โกสิยวรรคที่ ๒

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ

จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

โกสิยวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สิกขาบท
๑. โกสิยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ซึ่ง
🔎สันถัต(๕๔) รองนั่งหล่อเจือด้วยเส้นไหมสันถัตนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นสันถัตทอ ไม่เป็นอาบัติ

๒. สุทธกาฬกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำซึ่งสันถัดด้วยขนเจียมมีสีดำล้วน ไม่หล่อปนอย่างละส่วนให้ต่างสี สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๓. ทวิภาคสิกขาบท
ความว่า ภิกษุจะให้ทำสันถัตใหม่หล่อด้วยขนเจียม จึงให้ถือเอาขนสีดำ ๒ ส่วน ขนสีขาว ๑ ส่วน  เป็น ๓ ส่วน ขนเจียมสีแดง ๑ ส่วน เป็น ๔ ส่วน ถ้าไม่เอาตามประมาณที่กำหนดไว้นี้ สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ขนเจียมสีดำเฉพาะ ๒ ส่วนถ้วน ขนเจียมสีขาว สีแดง ถึงจะเกินกว่าส่วนหนึ่งขึ้นไป ก็ไม่เป็นอาบัติ สันถัตเป็นนิสสัคคีย์ทั้ง ๓ นี้ แม้สละเป็นวินัยกรรมแล้ว ผู้รับจะคืนให้ ก็ไม่ควรจะบริโภคได้อีกเลย

๔. ฉัพพัสสสิกขาบท
ความว่า ภิกษุให้ทำสันถัตหล่อขึ้นใหม่แล้ว พึงทำไว้อาศัยใช้สอยรองนั่งไปตลอด ๖ ปี ถ้ายังไม่ถึง ๖ ปี จะสละแก่ภิกษุอื่นก็ดี ไม่สละก็ดีให้ทำให้หล่อสันถัตใหม่อื่นอีกเล่า สันถัตนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุอันได้สมมติแต่สงฆ์แล้ว แม้จะหล่อสันถัดใหม่ ก็ไม่เป็นอาบัติ

๕. นิสีทนสันถัตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุจะให้ทำให้หล่อสันถัตรองนั่งขึ้นใหม่ พึงให้เอาสันถัตเก่าไว้คืบพระสุคต ๑ โดยรอบ เพื่อจะทำให้เสียสี ถ้าไม่ทำดังว่านี้สันถัดนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ สันถัตเป็นนิสสัคคีย์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าภิกษุสละเป็นวินัยกรรมแล้วเอามาบริโภคได้ ไม่เป็นอาบัติ

๖. เอพกโลมสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเดินทางไกลไปกำหนดด้วย ๑๐๐ โยชน์ จะพึงมีผู้นำเอาขนเจียมมาถวาย เมื่อปรารถนาจะได้ก็พึงรับเถิด ถ้าไม่มีผู้ช่วยนำไปให้ พึงนำไปเองได้ล่วงทางไกลเพียง ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเกิน ๓ โยชน์ออกไปสักเส้นผมหนึ่ง ขนเจียมนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗. เอหกโลมโธวาปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงใช้ภิกษุณีอันมิใช่ญาติให้ซักหรือย้อม ให้สางเส้นขนเจียม ขนเจียมนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๘. รูปิยคหณสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับเงินทองด้วยมือตนเองก็ดี บังคับให้ผู้อื่นรับไว้เพื่อตนก็ดี ยินดีมุ่งตรงเฉพาะต่อเงินทองที่ตนให้เก็บไว้ก็ดี เงินทองนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ใช่จะเป็นนิสสัคคิยวัตถุแต่เงินทองเท่านั้นหามิได้รูป
🔎มาสก(๕๕) ที่สำหรับซื้อจ่ายต่าง ๆ เหมือนอย่างหอยเบี้ยกะแปะปี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนเงินเป็นต้น โดยอย่างต่ำถึงซี่ไม้ไผ่ เม็ดในผลไม้ที่โลกสังเกตกำหนดไว้ใช้ซื้อจ่ายแลกเปลี่ยนได้ตามประเทศนั้น ๆ ภิกษุจะรับยินดีก็ไม่ควร ล้วนเป็นมหานิสสัคคิยวัตถุทั้งสิ้น ก็แลอุบายที่จะบริโภคจตุปัจจัย เพราะอาศัย🔎กัปปิย(๕๖) มูล ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้นั้นก็มีอยู่ ถ้ามีผู้นำเอาเงินทองและรูปมาสกมาถวายเป็นราคาจตุปัจจัยสี่ ก็พึงห้ามเสีย อย่าพึงรับ อย่าพึ่งยินดีตรงต่อเงินทองนั้น (เพราะเงินทองเป็นปัจจัยสี่ ทำจีวรไม่ได้ ทำบิณฑบาตไม่ได้ ทำเสนาสะไม่ได้ ทำยาแก้ไข้ก็ไม่ได้ แต่ถ้าไวยาวัจกรเอาเงินไปแลกเปลี่ยนเอาปัจจัยสี่มาถวาย ภิกษุยินดีตรงปัจจัยสี่สักเท่าไร ก็ไม่เป็นนิสสัคคีย์สักบาทเดียว ถ้าภิกษุถูกต้องเสียแล้วก็เป็นนิสสัคคีย์อยู่นั่นแหละ)

ถ้าเขามอบไว้แก่ไวยาวัจกรก็พึงปฏิบัติเช่นอย่างราคาจีวร ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ในราชสิกขาบทเท่านั้น ถ้ามีผู้เอาเงินทองมากองลงต่อหน้า แล้วว่า “ข้าพเจ้าจะถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าไว้ จะได้ซื้อหาสิ่งของอะไรตามปรารถนา” ภิกษุยินดีด้วยใจ แต่ว่าห้ามด้วย กาย วาจา ให้รู้ว่ารับไม่ได้ ไม่ควร ก็ไม่เป็นอาบัติ เมื่อมิได้ห้ามด้วยกาย วาจา แต่ห้ามด้วยจิตว่าไม่ควรรับเป็นแท้ ก็ไม่เป็นอาบัติ ถ้าภิกษุได้ห้ามด้วยกาย หรือวาจาแลจิต แต่อย่างหนึ่งแล้วเขาก็ว่า “ข้าพเจ้าถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าเป็นอันขาด” แล้วก็หลีกไปถ้ามีอุบาสกอื่นมาเห็นเขาแล้ว จึงถามขึ้น ภิกษุพึงบอกเล่าไปตามเหตุ อุบาสกนั้นเป็นผู้รู้
🔎วัตรปฏิบัติ(๕๗) ของภิกษุได้รับเข้าแล้วมาว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาเป็นไวยาวัจกร รักษาไว้เอง พระผู้เป็นเจ้าจงแสดงที่รักษาให้ข้าพเจ้าเถิด” ภิกษุบอกว่า “ที่นี้แหละเป็นที่เก็บกัปปิยมูล” จะว่าอย่างนี้ก็ควร แต่อย่าพึ่งบังคับว่า “ท่านเก็บไว้ที่นี้ มิควร ไม่พ้นอาบัติ”

ถ้ามีพ่อค้าขายสิ่งของต่าง ๆ อย่างพ่อค้าร้องขายบาตรมา แม้ว่าภิกษุนั้นอยากจะได้บาตร ฟังว่า “เราก็อยากจะได้บาตรอยู่ กัปปิยมูลก็มีอยู่ แต่ไม่มี🔎กัปปิยการก(๕๘) จะสำเร็จให้” ถ้าว่าพ่อค้านั้นรับเข้ามาว่า “ข้าพเจ้าจะขอรับเป็นกัปปิยการกเอง พระผู้เป็นเจ้าจงเผยประตูชี้ที่เก็บกัปปิยมูลให้ข้าพเจ้าเถิด” ภิกษุจะเผยประตูชี้ที่เก็บให้ว่า “กัปปิยมูลเขาเก็บไว้ที่นี้” ก็ควร แต่อย่าพึ่งบังคับว่า “ท่านจงเอาไป” ดังนี้เป็นอันไม่ควรถ้าพ่อค้าจะให้บาตรควรแก่ราคา ก็พึงรับบาตรนั้นตามปรารถนาเถิด แต่เห็นว่าราคามันมากเกินไป จะห้ามว่า “เราไม่พอใจบาตรของท่านแล้ว กัปปิยมูลนั้นเป็นอย่างใดก็เอาไว้ตามที่เถิด” ดังนี้ก็ควร

ว่ามาทั้งนี้ด้วยประสงค์จะให้รู้อุบายที่จะบริโภคปัจจัยจะไม่ให้เกิดอาบัติ เพราะจิตมิได้ยินดีตรงรูปิยะเงินทองฝ่ายเดียว ถ้าทายกเขามอบหมายกัปปิยมูลไว้กับกัปปิยการก ก็อย่าพึ่งยินดีตรงๆต่อรูปิยะเงินทองนั้นพึงตั้งจิตว่าเราจะได้อาศัยบริโภคปัจจัยที่ควร เมื่อจะปรารถนากัปปิยภัณฑะสิ่งไร ก็อย่าได้บังคับว่า “ท่านจงไปซื้อสิ่งของอันนั้นมาให้แก่เรา” บังคับว่าอย่างนี้ไม่ควรพึ่งบอกเล่าว่า “เราต้องการสิ่งของอันนั้นๆ” พอเป็นกลาง ๆ อย่างนี้จึงควร แต่อันจะห้ามจิตมิให้ยินดีมุ่งตรงต่อรูปิยะเงินทองนั้นยากนัก อาศัยภิกษุมีเจตนาหนักในสิกขาบทนั้นเป็นประมาณ อย่าเห็นแต่การจะรักษากายเลี้ยงท้องให้ยิ่งกว่าการรักษาสิกขาบทเลย

๙. รูปิยสังโวหารสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงถึงซึ่ง
🔎รูปิยสังโวหาร(๕๙) มีประการต่าง ๆ คือซื้อจ่ายสิ่งของที่แล้วด้วยรูปิยะเงินทองเช่นเดียวกัน แลซื้อจ่ายของที่ควรแก่วัตถุสิ่งของ ซื้อด้วยรูปิยะเงินทอง แลขายด้วย🔎สมณบริขาร(๖๐) เอารูปิยะเงินทองเก็บไว้ สิ่งของทั้งปวงนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

วัตถุสิ่งของซื้อมาด้วยรูปิยะเงินทอง สำเร็จด้วยอกัปปิยโวหารนั้น เป็นมหานิสสัคคีย์ ซึ่งจะสละเป็นวินัยกรรม แล้วเอามาใช้สอยไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าสิ่งของเป็นมหานิสสัคคีย์แล้ว ถ้าว่าจะเอาไปปะปนคละเคล้าเข้ากับสิ่งของที่บริสุทธิ์ รสน้ำย้อมเป็นต้นซาบกัน สิ่งที่บริสุทธิ์นั้นก็พลอยเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย เหมือนอย่างรางย้อมผ้าที่เป็นมหานิสสัคคีย์ แล้วรสน้ำย้อมติดซาบอยู่ในรางนั้น ถ้าเอาผ้าที่บริสุทธิ์ไปย้อมลงในรางนั้นเล่า
ให้รสน้ำย้อมติดซาบมาในผ้าที่บริสุทธิ์ ก็พลอยให้ผ้าที่บริสุทธิ์นั้นเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย อนึ่งวัตถุที่บริสุทธิ์แท้แต่อาศัยด้วยมหานิสสัคคีย์วัตถุ ก็พลอยเป็นนิสสัคคีย์ไปด้วย เหมือนอย่างเข็มเย็บผ้าหรือพร้าขวานที่ถากไม้กรัก หม้อที่จะต้มน้ำย้อมผ้า แลฟันที่จะเป็นเชื้อใส่ไฟก็ดี ถ้าเป็นมหานิสสัคคีย์เสียแล้ว ก็พลอยให้ผ้าที่สุย้อมลงในน้ำย้อมนั้นเป็นผ้านิสสัคคีย์ไปด้วย ว่ามาทั้งนี้พอเป็นตัวอย่างที่ภิกษุจะหลบหลีกอาบัติเสีย ไปบริโภคปัจจัยที่ควรตามปรารถนา ไม่ให้เกิดอาบัติได้

๑๐. กยวิกกยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงถึงซึ่งความแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ คือยื่นให้และรับเอาสิ่งของที่เป็นกัปปิยะต่อสิ่งของที่เป็นกัปปิยะเหมือนกันกับคฤหัสถ์นอกจากสหธรรมิกบริษัททั้ง ๕ คือ
        ภิกษุ ๑
        ภิกษุณี ๑
        
🔎สิกขมานา(๖๐) ๑
        สามเณร ๑
        สามเณรี ๑
สิ่งของที่ภิกษุแลกเปลี่ยนได้มานั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ แม้ว่าบิดามารดาของตัวก็แลกเปลี่ยนสิ่งของนั้นไม่ได้ในสิกขาบทนี้ แต่จะให้กันขอกันไม่ต้องห้าม ตามที่นับว่าญาติและปวารณา อย่าให้เป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายต่อกัน จึงจะพ้นอาบัติ

จบโกสิยวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗