แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๗ กฏแห่งกรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๗ กฏแห่งกรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

๔.๔ อรูปาวจรกุศลกรรม

อรูปาวจรกุศลกรรม ผู้เจริญรูปาวจรกุศลจนถึงปัญจมฌานแล้ว ปรารถนาจะเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ก็ต้องเจริญในอรูปฌานต่อไป ตั้งแต่อากาสานัญจายตนฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

อรูปาวจรกุศลมี ๔ ระดับ แต่ละระดับ มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขาและ เอกัคคตา เหมือนกันทั้ง ๔ ระดับ ในแต่ละระดับมีอารมณ์ต่างกัน
ฌานที่ ๑ เรียกว่า อากาสานัญจายตนกุศล มี กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์
ฌานที่ ๒ เรียกว่า วิญญานัญจายตนกุศล มีอากาสานัญจายตนกุศลเป็นอารมณ์
ฌานที่ ๓ เรียกว่า อากิญจัญญายตนกุศล มี นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์
ฌานที่ ๔ เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล มีอากิญจัญญายตนกุศลเป็นอารมณ์

ผลของอรูปาวจรกุศลกรรม
ผู้ที่เจริญอรูปฌานจนสำเร็จในแต่ละขั้นแล้วถ้าฌานยังไม่เสื่อม เมื่อ ตายจากภพนี้ กำลังแห่งอรูปฌานกุศลนั้นจะส่งผลเป็นวิปากนำเกิดในอรูปพรหม เป็นพรหมที่มีแต่นาม ไม่มีรูป

อากาสานัญจายตนกุศล จะนำเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุ๒๐,๐๐๐ มหากัปป์
วิญญานัญจายตนกุศล จะนำเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญานัญ จายตนภูมิ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัปป์
อากิญจัญญายตนกุศล จะนำเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัปป์
เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล จะนำเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนว สัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์



เรื่องกรรมเป็นเรื่องที่แสดงความเป็นจริง เป็นเหตุ เป็นผล โดยนัยแห่ง พระอภิธรรม คือ ชี้ให้เห็นถึงสภาวธรรมแห่งเหตุ และได้แสดงโดยนัยแห่ง พระสูตร คือ ยกตัวอย่างประกอบไว้แล้ว กรรมที่แสดงไว้แล้วทั้งหมดนี้เป็นกรรมชนิดที่ส่งผลนำเกิด คือ เมื่อกรรมสำเร็จแล้วย่อมส่งผลนำวิบากให้เกิดขึ้น เป็นการแสดงความเป็นจริงแห่งวัฏฏะ คือ วงเวียนแห่งชีวิตว่ามีการเกิด มีการดำรงอยู่ และก็มีการตาย แล้วก็มีเกิดใหม่ ดำรงอยู่ใหม่ แล้วก็ตายไป แล้วก็มีการเกิดใหม่ ดำรงอยู่ใหม่ แล้วก็ตายไป เป็นอย่างนี้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏฏะทุกข์ คือ ทุกข์เพราะยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะกรรมที่บุคคลทำไว้แล้วนั้นเป็น กรรมชนิดที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ การจะหลุดพ้นจากวัฏฏะ หรือ วงเวียนแห่งชีวิตนี้ ต้องทำกุศลขั้นวิวัฏฏะ คือ มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะพ้นไปจากวัฏฏะทุกข์นี้

เพราะรู้และเข้าใจความเป็นจริงแห่งชีวิต แล้วทำกุศลทุกอย่างก็เพื่อ มุ่งให้เป็นปัจจัยให้พ้นไปจากวัฏฏะ เจริญกุศลขั้นปัญญาเพื่อขจัดกิเลสให้เบาบาง เพื่อประหาณกิเลสทั้งหลาย เมื่อกุศลขั้นวิวัฏฏะยังผลให้โลกุตตรกุศลเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะพ้นไปจากวัฏฏะทุกข์เข้าสู่ความเกษมคือพระนิพพานได้



วันอาทิตย์

๔.๓ รูปาวจรกุศลกรรม

รูปาวจรกุศลกรรม เป็นการเจริญกุศลในขั้นสูง คือ การเจริญฌาน ฌานนั้นให้ความสงบสุขอันเป็นความสุขที่ประณีตกว่ากุศลขั้น ทาน ศีล ฯลฯ ที่ได้ศึกษาผ่านมาแล้ว รูปาวจรกุศลกรรมเป็นการเจริญสมถกรรมฐาน มีกสิณ ๑๐ เป็นต้น โดยการกำหนดจิตให้แนบแน่นอยู่กับอารมณ์เดียว บุคคลเมื่อกำหนดจิตได้แนบแน่นอยู่กับอารมณ์เดียวได้ ทำให้สมาธิตั้งมั่น กำลังของสมาธิที่ตั้งมั่นและมากขึ้นๆ ตามลำดับ จะทำให้เกิดผลสำเร็จในการเจริญรูปฌาน

ผลสำเร็จของการเจริญรูปฌาน มี ๕ ขั้น คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ ปัญจมฌาน ซึ่งแต่ละขั้นจะมีองค์ฌานประกอบดังนี้

ฌานที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌานกุศล มีองค์ฌาน ๕ คือ
วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๒ 
เรียกว่า ทุติยฌานกุศล มีองค์ฌาน ๔ คือ
วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๓ 
เรียกว่า ตติยฌานกุศล มีองค์ฌาน ๓ คือ
ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๔ 
เรียกว่า จตุตถฌานกุศล มีองค์ฌาน ๒ คือ
สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๕ 
เรียกว่า ปัญจมฌานกุศล มีองค์ฌาน ๒ คือ
อุเบกขา เอกัคคตา
ผลของรูปาวจรกุศลกรรม

ผู้ที่เจริญรูปฌานจนสำเร็จในแต่ละขั้นแล้วถ้าฌานยังไม่เสื่อม เมื่อตาย จากภพนี้ กำลังแห่งฌานกุศลนั้นจะส่งผลเป็นวิปากนำเกิดในรูปพรหม 
ฌานที่ ๑ ปฐมฌานกุศล จะนำเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ ปาริสัชชา ปุ โรหิตา มหาพรหมมา ตามกำลังของฌานที่ได้ คือ มีกำลังอ่อน ปานกลาง แก่กล้า พรหมปาริสัชชา มีอายุ ๑/๓ มหากัปป์ พรหมปุโรหิตา อายุ ๑/๒ มหากัปป์ และ มหาพรหมมา มีอายุ ๑ มหากัปป์
ฌานที่ ๒ ทุติยฌานกุศล และ ฌานที่ ๓ รูปาวจรตติยฌานกุศลจิต จะนำเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภา อัปปมานาภา อาภัสรา ตามกำลังของฌานที่ได้ คือ มีกำลังอ่อน ปานกลาง แก่กล้า เป็นพรหมที่มีอายุยาวนาน ๒ มหากัปป์ ๔ มหากัปป์ และ ๘ มหากัปป์ ตามลำดับ
ฌานที่ ๔ จตุตถฌานกุศล จะนำเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภา อัปปมานสุภา สุภกิณหา ตามกำลังของฌานที่ได้ คือ มีกำลังอ่อน ปานกลาง แก่กล้า เป็นพรหมที่มีอายุยาวนาน ๑๖ มหากัปป์ ๓๒ มหากัปป์ และ ๖๔ มหากัปป์ ตามลำดับ
ฌานที่ ๕ ปัญจมฌานกุศล จะนำเกิดในจตุตถฌานภูมิ ๗ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ นำเกิดใน เวหัปผลา อสัญญสัตตา เป็นพรหมที่มีอายุ ยาวนาน ๕๐๐ มหากัปป์
กลุ่มที่ ๒ นำเกิดใน สุทธาวาส ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา เป็นภูมิสำหรับพระอนาคามีที่ได้ฌานด้วยและมีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่กล้า ด้วยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ตามลำดับ พระอนาคามีที่แก่กล้าด้วยสัทธินทรีย์ จะเกิดในอวิหาภูมิ มี อายุ ๑ ,๐๐๐ มหากัปป์ พระอนาคามีที่แก่กล้าด้วยวิริยินทรีย์ จะเกิดในอตัปปาภูมิ มี อายุ ๒ ,๐๐๐ มหากัปป์ พระอนาคามีที่แก่กล้าด้วยสตินทรีย์ จะเกิดในสุทัสสาภูมิ มีอายุ ๔ ,๐๐๐ มหากัปป์ พระอนาคามีที่แก่กล้าด้วยสมาธินทรีย์ จะเกิดในสุทัสสีภูมิ มี อายุ ๘ ,๐๐๐ มหากัปป์ พระอนาคามีที่แก่กล้าด้วยปัญญินทรีย์ จะเกิดในอกนิฏฐาภูมิ มีอายุ ๑๖,๐๐๐ มหากัปป์

ทิพยสมบัติของพรหม
ผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหมด้วยอำนาจของฌานที่ตนได้ จะเสวยทิพย
สมบัติแห่งความเป็นพรหม มีอายุยืนยาวนานเป็นมหากัปป์ มีวิมาน มีสวนดอกไม้ มีสระโบกขรณี และเครื่องทรงอลงกรณ์ต่างๆ สวยสดงดงามประณีต และมีความสวยสดงดงามกว่าทิพยสมบัติของเทวดาทั้งหลาย เมื่อเกิดเป็นพรหมในรูปพรหม ๑๖ ชั้นดังกล่าวแล้ว ก็หาพอใจในฌานหรือในทิพยสมบัติของตนที่มีอยู่ไม่ ต้องการหาความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น โดยการเจริญอรูปาวจรกุศลต่อไปอีก


๔.๒.๑ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ คือ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งบุญกุศล บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แสดงไว้ ๒ นัย โดยนัยแห่งพระสูตร และ โดยนัยแห่งพระอภิธรรรม

นัยพระสูตร แสดงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่เกิดทางทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร ทวารละ ๑๐ ประการ เช่น การให้ทาน เกิดได้ ๓ ทวาร บุญกิริยวัตถุมี ๑๐ เกิดได้ ๓ ทวาร จึงได้เป็น ๓๐
นัยพระอภิธรรม แสดงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. ทาน (การให้ทาน) 
๒. ศีล (การรักษาศีล) 
๓. ภาวนา (การเจริญภาวนา) 
๔. อปจายนะ (การอ่อนน้อมถ่อมตน) 
๕. เวยยาวัจจะ (การช่วยงานกุศล) 
๖. ปัตติทาน (การอุทิศส่วนกุศล) 
๗. ปัตตานุโมทนา (การอนุโมทนากุศล) 
๘. ธัมมัสสวนะ (การฟังธรรม)
๙. ธัมมเทศนา (การแสดงธรรม) 
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม (การทำความเห็นให้ตรงกับความจริง) 

บุญกิริยาวัตถุ ๑. ทาน
ทาน คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ ลักษณะของทานมี ๔ ประการ คือ
    ๑. เป็นการให้แก่ผู้อื่น
    ๒. เป็นการทำลายความโลภออกจากตัว
    ๓. ผลของทานจะให้ความสมบูรณ์พูนสุขในการเวียนเกิด เวียนตาย จนถึงนิพพาน
    ๔. เกิดขึ้นจากศรัทธาเห็นประโยชน์ของทานก่อน การทำทาน จึง    เกิดขึ้น

คำว่า “ ทาน” มุ่งหมายที่เจตนา ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ อันเป็นเหตุให้เกิดการทำทาน เจตนาทานมี ๓ ประการ คือ
    ๑. ปุพพเจตนาทาน คือ เจตนาก่อนให้ทาน
    ๒. มุญจเจตนาทาน คือ เจตนาขณะให้ทาน
    ๓. อปรเจตนาทาน คือ เจตนาหลังจากให้ทาน

เจตนาก่อนให้ ขณะให้ หลังจากที่ให้แล้ว ต้องให้ทานโดยความไม่โลภ ไม่โกรธ และ ไม่หลง เข้ามาแวดล้อมมาคั่นในระหว่างกาลทั้ง ๓ ทาน ชนิดนี้ย่อมจะได้อานิสงส์มาก แต่ถ้าการให้ทานในคราวใดมีอกุศลมา แวดล้อมมาคั่นในระหว่างกาลทั้ง ๓ ทานชนิดนี้ย่อมให้ผลอานิสงส์น้อย ส่งผลต่างกันโดยชาติ โดยสกุล โดยฐานะ ทรัพย์สมบัติ บริวารบ้าง ที่เป็น เช่นนี้เพราะเนื่องมาจากทาน ศีล ภาวนา ที่ถึงพร้อมด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล หรือไม่พร้อมทั้ง ๓ กาล ขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่มีความตั้งใจเจตนาเลยนั้นเองเป็นเหตุด้วย เหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวโดยมีใจความว่า “จงมีความยินดีก่อนที่จะทำ จงยังความเลื่อมใสในขณะที่กำลังทำ เมื่อทำเสร็จแล้วจงยังความปลื้มใจให้เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งใจที่มีอาการทั้ง ๓ ดังนี้ เป็นการทำบุญที่สมบูรณ์ที่สุด

วัตถุทาน สิ่งที่นำมาให้ทานหรือเรียกว่า วัตถุทาน มี ๓ คือ 
    ๑. ปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)
    ๒.อารมณ์ ๖ (รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันทารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์และธัมมารมณ์)
    ๓. ทานวัตถุ ๑๐ ( ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ได้แก่ รองเท้า ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป ได้แก่ ไฟฟ้า ตะเกียง น้ำมัน เชื้อเพลิง) ตัวอย่างเช่น การถวายดอกไม้ ในขณะนั้นดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในทาน วัตถุ และกลิ่นของดอกไม้ก็จัดเป็นการให้คันทารมณ์ด้วย หรือการถวาย น้ำมันตะไคร้หอมสำหรับทากันยุง ตัวตะไคร้หอมจัดเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ คือ เป็นยา ส่วนกลิ่นของตะไคร้หอมทำให้ยุงไม่มารบกวน ก็จัดว่ากลิ่นนั้นทำให้ ส่งผลทำให้โผฏฐัพพารมณ์ที่ดีต่อผู้ใช้ด้วย ลักษณะการให้ทานของสัปบุรุษ สัปบุรุษ คือ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในธรรม ตั้งอยู่ในทาน ศีล ภาวนา เมื่อบุคคลเหล่านี้จะให้ทาน ย่อมให้ด้วยความเข้าใจในทาน ทานของสัปบุรุษ นี้ได้ชื่อว่า สัปปุริสทาน มี ๕ ประการ คือ 

สัปปุริสทาน ๕ 
๑. สัทธาทาน คือ บริจาคทานโดยความเลื่อมใส เชื่อในการกระทำและผลของการกระทำนั้น ผลภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ มีรูปร่างสัณฐานงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่ง 
๒. สักกัจจทาน คือ บริจาคทานโดยความเคารพ กระทำด้วยตนเอง ไทยธรรมนั้นสะอาดหมดจด ผลในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ บุตร ภรรยา สามี บริวาร เชื่อฟังเอาอกเอาใจ 
๓. กาลทาน คือ บริจาคทานเหมาะสมแก่เวลา ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ ได้ลาภสักการะเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
๔. อนุคคหิตทาน คือ บริจาคทานโดยการสละอย่างแท้จริง ไม่มีความเสียดายในวัตถุทานนั้น ๆ ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ จิตใจอิ่มเอิบอยู่กับการเสวยความสุข 
๕. อนุปหัจจทาน คือ บริจาคทานโดยไม่กระทบกระเทือนตนเองและผู้อื่น ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ ทรัพย์สินพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง 

การให้ทานย่อมยังผลมากอานิสงส์มากแก่ผู้ให้ มีตัวอย่างมากมายใน คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และตัวอย่างที่เราพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ผลอานิสงส์ของการให้ทาน ให้ผลได้ทั้งในชาตินี้หรือส่งผลในภพต่อไป และผลอานิสงส์อย่างยิ่ง คือ เป็นปัจจัยทำให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นได้

บุญกิริยาวัตถุ ๒. ศีล
ศีล คือ ธรรมชาติที่ทำให้กาย วาจาตั้งไว้ด้วยดี ศีลนั้นมีหน้าที่รักษา กาย วาจา ไม่ให้เป็นไปในทางทุจริต อีกความหมายหนึ่ง ศีล คือ ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งกุศลธรรม ได้แก่ สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เรื่องศีลเน้นอยู่ที่ กาย กับ วาจา ไม่ให้กระทำทุจริตกรรม เรื่องศีลมีแสดงไว้หลายหมวดหลายนัย ฉะนั้น จะนำมาแสดงไว้โดยสังเขป ๓ ส่วน คือ  
 
ส่วนที่ ๑. ศีล ๔ ประเภท
    ๑. ภิกขุศีล คือ ศีลของพระภิกษุ มี ๒๒๗ ข้อ ที่ได้แสดงไว้ในภิกขุปาติโมกข์
    ๒. ภิกขุนีศีล คือ ศีลของภิกษุณี มี ๓๑๑ ข้อ ที่ได้แสดงไว้ในภิกขุนีปาติโมกข์
    ๓. สามเณรศีล คือ ศีลของสามเณร มี ๑๐ ข้อ
    ๔. คฤหัสถศีล คือ ศีลของผู้ครองเรือน ได้แก่ ศีล ๕ ๒. นิจศีล และ อนิจศีล

ส่วนที่ ๒ นิจศีล และ อนิจศีล 
    ๒.๑ นิจศีล หรือ เรียกอีกอย่างว่า วาริตตศีล คือ ศีลที่สมาทานครั้ง เดียวแล้วรักษาตลอดไปเป็นนิตย์ไม่ต้องสมาทานอีก แต่เมื่อสมาทานไว้แล้ว ถ้าไม่รักษาย่อมจะมีโทษ ได้แก่ ศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ศีลของภิก ษุณี ๓๑๑ ศีลของสามเณร ๑๐ สำหรับ ศีล ๕ จัดว่าเป็นนิจศีลของคฤหัสถ์ทั้งหลายที่จะต้องรักษา แต่ การรักษาต้องสมาทาน เมื่อสมาทานแล้วไม่รักษา ทำให้ศีลขาดก็เป็นโทษ คือ เป็นบาป และถึงแม้ว่าไม่ได้สมาทานศีล ๕ ถ้ามีการทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ เป็นโทษเป็นบาปเช่นกัน
    ๒.๒ อนิจศีล หรือ เรียกอีกอย่างว่า จาริตตศีล คือ ศีลที่ต้องสมาทาน คือ ขอรับมาเพื่อรักษา แต่ถ้าไม่ต้องการรักษาก็ไม่ต้องสมาทาน ได้แก่ ศีล ของฆราวาส คือ ศีล ๘ , อุโบสถศีล และการประพฤติธุดงค์ ๑๓ ข้อ ของพระภิกษุ สามเณร ศีลกลุ่มนี้จะรักษาก็ได้ หรือไม่รักษาก็ได้ หมายความว่า ถ้าต้องการประพฤติเพื่อขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นก็สมาทานไว้เพื่อประพฤติขัดเกลากิเลส ถ้ารักษาได้ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เป็นบุญ ถ้าไม่ต้องการรักษาก็ไม่มีโทษแต่อย่างใด
ส่วนที่ ๓ อาชีวัฏฐมกศีล
อาชีวัฏฐมกศีล เป็นศีล ๘ อีกประเภทหนึ่งเป็นศีลที่ยิ่งด้วยการประพฤติ เพื่อความสำเร็จในมรรค เป็นสิ่งที่จะต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ในขั้นต้นของการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อาชีวัฏฐมกศีล จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเจริญกุศลธรรมให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความเจริญยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และก็ยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพที่ยังต้องรับประทานอาหารมื้อเย็น

ความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีล และ อาชีวัฏฐมกศีล 

อุโบสถศีล คือ ศีลเพื่อการรักษาระเบียบทางกาย วาจา 
๑.เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นจากการก้าวล่วงในพรหมจรรย์
๔.เว้นจากการพูดเท็จ
๕.เว้นจากการดื่มสุราเมรัย
๖.เว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล
๗.เว้นจากการตบแต่งเครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทา
๘. เว้นจากการนอน บน ที่นอนอันสูง ใหญ่ 

อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลที่ประพฤติให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น นำไปสู่การดำเนินตามทางมรรคมีองค์ ๘ 
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์ (สัมมากัมมันตะ) 
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ
๗.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เว้นจากการประกอบอาชีพที่ขัดต่อการเจริญธรรม (สัมมาอาชีวะ)

อาชีพที่ควรงดเว้น คือ
๑. ค้าเนื้อสัตว์ และสัตว์มีชีวิต
๒. ค้ามนุษย์
๓. ค้าอาวุธ
๔. ค้ายาพิษ
๕. ค้าสุรา 

คุณลักษณะและประโยชน์ของศีล 

๑. เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง อุปมาเสมือนแผ่นดิน ย่อมเป็นที่ตั้งของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
๒. มีการไม่กระทำในสิ่งที่ผิดศีล เหมือนกับคนไข้ย่อมไม่รับประทานของที่แสลงโรค
๓. มีกาย วาจา ที่บริสุทธิ์ คือ ไม่ทำบาป ด้วยกาย วาจา
๔. มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) เป็นต้นเหตุทำ ให้เกิดศีล
๕. ความไม่โกรธ (อโทสะ) ความไม่ประทุษร้ายจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการรักษาศีล
๖. ย่อมเป็นอุปนิสัยให้ได้มรรคเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เมื่อ เป็นมหากุศลที่มีทาน ศีล รองรับแล้ว จะเป็นอุปนิสัยต่ออรหัตตมรรค อรหัตตผล 

บุญกิริยาวัตถุ ๓. ภาวนา
ภาวนา คือ การทำกุศลอันประเสริฐให้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือ ธรรมชาติใด ที่ทำให้กุศลที่ประเสริฐเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแล้วทำให้เจริญขึ้น
ภาวนา แบ่ง ออกเป็น ๒ อย่าง คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สำหรับคำว่า ภาวนาในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ หมายถึงมหากุศลจิตอย่าง เดียว ได้แก่ การทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เช่น การเรียน การสอนธรรมะ ตลอดจนการพิจารณาใคร่ครวญธรรมะต่างๆ จัดเข้าเป็นภาวนา ในบุญกิริยาวัตถุทั้งสิ้น

คุณลักษณะและประโยชน์ของภาวนา
๑. ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น จนถึงอรหัตตมรรคและอรหัตตผล เหมือนน้ำย่อมทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม จนกระทั่งผลิดอกออกผล
๒. มีการประหาณทำลายบาปอกุศลที่เกิดขึ้น เหมือนเครื่องตัดหรือ เครื่องประหาร
๓. เป็นสื่อนำเข้าสู่การเจริญสติปัฏฐานรูปนาม ให้ถึงซึ่งโลกุตตรธรรม
๔. มีการใส่ใจในอารมณ์ที่ถูกที่ควรไว้ก่อน ภาวนากุศลจึงจะเกิดขึ้นได้ 

บุญกิริยาวัตถุ ๔. อปจายนะ
อปจายนะ คือ การเคารพนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรเคารพนอบน้อม โดยมิได้หวังผลใดๆ ไม่หวังใน ลาภ ยศ สักการะแต่อย่างใด ถ้าการเคารพนอบน้อมโดยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็น อปจายนะ แต่ เป็นมารยาสาไถย
  
อปจายนะ มี ๒ อย่าง คือ
๑. สามัญอปจายนะ คือ การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์ ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องให้ความ เคารพนอบน้อมต่อท่าน เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่เป็นครูอาจารย์
๒. วิเสสอปจายนะ คือ การแสดงความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย ด้วยการระลึกถึงพระคุณ พระพุทธคุณต่างๆ ในพระปัญญาคุณ พระอรหันตคุณ พระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น

บุคคลที่ควรเคารพนอบน้อม มี ๓ ประเภท
๑. คุณวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีศีลมีธรรม
๒. วัยวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีอายุ มากกว่าเรา
๓. ชาติวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีชาติ ตระกูลสูง หรือวงศ์สกุลสูง

วุฒิทั้ง ๓ ประเภท ดังกล่าวนั้น ผู้มีวุฒิครบทั้ง ๓ ประเภท เช่น พระมหากษัตริย์ แต่บุคคลทั่วไปบางคนมีคุณวุฒิมากกว่าแต่เขามีวัยวุฒิน้อย กว่า เราก็ควรแสดงความอ่อนน้อม ถ้าทำได้ก็จัดว่าเป็นบุญ 

อานิสงส์ของการเคารพนอบน้อม
๑. ทำให้เป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดในธรรม
๒. มีอายุยืน และมีผิวพรรณงดงาม
๓. มีความสุขกายสุขใจ
๔. มีเกียรติยศชื่อเสียง
๕. มีกำลังกายและกำลังปัญญา
๖. เมื่อจากโลกนี้ย่อมไปสู่สุคติ

บุญกิริยาวัตถุ ๕. เวยยาวัจจะ
เวยยาวัจจะ คือการขวนขวายในบุญ ได้แก่ การช่วยเหลือในกิจการ งานที่เกี่ยวกับกุศลต่างๆ หรือ การช่วยเหลือทำการงานต่างๆ ที่ไม่มีโทษ เช่น งานด้านปริยัติ ด้านปฏิบัติ หรือการปฏิสังขรณ์ การทำความสะอาดวัด ปู
ชนียสถาน หรือการงานทางโลกที่ไม่มีโทษ เช่น งานของบิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บุตร ธิดา จัดเข้าเป็นเวยยาวัจจะได้

บุญกิริยาวัตถุ ๖. ปัตติทาน
ปัตติทาน คือ การอุทิศส่วนบุญกุศล เป็นการให้ส่วนบุญกุศลที่ตนได้ กระทำสำเร็จแล้วให้กับบิดา มารดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว องค์ธรรมได้แก่ เจตนาที่ในมหากุศลจิตที่เกิดขึ้น ในขณะที่ตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำแล้วมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

วิธีการอุทิศส่วนบุญกุศล คือ เมื่อขณะบุญต่างๆ ของเราสำเร็จแล้ว ก็ตั้งเจตนาน้อมระลึกถึงบุญกุศลนั้นแล้วน้อมใจอุทิศขอให้บุญจงสำเร็จแก่บุคคลที่
ล่วงลับไปแล้ว จะอุทิศให้อย่างเจาะจงผู้รับหรืออุทิศให้อย่างไม่เจาะจงผู้รับก็ได้ จะกรวดน้ำ หรือไม่มีน้ำก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตนาที่มีจิตคิดจะอุทิศบุญ เมื่อได้อุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็มิใช่ว่าผลบุญนั้นจะลดน้อยถอยลง หรือหมดไปไม่ มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ อุปมาเหมือนการต่อแสงเทียนไปเรื่อยๆเป็นร้อยเป็นพันเล่ม แสงเทียนที่เทียนเล่มแรกก็ยังไม่ดับหรือหมดไป แต่แสงเทียนที่เกิดจากการต่อเทียนไปเป็นจำนวนมากกลับจะทำให้เกิดความสว่างไสวยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับบุญที่อุทิศให้ไปไม่ทำให้ต้นบุญเดิมลดลง แต่ทำให้บุญเกิดขึ้นเพิ่มพูนมากขึ้น

การอุทิศบุญกุศลกับการแผ่เมตตา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
การอุทิศส่วนกุศล คือการอุทิศบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว - ถ้าต้องการให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้รับบุญที่เราได้ทำแล้ว ก็ทำได้โดยเมื่อทำบุญสำเร็จแล้วก็บุญกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่า การอุทิศบุญ หรือ ปัตติทาน

บุญจะเกิดกับญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยการปัตตานุโมทนา - ถ้าต้องการให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มีส่วนในบุญที่เราได้ทำแล้ว ก็ทำได้โดยการบอกกล่าวให้เขาเหล่านั้นทราบถึงบุญ เมื่อเขามีความยินดีในบุญ และกล่าวอนุโมทนาด้วย บุญนั้นก็สำเร็จแก่เขา ฉะนั้นถ้าต้องการให้บุคคลที่รักที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับบุญ ก็ต้องให้เขาได้รู้และได้อนุโมทนาคือมีจิตยินดีใน บุญ

การแผ่เมตตาจะทำอย่างไร การแผ่เมตตา คือ มีความรักให้สัตว์ทั้งหลาย และเมตตาจะเกิดขึ้นได้ นั้นจะต้องเจาะจงกับสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ การแผ่เมตตาไปในบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วไม่มีผล สำหรับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ควรทำในเรื่องการอุทิศบุญ เมื่อทราบว่าการอุทิศบุญทำอย่างไรกับบุคคลใด และการแผ่เมตตาควร ปฏิบัติอย่างไรกับบุคคลใดแล้ว ต่อไปจะได้กระทำได้ถูกต้อง

บุญกิริยาวัตถุ ๗. ปัตตานุโมทนา 

ปัตตานุโมทนา คือ การน้อมรับส่วนบุญที่บุคคลอื่นอุทิศให้ หรือ เรียกว่าอนุโมทนาในส่วนบุญก็ได้ บุญกุศลทั้งหลายที่ได้ทำแล้วอุทิศให้แก่คนอื่นๆ จะโดยกล่าวให้ด้วยวาจาหรือเขียนเป็นตัวอักษรก็ตาม จิตของผู้รับเกิดความโสมนัสขึ้นแล้วด้วยและกล่าวคำว่า “สาธุ” ย่อมสำเร็จเป็นกุศล หรือ การยินดีในบุญที่บุคคลอื่นได้ทำสำเร็จแล้ว เช่น เห็นบุคคลอื่นกำลังทำบุญกุศล เห็นปูชนียสถานที่เป็นวัตถุก่อสร้างจารึกชื่อผู้สร้างอุทิศถวายแล้วก็อนุโมทนาบุญกับเขา ก็เป็นปัตตานุโมทนา เป็นบุญแล้ว

ตัวอย่าง พระเจ้าพิมพิสารสร้างวัดเวฬุวันถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรตซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้พากันส่งเสียงร้องโหยหวน เพราะพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ทรงแผ่ส่วนบุญไปให้ พระพุทธองค์จึงทรงแนะให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญกุศลไปยังเปรตทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเปรตเหล่านั้นได้อนุโมทนาในบุญของพระเจ้าพิมพิสารแล้วก็พ้นจากความเป็นเปรต

บุญกิริยาวัตถุ ๘. ธัมมัสสวนะ
ธัมมัสสวนะ คือ การฟังพระธรรม พระธรรมหมายถึง พระสัทธรรม คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะที่เป็นการคิดขึ้นมาเองของครูอาจารย์ ธรรมะนั้นไม่ใช่สัทธรรม คือไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า การฟังธรรมที่แย้งและย้อนต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ชื่อว่าธัมมัสสวนะ ไม่เป็นบุญ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นเหตุให้เกิดบาปอกุศล เพราะธรรมที่ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญ แต่กลับเป็นเหตุให้อกุศลเจริญ เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ประพฤติผิด ปฏิบัติผิด

ตัวอย่างเช่น การฟังธรรมที่ผู้สอนบอกว่า ถ้ายิ่งทำบุญด้วยเงินจำนวนมากเท่าไร ผลแห่งบุญก็ยิ่งจะมากเท่านั้น ผลบุญนั้นจะส่งได้เร็วขึ้นตามจำนวนเงินที่ทำ นี้เป็นอสัทธรรม ฟังแล้วไม่เป็นบุญ แต่เป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้น คือ เมื่อเชื่อเช่นนั้นก็เกิดความโลภ หวังผลบุญที่จะได้รับ ยิ่งทำบุญด้วยเจตนาที่ผิด 

ส่วนการฟังธรรมที่ผู้สอนกล่าวเรื่องบุญว่า บุญคือเจตนาที่เป็นกุศล การทำบุญทำได้หลายอย่าง เช่น การให้ทานเป็นการสละ เป็นการขัดเกลากิเลส คือ ความโลภ เป็นการขัดเกลามัจฉริยะ คือความหวงแหน การให้ทานต้องมีเจตนาที่ดีทั้ง ๓ กาล ให้แล้ว ไม่หวังผลตอบแทน เพราะเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อทำเหตุดี ผลย่อม ดี ให้แล้วไม่หวงแหนในสิ่งที่ให้ไปแล้ว เป็นต้น นี้เป็น สัทธรรม เป็นธัมมัสสวนะ

การฟังธรรม มี ๒ ประการ
๑. การฟังธรรมเพื่อให้คนทั้งหลายชื่นชม คือ ปรารถนาว่าเมื่อบุคคลอื่นทราบ เขาก็จะกล่าวถึงเราว่าเป็นคนดีมีศรัทธา มีศีลธรรม เป็นต้น อย่างนี้เป็นการฟังที่มิได้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาที่แท้จริง มีกิเลสซ่อนเร้นอยู่ ย่อมจะมีผลน้อย อานิสงส์น้อย
๒. การฟังธรรมที่ทำให้จิตใจอ่อนโยน คือ ปรารถนาเพื่อให้เกิดสติปัญญา เพื่อจะได้รู้จักคำสอนในพระพุทธศาสนา รู้จักบุญรู้จักบาป และสิ่ง ที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น การฟังธรรมชนิดนี้ทำให้กุศลเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ย่อมมีผลอานิสงส์มาก

บุญกิริยาวัตถุ ๙. ธรรมเทศนา
ธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรม ธรรมเทศนานี้ก็เป็นไปในทำนอง เดียวกันกับธัมมัสสวนะ กล่าวคือ ต้องสอนธรรมที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นธรรมเทศนา

อานิสงส์ของการแสดงธรรม มี ๒ ประการ
๑. การแสดงธรรมที่ได้อานิสงส์มาก ผู้แสดงธรรมที่จะได้อานิสงส์ ต้องแสดงธรรมโดยเป็นลำดับ ต้องแสดงธรรมด้วยมีจิตอนุเคราะห์แก่ผู้ศึกษา ไม่ว่าผู้ศึกษาจะเป็นใครก็ตาม ก็มีจิตอนุเคราะห์เสมอเหมือนกันหมดไม่แบ่งชั้นวรรณะ ต้องแสดงธรรมโดยไม่มุ่งหวังในลาภสักการะ สรรเสริญ มุ่งแต่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ศึกษา คือ เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง ก็จะเจริญงอกงามในบุญ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถึงอมตธรรมคือพระนิพพาน การแสดงธรรมเช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นธรรมเทศนาที่แท้จริง จะเป็นเหตุให้ผู้แสดงได้บุญมากได้อานิสงส์มาก 

๒. การแสดงธรรมที่ได้อานิสงส์น้อย ผู้แสดงธรรมที่ไม่มีจิต อนุเคราะห์ผู้ฟัง แสดงธรรมเพราะหวังลาภสักการะ สรรเสริญ แสดงธรรม เพื่อให้คนรู้ว่าเราเป็นครูอาจารย์ เป็นผู้สอนธรรมะเป็นต้น การแสดงธรรมอย่างนี้เป็นการแสดงธรรมชนิดที่มีกิเลสแอบแฝงอยู่ ผลอานิสงส์ก็จะไม่เกิดขึ้นกับผู้แสดง ถ้าเกิดก็เกิดได้น้อย เพราะผู้แสดงธรรมนั้นมีอกุศลเกิดขึ้น อกุศลนี้เปรียบเสมือนตอที่ผุดขึ้นมากั้นกุศลที่จะเกิดขึ้น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม
ทิฏฐุชุกรรม คือ การกระทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง จะทำดีหรือทำชั่วก็ตาม ย่อมจะต้องได้รับผลของกรรม นั้น
ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ มี ๓ ประการ
๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การเรียนนี้มุ่งหมายการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นการแสดงความจริงของชีวิต มีเหตุมีผล เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เมื่อศึกษาแล้วย่อมทำให้เกิดความเข้าใจในคำสอน ส่งผลทำให้ผู้ศึกษามีการมุ่งมั่นในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นต้น ได้ถูกต้อง
๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาในความ เป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย เกี่ยวกับความมีโรค ไม่มีโรค ความโง่ ความฉลาด ความสุข ความทุกข์ อายุสั้น อายุยืน เหล่านี้เป็นต้น เมื่อคิดพิจารณาถูกต้อง เช่นนี้แล้ว จึงเป็นเหตุให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา เป็น ปัจจัยให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ มีการเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยของนามรูป เป็นต้น ถึงแม้ว่า บุคคลทั้งหลายโดยส่วนมากจะยังไม่สามารถเห็นความเป็นจริงของรูปนาม ไม่รู้ปัจจัยอันเป็นเหตุเกิดของรูปนาม เพราะบุคคลยังยึดรูปนามขันธ์ ๕ นี้ ว่าเป็นเรา เป็นของๆเราเป็นต้น แต่ถ้ามีความเห็นตรงตามทส
วัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ก็ชื่อว่ามีกัมมัสสกตาญาณ เป็นทิฏฐุชุกรรม คือ เห็นถูกต้องตรงความเป็นจริงได้เช่นกัน

ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ
๑. เห็นว่า การทำบุญ ย่อมได้รับผลของบุญ คือ ผลดีมีประโยชน์
๒. 
เห็นว่า การบูชา ย่อมได้รับผลของการบูชา คือ ผลดีมีประโยชน์
๓. 
เห็นว่า การเชื้อเชิญต้อนรับ ย่อมได้รับผลของการเชื้อเชิญต้อนรับ คือ ผลดีมีประโยชน์
๔. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่ว ย่อมได้รับผลของการทำดีทำชั่ว ทั้ง ทางตรงและทางอ้อม
๕. 
เห็นว่า ภพนี้ โลกนี้ (ปัจจุบัน) มี เพราะมีการเกิด
๖. 
เห็นว่า ภพหน้าโลกหน้ามี เพราะคนตายแล้วยังมีกิเลส จึงต้องเกิดในโลกหน้าอีก
๗. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา จะต้องได้รับผลดีหรือผลชั่วใน อนาคต
๘. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา จะต้องได้รับผลดีหรือผลชั่วใน อนาคต
๙. 
เห็นว่า สัตว์ที่เกิดแล้วเติบโตขึ้นทันที คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม มีจริง
๑๐. 
เห็นว่า ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า สามารถชี้แจงให้เห็นจริงได้นั้นมี และผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพานนั้นก็มี

ในทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ เป็นเหตุให้มีกัมมัสสกตาญาณ เกิดขึ้นในขันธสันดาน ดังนั้นควรสำรวจว่าตนมีความเห็นใน ๑๐ ประการนี้ ครบถ้วนหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบถ้วนก็ควรศึกษาธรรมะและเจริญการปฏิบัติ ภาวนา เพื่อปรับปรุงแก้ไขความเห็นของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 


สรุป “ บุญ” ว่าโดย มนุสสธรรม และ อุตริมนุสสธรรม การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการให้ทาน การรักษาศีล และ ภาวนา(โดยความหมายบุญกิริยาวัตถุ ไม่ใช่ ภาวนากรรมฐาน) ก็มีเจตนา และวิรติ เป็นต้น เข้าประกอบร่วมกับมหากุศลจิต ๘ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็น ปัจจัยเบื้องต้นที่จะให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ได้ ผลแห่งกุศลเบื้องต้น เป็นเหตุ เป็นที่พึ่งอาศัยทำให้พ้นไปจากอบายภูมิ ไปสู่สุคติภูมิได้เท่านั้น คือ ทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาได้เท่านั้น เปรียบเหมือนเรือลำน้อยที่พอเป็นที่อาศัย ข้ามจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้นซึ่งสะดวกสบายกว่าการลุยน้ำข้ามไปเท่านั้นเอง เป็นกุศลขั้นต่ำที่มนุษย์ปกติธรรมดาทั่วไปควรทำให้เกิดขึ้น และก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษใดๆ อย่างนี้เองท่านจึง เรียกว่า “มนุสสธรรม(หรือมนุษยธรรม) ดังคำว่า “ มนุสฺสธมฺโม นาม ทส กุสลกมฺมปถา แปลว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า มนุสสธรรม ” หมายความว่า เป็นธรรมที่ผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลายทั่วไปพึงทำให้เกิดขึ้นได้ ส่วนเจตนาที่ประกอบร่วมกับรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต และโลกุตตรกุศลจิต ที่เป็นความสำเร็จจากการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น เป็นกุศลกรรมขั้นสูงที่ไม่ใช่สักแต่ว่าทำให้พ้นจากอบายภูมิไปสู่กามสุคติ ๗ คือ มนุษย์ และเทวดาได้เท่านั้น แต่สามารถทำคติที่ถึงนั้นให้เป็นคติที่ยอดเยี่ยมพิเศษ คือเป็นพรหมชั้นรูปพรหมและอรูปพรหม อันสูงกว่ามนุษย์หรือเทวดา หรือทำให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ คือ พระนิพพานอันยอดเยี่ยมสูงสุด จึงเปรียบเหมือนเรือใหญ่ ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าจะอาศัยข้ามจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งตรงกันข้ามโน้นได้เท่านั้น แต่ว่าใช้อาศัยออกสู่มหาสมุทรได้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นกุศลกรรมชั้นสูง ที่มนุษย์ปกติธรรมดาไม่สามารถจะสำเร็จกันได้โดยทั่วไป เฉพาะบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ มีวาสนาบารมี อบรมมาในอดีตชาติเป็นอย่างดีแล้ว และปัจจุบันก็ขวนขวายเจริญบุญขั้นสูงนี้ จึงจะทำให้สำเร็จได้ โดยเหตุนี้ท่านจึงไม่เรียกกุศลกรรมเหล่านี้ว่ามนุสสธรรม แต่เรียกว่า “อุตริมนุสส ธรรม” แปลว่า ธรรมที่ยอดเยี่ยมกว่าธรรมของมนุษย์ปกติธรรมดา ดังคำว่า “ อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌาน วิโมกฺข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสน มคฺค ภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กิเลสปฺปหาน วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุํฺญาคาเร อภิรติ (จากวิ.มหา.) ” แปลว่า ฌาน , วิโมกข์, สมาธิ , สมาบัติ , ญาณทัสสนะ , การเจริญมรรค , การกระทำผลให้แจ้ง , การละกิเลสได้ ภาวะที่จิตปราศจากนิวรณ์ , ความยินดียิ่งในสุญญาคาร เหล่านี้ ชื่อว่า อุตริมนุสสธรรม ” 



 


 


 

วันเสาร์

๔.๒ กามาวจรกุศลกรรม

กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวในกามภูมิ คือ เกิดในกามภูมิ ชื่อว่า กามาวจรกรรม กามาวจรกรรม เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล กามาวจรฝ่ายอกุศลได้ แสดงแล้วคือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ สำหรับฝ่ายกุศล ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล หรือการเจริญกรรมฐานที่ยังไม่สำเร็จผล เป็นการกระทำในเบื้องต้น เหล่านี้จัดเป็นกามาวจรฝ่ายกุศล ชื่อว่า กามาวจรกุศลกรรม ส่วนกรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในรูปภูมิ ชื่อว่า รูปาวจรกรรม และกรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในอรูปภูมิ ชื่อว่า อรูปาวจรกรรม จะได้แสดงรายละเอียดต่อไป

กามาวจรกุศลกรรม จะแสดงให้ทราบถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศล กรรมบถสำเร็จได้ ๓ ทวาร คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ก็ได้ชื่อสุจริตในทวารนั้นๆ ด้วย

กุศลกรรมบถ ๑๐

กายสุจริต ๓ ได้แก่
  • ๑. ปาณาติปาตวิรติ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 
  • ๒. อทินนาทานวิรติ ” จากการ ลักทรัพย์ 
  • ๓. กาเมสุมิจฉาจารวิรติ ” จากการ ประพฤติผิดในกาม 
วจีสุจริต ๔ ได้แก่
  • ๔. มุสาวาทวิรติ ” จากการพูดเท็จ 
  • ๕. ปิสุณวาจาวิรติ ” จากการพูดส่อเสียด 
  • ๖. ผรุสวาจาวิรติ ” จากการ พูดคำหยาบ 
  • ๗. สัมผัปปลาปวิรติ ” จากการพูดเพ้อเจ้อ 
มโนสุจริต ๓ ได้แก่ 
  • ๘. อนภิชฌา ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ 
  • ๙. อพยาบาท ความไม่ปองร้าย 
  • ๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ 
 คำว่า “ วิรติ” คือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้งดเว้น คืองดเว้น จากอกุศลกรรมบถ ๗ ได้แก่ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จนถึงงดเว้นจากการพูดเพ้อ เจ้อ การงดเว้นจากอกุศลทางใจ ๓ ประการ คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาทิฏฐิ นั้น ไม่เกี่ยวกับการงดเว้นแต่เป็นสภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กัน คือ อโลภะความไม่โลภเกิดขึ้นในจิต โลภะ คือความโลภก็จะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นต้น
วิรติ มี ๓ ประเภท คือ
๑. สัมปัตตวิรติ คือ งดเว้นเฉพาะหน้า 
เกิดขึ้นในขณะที่อารมณ์เฉพาะหน้าและสามารถงดเว้นได้ ได้แก่ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ของบุคคลที่ไม่ได้สมาทานศีล เมื่อกำลังจะฆ่าสัตว์ก็คิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับตนประการใดประการหนึ่งแล้วจึงไม่ฆ่า คือ
  • ๑. พิจารณาถึงชาติ 
  • ๒. ตระกูล 
  • ๓. วัย 
  • ๔. ความเป็นผู้มีความรู้ 
  • ๕. คิดว่าการฆ่าสัตว์เป็นการกระทำของคนยากจนต่ำช้า
    ตัวอย่างแรก เช่น นายแดงขณะอยู่ต่อหน้าลูกศิษย์ เมื่อถูกยุงกัดก็ไม่ฆ่า เพราะคิดว่า “เราเป็นถึงครูอาจารย์ถ้าทำไม่ดีต่อหน้าลูกศิษย์ ก็จะถูกตำหนิ ได้”
    ตัวอย่างที่สอง นายดำไม่ได้สมาทานศีล เมื่อถูกยุงกัดยกมือจะตบยุง เกิดความกลัวบาปขึ้นมาในขณะนั้นก็ลดมือลงไม่ตบยุง
๒. สมาทานวิรติ คือ งดเว้นเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว
หลังจากสมาทานแล้วก็ตั้งใจรักษาศีล ในเวลาที่สมาทานและในเวลาต่อจากนั้นไปก็ ไม่ล่วงละเมิดศีล แม้ว่าต้องสละชีวิตของตน
ตัวอย่าง มีเรื่องเล่าว่า อุบาสกผู้หนึ่งเมื่อสมาทานศีลในสำนัก ของพระปิงคลพุทธรักขิตเถระแล้วก็กลับไปไถนา ในเวลานั้น โคของเขาหายไป เขาจึงตามหาโคไปถึงภูเขาทันตรวัฑฒมานะ ณ ที่นั้น เขาถูกงูใหญ่รัดเอาไว้ ขณะนั้นเขาจึงคิดว่า “เราจะเอามีดคมเล่มนี้ตัดหัวมันเสีย” แล้วกลับคิดได้อีกว่า “เราได้สมาทานศีลที่ได้ไปรับมาจากสำนักของท่านผู้เป็นครูน่ายกย่องแล้ว เราจะมาทำลายศีลนั้นไม่สมควรเลย” เขาคิดอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง จึงตัดสินใจได้อย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ตายก็ตาย แต่จะไม่ยอมเสียศีล” จึงขว้างมีดคมที่เหน็บอยู่ที่บ่าทิ้งไปในป่า ใน เวลานั้นงูก็ปล่อยเขาแล้วเลื้อยไป

๓. สมุจเฉทวิรติ คือ งดเว้นโดยเด็ดขาด
เป็นศีลของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทำโดยเด็ดขาด แม้คิดว่าจะทำก็ไม่มี การทำกุศลทางกาย มี ๓ ประการ และการทำกุศลทางวาจา มี ๔ ประการ การทำกุศลทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ รวมเป็นกุศลกรรมบถ ๗ เมื่อว่า โดยองค์ธรรม คือสภาวธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนา คือ ความตั้งใจที่จะงดเว้น หรือมี วิรติ คือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้งดเว้นก็ได้ เจตนา กับ วิรติ นั้นมีสภาพไม่เหมือนกัน เช่น บางคนตั้งใจรักษา ศีล คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากการทำชั่ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ยั่วยุให้ทำชั่ว
เกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่สามารถจะงดเว้นได้ ยอมประพฤติละเมิดศีลกระทำความชั่วนั้นๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คือ เขามีแต่เจตนาอย่างเดียว แต่ไม่มีวิรติ (ความงดเว้น)เกิดขึ้นในเวลานั้น

บางคนมีเจตนาคือตั้งใจด้วยและมีวิรติ คืองดเว้นได้จริงๆด้วย เหมือนตัวอย่างอุบาสกที่อยู่ใกล้ภูเขาทันตรวัฑฒมานะ เป็นตัวอย่างเพื่อให้ทราบว่าเจตนาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ส่วน วิรติ ก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน สมาทานวิรติ คือ การงดเว้นจากการทำบาปได้เพราะว่าได้มีการสมาทานศีลสิกขาบทมาก่อนแล้ว ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว โดยนัยนี้ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าบุคคลนี้ต้องมีเจตนาคือความตั้งใจที่จะงดเว้นไว้ก่อน ฉะนั้นจึงมีเจตนาเป็นใหญ่เป็นประธานเขาจึงสมาทานศีลสิกขาบท แล้วงดเว้นได้สมเจตนาในภายหลัง ส่วนผู้ที่ไม่ได้สมาทานศีลสิกขาบทมาก่อน หรือไม่ได้มีเจตนาจะงดเว้นมาก่อน แต่งดเว้นได้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเรียกว่า “สัมปัตตวิรติ” เพราะการงดเว้นได้ นี้เป็นสภาวธรรมของ วิรติ โดยตรง ส่วนการงดเว้นโดยเด็ดขาดขณะที่พระอริยเจ้าบรรลุมรรค ในมรรคจิตมีองค์ธรรมที่เป็นวิรติแน่นอนอยู่แล้ว เพราะวิรติเป็นองค์มรรคด้วย 

องค์มรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ในองค์ ๘ นี้ ไม่มีเจตนาเป็นองค์มรรค มีแต่วิรติ ๓ คือ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

ฉะนั้น สำหรับพระอริยเจ้าแล้ว เจตนาไม่เป็นเหตุ มีแต่วิรติเท่านั้นที่เป็นเหตุแห่งการงดเว้น จึงกล่าวได้ว่า การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๗ มีปาณาติบาต เป็น ต้น องค์ธรรม คือ “ เจตนา” ก็ได้ หรือจะมี “ วิรติ” ก็ได้

สำหรับ อนภิชฌา เมื่อว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ อโลภะ ซึ่งเป็น สภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ หมายความว่า ถ้าความไม่โลภเกิดขึ้น ขณะนั้นความโลภก็ไม่มี
ส่วน อัพยาบาท องค์ธรรม ได้แก่ อโทสะ สภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ โทสะ ในขณะที่ปรารถนาที่จะให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข ซึ่งเป็นธรรมชาติ ของเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท ก็ไม่มี 
และ สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา คือปัญญาที่รู้ตรงต่อความเป็นจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วที่ตนทำไว้ ที่เรียกว่ากัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้น องค์ธรรมของมโนสุจริต หรือ กุศลมโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา อัพยาบาท สัมมาทิฏฐิ จึงได้แก่ ธรรมที่ประกอบกับเจตนา ได้แก่ อโลภะ อโท สะ และปัญญา ตามลำดับ การทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่ว่าด้วยการประพฤติ กุศลกรรม ซึ่งทางแห่งการประพฤติกุศลกรรมนั้นได้กล่าวไว้แล้ว มี ๑๐ ประการ การประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นไปในทางแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น นอกจากจะให้ความสุขกายสบายใจในภพนี้แล้ว ยังจะให้ผลในภพหน้าชาติหน้าและภพชาติต่อๆ ไป และจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์อีกด้วย


๔.๑.๓ มโนทุจริต ๓

มโนทุจริต คือ อกุศลกรรมที่เกิดทางใจ เพียงแต่คิดไว้ในใจยังไม่ได้ กระทำออกมาทางกาย ทางวาจา ก็ได้ชื่อว่า เป็นการทำบาปแล้ว
มโนทุจริต ๓ ได้แก่
๑. อภิชฌา
๒. พยาบาท
๓. มิจฉาทิฏฐิ

๑. อภิชฌา
คือ ความเพ่งเล็งในทรัพย์ของผู้อื่นและอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อให้มาเป็นของตน องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก โลภะ มี ๒ อย่าง คือ
  • ๑.๑ ความอยากได้โดยชอบธรรม เมื่อเกิดความอยากได้สิ่งต่างๆ ก็เสาะแสวงหามาโดยสุจริตไม่ ผิดศีลธรรม เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือ การขอ 
  • ๑.๒ ความอยากได้โดยไม่ชอบธรรม เมื่อเกิดความอยากได้ ก็คิดหาทางที่จะขโมย ฉ้อโกง จี้ ปล้น หรือใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น
ถ้าเกิดความโลภในสิ่งของๆ ผู้อื่นแล้ว และตราบใดที่ยังไม่คิดว่า “ ขอ สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ก็ยังไม่เป็นอภิชฌา อภิชฌาเกิดเพราะมีทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเหตุ แต่ก็ต่างกับอทินนาทาน คือ ถ้าการลักเอาสิ่งของๆ ผู้อื่นมาด้วยเจตนาตั้งใจลักจัดเป็นอทินนาทาน แต่ถ้าเกิดความโลภอยากได้อย่างแรงกล้าแล้วเพียงแต่เพ่งจ้องสิ่งนั้นๆของผู้อื่น และปรารถนาเพื่อจะได้สิ่งนั้นๆมาเป็นของตน อย่างนี้จัดเป็นอภิชฌา

องค์ประกอบของอภิชฌา มี ๒ ประการ คือ
๑. ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
๒. มีจิตคิดอยากจะได้มาเป็นของตน

ผลบาปของความเพ่งเล็งอยากได้
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อความเพ่งเล็งอยากได้สำเร็จลงโดยมีองค์ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้เมื่อมีทรัพย์และคุณความดี ก็จะทำให้ทรัพย์และคุณความดีนั้นตั้งอยู่ได้ไม่นาน ย่อมจะทำให้เกิดในตระกูลที่ต่ำ ขัดสนในลาภสักการะ มักจะถูกติเตียนอยู่เสมอ

๒. พยาบาท
คือ ความมุ่งร้าย คิดทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น องค์ธรรมได้แก่โทสะ โทสะ คือ ความโกรธที่เป็นมุ่งทำให้ผู้อื่นได้รับความวิบัติ พยาบาทจะมีโทษน้อยหรือมากก็เป็นเช่นเดียวกันกับผรุสวาท

องค์ประกอบของพยาบาท มี ๒ ประการ
๑. มีผู้อื่น
๒. คิดที่จะให้ความเสียหายเกิดกับผู้นั้น

พยาบาทที่มุ่งจะให้สัตว์ตาย มีความแตกต่างกับปาณาติบาต คือ ในการทำให้สัตว์ตายมีเจตนาตั้งใจจะฆ่าให้ถึงแก่ความตายเป็นประธาน แต่ถ้ามีความโกรธเฉพาะกับบุคคลหนึ่ง มุ่งจะทำลายล้างบุคคลนั้น เห็นว่าตนจะหมดความโกรธได้ เมื่อบุคคลนั้นพินาศไปหรือตายไป เช่นนี้ความโกรธอย่างแรงกล้านั้นเป็นประธาน แต่เจตนาเป็นเพียงธรรมชาติที่มาคล้อยตามความโกรธเท่านั้น อย่างนี้จัดเป็นพยาบาท แม้ว่าผู้นั้นยังไม่ตายไปหรือพินาศไป

ผลบาปของความพยาบาท
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อความพยาบาทสำเร็จลงโดย มีองค์ ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผลตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ   
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้มีอายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียน มีผิวพรรณหยาบกร้าน

๓. มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ คือ การเห็นผิดจากความเป็นจริง พระพุทธองค์ได้ทรง แสดงไว้อย่างกว้างขวาง เช่น สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นต้น หรือ มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตร หรือ นิยต มิจฉาทิฏฐิ ที่แสดงไว้ในสามัญผลสูตร เป็นต้น

องค์ประกอบของมิจฉาทิฏฐิ มี ๒ ประการ
๑. เนื้อความที่ได้ยึดไว้นั้นผิดจากความจริง
๒. มีความเห็นว่าเนื้อความนั้นเป็นความจริง

มิจฉาทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นหลักของความเห็นผิด เรียกว่านิยตมิจฉาทิฏฐิ มี ๓ ประการ 
  • ๓.๑ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการ ปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า คติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี

    สามัญผลสูตรแสดงนัตถิกทิฏฐิว่ามีเหตุอยู่ ๑๐ ประการ มีดังนี้
    ๑. เห็นว่า การทำทาน ไม่มีผล
    ๒. เห็นว่า การบูชา ไม่มีผล
    ๓. เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญ ไม่มีผล
    ๔. เห็นว่า การทำดี ทำชั่ว ไม่มีผล
    ๕. เห็นว่า ผู้มาเกิดในภพนี้ ไม่มี
    ๖. เห็นว่า ผู้จะไปเกิดในภพหน้า ไม่มี
    ๗. เห็นว่า บุญคุณของมารดา ไม่มี
    ๘. เห็นว่า บุญคุณของบิดา ไม่มี
    ๙. เห็นว่า ผู้ที่เกิดและโตทันที เช่นเทวดา พรหม เปรต ไม่มี
    ๑๐. เห็นว่า ผู้รู้แจ้งโลก คือ พระพุทธเจ้า ไม่มี 
  • ๓.๒ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดี ผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่า ปฏิเสธผลไปด้วย สามัญญผลสูตรได้แสดงไว้ว่า การปฏิเสธเหตุนั้น เป็นการปฏิเสธ ชนกกรรม คือ เหตุที่ให้เกิด และปฏิเสธอุปัตถัมภกกรรม คือ เหตุที่ช่วย อุปถัมภ์ให้สัตว์ทั้งหลายมีความเศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจ 

  • ๓.๓ อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุและผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ สามัญผลสูตรได้แสดง อกิริยทิฏฐิ สรุปได้ดังนี้
    ๑.การทำดี การทำชั่ว จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๒. การทำร้ายโดยการตัดอวัยวะผู้อื่น จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป 
    ๓. การลงโทษโดยการเฆี่ยนตีทำให้เขาได้รับความทุกข์ จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๔. การเอาทรัพย์ของคนอื่นมาทำให้เขาเศร้าโศกเสียใจ 
    จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๕. การลงโทษตนเองหรือแนะนำคนอื่น ให้ลงโทษตนเองให้ลำบากเหมือนตน ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป
    ๖.ตนเองมีความกระวนวายใจเดือดร้อนใจ หรือทำให้คนอื่นกระวนกระวายใจเดือดร้อนใจ ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป
    ๗. การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่ เป็นบุญไม่เป็นบาป
    ๘. การประพฤติผิดในกาม การมุสา จะทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่นทำ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

    เหตุเกิดของมิจฉาทิฏฐิ
    คัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต แสดงเหตุเกิดไว้เพียงเหตุเดียว คือ อโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจผิด) ทุกนิบาต กล่าวไว้ ๒ ประการ คือ การฟังมิจฉาธรรมจากผู้อื่น และอโยนิโสมนสิการ
    อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา กล่าวไว้ ๒ ประการ คือ การคบหากับคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ และการมีอัชฌาสัยที่เป็นเหตุภายใน ทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเอง

    การกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ต้องศึกษาธรรมที่เป็นเหตุสร้างความเข้าใจถูกว่าอะไรถูกอะไรผิด คบกับสัตตบุรุษผู้เป็นคนดี การกำจัดมิจฉาทิฏฐิบางชนิดสามารถทำได้ด้วยวิปัสสนาญาณ มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ด้วยโสดาปัตติมรรค

    ผลบาปของ นิยตมิจฉาทิฏฐ
    นิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้ ต่างก็ปฏิเสธบุญและบาป เป็นการปฏิเสธกรรม และผลของกรรมนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุให้ท้อถอยในการทำความดี และสนับสนุนให้ทำความชั่ว จึงมีแต่หนทางที่จะนำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ความเห็นผิดเช่นนี้แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือแก้ไขได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของบุคคลเหล่านั้น

    สรุป มโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะ ยังผลให้เกิดอกุศลกรรมอื่นได้ดังนี้

    อภิชฌา มื่อความโลภเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๖ คือ
    ๑. อทินนาทาน
    ๒. กาเมสุมิจฉาจาร
    ๓. มุสาวาท
    ๔. ปิสุณวาจา
    ๕. สัมผัปปลาปะ
    ๖. มิจฉาทิฏฐิ

    พยาบาท เมื่อความโกรธเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๖ คือ
    ๑. ปาณาติบาต
    ๒. อทินนาทาน
    ๓. มุสาวาท
    ๔. ปิสุณวาจา
    ๕. ผรุสวาจา
    ๖. สัมผัปปลาปะ

    มิจฉาทิฏฐิ เมื่อความเห็นผิดเกิดขึ้น จะผลักดันให้ทำอกุศล ๑๐ คือ ๑. ปาณาติบาต
    ๒. อทินนาทาน
    ๓. กาเมสุมิจฉาจาร
    ๔. มุสาวาท 
    ๕. ปิสุณวาจา 
    ๖. ผรุสวาจา 
    ๗. สัมผัปปลาปะ
    ๘. อภิชฌา
    ๙. พยาบาท
    ๑๐. มิจฉาทิฏฐ

    เมื่อทราบว่าอกุศลมีอะไรบ้าง และผลแห่งอกุศลจะนำพาให้ได้รับทุกข์ รับโทษอย่างไรแล้ว ต่อไปให้ศึกษาต่อเรื่องกุศล คือ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล


วันศุกร์

๔.๑.๒ วจีทุจริต ๔

วจีทุจริต มี ๔ คือ
๑. มุสาวาท คือ การมีเจตนากล่าวคำเท็จ เป็นคำพูดที่ไม่จริง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง จะเป็นการพูดด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นพูด เขียนหนังสือ เขียนจดหมาย หรือประกาศกระจายเสียง ก็จัดเป็นมุสาวาททั้งสิ้น คำพูดเท็จเป็นคำที่ไม่จริง รวมไปถึงการแสดงกิริยาอาการทางกายด้วย เช่น ส่ายหน้า พยักหน้า ฯลฯ การพูดเท็จจะสำเร็จทางวาจาเป็นส่วนมาก ฉะนั้น คำพูดเท็จ จึงเป็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกายหรือวาจา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยความคิดจะทำลายประโยชน์เขา


องค์ประกอบของการพูดเท็จ มี ๔ ประการ คือ
  • ๑. เรื่องที่ไม่จริง 
  • ๒. มีจิตคิดจะทำให้เขาเข้าใจคลาดเคลื่อน 
  • ๓. ความพยายามอันเกิดจากความคิดนั้น 
  • ๔. เมื่อพูดแล้วมีคนเชื่อคำพูดนั้น
เรื่องที่ไม่จริง เป็นอย่างไร ? คือ เรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ตนเองนำไปกล่าวหรือแสดงให้เขาเข้าใจผิดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีเรื่องไม่จริงนั้นอยู่ในใจเท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวหรือแสดงออกมาก็ยังไม่เป็นมุสาวาท แต่คิดจะกล่าวเรื่องไม่จริงและมีเจตนาจะทำลายประโยชน์ของผู้ฟังแล้วกล่าวหรือ แสดงออก และผู้ฟังรู้เนื้อความนั้นและเชื่อเนื้อความนั้น ได้ชื่อว่ามุสาวาทแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำลายประโยชน์ คำพูดนั้นก็จัดเป็นเพ้อเจ้อ เพราะเรื่องนั้นตกเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ 

อนึ่ง ถึงแม้เมื่อคิดจะมุสาวาทและตั้งใจอยู่นิ่งๆ โดยคิดว่า “ถ้าเรานิ่งเฉยอยู่อย่างนี้ เขาจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น” ก็เป็นความพยายามเหมือนกัน เพราะอาการนิ่งนั้นเป็นเพราะจัดแจงแต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์จะมุสา

ผลของมุสาวาท
การส่งผลในปฏิสนธิกาล
การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ แล้ว จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
การส่งผลในปวัตติกาล
ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลนี้อีก ผลในปวัตติกาล เจตนากรรมของมุสาวาทจะส่งผลทำให้ ตาส่อน เพราะเหตุที่เวลากล่าวคำเท็จจะมีอาการ เช่น คอยก้มหน้าต่ำ คอยเบนสายตาหลบ ไม่กล้าสบตากับผู้ที่ตนพูดด้วย เพราะมุ่งจะกล่าวคำเท็จ มีฟันเกไม่เรียบชิดกัน เพราะเหตุที่คำเท็จนั้นเปล่งออกมาเพื่อทำลายประโยชน์ ปากมีกลิ่นเหม็นเพราะคำที่มุ่งทำลายประโยชน์เป็นคำที่น่ารังเกียจเหมือนปล่อยลมเสียออกมาทางปาก คนไม่เชื่อถือในคำพูด พูดติดอ่าง หรือเป็นใบ้ เพราะกรรมของมุสานั้นส่งผลทำให้ใครๆไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความเชื่อถือคำพูด เป็นต้น

การงดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
จะมีอานิสงส์ส่งผลในปวัตติกาล เช่น เป็นคนหน้าตาแจ่มใส ตาไม่ส่อน ไม่เข ฟันไม่เก ปากมีกลิ่นหอม จะกล่าวเรื่องใดพูดอะไรสั่งการใดๆ ก็มีคนเชื่อฟัง ลูกน้องบริวารน้อมรับฟังคำสั่ง และ ทำตามเพราะเชื่อในคำพูด ไม่พูดติดอ่าง ไม่เป็นใบ้ เป็นต้น
๒. ปิสุณวาจา เป็นคำพูดของบุคคลที่ต้องการทำลายความรักความสามัคคี ของคนที่เขาปองดองกันดีอยู่ ให้ผิดใจกัน แล้วหันมารักตนหรือสัมพันธ์กับตนแทน ถ้าผู้แตกแยกนั้นเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมจะบาปมาก เช่น การพูดยุยงให้สงฆ์แตกแยกกันไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นบาปมาก

องค์ประกอบของการพูดส่อเสียดมี ๔ ประการ คือ
  • ๑. มีผู้ทำให้ถูกแตกแยก 
  • ๒. มีเจตนามุ่งให้แตกแยก 
  • ๓. เพียรพยายามให้เขาแตกแยก 
  • ๔. เขาได้แตกแยกกันสมใจคิด 
ถ้าพยายามพูดทำให้เขาแตกแยกกันแต่ว่าไม่สำเร็จผล ก็ยังไม่จัดเป็นปิสุณวาจา

ผลบาปของการพูดส่อเสียด
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดส่อเสียดสำเร็จลงโดย มีองค์ประกอบทั้ง ๔ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรม เช่นนี้ส่งผลตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ เป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้แตกแยกจากมิตรสหาย ถูกติเตียน มักถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นจริง เป็นผู้ตำหนิตนเองอยู่เสมอๆ
 

๓. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ การด่าทอ การสาปแช่งต่างๆ ทำให้ผู้ถูกด่าเกิดความเศร้าใจเสียใจเดือดร้อนใจ เป็นการกระทำที่เกิดมาจากอำนาจของความโกรธความไม่พอใจ การด่าว่าผู้มีอุปการคุณ เช่น บิดา มารดา หรือผู้มีอุปการคุณอื่นๆ ด่าว่าผู้มีศีล เช่น พระภิกษุสงฆ์ สามเณร หรือ แม่ชี จะมีบาปมากมีโทษมาก อนึ่ง คำพูดบางคำแม้ว่าเป็นคำหยาบ แต่เมื่อผู้พูดมีเจตนาอ่อนโยน ก็ไม่จัดเป็นผรุสวาจา

ตัวอย่างเช่น มีเรื่องเล่าว่า เด็กคนหนึ่งไม่เชื่อฟังคำมารดาว่าอย่าไปเที่ยวเล่นในป่า เมื่อมารดาไม่อาจห้ามได้ จึงด่าออกไปว่า “ ขอให้มึงถูกแม่ควายดุไล่ขวิดเถอะ ” ต่อมาเขาก็เผชิญกับแม่ กระบือป่าตามคำของมารดาจริงๆ เด็กได้ตั้งใจอธิษฐานว่า “ มารดากล่าวถึงสิ่งใดแก่เราด้วยสักแต่ว่าพูดไปใจมิได้คิดถึงสิ่งนั้นจริง ขอสิ่งนั้นจงอย่ามี คิดถึงสิ่งใดใคร่จะให้มีจริง ขอสิ่งนั้น จงมีเถิด” เมื่อจบคำอธิษฐาน แม่กระบือก็หยุดเฉยราวกับว่าถูกตรึงไว้กับที่ ณ ที่นั้น ตัวอย่างนี้ คำพูดของมารดาไม่มีเจตนาทำร้ายบุตร ถึงแม้คำพูดจะเป็นคำหยาบก็ตาม หรือคำพูดที่ไพเราะแต่มีเจตนาเย้ยหยันทำให้เขาเจ็บใจ ก็จัดเป็นผรุสวาจา เช่น การกล่าวประชดหรือดูถูกผู้อื่นเกี่ยวกับ สกุลว่า “ โอ ท่านผู้มีศักดิ์สูงส่ง ไฉนจึงแสร้งทำเป็นคนเข็ญใจ อนาถาอยู่เล่า”

องค์ประกอบของการพูดคำหยาบ มี ๓ ประการ คือ
  • ๑. มีความโกรธ 
  • ๒. มีผู้ที่ตนจะพึงด่าว่า 
  • ๓. มีการพูดกล่าววาจาสาปแช่งหรือด่าทอ 
ผลบาปของการพูดคำหยาบ 
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดคำหยาบสำเร็จลงโดย มีองค์ ประกอบทั้ง ๓ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล ตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้มีกายวาจาหยาบ ตายด้วยการหลงลืมสติ แม้มีทรัพย์สินก็จะพินาศ

๔. สัมผัปปลาปะ  คือ การพูดเพ้อเจ้อ มีเจตนาที่จะพูดเรื่องไร้ประโยชน์ แต่ถ้ามีเจตนาและพูดเรื่องไร้ประโยชน์แล้ว ถ้าผู้อื่นยังไม่เชื่อ ก็ยังไม่เป็นสัมผัปปลาปะ แต่ถ้าผู้อื่นถือเอาคำพูดเรื่องไร้ประโยชน์นั้นโดยความเป็น สาระ เจตนานั้นก็สำเร็จเป็นสัมผัปปลาปะแล้ว สัมผัปปลาปะนั้นเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ มีแต่จะเป็นเหตุ เป็นกระแสแห่งราคะ แห่งความยินดีพอใจของผู้อื่นนั้นมากขึ้น โดยปกติมนุษย์ปุถุชนมักมีคำพูดเล่นกันอยู่เสมอเพื่อสนุกรื่นเริง เพื่อหัวเราะเฮฮา การยิ้ม การหัวเราะนั้นเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าถือว่าเป็นกระแสแห่งราคะ คือ คนที่ยังมีราคะอยู่เท่านั้นจึงยิ้มและหัวเราะ ส่วนพระอริยเจ้าชั้นพระอรหันต์ หรือ พระอนาคามีซึ่งตัดกระแสราคะได้แล้วย่อมไม่ยิ้มไม่หัวเราะอย่างคนธรรมดา เมื่อ เกิดความปีติปราโมทย์ในธรรมก็เพียงแต่แย้ม เมื่อเห็นเหตุการณ์ใดที่ควรแก่การกล่าวขยายให้ผู้อื่นได้ทราบ ก็แสดงอาการแย้ม อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกระทำเสมอ การพูดเล่นในเรื่องไร้สาระ การสรวลเสเฮฮานั้นทั้งหมดเป็นคำพูดไร้ประโยชน์ แม้พูดมากเพียงไรก็ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ใคร ส่วนคำที่มีประโยชน์ย่อมประเสริฐกว่า เพราะฟังแล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน ได้ ได้แก่ คำพูดว่า “ จงมีสติ สำรวจกาย วาจาใจ เพื่อการประพฤติศีล สมาธิ” หรือ คำที่ประกอบด้วยนิพพาน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ฯลฯ คำเหล่านี้ฟังแล้วเป็นเหตุให้กิเลสสงบระงับ คือ สงบจาก ราคะ โทสะ เป็นต้น จัดเป็นคำพูดอันประเสริฐกว่าแม้จะพูดเพียงเล็กน้อย นี้เป็นตัวอย่างเบื้องสูง

คำพูดที่มีประโยชน์แบบคำธรรมดาสามัญ เช่น ทำอย่างไรดี ทำอย่างไรชั่ว อะไรควรเว้น อะไรควรทำ ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร เป็นต้น ผู้ฟัง ฟังแล้วนำไปปฏิบัติตามทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่สังคมได้

องค์ประกอบของการพูดเพ้อเจ้อ มี ๒ ประการ คือ
  • ๑. เจตนากล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ 
  • ๒. กล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ 
สัมผัปปลาปะ เป็นการกล่าวคำไม่จริง แต่ก็มีความแตกต่างกับมุสาวาท คือ เจตนาที่มุ่งจะกล่าวเรื่องไร้สาระอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นไปโดยต้องการให้เขาเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วทำประโยชน์ของเขาให้เสียหาย อย่างนี้เป็นมุสาวาท เกี่ยวกับคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ เรียกว่า เดรัจฉานกถา เพราะเป็นสิ่ง ที่ขวาง มรรค ผล นิพพาน

เดรัจฉานกถา มี ๓๒ ประการ
๑. พูดเรื่อง พระมหากษัตริย์ และ ราชวงศ์
๒. พูดเรื่อง โจร
๓. พูดเรื่อง ราชการ การเมือง
๔. พูดเรื่อง ทหาร ตำรวจ
๕. พูดเรื่อง ภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น
๖. พูดเรื่อง อาวุธยุทโธปกรณ์
๗. พูดเรื่อง อาหารการกิน
๘. พูดเรื่อง เครื่องดื่ม สุราเมรัย
๙. พูดเรื่อง การแต่งตัว เสื้อผ้าอาภรณ์
๑๐. พูดเรื่อง การหลับนอน
๑๑. พูดเรื่อง ดอกไม้ การจัดประดับ ดอกไม้
๑๒. พูดเรื่อง กลิ่นหอมต่าง ๆ
๑๓. พูดเรื่อง วงศาคณาญาติ
๑๔. พูดเรื่อง รถ เรือ ยานพาหนะต่างๆ
๑๕. พูดเรื่อง หมู่บ้าน ร้านค้าต่างๆ
๑๖. พูดเรื่อง นิคมต่างๆ (หมู่บ้านใหญ่, เมืองขนาดเล็ก)
๑๗. พูดเรื่อง เมืองหลวง จังหวัด
๑๘. พูดเรื่อง ชนบท
๑๙. พูดเรื่อง ผู้หญิง
๒๐. พูดเรื่อง ผู้ชาย
๒๑. พูดเรื่อง หญิงสาว
๒๒. พูดเรื่อง ชายหนุ่ม
๒๓. พูดเรื่อง วีรบุรุษ ความกล้าหาญ
๒๔. พูดเรื่อง ถนนหนทาง
๒๕. พูดเรื่อง ท่าน้ำ แหล่งน้ำ
๒๖. พูดเรื่อง ญาติ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว
๒๗. พูดเรื่อง ต่างๆ นานา
๒๘. พูดเรื่อง โลกและผู้สร้างโลก
๒๙. พูดเรื่อง มหาสมุทร และการ สร้างมหาสมุทร
๓๐. พูดเรื่อง ความเจริญ และความ เสื่อมต่างๆ
๓๑. พูดเรื่อง ป่าต่างๆ
๓๒. พูดเรื่อง ภูเขาต่างๆ

ขอยกคำกล่าวจากพระพุทธภาษิต มีความว่า " คำพูดแม้ตั้งพันแต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมสู้คำเดียวที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ บทเดียวที่เป็นประโยชน์ซึ่งฟังแล้วทำให้สงบได้ นั้น ประเสริฐกว่า
  

ตัวอย่าง เรื่องชายเคราแดงผู้ฆ่าโจร ชายผู้นี้มีลักษณะพิเศษ คือ เคราแดงและนัยตาเหลือกเหลือง หน้าตาท่าทางเป็นคนดุร้าย เขาไปสมัครเป็นโจรกับหัวหน้าโจรกลุ่มหนึ่ง หัวหน้าโจรเห็นเขาแล้วรู้ว่า “ ชายนี้กักขฬะนัก สามารถตัดนมแม่หรือนำเลือดในลำคอของพ่อออกมากินได้” จึงปฏิเสธไม่รับเข้าหมู่ ชายนั้นไม่ลดละความพยายาม เขาเข้าตีสนิทกับสมุนโจรคนหนึ่ง พยายามทำทุกอย่างจนสมุนโจรพอใจ พาไปหาหัวหน้าโจรอีกครั้งหนึ่ง อ้อนวอนให้รับไว้ในหมู่ โดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการะมากต่อพวกตน หัวหน้าโจรขัดไม่ได้จึงรับไว้

วันหนึ่งโจรกลุ่มนี้ถูกจับ พวกอำมาตย์ขอให้หัวหน้าโจรฆ่าลูกน้องของตนทั้งหมดแล้วจะปล่อยหัวหน้าให้เป็นอิสระ หัวหน้าโจรไม่ยอมรับทำ จึงถามโจรคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรับ มาถึงนายเคราแดง เขารับ แล้วฆ่าโจรพวกของตนทั้งหมด เขาจึงได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ต่อมาวันหนึ่ง พวกอำมาตย์จับโจรอีกกลุ่มหนึ่งมีจำนวนร้อยได้ จึงขอให้ชายเคราแดงฆ่าโจรกลุ่มนั้นอีก เขาฆ่าหมด พวกชาวเมืองและอำมาตย์เห็นว่าเขาควรแก่งานฆ่าคนประจำ จึงตั้งตำแหน่งเพชฌฆาตให้นายเคราแดง

นายเคราแดงทำอาชีพเพชฌฆาตอยู่ถึง ๕๕ ปี เมื่อแก่ลงมากไม่ สามารถฆ่าคนให้ตายด้วยการฟันครั้งเดียวได้ เพราะกำลังถดถอย ชาวเมืองเห็นว่าทำให้คนถูกฆ่าได้รับทุกข์ทรมาน จึงร่วมกันถอดจากตำแหน่งเพชฌฆาตเพื่อให้คนอื่นทำแทน เมื่อออกจากตำแหน่งแล้ว เขาต้องการทำกิจ ๔ อย่าง เพื่อเป็นสิริมงคล คือ
๑. นุ่งผ้าใหม่
๒. ดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่
๓. ประดับดอกมะลิ
๔. ทาของหอมทั่วกาย
ของทั้งหมดนี้ ประชาชนเป็นผู้จัดหาให้ตามที่เขาต้องการ เมื่อเขานุ่งผ้าใหม่เตรียมจะบริโภคยาคู ขณะเดียวกันนั้นเองพระสารีบุตรเถระเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ พิจารณาว่าควรจะไปโปรดใคร ได้เห็นนายเคราแดงนั้นแล้ว ทราบด้วยญาณว่า เมื่อท่านไปโปรดเขา เขาจักถวายอาหารแก่ท่านและจักได้สมบัติใหญ่เพราะบุญนั้น นายเคราแดงพอเห็นพระสารีบุตรก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า “ เราได้ฆ่าคนมาเป็นอันมาก เป็นเวลานานถึง ๕๕ ปี บัดนี้ไทยธรรมของเราก็มีแล้ว พระเถระก็มายืนอยู่เฉพาะหน้า เราควรทำบุญในวันนี้” ดังนี้แล้ว ก็ลงไปนิมนต์พระเถระให้ขึ้นเรือน แล้วถวายยาคูลงในบาตร ราดเนยใสใหม่ลงไปแล้ว ได้ยืนพัดพระเถระอยู่

ขณะดูพระเถระฉันอยู่นั้นก็เกิดความอยากจะบริโภคยาคูเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้บริโภคอาหารเช่นนี้มาเป็นเวลานาน พระเถระรู้วาระจิตของเขา จึงบอกให้เขาไปบริโภคยาคูของเขาเสีย ให้คนอื่นมาทำหน้าที่พัดท่านแทน ขณะที่เขากำลังบริโภคยาคู พระสารีบุตรก็สั่งให้คนๆ นั้นไปพัดให้นายเคราแดง นายเคราแดงบริโภคจนอิ่มเต็มที่แล้วก็กลับมานั่งพัด พระสารีบุตรฉันเสร็จแล้วก็อนุโมทนา แต่ใจของนายเคราแดงฟุ้งซ่าน ไม่อาจฟังธรรมเทศนาได้

พระเถระสังเกตเห็นจึงถาม เขาตอบว่า “ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมหยาบช้ามาเป็นเวลานาน ข้าพเจ้าฆ่าคนมาเป็นจำนวนมาก เมื่อระลึกถึงกรรมนั้นแล้ว ก็ไม่อาจน้อมจิตไปตามธรรมเทศนาได้ ” พระเถระคิดว่าจักลวง เพื่อให้เขามีใจปลอดโปร่งฟังธรรมแล้วจักได้ผลมาก จึงถามว่า “ ท่านทำเอง หรือใครสั่งให้ทำ ” เขาตอบว่า “ พระราชาสั่งให้ทำ ” พระเถระกล่าวว่า “ เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศล จะมีแก่ท่านได้อย่างไร ” เมื่อได้ฟังเช่นนั้นเขาก็เข้าใจว่าบาปไม่มีแก่เรา จึงตั้งใจฟังธรรมได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระสารีบุตรอนุโมทนาเสร็จแล้วเดินกลับ เขาเดินตามไปส่งโดยระยะทางครู่หนึ่งแล้วเดินกลับ ขณะนั้นเองแม่โคนมตัวหนึ่งขวิดเขาถึงแก่ความตาย เขาได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต

ภิกษุทั้งหลายสนทนาถึงเรื่องนี้ว่า “ เคราแดงตายแล้วไปเกิดที่ใดหนอ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต”
ภิกษุทูล ถามว่า “ เขาทำกรรมมาช้านาน จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตได้ อย่างไร”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ บุรุษนั้นได้กัลยาณมิตรเช่นพระสารีบุตรแล้ว ได้ฟังธรรมแล้ว สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อตายแล้ว จึงไปเกิดในภพดุสิต”
ภิกษุทูลถามว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นทำอกุศลกรรมไว้มาก เพียงแต่ฟังอนุโมทนากถา จะยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้อย่างไร”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือเอาปริมาณแห่งคำสุภาษิตอันเราแสดงแล้วว่าน้อยหรือมาก เพราะว่าแม้เพียงคำเดียว แต่เป็นวาจาอันประกอบด้วยประโยชน์ย่อมประเสริฐโดยแท้

ผลบาปของการพูดเพ้อเจ้อ
ผลของบาป ในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดเพ้อเจ้อสำเร็จลงโดยมี องค์ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้เป็น บุคคลที่ไม่มีใครเชื่อถือในคำพูด ไม่มีอำนาจ หรือ วิกลจริต



วันจันทร์

๔.๑.๑ กายทุจริต ๓

กายทุจริต ๓
๑. ปาณาติบาต ปาณาติบาต คือ เจตนาทำให้สิ่งมีชีวิตตกไปโดยเร็ว คือ ตายไปก่อนที่จะหมดอายุ ซึ่งโดยปกติธรรมดาแล้วสัตว์มีลักษณะค่อยๆตกไป คือ ตายไปเองตามปกติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้เป็นไปตามปกติอย่างนั้น กลับทำให้ตกไปอย่างเร็วด้วยการฆ่า ฉะนั้น กรรมที่ได้ชื่อว่าปาณาติบาตก็คือเจตนาฆ่า
องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ ประการ
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่า
๔. เพียรพยายามเพื่อฆ่า
๕. สัตว์นั้นตายลงเพราะความพยายามนั้น
การฆ่าสัตว์ที่ครบ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นการทำบาปที่ครบองค์ปาณาติบาต การทำให้ชีวิตของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นสูญสิ้นไป ถือเป็นบาปทั้งสิ้น ผู้ที่เคยฆ่าสัตว์เมื่อใกล้จะตายถ้าคิดถึงบาปนั้น ผลของบาปก็จะนำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าบาปนี้ไม่มีกำลังส่งผลตอนนำไปเกิด ก็จะสามารถส่งผลได้ตอนหลังจากเกิดแล้วโดยส่งผลให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี มีการเห็นไม่ดี ได้ กลิ่นไม่ดี เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สำเร็จได้เพราะเจตนาที่ประกอบใน🔎อกุศลจิต ๑๒ คือ 
  • โลภมูลจิต ๘ 
  • โทสมูลจิต ๒ 
  • โมหมูลจิต ๒ 
อกุศลกรรมนี้เมื่อส่งผลจะสามารถส่งผลได้ ๒ กาล คือ
๑. ส่งผลนำไปเกิด (
🔎ปฏิสนธิกาล) จะนำไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
๒. ส่งผลขณะดำรงชีวิตหลังจากเกิดแล้ว (🔎ปวัตติกาล) คือส่งผลให้ ๑. ได้เห็น ๒.ได้ยิน ๓. ได้กลิ่น ๔. ได้ลิ้มรส ๕. ได้รับสัมผัส ๖. ได้รับอารมณ์ ๗. พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี

กล่าวคือจะส่งผลให้ได้รับวิบาก ที่ไม่ดี ๗ ประการนี้เป็นพื้นฐาน และภายหลังจากไปรับทุกข์โทษในอบายภูมิมาแล้ว เศษกรรมที่เหลือจะตามส่งผลในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ วิบากกรรมที่จะได้รับในปวัตติกาล คือ ถูกฆ่า ถูกทำร้าย เป็นต้น

เกณฑ์ตัดสินการฆ่าว่ามีบาปมากหรือน้อย
บาปมาก
๑. ฆ่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่น วัว ควาย
๒. ฆ่าผู้มีคุณธรรมมาก เช่น พระสงฆ์ บิดามารดา
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่ามาก
บาปน้อย
๑. ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร 
๒. ฆ่าผู้ไม่มีคุณธรรม เช่น โจร ผู้ร้าย 
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่าน้อย

ความพยายามในการฆ่า ทำได้ ๖ ประการ คือ
๑. ฆ่าด้วยตนเอง
๒. ใช้คนอื่นฆ่า
๓. ปล่อยอาวุธ
๔. ใช้อาวุธต่างๆ เช่น มีด ปืน ฯลฯ หรือ ขุดหลุมพราง 
๕. ใช้วิชาอาคม หรือไสยศาสตร์ต่าง ๆ 
๖. ใช้ฤทธิ์

ผลของปาณาติบาต ส่งผลในปฏิสนธิกาล คือ ส่งผลนำไปเกิด การทำบาปที่ครบองค์ประกอบของปาณาติบาตทั้ง ๕ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้ากรรมคือการฆ่านี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล

การส่งผลในปวัตติกาล คือ ส่งผลหลังจากเกิดแล้ว คือทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีและเศษกรรมยังส่งผลทำให้อายุสั้น ซึ่งอกุศลกรรมจะตามมาส่งผลได้ตั้งแต่เกิดอยู่ท้องมารดา ทำให้ได้รับอันตราย ได้รับความวิบัติต่างๆ มารดาบิดาก็มักมีแต่โรคภัยไข้เจ็บก็ส่งผลให้บุตรที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้รับอาหารจากมารดาเท่าที่ควร ทำให้อ่อนแอมาตั้งแต่แรกเกิดก็ได้ หรือ ในเวลานั้นอาจส่งผลทำให้โภคทรัพย์ของบิดามารดาพินาศ ของกิน ของใช้ เครื่องนุ่งห่ม ขาดแคลน ทำให้การบริหารครรภ์ไม่ดี ทารกก็ขาดความสมบูรณ์ อาจจะตายตั้งแต่อยู่ใน ครรภ์ และหรือเมื่อคลอดแล้วอาหารการกินไม่สมบูรณ์ ทารกย่อมอ่อนแอ และทำให้มีอายุสั้นได้ เพราะผลแห่งการฆ่าสัตว์นั้นติดตามมาส่งผลบีบคั้นให้ย่อยยับไปตามวาระ ตามโอกาส และหรือส่งผลทำให้ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นคนมีอายุยืน คือ เจตนากรรมที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จะส่งผลนำไปเกิดในเทวโลกได้ แต่หากว่าพลาดโอกาสนี้ไป บุคคลนั้นไปเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลให้ในปวัตติกาล คือ หลังจากที่บุคคล นั้นปฏิสนธิแล้ว ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของมารดาก็ส่งผลนำความสุขมาให้ เช่น ตั้งแต่เกิดอยู่ในท้องมารดา ทั้งมารดาทั้งบิดาก็มีแต่ความสุขสำราญ อันตรายใดๆที่ปกติมีอยู่ก็ไม่เกิดขึ้น ทรัพย์ทั้งหลายก็มั่งคั่ง ไม่มีความขัดสน คน แวดล้อมทั้งหลาย มีทาสกรรมกร เป็นต้น ก็เป็นคนว่าง่าย ไม่หลีกเลี่ยงการงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ได้รับการบริหารครรภ์ที่ดี ร่างกายมีกำลังแข็งแรงมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดก็ได้หมอดี คลอดแล้วก็ได้อาหาร ได้ยาที่ดี คลอดแล้วก็เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่คนทั้งหลายในตระกูลเพราะได้เห็น เขาเป็นเด็กแข็งแรง ทรวดทรงงดงามไม่พิการ นี้คือผลของการมีเจตนางดเว้นจากการฆ่า ถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์ แต่เบียดเบียนสัตว์ ด้วยอาวุธ ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยการกักขัง ทรมานต่างๆ เป็นต้น เช่นนี้ไม่เป็นปาณาติบาต แต่การกระทำนี้ เป็นบาปอกุศลกรรม ถ้าส่งผลในปฏิสนธิกาล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ เมื่อสิ้นกรรม จากอบาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคนไม่แข็งแรงมีโรคภัยไข้เจ็บมาก มีอันตรายต่างๆ มีการทำให้ทรัพย์หมดไปเป็นต้น ฉะนั้นการที่จะไม่ต้องเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บมากก็ต้องงดเว้นจากการ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย

๒. อทินนาทาน  คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ อทินนาทานจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยมีเจตนาในการที่จะได้ครอบครอง สิ่งของที่มีผู้หวงแหนรักษา โดยการลักขโมย ฉ้อโกง ยักยอก เบียดบัง สับเปลี่ยน ปลอมแปลง โจรกรรม เป็นต้น อนึ่ง การใช้อุบายหลอกลวงจนผู้อื่นรู้ไม่เท่าทัน จนต้องเสียผลประโยชน์ แม้ว่าผู้อื่นนั้นจะเห็นชอบยอมรับ แต่เมื่อเป็นไปด้วยเจตนาที่หลอกลวงก็เป็นอทินนาทานด้วย

มีเรื่องเล่าว่า นายพรานคนหนึ่งจับแม่เนื้อและลูกเนื้อได้ มีนักเลงคนหนึ่งถามนายพรานว่า “แม่เนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร” เขาตอบว่า “แม่เนื้อราคา ๒ เหรียญ ลูกเนื้อราคา ๑ เหรียญ” เขาก็ให้ไป ๑ เหรียญ แล้วเอาลูกเนื้อมา เขาเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับมาพูดว่า “นายเอ๋ยฉันไม่ต้องการลูกเนื้อแล้วละ จงให้แม่เนื้อแก่ฉันเถิด” นายพรานจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจงให้ ๒ เหรียญซิ” นักเลงจึงกล่าวว่า “ทีแรกฉันได้ให้ท่านไว้ ๑ เหรียญแล้วมิใช่หรือ” นายพรานก็ยอมรับว่า“ ใช่ ให้ไว้ ๑ เหรียญ แล้ว” นักเลงจึงบอกว่า “ จงรับลูกเนื้อคืนไป ลูกเนื้อตัวนี้ราคา ๑ เหรียญ และเคยให้ไว้แล้ว ๑ เหรียญ รวมกันเข้าก็เป็น ๒ เหรียญ” นายพรานได้ยินก็เข้าใจว่าเขาพูดมีเหตุผล จึงยอมรับเอาลูกเนื้อนั้นมาแล้วให้แม่เนื้อไป เป็นอันว่านักเลงผู้นั้นได้แม่ เนื้อไปโดยเสียเงินซื้อเพียง ๑ เหรียญ การยอมรับตกลงด้วย ไม่ใช่เหตุของการป้องกันไม่ให้เป็นอทินนาทาน นายพรานยอมตกลงด้วยเพราะรู้ไม่เท่าทันเจตนาเล่ห์เหลี่ยมของนักเลง ส่วนการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนโดยไม่มีเจตนาที่จะลักเอามา แต่ถือเอาด้วยวิสาสะ ความคุ้นเคยสนิทสนม คือว่าหยิบฉวยเอาของผู้อื่นไปบริโภคใช้สอย เพราะเห็นว่าผู้นั้นเป็นคนคุ้นเคย เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน อย่างนี้ ไม่จัดเป็นอทินนาทาน
วิสาสะ คือ ความคุ้นเคย มี ๕ คือ
๑. เคยเห็นกันมา
๒.เคยคบหากันมา
๓.เคยบอกอนุญาต
๔. ผู้ที่ตนมีวิสาสะด้วยยังมีชีวิตอยู่ 
๕. ผู้ที่ตนจะมีวิสาสะด้วยยินดียอมรับ 

องค์ประกอบของการลักทรัพย์ มี ๕ ประการ คือ
๑. วัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๒. รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์
๔. เพียรพยายามเพื่อลักทรัพย์
๕. ได้สิ่งของที่พยายามลักนั้นมา

เกณฑ์ตัดสินอทินนาทานว่าบาปมากหรือน้อย
โดยถือเอาเจ้าของทรัพย์เป็นเกณฑ์
นัยที่ ๑ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ฆราวาส
๒. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๑ รูป
๓. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๒-๓ รูป
๔. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๔ รูปขึ้นไป
นัยที่ ๒ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ปุถุชน
๒. พระโสดาบัน
๓. พระสกทาคามี
๔. พระอนาคามี
๕. พระอรหันต์

ความพยายามในการลักทรัพย์ ทำได้ ๖ ประการ
คือ ๑. ลักทรัพย์ด้วยตนเอง
๒. ใช้ผู้อื่นลักทรัพย์ด้วยวาจา หรือเขียนเป็นหนังสือ
๓. ทิ้งหรือโยนทรัพย์ออกไปนอกเขตเพื่อให้พวกเดียวกันรับต่อ
๔. สั่งพรรคพวกเมื่อมีโอกาสให้พยายามลักทรัพย์นั้นมา
๕. ใช้เวทย์มนต์คาถาทำให้หลงใหลแล้วลักทรัพย์
๖. ใช้ฤทธิ์ในการลักทรัพย์
ผลของการลักทรัพย์ การส่งผลในปฏิสนธิกาล (ขณะเกิด) การส่งผลในปวัตติกาล (หลังจากเกิดแล้ว) การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าอทินนาทานนี้ส่งผล จะนำเกิดในอบายภูมิเป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล(คือ นำไปเกิด) กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อบุคคลพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลอีก ทำให้เป็นคนยากจน ถ้ามีทรัพย์ก็จะพินาศเพราะ โจร น้ำ ไฟ พายุ ถูกทางการริบทรัพย์ต้อง สูญเสียทรัพย์

๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม หมายถึงการประพฤติชั่วที่คนดีทั้งหลายรังเกียจและติเตียน คำว่า “กาม” หมายถึง เมถุนธรรม เป็นการกระทำของคนคู่หญิงกับชาย ด้วยความกำหนัด คือการร่วมประเวณี การประพฤติร่วมประเวณีที่ผิดศีลก็มีองค์ประกอบ ๔ องค์ประกอบของการประพฤติผิดในกาม ๔ ประการ คือ
๑. มีวัตถุที่ไม่ควรเสพ ได้แก่ หญิง ๒๐ จำพวก
๒. มีจิตคิดจะส้องเสพในวัตถุอันไม่ควรนั้น
๓. มีความพยายามในการส้องเสพ
๔. มีการทำมรรคให้จรดถึงกัน มรรคในที่นี้หมายถึงอวัยวะเพศ คือ ทำอวัยวะเพศให้จรดถึงกัน เนื่องจากเป็นการกระทำของคนคู่ จึงแสดงสิ่งที่เป็นวัตถุที่ไม่ ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก ไว้เป็นลำดับแรก การร่วมประเวณีจะสำเร็จได้ก็เพราะฝ่ายชายไม่ใช่ฝ่ายหญิง เพราะเหตุนี้ฝ่ายชายจึงมีโอกาสทำผิดศีลข้อ ๓ นี้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นท่านจึงวางองค์แห่งการวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายชายไว้ก่อนว่าวัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก หลังจากนั้นจึงจะวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายหญิงต่อไปได้
หญิง ๒๐ จำพวกที่ชายไม่ควรเกี่ยวข้อง มีดังนี้
หญิงที่ยังไม่มีสามี มี ๑๐ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีมารดารักษา คือมีมารดาปกครองดูแล
๒. หญิงที่มีบิดารักษา คือมีบิดาปกครองดูแล
๓. หญิงที่มีทั้งมารดาทั้งบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่น้องชายรักษา
๕. หญิงที่พี่น้องหญิงรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
๗. หญิงที่โคตรคือวงศ์สกุลรักษา
๘. หญิงที่ธรรมรักษา (หญิงที่บวช ประพฤติธรรม)
๙. หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว
๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา (คือ หญิงที่ทางบ้านเมืองออกกฎประกาศให้ทราบว่า หญิงนี้ชายใดล่วงล้ำ ชายนั้นจะถูกลงโทษ เพื่อเตรียมไว้สำหรับคัดเลือกในสำนักพระราชา หรือเพื่อพระราชพิธีที่มีหญิงพรหมจารีเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น)
 
หญิงที่มีสามีแล้ว มี ๑๐ จำพวก คือ 
๑. หญิงที่เขาใช้ทรัพย์ซื้อมาเพื่อเป็นภรรยา 
๒. หญิงที่อยู่เป็นภรรยากับชายที่ตนมีความพอใจ 
๓. หญิงที่อยู่กับชายเพราะทรัพย์ เป็นเหตุ (เช่น ยอมเป็นภรรยาเพื่อปลดหนี้ เป็นต้น) 
๔. หญิงที่อยู่กับชายเพราะผ้าเป็นเหตุ (คือ ยอมเป็นภรรยาเพราะเห็น แก่ผ้า เครื่องประดับ ยานพาหนะ ที่พึงได้รับ เป็นต้น) 
๕. หญิงที่ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายกำหนดให้จุ่มมือลงไปใน ภาชนะใส่น้ำ แล้วสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกัน 
๖. หญิงที่ชายปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้วแต่งตั้งให้เป็นภรรยา 
๗. หญิงที่เป็นทั้งทาส ทั้งภรรยา 
๘. หญิงที่เป็นทั้งคนรับจ้างทำงานอยู่ในเรือน เป็น ทั้งภรรยาด้วย 
๙. หญิงเชลย 
๑๐. หญิงที่ชายอยู่ร่วมชั่วคราว ๑๐  (เมียเช่าชั่วคราว หรือแม้หญิงโสเภณีผู้ที่อยู่ในระหว่างเวลาที่ชายอื่นจองตัวอยู่กันชั่วคราว)

การที่ฝ่ายชายจะผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารพิจารณาดังนี้ คือ ชายไปเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กับหญิงทั้ง ๒๐ จำพวกนี้ ชายนั้นได้ชื่อว่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร กล่าวคือ ในกลุ่มหญิงที่ยังไม่มีสามีลำดับที่ ๑-๘ ถ้าชายไปเกี่ยวข้องด้วยโดยที่ผู้ปกครองของหญิงไม่ยินยอมด้วย กรณีนี้ฝ่ายชายเท่านั้นที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ฝ่ายหญิงไม่ผิด และสำหรับหญิงที่ยังไม่มีสามีในลำดับที่ ๙ หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว ๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา ทั้ง ๒ นี้ ถ้าชายอื่นที่ไม่ได้เป็นคู้หมั่น เป็นต้น ล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่

ลำดับต่อมา คือ หญิงที่มีสามีแล้ว ได้แก่หญิง ๑๐ จำพวกหลัง ถ้าชายอื่นที่ไม่ใช่สามีเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่ ในปัจจุบันนี้หญิงบางจำพวกไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น หญิงเชลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าหญิงที่เหลือจะมีกี่จำพวกก็ตาม ก็สามารถย่อเหลือ ๒ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล ได้แก่ หญิงที่มี มารดารักษา เป็นต้น อาจจะเป็นหญิงที่เป็นบุตรสาว หลานสาว ที่อยู่ในความปกครองของมารดา บิดา พี่น้อง ญาติ และหญิงที่อยู่ในความดูแลของสำนัก นักบวช เป็นการดูแลให้การเลี้ยงดูให้เติบโต อบรมสั่งสอน ส่งเสริมให้ได้รับความรู้เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสัมผัส คือไม่ได้ถือสิทธิในการจะเสพกาม สุขที่เกิดจากการได้สัมผัส ชายที่ละเมิดล่วงเกินเกี่ยวกับการร่วมประเวณีในหญิงเหล่านี้ย่อมเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ แต่สำหรับฝ่ายหญิงถ้ายินยอม พร้อมใจด้วยก็ไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร เพราะว่าหญิงนั้นมีผู้ดูแลก็จริง แต่ไม่ใช่มีเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกนี้มีสิทธิที่จะมอบสัมผัสนั้นแก่ชายใดก็ได้ ฉะนั้นจึงไม่ชื่อว่าทำผิด สรุปว่า ถ้าชายไปล่วงเกิน ชายนั้นก็ผิดศีลฝ่ายเดียว

๒.หญิงที่มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกที่ ๒ มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส ได้แก่ หญิงที่เป็นภรรยาทั้งหลาย และหญิงที่มีคู่หมั้นด้วย หญิงที่เป็นภรรยาก็มีสามีของตน เป็นเจ้าของสัมผัส ส่วนหญิงที่มีคู่หมั้นแล้วก็เท่ากับยอมรับความจะเป็น ภรรยาเขา ถ้าชายอื่นใดละเมิดในหญิงเหล่านี้ ชายนั้นก็ชื่อว่ากระทำกาเมสุมิจฉาจาร ส่วนฝ่ายหญิงถ้ามีความยินยอมพร้อมใจก็ชื่อว่าทำกรรมชั่ว ข้อนี้ร่วมกัน เพราะว่ามอบสมบัติคือสัมผัสอันผู้เป็นเจ้าของคือสามีของตนเท่านั้นถือสิทธิอยู่ให้แก่ชายอื่น
สรุปว่า ผิดทั้งคู่

ผลของกาเมสุมิจฉาจาร การส่งผลในปฏิสนธิกาล การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าการประพฤติผิดในกามเช่นนี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ การส่งผลในปวัตติกาล ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลได้อีก กาเมสุมิจฉาจารนี้เป็นการกระทำของคนขลาด ลักลอบ ทำอย่างปิดบัง หลบๆ ซ่อนๆ นี้เองจึงส่งผลให้เป็นผู้ที่ไม่องอาจผ่าเผย มีจิตใจไม่อาจหาญ และสามารถส่งผลให้เกิดมาเป็นหญิง เป็นกะเทย เป็นคนวิปริตผิดเพศ 

การงดเว้นบาปอกุศลข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ผลบุญก็ย่อมปรากฏ คือ เป็นผู้มีกำลังใจอาจหาญ กล้าแข็ง ชนะใจตนเองได้อยู่เสมอ และเพราะเหตุที่ละเว้นจากการกระทำผิดเกี่ยวกับทางเพศ เมื่อเกิดในภพใดๆ ก็เป็นผู้มีเพศอุดม คือเกิดเป็นบุรุษ เมื่อเป็นคนไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ก็แสดงว่าเป็นคนจิตใจประณีต สะอาด จึงเป็นเหตุให้เป็นคนมีความเฉียบแหลม ละเอียดอ่อน และเพราะไม่กระทำกรรมในที่ลับ จึงส่งผลทำให้เป็นผู้ที่มีความอาจหาญในท่ามกลางคนทั้งปวง ไม่ตกต่ำ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏได้ง่าย และ เพราะเหตุที่เป็นคนไม่มักมากในเมถุนโดยการเที่ยวแสวงหาหญิงอื่น เพราะกลัวผิดศีลจะมัวหมองนั่นเอง หากมีคู่ครอง คู่ครองก็จะซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่นอกใจ เป็นต้น

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อเทียบกับศีล ๕ แล้ว ก็จะขาดศีล ข้อ ๕ คือ สุราเมรัยในหมวดอกุศลกรรมบถจัดอนุโลมสุราเมรัยเข้าในข้อ กาเมสุมิจฉาจาร เพราะการดื่มสุรานั้นเป็นการติดในรส คือ พอใจในรสความมัวเมาของสุรานั่นเอง เมื่อจะกล่าวถึงโทษของการดื่มสุราเมรัยนั้นมีมากมาย เพราะเมื่อดื่ม แล้วทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ย่อมจะทำอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง ย่อมจะนำไปสู่อบายภูมิ เมื่อสิ้นกรรมจากอบายภูมิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรม นั้นยังส่งผลให้เป็นคนปัญญาอ่อน เป็นคนบ้า