แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ๘๐ พระอรหันต์สมัยพุทธกาล แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ๘๐ พระอรหันต์สมัยพุทธกาล แสดงบทความทั้งหมด

พระมหานามเถระ

เล่นออดิโอ 

 


ชาติภูมิ
ท่านพระมหานามเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในกบิลพัศดุ์นคร ได้ยินพราหมณ์ผู้เป็นบิดาเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ เพราะได้เคยเห็นพระองค์ในเมื่อครั้งได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ จึงได้มีความเคารพนับถือ และเชื่อในพระองค์เป็นอันมาก จึงพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๔ คน มีโกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบวชเป็นฤาษีตามเสด็จ คอยปฏิบัติพระองค์อยู่ ต่อมาพระมหาบุรุษทรงเลิกการบำเพ็ญทุกกรกิริยา หันมาบำเพ็ญเพียรในทางใจใหม่ พวกท่านพากันเข้าใจว่าจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษเสียแล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย พากันหลีกหนีพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดเป็นครั้งแรก และทรงตรัส ปกิรณกเทศนาในวันเป็นลำดับไป ท่านได้สดับเทศนาทั้งสองนั้น แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่ เมื่อได้สดับ ปกิรณกเทศนาในวาระที่สาม ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมฯ

อุปสมบท
ท่านได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ภายหลังได้ฟังเทศนา อนัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ผู้ชื่อว่า อเสขบุคคล ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านองค์หนึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลัง ประกาศพระศาสนาในนานาชนบท สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดความเชื่อและความเลื่อมใส ให้ได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัย ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพานฯ



พระภัททิยเถระ

พระภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง

เล่นออดิโอ 

พระภัททิยะ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นราชโอรสของพระนางกาฬีโคธา (พระนามเดิมชื่อว่า โคธา แต่เพราะมีผิวกายดำ คนทั่วไปจึงเรียกว่า กาฬีโคธา) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครองครองราชย์สมบัติสืบศากยวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าภัททิยราชา”มีพระสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก พระนามว่า “เจ้าชายอนุรุทธกุมาร” ซึ่งเป็นเชื้อสายศากยวงศ์เช่นกัน


บวชเพราะเพื่อนชวน

สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้นศากยกุมารจากตระกูลต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้ออกบวชติดตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เจ้าชายมหานามะ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ จึงได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะผู้เป็นอนุชาว่า:-“อนุรุทธะ ศากยกุมารจากตระกูลอื่น ๆ ออกบวชติดตามพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมากตระกูลของเรานี้ ถ้าไม่มีใครออกบวชเสียเลยก็ดูจะไม่สมควร ดังนั้นเราสองคนนี้ ใครคนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชติดตามพระบรมศาสดาบ้าง”

เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น ได้รับการบำรุงเลี้ยงดูมาอย่างดีไม่เคยได้รับความเหนื่อยยากลำบากเลย เป็นบุตรสุขุมาลชาติละเอียดอื่น จึงทูลแก่เจ้าพี่มหานามะว่า:-“เจ้าพี่มหานามะ ขอให้เจ้าพี่ออกบวชเองเถิด น้องเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถจะบวชได้”

เจ้าชายมหานามะก็ตกลงที่จะบวชเอง ดังนั้นจึงสอนหน้าที่ของคนที่จะอยู่ครองเรือนให้เจ้าชายอนุรุทธะทราบ โดยยกเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เพราะเป็นงานหลักของผู้อยู่ครองเรือน โดยเริ่มตั้งแต่การไถนา การหว่านข้าวเป็นลำดับไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การนวดข้าวแล้วจึงนำเข้าไปเก็บในยุ้งฉาง และต้องทำอย่างนี้ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล

เจ้าชายอนุรุทธะ ได้สดับแล้วเกิดความท้อแท้ขึ้นมา เห็นว่าการบวชน่าจะเป็นงานที่เบากว่าและเป็นงานที่มีจุดสิ้นสุด จึงเปลี่ยนใจทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “จะขอบวชเอง ให้เจ้าพี่อยู่ครองเรือนต่อไปเถิด”

เมื่อตกลงกับเจ้าพี่มหานามะแล้ว จึงเข้าไปทูลลาพระมารดา เพื่อออกบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาต ได้พยายามอ้อนวอนอยู่หลายวัน พระมารดาก็ยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม จึงกราบทูลว่าถ้าไม่อนุญาตก็จะขออดข้าวอดน้ำจนกว่าจะตายแล้วก็เริ่มอดอาหารและน้ำดื่ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

พระมารดา เห็นว่าลูกชายทำตามที่พูดจริง ด้วยเกรงว่าลูกชายจะได้รับอันตรายถึงชีวิตจึงคิดว่า “ถ้าให้ลูกชายบวชก็ยังจะได้เห็นหน้าลูกชายต่อไป บางทีลูกชายบวชแล้ว ได้รับความลำบากก็อาจจะสึกออกมาเอง แต่ถ้าไม่ให้บวชลูกชายอาจจะตายจริง ๆ ก็ได้” จึงบอกแก่ลูกชายว่า “อนุญาตให้บวชได้ แต่มีข้อแม้ว่า พระเจ้าภัททิยะจะต้องเสด็จออกบวชด้วย จึงจะอนุญาตให้บวช” เหตุที่พระนางมีข้อแม้อย่างนี้ก็ด้วยคิดว่า “พระเจ้าภัททิยะนั้นทรงเป็นพระราชาปกครองบ้านเมือง ถึงอย่างไรก็คงไม่ออกบวชแน่” เจ้าชายอนุรุทธะ ดีพระทัย จึงรีบไปชวนพระเจ้าภัททิยะทันที พระเจ้าภัททิยะ ไม่คิดว่าพระสหายจะมาชักชวนด้วยเรื่องอย่างนี้ พระองค์เองก็มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากมาย จะออกบวชได้อย่างไร จึงตรัสปฏิเสธไปว่า:-“สหาย เราไม่สามารถจะออกบวชได้ แต่ถ้ามีกิจอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ได้ก็จะทำให้ทุกอย่าง ส่วนเรื่องการบวชนั้น ขอสหายจงบวชเองเถิด”

เจ้าชายอนุรุทธะ จึงอ้างพระดำรัสของพระมารดาซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้มากล่าวให้สหายฟังว่า:-“ถ้าสหายออกบวชด้วย เราจึงจะได้บวช ดังนั้นการบวชของเราจึงเกี่ยวเนื่องด้วยสหายเป็นสำคัญ”

พระเจ้าภัททิยะ ทนต่อการอ้อนวอนรบเร้าของสหายรักไม่ได้ จึงยอมตกลงออกบวชด้วย เพียงพอเวลาจัดมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ผู้รับช่างสืบต่อไปให้เรียบร้อยก่อนสัก ๒-๓ วัน ในการเสด็จออกบวชของ เจ้าชายภัททิยะ กับ เจ้าชายอนุรุทธะ นั้น ได้มีศากยกุมารอื่น ๆ ออกบวชด้วยอีก ๓ พระองค์ คือ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ จึงรวมเป็นฝ่ายศากยะ ๕ พระองค์ และมีฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต และมีนายภูษามาลาชื่อ อุบาลี ได้ร่วมออกบวชด้วยกัน เป็นอันว่าการออกบวชในครั้งนี้มีทั้งหมด ๗ ท่าน ด้วยกันได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ กราบทูลขออุปสมบทพระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เปล่งอุทานว่าสุขหนอ ๆ
พระภัททิยะเถระ เมื่ออุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดาอุตสาห์บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้น ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ได้แก่ ในป่า ใต้ร่มไม้ หรือในอาราม เมื่อยามว่าง ยามสงบ ท่านก็มักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ” อยู่เสมอ จนภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจว่า ท่านไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์รำถึงนึกถึงแต่ราชสมบัติอยู่ จึงนำความเข้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์รับสั่งให้เรียกท่านมา ตรัสถาว่า:- ภัททิยะ ทราบว่าเธอเปล่งอุทานว่าอย่างนั้นจริงหรือ ?
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นความจริง พระเจ้าข้า”
เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็นฆราวาส ครอบครองราชย์สมบัติอยู่ต้องดูแลป้องกันรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ทั่วราชอาณาเขต แม้แต่ตัวข้าพระองค์เองจะมีคนคอยดูแลป้องกันรักษาอยู่รอบข้างกายเป็นนิตย์ ก็อดที่จะสะดุ้งจิตหวาดกลัว มิได้ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า หรือใต้ร่มไม้ หรือที่อื่น ๆ เพียงลำพัง ก็ไม่ต้องสะดุ้งกลัว ขนก็ไม่ลุกชูชัน อาศัยอาหารผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่ต้องวิตกกังวลรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองและประชากร ข้าพระองค์เห็นประโยชน์สุขอย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสยกย่องชมเชยในการกระทำของท่าน และโดยที่ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าเป็นตระกูลสูงสุด (พระมารดาของท่านเป็นผู้มีอายุสูงกว่าศากิยานีทั้งหลาย) พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้เกิดในตระกูลสูง

ท่านพระภัททิยเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



🔊 พระวัปปเถระ

วัปปเถรคาถา สุภาษิตว่าด้วยการเห็นและไม่เห็นอันธพาล
"บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ ย่อมเห็นคนอันธพาลผู้เห็นอยู่ด้วย ย่อมเห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย ส่วนคนอันธพาลผู้ไม่สมบูรณ์ด้วยทัสสนะย่อมไม่เห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นและคนอันธพาลผู้เห็น"

เล่นออดิโอ 🔈

พระวัปปเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เมื่อคราวที่มหาบุรุษประสูติใหม่ พราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่านได้รับเชิญในการเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ ท่านได้เห็นพระลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณพยากรณ์ศาสตร์ของมหาบุรุษ จึงเกิดความเลื่อมใสและเคารพในพระองค์เป็นอันมาก มีความหวังว่าอยากจะเห็นพระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ในคราวที่ตนจะสิ้นชีวิตจึงได้สั่งสอนบุตรของตนไว้ว่า เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ติดตามเสด็จเมื่อนั้น ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษออกทรงผนวชแล้วและกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยา พระวัปปะพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ออกบวชเป็นฤาษีตามเสด็จพระมหาบุรุษ คอยอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำ คาดหวังว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้วจักได้สั่งสอนให้ตนได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง เมื่อเห็นพระองค์ทรงละการบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ทรงประพฤติมานานถึง ๖ ปี จึงมีความเห็นร่วมกันว่า พระองค์คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในกามคุณเสียแล้วและพระองค์คงไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายความเลื่อมใส พากันหลีกหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

     เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปโปรดแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" เป็นปฐมเทศนา เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น ท่านไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไรเลย พอถึงวันรุ่งขึ้น ท่านได้ฟังปกิณณกเทศนา จึงได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

     พระวัปปเถระ บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อท่านมีอินทรีย์ แก่กล้าแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ อานัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์

ท่านได้ช่วยเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนา เมื่อท่านดำรงอายุสังขารพอสมควร ก็ ดับขันธปรินิพพาน





🔊 พระอัญญาโกณฑัญญะ


เล่นออดิโอ🔈
พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๑

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๒

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๓

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๔


พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู

🙏พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านโทณวัตถุ อันไม่ห่างไกล จากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และวิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ

🔅ร่วมทำนายพระลักษณะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดา ได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชนิเวศน์ เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะตามราชประเพณี ให้คัดเลือกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจาก ๑๐๘ คน เหลือ ๘ คน และมีโกณฑัญญะ อยู่ในจำนวน ๘ คน นี้ด้วย ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้น โกณฑัญญะมีอายุน้อยที่สุดจึงทำนายเป็นคนสุดท้าย ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของสิทธัตถะอย่างละเอียด เห็นถูกต้องตามตำรามหาบุรุษลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ครบทุกประการแล้ว จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ในการทำนายเป็น ๒ นัย เหมือนกันทั้งหมดว่า “พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปราบปราม ได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า” ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้สั่งสมบารมีมาครบถ้วนตั้งแต่อดีตชาติ และการเกิดในภพนี้ก็จะเป็นภพสุดท้าย จึงมีปัญญามากกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระกุมารโดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียวเป็นการยืนยันการพยากรณ์ อย่างเด็ดเดี่ยวเป็นนัยเดียวเท่านั้นว่า “พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย”

🔅 ออกบวชติดตามสิทธัตถะ
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชาโกณฑัญญะพราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗ คนที่ร่วมทำนายด้วยกันนั้น โดยกล่าวว่า:- “บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญเจ้าแน่นอน ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะออกบวชด้วยกันกับเรา ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวชก็จงบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด” บุตรพราหมณ์เหล่านั้นยอมออกบวชเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ โกณฑัญญะ จึงพามาณพทั้ง ๔ คนนั้นพร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่า “ปัญจวัคคีย์” ออกบวชสืบเสาะติดตามถามหาพระมหาบุรุษไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระองค์กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพากันเข้าไปอยู่เฝ้าทำกิจวัตรอุปัฏฐาก ด้วยการจัดน้ำใช้ น้ำฉัน และ ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนให้รู้ตามบ้าง เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงทรงพระดำริว่า “วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้” จึงทรงเลิกละความเพียรด้วยวิธีทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง

🔅 ปัญจวัคคีย์ปลีกตัวหลีกหนี ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ผู้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติแบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันเหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์ให้ประทับอยู่ ตามลำพังพระองค์เดียว พากันเที่ยวสัญจรไปพักอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนาและตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ วันแล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ๕ พักอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายปัญจวัคคีย์นั่งสนทนากันอยู่ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลเข้าใจว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงทำกติกากันว่า:- “พระสมณโคดม นี้ คลายความเพียรแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก พวกเราไม่ควรไหว้ ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์เลย เพียงแต่จัดอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ปรารถนาจะประทับนั่ง ก็จงนั่งตามพระอัธยาศัยเถิด” ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้ กลับทำการต้อนรับ เป็นอย่างดีดังที่เคยทำมา แต่ยังใช้คำทักทายว่า “อาวุโส” และเรียกพระนามว่า “โคดม” อันเป็นถ้อยคำที่แสดงความไม่เคารพ ดังนั้น

พระพุทธองค์ทรงห้ามแล้วตรัสว่า:- “อย่าเลย พวกเธออย่างกล่าวอย่างนั้น บัดนี้ ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมเองโดยชอบแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อเธอปฏิบัติตามที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็จะบรรลุ อมตธรรมนั้น”

“อาวุโสโคดม แม้พระองค์บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์เห็นปานนั้น ก็ยังไม่บรรลุธรรมพิเศษอัน ใด บัดนี้พระองค์คลายความเพียรนั้นแล้วหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมาก แล้วจะบรรลุ อมตธรรมได้อย่างไร?”

พระพุทธองค์ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ ให้ระลึกถึงความหลังว่า “ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า วาจาเช่นนี้เราเคยพูดกับท่านบ้างหรือไม่”

ปัญจวัคคีย์ ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยินยอมพร้อมใจกันฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ


🔅 ฟังปฐมเทศนา
พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัสพระธัมมจักกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
    ๑ กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของคนกิเลสหนา มิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้
    ๒ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น จากนั้นพระพุทธองค์ตรัสชี้แนะวิธีปฏิบัติ แบบ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไป แบบประเภทที่สอง ดำเนินตามทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค คือทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ได้แก่
    ๑ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ ๔)
    ๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ดำริออกจากกาม เบียดเบียนและพยาบาท)
    ๓ สัมมาวาจา เจรจาชอบ (เว้นจากวจีทุจริต ๔)
    ๔ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ (เว้นจากกายทุจริต ๓)
    ๕ สัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพชอบ (เว้นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)
    ๖ สัมมาวายะมะ เพียรชอบ (เพียรละความชั่วทำความดี)
    ๗ สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน ๔)
    ๘ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ (เจริญฌานทั้ง ๔)
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า:- “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “อัญญา” จงเป็นคำนำหน้า ชื่อของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ

🔅 พระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา
ต่อจากนั้น ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ด้วย พระดำรัสว่า:- “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑัญญะ ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก และการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” วันต่อ ๆ มา ท่านที่เหลืออีก ๔ คน ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้นมีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย

🔅 ได้รับยกย่องทางรัตตัญญู
พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระสาวกรุ่นแรก จำนวน ๖๐ รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิมของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่าน มาบวช และได้มีชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทางผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน

🔅 บั้นปลายชีวิต
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้น อยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรงกันว่า เป็นเวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก ๓ ประการคือ
    ๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย และใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ
    ๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน
    ๓ ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล ท่านได้อยู่จำพรรษาในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์เป็นเวลานาน ๑๒ ปี วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้วได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมากได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน