วันจันทร์

๑. สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง

๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

๑. สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง
ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นว่า ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ท่านกล่าวถึงสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ในข้อ ๓ ท่านกล่าวถึงธรรมทั้งปวงว่าเป็นอนัตตา คือ ไร้ตัว หรือมิใช่ตน การใช้คำที่ต่างกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความแตกต่างกันบางอย่างระหว่างหลักที่ ๑ และที่ ๒ คือ อนิจจตา และทุกขตา กับหลักที่ ๓ คือ อนัตตตา และความแตกต่างกันนี้จะเห็นได้ชัด ต่อเมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขาร” และคำว่า “ธรรม”

“ธรรม” เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี
ตลอดกระทั่งความไม่มี ที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึง ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้ “ธรรม” มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยายประกอบลงไปเพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้นๆ ในกรณีนั้น หรือในความแวดล้อมอย่างนั้นๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้นๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรม หรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึง ตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน ดังนี้เป็นต้น

“ธรรม” ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ ท่านใช้ในความหมายที่กว้างที่สุดเต็มที่ สุดขอบเขตของศัพท์ คือ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดขั้นจำกัด ธรรมในความหมายเช่นนี้ จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรม บ้าง โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม บ้าง สังขตธรรม และอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม (สภาวะที่เป็นกลางๆ) บ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุด สังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกประเภทได้เป็น ๒ อย่าง(*๑๑๙) คือ

๑. สังขตธรรม
ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขาร ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน หมายถึง สภาวะทุกอย่าง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทั้งที่ดี ที่ชั่ว และที่เป็นกลางๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน

๒. อสังขตธรรม

ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน
--------------------------------------------------
(*๑๑๙ ดู สงคณี อ.๓๔/๓/๒; ๗๐๒/ ๒๗๗; ๙๐๗/๓๕๔ ธ.อ.๕/๑๑๒; ฯลฯ (สังขตธรรม มีคำจำกัดความแบบอภิธรรมนัยหนึ่ง ตามที่มาที่อ้างไว้ข้างต้นนั้นว่า ได้แก่ กุศลในภูมิ ๔, อกุศล, วิบากในภูมิ ๔, กิริยาอัพยากฤตในภูมิ ๓, และรูปทั้งปวง)
--------------------------------------------------
โดยนัยนี้ จะเห็นชัดว่า สังขารคือสังขตธรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม แต่ธรรมกินความหมายกว้างมีทั้งสังขารและนอกเหนือจากสังขาร คือทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและวิสังขาร หรือทั้งสังขารและนิพพาน เมื่อนำเอาหลักนี้มาช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับไตรลักษณ์ จึงสามารถมองเห็นขอบเขตความหมายในหลักสองข้อต้นคือ อนิจจตาและทุกขตา ว่าต่างจากข้อสุดท้ายคืออนัตตตาอย่างไร



โดยสรุปได้ดังนี้
สังขาร คือ สังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ตามหลักข้อ ๑ และข้อ ๒ แห่งไตรลักษณ์ และเป็นอนัตตาด้วยตามหลักข้อ ๓) แต่อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน ไม่ขึ้นต่อภาวะเช่นนี้ ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและมิใช่สังขาร คือสภาวะทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งนิพพาน เป็นอนัตตา คือไร้ตัว มิใช่ตน อนัตตตาเท่านั้น เป็นลักษณะร่วมที่มีทั้งในสังขตธรรมและอสังขตธรรม ส่วนอนิจจตาและทุกขตาเป็นลักษณะที่มีเฉพาะในสังขตธรรม ซึ่งทำให้ต่างจากอสังขตธรรม ในพระบาลีบางแห่งจึงมีพุทธพจน์แสดงลักษณะของสังขตธรรมและอสังขตธรรมไว้ เรียกว่า สังขตลักษณะ และอสังขตลักษณะ ใจความว่า

สังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นสังขตะ (ว่าเป็นสภาวะที่มีปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น) ของสังขตธรรม มี ๓ อย่าง คือ
        ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ
        ๒. ความแตกดับหรือความสลาย ปรากฎ
        ๓. เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปร ปรากฏ

อสังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นอสังขตะ (ว่ามิใช่สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันทำขึ้นแต่งขึ้น) ของอสังขตธรรม ก็มี ๓ อย่าง คือ
        ๑. ไม่ปรากฏความเกิด
        ๒. ไม่ปรากฏความสลาย
        ๓. เมื่อดำรงอยู่ ไม่ปรากฏความผันแปร

รวมความมาอีกครั้งหนึ่งให้ชัดขึ้นอีกว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน พ้นจากภาวะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน ส่วนธรรมอื่นนอกจากนั้น คือสังขารหรือสังขตธรรมทั้งหมด ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังความในบาลีแห่งวินัยปิฎกผูกเป็นคาถายืนยันไว้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้" (*๑๒๑)
--------------------------------------------------
(*๑๒๑) วินย ๔/๕๒๖/๒๒๔, ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา พึ่งอ้างหลักฐานเช่น “อมตบท (นิพพาน) ว่างจากอัตตา” (อตุตสุญญมตปท์, วิสุทธิ.๓/ “นิพพานธรรมชื่อว่าว่างจากอัตตา เพราะไม่มีตัวตนนั่นเอง” (นิพพานธมุโม อตุตสเสว อภาวโต อตฺตสุญโญ, ปฏิส.อ.๒/๓๕๖)
--------------------------------------------------

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
        ๑.) สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น