วันอังคาร

ง. คุณค่าเนื่องด้วยความหลุดพ้น หรือคุณค่าเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งความดีงาม

คุณค่าข้อนี้ ว่าที่จริงก็รวมอยู่ในคุณค่าข้อแรก คือคุณค่าด้านการทำจิต ในแง่ความปลอดกิเลส แต่มีความสำคัญเด่นเฉพาะ จึงยกมากล่าวเน้นไว้ต่างหาก คุณค่าสองข้อแรกนั้นทั้งคู่ ท่านมักกล่าวถึงโดยอ้างอิงหลักอนิจจตา เพราะความเป็นอนิจจังเป็นภาวะที่มองเห็นได้ง่าย ผู้ปฏิบัติธรรมแม้แต่ในระดับเบื้องต้น ก็จะได้รับประโยชน์จากไตรลักษณ์โดยเข้าถึงคุณค่าสองข้อแรกนั้นตามสมควรแก่ปัญญาของตน แต่คุณค่าข้อที่สามนี้มักจะมาพร้อมกับการมนสิการความเป็นอนัตตา เช่นว่า

“ภิกษุมองเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า รูป...เวทนา... สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็ตาม ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา มิใช่เราเป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา, เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ทั้งในกายอันพร้อมด้วยวิญญาณนี้ และในนิมิตหมายทั้งปวงภายนอก”

อหังการ ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อว่า ทิฏฐิ
มมังการ ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อว่า ตัณหา
มานานุสัย ได้แก่กิเลสที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า มานะ
นิยมเรียกเป็นชุดว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

พุทธพจน์นี้มีสาระสำคัญว่า ผู้ที่มองเห็นความเป็นอนัตตาชัดแจ้งแล้ว ก็จะไม่มีหรือจะชำระล้างเสียได้ซึ่งกิเลสที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกับตัวตน หรือกิเลสที่เอาตนเป็นศูนย์กลาง ทั้งสามอย่าง คือ ความเห็นแก่ตัว ความแส่หาแต่สิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตน มุ่งได้มุ่งเอาผลประโยชน์ส่วนตัว ที่เรียกว่า ตัณหา ความถือตัว ความทะนงตน สำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ อยากยิ่งใหญ่ใฝ่เด่น ข่มขี่ครอบงำผู้อื่น แสวงหาอำนาจมายกชูตน ที่เรียกว่า มานะ และความยึดติดในความเห็นของตน ความถือมั่น งมงาย ตลอดจนคลั่งไคล้ในความเชื่อถือ ทฤษฎี ลัทธินิยมและอุดมการณ์ต่างๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ

กิเลส ๓ อย่างนี้ มีชื่อเรียกรวมกันเป็นชุดว่า ปปัญจะ หรือ ปปัญจธรรม แปลกันมาว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ถ้าจะแปลให้ง่ายกว่า กิเลสตัวปั่น คือ ปั้นแต่งเรื่องราว ปั่นใจให้ทุกข์ ปั่นหัวให้เรื่องมาก ทำให้ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ ยุ่งเหยิง ยึดยาว ฟ้ามเฟ้อ ฟันเฟือ ล่าช้า วกวน วุ่นวาย นุงนัง สับสน สลับซับซ้อน ทำให้เขวห่างหรือไถลเชือนเฉออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ปัญหาที่ยังไม่มี ก็ทำให้เกิดมีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่แล้วก็ไม่อาจแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาตามเหตุ แต่กลับทำให้ยุ่งยากซับซ้อนนุงนังยิ่งขึ้น เป็นตัวบงการพฤติกรรมที่ทำให้มนุษย์พล่านไปมา ขัดแย้ง แข่งขัน แย่งชิงกัน ตลอดจนก่อสงครามระหว่างพวกระหว่างฝ่าย ไม่เฉพาะแต่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่วร้ายนานัปการเท่านั้น แม้เมื่อจะทำสิ่งที่ดีงาม ถ้ามีกิเลสตัวปันเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง การทำความดีนั้นก็มีเงื่อนงำ มีปมแอบแฝง ไม่บริสุทธิ์ และทำได้ไม่บริบูรณ์ ไม่เต็มที่ กิเลสเหล่านี้จะคอยขัดถ่วงหรือชักให้เขว

ความจริง การพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมให้ผลเนื่องถึงกันหมด ดังนั้น การพิจารณาลักษณะทั้งสาม จึงมีคุณค่าส่งถึงความหลุดพ้นได้ทั้งสิ้น แต่กระนั้นตัวเด่นในการตัดสินชี้ขาดจะอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจอนัตตา ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนอัสมิมานะ, ดูกรเมฒิยะ แท้จริงเมื่อมีอนิจจสัญญา อนัตตสัญญาจึงปรากฏ ผู้มีอนัตตสัญญา (หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา) จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ (ความถือพองว่าเป็นตัวกู) เป็นนิพพานในปัจจุบันนี้แหละ” 

ความรู้เข้าใจมองเห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความเป็นอนัตตา จะบรรเทากิเลสที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกับตัวตนเหล่านี้ให้เบาบางลง ตลอดจนขจัดทำลายล้างให้หมดสิ้นไป สุดแต่กำลังปัญญาจะเห็นประจักษ์แจ้งทำจิตให้เป็นอิสระหลุดพ้นได้เพียงไหน เมื่อไม่มีกิเลสตัวปั่นเหล่านี้เป็นเงื่อนปมแอบแฝง และเป็นตัวกีดกั้นจำกัดให้คับแคบหรือเป็นแรงพัดพาให้เชื่อนเฉแล้ว หนทางแห่งการทำความดีงามก็เปิดโล่งกว้าง ไม่จำกัดขอบเขต จะบำเพ็ญคุณธรรมหรือสร้างสรรค์กรรมที่ดีงามใดๆ เช่น ไมตรี กรุณา ทาน ศีล อัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์) ก็ทำได้อย่างบริบูรณ์เต็มที่ และสะอาดบริสุทธิ์

รวมความว่า การเห็นไตรลักษณ์ด้วยมนสิการอย่างถูกวิธี จะนำให้เกิดคุณค่าทางจริยธรรมทั้งความดีงาม และความงอกงาม ที่มาพร้อมด้วยความสุข กล่าวคือ ดีงามด้วยกุศลธรรมที่แล่นโล่งไป ไม่มีอกุศลคอยขัดถ่วงหรือบีบเบียน งอกงามด้วยความไม่ประมาทในการทำกิจ และเป็นสุขด้วยปัญญารู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้จิตปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน เป็นอิสระ ความสุขไม่เป็นจริยธรรมโดยตัวของมันเอง แต่เป็นคุณค่าสำคัญทางจริยธรรม เป็นพื้นที่อิงอาศัยของจริยธรรม ทำให้จริยธรรมดำรงอยู่ได้มั่นคง ความสุขในที่นี้มุ่งเอานิรามิสสุข คือสุขที่ไม่อาศัยอามิสเป็นสำคัญ เพราะเป็นสุขที่ไม่เจือด้วยความหมักหมม ที่มักบูดเน่าหรืออืดเฟ้อ และก่อโทษขึ้นได้ในภายหลัง ผู้ที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันธรรมดา และมีนิรามิสสุขเป็นหลักประกัน แม้จะยังเสพกามสุข ก็จะไม่มืดมัวถึงกับหมกมุ่นหลงใหลหรือถลำลึกจนเกิดโทษรุนแรง โดยเฉพาะจะไม่เกินเลยจนกลายเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนตนและผู้อื่น และแม้เมื่อความสุขนั้นผันแปรไป ก็จะไม่ถูกความทุกข์ใหญ่ท่วมทับเอา ยังคงดำรงสติอยู่ได้ มีความกระทบใจแต่น้อย เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขในทุกระดับได้อย่างสมบูรณ์เต็มอิ่มเต็มรสและคล่องใจ เพราะไม่มีความกังวลขุ่นข้องเป็นเงื่อนปมหรือเป็นเครื่องกีดขวางที่คอยรบกวนอยู่ภายใน และยิ่งกว่านั้น ทั้งที่สามารถเสวยสุขทั้งหลายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ไม่ติดในสุขเหล่านั้น ไม่ว่าจะประณีตหรือดีวิเศษเพียงใด

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ง. คุณค่าเนื่องด้วยความหลุดพ้น หรือคุณค่าเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งความดีงาม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น