วันพุธ

ปาราชิก ๔

ปาราชิก ๔ คือ
เมถุนปาราชิก ๑
อทินนาทานปาราชิก ๑
มนุสสวิคคหปาราชิก ๑
อุตตริมนุสสธรรมปาราชิก ๑
เป็น ๔ สิกขาบท ฉะนี้

๑. เมถุนสิกขาบทที่หนึ่ง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้เสพเมถุนธรรม ภิกษุรูปใดไม่บอกคืนสิกขาบท ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุมาเสพเมถุน คือ ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ คือ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ ปาก ๑ ของมนุษย์และอมนุษย์ คือเทวดา ยักษ์ เปรต ผี ปีศาจและสัตว์เดรัจฉานทั้งหญิงชาย ตัวผู้ตัวเมีย เป็น ๓ จำพวกด้วยกัน แม้ว่าภิกษุเสพเมถุนในซากศพที่มีทวารทั้ง ๓ นั้น อันสัตว์กัดกินเสียยังไม่ครึ่งหนึ่งก็ดี ภิกษุให้ผู้อื่นใส่องคชาตเข้าไปในทวารหนักและปากของตนก็ดี ภิกษุหลังอ่อนก้มลงอมองคชาตของตนเองก็ดี ภิกษุที่มีองคชาตยาวจับองคชาตแหย่แยงเข้าไปในทวารหนักของตนเองก็ดี อาการเหล่านี้ชื่อว่าเสพเมถุนทั้งสิ้น ภิกษุเสพเมถุนในทวารทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ ต้องที่ซุ่มประมาณเมล็ดงาหนึ่งเป็นที่สุด ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๒. อทินนาทานสิกขาบทที่สอง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ลักทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน มิได้อนุญาตยอมให้ ภิกษุมี🔎ไถยจิต(๑๕) คิดจะขโมย ล้วง ลัก เบียดบัง ฉ้อ ตระบัด ปล้นสะดม ข่มเหง แย่งซื้อ ลอบริบถือเอาพัสดุสิ่งของที่เจ้าของหวงแหน ควรแก่ราคา ๕ มาสก ที่เรียกว่าหนึ่งบาทของชาวมคธขึ้นไป คิดเป็นราคาทองหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ทอนลงเป็นเงินสองสลึงเฟื่องกับห้ากล่ำในสยามประเทศนี้ ลักเองก็ดี ให้ผู้อื่นลักก็ดี ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

ในอทินนาทานนี้ ใช่เฉพาะแต่ลักขโมยนำเอาของ ๆ ท่านมาเท่านั้นเมื่อไร อันการทำประโยชน์ของท่าน
ให้ตกไปก็เป็นอทินนาทานเหมือนอย่างยุยงทาสของท่านให้หนีไปจากเจ้าเงินก็ดี ทาสท่านหนีไปชี้ทางบอกตำแหน่งที่ให้หนีไปให้พ้น หรือจะเสียดส่อให้เจ้าเงินไปจับตัวมาได้ก็ดี อาการเหล่านี้จัดเป็นอทินนาทานทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้ว่าของ ๆ ตนที่จำต้องเสียค่าภาษีตลอดด่านขนอน เบียดบัง ซ่อนเร้นไปให้พ้นเขตด่านหรือจะขึ้นขัดไม่เสียให้ผู้ที่เรียกทอดอาลัยก็ดี หรือจะช่วยคุ้มให้แก่ญาติโยมพวกพ้องด้วยเลศนัย อุบายให้ผู้เรียกเข้าใจว่าเป็นของพระสงฆ์ก็ดี เหล่านี้เรียกว่า🔎สุงกฆาตะ(๑๖) จัดเป็นอทินนาทานเหมือนกัน

อนึ่ง ของที่ทายกจะให้ด้วยสลาก เมื่อจับถูกชื่อวัตถุสิ่งของที่ตนไม่ชอบใจ ซ่อนทิ้งสลากนั้นเสีย แล้วจับใหม่ ก็ไม่ทดแทนทอนราคากันลงได้ คงปลง🔎อวหาร(๑๗) ตามราคาสลากที่จับใหม่นั้นเอง แม้🔎สลากภัต(๑๘) ที่ปักชื่อภิกษุรูปอื่นแล้ว แลชักธงชื่อท่านเสีย แลปักธงชื่อของตนหรือธงชื่อพระภิกษุพวกของตัวลง ก็เป็นอทินนาทานเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ภิกษุเบียดเสียดปักที่แดนดินที่มีเจ้าของหวงแหน ให้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนของท่าน แม้ประมาณเส้นผมหนึ่ง ก็เป็นอทินนาทาน

ภิกษุให้ประโยชน์ของท่านตกไป ด้วยอาการดังว่ามานี้ พอครบราคาสองสลึงเฟื้องกับห้ากล้ำเมื่อใด ก็เป็นปาราชิกเมื่อนั้น

๓. มนุสสวิคคหสิกขาบทที่สาม
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ในครรภ์ นอกครรภ์ ภิกษุรูปใดรู้ว่ามนุษย์มีชีวิตคิดแกล้งจะฆ่าให้ตายด้วยอุบายต่าง ๆ จำเดิมแต่ประกอบยาให้หญิงมีครรภ์กิน ให้ครรภ์คือสัตว์ที่เกิดในท้องมารดา ตั้งแต่แรกตั้งปฐมวิญญาณให้ตกไป ฆ่าด้วยมือตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี หรือวางศัสตราวุธไว้ใกล้ เพื่อจะให้เขาฆ่ากันตายก็ดี หรือแกล้งพรรณนาคุณความตายให้เขาเกลียดหน่ายร่างกาย ไม่เสียดายชีวิต ฆ่าตัวตายเสียก็ดี หรือชักชวนให้ถือเอาถ้อยคำของตนว่า ท่านอยู่ทนทุกข์ลำบากไปต้องการอะไร ตายเสียดีกว่าอยู่ดังนี้

ถ้าเขาฆ่าตัวตายตามคำก็ดี หรือแกล้งหลอกหลอนให้เขาตกใจตายก็ดี เมื่อคิดจะให้มนุษย์ตายแกล้งประกอบอุบายต่าง ๆ สมตามความคิดของตนได้แล้ว ชื่อว่าเป็นอันฆ่ามนุษย์ตายทั้งสิ้น ภิกษุแกล้งให้มนุษย์ตายตัวยอุบายต่าง ๆ ดังว่ามานี้ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๔. อุตตริมนุสสธรรมสิกขาบทที่สี่
พระพุทธบัญญัติห้ามมิให้อ้าง
🔎อวดอุตตริมนุสสธรรม(๑๙) ที่ไม่มีในตน ภิกษุรูปใดไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ ไม่ถึง ไม่ได้ตรัสรู้ แต่เป็นคนใจบาป อยากจะได้ลาภสักการะ จะให้มีผู้สรรเสริญเลื่องลือชื่อคุณ กล่าวอวดซึ่งธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่งด้วยคุณทาง🔎มหรคต(๒๐) แล🔎โลกุตตระ(๒๑) ให้น้อมเข้ามาสู่ตน คือความรู้เห็นด้วยปัญญาอันอาจกำจัดกิเลส คืออวดว่า “ข้าได้ถึง🔎ฌาน(๒๒) ถึง🔎วิโมกข์(๒๓) ข้าได้ถึง🔎สมาธิสมาบัติ(๒๔) ข้าได้บรรลุ🔎ไตรวิชชา(๒๕) มรรคภาวนา ข้าทำให้แจ้งอริยผล ข้าละกิเลสเสียได้ จิตของข้าปลดเปลื้องจากราคะ โทสะ โมหะ ข้ายินดีจะอยู่ในเรือนว่างเปล่าเป็นที่สงัด พอใจพักอยู่ด้วยฌาน ข้าได้ฤทธิ์จะทำอะไรก็สำเร็จด้วยใจ รู้ใจสัตว์ ระลึกชาติได้ ข้าได้ตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นผู้สิ้นกิเลส อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนให้มนุษย์เชื่อถือ แม้จะใช้เล่ห์อุบายเปรียบปรายแสดงกายวิการเป็นเลศกระหยิบตา พยักหน้าเป็นต้น ให้สังเกตสำคัญตนว่าได้คุณวิเศษดังว่ามานี้ก็ดี เมื่อมนุษย์เชื่อถือตามความคิดของตนในขณะนั้นแล้ว ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้ ว่าถึง ก็ไม่มีโทษ เพราะไม่แกล้งอวด แม้กล่าวมุสาว่า “ข้านั่งธรรมเข้าบำเพ็ญ ได้เห็นสวรรค์หรือนรก เห็นผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิดบนสวรรค์ มีสมบัติอย่างนั้น หรือผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิด
ในนรก เปรต อสุรกาย ทนทุกขเวทนาอย่างนั้น ๆ คำอวดอ้างนั่งภาวนาเช่นนี้ เพื่อเข้าในมหรคตและ
🔎อภิญญา(๒๖) เห็นว่าเป็นอันไม่พ้นอวดอุตตริมนุสสธรรม คนที่เขลา ๆ ก็เชื่อง่าย ๆ ท่านผู้รักใคร่ในสิกขาจงระวังรักษาตัวให้จงดี เทอญ

ปาราชิก ๔ นี้ ภิกษุต้องแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลพ่ายแพ้แก่พระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมกับด้วยภิกษุต่อไปได้อีกแล้ว ถึงจะปฏิญาณตนและอุปสมบทใหม่ก็ไม่เป็นภิกษุได้อีกแล้ว ตายแล้วเที่ยงแท้ที่จะไปบังเกิดใน🔎อบาย(๒๗) เป็นแน่นอน อย่าสงสัยเลย ให้ผู้อุปสมบทจึงรักษาตัวให้จงดี อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้บวชในพระพุทธศาสนา

ปาราชิก ๔ ข้อนี้ กล่าวความพอเป็นที่กำหนดไว้เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น