วันศุกร์

ภูตคามวรรคที่ ๒

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท จัดเป็น ๙ วรรค

        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)

ภูตคามวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. ภูตคามสิกขาบท
ความว่า พืชพรรณที่งอกงามขึ้นในดินในน้ำ คือ ต้นไม้ กอไม้ เถาวัลย์ กอหญ้า กอบัวสาย สาหร่าย จอก แหน เป็นต้น ชื่อว่าภูตคาม ภิกษุ ตัด ฟัน ถาก ถอน เด็ด ฉีก ยกขึ้นพ้นจากพื้นที่เกิด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่พืชที่จะงอกได้ คือพืชที่ตัดและขุดขึ้นพ้นที่เกิดมาแล้วแต่ยังสดอยู่ และรากเหง้าหัวเมล็ดในยังจะงอกได้ต่อไป ชื่อว่าพืชคาม ภิกษุทำลายให้สูญพืชต้องอาบัติทุกกฏ

๒. อัญญวาทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุแกล้งทำมารยา เมื่อพระสงฆ์ถามด้วยอาบัติแล้ว ก็กล่าวถ้อยคำอื่นกลบเกลื่อนเลือนเลอะเสีย หรือนิ่งเสียทำเป็นไม่ได้ยินไม่บอกกล่าวตามความจริง ให้พระสงฆ์เกิดความลำบากรำคาญใจ จนพระสงฆ์ต้องสวดบอกโทษเมื่อไร ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๓. อุชฌาปนกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุแกล้งโพนทะนาติเตียนใส่โทษที่ไม่จริง แก่ภิกษุอันสงฆ์สมมติไว้ให้แจกของสงฆ์ของคณะให้ภิกษุอื่นได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าติเตียนตามโทษที่ได้รู้ได้เห็นตามจริง ไม่เป็นอาบัติ

๔. สังฆกเสนาสนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้ยกขนเตียง ตั้ง ฟูก เบาะ เก้าอี้ อันเป็นของสงฆ์ไปตั้งไว้ในที่แจ้งด้วยตน หรือใช้ให้ผู้อื่นก็ดี เมื่อจะไปจากที่นั้น ก็มิได้ยกขนเอาไปไว้ดังเก่า และมิได้บอกกล่าวมอบหมายไว้ธุระแก่ท่านผู้หนึ่งผู้ใด พอไปพ้นอุปจารที่นั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๕. ทุติยเสนาสนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุหยิบยกเครื่องปูนอนในเสนาสนะของสงฆ์ไปปูลาดเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเอาไปปูลาดก็ดี เมื่อจะไปจากเสนาสนะนั้นก็มิได้เอาไว้ตามที่เดิม หรือมิได้มอบหมายไว้ธุระแก่ใครหลีกไป พอพ้นอุปจารเสนาสนะนั้นแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๖. อนูปขัชชสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้รู้ว่าภิกษุอื่นเข้าไปอยู่ในเสนาสนะของสงฆ์ก่อนแล้ว แกล้งริษยาไม่ให้อยู่ ได้เข้าไปนั่งนอนเบียดเสียดในที่ใกล้ภายใน ๒ ศอกคืบ หรือขนเอาเตียงตั้งไปตั้งที่ริมทวารเข้าออก ด้วยจะให้คับแคบใจจนอยู่ไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗. นิกกัฑฒนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้ขึงโกรธน้อยใจต่อภิกษุและขับไล่ ฉุดคร่า ผลักไสให้ไปจากเสนาสนะของสงฆ์ หรือใช้ให้ผู้อื่นขับไล่ก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๘. เวหาสกุฎีสิกขาบท
ความว่า กุฏิมีพื้นชั้นบนเป็นที่แจ้ง ไม่มีหลังคา ยังไม่ได้เรียบ พื้นล่างเป็นที่อาศัยเดินไปมาได้ เตียงตั้งตั้งติดพื้นไว้ไม่มีลิ่มสลักตรึงกับแม่แคร่ไว้ ภิกษุมานั่งนอนทับลง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. มหัลลกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุจะทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำวิหารที่อยู่ให้กว้างใหญ่ หวังจะอยู่เอง มีทายกเป็นเจ้าของจะสร้างถวาย พึงตั้งลงในที่นาของเขา จึงโบกทาให้หนาได้ แต่ที่กรอบเช็ดหน้าประตูและหน้าต่างออกไปข้างละ ๒ คืบ เพื่อจะให้ใบตาลและลิ่มสลักมั่นคง พึงมุงโบกทาเองได้เพียงสองชั้นสองหน ถ้ามุงโบกทามากกว่าสองชั้นสองหนขึ้นไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าใกล้ที่ไร่นาต้องอาบัติทุกกฏด้วย

๑๐. สัปปาณกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันรู้เห็นหรือรังเกียจอยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์เป็นอยู่ แล้วแกล้งตักรดหญ้ารดดินลง หรือใช้ให้ผู้อื่นรดก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

จบภูตคามวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น