วันจันทร์

๕. ญาณ ๑๖ (หน้า ๒)

( 🙏 กลับไปอ่าน ญาณ ๑๖ หน้าแรก )

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายความว่า ญาณที่มีความปรารถนาใคร่จะพ้นจากรูปนาม โดยที่พิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว มีทุกข์ มีโทษ เป็นเหยื่อลวงให้หลงติดอยู่ในวัฏฏสงสาร เป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนและมีความแปรปรวนอยู่เป็นนิตย์ จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขตธรรม อยากพ้นจากสังสารวัฏ ใจก็น้อมไปสู่พระนิพพาน

จิตของผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อดำเนินมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว ก็อยากจะหลุดอยากจะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่าความเกิดในภพนี้ความเป็นไปของขันธ์ที่เกิดแล้ว ความไม่เที่ยงของรูปนาม การสั่งสมกรรมที่จะให้เกิดอีกการเกิดมาอีกทำให้คติต่างๆที่จะไปเกิด เช่นทุคติ สุคติ ความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลายความเป็นไปแห่งผลกรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส เป็นภัยเป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในภพ เป็นสังขารปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งนั้น จึงเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ไม่ชอบ ไม่ติด จิตอยากออกอยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เพราะเห็นประจักษ์ชัดแล้วว่า ถ้าไม่มีรูปนามเสียได้ จะเกษมปลอดภัย เป็นสุข ไม่มีเหยื่อล่อให้ลุ่มหลง เป็นนิพพาน จิตมีกำลังกล้ามุ่งหน้าแต่จะออกจะหนี จะหลุด จะพ้นไปจากสังขารธรรมและสังสารวัฏฏ์

ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจอุปมาได้ ๘ อย่าง คือ
๑. ปลาติดข่าย ติดแห ติดอวน ย่อมดิ้นรนกระวนกระวายอยากหลุดออกไปจากข่าย จากแห จากอวนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๒. กบถูกงูคาบไว้กำลังอยู่ในปากงู อยากออกอยากกระโดดหนี ทั้งดิ้น ทั้งร้อง จนสุดความสามารถฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๓. ไก่ป่าเป็นสัตว์อยู่ป่าเป็นประจำ เมื่อคนดักบ่วงจับได้นำมาขังไว้ในกรง ย่อมดิ้น กระวนกระวายไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน อยากออก อยากบินหนีไปอยู่ป่าอันแสนกว้างแสนสบายตามที่ตนเคยอยู่อย่างอิสระฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๔. เนื้อที่ติดบ่วงอยู่ ย่อมพยายามดิ้นจนสุดความสามารถเพราะอยากออก อยากหลุด อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๕. งูอยู่ในมือของหมองู ย่อมอยากออกไปให้พ้นมือ อยากจะแล่นหนีไปอยู่ในป่าดงพงทึบ ตามความพอใจของตนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๖. ช้างติดหล่มลึก อยากจะถอนตนให้ขึ้นจากหล่ม พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากหล่มฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๗.พญานาคอยู่ในปากครุฑ ย่อมอยากออก อยากหลุดหนีไปให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๘. ผู้ที่ถูกข้าศึกล้อม อยากจะออกหนีไปให้พ้นต้องพยายามหาหนทางที่จะออก ที่จะหนีให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น

ผู้ปฏิบัติเมื่อเป็นดังเช่นข้ออุปมา ๘ ข้อข้างต้นแล้ว ย่อมไม่ชอบ ไม่ติดอยู่ในรูปนาม ซึ่งมีแต่ความแตกสลาย มีแต่ความสิ้นความเสื่อมอยู่เป็นนิตย์ บรรดาผู้ที่อยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ จิตของผู้ปฏิบัติมีแต่อยากจะออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขารทั้งปวง ปราศจากความอาลัยในสังขารทุกอย่าง สังขารทั้งหลาย จะปรากฏว่ามีแต่ภัย มีแต่โทษมากมายเป็นที่น่าเบื่อหน่าย จึงอยากจะหนี อยากจะพ้นไปเสียโดยเร็ว แล้วก็พยายามปฏิบัติต่อไป ไม่ท้อถอย

ลักษณะของญาณนี้ตามที่ปรากฏในปฏิสัมภิทามรรค
ผู้ปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงญาณนี้แล้ว ย่อมมีสภาวะดังนี้ คือ
๑. มีจิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นความเกิดเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นภัย ความเกิดเป็นอามิสให้ติดอยู่ ความเกิด เป็นผู้ปรุงแต่ง
๒. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของรูปนาม เพราะเห็นความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนาม เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๓. จิตอยากหลุดพ้นจากสังขารนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนาม เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นต้น เพราะเห็นว่าสังขารนิมิตเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติด อยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๔. จิตอยากหลุดพ้นจากการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดในภพใหม่อีก เพราะเห็นว่าการสั่งสมกรรมเป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๕. จิตอยากหลุดพ้นจากการปฏิสนธิอีกเพราะเห็นว่า การถือปฏิสนธิอีกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๖. จิตอยากหลุดพ้นจากคติเพราะเห็นว่า คติต่างๆ เช่น สุคติ ทุคติ เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๗. จิตอยากหลุดพ้นจากความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เพราะเห็นว่าความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๘. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของผลกรรมเพราะเห็นว่าผลกรรมต่างๆ เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๙. จิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๑๐. จิตอยากหลุดพ้นจากความแก่ เพราะเห็นว่าความแก่เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๑. จิตอยากหลุดพ้นจากพยาธิ เพราะเห็นว่าเป็นพยาธิเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๒. จิตอยากหลุดพ้นจากมรณะ เพราะเห็นว่ามรณะเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้ หลงติดอยู่
๑๓. จิตอยากหลุดพ้นจากความเศร้าโศก เสื่อมญาติ เสื่อมโภคะ เสื่อมเพราะโรคเบียดเบียน เพราะเห็นว่า ความเศร้าโศกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๑๔. จิตอยากหลุดพ้นจากความคับแค้นใจ เพราะถูกความเสื่อมต่างๆ ครอบงำ เพราะเห็น ว่าความคับแค้นใจเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่

จบมุญจิตุกัมยตาญาณ


๑๐. ปฏิสังขาญาณ

ปฏิสังขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยขะมักเขม้นต่อจากมุญจิตุกัมยตา -ญาณ เป็นความรอบรู้ในกองสังขารตามความเป็นจริง ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาย้อนกลับไปพิจารณาสังขารแล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์

ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของน่ากลัว เป็นเหยื่อของมาร เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ได้บรรลุซึ่งมรรค ผล นิพพาน โดยหาอุบายในการหลุดพ้น ๑๕ อย่าง คือ

๑. พิจารณาการเกิดขึ้นและการดับไปของรูปนาม แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๒. พิจารณาความเป็นไปของรูปนามที่เกิดขึ้นแล้วกำลังเป็นไปไม่ขาดสาย แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๓. พิจารณาสังขารนิมิต คือลักษณะของสังขารรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๔. พิจารณาเห็นรูปนามกำลังสั่งสมกรรม อันกรรมนั้นจะนำให้เกิดอีก จึงเบื่อหน่าย เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๕. พิจารณาเห็นรูปนาม ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ว่า เป็นทุกข์น่ากลัว เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๖. พิจารณารูปนามที่กำลังตกอยู่ในคติต่างๆ มีทุคติ สุคติ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๗. พิจารณารูปนามที่กำลังเกิดเป็นขันธ์ ๕ อยู่ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๘. พิจารณารูปนามที่กำลังเป็นไปตามวิบาก คือกรรมของตนๆ ที่ทำมาตั้งแต่ภพก่อน และในภพนี้ชาตินี้ว่าล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึง พระนิพพาน
๙. พิจารณาเห็นรูปนามที่กำลังเกิดขึ้นมาเป็น รูปชาติ นามชาติ รูปโลก นามโลก ว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ไม่มีแก่นสาร แล้วเบื่อหน่ายอยากพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๐. พิจารณารูปนามที่กำลังเสื่อมไป สิ้นไป แก่ไป คร่ำคร่าไป ว่าเป็นทุกข์เป็นโทษ น่ากลัวน่าเบื่อ แล้วเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้นแล้วปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๑. พิจารณารูปนามที่กำลังถูกพยาธิเบียดเบียน ครอบงำว่าเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษ ไม่มีสารประโยชน์ไม่มีสุข จึงเกิดความเบื่อหน่าย อยากหนียากพ้น แล้วหาทางพ้น โดยปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน
๑๒. พิจารณารูปนามที่กำลังแตกดับ คือตายอยู่ทุกขณะ ว่าเป็นทุกข์ น่ากลัว น่าเบื่อหน่ายเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุด อยากพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๓. พิจารณารูปนามที่กำลังเศร้าโศก เพราะถูกความเสื่อมครอบงำแล้วเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้ถึงพระนิพพาน
๑๔. พิจารณารูปนามที่กำลังร้องไห้อยู่ เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ (เป็นความเสื่อมที่เกิดจากเหตุ ๕ อย่าง คือ เสื่อมญาติ มีโรคภัยเบียดเบียน เสื่อมทรัพย์ เสื่อมจากศีล เสื่อมจากสัมมาทิฏฐิ) ครอบงำว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น แสวงหาทางพ้นโดยตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๕. พิจารณารูปนามที่กำลังมีความคับแค้นใจ เพราะความเสื่อม ๕ ประการครอบงำ เห็นว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์โทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อ ให้ได้บรรลุมรรค ผลนิพพาน

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นรูปนามโดยแจ้งชัดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิปัสสนาญาณอันเจริญขึ้นแล้ว เพราะกำหนดสังขารพิจารณาได้ดี เพื่อจะยังอุบายแห่งการหลุดพ้น ให้เกิดขึ้น ความอยากหนีอยากพ้น ก็มีอุปมาดังนี้

เปรียบเหมือนกับชายคนหนึ่งต้องการจะจับปลา เมื่อเอาสุ่มๆ ลงไปในน้ำแล้วเอามือล้วงลงไปในสุ่มเพื่อจับปลา แต่เขาจับได้งูเห่าที่อยู่ในสุ่มนั้น ขณะที่มือยังไม่พ้นจากน้ำเขาเข้าใจว่าเป็นปลาตัวใหญ่ เขาดีใจมากแต่เมื่อยกมือขึ้นพ้นน้ำก็เห็นว่าเป็นงูไม่ใช่ปลาอย่างที่คิดก็หวาดกลัวว่างูนั้นจะกัดทำร้ายตนแต่จะทำอย่างไรดีเมื่องูอยู่ในมือตน จึงคิดวางแผนที่จะปล่อยงูให้พ้นไปโดยเร็ว โดยการจับงูชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วเหวี่ยงไปรอบๆ ทำให้งูอิดโรยและอ่อนกำลังลงแล้วจึงเหวี่ยงทิ้งไปอย่างแรง อุปมานี้เปรียบเหมือนบุคคลย่อมยินดีพอใจเมื่อได้เกิดมา เพลิดเพลินสนุกสนาน เปรียบเหมือนชายคนนั้นจับงูได้นึกว่าเป็นปลาใหญ่แล้วดีใจมาก ฉะนั้น บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติย่อมไม่รู้จักความจริง เมื่อไม่รู้จักความจริงจึงหลงติดอยู่ เพลิดเพลินยินดีอยู่กับโลก

เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏเป็นของน่ากลัว จัดเป็นญาณตั้งแต่ต้นจนถึงภยญาณ เปรียบเหมือนบุรุษดึงงูออกจากสุ่มเมื่อเห็นว่าเป็นงูแล้วกลัว เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณาเห็นรูปนามว่า เป็นทุกข์ เป็นโทษเป็นภัย แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เป็นนิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัย อันจะเกิดขึ้นแก่ตนอย่างใหญ่หลวงเพราะการจับคองูนั้น

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อยากหลุดพ้นจากรูปนาม อยากหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษที่จับคองูนั้นอยากจะเหวี่ยงงูให้พ้นไปจากตัว เมื่อผู้ปฏิบัติยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์นี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณอย่างแก่ และเข้าเขตปฏิสังขาญาณอย่างอ่อน เปรียบเหมือนกับบุรุษแสวงหาวิธีจะเหวี่ยงงู แล้วทำการเหวี่ยงงูไปให้พ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณารูปนามยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์บ่อยๆวนไปเวียนมาอยู่กับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้กิเลสหมดกำลังลงจนไม่สามารถจะเห็นว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นตัวตน เรา เขา จะเห็นตรงกันข้ามคือเห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ อย่างนี้เป็น ปฏิสังขาญาณ เปรียบเหมือนบุรุษจับงูแกว่งอย่างแรงเพื่อทำให้หมดกำลังจนงูไม่สามารถจะมากัดเขาได้ แล้วเหวี่ยงไปไกลๆ ให้พ้นตัว ฉะนั้น

จบปฏิสังขาญาณ

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
สังขารุเปกขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยอาการวางเฉยใน สังขาร-นิมิตอารมณ์ สังขาร คือ สภาวธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงมาได้แก่ รูปกับนาม ขันธ์ที่ ๑ เป็นรูป ขันธ์ที่ ๒-๓-๔-๕ เป็นนาม การวางเฉยนั้นคือ เป็นกลางๆ ในสังขารุเปกขาญาณนั้นปัญญาพิจารณากำหนดรู้รูปนามเป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ววางเฉยมีสติกำหนดได้ดี โดย

สรุปดังนี้
๑. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นทุกข์ เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดขึ้นมาแล้วว่าเป็นทุกข์ เห็นนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่า ไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นทุกข์ เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นปฏิสนธิว่าเป็นทุกข์ เห็นความบังเกิดของขันธ์ ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการเกิดเป็นไปของผลกรรมว่าเป็นทุกข์ เห็นโสกะว่าเป็นทุกข์ เห็นปริเทวะว่าเป็นทุกข์ เห็นอุปายาสะว่าเป็นทุกข์ เพื่อพิจารณาเห็นทุกข์อย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีกแล้ววางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๒. ปัญญาพิจารณาเ ห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นภัย เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดมาแล้วว่าเห็นภัย เห็นนิมิตคือเครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ว่าเป็นภัย เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นภัย เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นภัย เห็นปฏิสนธิว่าเป็นภัย เห็นความบังเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ว่าเป็นภัย เห็นการเกิดซึ่งเป็นผลของกรรมว่าเป็นภัย เห็นชาติว่าเป็นภัย เห็นชราว่าเป็นภัย เห็นพยาธิว่าเป็นภัย เห็นมรณะว่าเป็นภัย เห็นปริเทวะว่าเป็นภัย เห็นอุปายาสะว่าเป็นภัย เมื่อพิจารณาเห็นภัยอย่างนี้แล้ว เกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้วจึงวางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๓. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเป็นไปของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้ได้เกิดอีกว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความบังเกิดขึ้นของ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเกิดเป็นไปของวิบากว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เมื่อพิจารณาเห็นสังขารโดยอาการอย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๔. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ (ความคับแค้นใจ) เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ คือความเสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เป็นต้น ถูกครอบงำเป็นไปด้วยเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในวัฏฏะ จึงเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการ ถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๕. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ ว่าเป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ แล้ววางเฉยสังขารเหล่านั้นปัญญาเช่นนี้ จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๖. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าสังขารและอุเปกขาทั้ง ๒ ก็เป็นสังขารแล้ววางเฉยสังขารทั้ง ๒ เหล่านั้น จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๗. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ จะมีอาการ ดังนี้

๘. จิตของปุถุชนกับจิตของพระเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณจะมีลักษณะเหมือนกัน ๔ ประการ คือ
     ๑) เศร้าหมองเพราะยินดีต่อสังขารุเปกขาญาณ
     ๒) เป็นอันตรายต่อภาวนา
     ๓) เป็นอันตรายต่อปฏิเวธ คือ เป็นสิ่งที่จะมาตัดรอนต่อการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔
     ๔) เป็นปัจจัยต่อการปฏิสนธิในภพชาติต่อไปอีก
๙. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล วีตราคบุคคล (หมายถึงพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระอเสขบุคคล) เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว มีสภาวะเหมือนกันตรงเห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน ก็เห็นแจ้งสังขารุเปกขาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
๑๐. จิตของปุถุชน เสขบุคคล วีตราคบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ต่างกันตรงที่เป็นกุศลและอัพยากฤต คือ สังขารุเปกขาของปุถุชนกับของพระเสขบุคคลเป็นกุศล แต่ของพระอรหันต์เป็นอัพยากฤต
๑๑. สังขารุเปกขาของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล มีความต่างกัน คือ

    🔅 ปุถุชน
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี แต่รู้ได้ดีเฉพาะในเวลาเจริญวิปัสสนา
            ๒.) เจริญวิปัสสนาพิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพราะยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากยังทำวิปัสสนากรรมฐานไม่สำเร็จ
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อละสังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค
    🔅 พระเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี คือรู้ได้ดีถึงแม้ไม่ได้เจริญวิปัสสนา
            ๒.) พระเสขบุคคลต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาสังขารุเปกขาต่อไปอีกเพราะยังไม่ถึงที่สุด คือยังทำวิปัสสนาไม่สมบูรณ์
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อให้ได้มรรคผลเบื้องสูงขึ้นจนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล
    🔅 พระอเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาปรากฏชัดดี คือ รู้ได้ดีตลอดไปเพราะท่านละความยินดียินร้ายได้หมดแล้ว
            ๒.) พระอเสขบุคคลท่านทำวิปัสสนาส าเร็จแล้วละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำไม่มีอีก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่ออยู่เป็นสุขในภพปัจจุบันทันตาเห็น เพราะท่านละกิเลสได้หมดทุกอย่างแล้ว

๑๒. สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะและวิปัสสนา ดังนี้
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดด้วยอำนาจสมถะ มี ๘ คือ
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ ๕ เพื่อให้ได้ปฐมฌาน
    ๒.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิตก วิจารเพื่อให้ได้ทุติยฌาน
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยปีติเพื่อให้ได้ตติยฌาน
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยสุขเพื่อให้ได้จตุตถฌาน
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา เพื่อให้ได้อากาสานัญจายตนฌาน
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้วิญญาณัญจายตนฌาน
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิญญาณัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้อากิญจัญญายตนฌาน
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย อากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากวิปัสสนา มี ๑๐ คือ 
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค แล้ววางเฉย
    ๒.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนามจนถึง อุปายาสะเพื่อให้ได้โสดาปัตติผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตมรรค แล้ววางเฉย
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๙.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนาม เพื่อให้ได้สุญญตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๑๐.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ ได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย

ผลของสังขารุเปกขาญาณ
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของสูญอยู่อย่างนี้แล้วยกขึ้นสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ผลก็จะปรากฏดังนี้
๑.) ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉยในรูปนาม
๒.) ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ในรูปนามว่าเป็นของเรา
๓.) จิตไม่หวนกลับไปยินดีใน ภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ คงเหลืออยู่แต่ความวางเฉยในรูปนาม หรือเห็นรูปนามเป็นปฏิกูลสะอิดสะเอียนขยะแขยงถึงถอยกลับ หวนกลับจากภพชาติเป็นต้น อุปมาเหมือนหยาดน้ำค้างบนใบบัวที่เมื่อใบบัวเอียงลงน้ำค้าง ก็มีแต่จะไหลลงไปอย่างเดียวไม่หวนกลับ ไม่ย้อนกลับมาติดอยู่บนใบบัวอีกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ก็ไม่หวนกลับไม่เวียนกลับมาในภพ ๓ เป็นต้นอีก
๔.) ผู้ปฏิบัติเมื่อสติมีกำลังแก้กล้าปรากฏแล้ว ความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มี อุปมาเหมือนกับไฟฟัากำลังมากย่อมให้แสงสว่างมากดูอะไรๆ ก็เห็นได้ชัดเจนไม่มีความมืดฉันนั้น ดังนั้น ใจจึงมีแต่ความวางเฉย
๕.) ใจไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ผูกพัน ไม่เกาะเกี่ยว ไม่กำหนัดพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น จึงปรากฏแต่ความวางเฉย
๖.) ไม่รับบัญญัติไว้เป็นอารมณ์ คือ ไม่รับว่าขันธ์ ๕ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เพราะ มีสติปัญญาพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่า ขันธ์ ๕ เป็นอสุภะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้สัญญาวิปัลลาสหายไป ไม่เข้าใจผิดและไม่หลงติดอยู่ ใจจึงมีแต่ความวางเฉยในรูปนาม
๗.)ไม่สั่งสมทุกข์ไว้ มีแต่พยายามตัดรากของทุกข์ให้หมดไปให้สลายไป ใจก็วางเฉยในรูปนาม
๘.) เมื่อเห็นรูปนามว่าเป็นภัย เป็นทุกข์ เป็นโทษ เบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ใจเข้มแข็งแล้ววางเฉย จิตก็จะไปสู่ความสงบ ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานก็จะยึดรูปนามมาเป็นอารมณ์ซ้ำๆ อยู่ อย่างนั้นอีก
๙.) สังขารุเปกขาญาณนี้ยิ่งนานก็ยิ่งละเอียด สุขุม ประณีต ดุจบุคคลเอาตะแกรงร่อนแป้ง ฉะนั้น เมื่อพิจารณารูปนามโดยประการต่างๆ แล้ว ละความกลัว ละความยินดี วางเฉยได้ จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจของอนุปัสสนาทั้ง ๓ เมื่อตั้งอยู่โดยอาการอย่างนี้ย่อม ถึงความเป็นวิโมกขมุข ๓ (วิโมกขมุข แปลว่าหนทางแห่งความหลุดพ้นโดยวิเศษจากกิเสสทั้งปวง ได้แก่อนุปัสสนาทั้ง ๓ เพราะเป็นหนทางนำออกไปจากโลกนำไปเหนือโลกคือโลกุตตระ ได้แก่หนทางไปสู่พระนิพพาน)

เปรียบเทียบ อนุปัสสนา ๓ วิโมกขมุก ๓ และพระอริยบุคคล ๘
อนุปัสสนา ๓
๑.) อนิจจานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่าไม่เที่ยงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เกิดที่ไหนก็ดับไปที่นั่น ใจจึงแล่นไปในธาตุที่ไม่มีนิมิต จึงทำให้รูปนามปรากฏว่ามีแต่ความเสื่อมไปสิ้นไป แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๒.) ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่า เป็นทุกข์ทนอยู่ ไม่ได้ ใจก็เกิดความ สังเวชสลด ในรูปนามแล้ว แล่นไปในธาตุซึ่งไม่มีที่ตั้ง รูปนามก็ปรากฏว่าเป็นภัย คือเป็นของน่ากลัว แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๓.) อนัตตานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณา เห็นรูปนามว่า ไม่ใช่ ตัวตนเป็นของสูญ ว่างเปล่า ใจก็แล่นไปในธาตุ ว่าง รูปนามก็จะปรากฏโดยความเป็นของสูญฝ่ายเดียว แล้วมีใจวางเฉยมี สติกำหนดรู้อยู่
วิโมกขมุก ๓
๑.) อนิมิตตวิโมกข์ เป็นการหลุดพ้นด้วยการพิจารณา เห็นรูปนามโดยความเป็น อนิจจัง และเป็นผู้มากไป ด้วยศรัทธา การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์
๒.) อัปปณิหิตวิโมกข์ เป็น การหลุดพ้นด้วยการ พิจาณาเห็นรูปนาม เป็นทุกข์ และเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสงบ การหลุด พ้นอย่างนี้เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์
๓.) สุญญตวิโมกข์ เป็นการ หลุดพ้นด้วยการพิจารณานามรูปเป็น อนัตตา และผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นผู้มากไปด้วยปัญญาอัน ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพมาก การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า สุญญตวิโมกข์ 
พระอริยบุคคล ๘ 
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ผู้ที่บรรลุเป็นพระ อริยบุคคล ๘เหล่านี้ ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับพระโสดาปัตติมรรมต้องผ่านญาณ ๑๖ ส่วนมรรคที่ ๒ ๓ ๔ ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านญาณ ต่างๆ เพียง ๑๓ ญาณ

ยอดของวิปัสสนา
ธรรมดาต้นไม้ต้องมียอดฉันใด วิปัสสนาก็มียอดฉันนั้น ยอดของวิปัสสนามี ๒ อย่าง คือ
๑. สิกขาปัตตะ วิปัสสนาที่ถึงยอดถึงปลายถึงความสูงสุด ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ ที่ครบอง ค์ ๖ คือ
    ๑.) ไม่มีความกลัว ไม่มีความยินดียินร้าย
    ๒.) ดีใจก็ไม่มี เสียใจก็ไม่มี
    ๓.) วางเฉยในสังขารทั้งปวง
    ๔.) ปล่อยวางแล้ววางเฉยได้ในที่สุดหรือสมาธิตั้งอยู่นานกำหนดอยู่ได้นานๆ
    ๕.) มีความเป็นกลางในการตรวจสอบสังขารหรือตั้งอยู่ในอนุปัสสนา ๓
    ๖.) ไม่ปรารถนาในภพต่าง
เมื่อครบองค์ ๖ แล้ว ผู้นั้นก็มีหวังจะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานอย่างแน่นอน
๒. วุฏฐานคามินี วิปัสสนาที่ออกจากนิมิตจากวัตถุที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และวิปัสสนาที่ออกไปจากมิจฉาทิฏฐิ ภายในขันธสันดานของตนและออกไปจากกองกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นเอง

จบสังขารุเปกขาญาณ

๑๒.อนุโลมญาณ
อนุโลมญาณ คือ ญาณที่อนุโลมไปตามลำดับเพื่อสำเร็จกิจแห่งวิปัสสนาญาณ ๘ โดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ หรืออนุโลมไปตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องสูง ผลของอนุโลมญาณนั้นย่อมสามารถกำจัดความมืดคือกิเลสที่ปกปิดอริยสัจ ๔ อนุโลมไปตามลำดับมี ๒ ประการ คือ

๑. อนุโลมตามญาณต่ำไปสู่ญาณสูง โดยเริ่มตั้งแต่
    ๑.๑) อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
    ๑.๒) ภังคญาณ พิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามอย่างเดียว
    ๑.๓) ภยญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว
    ๑.๔ป อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีโทษมาก
    ๑.๕ป นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนามแล้วเบื่อหน่าย
    ๑.๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษเบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดพ้น
    ๑.๗) ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง
    ๑.๘) สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์แล้วมีใจวางเฉยอยู่กับรูปนามทั้ง ๘ อย่างข้างต้น เรียกว่า อนุโลมตามญาณต้น เพราะมีกิจพิจารณาพระไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์เหมือนกัน

๒. อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่ออนุโลมตามญาณต่ำได้กำลัง พอแล้ว คือได้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าแล้ว ก็เข้าเขตอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

จบอนุโลมญาณ

๑๓. โคตรภูญาณ 
โคตรภูญาณ คือ ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนแล้วเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า
ปุถุชน แปลว่า ผู้มีกิเลสหนา มีความหมาย ๙ ประการ
๑. ผู้มีกิเลสหนาด้วยประการต่างๆ ได้แก่ มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้น
๒. ผู้หนาด้วยคติทั้ง ๕ ผู้ไม่ออกจากคติทั้ง ๕ ได้แก่ นิรยคติ ติรัจฉานคติ ปิตติวิสยคติ มนุสสคติ เทวคติ
๓. ผู้สร้างสังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
๔. ผู้ถูกโอฆะทั้ง ๔ พัดไป คือถูกทิฏโฐฆะ กาโมฆะ ภโวฆะ อวิชโชฆะ พัดไป
๕. ผู้เร่าร้อนอย่างมากเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
๖. ผู้กำหนัด ชอบใจ ติดใจ ข้อง จม หลง พัวพันอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ อย่างหนาแน่นคือ พอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๗.ผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำท่วมทับหุ้มห่อปกปิดไว้ ถูกกามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ ๕ ปกปิดไว้ ถูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันและกันปกปิดไว้ ถูกถีนมิทธะ คือความท้อใจ อ่อนใจ ท้อถอย หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนปกปิดไว้ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุูงซ่านรำคาญปกปิดไว้ ถูกวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บุญ บาป เป็นต้น ปกปิดไว้
๘.ผู้หยั่งลงสู่ธรรมอันต่ำ สู่มรรยาทอันต่ำ ผู้หันหลังให้อารยธรรม อารยธรรมมี ๖ อย่าง คือ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน มีความบริสุทธิ์ เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีปัญญา
๙.ผู้ปราศจากสารธรรมทั้ง ๕ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา 

พระผู้มีพระภาคจำแนกปุถุชนไว้ ๒ พวก คือ อันธปุถุชนและกัลยาณปุถุชน
๑. อันธปุถุชน คือ ผู้ที่มีดบอดและมีกิเลสหนา ได้แก่ บุคคลที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สอบถาม ไม่ได้ฟัง ไม่ได้จำ ไม่ได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น
๒. กัลยาณปุถุชน คือ คนมีกิเลสหนา แต่ได้นามว่าเป็นคนดี เพราะได้เรียนรู้ ได้สอบถาม ได้ฟัง จำได้ และได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ มีศีล ๕ และมีกัลยาณธรรม คือมี เมตตา จาคะ สันโดษ สัจจะ สติ

ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนทั้ง ๒ ชนิด ที่หมุนออกไปจากสังขารนิมิตภายนอก คือ โคตรภูญาณ

ลักษณะของโคตรภูญาณ
๑. เมื่อปฏิบัติถึงโคตรภูญาณแล้ว รูปนามก็ดับไป
๒. ปัญญาที่รู้ความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนามที่เกิดขึ้นมาแล้วเพราะกรรมในภพก่อนเป็นปัจจัย
๓. ปัญญาที่รู้สังขารนิมิต ไม่เข้าใจผิดคิดว่ารูปนาม เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๔. ปัญญาที่รู้ในกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในภพต่อๆ ไป เมื่อปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วกรรมต่างๆ ที่จะนำบุคคลนั้นให้ไปเกิดในภพอื่นอีกคงเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๕. ปัญญาที่สามารถครอบงำการเกิด เพราะเมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด การเวียนเกิดในภพต่างๆ กันถูกครอบงำไว้ได้
๖. ปัญญาที่สามารถครอบงำคติทั้ง ๕ ได้ หมายความว่า เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด คติคือที่เกิดจะไม่มีแล้ว
๗.ปัญญาที่ครอบงำความบังเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายได้หมายความว่า ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันในขณะนั้นดับไม่เกิด และขันธ์ในอนาคตก็ลดน้อยถอยลงไป จะเหลือเพียง ๑ ถึง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๘. ปัญญาที่ครอบงำอุปบัติ คือ ความเกิดของวิบาก หมายความว่าถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาจนถึงโคตรภูญาณนี้แล้ว ท่านผู้นั้นจะพ้นจากผลกรรมต่างๆ ตามสมควรเพราะ มีความเกิดลดน้อยถอยลงมาจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๙.ปัญญาที่ครอบงำชาติได้ หมายความว่า ชาติคือความเกิดนี้ แบ่งออกเป็น ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต อนาคต เมื่อโคตรภูเกิดขึ้นแล้วความเกิดขึ้นของรูปนามในขณะปัจจุบันก็ดับไปหมดเพราะขณะนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๐. ปัญญาที่ครอบงำชราได้ หมายความว่า ขณะโคตรภูญาณเกิดขึ้น รูปนามที่กำลังเสื่อมอยู่ดับไป เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๑. เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วครอบงำ พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ ย่อมสงบไปดับไปได้ เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

จบ โคตรภูญาณ

๑๔. มรรคญาณ
โสดาปัตติมรรคญาณ เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป โสดาปัตติมรรคก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันที ทั้งสองญาณมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นสามารถประหาณกิเลสได้ อุปมาดังนี้ การยิงธนูของนักแม่นธนูที่มีผ้าผูกตา เมื่อได้ยินสัญญาณเคาะไม้กระดานที่วางซ้อนกันไว้ ๑๐๐ แผ่น ก็สามารถยิงธนูไปเจาะทะลุกระดานทั้ง ๑๐๐ แผ่นทันที อุปมาโคตรภูญาณเปรียบเหมือนสัญญาณเคาะไม้ มรรคญาณเปรียบเหมือนนักยิงธนู การที่มรรคญาณไม่ลืมสัญญาณที่โคตรภูญาณให้ไว้แล้วทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วเจาะทะลุทำลาย กองโลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่เคยทำลายมาก่อน เปรียบเหมือนนักยิงธนูที่ไม่ลืมสัญญาณเคาะไม้แล้วยิงธนูทะลุไม้กระดาน ๑๐๐ แผ่นทันที อานิสงส์ของโสดาปัตติมรรค มิใช่แต่ทำการเจาะทะลุกองกิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏซึ่งไม่มีใครรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายให้เหือดแห้งไปด้วย ปิดประตูอบายทั้งปวง ทำให้เป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการสมบูรณ์ สลัดทิ้งหนทางดำเนินผิด ๘ ประการเสียได้ ทำเวรภัยทุกอย่างให้สงบลง นำให้เข้าถึงความเป็นบุตรอันเกิดจากพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นไปเพื่ออานิสงส์อื่นๆ อีกนานัปประการ

สกทาคามิมรรคญาณ เมื่อพระโสดาบันสำรวจทบทวนใน มรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุสกทาคามิมรรคญาณ เพื่อทำกามราคะและพยาบาทอย่างหยาบให้เบาบาง ท่านจึงรวบรวมอินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระโสดาบันปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะเกิดขึ้นต่อจาก สังขารุเปกขาญาณ แล้วสกทาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อนาคามิมรรคญาณ เมื่อพระสกทาคามีสำรวจทบทวนดูมรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้วอาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุอนาคามิ มรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ คือ กามราคะและพยาบาทอย่างละเอียดโดยไม่เหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระสกทาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ แล้วอนาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อรหัตตมรรคญาณ เมื่อพระอนาคามีสำรวจทบทวนดู มรรค ผล นิพพาน และกิเลสด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ ณ อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งๆ ขึ้น เพื่อบรรลุอรหัตตมรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา โดยไม่มีเหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารด้วยปัญญา ที่กำหนดว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณเมื่อพระอนาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ และอรหัตตมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

จบมัคคญาณ

๑๕. ผลญาณ 
โสดาปัตติผลญาณ ในลำดับต่อจากโสดาปัตติมรรคจิตดับลงแล้ว ผลจิตที่เป็นวิบากของมรรคจิต ได้แก่ โสดาปัตติผลจิตหรือโสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้น พระโสดาบันท่านยังต้องเกิดในมนุษยโลกและเทวโลกทั้งหลาย อีก ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ การที่จะประหาณกิเลสดัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือ การบำเพ็ญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยการประหาณกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นขั้นๆ ไป

กิเลสมี ๑๕๐๐ ตัณหามี ๑๐๘ แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้นจึงประมวลเอากิเลสตัณหาเหล่านั้นลงไว้ในกิเลส ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส
    ๓. โลภกิเลส
    ๔. โทสกิเลส
    ๕. โมหกิเลส
    ๖. มานกิเลส
    ๗. ถีนกิเลส
    ๘. อุทธัจจกิเลส
    ๙. อหิริกกิเลส
    ๑๐. อโนตตัปปกิเลส

พระโสดาบันละกิเลส ๒ ได้เด็ดขาด คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นของตน เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความเข้าใจผิดเช่นนี้ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ ทำให้ติดอยู่ในความหมุนเวียนของวัฏฏสงสาร
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือ สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

สกทาคามิผลญาณ
เมื่อสกทาคามิมรรคจิตดับลง สกทาคามิผลจิตหรือสกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับโสดาปัตติมรรคญาณและโสดาปัตติผลญาณ การบังเกิดขึ้นของสกทาคามิผลญาณ ทำให้เป็นพระอริยบุคคล มีนามว่า พระสกทาคามี ซึ่งท่านจะกลับมาถือปฏิสนธิ ในโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และท่านสามารถทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ พระสกทาคามีบุคคล ไม่ได้ประหาณกิเลสเพิ่ม แต่ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง

อนาคามิผลญาณ
เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับลง อนาคามิผลจิตหรืออนาคามิผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับสกทาคามิมรรคญาณและสกทาคามิผลญาณ และการบังเกิดของอนาคามิผลญาณนี้ พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอนาคามี สามารถฆ่ากิเลสที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏฏสงสารได้อีก ๑ คือ โทสกิเลส โทสกิเลส แบ่งออกได้ ๒ คือ ๑.) โทสะที่นำสู่อบายภูมิได้ เพราะความโกรธที่ดุร้ายสามารถทำอกุศลกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น โทสะชนิดนี้พระโสดาบันละได้แล้ว ๒.) โทสะที่ไม่นำไปสู่อบายภูมิ ได้แก่ ความขัดใจ โกรธเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ โทสะที่ละเอียดทั้งหมดพระอนาคามีละได้เด็ดขาดแล้ว

อรหัตตผลญาณ
เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับลง อรหัตตผลจิตหรืออรหัตตผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอรหันต์หรือพระมหาขีณาสพ ผู้มีร่างกายนี้เป็นวาระสุดท้าย เป็นผู้ปลงภาระลงได้แล้ว เป็นผู้บรรลุถึงความต้องการของตนเอง เป็นผู้หมดสิ้นสังโยชน์ในภพ เป็นผู้พ้นจากกองทุกข์ด้วยความรู้อันชอบแล้ว เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นสุดยอดของมนุษยโลกและเทวโลก

จบผลญาณ

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูมรรคว่า “ ข้าพเจ้าสำเร็จมาด้วยอำนาจแห่งมรรคนี้แน่แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูผลว่า “ อานิสงส์ดังกล่าวนี้ข้าพเจ้าได้รับแล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆข้าพเจ้าละได้แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจดูกิเลสที่ยังเหลืออยู่ว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆ ของข้าพเจ้ายังเหลืออยู่”
🙏 พระอริยบุคคลสุดท้ายก็สำรวจทบทวนดูพระนิพพานว่า “ พระธรรมนี้ข้าพเจ้าแทงตลอดแล้ว”

ปัจจเวกขณญาณของพระโสดาบัน พระสกาทาคามี พระอนาคามี ต้องพิจารณา ๕ อย่างทั้งหมดข้างต้น แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่เหลืออยู่แล้ว เพราะท่านประหาณกิเลสได้ ทั้งหมดแล้ว

จบปัจจเวกขณญาณ


 สรุปญาณ ๑๖
ญาณเหล่านี้เรียกว่า โสฬสญาณ เมื่อผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วหมายความว่าโยคีบุคคลผู้นั้นได้ดำเนินถึงจุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ประสบสมบัติอันเป็นอมฤต ซึ่งจะหาสมบัติอื่นใดมาเปรียบปานอีกไม่ได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะอานิสงส์ของพระอริยบุคคลมี พระโสดาบันเป็นต้น เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น