วันอังคาร

โภชนวรรคที่ ๔

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท จัดเป็น ๙ วรรค

        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)

โภชนวรรคที่ ๔ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. โภชนสิกขาบท
ความว่า โภชนะของกินทายก
ตั้งไว้ในโรงทาน อุทิศทั่วไปแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์มิได้เลือกหน้า ภิกษุไม่เป็นไข้ยังจะเดินทางไปถึงกึ่งโยชน์ได้ พึงฉันได้แต่เพียงวันเดียว ถ้าไปฉันเรียงวันเป็นสองวันต้องอาบัติปาจิตตีย์

๒. คณโภชนสิกขาบท
ความว่า ทายกไปนิมนต์
ภิกษุในอาวาสเดียวกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ออกชื่อโภชนะว่า นิมนต์ไปกินข้าว กินเนื้อ กินปลา หรือนิมนต์ด้วยภาษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นโวหารคฤหัสถ์ ภิกษุไปรับโภชนะนั้นมาฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย ๗ ประการคือ
        เป็นไข้ ๑
        อยู่จำพรรษาแล้ว ตั้งแต่ออกพรรษาจน
ถึงเพ็ญเดือนสิบสอง ๑
        กรานกฐินแล้วไปถึงเพ็ญเดือน
สี่ ๑
        เดินทางไกลตั้งแต่กึ่งโยชน์ขึ้นไป ๑
        ไปทางเรือ ๑
        เป็นคราวประชุมใหญ่ ๑
        เป็นคราวสมณะต่างพวกต่าง
หมู่มานิมนต์ ๑
ถ้าได้ ๗ สมัยนี้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด
ฉันได้ ไม่มีโทษ

๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับนิมนต์
ฉันเช้าของทายกไว้แล้ว รุ่งเช้าฉันโภชนะอื่น ๆ เสียก่อนแล้วจึงไปฉันที่นิมนต์นั้นต่อภายหลัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย ๓ ประการ คือ
        เป็นไข้ ๑
        จำพรรษาแล้ว
คุ้มได้หนึ่งเดือน ๑
        กรานกฐินแล้วคุ้มได้สี่เดือน ๑

๔. กาณมาตาสิกขาบท
ความว่า ภิกษุไปเที่ยว
บิณฑบาต มีตระกูลทายกชายหญิงนำเอาขนมหรือข้าวสัตตุของกินต่าง ๆ อันทำไว้เพื่อเป็นเสบียงหรือเป็นของฝากมาปวารณาถวายให้พอตามประสงค์ ภิกษุพึงรับได้เพียงเต็ม ๓ บาตร พอเสมอขอบบาตร อย่าให้พูนล้นขอบปากบาตรขึ้นไป ถ้ารับเกิน ๓ บาตรแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้ารับถึง ๓ บาตร นำมาแล้วจึงเอาไว้เป็นของตนแต่บาตรเดียว เหลือนั้นแจกเฉลี่ยไปให้ทั่วแก่ภิกษุ ถ้าไม่แบ่งปัน ต้องวัตตเภททุกกฏ

๕. ปวาริตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุฉันโภชนะ
สิ่งหนึ่งสิ่งใดค้างอยู่ มีทายกนำเอาสิ่งของมาเพิ่มเติม ถ้าห้ามว่าพอแล้วดังนี้ ก็เป็นอันชื่อว่าห้ามภัตรแล้ว เมื่อลุกขึ้นพ้นจากที่นั่งฉันไปแล้ว ฉันไม่ได้อีกในวันนี้ ถ้าฉันโภชนะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรู้ว่าภิกษุ
อื่นฉันโภชนะแล้ว ห้ามภัตรแล้ว คิดจะติเตียนยกโทษโจทก์ด้วยอาบัติ แกล้งเอาขนมของกินหรือข้าวสุกมาปวารณาแค่นขึ้นให้ฉันอีก ภิกษุนั้นฉันอีกเมื่อไร ภิกษุผู้แค่นขึ้นให้ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗. วิกาลโภชนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุฉันโภชนะ
และขนมของฉันต่าง ๆ ในวิกาล คือเวลาล่วงเที่ยงวันไปจนรุ่งอรุณ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้เป็น🔎อจิตตกะ(๖๗) ถ้าล่วงเวลาถึงไม่แกล้งฉันก็ไม่พ้นโทษ เมล็ดข้าวสุก ชิ้นเนื้อ ชิ้นปลาติดฟันถึงเวลาบ่าย รสข้าวสุกของกินนั้นจะระคนด้วยเขฬะกลืนล่วงลำคอลงไป คงเป็นวิกาลโภชนะ ฉันแล้วจึงให้ชำระบ้วนปากแยงฟันเสีย อย่าให้มีอามิสติดค้างอยู่ได้จนกว่าเวลาบ่าย จึงจะควร

๘. สันนิธิการกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับโภชนะ
ขนมของฉันต่าง ๆ เก็บงำไว้ฉันวันหน้าต่อไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. ปณีตโภชนสิกขาบท
ความว่า โภชนะของฉัน
อันประณีต คือเนยใส เนยข้น น้ำมันลูกไม้และน้ำมันเปลวสัตว์ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ น้ำนมสด และน้ำนมส้ม ๙ สิ่งนี้ภิกษุมิได้เจ็บไข้ไปเที่ยวขอมาได้แต่มิใช่
ญาติ มิใช่ปวารณา เอามาฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ขอของฉันนอกจาก ๙ สิ่งนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ

๑๐. ทันตโปณสิกขาบท
ความว่า ของฉันสิ้น
ทุกสิ่ง ยกเสียแต่น้ำที่กรองแล้ว ไม่เจือด้วยอามิสและไม้สีฟันเท่านั้น ของทั้งปวงถ้าคฤหัสถ์หรือสามเณรมิได้ประเคนให้ เมื่อกลืนล่วงลำคอลงไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้ายังมิได้ประเคน ภิกษุจับต้องเสียแล้ว ถึงประเคนใหม่ก็ไม่ขึ้น คงเป็นอาบัติ ถ้าจะรับประเคนก็พึงรับประเคนในหัตถบาส คือผู้ประเคนจดศอกหรือเข่ามาถวายภายในศอกคืบ จึงเป็นอันรับประเคน ถ้าห่างออกจากศอกคืบออกไป ภิกษุรับจับต้องแล้วเอามาประเคนใหม่ ก็เป็นอุคคหิตคือประเคนไม่ขึ้น ฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (น้ำกรองแล้ว ถ้าไม่มีฝาปิด ผงลงได้ ก็ต้องประเคนใหม่ เพราะผงก็เป็นอามิส แต่ต้องเป็นน้ำที่ภิกษุกรองเอง ของเคี้ยวของฉันที่ไม่มีฝาปิด ผงลงได้ รับประเคนไว้แล้วลุกห่างไปศอกคืบ ต้องประเคนใหม่ ถ้ามีภิกษุนั่งอยู่ในหัตถบาสคุ้มได้)

หมายเหตุ : ข้อความในวงเล็บ เป็นข้อความที่เรียบเรียงเพิ่มเติมไว้ในฉบับ ร.ศ. ๑๒๘

จบโภชนวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น