วันอังคาร

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๒

👉 หน้าที่แล้ว ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

        ก่อนพุทธกาลนั้นเมืองสองเมืองปาวาและกุสินารา ถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองกุสาวดี ซึ่งปรากฏในบาลีมหาสุทัศนะสูตร ทีฆะนิกาย ที่พรรณนาไว้ว่าเมืองกุสาวดีนั้นมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อมาเมืองกุสาวดีก็ร่วงโรยตามไปตามความอนิจจังของสังขาร หนักเข้าก็กลายเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไป ในที่สุดแยกเป็นสองเมือง เมืองหนึ่งเรียกว่ากุสินารา อีกเมืองหนึ่งเรียกว่าปาวา เส้นทางเสด็จพุทธดำเนินของพระองค์ ก็เสด็จมาแวะที่เมืองปาวา ก่อนที่จะไปสู่กุสินารา ระยะทางจากเมืองปาวาไปกุสินารานั้น ต้องใช้เวลาเดินเกือบวันและที่เมืองปาวานี้เองเรื่องสูกรมัททวะก็เกิดขึ้น

ที่เมืองปาวานี้ นายจุนทะ กัมมารบุตร แปลว่า นายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง นายจุนทะนี้เขาเป็นช่างทอง ทำทองขาย มีจิตศรัทธา ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งภิกษุสาวก ให้ไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วในคืนวันนี้เองนายจุนทะก็ตระเตรียมขาทนียะและโภชนียะ เพิ่มคน คุมคนการเตรียมกันอย่างขมีขมัน ทำกันเป็นการใหญ่ เพราะพระสงฆ์สาวกที่ติดตามพระพุทธองค์มานั้นมีจำนวนหลายร้อยรูป อินเดียครั้งนั้นไม่เหมือนประเทศไทยสมัยนี้ ประเทศไทยนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื้อหนังมังสาบริบูรณ์ จะซื้อหาจับจ่ายก็ง่าย คนโบราณนั้นจะเลี้ยงพระก็ยากกว่าสมัยนี้ ตลาดไม่ใช่จะหาง่ายอย่างเดี๋ยวนี้นะ พอออกจากประตูบ้านก็เจอตลาดขายของ ของขายไม่ได้หาง่าย ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ ตลาดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ๆ เล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายก จะเลี้ยงพระทีละหลายร้อยรูป ต้องเตรียมอาหารกันเป็นวัน ๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่เช่นนั้นอาหารไม่พอเลี้ยงพระเพื่อให้เหมาะกับพระสงฆ์ที่จะมารับในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่านอกจากอาหารที่เป็นขาทนียะและโภชนียะแล้ว นายจุนทะได้ทำอาหารขึ้นชนิดหนึ่งจากขาทนียะและโภชนียะเรียกว่า สูกรมัททะ ทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พอกับภิกษุสงฆ์ ปัญหาว่า สูกรมัททวะนี้คืออะไร ?

ซึ่งเป็นประเด็นอันสำคัญของปาฐกถาในวันนี้ สูกรมัททวะ ตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกระ กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าปัญหานั้นไม่ยุติเพียงเท่านั้น ประเด็นว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุรูปอื่นฉันสูกรมัททวะนี้ และเพราะเหตุใดพระองค์จึงรับสั่งให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะนี้ไปฝังเสีย ไปทำลายไม่ให้เป็นอาหารแก่คนและสัตว์ต่อไป และเพราะเหตุใดจึงตรัสแก่นายจุนทะว่า สูกรมัททวะนี้ ตถาคตมองไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมารและพรหมที่จะกินเข้าไปแล้วจะย่อยได้ เว้นแต่เราตถาคตผู้เดียว ที่จะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสเช่นนี้

เป็นอาหารอะไรหรือ ถ้าเป็นเนื้อย่อยทำไมจึงตรัสเช่นนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัย มีพระอรรถกถาจารย์ ๒ ท่าน และปรากฏในสองคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องสูกรมัททวะนี้ และก็แปลกอีกอย่างหนึ่งที่สูกรมัททวะนี้ปรากฏที่มาที่นี่แห่งเดียว ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ปรากฏที่อื่นอีกเลย มาโผล่ปรากฏที่มหาปรินิพพานสูตรตอนเดียวเท่านั้น ในที่อื่น ๆ แล้ว ไม่พบคำนี้เลย น่าอัศจรรย์มาก เป็นอาหารพิเศษ ประหลาดเหลือเกิน พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์นั่นเอง ก็ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัย เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไร คิดดูซิ แล้วพวกเราซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะไปแน่ใจได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยการวินิจฉัย ข้อความใดที่ใกล้เคียงและมีเหตุผลเราก็ยึดถือข้อความนั้น บัดนี้ได้นำมติของสุมังคลวิลาลินีมาให้ท่านทั้งหลายฟัง ในสุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้นัยมาอธิบายไว้ ๓ นัย 

🔅 นัยที่ ๑. สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป ตํ กิร มุทญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ ฯ ตํ ปฏิยาทาเปตฺวา สาธุกํ ปจฺจาเปตฺวาติ อตฺโถ = ได้ยินว่า เนื้อนั้นเป็นของอ่อนนุ่มสนิทดี อธิบายว่า นายจุนทะให้ตกแต่งเนื้อนั้นปรุงให้เป็นอาหารชนิดดี สรุปมติที่ ๑ ท่านแปล สูกรมัททวะว่า เนื้อ เพราะนายจุนทะนั้นให้หาเนื้อหมูอย่างดี ได้แก่เนื้อสุกรที่ไม่แก่ไป ถ้าแก่เกินไปเนื้อเหนียวเคี้ยวยาก เป็นเนื้อชนิดดีมาปรุงแล้วอร่อยดีนี้เรียกว่า สูกรมัททวะ


🔅 นัยที่ ๒ เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่าสูกรมัททวะนี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปานะ ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สูกรมัททวะ ก็ได้แก่ข้าวสาลีหุงด้วยน้ำนมโค ข้าวชนิดมธุระเอร็ดอร่อยมาก เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคนี้อร่อยจริง ๆ กระผมเองก็เคยรับประทาน คือเพื่อนชาวอินเดียในประเทศไทยนี่เองหุงให้กิน และเอร็ดอร่อยมากและเขาบอกว่า นี่แหละสูกรมัททวะ เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สุกรมัททวะได้แก่ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคที่เรียกว่าควปาน หุงด้วยเบญจโครส เอร็ดอร่อย ใส่น้ำตาลหน่อย ใส่นมหน่อย อร่อยดี ทั้งมัน ทั้งหอม ทั้งหวาน นี่เรียกว่าสูกรมัททวะ

🔅 นัยที่ ๓ เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนนิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ ฯ อาจารย์บางท่านกล่าวอีกว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย นัยที่ ๓ นี่ก็สำคัญ นัยนี้พูดกันง่ายคือเป็นยา สูกรมัททวะคือยา เป็นโอสถชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงขึ้นถวายพระผู้มีพระภาค เพราะด้วยความตั้งใจว่า เมื่อพระองค์ได้ฉันโอสถชนิดนี้ จะได้ไม่ต้องนิพพาน และก็ตรงกับคัมภีร์ไสยศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ เป็นคัมภีร์ตำหรับพิเศษ ปรุงถวายเพื่อจะรักษาโรคพระผู้มีพระภาค

สรุปแล้วมีทั้ง ๓ นัยด้วยกัน แม้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็มิได้ตัดสินลงไปว่าสูกรมัททวะนี้ได้แก่อะไร ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาลินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย ตอนแก้มหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ที่ ๒ คือคัมภีร์ปรมัตถทีปนีท่านผู้แต่งคือท่านธรรมปาลจริยะ เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ท่านก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรกัน แต่ท่านก็ให้นัยแปลกจากพระพุทธโฆษาจารย์อีก คือให้ไว้ ๔ ข้อ พ้องกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็มี แปลกกันก็มี

🔅 ๑. สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทะสินิทฺธํ ปวตฺตมํสนฺติ มหาอฏฐกถายํ วุตฺตํ ฯ แปลความว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกีฬาว่า คำว่าสูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ ของสุกรที่อ่อนนุ่มสนิทดี ปวัตตมังสะนั้น ได้แก่ เนื้อที่สมควรที่พระจะบริโภคได้ ไม่ใช่อุทิศมังสะ คือไม่ใช่เนื้อที่เห็นเขาฆ่าเพื่อตน ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน และก็สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน พ้นจากมลทิน ๓ ข้อนี้ เรียกว่าปวัตตมังสะ เนื้อที่ควรที่พระจะบริโภคได้ ตามนัยท่านธรรมปาลจริยะท่านทักว่า คัมภีร์มหาอรรถกถานี้เป็นคัมภีร์เก่าก่อนกว่าอรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่ง กล่าวว่าสูกรมัททวะนั้น ได้แก่ เนื้อหมูอ่อนที่เป็นปวัตตมังสะ

🔅 ๒. เกจิ ปน สูกรมทฺทวนฺติ น สูกรมํสํ สูกเรหิ มทฺทิตวํสกลีโรติ วทนฺติ ฯ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่า กล่าวว่า “คำว่า สูกรมัททวะนั้น ไม่ใช่เนื้อสุกร หากเป็นหน่อไม้ที่สุกรชอบกิน” มตินี้เข้าที คำว่า สูกรมัททวะนี้ ถ้าจะแปลอีกนัยหนึ่งว่า อ่อนสำหรับหมูก็ได้ ซึ่งนอกจากที่แปลว่า เนื้อหมูอ่อน คือเนื้อมันอ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกินก็ได้ คืออ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกิน ถ้าตามนัยนี้แล้ว สูกรมัททวะก็แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกิน เข้าทีเหลือเกิน เพราะดีทั้งรูปศัพท์และความหมาย ถ้าเราวิเคราะห์ศัพท์ว่า สูกรมัททวะว่าอ่อนสำหรับหมูละก็ หมูชอบกินอะไรบ้างล่ะ หน่อไม้หมูก็ชอบ อาจจะเป็นหน่อไม้บางประเภทกระมัง

🔅 ๓. อญฺเญ สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกนฺติ แปลความว่า อาจารย์บางเหล่ากล่าวอีกว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ เห็ดที่เกิดในประเทศที่สุกรเหยียบย่ำ แม้นัยนี้ก็เข้าทีอีกเช่นเดียวกัน ในคำว่า อหิฉตฺตก นั้น อหิ แปลว่า งู ฉตฺต หรือ ฉตฺตก แปลว่า ร่ม อหิฉตฺตก นั้นแปลว่าเห็ด ตามรูปศัพท์แปลว่า มีอาการ ฉัตรแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู ตามรูปศัพท์เพ่งเอาเห็ดชนิดหนึ่งที่มีภาพแผ่แม่เบี้ยประดุจงู ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานทุกสูตรทุกปกรณ์ และชาวพุทธในมหายานยึดถือเอาคตินี้ คือสูกรมัททวะแปลว่าเห็ดชนิดหนึ่ง ที่มีอาการแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู คือเป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งจีนเรียกว่า จันทันจี่ย่น ภาษาจีนเหนือว่าจันทันสู้อ้อ โดยบอกว่าเห็ดชนิดนี้เกิดที่ต้นไม้จันทร์ เป็นเห็ดพิเศษ ไม่ได้เกิดบนภูมิภาคทั่ว ๆ ไป

🔅 ๔. อปเร ปน สุกรมทฺทวนามกํ รสายตนนฺติ ภณนฺติ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่าก็กล่าวอีกว่า ได้แก่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ ตํ หิ จุนฺโท กมฺมารปุตฺโต อชฺช ภควา ปรินิพฺพายิสสตีติ สุตฺวา อปฺเปวนาม น ปริภุญฺชิตฺวา จิรตรํ ติฏเฐยฺยาติ สตฺถุ จิรชีวิตุกมฺยตาย อทาสีติ วทนฺติ แปลว่า เพราะว่านายจุนทะบุตรของช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ถวายเครื่องดื่มชนิดนั้น เพื่อต้องการให้พระผู้มีพระภาคมีพระชนม์อยู่ได้นาน ด้วยความหวังว่า ไฉนหนอ ขอพระศาสดาเสวยเครื่องดื่มนี้แล้ว พระชนมายุอยู่ได้ไปอีกนานเถิด นี่เป็นนัยที่ ๔ ตรงกับนัยในมังคลวิลาลินีเหมือนกัน ที่แปลว่า ยาที่ปรุงตามวิธีรสายนเวช เป็นยาชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ตามมติในสองคัมภีร์นี้ เราก็ได้ความว่า แม้แต่พระโบราณาจารย์ก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไรลงไปแน่นอนว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรแน่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายซึ่งเป็นปัจฉิมาชนตาชน ห่างไกลจากสมัยของท่านตั้ง ๑,๕๐๐ ปี เพราะสมัยแต่งอรรถกถานั้นก็หลังพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เราห่างจากท่านประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถ้ารวมพุทธกาลแล้วเราห่างตั้ง ๒,๕๐๐ ปีเศษ จะวินิจฉัยสูกรมัททวะได้อย่างไร ในข้อนี้กระผมก็อยากจะเสนอความเห็นส่วนตัวประกอบเกี่ยวกับสูกรมัททวะ ถ้าสูกรมัททวะแปลว่าเนื้อหมูอ่อนง่าย ๆ ตามศัพท์แล้วกระผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อนแล้ว ทำไมจึงเป็นพิษกับพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วไม่มีผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่เป็นมนุษย์และเทพเจ้าจะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสอย่างนั้น ถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อน ก็คำที่ว่า เป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย พระก็ฉันได้ ทำไมจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไปฝังเสีย เพื่อไม่ให้ใครกินต่อไป ตรัสแก่จุนทะว่าสำหรับอาหารอื่น ๆ นั้น เธอเอาไปอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด แต่สำหรับสูกรมัททวะ เธอจงอังคาสตถาคตผู้เดียวเถิด ตรัสกับจุนทะอย่างนี้เหลือมานั้นเธอจงเอาไปฝังเลยเถิด ตรัสอย่างนั้น บางท่านก็แก้ว่า อาจจะเป็นเนื้อหมูบูดกระมั้ง มีตัวพยาธิตัวจี๊ด ตัวเชื้อโรค พระองค์ทราบเช่นนั้นจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไม่ให้พระอื่นฉัน ส่วนตัวพระองค์ยอมเสวยเพื่อฉลองศรัทธาของนายจุนทะ ผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้าแก้ว่าเนื้อหมูบูด เพราะฐานะของนายจุนทะนั้นไม่ใช่คนยากคนจน รู้ได้ก็เพราะนายจุนทะมีศรัทธา รับอาสาเลี้ยงพระทั้งคณะ ที่มากับพระพุทธองค์ เป็นจำนวนร้อย ๆ ถ้าเป็นคนมีฐานะยากจนแล้ว ไหนเลยจะกล้ารับเลี้ยงพระได้เป็นร้อย ๆ ฐานะของนายจุนทะต้องเป็นคนมีอันจะกินมั่งคั่งเป็นอย่างน้อย ไม่ถึงกับจะต้องหาเนื้อบูดของเสียมาถวาย คนจะทำบุญนั้นเขาจะไม่รู้หรือว่าของนั้นบูดเสีย ต้องรู้ของบูดเสีย แม้คนยากจนเขาก็ยังไม่ถวายพระ เพราะแม้ตัวเขาเองก็กินไม่ได้ แล้วยิ่งนายจุนทะไม่ได้ทำคนเดียว แม่ครัวตั้งมากมายจะไม่รู้หรือว่าของนี้บูดเน่า ถ้าบูดเน่าก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำเป็นอาหารไปถวายพระ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นเนื้อบูดเน่า แต่สูกรมัททวะนี้ จะต้องไม่ใช่เนื้อหมูแน่นอน

แต่มีประเด็นของสูกรมัททวะที่น่าสนใจคือ ที่แปลว่าเห็ดอย่างหนึ่ง และที่แปลว่ายารักษาโรคอย่างหนึ่ง และที่แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกินอย่างหนึ่ง ๓ อย่าง ในประเด็นที่แปลว่าหน่อไม้ ถ้าแปลว่าหน่อไม้ก็ไม่น่าจะเป็นพิษภัยแก่พระรูปอื่นที่จะฉัน ทำไมพระองค์จึงรับสั่งให้เอาไปฝัง ถ้าพระองค์ฉันแล้วจะเป็นเหตุให้โรคกำเริบ เพราะอาจเป็นของแสลงในเมื่อพระองค์เองก็อาพาธอยู่แล้ว ก็พระสงฆ์ที่ดี ๆ ไม่เป็นโรคอยู่ตั้งมากมาย ทำไมจึงรับสั่งไม่ให้ถวายพระให้นายจุนทะไปฝังเสีย ถ้าแปลว่าเห็ดก็มีเค้าเข้าทีดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเห็ดพิษที่คนกินแล้ว บางทีทั้งครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาล ดังเคยปรากฏ ข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ แกงเห็ดมาถวายให้ฉัน ๆแล้วเกิดพิษ เข้าในกรณีที่แปลว่าเห็ด แต่ถ้าเป็นเห็ดแล้ว ทำไมนายจุนทะไม่รู้หรือ ว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดพิษ ถ้าอ้างว่านายจุนทะไม่รู้ พระองค์ก็น่าที่จะบอกแก่นายจุนทะว่า จุนทะ เห็ดเหล่านี้เป็นเห็ดพิษนะ ต่อไปพวกเธอจะทำอาหารถวายพระก็ตาม หรือพวกเธอจะกินเองก็ตาม เธออย่าได้เอาเห็ดชนิดนี้มาทำอาหารนะ เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำไมพระองค์ไม่ตรัสเล่า พระองค์ควรจะสงเคราะห์นายจุนทะ บอกนายจุนทะว่า เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดมีพิษ บอกกันได้นี่ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไม่เป็นการทำลายศรัทธา แต่เป็นการสงเคราะห์เพื่อจะได้รู้ตัวว่า อ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ซื้อหาเห็ดชนิดนี้มารับประทานอีกแล้ว เพราะเรากินเองก็มีภัย คนอื่นกินก็มีภัย เป็นการเซฟชีวิตของคนไว้ แต่ไม่ตรัสเลย กลับรับสั่งให้นำไปฝังเสีย เพราะฉะนั้น รูปกรณีอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นเห็ด ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อสุดท้ายว่า เป็นยารักษาโรค โดยวิธีรสายนเวช ในคัมภีร์รสายนศาสตร์ของพราหมณ์เขา

ข้อนี้เข้าทีมาก หรือข้อที่แปลว่า เป็นควปาน ควปานก็ไม่สมควรเพราะข้าวอ่อนหุงด้วยน้ำนมโคนั้น อร่อยไปเลยด้วยซ้ำไป จะมีพิษที่ไหน กินเข้าไปแล้วเป็นยาชูกำลังดีพิลึกแล แต่ทำไมท่านห้ามไม่ให้พระอื่นฉันเล่า จริงอยู่ ปัญหาเรื่องรสายนะนี้ กระผมสมัครใจจะเชื่อว่าสูกรมัททวะนี้ คือยานั่นเอง นายจุนทะปรุงยาขึ้นเพื่อถวายพระพุทธเจ้า โดยความปรารถนาจะรักษาพระชนมชีพของพระองค์ให้ยืนยาว เห็นพระผู้มีพระภาคกระปรกกระเปลี้ยมาและก็รู้อยู่กับตัวเองว่า พระองค์จะดับขันธ์ในวันนี้แหละ ในคืนวันนี้จะดับขันธ์แล้ว เพราะฉะนั้น ตอนเช้าของวันที่จะดับขันธ์นี้นายจุนทะจึงเตรียมหุงอาหารชนิดนี้ในค่ำวันนั้น ค่ำวันนั้นก่อนรุ่งขึ้นเตรียมอาหารไว้ก่อน และในบาลีท่านจัดสูกรมัททวะนี้อยู่นอกประเด็นขาทนียและโภชนียด้วย ท่านบอกว่า ทำขาทนียโภชนียะและสูกรมัททวะ แสดงว่าสูกรมัททวะไม่ใช่อาหารธรรมดา เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ ที่นายจุนทะตั้งใจปรุงถวายรักษาอาพาธของพระบรมศาสดา ปัญหาว่า ถ้าเป็นยาพิเศษ ทำไมจึงชื่อว่าสูกรมัททวะเล่า เนื้อหมูอ่อนเล่า ถ้าเราเชื่ออย่างนี้ ก็น่าจะบอกว่ายาเภสัชชะก็สิ้นเรื่อง ทำไมจะต้องใช้สูกรมัททวะเล่า อ้าว ! ถ้าเราสงสัยอย่างนี้ละก็ ไม่ต้องอื่นไกล เราดูตำรายาไทยก็พอ ยาตำราไทยของเรานี่มีชื่อพิลึก ๆ ไหมละ เช่นตำรายาหอมชื่อ จักรวาฬครอบเอย ยาจตุรพักตร์ชีวิตเอย ยามณีส่องภพเอย ชื่อเพราะ ๆ ทั้งนั้น แล้วถ้าเรามาหาตัวยาว่า ยาอย่างนั้นมันมีสี่หน้า เราก็แย่เต็มทน คือไม่รู้เท่าภาษาของเขา เขาตั้งชื่อว่ายาจตุรพักตร์ นึกว่ายาจะต้องมีสี่หน้า เราไปหาจนตายก็ไม่พบไอ้ตัวยามีสี่หน้า ว่ายาสี่หน้ามันเป็นอย่างไร หรือว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า น้ำนมราชสีห์ นี่ถ้าเราไปถือว่าเราจะต้องเอาน้ำนมจากสิงโตจริง ๆ ละก็แย่ ประเทศไทยไม่มีสิงโต ยานี้เป็นยาโบราณ แท้ที่จริงน้ำนมราชสีห์นั้นเป็นต้นสมุนไพรชนิดหนึ่ง รสชาติมันขม เขาเอาเข้าทำยาผสมให้หญิงแม่ลูกอ่อนกิน รักษาน้ำนม ให้น้ำนมมากให้ลูกอ่อน เรียกน้ำนมราชสีห์ แต่ถ้าเราถือตามศัพท์ว่าน้ำนมราชสีห์ เราก็จะต้องไปคั้นเอาจากเต้านมจริง ๆ ละก็ ไม่ต้องรักษาโรคกันแล้วเลิกได้ เพราะหาทั้งประเทศไทยก็ไม่พบ ต้องไปหาถึงประเทศอาฟริกา เพราะฉะนั้น น้ำนมราชสีห์ในตำราไทยเป็นฉันใด สูกรมัททวะในตำราโบราณในอินเดียก็เป็นฉันนั้น

เราจะไปนึกว่า เอ ทำไมจึงมาเรียกยาขนานนี้ว่าสูกรมัททวะ ว่าเนื้อหมูอ่อนทำไม ทำไมไม่เรียกยาบำรุงให้รู้ไป อ้าวก็ตำราเขาเรียกกันอย่างนั้น ถ้าเป็นยา ก็เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแล้ว ทำไมจึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วคนอื่นยังสูกรมัททวะนี้ให้ย่อยไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าธรรมดาว่ายานั้นมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ ยานี่คนดี ๆ ให้กินยาแก้ไข้มาก ๆ ดีไม่ดีตาย ไม่มีไข้ไปกินยาลดไข้มาก ๆ ดีไม่ดีชีพจรหยุดเลย ยิ่งเป็นโรคหัวใจอ่อนอยู่แล้ว ไปกินยาลดไข้ ลดความร้อนมาก ๆ โดยที่ตนเองไม่มีไข้ หัวใจหยุดเต้นพอดีเลยแพ้ยาตาย คนดี ๆ กินวิตามินเยอะ ๆ ไม่ช้าแพ้วิตามิน ไม่มีโรคกลับเป็นโรค อีกประการหนึ่ง ตำรายาโบราณนั้นเขามีน้ำหนัก คุณธาตหนักเบา ไม่ใช่ยาหม้อหนึ่งรักษาได้ทุกคน หม้อยาหม้อนั้นคนนั้นกินหาย อีกคนกินตาย ยาหม้อเดียวกันนั่นแหละ ตัวสมุนไพรกับคุณธาตุหนักเบานั่นมันแล้วแต่ใคร ธาตุใครธาตุมัน ต้องเอามาบวกลบคูณหารกันเข้า แล้วจึงวางยาหนักเบาไปตามสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะก็เหมือนกัน เมื่อนายจุนทะตั้งใจทำถวายพระพุทธองค์แล้ว ก็เหมาะเฉพาะพระพุทธองค์พระอื่น ๆ ไม่เหมาะสมเพราะท่านไม่ได้อาพาธอะไร ท่านดี ๆ สมบูรณ์อยู่ พระองค์จึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ตรัสว่าเว้นเราแล้วภิกษุอื่นอย่าได้ฉันเลย เพราะคนอื่นๆ ดี ไม่ได้เป็นโรค แต่พระองค์เป็นอยู่นี่ คนอื่น ๆ ไม่มีอาพาธ แต่พระองค์อาพาธอยู่ พระสงฆ์ทุกรูปที่ตามเสด็จมาแข็งแรงทั้งนั้น ไม่มีโรคไม่มีภัย ดีไม่ดีถ้าขืนฉันไปแล้วจะเกิดโรค จึงรับสั่งให้นำไปฝังเสีย ที่ให้นายจุนทะนำไปฝังเลย ก็เพราะถ้าขืนตั้งไว้คนอื่นฉวยไปภายหลังไม่รู้คิดว่า เอ ยาขนานนี้นายจุนทะทำถวายพระศาสดา เอ ถ้าจะดีแน่ ขอยาทดลองบ้างเถอะ กินเข้าไปไม่ช้าเกิดเรื่อง เป็นอันตราย พระองค์จึงรับสั่งให้ฝังให้ทำลายเสีย เว้นเราเสีย คนอื่นไม่มีใครย่อยได้ ยาขนานนี้เป็นลางเนื้อชอบลางยา เหมาะกับพระองค์ เหมาะกับอาพาธที่พระองค์เป็นอยู่ คนอื่นไม่เหมาะ นายจุนทะทำปรุงขึ้นเพื่อพระองค์ จึงตรัสอย่างนี้ ข้างนายจุนทะก็ตั้งใจทำขึ้นว่า เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแก่พระองค์แล้วก็จะนึกเผื่อแผ่ไปยังคนอื่น ๆ บ้าง (โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ) แต่หารู้ไม่ว่า ยานั้นบางอย่างให้คุณอนันต์ก็ให้โทษมหันต์ ลางเนื้อชอบลางยา เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงตัดปัญหาเลย (เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลในภายหลัง) ว่าให้ไปทำลายเสียเถอะ อย่าให้พระรูปอื่นฉันยานี้เลย นี่เป็นอย่างนั้น ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า

พระบรมศาสดาฉันสูกรมัททวะนี่ไปแล้ว อาพาธกำเริบเพราะเหตุแห่งอาหารมื้อนี้กระนั้นหรือ ?
กระผมไม่เชื่อเลย ไม่สมัครใจจะเชื่อว่า พระอาพาธของพระองค์จะกำเริบขึ้นเพราะอาหารมื้อนี้เป็นเหตุ คือสูกรมัททวะนี้ แล้วกำเริบเพราะอาหารนี้ ไม่บอกไว้หรอก แต่กลับไปบอกในคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ท่านประพันธ์เอาไว้ ในที่นั้นแหละ เป็นมติของพระสังคีติกาจารย์ ไม่ใช่เนื้อความในบาลีสูตร เป็นเนื้อความที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองเข้ามาที่หลัง สอดแทรกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระศาสดาได้ฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว อาพาธกำเริบแล้ว ได้เกิดขึ้น ลงพระโลหิต ประชวรด้วยปักขันทิกาพาธแล้วไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินารา แต่ว่าตามความเข้าใจของกระผมนั้น สูกรมัททวะนี้มีคุณแก่พระองค์มาก ไม่ได้เป็นเหตุให้พระองค์ประชวรหนัก ที่อาการประชวรหนักของพระองค์นั้น เป็นไปตามอาการของพระโรคกำเริบขึ้นตามอายุขัยของพระองค์ เพราะพระองค์จะดับขันธ์ในวันนั้นแล้ว โรคกำเริบขึ้นตามอาการของโรคจะเป็น ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ สูกรมัททวะนี่เอง กลับเป็นคุณแก่พระองค์ ทำให้พระองค์มีกำลังกาย เสด็จดำเนินไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ถ้าไม่ได้อาหารมื้อนี้แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเสด็จไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ดูซิ พระชนม์มากอยู่แล้วถึง ๘๑ แล้วแก่หง่อมเต็มทีแล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปตลอดทั้งวัน ทรงประชวรก็หนัก แต่ยังเสด็จพุทธดำเนินไปได้ นำพระสงฆ์เดินตลอดทั้งวัน ได้อาหารสูกรมัททวขัของนายจุนทะนี้ เป็นเหตุให้พระองค์ กระปรี้กระเปร่า มีพระกำลังกายเดินทางต่อไปกระทั่งไปดับขันธ์ดังที่ประสงค์เอาไว้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีพุทธดำรัสว่า สูกรมัททวะนี้แหละ อาหารมื้อนี้แหละ มีอานิสงส์มาก เป็นอาหารมื้อสุดท้าย แต่ว่ามีอานิสงส์มหาศาล ดังตอนใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คนภายหลังจะกล่าวคำตำหนินายจุนทะว่า จุนทะท่านไม่ได้บุญแล้ว ท่านไม่ได้ลาภแล้ว พระผู้มีพระภาคเสวยอาหารของท่านแล้วอาพาธหนัก จะทำให้นายจุนทะเกิดความเสียใจ ดูก่อนอานนท์ ถ้ามีคำจ้วงจาบกล่าว่านายจุนทะเช่นนั้นแล้ว เธอจงแก้คำกล่าวหานั้นว่า ตถาคตตรัสบอกว่าอาหารที่นายจุนทะทำถวายนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก อำนวยคุณประโยชน์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ บุญที่นายจุนทะทำนี้เป็นไปเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ บิณฑบาตทั้งสองคราวที่ตถาคตรับนี่ ครั้งหนึ่งบิณฑบาตที่รับจากนางสุชาดา ในวันคืนที่จะตรัสรู้หนึ่ง และปัจฉิมบิณฑบาตที่รับกับนายจุนทะหนึ่ง ทั้งสองบิณฑบาตนี้ เทฺว เม ปิณฺฑปาตสมผลา สมสมวิปากา บิณฑบาตทั้งสองคราวนี้ มีผลเสมอ ๆ กัน มีวิปากเสมอ ๆ กัน ถ้าอาหารมื้อนี้เป็นเหตุให้พระโรคกำเริบแล้ว จะมีวิปากเสมอกัน มีผลเสมอกันกับบิณฑบาตของนางสุชาดาได้อย่างไร นี่แหละกระผมจึงอยากเชื่อว่า อาพาธที่กำเริบขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ แต่เป็นไปตามอาการของอาพาธเอง และขอสรุปปาฐกถาในวันนี้ว่า สูกรมัททวะนี้ไม่ใช่เนื้อหมูอ่อน แต่เป็นยารักษาโรค ขอจบปาฐกถาวันนี้เพียงเท่านี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น