วันจันทร์

พระภัททิยเถระ

พระภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง

เล่นออดิโอ 

พระภัททิยะ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นราชโอรสของพระนางกาฬีโคธา (พระนามเดิมชื่อว่า โคธา แต่เพราะมีผิวกายดำ คนทั่วไปจึงเรียกว่า กาฬีโคธา) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครองครองราชย์สมบัติสืบศากยวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าภัททิยราชา”มีพระสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก พระนามว่า “เจ้าชายอนุรุทธกุมาร” ซึ่งเป็นเชื้อสายศากยวงศ์เช่นกัน


บวชเพราะเพื่อนชวน

สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้นศากยกุมารจากตระกูลต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้ออกบวชติดตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เจ้าชายมหานามะ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ จึงได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะผู้เป็นอนุชาว่า:-“อนุรุทธะ ศากยกุมารจากตระกูลอื่น ๆ ออกบวชติดตามพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมากตระกูลของเรานี้ ถ้าไม่มีใครออกบวชเสียเลยก็ดูจะไม่สมควร ดังนั้นเราสองคนนี้ ใครคนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชติดตามพระบรมศาสดาบ้าง”

เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น ได้รับการบำรุงเลี้ยงดูมาอย่างดีไม่เคยได้รับความเหนื่อยยากลำบากเลย เป็นบุตรสุขุมาลชาติละเอียดอื่น จึงทูลแก่เจ้าพี่มหานามะว่า:-“เจ้าพี่มหานามะ ขอให้เจ้าพี่ออกบวชเองเถิด น้องเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถจะบวชได้”

เจ้าชายมหานามะก็ตกลงที่จะบวชเอง ดังนั้นจึงสอนหน้าที่ของคนที่จะอยู่ครองเรือนให้เจ้าชายอนุรุทธะทราบ โดยยกเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เพราะเป็นงานหลักของผู้อยู่ครองเรือน โดยเริ่มตั้งแต่การไถนา การหว่านข้าวเป็นลำดับไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การนวดข้าวแล้วจึงนำเข้าไปเก็บในยุ้งฉาง และต้องทำอย่างนี้ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล

เจ้าชายอนุรุทธะ ได้สดับแล้วเกิดความท้อแท้ขึ้นมา เห็นว่าการบวชน่าจะเป็นงานที่เบากว่าและเป็นงานที่มีจุดสิ้นสุด จึงเปลี่ยนใจทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “จะขอบวชเอง ให้เจ้าพี่อยู่ครองเรือนต่อไปเถิด”

เมื่อตกลงกับเจ้าพี่มหานามะแล้ว จึงเข้าไปทูลลาพระมารดา เพื่อออกบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาต ได้พยายามอ้อนวอนอยู่หลายวัน พระมารดาก็ยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม จึงกราบทูลว่าถ้าไม่อนุญาตก็จะขออดข้าวอดน้ำจนกว่าจะตายแล้วก็เริ่มอดอาหารและน้ำดื่ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

พระมารดา เห็นว่าลูกชายทำตามที่พูดจริง ด้วยเกรงว่าลูกชายจะได้รับอันตรายถึงชีวิตจึงคิดว่า “ถ้าให้ลูกชายบวชก็ยังจะได้เห็นหน้าลูกชายต่อไป บางทีลูกชายบวชแล้ว ได้รับความลำบากก็อาจจะสึกออกมาเอง แต่ถ้าไม่ให้บวชลูกชายอาจจะตายจริง ๆ ก็ได้” จึงบอกแก่ลูกชายว่า “อนุญาตให้บวชได้ แต่มีข้อแม้ว่า พระเจ้าภัททิยะจะต้องเสด็จออกบวชด้วย จึงจะอนุญาตให้บวช” เหตุที่พระนางมีข้อแม้อย่างนี้ก็ด้วยคิดว่า “พระเจ้าภัททิยะนั้นทรงเป็นพระราชาปกครองบ้านเมือง ถึงอย่างไรก็คงไม่ออกบวชแน่” เจ้าชายอนุรุทธะ ดีพระทัย จึงรีบไปชวนพระเจ้าภัททิยะทันที พระเจ้าภัททิยะ ไม่คิดว่าพระสหายจะมาชักชวนด้วยเรื่องอย่างนี้ พระองค์เองก็มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากมาย จะออกบวชได้อย่างไร จึงตรัสปฏิเสธไปว่า:-“สหาย เราไม่สามารถจะออกบวชได้ แต่ถ้ามีกิจอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ได้ก็จะทำให้ทุกอย่าง ส่วนเรื่องการบวชนั้น ขอสหายจงบวชเองเถิด”

เจ้าชายอนุรุทธะ จึงอ้างพระดำรัสของพระมารดาซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้มากล่าวให้สหายฟังว่า:-“ถ้าสหายออกบวชด้วย เราจึงจะได้บวช ดังนั้นการบวชของเราจึงเกี่ยวเนื่องด้วยสหายเป็นสำคัญ”

พระเจ้าภัททิยะ ทนต่อการอ้อนวอนรบเร้าของสหายรักไม่ได้ จึงยอมตกลงออกบวชด้วย เพียงพอเวลาจัดมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ผู้รับช่างสืบต่อไปให้เรียบร้อยก่อนสัก ๒-๓ วัน ในการเสด็จออกบวชของ เจ้าชายภัททิยะ กับ เจ้าชายอนุรุทธะ นั้น ได้มีศากยกุมารอื่น ๆ ออกบวชด้วยอีก ๓ พระองค์ คือ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ จึงรวมเป็นฝ่ายศากยะ ๕ พระองค์ และมีฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต และมีนายภูษามาลาชื่อ อุบาลี ได้ร่วมออกบวชด้วยกัน เป็นอันว่าการออกบวชในครั้งนี้มีทั้งหมด ๗ ท่าน ด้วยกันได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ กราบทูลขออุปสมบทพระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เปล่งอุทานว่าสุขหนอ ๆ
พระภัททิยะเถระ เมื่ออุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดาอุตสาห์บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้น ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ได้แก่ ในป่า ใต้ร่มไม้ หรือในอาราม เมื่อยามว่าง ยามสงบ ท่านก็มักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ” อยู่เสมอ จนภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจว่า ท่านไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์รำถึงนึกถึงแต่ราชสมบัติอยู่ จึงนำความเข้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์รับสั่งให้เรียกท่านมา ตรัสถาว่า:- ภัททิยะ ทราบว่าเธอเปล่งอุทานว่าอย่างนั้นจริงหรือ ?
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นความจริง พระเจ้าข้า”
เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็นฆราวาส ครอบครองราชย์สมบัติอยู่ต้องดูแลป้องกันรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ทั่วราชอาณาเขต แม้แต่ตัวข้าพระองค์เองจะมีคนคอยดูแลป้องกันรักษาอยู่รอบข้างกายเป็นนิตย์ ก็อดที่จะสะดุ้งจิตหวาดกลัว มิได้ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า หรือใต้ร่มไม้ หรือที่อื่น ๆ เพียงลำพัง ก็ไม่ต้องสะดุ้งกลัว ขนก็ไม่ลุกชูชัน อาศัยอาหารผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่ต้องวิตกกังวลรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองและประชากร ข้าพระองค์เห็นประโยชน์สุขอย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสยกย่องชมเชยในการกระทำของท่าน และโดยที่ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าเป็นตระกูลสูงสุด (พระมารดาของท่านเป็นผู้มีอายุสูงกว่าศากิยานีทั้งหลาย) พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้เกิดในตระกูลสูง

ท่านพระภัททิยเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น