วันพฤหัสบดี

จีวรวรรคที่ ๑

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ
จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

จีวรวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. ปฐมกฐินสิกขาบท
ความว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว คือภิกษุได้เข้าปุริมพรรษาในวันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่งแล้ว ได้กรานหรือได้อนุโมทนากฐินแล้ว ถ้ายังมี
🔎ปลิโพธ(๔๓) อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงเพ็ญเดือน ๔ ไปแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๔ ไปถึงเพ็ญเดือน ๑๑ ถ้าภิกษุได้อดิเรกจีวรมา คือผ้าที่ยังไม่ได้🔎วิกัป(๔๔) หรือว่าอธิษฐาน ตั้งแต่ผ้ากว้างคืบหนึ่ง ยาวศอกหนึ่งขึ้นไป พึงเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้วิกับหรือวิกัปอธิษฐานล่วงราตรีที่ ๑๐ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ควรสละให้ภิกษุอื่นเป็นวินัยกรรม ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์นับเท่าผืนผ้านั้น ก็แต่อติเรกจีวรที่เกิดภายใน ๕ เดือนตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำหนึ่ง ถึงเพ็ญเดือน ๔ นั้น ถึงไม่วิกัป ไม่ได้🔎ธิษฐาน(๔๕) ก็ยังไม่เป็นนิสสัคคีย์ ถ้าเข้า🔎ปริมพรรษา(๔๖) แต่ไม่ได้กราน ไม่ได้อนุโมทนากฐิน คุ้มอติเรกจีวรได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้าเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือน ๙ หรือภิกษุขาดพรรษาไซร้ ก็ไม่มีกาลจะคุ้มอติเรกจีวรได้ เมื่อได้มาถึง ก็ถึงวิกัปหรืออธิษฐานเสียภายใน ๑๐ วันนั้น

๒. ทุติยกฐินสิกขาบท
ที่เรียกว่า อุทโธสิตสิกขาบทนั้น ความว่า เมื่อมีจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้วมีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าหากว่าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้แต่ราตรีเดียว คือละไตรจีวรไว้นอก
🔎หัตถบาส(๔๗) เมื่อราตรีรุ่งขึ้น ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุใช้ที่สงฆ์สมมติให้อยู่ปราศจากไตรจีวร ละไว้ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๓. ตติยกฐินสิกขาบท
ความว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว มีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าว่า
🔎อกาลจีวร(๔๘) จึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุ คือมีทายกนำผ้ามาถวายให้เป็นอกาลจีวร ภิกษุปรารถนาจะทำไตรจีวร ก็พึงรับเอาไว้ แล้วรีบเร่งทำเสียให้เสร็จภายใน ๑๐ วัน ถ้าผ้านั้นยังไม่พอแก่🔎สังฆาฏิ(๔๙) หรือ🔎อุตตราสงฆ์(๕๐) หรือ🔎อันตรวาสก(๕๑) ผืนใดผืนหนึ่งก็ดี ถ้าหมายใจเป็นแน่ว่ายังจะได้ผ้าอื่นมาบรรจบให้พอได้ภายใน ๑ เดือนแล้ว ก็พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้อีกเพียงเดือน ๑ เป็นอย่างยิ่ง ถ้าพ้นจากนั้นไม่วิกัปหรืออธิษฐานไว้ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าว่าได้ผ้าอื่นมาในภายเดือน ๑ เอามาผสมยังไม่พอเล่า แม้ยังหมายใจว่าจะได้ผ้าอื่นต่อไปอีก ก็พึงวิกับหรืออธิษฐานผ้าเดิมนั้นเก็บไว้ ผ้าที่ได้มาใหม่นั้นตั้งเป็นผ้าเดิมขึ้นไว้ใหม่ได้อีกเดือน ๑ ต่อไป เพื่อจะได้บรรจบกับผ้าที่จะได้มาใหม่เป็นไตรจีวรให้พอตามความปรารถนา

๔. จีวรโธวาปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติ หรือคฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา ให้ชัก หรือย้อม หรือทุบ รีดจีวรเก่า ตั้งแต่ผ้าที่ได้นุ่งห่ม หนุนศีรษะนอนแต่คราวหนึ่งขึ้นไป จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์

๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับจีวรแต่มือนางภิกษุณีอันมิใช่ญาติ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ผ้านั้นไม่เป็นนิสสัคคีย์ ไม่เป็นอาบัติ

๖. จีวรวิญญัติสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงขอจีวรแต่คฤหัสถ์ คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ จีวรที่ได้มาต้องนิสสัคคีย์ ภิกษุผู้ขอต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยที่ขอได้ คือเป็นคราวเมื่อจีวรอันโจรตีชิงเอาไปเสียหรือว่าไฟไหม้ หนูกัด ปลวกกัดกินเป็นต้น จนมีผ้านุ่งผืนเดียว หรือต้องตัดใบไม้นุ่งแล้ว เที่ยวไปขอได้ ไม่มีโทษต้องห้าม

๗. ตทุตตรสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้วิญญัติสมัย คือคราวที่จะเที่ยวขอได้เช่นนั้น แล้วเที่ยวขอจีวรอยู่ ถ้ามีคหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติมาปวารณาด้วยผ้ามากหลายผืนนำมาถวายให้ทำไตรจีวรจนพอประโยชน์ ก็พึงยินดีรับแต่เพียงสองผืน คือผ้าอันตรวาสกและผ้าอุตตราสงค์ ที่เรียกว่าสบงจีวรครองตามสังเกตทุกวันนี้ พอจะได้นุ่งผืนหนึ่งเท่านั้น ผ้าของตนยังมีอยู่ผืนหนึ่งพึงรับได้อีกเพียงผืน ๑ ถ้ายินดีรับยิ่งกว่า ๒ ผืนขึ้นไป ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
๘. ปฐมอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ พึงตั้งกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรถวายภิกษุชื่อนั้น แต่หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นก่อนไม่ ภิกษุนั้นครั้นรู้แล้ว ก็อยากจะได้จีวรที่ดี จึงเข้าไปสู่หากล่าวกำหนดให้ซื้อผ้าที่เนื้อดีให้ยาว ให้กว้าง ให้เกินราคาที่เขากำหนดไว้ เขาได้ผ้ามาถวายถึงมือเมื่อไร ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติเป็นสองพวกสองหมู่ ต่างคนต่างกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรคนละผืนถวายแก่พระภิกษุเฉพาะองค์เดียวกัน แต่ก็หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นไม่ ครั้นภิกษุนั้นรู้ข่าวแล้ว ก็อยากได้จีวรเนื้อดีที่งามตามชอบใจแต่สักผืนดียว จึงเข้าไปสู่หาว่ากล่าวชักโยงคนทั้งสองฝ่ายให้รวมราคาเข้ากันกำหนดให้ซื้อจีวรที่เนื้อดีกว้างยาวตามใจชอบแต่ผืนเดียวให้เกินราคาที่เขากำหนดให้ เขาซื้อผ้ามาถวายถึงมือเมื่อใด ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๑๐. ราชสิกขาบท
ความว่า พระเจ้าแผ่นดินก็ดีอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คฤหบดีก็ดี จึงมอบหมายราคาจีวรให้แก่ทูต บังคับให้ไปซื้อจีวรมาถวายแก่พระภิกษุที่ตนเฉพาะไว้ แต่ทูตนั้นหาได้ซื้อจีวรไปถวายตามคำที่ใช้ไม่ นำเอารูปิยะเงินทองราคาซื้อจีวรไปถวายแก่พระภิกษุนั้นแจ้งว่า “ราคาจีวรนี้ท่านผู้นั้นใช้ให้ข้าพเจ้านำมาถวายแก่ท่านผู้มีอายุ ขอท่านผู้มีอายุจงซื้อหาจีวรตามปรารถนาเถิด” ภิกษุพึงกล่าวแก่ทูตนั้นว่า “อันเราจะรับทรัพย์เงินทองเป็นราคาจีวรนี้ไม่ได้ ไม่ควร จะควรรับได้ก็แต่จีวรที่ควรตามกาล” ทูตนั้นถามว่า “
🔎ไวยาวัจกร(๕๒) ของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่หรือหามิได้เล่า” ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงแสดงไวยาวัจกร คือผู้รักษาอารามหรืออุบาสกว่า “ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย” ทูตนั้นจึงนำราคาจีวรไปมอบหมายส่งให้ไว้แก่ไวยาวัจกร แล้วจึงมาบอกเล่าแก่ภิกษุนั้นว่า “ราคาจีวรนั้นข้าพเจ้าได้มอบหมายสั่งไวยาวัจกรไว้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะประโยชน์ด้วยจีวรเมื่อไร จงไปบอกเล่าแก่ไวยาวัจกรเถิด เขาจะได้จัดหามาถวายตามประสงค์”

ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงไปทวงเตือนไวยาวัจกรนั้นว่า “เราประโยชน์ด้วยจีวร” ดังนี้ ถ้าทวงเตือนครั้งที่ ๑ แล้วก็ยังไม่ได้มา ก็ให้ทวงเตือนซ้ำได้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เมื่อครบ ๓ ครั้งแล้ว จีวรนั้นไม่ได้มา ก็พึ่งไปยืนนิ่งเฉยพอให้รู้ว่า “ทวงจีวร” ได้อีก ๖ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปยืนครบ ๖ ครั้งแล้ว ไวยาวัจกรนั้นให้จีวรสำเร็จมาได้ก็เป็นอันดี ถ้าไม่สำเร็จได้เล่า เมื่อภิกษุทำเพียรไปยืนให้ยิ่งกว่า ๖ ครั้ง จึงให้จีวรสำเร็จมาได้ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

ถ้าภิกษุไปทวงเตือน ๓ ครั้งแล้วไปยืน ๖ ครั้งตามกำหนดนี้แล้ว ไวยาวัจกรไม่ให้จีวรมา ราคาจีวรนั้นอันทูตได้นำมาแต่ตระกูลใด ให้ภิกษุนั้นไปเอง หรือส่งทูตไปยังตระกูลนั้น ให้บอกเล่าว่า “ท่านทั้งหลายได้ส่งราคาจีวรไปแก่ทูต อุทิศต่อพระภิกษุรูปใด ก็หาสำเร็จประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ท่านจงทวงคืนมาเสียเถิด อย่าให้ของ ๆ ตนสูญจากประโยชน์เลย” อันนี้แลเป็นวัตรในราคาจีวรที่ทายกส่งไปเฉพาะภิกษุนั้น ถ้าภิกษุไม่ไปบอกเล่าให้เจ้าของเดิมรู้ ต้องอาบัติ🔎วัตตเภท(๕๓) ทุกกฏ

จบจีวรวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น