วันพุธ

สหธัมมิกวรรคที่ ๘

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท จัดเป็น ๙ วรรค

        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)

สหธัมมิกวรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท ดังนี้
๑. สหธัมมิกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเป็นคนสอนยาก เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวสั่งสอนด้วยพระวินัยสิกขา ตนคิดจะไม่ปฏิบัติก็โต้เถียงต้านทานว่า “ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไต่ถามภิกษุอื่น ที่ทรงพระวินัยเป็นผู้รู้เห็นตราบใด ก็จะยังไม่ศึกษาเล่าเรียนในข้อสิกขาบทตราบนั้น” ภิกษุผู้กล่าวโต้เถียงต่อภิกษุทั้งหลายด้วยไม่ปรารถนาสิกขาบท ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุอันรักใคร่ต่อสิกขาบทเมื่อจะศึกษาพระวินัยวัตรพึงให้รู้แจ้งชัด ที่ไม่สันทัดพึงไต่ถาม รู้ความแล้วพึงปรึกษาสอบสวนให้รู้แจ้ง อันนี้แลเป็นวัตรกิจอันควรในพระวินัยสิกขาบท

๒. วิเลขนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันไม่เอื้อเฟื้อต่อสิกขาบทเมื่อมีภิกษุแสดงพระปาฏิโมกข์ คือ อ่านเล่าท่องสวดแลคัดข้อสิกขาบทขึ้นเจรจาหวังจะให้รู้ข้อปฏิบัติ พึ่งโต้ตอบติเตียนสิกขาบทว่า “จะต้องการอะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยที่จะยกขึ้นเล่าอ่านเจรจา ไม่เห็นว่าจะเป็นคุณความดีสิ่งใด เพียงแต่จะเป็นโทษที่จะเกิดความรำคาญขุ่นเคืองน้ำใจไม่ให้มีความสุข” ภิกษุติเตียนสิกขาบทด้วยอุบายนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๓. โมหาโรปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันทำกิจผิดเป็นการละเมิดพระพุทธบัญญัติมาแล้ว เมื่อภิกษุได้แสดงพระปาฏิโมกข์อยู่ทุกระยะกึ่งเดือน แกล้งกลบเกลื่อนโทษตนว่าหลงทำความผิด ทำเป็นมารยากล่าวว่า “เราพึ่งรู้ฟังได้ยินได้ฟังเดี๋ยวนี้ว่า ธรรมอันนี้นับเนื่องมาในพระสูตร นับเข้าในพระวินัย เป็นข้อห้ามมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน” ถ้าว่าภิกษุเหล่าอื่นพึงรู้ว่าเธอองค์นั้น เมื่อแสดงพระปาฏิโมกข์อยู่แต่ก่อนมาก็ได้มานั่งฟังอยู่ถึงสองครั้งสามครั้งมาแล้ว จะว่าให้มากมายไปทำอะไร อันการที่ภิกษุจะพ้นจากอาบัติเพราะไม่รู้นั้นย่อมไม่มี ภิกษุนั้นล่วงสิกขาบทใด ๆ พระวินัยธรพึงปรับอ้างโทษตามบัญญัติในสิกขาบทนั้นๆ แต่โทษที่กล่าววาจาว่าเป็นคนหลง พระสงฆ์จึงยกโทษ🔎โมหาโรปนกรรม(๗๔) เป็นองค์อาบัติยิ่งขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงติเตียนว่า “ดูก่อนอาวุโส ไม่เป็นลาภมากมายของท่านเสียแล้วเสียทีที่ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา อะไรเล่าเมื่อภิกษุแสดงพระปาฏิโมกข์อยู่ ท่านก็ไม่ได้นำพาจะจดจำใส่ใจไว้บ้างเลย” ให้ภิกษุผู้ฉลาดพึงสวดญัตติทุติยกรรมวาจา ประกาศโทษในท่ามกลางสงฆ์ เมื่อจบกรรมวาจาลงภิกษุนั้นยังทำเป็นว่าหลงอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าแกล้งทำเป็นว่าหลง พระสงฆ์ยังไม่ได้ทำโมหาโรปนกรรมก่อน เป็นแต่อาบัติทุกกฏ

๔. ปหารทานสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึ่งโกรธขัดเคืองต่อภิกษุด้วยกันแล้ว จึงให้ซึ่งประหาร คือตีรันชกต่อย ทุบ ถอง ถีบ เตะ ซัด ขว้าง ตลอดลงมาจนถึงทิ้งกลีบอุบลเป็นที่สุด ให้ถูกต้องกายภิกษุอื่นด้วยความโกรธ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ตีผู้อื่นนอกจากภิกษุตลอดลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน ต้องอาบัติทุกกฏ

๕. ตลสัตติกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึ่งโกรธขัดเคืองต่อภิกษุด้วยกัน แล้วจึงเงือดเงื้อฝ่ามือ หรือเครื่องประหารที่เนื่องอยู่ในมือ ตลอดจนถึงดอกอุบลเป็นที่สุด ให้ภิกษุที่ตนโกรธนั้นตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเลือดเนื้อแก่ผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ

๖. อมูลกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันเกิดความพิโรธ ริษยา พึ่งตามกำจัด โจทก์หากล่าวโทษภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ไม่มีเหตุเดิมที่เป็นเลศอิงอ้างได้ ด้วยหมายใจจะให้ได้ความอับอาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าโจทก์ด้วยอาบัติอื่น ๆ ต้องอาบัติทุกกฏ

๗. สัญจิจจสิกขาบท
ความว่า ภิกษุคิดหยอกเย้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน ให้เกิดความรำคาญไม่สบายใจเล่นสักครู่สักพักหนึ่ง แกล้งตั้งความรังเกียจให้เป็นความร้อนใจ ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือแกล้งว่าเราเห็นว่าท่านยังไม่ครบ ๒๐ ปีถ้วนในการอุปสมบท หรือว่าท่านฉันเพลในเวลาบ่าย ท่านนั่งในที่ลับกับหญิงเป็นต้น อย่างนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แกล้งว่าสามเณรต้องอาบัติทุกกฏ

๘. อุปัสสุติสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทั้งหลายเกิดทะเลาะวิวาทกันอยู่ จึงเข้าไปแอบอ้อมมองคอยฟังความว่า ภิกษุทั้งหลายจะกล่าวทุ่มเถียงด่าทอกันอย่างไร จะให้ได้ยินความนั้นถนัด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าไม่จำเพาะหน้าตรง ๆ ประสงค์จะระงับความวิวาทไม่เป็นอาบัติ

๙. ขียนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้ให้ฉันทะยินยอมพร้อมใจแก่ภิกษุทั้งหลายอันทำสังฆกรรมเป็นธรรม ต้องตามพระวินัยบัญญัติแล้วภายหลังกลับติเตียนว่ากรรมนั้นไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้ากรรมนั้นไม่เป็นธรรมจริง แม้ติเตียนก็ไม่มีโทษ

๑๐. ปักกมนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันมาประชุมด้วยสงฆ์ในหมู่สงฆ์แล้ว เมื่อมีกิจวินัยบัญญัติอยู่ยังมิทันเสร็จ หรือเวลาสวดญัตติไม่ทันจบ ไม่ได้ให้ฉันทะแก่สงฆ์ลุกขึ้นหลีกหนี้ไปเสียเฉย ๆ ทำให้สังฆกรรมกำเริบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๑๑. จีวรทานขียนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้มาประชุมด้วยสงฆ์บอกกล่าวพร้อมเพรียงกัน ยกจีวรลาภที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ออกให้แก่ภิกษุที่รับธุระสงฆ์แล้ว ภายหลังกลับติเตียนยกโทษว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมนำจีวรลาภของสงฆ์ไปให้ตามมิตรตามสหาย ภิกษุผู้ติเตียนต้องอาบัติปาจิตจีย์ ถ้าติเตียนในลาภสิ่งอื่นที่ควรแจกนอกจากจีวร เป็นอาบัติทุกกฏ

๑๒. ปุคคลปริณามนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเมื่อรู้ว่าลาภที่ทายกตั้งจิตจะอุทิศถวายแด่สงฆ์ ไปชักโยงให้แก่บุคคล คือจำเพาะตัวภิกษุเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

จบสหธัมมิกวรรค ๑๒ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น