วันอังคาร

คำอภิธานศัพท์(๒)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๓๑. สวดสมนุภาสน์ คือการสวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นในการอันมิชอบ

๓๒. อนุสาวนา คือคำสวนประกาศ คำประกาศข้อปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์, คำขอมติ

๓๓. ปวารณา คือยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ, ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน

๓๔. สมโภค คือการกินร่วม หมายถึงการคบหากันในทางให้ หรือรับอามิสและคบหากันในทางสอนธรรมเรียนธรรม

๓๕. สังวาส คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ ได้แก่การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน คือเป็นพวกเดียวกันอยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกัน ในภาษาไทยใช้หมายถึงร่วมประเวณีด้วย

๓๖. ปัพพาชนียกรรม หรือ บัพพาชนียกรรม คือกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล และประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือทำแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระพุทธ บัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑

๓๗. การกสงฆ์ คือสงฆ์ผู้กระทำ หมายถึงสงฆ์หมู่หนึ่งผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนา หรือในสังฆกรรมต่าง ๆ

๓๘. ปริวาส คือการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติก่อนที่จะประพฤติมานัต อันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป ระหว่างอยู่ปริวาสต้องประพฤติวัตรต่าง ๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัว เป็นต้น

๓๙. มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับ หมายถึงการนับราตรี ๖ ราตรี คือภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนออกจากอาบัติตาม ธรรมเนียมจะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค (คือหมู่สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำ ๔ รูป เช่นสงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรม เป็นต้น) ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัต ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต ๖ ราตรีแล้ว สงฆ์จึงสวดระงับอาบัติให้ได้

๔๐. อัพภาน คือการรับกลับเข้าหมู่, เป็นขั้นตอนสุดท้ายแห่งระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสส ได้แก่การที่สงฆ์สวดระงับอาบัติ รับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ทำโทษตนเองตามวิธีที่กำหนดเสร็จแล้ว ให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นขั้นตอนต่อจากการประพฤติมานัตสิ้น ๖ ราตรีแล้ว

๔๑. มาตุคาม คือผู้หญิง

๔๒. พระวินัยธร คือพระผู้ทรงวินัย พระภิกษุผู้ชำนาญในพระวินัย

๔๓. ปลิโพธ ในทางพระวินัยเกี่ยวกับการกรานกฐิน หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ คือ ยังรักษาอานิสงส์กฐินและเขตแห่งจีวรกาลตามกำหนดไว้ได้ มี ๒ อย่าง คือ
        ๑. เรื่องอาวาส คือยังอยู่ในวัดนั้นหรือหลีกออกไป แต่ยังผูกใจว่า จะกลับมา เรียกว่า อาวาสปลิโพธ
        ๒. เรื่องจีวร ความกังวลในจีวร คือยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียในเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นหวังว่าจะได้จีวรอีก เรียกว่า จีวรปลิโพธ

ถ้าสิ้นปลิโพธครบทั้งสองอย่าง จึงเป็นอันเดาะกฐิน (หมดอานิสงส์และสิ้นเขตจีวรกาลก่อนกำหนด)

๔๔. วิกัป คือการทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้น ๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด

๔๕. อธิษฐาน ในทางพระวินัย หมายถึงการตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้ของนั้น ๆ เป็นของประจำตัว เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าจะใช้เป็นจีวร เราก็อธิษฐานผ้านั้นและเรียกว่าจีวรอธิษฐาน เรานิยมเรียกโดยทั่ว ๆ ไปว่าจีวรครอง

๔๖. ปริมพรรษา คือพรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป เป็นเวลา ๓ เดือน คือถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

๔๗. หัตถบาส คือที่ใกล้ตัวชั่วคนหนึ่ง (นั่งตัวตรง) เหยียดแขนออกไปจับตัวอีกคนหนึ่งได้ ท่านว่าเท่ากับช่วงสองศอกกับหนึ่งคืบ หรือสองศอกครึ่ง วัดจากส่วนสุดด้านหลังของผู้เหยียดมืออกไป (เช่น ถ้ายืนวัดจากส้นเท้า ถ้านั่งวัดจากสุดหลังอวัยวะที่นั่ง) โดยนัยนี้ท่านว่านั่งห่างกันไม่เกิน ๑ ศอก

๔๘. อกาลจีวร คือจีวรที่เกิดขึ้นนอกเขตจีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน

๔๙. สังฆาฏิ คือผ้าทาบ, ผ้าคลุมกันหนาวที่พระใช้ทาบบนจีวรเหนือไหล่ซ้าย เป็นผ้าผืน ๑ ในจำนวน ๓ ผืน ที่เรียกว่า ไตรจีวร

๕๐. อุตตราสงค์ คือผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืนของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญทั่วไปว่า จีวร

๕๑. อันตรวาสก คือผ้านุ่ง, เรียกทั่วไปว่า สบง เป็นหนึ่งในไตรจีวร

๕๒. ไวยาวัจกร คือผู้ทำกิจธุระหรือผู้ช่วยเหลือรับใช้พระภิกษุสงฆ์

๕๓. วัตตเภท คือการละเลยวัตร, ละเลยหน้าที่ ไม่ทำตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัตหรือกำลังอยู่ปริวาส ละเลยวัตรของตน พระอรรถกถาจารย์ปรับอาบัติทุกกฏ

๕๔. สันถัต คือผ้ารองนั่ง

๕๕. มาสก คือชื่อมาตราเงินสมัยโบราณ ราคาห้ามาสกเท่ากับหนึ่งบาท

๕๖. กัปปิยะ คือของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ ไม่ทรงอนุญาตไว้

๕๗. วัตรปฏิบัติ คือความประพฤติที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมแห่งเพศและภาวะ หรือวิถีดำเนินชีวิตของตน

๕๘. กัปปิยการก คือผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ลูกศิษย์พระ

๕๙. รูปิยสังโวหาร คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา

๖๐. สมณบริขาร คือเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ของพระในพระพุทธศาสนา มี ๔ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร / มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ นิยมเรียกว่า อัฏฐบริขาร

หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น