎเกณฑ์ กฎหมาย และระบบการลงโทษ ซึ่งจะมีการพยายามหลบเลี่ยง ทำให้ต้องวางระบบการควบคุมซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจจะมีความทุจริตในระบบ เช่น การสมคบกัน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ทำให้การรักษาศีลธรรมได้ผลน้อยลงๆ

👉ใช้พลังความกลัว โดยขู่ด้วยอำนาจเร้นลับ เช่น เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งในสมัยที่คนเชื่อ ก็ได้ผลไม่น้อย แต่เมื่อคนมีความรู้อย่างปัจจุบันมากขึ้น ก็ได้ผลน้อย การใช้พลังความกลัวในข้อนี้รวมไปถึงความกลัวต่อการไปเกิดในนรกด้วย

👉 ใช้พลังความกลัว โดยบีบด้วยอำนาจเกียรติยศและความนิยมนับถือ คือใช้อำนาจบีบคั้นของสังคม ทำให้กลัวความติเตียน ความเสียชื่อเสียง เป็นต้น สำหรับบางคนก็ได้ผล บางคนก็ไม่ได้ผล ถึงแม้ได้ผลก็ไม่เด็ดขาด (เช่น อาจจะลอบทำ หลบทำ)

👉 ใช้พลังความอยาก โดยล่อด้วยรางวัลหรือผลตอบแทน ทั้งจากคนด้วยกัน จากเทพเจ้าหรืออำนาจเร้นลับศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนการไปเกิดในสวรรค์ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ตามกาลเทศะ ไม่แน่นอน

👉 ใช้พลังมโนธรรม โดยเร้าความละอายแก่ใจ ความเคารพตนเอง และความมีสติสัมปชัญญะ พลังข้อนี้น้อยคนจะมีมาก คนส่วนมากมีพลังนี้น้อย มักพ่ายแพ้แก่พลังความอยากเป็นต้น จึงรักษาศีลธรรมไว้ได้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะในยุคที่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก และมีค่านิยมหยาบ พลังมโนธรรมนี้ก็คุ้มครองไม่ได้มาก

👉 ใช้พลังศรัทธา โดยเร้าให้จิตแล่นพุ่งดิ่งไปในอุดมคติ อุดมการณ์ หรือสิ่งสูงส่งดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งทำสำเร็จได้ยาก และแม้สำเร็จแล้ว ก็ไม่แน่นอน อาจกลับกลายเป็นอื่นไปได้ เพราะความเชื่อ เป็นการขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่ใช่ความรู้จริง และก็ยังไม่หมดเชื้อกิเลสภายใน ซึ่งอาจกำเริบมีกำลังแข็งกล้าขึ้นมากลบทับศรัทธาในคราวหนึ่งคราวใดก็ได้ หรือศรัทธานั้นก็อาจจะจางลงและหายไปเอง (ข้อนี้รวมถึงพลังสมาธิในระดับเจโตวิมุตติขั้นต้นๆ ด้วย)

👉 ใช้พลังฉันทะ โดยเร้าให้เกิดความอยากสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือความใฝ่ดี ข้อนี้เป็นพลังตรงข้ามหรือคู่ปรับโดยตรงกับพลังตัณหาที่เป็นตัวการให้ประพฤติผิดหรือละเมิดศีลธรรม ในกรณีที่ยังไม่สามารถสร้างความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตขึ้นได้ ควรมุ่งเน้นการสร้างพลังฉันทะนี้ เพราะเป็นพลังที่เป็นกุศล เจือด้วยปัญญา และส่งต่อถึงความหลุดพ้นเป็นอิสระได้โดยตรงกว่าข้ออื่นๆ

ไม่ว่าจะมีพลังชนิดใดอยู่เบื้องหลัง การปฏิบัติก็ต้องอาศัยสัญญมะ คือการบังคับควบคุมตนเองเป็นหลักในการทำให้ศีลธรรมสัมฤทธิผล ดังนั้น ในการพัฒนาคนด้านศีลธรรม จึงต้องฝึกให้คนมีความเข้มแข็งรู้จักบังคับควบคุมตนได้ ซึ่งความสำเร็จผลจะง่ายหรือยาก และผลจะดีมากหรือน้อย ก็ขึ้นต่อพลังหนุนที่อยู่เบื้องหลังด้วย ในบรรดาพลังที่กล่าวมานั้น พลังที่จัดว่าอยู่ในขั้นประณีต ก็คือ พลังมโนธรรม พลังศรัทธา และพลังฉันทะ แต่ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า พลังเหล่านี้จะยังไม่สามารถให้ผลแน่นอนเด็ดขาด ศีลธรรมของสังคมจะมั่นคงแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนเข้าถึงสิ่งที่เป็นหลักประกันของศีลธรรม ๒ อย่าง ซึ่งทำให้มีศีลธรรมขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ คือ จิตที่พ้น และสุขที่ประณีต ซึ่งไม่ขึ้นต่ออามิส ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

จ. ความไม่ประมาท ซึ่งเป็นคุณค่าทางจริยธรรมข้อที่ ๒ ของไตรลักษณ์นั้น เป็นเครื่องเร่งเร้าให้เกิดความก้าวหน้าในธรรม และพร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าในธรรมด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอรหันต์เป็นจุดสุดยอด เป็นที่บรรจบร่วม และเป็นที่แสดงออก ทั้งของความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ และการที่ได้บำเพ็ญความไม่ประมาทโดยสมบูรณ์ เป็นจุดสมบูรณ์ ทั้งของการปฏิบัติ ทางจริยธรรม และของความรู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรม เป็นที่ประสานกลมกลืนของความปล่อยวางไม่ยึดมั่น กับการกระทำอย่างเอาใจใส่จริงจัง เป็นจุดเต็มแห่งการบรรลุโลกุตรธรรม และการปฏิบัติถูกต้องต่อโลกิยธรรม เป็นที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งตรงข้ามกัน แต่ที่จริงสอดคล้องไปด้วยกันได้อย่างไร มิใช่เพียงสอดคล้องไปกันได้เท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมกันอีกด้วย

ความไม่ประมาทเป็นศูนย์รวมของจริยธรรม และเป็นตัวเร่งให้เกิดการกระทำตลอดกระบวนการแห่งปฏิบัติการทางจริยธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด ยังมีพุทธพจน์ตรัสเรียกว่าเป็นดุจรอยเท้าช้างที่ใหญ่ ซึ่งคุมรอยเท้าของสัตว์บกอื่นๆ ได้หมดทุกชนิด ความไม่ประมาทคุมคุณธรรมข้ออื่นทุกอย่างให้ออกทำงาน คุณธรรมข้ออื่นๆ ต้องมีความไม่ประมาทออกร่วมปฏิบัติงาน ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว คุณธรรมข้ออื่นๆ ถึงแม้มีอยู่มากมาย กล่าวถึงเต็มไปทั่วคัมภีร์ทั้งหลาย ก็เงียบเฉย เหมือนไม่มีหรือนอนตายแล้วทั้งหมด เปล่าประโยชน์ ต่อเมื่อไม่ประมาทแล้ว คุณธรรมทั้งหลายจึงจะสำแดงผลอย่างแท้จริง แต่สำหรับบุคคลที่มีกิเลส จิตยังไม่หลุดพ้น ความไม่ประมาทมักจะถูกถ่วงรั้งให้ย่อหย่อนหรือหยุดเฉย กลายเป็นความประมาทเสียบ่อยๆ เพราะมัวติดเพลินอยู่ในอามิส และในอารมณ์ที่ล่อให้ลุ่มหลงหรือให้เขวไปเสียบ้าง ถูกกิเลสเช่นตัณหา พาให้เกียจคร้าน ห่วงกังวล หรือเถลไถลเสียบ้าง การปฏิบัติจริยธรรม จึงบกพร่องอยู่เนื่องๆ หรือไม่สำเร็จผลเลย ในทางตรงข้าม ยิ่งมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระมากขึ้น ก็ยิ่งไม่ติดเพลินในอามิสและในอารมณ์ที่ล่อหลอกและไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่มีเครื่องถ่วงรั้งไว้ จึงยิ่งจะเป็นผู้ไม่ประมาท เร่งรัดทำกิจที่ควรทำได้มากขึ้น ความเป็นอิสระละวางกับความเอาจริงเอาจังในงาน จึงเสริมกันให้ต่างก็สมบูรณ์ไปด้วยกันฉะนี้

พร้อมกันนั้น หลักความไม่ประมาทเท่าที่กล่าวมา ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้สำนึกว่า ทุกคนแม้เป็นอริยะแล้วในชั้นต้นๆ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ก็ยังมีจุดอ่อน อาจไปติดเพลินในความสุขสบาย และอิ่มพอในผลสำเร็จที่ลุถึงแล้ว กลายเป็นผู้ประมาท คือ พลั้งพลาดเอากุศลธรรมและคุณวิเศษที่ได้บรรลุแล้ว เป็นปัจจัยแห่งความประมาทไปเสีย จึงต้องเตือนตนอยู่เสมอ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และหมั่นสร้างความสังเวช คือ คอยเร้าเตือนจิตสำนึกให้คิดที่จะไม่ประมาทอยู่ตลอดทุกเวลา ในเมื่อคนทั้งหลายมีเชื้อหรือมีความโน้มเอียงที่จะเป็นผู้ประมาท จึงเป็นธรรมดาว่า ในหมู่ชนที่อยู่รวมๆ กัน มากก็ตาม น้อยก็ตาม จะต้องมีคนอย่างน้อยส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในความประมาท จึงเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่งของคนผู้ไม่ประมาท ที่จะทำตนเป็นกัลยาณมิตร ช่วยเร้าเตือนให้คนเหล่านั้น ถอนตนจากความประมาทและกลายเป็นผู้ไม่ประมาทด้วย ความมีกัลยาณมิตร หรือกัลยาณมิตตตา เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านให้ใช้เป็นคู่เสริมกันกับความไม่ประมาท เพื่อจะให้ตอบได้ซึ่งคำถามว่า คุณธรรมข้ออื่นๆ ก็นอนเป็นตายหมด ในเมื่อประมาท และก็เมื่อประมาทแล้ว จะแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่ต้องรอให้ทุกข์มาบีบคั้นเสียก่อน

กล่าวโดยสรุป ทุกคนพึงไม่ประมาท คือ เร่งรัดทำกิจหน้าที่ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน คือเพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือเพื่อช่วยผู้อื่นให้พัฒนา เช่น

🙏 ผู้ปกครองรัฐ จึงไม่ประมาท ในการสร้างเสริมความสงบเรียบร้อยเป็นสุข จัดสรรสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่ความอยู่ดีมีธรรม และการแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญาของประชาชน

🙏 พระเถระ พึงไม่ประมาท ในการเผยแผ่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ขวนขวายบำเพ็ญกิจเพื่อเห็นแก่ชุมชนที่จะเกิดมาภายหลัง (ปัจฉิมาชนตา) และทำการทุกอย่างที่จะให้สัทธรรมดำรงมั่นเพื่อประโยชน์สุขของชนจำนวนมากตลอดกาลนาน

🙏 พระภิกษุทุกรูป จึงไม่ประมาท ในการบำเพ็ญสมณธรรม และในการทำจิตของประชาชนให้ผ่องใสสร้างความรู้สึกร่มเย็นปลอดภัย ทั้งด้วยความประพฤติที่ปราศจากการเบียดเบียนของตนเอง และด้วยการสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติดีงามทำสังคมให้ร่มเย็น

🙏 คนทุกคนจึงไม่ประมาท ในการบำเพ็ญประโยชน์ตน ด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ และในการบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น ด้วยการช่วยให้เขาสามารถพึ่งตนโดยมีตนที่พึ่งได้ พัฒนาจิตปัญญาเพื่อเข้าถึงประโยชน์สุขสูงสุด ที่จะให้มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ และเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

อนึ่ง เนื่องด้วยเป็นสามัญวิสัยของมนุษย์ทั้งหลายที่ว่า เมื่อเจริญก้าวหน้าแก้ปัญหาสำเร็จ มีวัตถุพรั่งพร้อม อยู่สุขสบายแล้ว มักจะประมาท หรือมองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ยอมรับความจริง ทำจิตปรับในปลงใจได้แล้ว ก็มักประมาท จึงเป็นธรรมเนียมของพระศาสดา ผู้นำ และผู้บริหารที่ดี จะต้องทำตนเป็นกัลยาณมิตรใหญ่ คอยหาอุบายเร่งเร้าอยู่เสมอ ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ด้วยการแนะนำสั่งสอนบ้าง สร้างสถานการณ์ปลุกใจบ้าง ทำเหตุบีบคั้นที่ไม่เสียหายบ้าง เพื่อกระตุ้นเตือนมนุษย์ทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ค. ความสำคัญและความสัมพันธ์ของคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ด้าน
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา