แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะ แสดงบทความทั้งหมด

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๓


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๖ สัจจกนิครนถ์

เรื่องมีอยู่ว่า สัจจกนิครนถ์ผู้นี้ได้เล่าเรียนปริศนาต่างๆในสำนักของบิดามารดาถึง ๕๐๐ ข้อ แล้วก็ออกเที่ยวสั่งสนทนากับผู้ใดก็ไม่มีใครที่จะตอบต้านทานวาทะปฏิภาณโวหารของสัจจกนิครนถ์ได้ กิตติศัพท์นี้ก็เล่าลือไปในทิศานุทิศ มหาชนนับถือพากันมาเป็นศิษย์มากมาย (ในสมัยนั้น เค้าว่ากันด้วยวาทะด้วยเหตุด้วยผล ใครมีวาทะที่ไม่มีใครแก้ต่างได้เขาก็ถือว่าชนะ เป็นปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญามาก)

ฝ่ายสัจจกนิครนถ์นั้นก็สำคัญใจเป็นแน่ว่า ตนนั้นเป็นผู้มีปัญญาวิชาความรู้เลอเลิศกว่าคนทั้งหลาย และภายในท้องของตนนั้น เต็มไปด้วยปัญญาวิชาความรู้ทั้งนั้น คิดกลัวว่าสักวันหนึ่งท้องของตนจะต้องแตกจะทลายไปเพราะความรู้แน่นเหลือเกินจึงทำโครงเหล็กรัดท้องเอาไว้ วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้ยินคำสรรเสริญว่าพระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุคคลในโลก ทรงพระปัญญารู้เหตุในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่จะเทียบเคียงให้เป็นสองได้ บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก เมื่อสัจจกนิครนถ์ทราบความดังนั้น ก็พองขนด้วยความผยอง อยากปรามาส ตั้งใจจะถามข้อปริศนาอันลึกลับ ให้พระพุทธเจ้าแพ้แก่ตนให้จงได้ จึงพาศิษย์เป็นอันมากมายังเมืองไพศาลี แล้วเชิญพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ องค์ให้เสด็จมาสู่สำนักพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้เห็นจริงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ

คราวนั้น เป็นมหาสมาคมใหญ่ บรรดาชาวเมืองไพศาลีก็พากันมาประชุมพร้อมกันเป็นสองพวก คือสัมมาทิฏฐิพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าชนะ พวกมิจฉาทิฏฐิอีกพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยสัจจกนิครนถ์ อยากจะให้สัจจกนิครนถชนะ หากเมื่อสัจจกนิครนถ์ชนะจะได้ยกวาทะของตนขึ้นให้สูงประหนึ่งว่าธงชัย ว่าแล้วก็ถามข้อปริศนาอันลึกลับด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก้ได้ทุก ๆ ข้อด้วยพระปัญญาอันรุ่งเรืองดังประทีป สัจจกนิครนถ์ถึงความปราชัยพ่ายแพ้พระบารมีญาณของพระองค์แล้วจึงมอบตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


ตัวอย่างข้อวาทะ

สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ท่านสอนใครต่อใครว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวอย่างนี้ว่า รูปก็คือตัวตนเรา เวทนาก็คือความรู้สึกของเรา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ของเรา สังขารก็คือความปรุงแต่งต่างๆของเรา วิญญาณก็คือจิตวิญญาณของเรา ขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ล้วนเป็นอัตตาตัวตนของเราทั้งสิ้น ท่านจะกล่าวว่าขันธ์เหล่านี้ไม่ใช่ของเราได้อย่างไร?  

พระพุทธองค์ทรงซักถามสัจจกนิครนถ์ด้วยอุปมา

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ (ชื่อตระกูล ของสัจจกะ) ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู มีอำนาจสังประหารใครก็ได้ในดินแดนตน สั่งริบทรัพย์ หรือสั่งเนรเทศใครๆก็ได้ ในเขตแดนอาณาจักรของตน ถูกต้องไหม?
สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ในพระราชอาณาเขตอำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้นควรจะเป็นเช่นนั้น คือสั่งประหารใครก็ได้ ริบทรัพย์ใครก็ได้ เณรเทศใคก็ได้ ใครๆก็ไม่พ้นราชอำนาจของราชาในอาณาเขตตน

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย บังคับบัญชารูป) สั่งดังนี้ได้หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถามครั้งที่สอง ก็นิ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงตอบคำถาม ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง แล้วมิได้ตอบสัจจะธรรมนั้น ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น

สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช (มีเพียงพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่) ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน ได้ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามมาอีกครั้งเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย) สั่งดังนี้ได้หรือ?สัจจกนิครนถ์ : ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๗ นันโทปนันทนาคราช

เรื่องมีว่า นันโทปนันทนาคราช เป็นสัตว์จำพวกพญานาคอาศัยอยู่ในเทวภูมิ จริงๆสัตว์ในภพภูมินี้ก็ล้วนต่างอุบัติมาด้วยผลของบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องของทิฎฐินี้ ถ้าไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆมาเลย ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลแม้ในชั้นโสดาบันก็จะยังมีโมหะคือความหลงผิดอยู่ด้วยตัวของนันโทปนันทะเองก็ยังเป็นผู้ที่หลงผิดอยู่คือยังมีมิจฉาทิฎฐิพร้อมด้วยฤทธานุภาพจากกุศลเก่าที่ีเคยสั่งสมไว้ก็มีมากมาย

ในเช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของนันโทปนันทนาคราช ซึ่งกำลังจะเสื่อมคลายจากมิจฉาทิฎฐิและจะกลับมีจิตใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ก็ทรงมีอุบายวิธี จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ผู้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เสด็จไปสู่เทวโลกโดยอากาศ นันโทปนันทนาคราชเห็นพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เหาะมาแต่ไกล สำคัญว่าจะเหาะข้ามศีรษะตนไปก็นึกโกรธ จึงนิรมิตอัตภาพตนเองให้ใหญ่โตพันเขาสุเมรุไว้ ๗ รอบ แล้วยกพังพานปกคลุมเขาพระสุเมรุและดาวดึงส์ไว้ แล้วบันดาลให้เป็นควันมืดครึ้มไปหมด

พระรัฐปาละเห็นอาการดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "แต่ก่อนเมื่อมาถึงที่นี้ เคยได้มองเห็นเขาพระสุเมรุและสุทัศนนครกับเวชยันตปราสาท มาบัดนี้ทำไมจึงมองไม่เห็น เป็นด้วยเหตุใด"
พระองค์ตรัสว่า "เป็นด้วยฤทธิ์ของนันโทปนันทนาคราช" พระเถระหลายองค์กราบทูลขอรับอาสาไปทรมานนันโทปนันทนาคราช แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้พระโมคคัลลานะไปทรมาน (การทรมานคือการปราบพยศของกิเลสด้วยวิธีของพระพุทธองค์ ซึ่งจะใช้วิธีแตกต่างกันไปตามจริตของผู้ที่ต้องถูกทรมาน) ในที่นี้ให้พระโมคคัลลานะนิรมิตกายเป็นนาคราช ใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า แล้วไปตวัดรัดนันโทปนันทนาคราชเข้าไว้กับเขาพระสุเมรุ โดยแน่นหนาถึง ๑๕ รอบ นาคราช พ่นพิษให้เป็นควันและเปลวไฟ ท่านก็พ่นควันพ่นเปลวไฟบ้าง พิษและเปลวไฟของพญานาคราชไม่มีอานุภาพพอที่จะทำให้พระอรหันต์อย่างพระโมคคัลลานะรู้สึกแสบร้อนแต่อย่างใด มีแต่ตัวของพญานาคราชเองที่ร้อนจนทนไม่ไหว จึงขอให้ท่านโมคคัลลานะจำแลงเป็นพญานาคเลย ท่านก็คืนอัตภาพเป็นพระเถระดังเก่า แล้วก็แสดงฤทธิ์เหาะเข้าช่องจมูกของฉันโทปนันทนาคราช เข้าไปเบื้องขวาก็ออกเบื้องซ้าย เข้าเบื้องซ้ายก็ออกเบื้องขวา นาคราชก็ยิงโมโห คิดว่าถ้าท่านเหาะเข้าไปในปากเมื่อไหร่จะเคี้ยวเสียให้ละเอียด ท่านโมคคัลลานะท่านก็รู้ใจพญานาค จึงเหาะเข้าทางปาก เข้าไปเดินจงกรมอยู่ในท้องแล้วเดินกลับออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชอ้าปากคอยจะบดเคี้ยวแต่ก็ไม่ทัน ครั้นตัวเองที่เคยมีทิฎฐิคิดว่าตนยิ่งใหญ่มีฤทธิ์มากก็เริ่มคลายทิฎฐิตน เพราะทำอย่างไรก็เห็นท่าจะสู้ฤทธิ์ท่านโมคัลลานะไม่ไหว จึงเริ่มหนี ท่านโมคคัลลานะก็จำแลงเป็นครุฑใหญ่บินไปตามจับ นาคราชแพ้ฤทธิ์ท่านโมคคัลลานะ จึงได้สำรอกทิฎฐิมานะของตนออกแล้วจำแลงเป็นมานพเข้าไปกราบนมัสการขอขมาท่านโมคคัลลานะ แต่ท่านโมคัลลานะท่านว่าท่านรับคำขอขมานี้ไม่ได้ จึงพาไปเฝ้าทูลต่อพระพุทธเจ้า แล้วพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พญานาคาราชเมื่อคลายพยศลง และได้รับฟังพระสัทธรรมจากองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บังเกิดมีความเลื่อมใสขอเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๘ พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ 

เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในป่าสุภวันใต้ร่มไม้รังใหญ่ต้นหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของท้าวพกาพรหมว่ากำลังมีทิฎฐิที่หลงผิด พระพุทธองค์จึงเสด็จโปรดพกาพรหมด้วยการทรมานทิฎฐิที่หลงผิดนั้นลง พกาพรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็อุบัติขึ้นในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง 👉ย้อนดูลำดับชั้นของพรหม ในครั้งเริ่มแรกที่มาอุบัติในพรหมโลกนั้นยังไม่มีพรหมองค์อื่นๆ มาอุบัติในชั้นนี้ ครั้นพออยู่เป็นพรหมองค์เดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อน เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมอุบัติขึ้นใหม่ มีขึ้นมาเรื่อยๆ (พวกที่มาเกิดด้วยกำลังของณาน) พรหมที่มาทีหลังก็เห็นว่ามีพกามหาพรหมผู้นี้อยู่ก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตให้ตนเกิดขึ้นมาจึงนับถือว่าเป็นพรหมบิดา ท้าวพกาพรหมก็เข้าใจว่า เพราะตนนั่นแหล่ะเป็นผู้เนรมิตบันดาลให้พรหมอื่นๆเกิดขึ้น (คือไปประจวบกับตอนนั้นนึกอยากมีพรหมองค์อื่นบ้าง อยากมีเพื่อนน่ะ) มันเป็นเหตุการณ์ต่อกันแบบนี้ก็เลยหลงผิดว่าตนนั่นแหล่ะเป็นพรหมผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ

ในพรหมชั้นนี้ก็มีมารสันดานหยาบ คิดหวังประจบสอพลอท้าวพกาพรหมจึงกล่าวคำสอพลอว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นพระผู้สร้างสรรค์ สร้างทั้งภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมท่านช่างเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งใหญ่นัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า"

แม้ท้าวพกาพรหมเองจะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ แต่มารสันดานหบาบก็กล่าวสรรเสริญเยินยอแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน แม้ตัวพกาพรหมเองจะรู้ว่าไม่จริงแต่ก็ชอบที่จะฟังคำยกย่องสรรเสริญ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจของพกาพรหม ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีกิเลสว่า "เรานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่เราอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้เลย "

เมื่อพกาพรหมมีทิฎฐิไปแบบนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงทราบทิฎฐิของพกาพรหมเช่นเดียวกัน ทรงเห็นว่ามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่มีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบในเวลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะเพียงเทียบเท่ากับบุรุษเหยียดแขนออกแล้วงอกลับเท่านั้นเองก็เสด็จไปถึงพรหมโลกแล้ว เมื่อท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธองค์มาปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วก็เอกปากกล่าวปราศรัยกันโดยธรรมดาว่า " ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ"

พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าเห็นใจนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาคือกิเลสได้เข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "

พญามารใจหยาบที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล " ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "

ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารถหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เส็ดจลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ )

เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า " ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ตติยฌาน จึงต้องจุติจากเวหัปผลาพรหมลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องจุติในสุภกิณหาพรหม แล้วมาอุบัติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "

ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า "พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก" จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอย มีน้ำใจอ่อนน้อม ปฎิบัติทางตรงคือสัมมาทิฎฐิอันดี จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังพระเชตวัน

👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์

พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม





อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๒

 👉 กลับไปก่อนหน้า 

🔅 
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่องช้างนาฬาคิรี

เรื่องนี้มีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกันแล้วไปที่โรงช้าง ส่งควาญช้างให้มอมสุราพญาช้างนาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแค่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรี ให้วิ่งสวนทางตรงมาหาพระพุทธองค์ ช้างเมาสุราอาละวาดวิ่งไล่แทงคนอลหม่าน เห็นกลุ่มสมณะนำโดยพระพุทธเจ้าก็ยกชูงวงปรบหูตีหาวิ่งตรงมาจะแทงพระพุทธองค์ ทันใดนั้นพระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้ง แล้วแต่พระอานนท์ก็ไม่ยอมหนีให้พ้นทาง พระพุทธองค์จึงบันดาลให้พระอานนท์กลับเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่สงฆ์ เวลานั้นก็ยังมีหญิงแม่ลูกอ่อนนางหนึ่ง กำลังตกใจสุดขีดเลยอุ้มบุตรตัวเองหนีช้างตรงมาที่กลุ่มของพระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่าจะหนีไม่พ้นแล้ว ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสียกับพื้นถนน แล้วตัวเองก็วิ่งหนีออกข้างทางไป



ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะเหยียบหรือจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่พระเมตตาเฉพาะเจาะจงต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติ เสื่อมคลายจากความเมามัน ครองสติกลับเป็นปรกติยืนทอดงวงลงต่ำและไม่เข้าไปประทุษร้ายเด็กนั้น กลับเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพองแล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา

เวลานั้นฝูงมหาชนที่คอยตักบาตร และถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและฝ่ายปืนในที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสนพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้าง จนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้วพญาช้างถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค กลับไปโรงของตน โดยปรกติ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร

เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้น บ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อนางมันตาพราหมณ์ บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้นมารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นจึงไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักศาปาโมกข์ อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารก็เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามานพทั้ง ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมาก และหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยความเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามานพคนอื่น ๆ พวกมานพเหล่านั้นก็มีความริษยาพากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒-๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมานพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำจึงคิดว่า เราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพด้วยอุบายปัญญา คือจะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า

อาจารย์จึงวางแผนเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้แล้วกระซิบว่า "ศาสตร์ที่ท่านเรียนจากเราน่ะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่งแล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ ประเสริฐสุดในโลกได้คนหนึ่ง" เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง เที่ยวฆ่ามนุษย์ทั้งในเมืองตามบ้านเรือนและในป่า ฆ่าใครไปก็ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ เจาะร้อยเป็นพวงสะพายแล่งไว้กับตัว ในเวลานั้น ยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เพราะเหตุที่ตัดนิ้วมาร้อยแบบนี้จึงมีนามปรากฏว่า องคุลีมาลโจร


วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลีมาลโจรว่ายังเป็นผู้ที่ฝึกได้ ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่าสมณะองค์นี้คงจะต้องถึงที่ตายแล้ว เราจะฆ่าและตัดนิ้วมือได้ครบพัน คิดแล้วก็ชักดาบเงื้อมือวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิให้เกิดแม่น้ำขวางหน้าองคุลีมาลโจรบ้าง ให้เกิดเป็นป่ารกชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลีมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่ารก วิ่งตามเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน ยิ่งเร่งตามพระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนพระพุทธองค์จะยิ่งอยู่ห่างออกไป ทั้งๆที่ก็เห็นว่าพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินตามปรกติแต่ทำอย่างไรก็ตามไม่ทัน พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีสัทธรรมประการต่าง ๆ องคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้กล่าวสัทธรรมได้ลุ่มลึกนัก ชะรอยว่าจะเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว การเจอกันครั้งนี้พระองค์คงเสด็จมาด้วยพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ คิดแล้วก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนโยนนอบน้อมทั้งอาวุธลง แล้วคลานเข่ามาถวายนมัสการด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลีมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถศึกษาเรื่องขององคุลีมาลโจรเพิ่มเติมได้ที่ 👉องคุลีมาลสูตร


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

เรื่องมีว่า ในสมัยหลังพุทธพรรษาที่ ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธ์องค์ก็เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองจำนวนมาก จนพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา อีกทั้งรู้สึกลาภสักการที่ตนเคยได้จากชาวเมืองเสื่อมถอยลดน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายกล่าวโทษพระพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจผิดเลิกนับถือ คณะเดียรถีย์จะได้กลับมาเฟื่องฟูด้วยลาภสักการะใหม่อีกครั้ง จึงไปอ้อนวอนให้นางจิญจมาณวิกาผู้เป็นสาวิกาของตน นางผู้นี้มีรูปร่างงดงาม หน้าตาสะสวย ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี วางแผนเป็นอุบายวิธี ให้นางถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่าจะไปร่วมหลับนอนกับพระพุทธเจ้า และตอนออกก็ให้เดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมให้ทำกลับมาดังนี้ทุก ๆ วัน ประมาณ ๓-๔ เดือน ค่อยเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นเหมือนสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวไปประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า คนอันธพาลเหล่านั้นเป็นพวกโง่งม ได้ยินดังนั้นก็ต้องถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่

ครั้นกาลนานมาประมาณ ๘-๙ เดือน ก็ให้นางจิญจมาณวิกาหาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องแล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด แล้วจึงชักชวนคนอันธพาลที่เคยหลอกไว้เป็นอันมากให้พากันไปยังพระเชตวัน จากนั้นให้นางจิญจมาณวิกาเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ แล้วจงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่าได้ร่วมรักหลับนอนกันจนมีครรภ์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงตามแผนอุบายของเดียรถีย์ และด้วยมารยาของนางจิญจมาณวิกา ทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่พุทธบริษัท บางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนาง บางพวกก็ไม่เชื่อ บางพวกก็มีความลังเลสงสัย ในขณะนั้นก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อย แฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกาขาดเป็นสองท่อนดังถูกตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาพ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ มหาชนบริษัททั้งหลายเมื่อเห็นกลมารยาของนางก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วก็พากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับตาลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็ไม่อาจรองรับอกุศลกรรมอันหนักที่นางได้กระทำไว้ จึงสูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็นในคราวนั้น



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๑

พระคาถาพาหุงมหากา (สวดอินเดีย)

คาถาพาหุงมหากาหรือมักเรียกว่าพุทธชัยมงคลคาถา  เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ถึงชัยชนะแปดประการที่ทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยพระธรรมานุภาพ ที่มาของคาถาพาหุงนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก บางกระแสว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ชาวลังกา บางกระแสก็ว่าแต่งที่เมืองไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามบทสวดนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์อันเป็นมงคลต่อชีวิตของผู้สวดสาธยายพระคาถานี้ 

เนื้อหาสาระในพระคาถาทั้ง ๘ บท

🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่องพระยามาร

เรื่องมีว่า เมื่อครั้งก่อนตรัสรู้พระมหาโพธิสัตว์นั่งสมาธิใต้ต้นพระมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ตั้งพระกายตรงทรงดำรงพระสติมั่น จำเพาะต่ออานาปานสติภาวนาแล้วทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเพียงไรก็จะไม่ลุกออกจากสถานที่นี้

ครั้งนั้นพระยาวสวัสดีมารผู้มีสันดานบาป ทราบว่าพระมหาโพธิสัตว์กระทำความเพียรจวนจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ ก็ไม่พอใจ กลัวจะพ้นวิสัยของตนไป มีความโกรธแค้นมาก จึงนิรมิตแขนซ้ายขวาข้างละห้าร้อย ถืออาวุธต่าง ๆ ครบทุกมือ ขึ้นช้างครเมขล์ยกเสนาซึ่งนิรมิตกายแปลกประหลาดต่าง ๆ กัน มาทางทิศเหนือ โห่ร้องกึกก้องเข้ามาหวังจะฟาดฟันพระองค์เสียให้สิ้นชีพ ขณะนั้นเทวดาจากสวรรค์ภพที่ได้ลุมล้อมปฏิบัติรักษาพระองค์อยู่โดยรอบ พอได้ยินเสียงกองทัพพญามารสนั่นหวั่นไหว ทราบว่าพระยามารยกทัพมาก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว ท้าวสยามเทวราชฉวยได้สุวรรณจามร ท้าวสันดุสิตเทวราชฉวยได้วาลวิชปัญจสิข เทพคนธรรพ์จับได้พิณทิพย์ พระอินทร์ฉวยฉุดได้สังขวิชัยยุทธ ฉวยอะไรได้แล้วต่างพากันเหาะหนีกลับไปสู่ภพของตน ครั้นพระมหาโพธิสัตว์เห็นเหล่าเทวดาหลบหนีไปหมด จึงทรงระลึกถึงบารมี ๓๐ ทัศที่เคยสร้างสั่งสมไว้ในสังสารวัฎอันยาวนาน มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติ ด้วยกำลังของมหากุศลจิตและด้วยอำนาจของบารมีที่สั่งสมมา เหล่าเสนามารก็ไม่อาจทำให้พระมหาโพธิสัตว์เกิดความหวั่นไหวใดๆ ก็ยิ่งทำให้พระยามารมีความโกรธแค้นด้วยกำลังแห่งโทสะ จึงนิรมิตห่าฝน ๙ อย่าง

๑. ห่าฝนลมพายุใหญ่
๒. ห่าฝนมหาเมฆฝนตกใหญ่
๓. ห่าฝนก้อนศิลา
๔. ห่าฝนอาวุธศัสตราต่าง ๆ
๕. ห่าฝนถ่านเพลิง
๖. ห่าฝนเถ้าที่ร้อนจัดดุจเถ้าในนรก
๗. ห่าฝนไฟกรด
๘. ห่าฝนเปือกตม
๙. ห่าฝนอันมืดทั่วทุกทิศให้ตกลงมา

ห่าฝน ๙ ประการนั้นก็มิอาจทำอันตรายแก่พระมหาโพธิสัตว์ได้ จากสิ่งที่น่าหวาดเสียวหวาดกลัวกลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชา ด้วยอำนาจพระบารมี มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น พระยามารเห็นดังนั้นก็ยังโกรธมากขึ้นไปอีก จึงเข้าไปร้องกล่าวว่า "รัตนบัลลังก์ที่พระมหาโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของเกิดด้วยบุญสมภารแห่งตน สมควรแก่ตน" แล้วอ้างเสนามารแห่งตนเป็นพยาน มารหวังหลอกลวงให้ลุกจากที่นั่งหมายทำลายสัจจาอธิฐานให้ได้

พระมหาโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดด้วยบุญบารมีของพระองค์" พระยามารให้อ้างพยาน พระองค์ไม่มีใครจะเป็นพยาน จึงทรงระลึกถึงทานที่พระองค์ได้บริจาคในอเนกชาติ เช่นได้ให้ทานบุตรภรรยาในพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นต้น แล้วชี้นิ้วพระหัตถ์ลงไปตรงพื้นปฐพี นางพระขรณีที่ผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงพระพักตร์แล้วทูลว่า "ข้าพระบาทเป็นสักขีพยาน ได้ทราบบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างเอนกอนันต์จนทักษิโณทก (ทักษิโณทก = น้ำที่หลั่งเวลาทำทานเพื่ออุทิศกุศลผลบุญ)  ตกลงซุ่มอยู่ในเกศาของข้าพระบาทมากจนหาที่จะประมาณมิได้" ว่าแล้วนางพระธรณีก็บิดน้ำให้ไหลออกจากมวยผม ตนเองไหลนองจนท่วมดุจห้วงมหาสมุทรทั้งมหาปฐพีเกิดคลื่นน้ำเข้าถาโถมใส่กองทัพพญามาร พระยามารและพลมารถมีความพิศวงครั่นคร้ามในบารมีและพระเดชานุภาพของพระมหาโพธิสัตว์เป็นอันมาก เมื่อรู้ตัวว่าทำอะไรไม่ได้แล้วจึงพากันนมัสการ แล้วพากันกลับไปสู่พิภพของตน

พระมหาโพธิสัตว์ทรงชนะมารครั้งนี้ในวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาพระอาทิตย์จวนจะอัสดงคต และได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในเวลาจวนใกล้รุ่ง


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่องอาฬวกยักษ์ (อาฬกวยักษ์มีฤทธ์แก่กล้ายิ่งกว่าพญามาร มีสันดานกระด้างปราศจากความอดทน)

เรื่องนี้มีอยู่ว่า อาฬวกยักษ์อาศัยอยู่ในวิมานใต้ต้นไทรใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้หยาบช้าทารุณมาก ชอบกินคนและสัตว์ที่เดินป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่นั้น และกินคนที่พระเจ้าอาฬวราช ราชาเมืองอาฬวะส่งมาให้กินวันละคน ๆ ตามที่ได้สัญญากันไว้ ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ ว่าเป็นเวไนยสัตว์ ยังสามารถเรียนรู้สามารถฝึกตนให้เกิดมรรคผลเป็นอริยบุคคลได้ ด้วยพระเมตตาพระองค์จึงเสด็จไปยังวิมานของอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ จึงเสด็จต่อไปยังที่ประชุมของยักษ์และเทวดาในป่านั้น ก็ได้พบแต่คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูวิมาน ไม่ทรงพบอาฬวกยักษ์

พระพุทธองค์จึงเสด็จผ่านประตูเข้าไปประทับบนรัตนบัลลังก์ของอาฬวกยักษ์แล้วทรงเปล่งรัศมี ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง ขาว หงส์บาท เลื่อม แดง ออกจากพระกาย ฝูงนางสนมและบริวารทั้งหลายของอาฬวกยักษ์เห็นพระรัศมีมีความสว่างเจิดจ้า น่าเลื่อมใส จึงพากันเข้าไปนมัสการแล้วนั่งฟังธรรมอยู่ คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูนมัสการพระองค์แล้วเหาะไปบอกอาฬวกยักษ์ พออาฬวกยักษ์ได้ยินสิ่งที่คนเฝ้าประตูเล่าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟตามโทสาคติของจิตใจยักษ์ คิดเคียดแค้นจะรีบกลับมาฆ่าเสีย

ในขณะนั้นสาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ พาบริวารมาคนละ ๕๐๐ เหาะมายังเชตวันวิหาร หวังจะนมัสการพระพุทธเจ้าครั้นไม่พบ จึงมองหาพบแสงของรัศมีเปล่งประกายออกมาจากวิมานของอาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์กับพวกพ้องจึงพากันเหาะไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ ระหว่างทางก่อนถึงวิมารได้เจออาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ก็บอกว่ามีแก้วมณีเกิดขึ้นที่วิมานของท่านแล้ว อาฬวกยักษ์นึกว่าตนจะได้ลาภเป็นแก้วมณีจริงๆก็ดีใจ รีบลุดไปให้ถึง พอมาถึงที่กลับเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์แสดงธรรมแก่บริษัทของตนอยู่ก็ยิ่งทวีความโกรธเกรี้ยวเลยแผลงฤทธิ์ให้ห่าฝน ๙ ประการตกลงมา หวังจะให้ทำลายชีวิตของพระองค์เสีย แต่พอห่าฝนที่ยักษ์เนรมิตตกลงมาก็กลับกลายเป็นดอกไม้เครื่องสักการบูชา อาฬวกยักษ์เห็นอย่างนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเอาผ้าโพกขว้างขึ้นไปบนอากาศหวังจะให้ตกลงมาประหารพระองค์ ผ้าโพกแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังสนั่นกึกก้องไปในอากาศ แล้วกลับตกลงมาเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา บริษัทของอาฬวกยักษ์และฝูงเทวดาเห็นดังนั้นก็มีความยินดี พากันร้องสาธุการเสียงกึกก้องลั่นวิมาน

อาฬวกยักษ์คิดว่า ผ้าโพกของเราผืนนี้ ถ้าจะขว้างภูเขาใหญ่เท่าพระสุเมรุ ภูเขานั้นก็จะแหลกละเอียดไป หรือถ้าจะขว้างไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้งเหือดไปหมด แต่พอเราขว้างใส่พระสมณะองค์นี้ กลับกลายเป็นดอกไม้บูชาดูน่าอัศจรรย์นัก อย่ากระนั้นเลย เราจะข่มสมณะนี้ด้วยวาทะ ถ้าแพ้เรา เราก็จะฆ่าเสีย คิดแล้วจึงร้องว่า "ท่านมานั่งบนที่นั่งเราทำไม จงลุกไปเสียข้างนอก" พระองค์เสด็จออกไปข้างนอกตามคำยักษ์ แล้วยักษ์ก็แกล้ง สั่งให้กลับมานั่งนั่งที่เก่าอีก พระองค์เสด็จเข้ามา อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยิ่งนึกอัศจรรย์มาก ทำไมพระองค์ไม่โกรธตอบและทำไมเป็นคนว่าง่าย บอกอย่างไรก็ทำตามทุกอย่าง พระองค์จึงตรัสว่า "ท่านจะกระทำอะไรแก่เรา เราก็มิได้โกรธตอบและมิได้เข็ดเลย อย่าว่าแต่ท่านคนเดียว ถึงแม้อินทร์พรหมและเทวดา ซึ่งมีฤทธานุภาพสักเท่าใด ๆ ก็มิอาจย่ำยีเราได้" (พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีโทสะแล้ว ไม่ว่าใครก็ทำให้โทสะของพระพุทธองค์เกิดขึ้นมาอีกไม่ได้)

"ท่านคิดไว้ว่าจะถามปัญหากับเรา ท่านก็จงถามมาเถิด แต่ปัญหาที่ท่านคิดไว้ว่าจะถามเรานั้น เราจะบอกให้ท่านรู้ก่อนว่าไม่ใช่ปัญหาของท่านเอง เป็นปัญหาที่จำได้ต่อ ๆ กันมา คือท่านจำมาจากบิดาของท่าน บิดาของท่านก็จำมาจากปู่ของท่าน ปู่ของท่านก็ฟังธรรมแล้วจำได้มาแต่สำนักของพระกัสสปพุทธเจ้า"

อาฬกวยักษ์จึงถามปัญหา ๔ ข้อว่า
"อะไรเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ ?"
"ประพฤติอย่างไรจึงจะได้สุข ?"
"รสอะไรเป็นรถประเสริฐกว่ารสทั้งปวง ?"
"เป็นอยู่อย่างไรจึงจงชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ ?"


พระองค์ทรงวิสัชนาว่า
"ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐของบุรุษในโลกนี้"
"ประพฤติชอบจึงจะได้สุข"
"รสคือความสัตย์เป็นรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง"
"เป็นอยู่ด้วยปัญญาชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ"

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้อาฬวกยักษ์ฟังต่อไปจนคลายพยศลง มีจิตเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หมดสิ้นความกังขาใดๆ จึงน้อมจิตเอาพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐบรรลุโสดาปฎิผลในเวลานั้น แล้วได้ถวายตัวเองเป็นอุบาสก

🙏เกร็ดความรู้เพิ่มเติม 
* เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน พระพุทธพรรษาที่ ๑๖ ณ อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี
* การเกิดเป็นยักษ์ ยักษ์นั้นจัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ คืออยู่ในภพของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์นี้จะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรมหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจ เช่น ในขณะทำบุญไม่สำรวมอินทรีย์ ได้ยินเสียงอื้ออึงคนคุยกันก็นึกหงุดหงิด อากาศร้อนก็นึกหงุดหงิด มีโทสะร่วมกับการทำบุญแบบนี้เป็นต้น เมื่อตายลงจากภพมนุษย์แล้ว หากผลบุญนั้นได้นำเกิด ก็จะนำเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุฯพร้อมได้รูปกายเป็นยักษ์



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม


ปฐมเหตุโลกและชีวิต

ถอดเทปคำบรรยาย เรื่อง ปฐมเหตุของโลก – ชีวิต
(โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙)

        พระคุณเจ้าทั้งหลาย ในวันนี้จะได้บรรยายถึงเรื่อง ปฐมเหตุของโลกและปฐมเหตุของชีวิต คือว่าเมื่อเราได้ทราบถึงข้อเหตุผล เกี่ยวกับ วัฏฏสงสาร และ เหตุผลกฎแห่งกรรมในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาที่จะติดตามมาก็ได้แก่ปัญหา วิวัฒนาการของโลก กับ วิวัฒนาการของชีวิต ว่าโลกและชีวิตนี้เป็นอย่างไร? ตามทรรศนะในพระพุทธศาสนาถือว่ามีสมุฏฐานเหตุมาจากอะไร ในประเด็นปัญหานี้เข้าในลักษณะอัพยากตะปัญหา คือ ปัญหาที่พระบรมศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ เกี่ยวกับ ปัญหาว่าโลกหน้ามีหรือ ชีวิตดวงนี้กับดวงหน้าเป็นอันเดียวกันหรือ สรีระนี้กับสรีระหน้าเป็นสรีระอันเดียวกันหรือ ปัญหาต่างๆทั้งหมด ในครั้งพุทธกาลนี้เคยมี พระบ้าง คฤหัสห์บ้าง นำมาผูกเป็นปัญหาทูลถามพระพุทธองค์ อย่าง พระมาลุงกยะ ได้ตั้งปัญหากระทู้ถามพระบรมศาสดา พร้อมกับตั้งข้อแม้ว่าถ้าพระบรมศาสดาไม่เฉลยปัญหาเหล่านี้กับพระมาลุงกยะแล้ว พระมาลุงกยะก็จะทูลลาสิกขาไม่อยู่บวชในพระพุทธศาสนาต่อไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอบพระมาลุงกยะ ว่าดูก่อนมาลุงกยะ การที่เธอมาบวชนี้ตถาคตเป็นผู้ขอร้องอ้อนวอนให้เธอมาบวชหรือเปล่า พระมาลุงกยะก็ทูลบอกว่าเปล่า เมื่อเปล่าแล้วเธอจะมาขอร้องบอกคืนกับใครล่ะ เราจะพยากรณ์ถึงเรื่องปัญหาโลกแตกดังที่ท่านตั้งมาถามเหล่านี้ จะพยากรณ์ก็ตาม ไม่พยากรณ์ก็ตาม ธรรมะเหล่าใดที่เราแสดงไปแล้ว อันบุรุษผู้มีความปรารถนาอย่างจริงใจรับไปปฏิบัติตามก็ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นการจะตอบหรือไม่ตอบนั้นไม่เป็นสาระสำคัญในพรหมจรรย์ของเราเลย การที่ตัวของเธอมาพัวพันยุ่งเหยิงกับปัญหาเหล่านี้ จะหนีลักษณะฉายาของโมฆะบุรุษไปได้อย่างไร

คือพระพุทธเจ้า ถ้าหากจะตรัสประณามใครอย่างแรงที่สุดก็ตรัสใช้คำว่าโมฆะบุรุษ หมายถึงคนเปล่า เปล่าจากสาระคือ คุณธรรมและคุณสมบัติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าในที่อื่น ๆ อาคตสถานแห่งอื่นบางแห่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์เอง โดยที่ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ อย่างในมหาปรินิพพานสูตร ตรัสพยากรณ์คติของบรรดาอุบาสก อุบาสิกากับพระอานนท์เถรเจ้าว่า ท่านผู้นั้นอุบาสกนั้น อุบาสิกานั้นเมื่อขันธ์แตกไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ชั้นนั้น ๆ พยากรณ์ไว้อย่างนี้ ตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้าว่า เราพยากรณ์อย่างนี้ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจให้แก่ปฏิมาชนตาชน ที่ได้รู้ว่าผลของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่เป็นโมฆะ (ข้อคิด: แสดงว่าผู้บรรลุโสดาบันบางท่านก็ไม่รู้ตัว พยากรณ์ตัวเองไม่ได้แต่บางท่านก็พยากรณ์ได้ ) ได้รับผลประโยชน์ทั้งในทิฏฐธรรม ในสัมปรายภพ จะได้เป็นกำลังใจ จะได้เป็นตัวอย่างแบบฉบับสำหรับคนชั้นต่อ ๆ ไปอย่างนี้ ทรงตรัสพยากรณ์เอง



เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนี้แล้วประหนึ่งว่าพระบรมศาสาดานั้นทำอะไรขัดกับพระองค์โดยปริยาย ประหนึ่งเป็นอย่างนั้นแหละครับ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า คนที่มาตั้งปัญหาเป็นอัพยากตปัญหาหรือที่เรียกกันว่าปัญหาโลกแตก ถ้าตั้งปัญหาเหล่านี้มาถามพระองค์ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างว่าพวกเหล่านี้มีทิฏฐิฝังอยู่ในสันดานแล้ว บางคนเป็นสัสสตทิฏฐิ บางคนเป็น อุจเฉทิฏฐิ ฝังแน่น เป็นทิฏฐิปรามาส ทิฏฐิปรามาส นี่หมายความว่าเป็น ทิฏฐิที่แรงมาก เป็นทิฏฐิชั้นคณาจารย์ ทิฏฐิของชาวบ้านธรรมดาที่เป็น มิจฉาทิฏฐิยังไม่แรงอย่างพวกมิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ มิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ถึงแม้ว่ารู้ว่าผิดก็ไม่ยอมกลับทิฏฐิอันนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญชัยเวรัฎบุตร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าดี เมื่อสาวกของตัวคือ พระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ เมื่อยังเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของ สญชัย มาชักชวนอาจารย์สัญชัยไปฟังธรรมในสำนักพระพุทธองค์ด้วยกัน อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป กลับย้อนถามท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ทั้งสองท่านว่า คนในโลก นี้ คนโง่ มากหรือ คนฉลาดมาก เมื่อได้รับคำตอบว่า คนโง่มากกว่าคนฉลาด สญชัยก็บอกว่าดีแล้ว คนฉลาดก็ไปหาพระสมณโคดม คนโง่ก็มาหาเรา เราได้ประโยชน์จากพวกคนโง่ ลาภสักกการะของเราก็มากกว่า เพราะคนโง่มีมากกว่า อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิปรามาสของบุคคลทั้งเจ้าหมู่เจ้าคณะนั้นมีความรุนแรง ถอนได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่มีสัสสตทิฏฐิอยู่ในสันดานหรือคนที่มี อุจเฉทิฏฐิอยู่ในสันดาน ถ้าหากว่ามาตั้งปัญหาประเภท อัพพะยากตปัญหา ถาม พระพุทธองค์แล้ว ถ้าพระองค์ไปมัวตอบปัญหาของพวกเจ้าทิฏฐิเหล่านี้ เหนื่อยเปล่า ป่วยการเปล่า เพราะตอบไปแล้ว พวกเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะกลับอกกลับใจมาเลื่อมใส มิหนำซ้ำเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย บางทีจะฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด อีก นึกว่าพระพุทธเจ้าสนับสนุนทรรศนะตัว ยกตัวอย่าง พระองค์บอกว่า ชาติหน้ามี ว่าคนเราตายแล้วต้องมีปฏิสนธิวิญญาณไปเวียนว่ายตายเกิดอีก ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนฟังแล้วก็นึกว่า โอ นี่พระสมณโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเช่นเดียวกับเราแล้ว คือแสดงว่า มีวิญญาณดวงนี้เป็นตัวตั้งตัวตีไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ นึกอย่างนั้นไม่ได้เฉลียวใจว่าคำว่า ปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนา ต่างกับปฏิสนธิวิญญาณในศาสนาอื่นอย่างไร คือ ปฏิสนธิวิญญาณในพุทธศาสนาเรานั้นไม่ใช่เป็นนิจจัง แต่ว่าเป็น อนิจจัง เกิดดับ ทุกขณะ ส่งไปด้วยอำนาจพลังกรรม กับ พลังตัณหา พลังอุปทาน ๓ อันนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต ใน อังคุตรนิกายว่า กรรมนี้เป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหานี้เป็นยางเหนียวในพืชนั้น สิเนโหตัณหา สิเนโห แปลว่า ยางเหนียว สิเนหะคือ เสน่หานี่แหละ แปลว่ายางเหนียว มีกรรมเป็นผืนนา มีวิญญาณเป็นพืช และก็มีตัณหาเป็นยางเหนียวในพืชนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อรับ พืช คือวิญญาณลงไปในแปลงนาคือ กรรม เมื่อวิญญาณนั้นยังมียางเหนียวอยู่ก็มีการเจริญเติบกล้าขึ้นมา เมื่อได้รับปัจจัยเช่น แสงแดด อาหาร น้ำ อันเป็นโอชะมาบำรุง วัฏฏสงสารก็เกิด ทรรศนะในเรื่องวิญญาณในพุทธศาสนาจึงต่างกับพวกสัสสตทิฏฐิ เพราะเราถือว่าวิญญาณก็เกิดจากกรรมเกิดจากสิเนหะ คือยางเหนียว ปรุงแต่งกัน เมื่อได้อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ไม่มีสภาวะที่เที่ยงในตัวมันเอง ต่างกับทรรศนะวิญญาณในฝ่ายสัสสตทิฏฐิที่ถือว่า วิญญาณนั้นเที่ยง วิญญาณดวงนี้ดวงเดียวยืนโรงอยู่ เป็นผู้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามภพต่างๆ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่มี สัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน หากมาฟัง พุทธพยากรณ์ แล้วก็จะฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด ดีอกดีใจ บอกว่าพระสมณะโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเหมือนกับเราอย่างนี้ ป่วยการเปล่านี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ถ้าหากว่ามีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนอยู่ ขันธะสันดาน พวกนี้จะตั้งปัญหาอัพยากตปัญหาทูลถามพระพุทธองค์เข้า พระพุทธองค์จะตรัสพยากรณ์ บอกว่าวิญญาณดวงที่ท่องเที่ยวต่างกับวิญญาณดวงนี้ ไม่ใช่วิญญาณดวงนี้ไปเกิดในภพหน้า แต่เป็นคนละอัน คนละดวงกัน ถ้าพยากรณ์อย่างนี้ พวกที่มีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด นึกว่า โอ พระสมณโคดมพยากรณ์ว่าวิญญาณขาดสูญ เพราะตรัสว่า ดวงนี้ไม่ใช่ดวงนั้น ขาดสูญแล้ว เป็นการสนับสนุนทิฏฐิของเรา พวกเจ้าลัทธิ ๒ พวกมีความโน้มเอียงไปในทางที่ตัวเชื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะมาพยากรณ์อัพยากตปัญหากับพวกเหล่านี้เหนื่อยเปล่า พระองค์จึงตัดบทเสีย ไม่พูด พูดไปแล้วก็เหนื่อย

แต่หากว่าคนที่เขาตั้งปัญหาถามชนิดที่ว่าอยากรู้อยากเห็นจริง ๆ มีความสงสัยในเรื่องนี้จริง ๆ โดยที่ไม่มีสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทุกรายไปเลยทีเดียว ไม่มีเลยที่จะไม่พยากรณ์ และก็บางครั้งไม่ต้องอาศัยใครมาทูลถามพระองค์ ๆ พยากรณ์ขึ้นมาเฉย ๆ ก็มี ปรารภเหตุต่าง ๆ และก็เล่าความเป็นไปต่างๆ ขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเข้าลักษณะว่า วาจาใดแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็จะไม่ตรัสเลย แต่ถ้าวาจาประเภทใดเป็นของแท้ของจริงแล้วมีประโยชน์ด้วย พระองค์จะเป็นผู้ที่รู้กาละที่จะตรัส ไม่ใช่ว่าถ้าของจริงแล้วมีประโยชน์จะตรัสพร่ำเพรื่อไม่เอา ตรัสไม่ดูบริษัท ไม่ดูบุคคล ไม่ถูก พระองค์เป็นผู้รู้กาลตรัส กาลที่ควรจะตรัสก็ตรัส และกาลที่ไม่ควรจะตรัส พระองค์ก็ไม่ตรัส นี่เป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ วิวัฒนาการของโลก หรือ วิวัฒนาการทางชีวิตตามพุทธคติ เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธต่างกับศาสนาอื่น ศาสนาในโลกนี้ เมื่อแบ่งกันแล้วก็มี ๓ พวกใหญ่ ๆ คือ

๑. ศาสนาประเภท พหุเทวนิยมพวกหนึ่ง
๒. ศาสนาประเภท เอกะเทวนิยมพวกหนึ่ง
๓. ศาสนาประเภท อะเทวนิยมพวกหนึ่ง

มี ๓ พวกนะครับ ศาสนาประเภท พหุเทวนิยม นั้นได้แก่ ศาสนาที่บูชาพระเป็นเจ้า ประจำธรรมชาติ มีพระเจ้าฟ้าร้อง พระเจ้าฟ้าผ่า พระเจ้าร้อน พระเจ้าหนาว พระเจ้าฝน พระเจ้าอบอุ่น พระเจ้าแสงแดด พระเจ้าอะไรมากมายตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติศาสนาพหุเทวนิยม นี้เป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ ติดมาตั้งแต่มนุษย์เรายังเป็นอนารยชน เป็นคนป่าร่อนเร่อยู่ในท่ามกลางป่าดงพงไพร เป็นศาสนาที่เกิดจากความกลัวของคนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตบอกว่าเมื่อมนุษย์เกิดมีความกลัวคุกคามแล้ว ก็ยึดเอาป่าเป็นที่พึ่งบ้าง ยึดเอาเจติยะ เอาต้นไม้ เอาภูเขา เป็นที่พึ่งบ้าง สุดแต่ว่าอะไรที่จะให้ใจตัวเข้าไปยึดเหนี่ยวแล้ว นึกว่าดับความกลัวได้ มนุษย์ก็แสวงหาเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ แต่ผู้ใดถึงพระรัตนตรัย มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ผู้นั้นจึงชื่อว่าได้มีที่พึ่งอันเกษม มีที่พึ่งอันประเสริฐ เพราะผู้ใดถึงที่พึ่งอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี่ในพุทธภาษิตตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกนักวิเคราะห์ทางจิตเขาบอกว่า “ คนที่นับถือศาสนาเป็นพวกที่มีจิตใจอ่อนแอ “ วิเคราะห์ทางจิต ฝ่ายวัตถุนิยมนะ เขาบอกว่าคนที่มีศาสนาเป็นคนจิตใจอ่อนแอก็จริง แต่ว่าศาสนาที่คนนับถือประเภทจิตอ่อนแอ ไม่ใช่ พุทธศาสนา เพราะว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประเภทที่ ๓ เป็นพวกอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ไม่ได้ให้เกียรติกับพระเจ้าองค์ไหน หรือ เทวดาองค์ไหนเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่ใช่

แล้วในพุทธศาสนาก็รับด้วยว่าถูกศาสนาที่มีบ่อเกิดมาจากความกลัวนั้นคือ ศาสนาสมัยยุคอนารยะ ยุคคนป่าเกิด เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ มนุษย์ยังไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ พอเจอแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือโรคระบาด ก็นึกว่าจะต้องมีผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือผีสางอะไรเป็นผู้ดลบันดาลเป็นผู้สั่งการ ไม่เช่นนั้นอยู่ดี ๆ ทำไมฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างลงมาได้ อยู่ดีๆ ทำไมแผ่นดินไหวขึ้นมาได้ จะต้องมีคนดลบันดาล นึกอย่างนั้น จากความโง่เขลาของคนป่าในยุคกระโน้นกลัวขึ้นมา กลัวก็อ้อนวอนบวงสรวงบูชาสมมุติให้เป็นพระเจ้า เป็นตัวเป็นตนขึ้น เรียกว่า พหุเทวนิยมมากมาย เทวดามากมาย พระเจ้ามากมาย สมมติกันขึ้นเป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ ศาสนาประเภทนี้มนุษย์ในโลกภาคต่างๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่ายุโรปอเมริกาหรือเอเชียเหมือนกันหมด นับถือพระเจ้าประจำธรรมชาติ การนับถือพระเจ้าประจำธรรมชาตินั้นบางทีก็พลอยนับถือพวก “ สัตว์เดรัจฉานเป็นพระเจ้าด้วย “ เพราะไปเจอสัตว์เดรัจฉานที่มีเขี้ยวเล็บมาก ๆ มีความดุร้ายมาก ๆ ก็เลยสมมติว่ามีวิญญาณที่ดุร้ายสิงสู่อยู่นับถือพวก เสือ พวกจระเข้ หนักเข้านับถือ หมู แมว บูชา หมู หมา แมว ไปด้วยเลย อย่างศาสนาโบราณของพวกอียิปต์นับถือ แมวเป็นพระเจ้าก็มี นับถือแมวนะ อย่างพวกฮินดูนับถือ โคเป็นพระเจ้า ว่าโคนี่เป็นพาหนะของพระอิศวร เฝ้าอยู่ประตูเขาไกรลาศเป็นเทวดาอยู่ และเวลาพระอิศวรจะขี่ก็แปลงเป็นวัวให้พระอิศวรขี่นับถือวัวเป็นพระเจ้า พวกฮินดูจึงไม่กล้ากินเนื้อโคเพราะเขาถือว่าโคเป็นเทวดาแปลงแล้วพวกคนป่าบางเผ่านับถือ จระเข้เป็นพระเจ้า นับถือ เสือเป็นพระเจ้า นับถือช้างเป็นพระเจ้า มีมากมาย นี่เกิดจากความกลัวของมนุษย์ทั้งนั้น ก็ตรงกับหลักนักจิตวิทยาในปัจจุบัน แล้วเขาบอกว่าศาสนาเกิดจากคนที่ใจอ่อนแอ อย่างนี้ต้องจำกัดความหมายว่า ยกเว้นพุทธศาสนานะ เพราะว่าพุทธศาสนานี้ไม่มีลักษณะที่เกิดจากความอ่อนแอ หรือเกิดจากความกลัว ไม่ใช่ นี่เป็นศาสนาประเภทพหุเทวะนิยม

ต่อมาเมื่อสังคมมนุษย์เจริญขึ้น สังคมของมนุษย์มีส่วนสะท้อนไปถึงศาสนาประเภท พหุเทวนิยมด้วย เพราะว่าในสมัยบุพพกาล มนุษย์เราไม่ได้อยู่เป็นประเทศ สังคมเป็นสังคมย่อย ๆ เป็นกลุ่มก้อน มีรัฐ มีพ่อบ้าน มีพ่อหมู่ ประจำหมู่ ประจำคณะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยู่กันเป็นหมู่ๆ พระเจ้าก็มีมากไปตามหมู่ บางหมู่ก็นับถือช้าง บางหมู่ก็นับถือเสือ บางหมู่ก็นับถือดาว นับถือพระอาทิตย์ แล้วแต่ เพราะฉะนั้นลักษณะ พหุเทวนิยม ก็คล้อยไปกับลักษณะสังคมในยุคโบราณของมนุษย์เมื่อแยกเป็นหมู่เป็นคณะ ต่อมาเมื่อโลกวิวัฒนาการเจริญขึ้น เกิดมีประเทศเป็นหลักเป็นฐาน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา และลักษณะของความแตกเป็นหมู่เป็นคณะก็หมดไปกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ๆ ตั้งขึ้นเป็นประเทศ ก็มีพระเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้น เป็นผู้คุ้มครองประเทศเป็นพ่อเมือง ไม่ใช่พ่อหมู่ ศาสนาก็เปลี่ยนไปตามกาลนิยม คือเมื่อมนุษย์ไม่นับถือเทวดาพระเจ้ามาก ๆ องค์ ก็มาตั้งปัญหาถามว่าพระเจ้าเหล่านี้มีมาก ๆ เวลามีภัยมาปรากฏกับเราแล้ว เราจะอ้อนวอนองค์ไหนจะได้มีฤทธิ์เดช จะได้มาคุ้มครองเรา หนักเข้าก็ไม่รู้จะอ้อนวอนองค์ไหนดี เพราะต่างองค์ต่างก็ศักดิ์สิทธิ์ขลังด้วยกันทั้งนั้น ความรู้สึกของมนุษย์ก็นึกว่าในหมู่พระเจ้าคงจะเหมือนคน คือจะต้องมีประธานของพระเจ้ามาสักองค์หนึ่ง เป็นเทวาดิเทพ บังคับบัญชาบรรดา เทวดาบริวาร เหล่านี้เหมือนอย่างมนุษย์เรามี พระเจ้าแผ่นดินเพราะฉะนั้นก็เลยสมมติให้มี เทวาดิเทพองค์หนึ่งเป็นประธานพระเจ้า เกิดศาสนาประเภท เอกะเทวนิยม ขึ้น เมื่อเกิดประธานพระเจ้าแล้ว การที่จะไปเอาอกเอาใจพวกตีนโรงตีนศาลก็หมดไป ไม่จำเป็น มาอ้อนวอนพวกตีนโรงตีนศาลหรอกหนัก ๆ เข้าก็ตัดพระเจ้าปลีกย่อย ๆ พระเจ้าเบ็ดเตล็ด ๆ หายเข้าโรงไปทีละองค์สององค์หมดไป เหลือแต่พระบิดาของโลกองค์หนึ่ง ตามความเข้าใจของคนโบราณในยุคนั้น ท่านผู้นั้นคือพระเจ้าผู้สร้างโลก ผู้รังสฤษดิ์ความเป็นไปต่างๆ ในสากลจักรวาล เป็นศาสนาเอกเทวนิยม ค่อยๆพัฒนามาจากศาสนา พหุเทวนิยม นี่เป็นลักษณะ พัฒนาการของศาสนา เป็น เอกะเทวนิยมเสียแล้ว เพราะฉะนั้นลักษณะนี้เราจะเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้ว



มนุษย์ที่สร้างพระเจ้านั้นเป็นมนุษย์สมัยยุคอนารยะที่ยังไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ สร้างพระเจ้าจากความกลัวของตัวเองขึ้นมาแล้วตัวเองก็อ้อนวอนบูชาในสิ่งที่ตัวสร้างขึ้น นี่เป็นสมัยวิวัฒนาการศาสนาจาก พหุเทวนิยมเป็นเอกเทวนิยม ต่อมาเมื่อปัญญาของมนุษย์เฉลียวฉลาดขึ้น รู้ข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์ก็เลิกที่จะบูชาพระเจ้าภายนอก หันมาขบคิดปัญหาชีวิตภายในตัวเราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อันนี้ความคิดเห็นของมนุษย์ในยุคนี้ทำให้เกิด ปรัชญาเมธีต่างๆ ทำให้เกิดการคิดที่จะสร้างระบบ ยกระดับชีวิตจิตใจให้พ้นจากห้วงทุกข์ห้วงกิเลส ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในบรรดาหมู่เจ้าลัทธิในศาสนาพราหมณ์เกิดปรัชญาอุปนิษัท ได้สร้างเรื่องอาตมันหรือวิญญาณสากลขึ้น เพราะฉะนั้นลักษณะนี้วิวัฒนาการจากวัตถุมาเป็นจิตใจ พระเจ้าก็เป็นวัตถุของภายนอก เป็นตัวเป็นตนเหมือนอย่างเรา มีโลภ มีโกรธ มีหลง เหมือนอย่างมนุษย์ คือมนุษย์สร้างพระเจ้าจากจินตนาการของตัวเอง มนุษย์อยากจะให้คนเอาใจ มนุษย์ก็นึกว่าพระเจ้าต้องการคนเอาใจบ้างไปประจบประแจงพระเจ้า มนุษย์รู้ตัวเองว่าเวลาใครทำขัดใจตัว ตัวโกรธ ก็นึกว่าพระเจ้าต้องโกรธ ถ้าไปขัดใจพระองค์ ต้องคอยเอาใจพระเจ้า นี่เพราะฉะนั้นพระเจ้าก็เป็นผลจากมนุษย์เสกสรรค์ขึ้น ต่อมาเมื่อมนุษย์มีปัญญาเฉลียวฉลาด เลิกบูชาสิ่งภายนอก เห็นว่าแท้จริงเราจะไปบูชาอ้อนวอนสักกี่มากน้อย ความทุกข์ก็ไม่หมด ความทุกข์ในชีวิตก็ไม่หมด อย่าเลยมาค้นหาความจริงภายในดีกว่า ว่าตัวเรานี่เป็นใคร มาแต่ไหน การที่ต้องการจะขบปัญหาว่าตัวเราเป็นใคร มาแต่ไหนนี่จึงได้เกิดปรัชญาชนิดที่ว่า อาตมัน หรือ ปรัชญาประเภท นิยม อัตตะ ขึ้นมา เกิดขบไปขบมาก็เห็นว่าตัวเราที่จริงไม่ใช่ตัว ๆ นี้ ตัว ๆ นี้เป็นเพียงแต่เรือนร่าง ตัวเราที่จริงเป็นเจ้าของเรือนร่างอันนี้เป็นผู้อาศัยร่าง บังคับบัญชาเรือนร่างอันนี้ ตัวเราอันนี้จะต้อง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่แตกไม่สูญ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อ ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงยุคที่ ๓ คือ ยุคที่ค้นหา ความจริงภายใน จึงได้เกิดลัทธิปรัชญาประเภท สัสสตทิฏฐิ ที่ถือ อาตมัน หรือ วิญญาณสากลเป็นบรรทัดฐานแล้ว วิญญาณสากล หรือ อาตมันนี้ก็เรียกว่า เป็นพรหมบ้าง เป็นปรมาตมันบ้าง หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่เถิด จิตสากลบ้าง อะไรต่างๆ อย่างแม้ในทางตะวันตกก็เหมือนตะวันออก ตะวันตกอย่างปรัชญาของ สปิโนซ่า อย่างนี้สปิโนซ่า ก็ถือว่ามี ยูนิเวอร์แซลไมนด์ คือ จิตที่เป็นจิตสากล เป็นที่รวมของจิตต่าง ๆ ของโลก ความเป็นไปของโลก รังสฤษดิ์ออกมาจากยูนิเวอร์แซลไมนด์ อันนี้คือจิตสากล อันนี้สะท้อนภาพแบ่งแยกออกมา อันนี้เราจะเห็นว่าค่อย ๆ เจริญขึ้นมา ระดับนี้มนุษย์เลิกเชื่อ อภินิหารพระเจ้าภายนอกแล้วนึกว่าตัวเรานี่คือพระเจ้า คือ พรหม อหัมพรัมมัสมิ ตัสวัมอสิ นี่เป็นหัวใจในปรัชญาฮินดูเขา ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ที่เป็นขั้น อัลทิเมท (Ultimate) คือชั้นสูงสุด ชั้นโลกุตระของเขาเขามีคำขวัญประจำปรัชญาใน อุปนิษัท บอกว่า อหัมพรัมมัสมิ ตัวเรานี่เป็นพรหม ตัสวัมอสิ แม้สูก็เช่นเดียวกัน พูดกันอย่างง่ายๆ บอกว่าไม่ต้องไปบูชาพระเจ้าภายนอกหรอก พระเจ้าสร้างโลกภายนอกเก๊ทั้งนั้นแหละ แต่ของข้านี่เป็น พระเจ้า คือ อัตตานี่แหละเป็นตัวพระเจ้า แม้แต่ตัวท่านก็มีพระเจ้าในตัวท่านเอง คือ อัตตาที่ที่แท้ของท่านก็เป็นพระเจ้า ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงขั้นนี้ก็ถือเอาตัวตนของตัวเองเป็นพระเจ้า อัตตา ที่แท้จริงเป็นพระเจ้า โซล (Soul)

อาตมัน เป็นพระเจ้า เป็นพรหม นี่เป็นจุดสูงสุดในศาสนาประเภทที่วิวัฒนาการมาพอปัญญาของมนุษย์ฉลาดขึ้น อีกยุคหนึ่งคือมาในสมัยที่พุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ถือ อเทวนิยม ไม่ให้ความสำคัญแก่ พระเจ้าหรือ ก๊อด (God) เลย นี่เป็นลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นในท่ามกลางบรรดาเจ้าหมู่เจ้าคณะที่กำลังคิดว่าตัวตนเป็น พระเจ้า และในอินเดียเราก็ทราบแล้วว่า ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาที่จะเรียกแล้วก็เป็นศาสนา จับฉ่าย คือถ้าจะเปรียบเทียบเป็นห้างสรรพสินค้าก็มีสินค้าหลายประเภทตั้งแต่ บุ้งกี๋ ไม้กวาด ที่นอน หมอน มุ้ง กระทั่งโทรทัศน์ จำหน่าย สำหรับให้คนที่ต้องการสินค้าภายในหยิบเอาไป ในศาสนาพราหมณ์นะครับ พวกที่มีปัญญาสูงหน่อยก็นับถือพระเจ้าในตัวของตัวเอง ถืออัตตาของตัวเป็นพระเจ้า พวกที่โง่ลงมาก็นับถือพระเจ้าภายนอกเป็นตัวเป็นตน มี ๔ มือ ๘ มืออะไรต่างๆ เป็นนารายณ์ ศิวะไป พวกที่ต่ำยิ่งกว่านั้น ก็นับถือพระเจ้าประเภทสัตว์เดรัจฉานไป ไหว้วัว ไหว้ค่าง ไหว้หนุมาน เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ลิงไหว้ค่างไป นี่ต่ำไปกว่านั้น ที่ต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ บูชาศิวลึงค์บ้าง เครื่องเพศของมนุษย์ นี่ต่ำลงยิ่งกว่าบูชา เดรัจฉานอีก ค่อย ๆ ต่ำลงมา ศาสนาพราหมณ์มีหมด ผมถึงบอกเปรียบเหมือนกับห้างสรรพสินค้าหรือสโตร์ มีสินค้าสารพัด

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางศาสนาที่มีสปิริตทั้งสูงทั้งต่ำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่ พุทธศาสนา อุบัติขึ้นจึงเท่ากับว่าได้เปรียบยิ่งกว่าทุกศาสนาในโลก ได้เปรียบมาก ได้เปรียบกว่าทุกศาสนา พระพุทธเจ้าเราได้เกิดในหมู่คนฉลาด การที่พระองค์ประดิษฐานพุทธศาสนานี้ ถ้าไม่ดีจริงละก็ตั้งไม่ได้แน่ คนอื่นเขาเจ๊งไปหมด นี่ถ้าไม่ดีนะ ไม่เหมือนกับศาสนาบางท่าน ไปเกิดในทะเลทรายบ้าง ไปเกิดในบ้านเล็กเมืองน้อยในที่ที่อารยธรรมไม่เจริญ จะพูดอะไรคนก็เชื่อง่าย แต่การที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดในอินเดียในครั้งกระนั้น ไม่ใช่พูดอะไรคนจะเชื่อเอาง่าย ๆ ถ้าไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักข้อพิสูจน์ดีจริงที่ทนต่อการพิสูจน์แล้วอยู่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าตั้งศาสนาขึ้นจึงไม่ใช่มีสมุฏฐานมาจากความกลัว ไม่ใช่ เป็นศาสนาเดียวที่ไม่ได้ตั้งขึ้นจากความกลัวหรือความอ่อนแอในทางจิตใจของมนุษย์ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธศาสนาเกิดจากอะไร… ? เกิดจากเจตจำนงที่ปรารถนาแสวงหาความจริง เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เกิดจากความกลัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ แต่สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ที่เราเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้คนกลัวทุกข์ละก็เราต้องฆ่าตัวตายกันแล้ว ทุกข์ กลัวไม่ได้ ต้องกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น ทุกข์อริยสัจ จึงอยู่ในข้อที่เรียกว่า ปริญญาตัพพะกิจ ในกิจในอริยสัจ ๔ เรายกได้ทีเดียว ใครมากล่าวหาตั้งข้อปรับวาทะประณามว่าพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานี่ก็เหมือนศาสนาอื่น ๆ เกิดจากความกลัว ความอ่อนแอของคนเรา ไม่จริงหรอก พระองค์ตรัสบอกว่า ปริเญยยกิจ ต้องเข้าไปกำหนดรู้ ไม่ได้สอนให้กลัว ไม่ได้สอนให้หนี ไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ สอนให้หนีทุกข์ เปล่า สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ สิ่งที่ทรงสอนให้หนีคือ ตัณหา ต่างหากเล่า อันเป็น สมุทัยอริยสัจ ต้อง ปหานสัพพกิจ ต้องเข้าไปตัด เพราะฉะนั้นคนที่นับถือพุทธศาสนาแล้วเกิดจิตใจอ่อน เป็นด้วยความเข้าใจผิดของคนนั้นเอง ที่เข้าไม่ถึงแก่นในพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่เกิดจากความต้องการแสวงหาความจริงในชีวิตเกิดจากความต้องการจะแก้ปมเรื่องทุกข์ของมนุษย์ให้แตกหักออกไป หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากน้ำใจอันกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการที่ต้องการต่อสู้กับความทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์ อันนี้สำคัญนะครับท่าน ต้องย้ำให้ดี เพราะมีคนโจมตีพุทธศาสนาว่าเป็น เพสซิมิสต์ มองโลกในแง่ร้าย มัวแต่สอนกันเรื่องทุกข์ ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะ เห็นทุกสิ่งเป็นทุกข์หมด อย่างนี้ใจคอห่อเหี่ยวหมด เราต้องแก้เขาบอกว่าท่านเข้าใจผิดแล้ว

ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หนีทุกข์นะ สอนให้สู้กับทุกข์ ถ้าสอนให้หนีทุกข์ละก็ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาสอนคนแล้ว ทิ้งบ้านทิ้งช่องอยู่ในป่า พระอรหันต์ตรัสรู้แล้วก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพง รีบอนุปาสิเสสะนิพพาน ไม่ต้องมาทรมานทรกรรม ชีวิตทำประโยชน์ให้แก่โลก พุทธศาสนาสอนให้สู้หน้ากับทุกข์ คือสู้หน้ากับความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ทุกข์นี่เป็นความจริง เป็นอริยสัจ ให้สู้หน้ากับความจริง ทุกข์นี่เป็นของจริง เป็นอริยสัจให้สู้หน้ากับความจริง ให้รับรู้ในความจริงอันนั้น สิ่งที่เราจะถอนจะละ ตัณหา ต่างหาก ไม่ใช่ตัวทุกข์ เราต้องรู้จักอธิบายครับ แก้คนที่ยังหลงผิด เข้าใจพุทธศาสนาผิด ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เกิดจากสมุฏฐานของความกลัว ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานของความอ่อนแอเช่นนี้ โลกทัศน์ ในพุทธศาสนาจึงแตกต่างกัน โลกทัศน์ ในศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมด

ศาสนาที่เป็นฝ่ายอเทวนิยมในโลกนี้มีเพียง ๒ ศาสนา คือ พุทธกับศาสนาเชน ซึ่งตั้งโดย มหาวีระ เจ้าลัทธิที่มีชีวิตร่วมพุทธสมัยเป็นเชื้อสายกษัตริย์เมืองเวสาลี มหาวีระ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิครนถ์นาฏบุตร ครูทั้ง ๖ ครู คนหนึ่งในครู ๖ คน นิครนถ์นาฏบุตรนี่ ศาสนาเชน ก็เป็นศาสนาที่อยู่ในประเภท อเทวนิยมไม่มีพระเจ้า ปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธการสร้างโลกจากพระเจ้า ถือว่าโลกเกิดจากกรรมเป็นผู้สร้าง เหมือนพุทธศาสนา แต่พุทธกับเชนแม้จะตรงกันในข้อนี้ แต่ไปเลี่ยงกันในวิธีปฏิบัติคือ เชน เป็นฝ่ายถือ อัตตกิละมถานุโยค ให้ทรมานตัวให้แสนเผ็ดอย่างสาหัส เมื่อบำเพ็ญตบะถึงขั้นสุดท้าย ใครอดข้าวจนตายตลอดชีวิต ถือว่าหลุดพ้น เข้า นิพพาน อดข้าวจนตาย นี่อัตตกิละมถานุโยค อย่างสาหัส พระพุทธเจ้าท่านเลือกเดินทางสายกลาง นี่ต่างกับเชน ตรงนี้ ในทางปฏิบัตินะครับในทางทฤษฏีเชนรับรองมี อาตมัน หรือ อัตตา แต่พุทธปฏิเสธอัตตา นี่เพราะฉะนั้น พุทธศาสนากับศาสนาเชน ตรงกันในข้อที่ว่าเป็น อเทวนิยม เหมือนกัน ปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลกเหมือนกัน ถือว่ากรรมเป็นผู้ปรุงโลก สร้างโลกเหมือนกัน แตกต่างกันคือ

๑. เชนถือว่ามีอัตตา อัตตาเที่ยง พุทธถือ อนัตตา เช่นบอกว่าทำอัตตกิละมถานุโยคดี ทำแล้วหลุดพ้นทุกข์ พุทธบอกว่าไม่ดี ต้องเดิน มัชฌิมาปฏิปทา ต่างกันตรงนี้
๒. ศาสนานี้ ศาสนาเชนเวลานี้มีคนนับถือราว ๆ ไม่เกิน ๑๐ ล้านคนในอินเดีย และเป็นศาสนาที่ไม่เคยแพร่หลายออกนอกประเทศอินเดียเลย เพราะเป็นศาสนาที่รุนแรงเกินไปในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถที่จะแพร่หลายไปในต่างประเทศได้ หาคนนับถือได้ยาก เป็นศาสนาพวกชีเปลือย พวกนิครนถ์

คราวนี้โลกทัศน์ในพุทธศาสนา เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า เรื่องวิวัฒนาการหรือสมุฏฐานของชีวิตว่ามีมาจากอะไร เราก็แตกต่างกับโลกทัศน์ในศาสนาอื่น คือ โลกทัศน์ในศาสนาอื่นมักจะตั้งปัญหาถามบอกว่าตัวเรามาจากไหน วิญญาณของเรามาแต่ไหน การตอบปัญหาเหล่านี้ก็พุ่งไปในทางที่ว่าโลกมาจากพระเจ้าผู้สร้าง พอมนุษย์มาอัดอั้นตันอุราก็ต้องโยนกลองให้พระเจ้าตะพึดตะพือ เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นดีที่สุด โลกมาจากพระเจ้าผู้สร้างตัวเราหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้างวิญญาณเรามาอย่างไร นี่เป็นคำตอบอย่างกำปั้นทุบดินของพวกที่นับถือ พหุเทวนิยม หรือ เอกะเทวนิยม สำหรับพุทธศาสนานั้นไม่ได้ตั้งปัญหาถามอย่างนี้ พุทธศาสนาขึ้นต้นตั้งปัญหาว่า ทุกข์นี่มาแต่ไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีประการใด ต่างกับศาสนาอื่นแล้ว ศาสนาอื่นเขาตั้งปัญหาถาม บอกว่าโลกนี้มาแต่ไหน วิญญาณนี่สืบมาจากใคร ใครเป็นผู้สร้างวิญญาณ ปัญหาเพ่งออกนอกตัว ออกไปข้างนอก แต่พุทธเราเพ่งเข้าข้างใน บอกว่าทุกข์นี้มาจากไหน ตั้งปัญหาถาม บอกว่าทุกข์นี่มาจากไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด นี่มีประเด็นอันเป็นสมุฏฐานบ่อเกิดศาสนาแตกต่างกันอย่างนี้ คำตอบหรือคำเฉลยในปัญหา ๒ ประการนี้จึงแตกต่างไปอย่างซ้ายข้างหนึ่ง ขวาข้างหนึ่งทีเดียว ศาสนาประเภทที่มีเทวนิยมก็ต้องพุ่งไปว่าพระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าเป็นผู้รังสฤษดิ์โลก เป็นผู้สร้างดวงวิญญาณ แต่พุทธเราเพ่งไปทางปฏิจสมุปบาท เมื่ออวิชชาดับ ทุกข์ก็ดับ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนาบอกว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สิ่งเดียวที่ตถาคตสอนกับพวกเธอคือ ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น “ นี่เป็นคำสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนา ทรงแสดงเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ คำนี้เป็นคำย่อ ๆ แต่เริ่ม ปฏิจสมุปบาท รวมอริยสัจ ๔ อยู่ในนี้หมด หรือพูดอย่างพระอัสชิก็ เยธัมมา เหตุปัพภวา นี่แหละ รวมอยู่ในคำว่าทุกข์กับความดับทุกข์ อันนี้เป็นหัวใจในพุทธศาสนา แล้วแต่ใครจะไปพลิกแพลงพูดในโวหารต่าง ๆ กัน แต่สรุปแล้วก็อยู่ในคำสองคำนี้ ทุกข์กับความดับทุกข์ นี่เป็นสาระในพุทธศาสนาของเรา ถ้าหากว่ามีคนเขาตั้งปรับวาทะถามบอกว่า ในพุทธศาสนาสอนบอกว่ามีพระเจ้าผู้สร้างไหม เราบอกไม่มี เขาตั้งปัญหาถามว่าถ้าโลกไม่มีพระเจ้าผู้สร้างแล้ว บ้านที่ท่านอยู่เกิดขึ้นเองได้ไหม ต้องมีผู้สร้างไหมบ้านนี่ เราบอกว่ามี มีนายช่างสร้าง เขาก็ย้อนบอกว่าโลกนี้ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้สร้างสิ ไม่มีผู้สร้างจะเกิดเป็นโลกได้อย่างไร เขาตั้งปัญหาถามอย่างนี้ แล้วท่านจะตอบเขาอย่างไร พวกที่ถือ เทวนิยม เขาตั้งปัญหาอย่างนี้ วิธีการตอบ ของเราชาวพุทธ เราก็มีวิธีตอบ เราถามบอกว่า แหม ขอบคุณมากที่ท่านนิยมเหตุผลนะ โลกเป็นผลมาจากพระเจ้าเป็นเหตุ แหม เหตุผลดีเหลือเกิน พุทธศาสนาก็เป็นศาสนานิยมเหตุผล โลกเป็นผล พระเจ้าเป็นเหตุในประการเดียวกัน อยากจะย้อนเอาเหตุผลที่ท่านใช้กับข้าพเจ้านี่ ย้อนถามท่านหน่อยเถิดว่าแล้วพระเจ้าเล่า ใครเป็นผู้สร้าง เขาบอกว่า เกิดขึ้นเองไม่ต้องมีใครสร้าง แล้วกัน นี่ท่านกำลังค้านตัวเองนะ เมื่อกี้นี้หยก ๆ ท่านบอกว่าต้องมีเหตุต้องมีผล ผลมาจากเหตุ แต่ในขณะนี้ท่านอ้างเป็นตุเป็นตะบอกว่าโลกนี้เป็นผล จะต้องมาจากเหตุคือผู้สร้าง แล้วเวลานี้ท่านกำลังค้านตัวท่านเอง แล้วบอกไม่ต้องพระเจ้าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นการค้านเหตุผลในตัวท่านเองแล้วถ้าหากว่าพระเจ้าท่านเกิดขี้นเองได้ ทำไมท่านไม่ยอมให้พวกข้าพเจ้าหรือว่าโลกนี้เกิดโดยธรรมดาบ้างไม่ได้หรือ เขาบอกไม่ได้ ต้องมีช่างไม้ ต้องมีช่างปูน เราถามบอกว่าช่างไม้ช่างปูนก่อนจะมาสร้างบ้านนี่ ใครจ้างเขามา ใครเรียกเขามา ช่างไม้ช่างปูนก็เป็นผลนะ ต้องมีผู้จ้าง เงินไม่ออกจากกระเป๋า เขาก็ไม่มาสร้างให้ฟรี ๆ นะ จะบอกให้



การที่จะมาสร้างบ้านอะไร เรือนโรงก็ต้องมีสัมภาระวัตถุในการก่อสร้างเช่น อิฐ เหล็ก ดิน ทราย มันต้องมีซิ แล้วจะเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้าง พระเจ้าของท่านเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้างโลก มีอุปกรณ์สร้างบ้างไหม นายช่างจะสร้างบ้านก็ต้องมีอุปกรณ์สร้าง เครื่องไม้เครื่องมือในการสร้าง แล้วพระเจ้าจะสร้างโลกนี่ก็ต้องมีอุปกรณ์เหมือนกัน อุปกรณ์อันนี้มาจากไหน บอกบันดาลให้มีเอง อ้าว แล้วกัน นี่กำลังพูดถึงเหตุผล ท่านเองก็กล่าวเรื่องเหตุเรื่องผลเป็นตุเป็นตะ แล้วเวลานี้ท่านกำลังปฏิเสธเหตุผลที่ท่านกล่าวอ้างมาเสียแล้ว บอกว่าเกิดเองได้อีกแล้ว มีหรือเกิดขึ้นเอง ถ้าเกิดเองได้ ก็มีโลกเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ ท่านจะยอมไหม ให้โลกเกิดเองถ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเกิดเองได้เหมือนกัน ว่าอย่างนั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โลกเกิดเองได้ เราก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเขาเกิดเองได้ ไม่ได้ซิ เสมอกันซิ เวลาจะมาเล่นงานพุทธศาสนา รู้จักเอาเหตุผลมายกมาอ้าง แล้วตัวเองไม่รู้จักเอาเหตุผลในข้อเดียวกันมาถามตัวเองบ้าง พอถูกฝ่ายพุทธเล่นงานเข้าบ้าง บอกว่าเกิดเอง แล้วพูดบอกว่าโลกเกิดเอง กลับตอบไม่ยอม นี่เราบอกว่าให้วิญญูชนพิจารณาดูเถิดว่าใครจะเป็นคนนิยมเหตุผลกันแน่ ให้พิจารณาดู ติ๊งคราวนี้ ต่างว่าโลกมีพระเจ้าจริง เอาละ เรายอมรับละ โลกมีพระเจ้าจริง สมมตินะ โลกมีพระเจ้าจริง อยากจะทราบว่า พระเจ้าองค์ไหนเป็นผู้สร้าง พระศาสนาต่างๆ ในโลกมีมากมายที่มีพระเจ้า ของจีนก็มีเง็กเซียนฮ่องเต้ ฮ่วนกูสี เป็นผู้สร้างโลก ของคริสต์ก็มียะโฮวาเป็นผู้ก่อสร้างโลก ของอียิปต์ก็มีเทพเจ้าราบ้าง สุริยเทพเป็นผู้สร้างโลก ศาสนาชินโตของญี่ปุ่น สุริยเทพ ไม่ใช่ผู้ชาย เป็นผู้หญิงชื่อ อมะเตระสุ นางเทพีสุริยะ เป็นผู้สร้างโลกศาสนาพราหมณ์ก็มีอิศวร นารายณ์ พรหม เป็นผู้สร้าง และมิหนำซ้ำ พระเจ้า ๓ องค์นี้ยังทะเลาะกัน แย่งตำแหน่งผู้สร้างเสียด้วยซ้ำ ศาสนาพราหมณ์เองพระเจ้า ๓ องค์ยังขัดคอกันอยู่เลย ใครเป็นผู้สร้างแน่ ยังไม่รู้เลยพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ไวษณพ นิกาย ก็บอกว่านารายณ์นี่แหละสร้างพระพรหมกับสร้างอิศวร พระพรหมเกิดจากนาภีพระนารายณ์ ในเวลาบรรทมกระสินธุ์ สมุทรอยู่บนพญานาคราช อนันตนาคราชในกระแสสินธสาคร เข้าฌาน ไปเกิด ดอกบัวโผล่มาจากนาภี คือ พระนารายณ์แล้วดอกบัวบานมาเป็นพระพรหม เกิดในดอกบัวพระพรหมนี่ต่างหากเล่า เป็นลูกพระนารายณ์ พราหมณ์พวก ไวษณพนิกายถืออย่างนั้น



ปกิณกะ ๓

เสขิยวัตร ๗๕

เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท กำหนดนับ ๑๐ สิกขาบทเป็นวรรคหนึ่ง ๆ ได้ ๗ วรรค อีก ๕ สิกขาบทนั้นจัดเป็น ๑ รวมเป็น ๘ วรรค  
    
(สารูป ๒๖) การกระทำให้สมควรแก่สมณะ
(โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐) วิธีที่จะขบฉัน
(ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖) การแสดงธรรม
(ปกิณกะ ๓คือที่เรี่ยรายอยู่นำมายกขึ้นสู่อุเทศ


ปกิณกะมี ๓ สิกขาบท 
ในปกิณกะ ๓ สิกขาบทนี้ ให้ภิกษุพึงทำความศึกษาสำเหนียกหมายไว้ ดังนี้

สิกขาบทที่ ๑.
ว่าเรามิได้เจ็บไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

สิกขาบทที่ ๒.
ว่าเรามิได้เจ็บไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลาย รดลงในภูตคามอันเขียวสด คือ กอไม้ หย่อมหญ้า เครือลัดดา เสวาลชาติ อันงอกงามบนบกและในน้ำ

สิกขาบทที่ ๓.
ว่าเรามิได้เจ็บไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลาย ลงไปในน้ำที่ควรจะดื่มกินได้

ให้ภิกษุพึงสำเหนียกนึกหมายจำไว้ ในปกิณกะสิกขาบทนี้

จบเสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗