แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ จิต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ จิต แสดงบทความทั้งหมด

ภวังคจิต

ภวังคจิต ภวังคะ หรือ ภะ-วัง-คะ ภว+องฺคะ แปลตามพยัญชนะว่า "องค์ของภพ" มักใช้รวมกับจิต เป็นภวังคจิต ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า จิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสืบต่อสันตติของจิต ย่อมอาศัยการถ่ายทอดข้อมูลจากภวังคจิตจิตดวงเดิม ไปสู่จิตดวงใหม่ ด้วยกระบวนการของการทำงานของภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตเป็นเหตุให้สร้างจิตดวงใหม่ตลอดเวลาก่อนจิตดวงเก่าจะดับไป จึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่ง "ภพ" หรือเป็นเหตุสร้าง"ภพ" 


จิต ในทางศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
๑.วิถีจิต จิตสำนึก
๒.ภวังคจิต จิตใต้สำนึก

ภวังคจิต คือจิตใต้สำนึกในทางศาสนาพุทธหมายถึงเป็นกระบวนการทำงานแบบอัตตโนมัติของจิต จิตใต้สำนึกในความหมายของภวังคจิตนี้จึงอาจแตกต่างจากทางจิตวิทยาภวังคจิต เป็น วิบากจิต คือ จิตใต้สำนึกส่วนลึกที่สุดของจิตเป็นที่สั่งสมอารมณ์จนกลายเป็นอุปนิสัย ภวังคจิต จะเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตในแต่ละวาระ ทำหน้าที่สืบต่อและดำรงภพชาติ ภวังคจิต จะเกิดขึ้นเมื่อวิถีจิตดับและเมื่อเกิดวิถีจิตกลับมาทำหน้าที่ ภวังคจิตก็จะดับลง เมื่อวิถีจิตดับลงภวังคจิตจะเกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีภวังคจิต พอขาดวิถีจิต จิตจะไม่มีการสืบต่อสันตติก็เท่ากับสิ้นชีวิต ภวังคจิต ในขณะที่เปลี่ยนภพจุติใหม่สู่ชาติใหม่ จะใช้ชื่อว่า ปฏิสนธิจิตแทน ซึ่งเป็นขณะจิตแรกของแต่ละชาติ ภวังคจิตจึงสืบต่อภพในระดับเปลี่ยนชาติด้วย ภวังคจิต คือมโนทวารเป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต(ธรรมอันเป็นกลาง ระหว่างกุศลกับอกุศล ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล, กลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพปกติ เมื่อยังไม่ขึ้นสู่วิถีจิตรับรู้อารมณ์ จะเป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ เมื่อรับอารมณ์คือเจตสิก จะกลายเป็นมโนวิญญาณ

มีพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา" จิตที่ประภัสสรในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าหมายถึงภวังคจิต