แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสขิยวัตร แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสขิยวัตร แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐

เสขิยวัตร ๗๕

เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท กำหนดนับ ๑๐ สิกขาบทเป็นวรรคหนึ่ง ๆ ได้ ๗ วรรค อีก ๕ สิกขาบทนั้นจัดเป็น ๑ รวมเป็น ๘ วรรค  
    
(สารูป ๒๖) การกระทำให้สมควรแก่สมณะ
(โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐วิธีที่จะขบฉัน
(ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖) การแสดงธรรม
(ปกิณกะ ๓) คือที่เรี่ยรายอยู่นำมายกขึ้นสู่อุเทศ

โภชนปฏิสังยุตต์มี ๓๐ สิกขาบท 
ในโภชนปฏิสังยุตต์ ให้ภิกษุพึงสำเหนียกไว้ ดังนี้

สิกขาบทที่ ๑.
ว่าเราจักทำสติเคารพรับบิณฑบาตให้เรียบร้อย มิได้ทำอาการไม่รู้ไม่เห็น เหมือนจะสาดเทเสีย

สิกขาบทที่ ๒.
ว่าเราจักหมายใจทอดนัยน์ตาลงในบาตร ไม่เหม่อเมินสายตาไปอื่นรับบิณฑบาต

สิกขาบทที่ ๓.
ว่าเราจักรับบิณฑบาตมี🔎สูปะ(๗๖) เสมอ คือ จะรับถั่วเขียว ถั่วขาว ผัก ที่แค่นควรจะนำไปด้วยมือ
ได้ พอให้เท่ากับส่วนเสี้ยวที่ ๔ แห่งข้าวสุกไม่ให้เกินประมาณ แต่จะรับกับแกงปลาเนื้อสิ่งอื่น ๆ ไม่ต้องห้าม

สิกขาบทที่ ๔.
ว่าเราจักรับบิณฑบาต พอเสมอขอบบาตรข้างใน ไม่ให้ล้นพูนปากบาตรขึ้นไป

สิกขาบทที่ ๕.
ว่าเราจักฉันบิณฑบาตทำสติเคารพ ไม่ทำอาการดังกินเล่นเช่นเด็กกิน

สิกขาบทที่ ๖.
ว่าเราจักหมายมุ่งลงในบาตร ฉันบิณฑบาตไม่เมินหน้าสายตาดูอื่น ๆ

สิกขาบทที่ ๗.
ว่าเราจักฉันบิณฑบาตเกลี่ยเสมอหน้า เปิบพอคำ ไม่ขุดเจาะให้เป็นหลุมเป็นร่องรอยลง

สิกขาบทที่ ๘.
ว่าเราจักฉันบิณฑบาต มีสูปะเครื่องคั่วผัดแล้วด้วยถั่ว พอเสมอเลี้ยวที่ ๔ แห่งข้าวสุกดังกล่าวมาแล้ว

สิกขาบทที่ ๙.
ว่าเราจักฉันบิณฑบาต ไม่ฟั้นฟอนแต่จอมกลาง กวาดมูนเข้ามาฟอนฉันแต่ตรงกลางแห่งเดียว

สิกขาบทที่ ๑๐.
ว่าเราจักมิได้กลบกับแกล้ม เครื่องคั่ว ผัด พล่า ยำ ปิ้ง จี่ทั้งปวงไว้ด้วยข้าวสุก เพราะหมายใจจะให้ทายกเอากับแกล้มอื่นมาเพิ่มเติมให้มากขึ้นด้วยโลภอาหาร

สิกขาบทที่ ๑๑.
ว่าเราไม่ได้เจ็บไข้ จักไม่ขอต้มแกงแลข้าวสุกแก่คนนอกจากญาติแลผู้ปวารณา เพื่อจะฉันเองแล้วจึงฉัน

สิกขาบทที่ ๑๒.
ว่าเราจักไม่หมายใจจะยกโทษ แลดูบาตรของภิกษุอื่น เพราะจะเพ่งเล็งโทษเป็นประมาณ

สิกขาบทที่ ๑๓.
ว่าเราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก คือทำคำข้าวให้ย่อมกว่าไข่นกยูงลงมา ให้เขื่องกว่าไข่ไก่ขึ้นไป

สิกขาบทที่ ๑๔.
ว่าเราจักทำคำข้าวให้เป็นปริมณฑล คือทำให้กลมในซองมือ ไม่ปั้นให้รียาว

สิกขาบทที่ ๑๕.
ว่าเราจักไม่อ้าปากไว้คอยทำคำข้าว เมื่อเปิบคำข้าวยังไม่ถึงปาก

สิกขาบทที่ ๑๖.
ว่าเราจักไม่เปิบคำข้าว ป้อนนิ้วมือเข้าไปในปาก

สิกขาบทที่ ๑๗.
ว่าเราจักไม่พูดทั้งคำข้าว คือไม่อมคำข้าวเคี้ยวพลางพูดพลาง

สิกขาบทที่ ๑๘.
ว่าเราจักไม่เปิบคำข้าว โยน ซัดทิ้งให้เข้าไปในปาก

สิกขาบทที่ ๑๙.
ว่าเราจักไม่กัดคำข้าว แบ่งฉันแต่พอปาก กับแกล้มสิ่งอื่นไม่ต้องห้าม

สิกขาบทที่ ๒๐.
ว่าเราจักไม่ไพล่คำข้าวไว้ในแก้มให้พองตุ่ยดังลิงอมข้าวกิน

สิกขาบทที่ ๒๑.
ว่าเราจักไม่เปิบคำข้าว ฉันพลางสะบัดมือพลางให้เมล็ดข้าวสุกกระเด็นไป

สิกขาบทที่ ๒๒.
ว่าเราจักไม่เปิบคำข้าว ฉันเรี่ยรายเมล็ดข้าวให้ร่วงพรูสาง

สิกขาบทที่ ๒๓.
ว่าเราจักไม่แลบลิ้นรับคำข้าว

สิกขาบทที่ ๒๔.
ว่าเราจักไม่ฉันให้เสียงดังจับ ๆ

สิกขาบทที่ ๒๕.
ว่าเราจักไม่ฉันดูดเข้าสูดลมให้เสียงดังซูด ๆ

สิกขาบทที่ ๒๖.
ว่าเราจักไม่ฉันเลียมือ

สิกขาบทที่ ๒๗.
ว่าเราจักเปิบคำข้าวฉัน ไม่ขอดบาตรด้วยมือ แต่เมื่อจวนหมดจักกวาดรวมเข้า ไม่ต้องห้าม ข้าวต้ม ข้าวเปียกอันติดบาตรนั้น ขอด ไม่มีโทษ

สิกขาบทที่ ๒๘.
ว่าเราจักฉันไม่แลบลิ้นเลียริมฝีปาก

สิกขาบทที่ ๒๙.
ว่าเราจักไม่จับโอนฉันด้วยมืออันแปดเปื้อนอามิส

สิกขาบทที่ ๓๐.
ว่าเราจักไม่สาดเทน้ำล้างบาตร ทั้งเมล็ดข้าวลงในถิ่นบ้าน

ให้ภิกษุพึงทำความศึกษาในวิธีอันประกอบด้วยการขบฉัน อย่าให้ล่วงพระพุทธบัญญัติในโภชนปฏิสังยุตต์ ๓๐ สิกขาบทนี้
ถ้าผิดจากนี้เป็นอาบัติทุกกฏ

จบโภชนปฏิสังยุตต์ ๓๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

สารูป ๒๖

เสขิยวัตร ๗๕

เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท กำหนดนับ ๑๐ สิกขาบทเป็นวรรคหนึ่ง ๆ ได้ ๗ วรรค อีก ๕ สิกขาบทนั้นจัดเป็น ๑ รวมเป็น ๘ วรรค  
    
(สารูป ๒๖) การกระทำ
ให้สมควรแก่สมณะ
(โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐) วิธีที่จะขบฉัน
(ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖) การแสดงธรรม
(ปกิณกะ ๓) คือที่เรี่ยรายอยู่นำมายกขึ้นสู่อุเทศ

สารูปมี ๒๖ สิกขาบท
ในสารูป ๒๖ นี้ให้ภิกษุพึงทำการศึกษาฝึกใจสำเหนียกไว้อย่าให้หลงลืม ดังนี้
สิกขาบทที่ ๑.
ว่าเราจักนุ่งผ้าให้เป็น🔎ปริมณฑล(๗๗) คือนุ่งสงบจีบให้ชายเสมอกัน เหน็บพกให้แนบเนียน เหนือสะดือ
ขึ้นไปสัก ๔ นิ้ว ปิดเข่าลงมาประมาณ ๘ นิ้ว เมื่อนั่งลงก็จะคงปิดเข่า ๔ นิ้ว อย่างนี้ชื่อว่านุ่งผ้าเป็นปริมณฑล

สิกขาบทที่ ๒.
ว่าเราจักห่มผ้าจีวรให้เป็นปริมณฑล ถ้านอกเขตวัดให้ห่มคลุมผสมมุมม้วนขวาเข้าให้เสมอกัน (ตามบาลีใน มหาอัตฤกถาคัมภีร์ จตุตถสมันตปาสาทิกาคัมภีร์ มังคลัตถทีปนีคัมภีร์ ว่า สมปุปมาณํ จีวรํ ปารปนฺเตน สํหริตฺวา พาหาย อุปริ จปิตา อุโภ อนุตา พหิมุขา ติฏฐนุติ แปลความว่า ชายทั้ง ๒ อันพระภิกษุเมื่อห่มซึ่งจีวรจัดให้เสมอกัน ม้วนเข้าแล้ววางไว้เบื้องบนแห่งแขน มีหน้าในภายนอกให้ตั้งอยู่ริมอนุวาต ปกคอพันข้อมือแล้วหนีบไว้ใต้รักแร้ วางมอบบนแขนซ้าย ปกแข้งลงประมาณ ๔ นิ้ว ถ้าในเขตวัดให้ลดเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ถ้าห่มครองให้ชักจีวรแถบซ้ายพับขึ้นมาพาดบ่าเป็นสองชั้น พาดสังฆาฏิหน้าหลังเท่ากัน ยื่นหลังถึงขอบสบง เรียกว่า หางค่างหางโค ยื่นข้างหน้ามากเรียกว่า ชายแครงชายไหว ไม่ควร คาดรัดประคดเอวใต้นมสองนิ้ว อย่าให้ต่ำเลย ๔ นิ้ว ต้องนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลก่อน จึงแสดงอาบัติตก)
        หมายเหตุ : ข้อความทั้งหมดในวงเล็บ เป็นข้อความที่เรียบเรียงเพิ่มเติมไว้ในฉบับ ร.ศ. ๑๒๘

สิกขาบทที่ ๓.
ว่าเราจักนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล ปกปิดกายด้วยดีตามวิธีที่กล่าวแล้ว เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๔.
ว่าเราจักนุ่งห่มปกปิดกายด้วยดี นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๕.
ว่าเราจักสำรวมด้วยดี ไม่คะนองมือคะนองเท้า เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๖.
ว่าเราจักสำรวมด้วยดี ไม่คะนองมือคะนองเท้า นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๗.
ว่าเราจัดทอดนัยน์ตาลงดูข้างหน้าเพียงสัก ๔ ศอก ไม่เหลียวซ้ายเหลียวขวา ไม่กลับหลังมาแลดู เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๘.
ว่าเราจักทอดตาแลดูเพียง ๔ ศอกไม่เหม่อเมินสายตาดู นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๙.
ว่าเราจักไม่เลิกจีวรขึ้นพาดบ่า ให้เห็นสายประคด เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๐.
ว่าเราจักไม่เลิกจีวรขึ้นพาดบ่า นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๑.
ว่าเราจักไม่หัวเราะดังคิกคัก เฮฮา เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๒.
ว่าเราจักไม่หัวเราะดังคิกคัก เฮฮา นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๓.
ว่าเราจักไม่พูดเสียงดังให้เกินขนาดเสียง เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๔.
ว่าเราจักไม่พูดเสียงดังให้เกินขนาดเสียง นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๕.
ว่าเราจักไม่โยกโคลงกาย เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๖.
ว่าเราจักไม่โยกโคลงกาย นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๗.
ว่าเราจักไม่กรีดกรายแขน เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๘.
ว่าเราจักไม่กรีดกรายแขน นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๑๙.
ว่าเราจักไม่โคลงศีรษะ กลอกหน้า เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๐.
ว่าเราจักไม่โคลงศีรษะ กลอกหน้า นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๑.
ว่าเราจักไม่เท้าสะเอว เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๒.
ว่าเราจักไม่เท้าแขน นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๓.
ว่าเราจักไม่คลุมศีรษะ เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๔.
ว่าเราจักไม่คลุมศีรษะ นั่งในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๕.
ว่าเราจักไม่เขย่งเท้า เดินไปในถิ่นบ้าน

สิกขาบทที่ ๒๖.
ว่าเราจักไม่รัดเข่าด้วยมือหรือผ้า นั่งในถิ่นบ้าน

ให้ภิกษุพึงสำเหนียกนึกหมายไว้ตามกิจ เป็นสารูปแก่สมณะทั้ง ๒๖ อย่างนี้
ถ้าผิดจากนี้ต้องอาบัติทุกกฏ

จบสารูป ๒๖ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗