วันศุกร์

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๓


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๖ สัจจกนิครนถ์

เรื่องมีอยู่ว่า สัจจกนิครนถ์ผู้นี้ได้เล่าเรียนปริศนาต่างๆในสำนักของบิดามารดาถึง ๕๐๐ ข้อ แล้วก็ออกเที่ยวสั่งสนทนากับผู้ใดก็ไม่มีใครที่จะตอบต้านทานวาทะปฏิภาณโวหารของสัจจกนิครนถ์ได้ กิตติศัพท์นี้ก็เล่าลือไปในทิศานุทิศ มหาชนนับถือพากันมาเป็นศิษย์มากมาย (ในสมัยนั้น เค้าว่ากันด้วยวาทะด้วยเหตุด้วยผล ใครมีวาทะที่ไม่มีใครแก้ต่างได้เขาก็ถือว่าชนะ เป็นปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญามาก)

ฝ่ายสัจจกนิครนถ์นั้นก็สำคัญใจเป็นแน่ว่า ตนนั้นเป็นผู้มีปัญญาวิชาความรู้เลอเลิศกว่าคนทั้งหลาย และภายในท้องของตนนั้น เต็มไปด้วยปัญญาวิชาความรู้ทั้งนั้น คิดกลัวว่าสักวันหนึ่งท้องของตนจะต้องแตกจะทลายไปเพราะความรู้แน่นเหลือเกินจึงทำโครงเหล็กรัดท้องเอาไว้ วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้ยินคำสรรเสริญว่าพระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุคคลในโลก ทรงพระปัญญารู้เหตุในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่จะเทียบเคียงให้เป็นสองได้ บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก เมื่อสัจจกนิครนถ์ทราบความดังนั้น ก็พองขนด้วยความผยอง อยากปรามาส ตั้งใจจะถามข้อปริศนาอันลึกลับ ให้พระพุทธเจ้าแพ้แก่ตนให้จงได้ จึงพาศิษย์เป็นอันมากมายังเมืองไพศาลี แล้วเชิญพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ องค์ให้เสด็จมาสู่สำนักพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้เห็นจริงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ

คราวนั้น เป็นมหาสมาคมใหญ่ บรรดาชาวเมืองไพศาลีก็พากันมาประชุมพร้อมกันเป็นสองพวก คือสัมมาทิฏฐิพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าชนะ พวกมิจฉาทิฏฐิอีกพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยสัจจกนิครนถ์ อยากจะให้สัจจกนิครนถชนะ หากเมื่อสัจจกนิครนถ์ชนะจะได้ยกวาทะของตนขึ้นให้สูงประหนึ่งว่าธงชัย ว่าแล้วก็ถามข้อปริศนาอันลึกลับด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก้ได้ทุก ๆ ข้อด้วยพระปัญญาอันรุ่งเรืองดังประทีป สัจจกนิครนถ์ถึงความปราชัยพ่ายแพ้พระบารมีญาณของพระองค์แล้วจึงมอบตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


ตัวอย่างข้อวาทะ

สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ท่านสอนใครต่อใครว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวอย่างนี้ว่า รูปก็คือตัวตนเรา เวทนาก็คือความรู้สึกของเรา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ของเรา สังขารก็คือความปรุงแต่งต่างๆของเรา วิญญาณก็คือจิตวิญญาณของเรา ขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ล้วนเป็นอัตตาตัวตนของเราทั้งสิ้น ท่านจะกล่าวว่าขันธ์เหล่านี้ไม่ใช่ของเราได้อย่างไร?  

พระพุทธองค์ทรงซักถามสัจจกนิครนถ์ด้วยอุปมา

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ (ชื่อตระกูล ของสัจจกะ) ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู มีอำนาจสังประหารใครก็ได้ในดินแดนตน สั่งริบทรัพย์ หรือสั่งเนรเทศใครๆก็ได้ ในเขตแดนอาณาจักรของตน ถูกต้องไหม?
สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ในพระราชอาณาเขตอำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้นควรจะเป็นเช่นนั้น คือสั่งประหารใครก็ได้ ริบทรัพย์ใครก็ได้ เณรเทศใคก็ได้ ใครๆก็ไม่พ้นราชอำนาจของราชาในอาณาเขตตน

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย บังคับบัญชารูป) สั่งดังนี้ได้หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถามครั้งที่สอง ก็นิ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงตอบคำถาม ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง แล้วมิได้ตอบสัจจะธรรมนั้น ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น

สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช (มีเพียงพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่) ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน ได้ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามมาอีกครั้งเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย) สั่งดังนี้ได้หรือ?สัจจกนิครนถ์ : ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๗ นันโทปนันทนาคราช

เรื่องมีว่า นันโทปนันทนาคราช เป็นสัตว์จำพวกพญานาคอาศัยอยู่ในเทวภูมิ จริงๆสัตว์ในภพภูมินี้ก็ล้วนต่างอุบัติมาด้วยผลของบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องของทิฎฐินี้ ถ้าไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆมาเลย ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลแม้ในชั้นโสดาบันก็จะยังมีโมหะคือความหลงผิดอยู่ด้วยตัวของนันโทปนันทะเองก็ยังเป็นผู้ที่หลงผิดอยู่คือยังมีมิจฉาทิฎฐิพร้อมด้วยฤทธานุภาพจากกุศลเก่าที่ีเคยสั่งสมไว้ก็มีมากมาย

ในเช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของนันโทปนันทนาคราช ซึ่งกำลังจะเสื่อมคลายจากมิจฉาทิฎฐิและจะกลับมีจิตใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ก็ทรงมีอุบายวิธี จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ผู้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เสด็จไปสู่เทวโลกโดยอากาศ นันโทปนันทนาคราชเห็นพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เหาะมาแต่ไกล สำคัญว่าจะเหาะข้ามศีรษะตนไปก็นึกโกรธ จึงนิรมิตอัตภาพตนเองให้ใหญ่โตพันเขาสุเมรุไว้ ๗ รอบ แล้วยกพังพานปกคลุมเขาพระสุเมรุและดาวดึงส์ไว้ แล้วบันดาลให้เป็นควันมืดครึ้มไปหมด

พระรัฐปาละเห็นอาการดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "แต่ก่อนเมื่อมาถึงที่นี้ เคยได้มองเห็นเขาพระสุเมรุและสุทัศนนครกับเวชยันตปราสาท มาบัดนี้ทำไมจึงมองไม่เห็น เป็นด้วยเหตุใด"
พระองค์ตรัสว่า "เป็นด้วยฤทธิ์ของนันโทปนันทนาคราช" พระเถระหลายองค์กราบทูลขอรับอาสาไปทรมานนันโทปนันทนาคราช แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้พระโมคคัลลานะไปทรมาน (การทรมานคือการปราบพยศของกิเลสด้วยวิธีของพระพุทธองค์ ซึ่งจะใช้วิธีแตกต่างกันไปตามจริตของผู้ที่ต้องถูกทรมาน) ในที่นี้ให้พระโมคคัลลานะนิรมิตกายเป็นนาคราช ใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า แล้วไปตวัดรัดนันโทปนันทนาคราชเข้าไว้กับเขาพระสุเมรุ โดยแน่นหนาถึง ๑๕ รอบ นาคราช พ่นพิษให้เป็นควันและเปลวไฟ ท่านก็พ่นควันพ่นเปลวไฟบ้าง พิษและเปลวไฟของพญานาคราชไม่มีอานุภาพพอที่จะทำให้พระอรหันต์อย่างพระโมคคัลลานะรู้สึกแสบร้อนแต่อย่างใด มีแต่ตัวของพญานาคราชเองที่ร้อนจนทนไม่ไหว จึงขอให้ท่านโมคคัลลานะจำแลงเป็นพญานาคเลย ท่านก็คืนอัตภาพเป็นพระเถระดังเก่า แล้วก็แสดงฤทธิ์เหาะเข้าช่องจมูกของฉันโทปนันทนาคราช เข้าไปเบื้องขวาก็ออกเบื้องซ้าย เข้าเบื้องซ้ายก็ออกเบื้องขวา นาคราชก็ยิงโมโห คิดว่าถ้าท่านเหาะเข้าไปในปากเมื่อไหร่จะเคี้ยวเสียให้ละเอียด ท่านโมคคัลลานะท่านก็รู้ใจพญานาค จึงเหาะเข้าทางปาก เข้าไปเดินจงกรมอยู่ในท้องแล้วเดินกลับออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชอ้าปากคอยจะบดเคี้ยวแต่ก็ไม่ทัน ครั้นตัวเองที่เคยมีทิฎฐิคิดว่าตนยิ่งใหญ่มีฤทธิ์มากก็เริ่มคลายทิฎฐิตน เพราะทำอย่างไรก็เห็นท่าจะสู้ฤทธิ์ท่านโมคัลลานะไม่ไหว จึงเริ่มหนี ท่านโมคคัลลานะก็จำแลงเป็นครุฑใหญ่บินไปตามจับ นาคราชแพ้ฤทธิ์ท่านโมคคัลลานะ จึงได้สำรอกทิฎฐิมานะของตนออกแล้วจำแลงเป็นมานพเข้าไปกราบนมัสการขอขมาท่านโมคคัลลานะ แต่ท่านโมคัลลานะท่านว่าท่านรับคำขอขมานี้ไม่ได้ จึงพาไปเฝ้าทูลต่อพระพุทธเจ้า แล้วพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พญานาคาราชเมื่อคลายพยศลง และได้รับฟังพระสัทธรรมจากองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บังเกิดมีความเลื่อมใสขอเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๘ พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ 

เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในป่าสุภวันใต้ร่มไม้รังใหญ่ต้นหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของท้าวพกาพรหมว่ากำลังมีทิฎฐิที่หลงผิด พระพุทธองค์จึงเสด็จโปรดพกาพรหมด้วยการทรมานทิฎฐิที่หลงผิดนั้นลง พกาพรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็อุบัติขึ้นในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง 👉ย้อนดูลำดับชั้นของพรหม ในครั้งเริ่มแรกที่มาอุบัติในพรหมโลกนั้นยังไม่มีพรหมองค์อื่นๆ มาอุบัติในชั้นนี้ ครั้นพออยู่เป็นพรหมองค์เดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อน เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมอุบัติขึ้นใหม่ มีขึ้นมาเรื่อยๆ (พวกที่มาเกิดด้วยกำลังของณาน) พรหมที่มาทีหลังก็เห็นว่ามีพกามหาพรหมผู้นี้อยู่ก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตให้ตนเกิดขึ้นมาจึงนับถือว่าเป็นพรหมบิดา ท้าวพกาพรหมก็เข้าใจว่า เพราะตนนั่นแหล่ะเป็นผู้เนรมิตบันดาลให้พรหมอื่นๆเกิดขึ้น (คือไปประจวบกับตอนนั้นนึกอยากมีพรหมองค์อื่นบ้าง อยากมีเพื่อนน่ะ) มันเป็นเหตุการณ์ต่อกันแบบนี้ก็เลยหลงผิดว่าตนนั่นแหล่ะเป็นพรหมผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ

ในพรหมชั้นนี้ก็มีมารสันดานหยาบ คิดหวังประจบสอพลอท้าวพกาพรหมจึงกล่าวคำสอพลอว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นพระผู้สร้างสรรค์ สร้างทั้งภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมท่านช่างเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งใหญ่นัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า"

แม้ท้าวพกาพรหมเองจะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ แต่มารสันดานหบาบก็กล่าวสรรเสริญเยินยอแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน แม้ตัวพกาพรหมเองจะรู้ว่าไม่จริงแต่ก็ชอบที่จะฟังคำยกย่องสรรเสริญ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจของพกาพรหม ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีกิเลสว่า "เรานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่เราอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้เลย "

เมื่อพกาพรหมมีทิฎฐิไปแบบนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงทราบทิฎฐิของพกาพรหมเช่นเดียวกัน ทรงเห็นว่ามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่มีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบในเวลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะเพียงเทียบเท่ากับบุรุษเหยียดแขนออกแล้วงอกลับเท่านั้นเองก็เสด็จไปถึงพรหมโลกแล้ว เมื่อท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธองค์มาปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วก็เอกปากกล่าวปราศรัยกันโดยธรรมดาว่า " ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ"

พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าเห็นใจนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาคือกิเลสได้เข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "

พญามารใจหยาบที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล " ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "

ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารถหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เส็ดจลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ )

เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า " ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ตติยฌาน จึงต้องจุติจากเวหัปผลาพรหมลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องจุติในสุภกิณหาพรหม แล้วมาอุบัติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "

ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า "พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก" จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอย มีน้ำใจอ่อนน้อม ปฎิบัติทางตรงคือสัมมาทิฎฐิอันดี จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังพระเชตวัน

👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์

พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น