(ก) หมวดใหญ่ของทุกข์

 พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์

(ก) หมวดใหญ่ของทุกข์
บทบรรยายตอนนี้ ความจริงเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ทั้งหมด แต่เมื่อพูดมาถึงทุกขตา คือเรื่องทุกข์ ก็มีการพูดโยงไปเกี่ยวพันกับเรื่องทุกข์ที่มีอยู่ในหลักธรรมหมวดอื่นด้วยโดยเฉพาะทุกข์ในอริยสัจ ๔ เพราะเนื่องกัน ถึงกันอยู่ แต่เมื่ออธิบายโยงถึงกันหรือพันกัน บางทีก็ทำให้สับสนได้พูดง่ายๆ ว่า ทุกข์ในไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ บางทีก็ไปเกิดเป็นทุกข์ในอริยสัจ คือเมื่อคนไม่รู้เข้าใจทำกับมันไม่ถูก ทุกข์ในธรรมชาติ ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ตัวคน พูดในทางกลับกันว่า เพราะทุกข์ในไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติมีอยู่ มันมีภาวะกดอัดขัดแย้งบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้ตามธรรมดาของมันก็จริง แต่เมื่อคนมีปัญญาไม่ถึงมัน ไม่ได้อย่างใจตัว ก็มาเกิดเป็นความกดดันอึดอัดขัดแย้งบีบคั้นขึ้นในชีวิตจิตใจของคน ทุกข์ในอริยสัจก็เลยเกิดมีเกิดเป็นขึ้นมาพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกข์ในไตรลักษณ์ ก็เป็นธรรมชาติไปตามธรรมดาของมัน เราไปยกเลิกมันไม่ได้ ก็ต้องฝึกเจริญปัญญาขึ้นมาให้รู้เท่าทัน แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุปัจจัย แต่ทุกข์ในอริยสัจ ที่เป็นเรื่องของคนนี้ เรายกเลิกไป ทำให้หมดสิ้นได้ และก็ทำอย่างนั้นได้ ด้วยการมีปัญญารู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อทุกข์ในไตรลักษณ์คือสรรพสังขารนั่นแหละให้ถูก

นอกจากนั้น และเห็นง่ายกว่านั้น ยังมีทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ทุกขเวทนา คือความรู้สึกไม่สบายเจ็บปวด เป็นต้น ที่มีชุดของเขา คือมีสุขเวทนา รู้สึกสบาย ชื่นกายชื่นใจ และอทุกขมสุขแวทนา เฉยๆ (อุเบกขา) 
ข้อนี้ก็เกี่ยวข้องอาศัยสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อมันเป็นความรู้สึกของคน รับรู้ได้ทันที ก็เลยเข้าใจง่าย แทบไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร แค่กิ่งไม้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์คงทนอยู่ไม่ได้ หักหล่นลงมาถูกศีรษะ คนโดนทุกข์ของธรรมชาติมากระทบตัวเข้า ก็เจ็บปวดศีรษะ เกิดทุกขเวทนา บางทีก็แทบทนไม่ไหว ทุกขเวทนาอย่างที่ว่านี้ง่าย ก็แก้ไข ไปหาหมอ หรือทำแผล ใส่ยา รอเวลาแผลหาย ตรงไปตรงมา ก็จบ

แต่ถ้าเกิดไม่รู้ว่ากิ่งไม้ที่มันทุกข์ตามธรรมดาของธรรมชาติแล้วมันทนอยู่ไม่ไหว ก็หักตกลงมาโดนตัวเกิดไปสงสัยคนนั้น ระแวงคนนี้ว่าคนไหนคิดประทุษร้าย แล้วจงใจขว้างกิ่งไม้มาจะให้เราเจ็บตัวหรือตายไปคราวนี้เลยคิดวุ่นวาย มีโกรธมีแค้นมีคิดต่างๆ นานา เริ่มไม่สบายใจ และกดดันบีบคั้นลึกลงไป ตอนนี้มีทุกขเวทนาพ่วงมาด้วย แต่ทุกข์ใหญ่อยู่ลึกลงไป เป็นปัญหาของทุกขอริยสัจขึ้นแล้ว คราวนี้เรื่องราวอาจจะใหญ่โตหรือยืดเยื้อยาวนาน ทุกขอริยสัจมา พลอยให้ทุกขเวทนาขยายและยืดยาวแยกยื่นบานปลายออกไปได้เยอะแยะ อาจจะไม่จบ

ได้พูดมา พอเห็นง่ายๆ แต่ที่จริง ทุกขอริยสัจนี้เป็นเรื่องใหญ่เท่าไรก็ได้ พาเดือดร้อนกันไป แม้แต่ถึงขั้นสงครามโลกก็มี พูดง่ายๆ นี่ก็คือปัญหาของมนุษย์ เมื่อมองให้ดี จะเห็นว่า แต่ก่อนนั้น มีทุกข์เดียวแค่ในไตรลักษณ์ แต่พอมีคนมีชีวิตขึ้นมา ทั้ง ๓ ทุกข์นั้นทั้งทุกข์ในไตรลักษณ์ ทุกขเวทนา และทุกขอริยสัจ ก็มากันครบเลย เมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้แล้ว ก็มาดูหลักกันสักหน่อย ตอนแรกก็สรุปที่ได้พูดมา ได้สาระว่า “ทุกข์” ปรากฏในหมวดธรรมสำคัญ ๓ หมวด เรียงตามง่ายยาก ได้แก่
    (๑) ในเวทนา (เวทนา ๓ คือ ทุกข์ สุข อทุกขมสุข หรืออุเบกขา, เวทนา ๕ คือ ทุกข์ สุข โทมนัส โสมนัสและอุเบกขา) เรียกเต็มว่า ทุกขเวทนา
    (๒) ในไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกข์ อนัตตา) เรียกเต็มว่า ทุกขลักษณะ
    (๓) ในอริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เรียกเต็มว่า ทุกขอริยสัจ
ทุกข์ในหมวดธรรมทั้งสามนั้น มีความหมายเกี่ยวโยงเนื่องอยู่ด้วยกัน แต่มีขอบเขตกว้างแคบกว่ากันเป็นบางแง่บางส่วน หรือเป็นผลสืบต่อจากกัน ดังนี้

ทุกข์ ที่มีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมทั้งหมด คือ ทุกข์ในไตรลักษณ์ หรือ ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขตา ได้แก่ ภาวะที่ไม่คงตัว คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมีความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่เกิดจากความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลาย ดังได้อธิบายแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นลักษณะของสังขารทั้งหลายทั้งปวง (สพเพ สงขาราทุกขา) กินขอบเขตเท่ากันกับความไม่เที่ยง คือ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ (ยทนิจจํ ตํ ทุกข์)

ทุกข์ ที่มีความหมายแคบที่สุด เป็นเพียงอาการสืบเนื่องด้านหนึ่งเท่านั้น ก็คือ ทุกข์ที่เป็นเวทนา เรียกชื่อเต็มว่า ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกทุกข์ ได้แก่ อาการสืบเนื่องจากทุกข์ในไตรลักษณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในบุคคลเนื่องมาจากทุกข์ในไตรลักษณ์นั้น กล่าวคือ ความรู้สึกบีบคั้นกดดันข้องขัดของคน ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่เป็นสภาพสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นไปในระดับหนึ่ง หรือในอัตราส่วนหนึ่ง โดยสัมพันธ์กับสภาพกายและสภาพจิตของเขา ดังได้อธิบายมาแล้วในข้อความบางตอนข้างต้น ทุกขเวทนานี้ ก็เป็นทุกข์ตามความหมายในไตรลักษณ์ด้วย เช่นเดียวกับเวทนาอื่นๆ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ก็ตาม หมายความว่า เวทนาทุกอย่าง จะเป็นทุกขเวทนาก็ดี สุขเวทนาก็ดีอทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข คือเฉยๆ) หรืออุเบกขาเวทนา ก็ดี ล้วนเป็นทุกข์ในความหมายที่เป็นลักษณะสามัญนั้นทั้งสิ้น

ทุกข์ในอริยสัจ หรือ ทุกขอริยสัจ ก็คือ สภาวะที่เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์นั่นเอง ซึ่งมาเป็นที่ตั้งที่อาศัยที่ก่อเกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่มนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ทำให้เป็นปัญหาขึ้นมาขยายความว่า สังขารทั้งหลายถูกบีบคั้นตามธรรมดาของมัน โดยเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ และสังขารเหล่านั้นนั่นแหละ (ไม่ทั้งหมดและไม่เสมอไป) เมื่อคนไม่รู้เท่าทันและปฏิบัติจัดการไม่ถูก มันก็ก่อความบีบคั้นขึ้นแก่คน โดยเป็นทุกข์ในอริยสัจ (แต่การที่มันจะกลายเป็นของบีบคั้นคนขึ้นมาได้ ก็เพราะมันเองเป็นสภาวะที่ถูกบีบคั้น โดยเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ จึงไม่อาจเป็นไปได้ที่มันจะให้ความสมอยากเต็มแท้แน่จริงแก่คน) พูดง่ายๆ ว่า ทุกขอริยสัจ หมายเฉพาะเรื่องของเบญจขันธ์ ที่เป็นอุปาทานขันธ์ เรียกเป็นศัพท์ว่า ได้แก่ทุกข์เฉพาะส่วนที่เป็นอินทรียพัทธ์ คือเนื่องด้วยอินทรีย์ เกี่ยวกับชีวิต ไม่รวมถึงทุกข์ที่เป็นอนินทรียพัทธ์ (ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์) ซึ่งเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ แต่ไม่จัดเป็นทุกข์ในอริยสัจ (พึ่งสังเกตว่า ทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ด้วย สมุทัย และมรรค ก็เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ด้วย โดยเป็นเรื่องตามธรรมดาของธรรมชาติ แต่ไม่เป็นทุกขอริยสัจ)


ข้อสังเกตบางอย่างที่จะช่วยให้กำหนดขอบเขตของทุกข์ในอริยสัจง่ายขึ้น พอประมวลได้ดังนี้
    ๑) เป็นอินทรียพัทธ์ คือ เนื่องด้วยอินทรีย์ เกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ ไม่รวมถึงอนินทรียพัทธ์ ไม่ใช่ทุกข์ในข้อความว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ (สพเพ สงขารา ทุกขา)” หรือในข้อความว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ (ยทนิจจ์ ต์ ทุกข์)” ซึ่งหมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์ที่กินความกว้างขวางครอบคลุมทั้งหมด
    ๒) เป็นเรื่องที่เกิดจากกรรมกิเลส คือ เป็นทุกข์ที่เป็นปัญหาของมนุษย์ เกิดจากกิเลสและกรรมของคน (ใช้ศัพท์ตามพระบาลีว่า เกิดจากทุกขสมุทัย คือ เกิดจากตัณหา, และพึงสังเกตตามพุทธพจน์ที่ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”)
    ๓) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปริญญากิจ คือ ตรงกับกิจในอริยสัจข้อที่ ๑ อันได้แก่ ปริญญา อธิบายว่าปริญญา คือการกำหนดรู้ หรือการรู้จักตามสภาพที่มันเป็น เป็นกิจที่มนุษย์จะต้องกระทำต่อทุกข์ในอริยสัจ คือการทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของตน ทุกข์ในอริยสัจ จำกัดเฉพาะทุกข์ที่เกี่ยวกับกิจคือปริญญานี้เท่านั้น
    ๔) เน้นความหมายในแง่ที่ว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ หรือเป็นที่รองรับของทุกข์ (ทุกขวตถุตาย) ไม่เพ่งความหมายในแง่ว่ามีความบีบคั้นกดดันขัดแย้งด้วยการเกิดขึ้นและการเสื่อมสลาย (อุทยพุพย ปฏิปีฟันฎเจน) ซึ่งเป็นความหมายที่เต็มเนื้อหาของทุกข์ในไตรลักษณ์

เรื่องทุกข์ในอริยสัจ ยังมีข้อพึงเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก เบื้องต้นนี้ พูดให้ได้แง่สังเกตเป็นพื้นฐานไว้ก่อน แล้วจะได้วกกลับมาพูดต่อไป แต่ตอนนี้ ขอแทรกเรื่องทุกขตา หรือทุกข์ ๓ อย่าง เข้ามาประกอบการศึกษาก่อน ทุกขตา ๓ หรือ ทุกข์ ๓ เป็นธรรมชุดสำคัญ พบในพระสูตร ๓ แห่ง กับในคัมภีร์มหานิทเทสและจูฬนิทเทสหลายแห่ง เป็นพุทธพจน์แห่งหนึ่ง นอกนั้นเป็นภาษิตของพระสารีบุตร แต่ทุกแห่งนั้นแสดงไว้เพียงชื่อข้อธรรม ไม่อธิบายความหมายเลย (คงเป็นคำสามัญในยุคนั้น) จึงปรึกษาและเรียงข้อไปตามคำอธิบายในอรรถกถา ซึ่งส่วนมากลำดับข้อต่างจากเดิมในพระไตรปิฎก (ในพระสูตรเป็น ทุกขทุกขตา สังขารทุกขตา วิปริณามทุกขตา) ทุกขตาตหรือ ทุกข์ ๓ เป็นหลักธรรมที่แสดงความหมายของทุกข์ในไตรลักษณ์ โดยคลุมความเป็นทุกข์ของเวทนาทั้ง ๓ และโยงเข้าสู่ความเข้าใจทุกข์ในอริยสัจ มีดังนี้
    ๑) ทุกขทุกขตา หรือ ทุกขทุกข์ ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ ได้แก่ ความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจ อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อและตามสภาพ เช่น ความเจ็บปวด ไม่สบาย เมื่อยขบ เป็นต้น หมายถึง ทุกขเวทนานั้นเอง
    ๒) วิปริณามทุกขตา หรือ วิปริณามทุกข์ ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่แฝงอยู่ในความแปรปรวน ได้แก่ ความรู้สึกสุขหรือสุขเวทนา ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาวะที่แท้จริง ก็เป็นเพียงทุกข์ในระดับหนึ่ง หรือในอัตราส่วนหนึ่ง สุขเวทนานั้น จึงเท่ากับเป็นทุกข์แฝง หรือมีทุกข์ตามแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลาซึ่งจะกลายเป็นความรู้สึกทุกข์ หรือก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ในทันทีที่เมื่อใดก็ตามสุขเวทนานั้นแปรปรวนไป พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สุขเวทนานั้น ก่อให้เกิดทุกข์เพราะความไม่จริงจังไม่คงเส้นคงวาของมันเอง (อธิบายอีกนัยหนึ่งว่า ก็คือ ทุกข์ที่ผันแปรไปในระดับหนึ่ง หรืออัตราส่วนหนึ่ง)
    ๓) สังขารทุกขตา หรือ สังขารทุกข์ ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือสภาวะของสังขารทุกสิ่งทุกอย่าง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด เป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นกดดันด้วยการเกิดขึ้น และการเสื่อมสลายของปัจจัยต่างๆ ที่ขัดแย้ง ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมมิได้ไม่คงตัว ทุกข์ข้อที่สามนี้คลุมความของทุกข์ในไตรลักษณ์

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา