วันเสาร์

๔.๒ กามาวจรกุศลกรรม

กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวในกามภูมิ คือ เกิดในกามภูมิ ชื่อว่า กามาวจรกรรม กามาวจรกรรม เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล กามาวจรฝ่ายอกุศลได้ แสดงแล้วคือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ สำหรับฝ่ายกุศล ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล หรือการเจริญกรรมฐานที่ยังไม่สำเร็จผล เป็นการกระทำในเบื้องต้น เหล่านี้จัดเป็นกามาวจรฝ่ายกุศล ชื่อว่า กามาวจรกุศลกรรม ส่วนกรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในรูปภูมิ ชื่อว่า รูปาวจรกรรม และกรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในอรูปภูมิ ชื่อว่า อรูปาวจรกรรม จะได้แสดงรายละเอียดต่อไป

กามาวจรกุศลกรรม จะแสดงให้ทราบถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศล กรรมบถสำเร็จได้ ๓ ทวาร คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ก็ได้ชื่อสุจริตในทวารนั้นๆ ด้วย

กุศลกรรมบถ ๑๐

กายสุจริต ๓ ได้แก่
  • ๑. ปาณาติปาตวิรติ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 
  • ๒. อทินนาทานวิรติ ” จากการ ลักทรัพย์ 
  • ๓. กาเมสุมิจฉาจารวิรติ ” จากการ ประพฤติผิดในกาม 
วจีสุจริต ๔ ได้แก่
  • ๔. มุสาวาทวิรติ ” จากการพูดเท็จ 
  • ๕. ปิสุณวาจาวิรติ ” จากการพูดส่อเสียด 
  • ๖. ผรุสวาจาวิรติ ” จากการ พูดคำหยาบ 
  • ๗. สัมผัปปลาปวิรติ ” จากการพูดเพ้อเจ้อ 
มโนสุจริต ๓ ได้แก่ 
  • ๘. อนภิชฌา ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ 
  • ๙. อพยาบาท ความไม่ปองร้าย 
  • ๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ 
 คำว่า “ วิรติ” คือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้งดเว้น คืองดเว้น จากอกุศลกรรมบถ ๗ ได้แก่ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จนถึงงดเว้นจากการพูดเพ้อ เจ้อ การงดเว้นจากอกุศลทางใจ ๓ ประการ คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาทิฏฐิ นั้น ไม่เกี่ยวกับการงดเว้นแต่เป็นสภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กัน คือ อโลภะความไม่โลภเกิดขึ้นในจิต โลภะ คือความโลภก็จะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นต้น
วิรติ มี ๓ ประเภท คือ
๑. สัมปัตตวิรติ คือ งดเว้นเฉพาะหน้า 
เกิดขึ้นในขณะที่อารมณ์เฉพาะหน้าและสามารถงดเว้นได้ ได้แก่ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ของบุคคลที่ไม่ได้สมาทานศีล เมื่อกำลังจะฆ่าสัตว์ก็คิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับตนประการใดประการหนึ่งแล้วจึงไม่ฆ่า คือ
  • ๑. พิจารณาถึงชาติ 
  • ๒. ตระกูล 
  • ๓. วัย 
  • ๔. ความเป็นผู้มีความรู้ 
  • ๕. คิดว่าการฆ่าสัตว์เป็นการกระทำของคนยากจนต่ำช้า
    ตัวอย่างแรก เช่น นายแดงขณะอยู่ต่อหน้าลูกศิษย์ เมื่อถูกยุงกัดก็ไม่ฆ่า เพราะคิดว่า “เราเป็นถึงครูอาจารย์ถ้าทำไม่ดีต่อหน้าลูกศิษย์ ก็จะถูกตำหนิ ได้”
    ตัวอย่างที่สอง นายดำไม่ได้สมาทานศีล เมื่อถูกยุงกัดยกมือจะตบยุง เกิดความกลัวบาปขึ้นมาในขณะนั้นก็ลดมือลงไม่ตบยุง
๒. สมาทานวิรติ คือ งดเว้นเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว
หลังจากสมาทานแล้วก็ตั้งใจรักษาศีล ในเวลาที่สมาทานและในเวลาต่อจากนั้นไปก็ ไม่ล่วงละเมิดศีล แม้ว่าต้องสละชีวิตของตน
ตัวอย่าง มีเรื่องเล่าว่า อุบาสกผู้หนึ่งเมื่อสมาทานศีลในสำนัก ของพระปิงคลพุทธรักขิตเถระแล้วก็กลับไปไถนา ในเวลานั้น โคของเขาหายไป เขาจึงตามหาโคไปถึงภูเขาทันตรวัฑฒมานะ ณ ที่นั้น เขาถูกงูใหญ่รัดเอาไว้ ขณะนั้นเขาจึงคิดว่า “เราจะเอามีดคมเล่มนี้ตัดหัวมันเสีย” แล้วกลับคิดได้อีกว่า “เราได้สมาทานศีลที่ได้ไปรับมาจากสำนักของท่านผู้เป็นครูน่ายกย่องแล้ว เราจะมาทำลายศีลนั้นไม่สมควรเลย” เขาคิดอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง จึงตัดสินใจได้อย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ตายก็ตาย แต่จะไม่ยอมเสียศีล” จึงขว้างมีดคมที่เหน็บอยู่ที่บ่าทิ้งไปในป่า ใน เวลานั้นงูก็ปล่อยเขาแล้วเลื้อยไป

๓. สมุจเฉทวิรติ คือ งดเว้นโดยเด็ดขาด
เป็นศีลของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทำโดยเด็ดขาด แม้คิดว่าจะทำก็ไม่มี การทำกุศลทางกาย มี ๓ ประการ และการทำกุศลทางวาจา มี ๔ ประการ การทำกุศลทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ รวมเป็นกุศลกรรมบถ ๗ เมื่อว่า โดยองค์ธรรม คือสภาวธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนา คือ ความตั้งใจที่จะงดเว้น หรือมี วิรติ คือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้งดเว้นก็ได้ เจตนา กับ วิรติ นั้นมีสภาพไม่เหมือนกัน เช่น บางคนตั้งใจรักษา ศีล คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากการทำชั่ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ยั่วยุให้ทำชั่ว
เกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่สามารถจะงดเว้นได้ ยอมประพฤติละเมิดศีลกระทำความชั่วนั้นๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คือ เขามีแต่เจตนาอย่างเดียว แต่ไม่มีวิรติ (ความงดเว้น)เกิดขึ้นในเวลานั้น

บางคนมีเจตนาคือตั้งใจด้วยและมีวิรติ คืองดเว้นได้จริงๆด้วย เหมือนตัวอย่างอุบาสกที่อยู่ใกล้ภูเขาทันตรวัฑฒมานะ เป็นตัวอย่างเพื่อให้ทราบว่าเจตนาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ส่วน วิรติ ก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน สมาทานวิรติ คือ การงดเว้นจากการทำบาปได้เพราะว่าได้มีการสมาทานศีลสิกขาบทมาก่อนแล้ว ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว โดยนัยนี้ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าบุคคลนี้ต้องมีเจตนาคือความตั้งใจที่จะงดเว้นไว้ก่อน ฉะนั้นจึงมีเจตนาเป็นใหญ่เป็นประธานเขาจึงสมาทานศีลสิกขาบท แล้วงดเว้นได้สมเจตนาในภายหลัง ส่วนผู้ที่ไม่ได้สมาทานศีลสิกขาบทมาก่อน หรือไม่ได้มีเจตนาจะงดเว้นมาก่อน แต่งดเว้นได้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเรียกว่า “สัมปัตตวิรติ” เพราะการงดเว้นได้ นี้เป็นสภาวธรรมของ วิรติ โดยตรง ส่วนการงดเว้นโดยเด็ดขาดขณะที่พระอริยเจ้าบรรลุมรรค ในมรรคจิตมีองค์ธรรมที่เป็นวิรติแน่นอนอยู่แล้ว เพราะวิรติเป็นองค์มรรคด้วย 

องค์มรรค ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ในองค์ ๘ นี้ ไม่มีเจตนาเป็นองค์มรรค มีแต่วิรติ ๓ คือ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

ฉะนั้น สำหรับพระอริยเจ้าแล้ว เจตนาไม่เป็นเหตุ มีแต่วิรติเท่านั้นที่เป็นเหตุแห่งการงดเว้น จึงกล่าวได้ว่า การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๗ มีปาณาติบาต เป็น ต้น องค์ธรรม คือ “ เจตนา” ก็ได้ หรือจะมี “ วิรติ” ก็ได้

สำหรับ อนภิชฌา เมื่อว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ อโลภะ ซึ่งเป็น สภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ หมายความว่า ถ้าความไม่โลภเกิดขึ้น ขณะนั้นความโลภก็ไม่มี
ส่วน อัพยาบาท องค์ธรรม ได้แก่ อโทสะ สภาวธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ โทสะ ในขณะที่ปรารถนาที่จะให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข ซึ่งเป็นธรรมชาติ ของเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท ก็ไม่มี 
และ สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา คือปัญญาที่รู้ตรงต่อความเป็นจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วที่ตนทำไว้ ที่เรียกว่ากัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้น องค์ธรรมของมโนสุจริต หรือ กุศลมโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา อัพยาบาท สัมมาทิฏฐิ จึงได้แก่ ธรรมที่ประกอบกับเจตนา ได้แก่ อโลภะ อโท สะ และปัญญา ตามลำดับ การทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่ว่าด้วยการประพฤติ กุศลกรรม ซึ่งทางแห่งการประพฤติกุศลกรรมนั้นได้กล่าวไว้แล้ว มี ๑๐ ประการ การประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นไปในทางแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น นอกจากจะให้ความสุขกายสบายใจในภพนี้แล้ว ยังจะให้ผลในภพหน้าชาติหน้าและภพชาติต่อๆ ไป และจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งความพ้นทุกข์อีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น