อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๒

 👉 กลับไปก่อนหน้า 

🔅 
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่องช้างนาฬาคิรี

เรื่องนี้มีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกันแล้วไปที่โรงช้าง ส่งควาญช้างให้มอมสุราพญาช้างนาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแค่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรี ให้วิ่งสวนทางตรงมาหาพระพุทธองค์ ช้างเมาสุราอาละวาดวิ่งไล่แทงคนอลหม่าน เห็นกลุ่มสมณะนำโดยพระพุทธเจ้าก็ยกชูงวงปรบหูตีหาวิ่งตรงมาจะแทงพระพุทธองค์ ทันใดนั้นพระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้ง แล้วแต่พระอานนท์ก็ไม่ยอมหนีให้พ้นทาง พระพุทธองค์จึงบันดาลให้พระอานนท์กลับเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่สงฆ์ เวลานั้นก็ยังมีหญิงแม่ลูกอ่อนนางหนึ่ง กำลังตกใจสุดขีดเลยอุ้มบุตรตัวเองหนีช้างตรงมาที่กลุ่มของพระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่าจะหนีไม่พ้นแล้ว ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสียกับพื้นถนน แล้วตัวเองก็วิ่งหนีออกข้างทางไป



ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะเหยียบหรือจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่พระเมตตาเฉพาะเจาะจงต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติ เสื่อมคลายจากความเมามัน ครองสติกลับเป็นปรกติยืนทอดงวงลงต่ำและไม่เข้าไปประทุษร้ายเด็กนั้น กลับเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพองแล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา

เวลานั้นฝูงมหาชนที่คอยตักบาตร และถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและฝ่ายปืนในที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสนพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้าง จนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้วพญาช้างถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค กลับไปโรงของตน โดยปรกติ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร

เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้น บ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อนางมันตาพราหมณ์ บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้นมารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นจึงไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักศาปาโมกข์ อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารก็เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามานพทั้ง ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมาก และหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยความเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามานพคนอื่น ๆ พวกมานพเหล่านั้นก็มีความริษยาพากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒-๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมานพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำจึงคิดว่า เราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพด้วยอุบายปัญญา คือจะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า

อาจารย์จึงวางแผนเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้แล้วกระซิบว่า "ศาสตร์ที่ท่านเรียนจากเราน่ะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่งแล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ ประเสริฐสุดในโลกได้คนหนึ่ง" เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง เที่ยวฆ่ามนุษย์ทั้งในเมืองตามบ้านเรือนและในป่า ฆ่าใครไปก็ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ เจาะร้อยเป็นพวงสะพายแล่งไว้กับตัว ในเวลานั้น ยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เพราะเหตุที่ตัดนิ้วมาร้อยแบบนี้จึงมีนามปรากฏว่า องคุลีมาลโจร


วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลีมาลโจรว่ายังเป็นผู้ที่ฝึกได้ ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่าสมณะองค์นี้คงจะต้องถึงที่ตายแล้ว เราจะฆ่าและตัดนิ้วมือได้ครบพัน คิดแล้วก็ชักดาบเงื้อมือวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิให้เกิดแม่น้ำขวางหน้าองคุลีมาลโจรบ้าง ให้เกิดเป็นป่ารกชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลีมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่ารก วิ่งตามเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน ยิ่งเร่งตามพระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนพระพุทธองค์จะยิ่งอยู่ห่างออกไป ทั้งๆที่ก็เห็นว่าพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินตามปรกติแต่ทำอย่างไรก็ตามไม่ทัน พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีสัทธรรมประการต่าง ๆ องคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้กล่าวสัทธรรมได้ลุ่มลึกนัก ชะรอยว่าจะเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว การเจอกันครั้งนี้พระองค์คงเสด็จมาด้วยพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ คิดแล้วก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนโยนนอบน้อมทั้งอาวุธลง แล้วคลานเข่ามาถวายนมัสการด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลีมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถศึกษาเรื่องขององคุลีมาลโจรเพิ่มเติมได้ที่ 👉องคุลีมาลสูตร


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

เรื่องมีว่า ในสมัยหลังพุทธพรรษาที่ ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธ์องค์ก็เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองจำนวนมาก จนพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา อีกทั้งรู้สึกลาภสักการที่ตนเคยได้จากชาวเมืองเสื่อมถอยลดน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายกล่าวโทษพระพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจผิดเลิกนับถือ คณะเดียรถีย์จะได้กลับมาเฟื่องฟูด้วยลาภสักการะใหม่อีกครั้ง จึงไปอ้อนวอนให้นางจิญจมาณวิกาผู้เป็นสาวิกาของตน นางผู้นี้มีรูปร่างงดงาม หน้าตาสะสวย ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี วางแผนเป็นอุบายวิธี ให้นางถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่าจะไปร่วมหลับนอนกับพระพุทธเจ้า และตอนออกก็ให้เดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมให้ทำกลับมาดังนี้ทุก ๆ วัน ประมาณ ๓-๔ เดือน ค่อยเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นเหมือนสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวไปประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า คนอันธพาลเหล่านั้นเป็นพวกโง่งม ได้ยินดังนั้นก็ต้องถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่

ครั้นกาลนานมาประมาณ ๘-๙ เดือน ก็ให้นางจิญจมาณวิกาหาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องแล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด แล้วจึงชักชวนคนอันธพาลที่เคยหลอกไว้เป็นอันมากให้พากันไปยังพระเชตวัน จากนั้นให้นางจิญจมาณวิกาเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ แล้วจงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่าได้ร่วมรักหลับนอนกันจนมีครรภ์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงตามแผนอุบายของเดียรถีย์ และด้วยมารยาของนางจิญจมาณวิกา ทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่พุทธบริษัท บางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนาง บางพวกก็ไม่เชื่อ บางพวกก็มีความลังเลสงสัย ในขณะนั้นก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อย แฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกาขาดเป็นสองท่อนดังถูกตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาพ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ มหาชนบริษัททั้งหลายเมื่อเห็นกลมารยาของนางก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วก็พากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับตาลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็ไม่อาจรองรับอกุศลกรรมอันหนักที่นางได้กระทำไว้ จึงสูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็นในคราวนั้น



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม