วันพฤหัสบดี

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๑

พระคาถาพาหุงมหากา (สวดอินเดีย)

คาถาพาหุงมหากาหรือมักเรียกว่าพุทธชัยมงคลคาถา  เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ถึงชัยชนะแปดประการที่ทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยพระธรรมานุภาพ ที่มาของคาถาพาหุงนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก บางกระแสว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ชาวลังกา บางกระแสก็ว่าแต่งที่เมืองไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามบทสวดนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์อันเป็นมงคลต่อชีวิตของผู้สวดสาธยายพระคาถานี้ 

เนื้อหาสาระในพระคาถาทั้ง ๘ บท

🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่องพระยามาร

เรื่องมีว่า เมื่อครั้งก่อนตรัสรู้พระมหาโพธิสัตว์นั่งสมาธิใต้ต้นพระมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ตั้งพระกายตรงทรงดำรงพระสติมั่น จำเพาะต่ออานาปานสติภาวนาแล้วทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเพียงไรก็จะไม่ลุกออกจากสถานที่นี้

ครั้งนั้นพระยาวสวัสดีมารผู้มีสันดานบาป ทราบว่าพระมหาโพธิสัตว์กระทำความเพียรจวนจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ ก็ไม่พอใจ กลัวจะพ้นวิสัยของตนไป มีความโกรธแค้นมาก จึงนิรมิตแขนซ้ายขวาข้างละห้าร้อย ถืออาวุธต่าง ๆ ครบทุกมือ ขึ้นช้างครเมขล์ยกเสนาซึ่งนิรมิตกายแปลกประหลาดต่าง ๆ กัน มาทางทิศเหนือ โห่ร้องกึกก้องเข้ามาหวังจะฟาดฟันพระองค์เสียให้สิ้นชีพ ขณะนั้นเทวดาจากสวรรค์ภพที่ได้ลุมล้อมปฏิบัติรักษาพระองค์อยู่โดยรอบ พอได้ยินเสียงกองทัพพญามารสนั่นหวั่นไหว ทราบว่าพระยามารยกทัพมาก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว ท้าวสยามเทวราชฉวยได้สุวรรณจามร ท้าวสันดุสิตเทวราชฉวยได้วาลวิชปัญจสิข เทพคนธรรพ์จับได้พิณทิพย์ พระอินทร์ฉวยฉุดได้สังขวิชัยยุทธ ฉวยอะไรได้แล้วต่างพากันเหาะหนีกลับไปสู่ภพของตน ครั้นพระมหาโพธิสัตว์เห็นเหล่าเทวดาหลบหนีไปหมด จึงทรงระลึกถึงบารมี ๓๐ ทัศที่เคยสร้างสั่งสมไว้ในสังสารวัฎอันยาวนาน มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติ ด้วยกำลังของมหากุศลจิตและด้วยอำนาจของบารมีที่สั่งสมมา เหล่าเสนามารก็ไม่อาจทำให้พระมหาโพธิสัตว์เกิดความหวั่นไหวใดๆ ก็ยิ่งทำให้พระยามารมีความโกรธแค้นด้วยกำลังแห่งโทสะ จึงนิรมิตห่าฝน ๙ อย่าง

๑. ห่าฝนลมพายุใหญ่
๒. ห่าฝนมหาเมฆฝนตกใหญ่
๓. ห่าฝนก้อนศิลา
๔. ห่าฝนอาวุธศัสตราต่าง ๆ
๕. ห่าฝนถ่านเพลิง
๖. ห่าฝนเถ้าที่ร้อนจัดดุจเถ้าในนรก
๗. ห่าฝนไฟกรด
๘. ห่าฝนเปือกตม
๙. ห่าฝนอันมืดทั่วทุกทิศให้ตกลงมา

ห่าฝน ๙ ประการนั้นก็มิอาจทำอันตรายแก่พระมหาโพธิสัตว์ได้ จากสิ่งที่น่าหวาดเสียวหวาดกลัวกลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชา ด้วยอำนาจพระบารมี มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น พระยามารเห็นดังนั้นก็ยังโกรธมากขึ้นไปอีก จึงเข้าไปร้องกล่าวว่า "รัตนบัลลังก์ที่พระมหาโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของเกิดด้วยบุญสมภารแห่งตน สมควรแก่ตน" แล้วอ้างเสนามารแห่งตนเป็นพยาน มารหวังหลอกลวงให้ลุกจากที่นั่งหมายทำลายสัจจาอธิฐานให้ได้

พระมหาโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดด้วยบุญบารมีของพระองค์" พระยามารให้อ้างพยาน พระองค์ไม่มีใครจะเป็นพยาน จึงทรงระลึกถึงทานที่พระองค์ได้บริจาคในอเนกชาติ เช่นได้ให้ทานบุตรภรรยาในพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นต้น แล้วชี้นิ้วพระหัตถ์ลงไปตรงพื้นปฐพี นางพระขรณีที่ผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงพระพักตร์แล้วทูลว่า "ข้าพระบาทเป็นสักขีพยาน ได้ทราบบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างเอนกอนันต์จนทักษิโณทก (ทักษิโณทก = น้ำที่หลั่งเวลาทำทานเพื่ออุทิศกุศลผลบุญ)  ตกลงซุ่มอยู่ในเกศาของข้าพระบาทมากจนหาที่จะประมาณมิได้" ว่าแล้วนางพระธรณีก็บิดน้ำให้ไหลออกจากมวยผม ตนเองไหลนองจนท่วมดุจห้วงมหาสมุทรทั้งมหาปฐพีเกิดคลื่นน้ำเข้าถาโถมใส่กองทัพพญามาร พระยามารและพลมารถมีความพิศวงครั่นคร้ามในบารมีและพระเดชานุภาพของพระมหาโพธิสัตว์เป็นอันมาก เมื่อรู้ตัวว่าทำอะไรไม่ได้แล้วจึงพากันนมัสการ แล้วพากันกลับไปสู่พิภพของตน

พระมหาโพธิสัตว์ทรงชนะมารครั้งนี้ในวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาพระอาทิตย์จวนจะอัสดงคต และได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในเวลาจวนใกล้รุ่ง


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่องอาฬวกยักษ์ (อาฬกวยักษ์มีฤทธ์แก่กล้ายิ่งกว่าพญามาร มีสันดานกระด้างปราศจากความอดทน)

เรื่องนี้มีอยู่ว่า อาฬวกยักษ์อาศัยอยู่ในวิมานใต้ต้นไทรใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้หยาบช้าทารุณมาก ชอบกินคนและสัตว์ที่เดินป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่นั้น และกินคนที่พระเจ้าอาฬวราช ราชาเมืองอาฬวะส่งมาให้กินวันละคน ๆ ตามที่ได้สัญญากันไว้ ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ ว่าเป็นเวไนยสัตว์ ยังสามารถเรียนรู้สามารถฝึกตนให้เกิดมรรคผลเป็นอริยบุคคลได้ ด้วยพระเมตตาพระองค์จึงเสด็จไปยังวิมานของอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ จึงเสด็จต่อไปยังที่ประชุมของยักษ์และเทวดาในป่านั้น ก็ได้พบแต่คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูวิมาน ไม่ทรงพบอาฬวกยักษ์

พระพุทธองค์จึงเสด็จผ่านประตูเข้าไปประทับบนรัตนบัลลังก์ของอาฬวกยักษ์แล้วทรงเปล่งรัศมี ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง ขาว หงส์บาท เลื่อม แดง ออกจากพระกาย ฝูงนางสนมและบริวารทั้งหลายของอาฬวกยักษ์เห็นพระรัศมีมีความสว่างเจิดจ้า น่าเลื่อมใส จึงพากันเข้าไปนมัสการแล้วนั่งฟังธรรมอยู่ คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูนมัสการพระองค์แล้วเหาะไปบอกอาฬวกยักษ์ พออาฬวกยักษ์ได้ยินสิ่งที่คนเฝ้าประตูเล่าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟตามโทสาคติของจิตใจยักษ์ คิดเคียดแค้นจะรีบกลับมาฆ่าเสีย

ในขณะนั้นสาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ พาบริวารมาคนละ ๕๐๐ เหาะมายังเชตวันวิหาร หวังจะนมัสการพระพุทธเจ้าครั้นไม่พบ จึงมองหาพบแสงของรัศมีเปล่งประกายออกมาจากวิมานของอาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์กับพวกพ้องจึงพากันเหาะไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ ระหว่างทางก่อนถึงวิมารได้เจออาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ก็บอกว่ามีแก้วมณีเกิดขึ้นที่วิมานของท่านแล้ว อาฬวกยักษ์นึกว่าตนจะได้ลาภเป็นแก้วมณีจริงๆก็ดีใจ รีบลุดไปให้ถึง พอมาถึงที่กลับเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์แสดงธรรมแก่บริษัทของตนอยู่ก็ยิ่งทวีความโกรธเกรี้ยวเลยแผลงฤทธิ์ให้ห่าฝน ๙ ประการตกลงมา หวังจะให้ทำลายชีวิตของพระองค์เสีย แต่พอห่าฝนที่ยักษ์เนรมิตตกลงมาก็กลับกลายเป็นดอกไม้เครื่องสักการบูชา อาฬวกยักษ์เห็นอย่างนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเอาผ้าโพกขว้างขึ้นไปบนอากาศหวังจะให้ตกลงมาประหารพระองค์ ผ้าโพกแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังสนั่นกึกก้องไปในอากาศ แล้วกลับตกลงมาเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา บริษัทของอาฬวกยักษ์และฝูงเทวดาเห็นดังนั้นก็มีความยินดี พากันร้องสาธุการเสียงกึกก้องลั่นวิมาน

อาฬวกยักษ์คิดว่า ผ้าโพกของเราผืนนี้ ถ้าจะขว้างภูเขาใหญ่เท่าพระสุเมรุ ภูเขานั้นก็จะแหลกละเอียดไป หรือถ้าจะขว้างไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้งเหือดไปหมด แต่พอเราขว้างใส่พระสมณะองค์นี้ กลับกลายเป็นดอกไม้บูชาดูน่าอัศจรรย์นัก อย่ากระนั้นเลย เราจะข่มสมณะนี้ด้วยวาทะ ถ้าแพ้เรา เราก็จะฆ่าเสีย คิดแล้วจึงร้องว่า "ท่านมานั่งบนที่นั่งเราทำไม จงลุกไปเสียข้างนอก" พระองค์เสด็จออกไปข้างนอกตามคำยักษ์ แล้วยักษ์ก็แกล้ง สั่งให้กลับมานั่งนั่งที่เก่าอีก พระองค์เสด็จเข้ามา อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยิ่งนึกอัศจรรย์มาก ทำไมพระองค์ไม่โกรธตอบและทำไมเป็นคนว่าง่าย บอกอย่างไรก็ทำตามทุกอย่าง พระองค์จึงตรัสว่า "ท่านจะกระทำอะไรแก่เรา เราก็มิได้โกรธตอบและมิได้เข็ดเลย อย่าว่าแต่ท่านคนเดียว ถึงแม้อินทร์พรหมและเทวดา ซึ่งมีฤทธานุภาพสักเท่าใด ๆ ก็มิอาจย่ำยีเราได้" (พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีโทสะแล้ว ไม่ว่าใครก็ทำให้โทสะของพระพุทธองค์เกิดขึ้นมาอีกไม่ได้)

"ท่านคิดไว้ว่าจะถามปัญหากับเรา ท่านก็จงถามมาเถิด แต่ปัญหาที่ท่านคิดไว้ว่าจะถามเรานั้น เราจะบอกให้ท่านรู้ก่อนว่าไม่ใช่ปัญหาของท่านเอง เป็นปัญหาที่จำได้ต่อ ๆ กันมา คือท่านจำมาจากบิดาของท่าน บิดาของท่านก็จำมาจากปู่ของท่าน ปู่ของท่านก็ฟังธรรมแล้วจำได้มาแต่สำนักของพระกัสสปพุทธเจ้า"

อาฬกวยักษ์จึงถามปัญหา ๔ ข้อว่า
"อะไรเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ ?"
"ประพฤติอย่างไรจึงจะได้สุข ?"
"รสอะไรเป็นรถประเสริฐกว่ารสทั้งปวง ?"
"เป็นอยู่อย่างไรจึงจงชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ ?"


พระองค์ทรงวิสัชนาว่า
"ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐของบุรุษในโลกนี้"
"ประพฤติชอบจึงจะได้สุข"
"รสคือความสัตย์เป็นรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง"
"เป็นอยู่ด้วยปัญญาชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ"

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้อาฬวกยักษ์ฟังต่อไปจนคลายพยศลง มีจิตเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หมดสิ้นความกังขาใดๆ จึงน้อมจิตเอาพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐบรรลุโสดาปฎิผลในเวลานั้น แล้วได้ถวายตัวเองเป็นอุบาสก

🙏เกร็ดความรู้เพิ่มเติม 
* เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน พระพุทธพรรษาที่ ๑๖ ณ อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี
* การเกิดเป็นยักษ์ ยักษ์นั้นจัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ คืออยู่ในภพของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์นี้จะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรมหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจ เช่น ในขณะทำบุญไม่สำรวมอินทรีย์ ได้ยินเสียงอื้ออึงคนคุยกันก็นึกหงุดหงิด อากาศร้อนก็นึกหงุดหงิด มีโทสะร่วมกับการทำบุญแบบนี้เป็นต้น เมื่อตายลงจากภพมนุษย์แล้ว หากผลบุญนั้นได้นำเกิด ก็จะนำเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุฯพร้อมได้รูปกายเป็นยักษ์



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น