วันพฤหัสบดี

๒. ทุกขตา

ในหลักทุกขตา มีเกณฑ์สำคัญสำหรับกำหนดคุณค่าทางจริยธรรมอยู่ ๒ อย่าง คือ

ก. ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นส่วนย่อยๆ ลงไป และองค์ประกอบเหล่านั้น แต่ละอย่างล้วนไม่เที่ยง กำลังตกอยู่ในอาการเกิดขึ้น แปรไป และสลายตัวตามหลักอนิจจตา อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นหน่วยรวมนั้น จึงเท่ากับเป็นที่รวมของความปรวนแปร และความขัดแย้งต่างๆ และแฝงเอาภาวะที่พร้อมจะแตกแยกและเสื่อมสลายเข้าไว้ในตัวด้วยอย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่นั้นให้คุมรูปเป็นหน่วยรวมตามรูปแบบที่ประสงค์ก็ดี การที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการก็ดี จะต้องใช้พลังงานและวิธีการจัดระเบียบเข้ามาร่วมเป็นองค์ประกอบช่วยเป็นเหตุปัจจัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งองค์ประกอบส่วนย่อยๆ ต่างๆ นั้น มีมากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่าใด ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น และมีการจัดระเบียบที่ละเอียดรัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้น การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องทำที่ตัวเหตุปัจจัยของมัน และรู้ชัดถึงความสำเร็จผล หรือความผิดพลาด พร้อมทั้งทางแก้ไขต่อไป ตามความพร้อมของเหตุปัจจัยเหล่านั้น นี้คือวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างอิสระ ไม่ผูกมัดตัว และไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ส่วนวิธีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือการกระทำตามความยึดอยากด้วยตัณหาอุปาทาน โดยเอาตัวเข้าไปผูกมัดให้สิ่งเหล่านั้นบีบคั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เกิดผลดีอย่างใดๆ ขึ้นมา

ข. ตามหลักกิจในอริยสัจ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อทุกข์ ได้แก่ “ปริญญา คือการกำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจ หมายความว่า เรื่องทุกข์นี้ บุคคลมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียงแค่กำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจเท่านั้นการปฏิบัติต่อทุกข์โดยถูกต้องตามหลักกิจในอริยสัจนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามไป พุทธธรรมสอนให้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ให้รู้จักทุกข์ คือให้รู้จักปัญหาของตนเอง มิใช่เพื่อเป็นทุกข์ แต่เพื่อปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง แล้วจะได้ไม่มีทุกข์ หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า เพื่อจะได้มีความสุขที่แท้จริงนั่นเอง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หลักกิจในอริยสัจสอนว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นปัญหาแก่ตน มนุษย์จะต้องศึกษาสิ่งนั้นให้รู้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนที่สุด ก่อนที่จะลงมือจัดการแก้ไขปัญหานั้น การศึกษาปัญหา มิได้หมายความว่าเป็นการสร้างปัญหาหรือหาปัญหามาใส่ตน แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหมดไปต่างหาก ผู้ที่ไม่ทราบหลักกิจในอริยสัจ อาจปฏิบัติต่อทุกข์อย่างผิดพลาด ไร้จุดหมาย เขาออกนอกทาง และอาจกลายเป็นการเพิ่มทุกข์แก่ตนด้วยการมองโลกในแง่ร้ายไปก็ได้

เมื่อทราบหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ๒ ข้อนี้แล้ว จึงควรกำหนดคุณค่าต่างๆ ในทางจริยธรรมของหลักทุกขตา
ดังต่อไปนี้

๑) การที่สิ่งทั้งหลายถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้น การเจริญ และการสลายตัว ทำให้เกิดความกดดันขัดแย้ง และการที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ ภาวะเช่นนี้แสดงว่า สิ่งทั้งหลายมีความบกพร่อง มีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว ความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ ยิ่งมีมากขึ้นโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาที่ผ่านไป และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งทั้งหลายที่จะรักษาสภาพของตนไว้ หรือขยายตัวเข้าสู่ความสมบูรณ์ จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา การดำรงสภาพชีวิตที่ดีไว้ การนำชีวิตเข้าสู่ความเจริญ และความสมบูรณ์ จึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา

๒) เมื่อความขัดแย้ง ดิ้นรนต่อสู้ เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะเป็นเหตุปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ตาม การฝืนแบบที่อๆ ย่อมให้ผลร้ายมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะในกรณีของสิ่งต่างๆ บุคคลหรือสถาบัน เช่น ในเรื่องวัฒนธรรม ดังนั้น การรู้จักปรับตัวและปรับปรุงจึงมีความสำคัญ และข้อนี้ ย่อมเป็นการความจำเป็นของปัญญา ในฐานะหลักจริยธรรมสำหรับรู้เท่าทันและจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ตรงเหตุปัจจัย

๓) ความสุข และสิ่งที่ให้ความสุขอย่างที่เข้าใจกันในโลก ก็ตกอยู่ในหลักความจริงข้อนี้ด้วย ความสุขเหล่านี้ ย่อมมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว ในแง่ที่ว่า จะต้องแปรปรวนไปจากสภาพที่เป็นความสุข หรือจากสภาพที่จะหาความสุขนั้นได้ อย่างหนึ่ง และดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้ความพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ อย่างหนึ่ง ผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งเหล่านี้อย่างขาดสติ ย่อมเท่ากับทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้น หรือทิ้งตัวลงไปอยู่ในกระแสความแปรปรวนของมัน แล้วถูกฉุดลากกดดันและบีบคั้นเอาอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ สุดแต่สิ่งเหล่านั้นจะแปรปรวนไปอย่างไร ความหวังในความสุขมากเท่าใด เมื่อความแปรปรวนหรือผิดหวังเกิดขึ้น ความทุกข์ก็รุนแรงมากขึ้นตามอัตรา เป็นการหาความสุขชนิดขายตัวลงเป็นทาสหรือเอาคาของชีวิตเป็นเดิมพัน ผู้หาความสุขที่ฉลาด เมื่อยังยินดีที่จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง แสวงหาและเสวยความสุขอย่างมีสติสัมปชัญญะ โดยประการที่ว่า ความแปรปรวนของมันจะก่อโทษให้เกิดพิษภัย หรือเกิดความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ถึงจะเป็นอย่างไร ก็ให้รักษาอิสรภาพของจิตใจไว้ให้ดีที่สุด

๔) ความสุขแยกโดยคุณค่า มี ๒ ประเภท คือ ความสุขในการได้สนองความอยากความต้องการต่างๆอย่างหนึ่ง และความสุขในภาวะจิตที่เป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีความอยากความต้องการที่จะต้องสนองอย่างหนึ่ง ความสุขประเภทแรก คือสุขในการได้สนองความอยากความต้องการนั้น ยังแยกย่อยเป็น ๒ จําพวก คือ สุขในการได้สนองความความอยากความต้องการที่เป็นอกุศล (ตัณหา) กับสุขในการได้สนองความความอยากความต้องการที่เป็นกุศล (ฉันทะ) จําพวกแรกเป็นการสนองความต้องการทางประสาททั้งห้าของตน โดยมุ่งเอาจากของจากคนอื่นมาให้แก่ตัว ดังที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว ส่วนจําพวกหลังเป็นการสนองความต้องการความปรารถนาเพื่อความดีความงาม ความสมบูรณ์ของสรรพสัตว์สรรพสิ่ง อันเป็นเหตุให้คิดจะทำให้แก่เขา ทำเพื่อให้เขาหรือเพื่อให้ของเหล่านั้นดีงาม มีความสุขความสมบูรณ์ ความต้องการจำพวกที่สอง คือฉันทะนี้ เป็นคุณสมบัติสำคัญในการสร้างสรรค์ความดีงามและพัฒนาชีวิตพัฒนาคน ให้เกิดความสุขที่ลึกซึ้งสูงขึ้นไป และเป็นตัวเชื่อมโยงที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขประเภทที่ ๒ แต่เป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏเด่นชัดสำหรับคนทั่วไป เหมือนซ้อนหรือซ่อนอยู่ข้างหลังของจำพวกแรก เป็นขั้นตอนของการพัฒนาและความก้าวหน้าไปในระหว่าง จึงแยกออกไปพูดต่างหากในที่นี้ จะพูดถึงความสุขประเภทที่ ๑ เฉพาะจำพวกแรก ซึ่งปรากฏเด่นชัดอยู่ในโลก ที่มนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปใฝ่แสวง ติดข้อง หมกมุ่นครุ่นคิด ร่านรน ทะยานหา พากันวุ่นวายอยู่ ซึ่งเหมือนตรงข้ามกับความสุขประเภทที่ ๒ อันโปร่งโล่ง สงบ ปราศจากสิ่งของขัด กีดกั้น จำกัดความนึกคิด เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกคับแคบ และกิเลสต่างๆ ที่พัวพันผูกรัดกดดันจิตใจ

🚩 ความสุขประเภทแรก จำพวกที่อาศัยการสนองความต้องการทางผัสสะนั้น เป็นแบบที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก คือ วัตถุและอารมณ์สำหรับสนองความต้องการต่างๆ ลักษณะอาการของจิตในสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสุขประเภทนี้ คือ การแส่หาดิ้นรนกระวนกระวายเป็นอาการนำหน้า อย่างหนึ่ง และความรู้สึกที่ยึดติด คับแคบ หวงแหน ผูกพันเฉพาะตัว อย่างหนึ่ง อาการเหล่านี้มีความสำคัญมากในทางจริยธรรม เพราะเป็นอาการของความยึดอยาก หรือความเห็นแก่ตัว และในเมื่อไม่จัดการควบคุมให้ดี ย่อมเป็นที่มาแห่งปัญหาต่างๆ การที่ต้องอาศัยอารมณ์อย่างอื่น ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ความสุขประเภทนี้ จะต้องทำให้ตัวบุคคลตกเป็นทาสของปัจจัยภายนอก ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มากก็น้อย และความแปรปรวนของปัจจัยภายนอกนั้น ย่อมทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่บุคคลนั้นด้วย ความสุขประเภทนี้ ทางธรรมเรียกว่าสามิสสุข เป็นสุขเนื่องด้วยหาสิ่งสำหรับมาเติมความรู้สึกบางอย่างที่ขาดไป หรือพร่องอยู่ คือต้องอาศัยอามิส

🚩 ความสุขประเภทสอง เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งสนองความอยาก (อารมณ์ภายนอก) ต่างๆ มา
เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นเครื่องเสริม เป็นภาวะของจิตใจภายใน อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน โดยอาจบรรยายลักษณะได้ว่า เป็นความ สะอาด เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสต่างๆ เข้าไปปะปนขุ่นมัว สว่าง เพราะประกอบด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นกว้างขวาง ไม่มีขีดจำกัด มีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะรับรู้พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย สงบ เพราะไม่มีความกระวนกระวาย ปลอดจากสิ่งกังวลใจ ไม่ว้าวุ่นหวั่นไหว ผ่อนคลาย ราบเรียบ เสรี เพราะเป็นอิสระ ไม่มีสิ่งที่จำกัดความนึกคิด ไม่มีความกีดกั้นของขัด โปร่งเบา ไม่ยึดติด ไม่คับแคบ เปิดกว้าง แผ่ความรู้สึกรักใคร่ปรารถนาดีด้วยเมตตาไปยังมนุษย์ สัตว์ ทั่วหน้า รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นด้วยกรุณา ร่วมบันเทิงใจด้วยมุทิตาในความสุขความรุ่งเรืองสำเร็จของทุกคน และ สมบูรณ์ เพราะไม่มีความรู้สึกขาดแคลน บกพร่อง ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบาน เปรียบในทางร่างกายเหมือนการมีสุขภาพดี ย่อมเป็นภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อยู่ในตัว ในเมื่อไม่มีโรคเป็นข้อบกพร่องในภาวะจิตเช่นนี้ คุณธรรมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญก็คือ ความเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวเกาะผูกพันเป็นทาสและ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง คุณธรรมสองอย่างนี้แสดงออกในภาวะของจิตที่เรียกว่า อุเบกขา คือ ภาวะที่จิตราบเรียบ เป็นกลาง สมดุล พอดี ลงตัว พร้อมที่จะเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย ตามที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลบริสุทธิ์ ความสุขประเภทนี้ มีคุณค่าสูงสุดในทางจริยธรรม เรียกว่า นิรามิสสุข ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่เป็นภาวะที่ไม่มีปัญหา และช่วยขจัดปัญหา เป็นภาวะที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งอาจเกินกว่าที่เรียกว่าเป็นความสุข จึงเรียกง่ายๆ ว่า ความพ้นจากทุกข์ เพราะแสดงลักษณะเด่นว่าพ้นจากข้อบกพร่องและความแปรปรวนในการดำรงชีวิตของชาวโลก ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่ง จำพวกสามิสสุขอยู่ด้วยเป็นธรรมดานั้น เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะได้รับสิ่งสนองความต้องการทุกอย่างได้ทันใจทุกครั้ง ตลอดทุกเวลา สมหวังเสมอไป และคงอยู่ตลอดไป เพราะเป็นเรื่องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก และมีความแปรปรวนได้ตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างสภาพจิตอย่างที่เรียกว่าความสุขประเภทที่สองไว้ด้วย อย่างน้อยพอเป็นพื้นฐานของจิตใจ ให้มีสุขภาพจิตดีพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างที่เรียกว่าสุขสบาย มีความทุกข์น้อยที่สุด รู้จักว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อความสุขประเภทที่หนึ่งนั้น เพื่อมิให้กลายเป็นปัญหาก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น สภาพจิตเช่นนี้จะสร้างขึ้นได้ ก็ด้วยการรู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เพื่อความมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งอาศัยการรู้เท่าทันหลักความจริงของธรรมชาติ จนถึงขั้นอนัตตา

๕)
ในการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องยอมรับความจริงว่า
เป็นการเข้าไปสัมพันธ์กันของคู่สัมพันธ์อย่างน้อย ๒ ฝ่าย เช่น บุคคล ๒ คน หรือ บุคคล ๑ กับ วัตถุ ๑ เป็นต้นและแต่ละฝ่ายมีความทุกข์ มีความขัดแย้ง บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ แฝงติดตัวมาด้วยกันอยู่แล้ว เมื่อสิ่งที่มีความขัดแย้งกับสิ่งที่มีความขัดแย้งมาสัมพันธ์กัน ก็ย่อมมีทางที่จะให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและระดับความรุนแรง ตามอัตราการปฏิบัติที่ผิด ตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีการแสวงหาความสุขนี้ เพื่อความสะดวก ยกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสวยความสุข และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกเสวย ทั้งผู้เสวยและผู้ถูกเสวย มีความบกพร่องและขัดแย้งอยู่ในตัวด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ตัวผู้เสวยเอง ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะเสวยความสุขตามความต้องการของตน ฝ่ายผู้ถูกเสวยก็ไม่อยู่ในภาวะและอาการพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะถูกเสวย ในภาวะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ฝ่ายเดียวโดยไม่ยอมเสียบ้างเลย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ไม่ตระหนักหรือไม่ยอมรับความจริงนี้ ย่อมถือเอาความยึดอยากของตนเป็นประมาณ และย่อมเกิดอาการขัดแย้งระหว่างกันขึ้น เริ่มแต่ความขัดใจเป็นต้นไป อนึ่ง อาการที่ผู้เสวยยึดอยากต่อสิ่งที่ถูกเสวยนั้น ย่อมรวมไปถึงความคิดผูกหวงแหนไว้กับตน และความปรารถนาให้คงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไปด้วย อาการเหล่านี้เป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเป็นการนำตนเข้าไปขัดขืนฝืนขวางความประสานกลมกลืนกันในกระบวนการของธรรมชาติ เมื่อดำรงชีวิตอยู่โดยไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ถือเอาแต่ความอยาก ความยึด คือ ตัณหาอุปาทานเป็นประมาณ ก็คือการเป็นอยู่อย่างพื้นที่อๆ ซึ่งจะต้องเกิดความกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง บีบคั้นและผลสะท้อนกลับที่เป็นความทุกข์ในรูปต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก

ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่คู่สัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เป็นส่วนประกอบอยู่ในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากจะเกี่ยวข้องไปถึงกระบวนการธรรมชาติทั้งหมดเป็นส่วนรวมแล้ว ยังมักมีองค์ประกอบอื่นบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างพิเศษ เป็นตัวการอย่างที่สามอีกด้วย เช่น บุคคลที่อยากได้ของสิ่งเดียวกัน เป็นต้น ความยึดอยากที่ถูกขัด ย่อมให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความขัดแย้งออกมาระหว่างกัน เช่น การแข่งขัน ต่อสู้ แย่งชิง เป็นต้น เป็นอาการรูปต่างๆ ของความทุกข์ ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วยความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญาถูกตรงมากเท่าใด ปัญหาก็หมดไปเท่านั้น โดยนัยนี้ จากอวิชชา หรือโมหะ คือความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงอยากได้อย่างเห็นแก่ตัวด้วยโลภะ เมื่อขัดข้องหรือถูกขัดขวาง และไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ก็เกิดโทสะความขัดใจและความคิดทำลาย จากกิเลส รากเหง้า ๓ อย่างนี้ กิเลสรูปต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมากมาย เช่น ความตระหนี่ ความริษยา ความหวาดระแวง ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความกลัว ความพยาบาท ความเกียจคร้าน ฯลฯ เป็นการระดมสร้างปัจจัยแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในตัวมากขึ้นๆ และกิเลสอันเป็นเครื่องหมายแห่งความขัดแย้งเหล่านี้ ย่อมกลายเป็นสิ่งสำหรับกีดกันจำกัด และแยกตนเองออกจากความประสานกลมกลืนของกระบวนการแห่งธรรมชาติ ความขัดแย้งต่อธรรมชาตินี้ ย่อมส่งผลร้ายสะท้อนกลับมาบีบคั้นกดดันบุคคลนั้นเอง เป็นการลงโทษโดยธรรมชาติ

จึงแสดงผลออกมาเป็นความทุกข์ที่รู้สึกได้ในตัวคน เช่นโดยนัยนี้ ทุกข์ในธรรมชาติ หรือสังขารทุกข์เกิดความรู้สึกคับแคบ มืด ขุ่นมัว อึดอัด เร่าร้อน กระวนกระวาย กลัดกลุ้มเกิดผลร้ายต่อบุคลิกภาพ และก่ออาการทางร่างกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ที่เป็นอาการตามปกติทางร่างกายอันเป็นธรรมดาสังขาร เช่น ความเจ็บปวดในยามป่วยไข้ทวีความรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติของมัน เพราะความเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน เป็นการซ้ำเติมตนเองหนักยิ่งขึ้น เป็นการก่อความทุกข์ความขัดแย้ง ความคับแคบ อึดอัด ขุ่นมัว ให้เกิดแก่คนอื่นๆ ขยายกว้างออกไป เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ละคนต่างระดมสร้างกิเลสขึ้นมาปิดกั้นแยกตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดเพิ่มมากขึ้น สังคมก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน เพราะผลกรรมร่วมกันของคนในสังคม นี้คือกระบวนการทำให้สังขารทุกข์ เกิดกลายเป็นทุกขเวทนา หรือความทุกข์แท้ๆ (ทุกขทุกข์) ขึ้นมาเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยอวิชชา มีชีวิตอย่างอื่นที่อๆ ต่อกระบวนการธรรมชาติ และปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสของมัน เรียกสั้นๆ ว่า เพราะความยึดมั่นถือมั่น วิถีที่ตรงข้ามจากนี้ก็คือ การเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริงคือ รู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา รู้จักที่จะปฏิบัติ โดยประการที่ว่าทุกข์ในธรรมชาติที่เป็นไปตามสภาวะของมันเองตามธรรมดา สังขาร จะคงเป็นแต่เพียงสังขารทุกข์อยู่ตามเดิมของมันเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นพิษเป็นภัยมากขึ้นยิ่งกว่านี้ ผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างนั้น ยังสามารถถือเอาประโยชน์จากสังขารทุกข์อีกด้วย โดยเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะเข้าไปยึดถือด้วยตัณหาอุปาทาน ก็ไม่เข้าไปยึดถือมัน ไม่เป็นอยู่อย่างพื้นที่อๆ ไม่สร้างกิเลสสำหรับมาขีดวงจำกัดตนเองให้กลายเป็นตัวการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาบีบคั้นตนเองมากขึ้น รู้จักที่จะอยู่อย่างกลมกลืนประสานกับธรรมชาติ ด้วยการประพฤติคุณธรรมต่างๆ ซึ่งทำใจให้เปิดกว้าง และทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เช่น เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน กรุณา ความคิดช่วยเหลือ มุทิตา ความบันเทิงใจในความสุขความสำเร็จของผู้อื่น อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางตัดสินเหตุการณ์ตามเป็นจริงตามเหตุปัจจัยและราบเรียบไม่หวั่นไหวเพราะกระแสโลก ความสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน ความเสียสละ ความสำรวมตน ความอดทน ความเคารพอ่อนน้อม ความมีวิจารณญาณไม่หลงใหลในเหตุการณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นการตรงข้ามกับกิเลสที่สร้างความขัดแย้งและความคับแคบ เช่น ความเกลียดชัง ความพยาบาท ความริษยา ความกลัดกลุ้มวุ่นวายใจ ความแตกแยก ความแก่งแย่งแข่งดี การเห็นแก่ได้ การตามใจตนเอง ความหุนหัน ความดื้อร้น ความเย่อหยิ่ง ความกลัว ความหวาดระแวง ความเกียจคร้าน ความเฉื่อยชา ความหดหู่ ความมัวเมา ความลืมตัว ความลุ่มหลงงมงาย เป็นต้น

นี้คือวิถีแห่งความมีชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติ การสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ การอยู่อย่างไม่สูญเสียอิสรภาพ อย่างที่ว่า อยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐสุด ตามพุทธภาษิตว่า “ปัญญาชีวี ชีวิตมาหุ เสฎฐํ"

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น