วันศุกร์

(ข) ไตรลักษณ์มี ๓

 (ข) ไตรลักษณ์มี ๓

ไม่ใช่แค่ทุกข์ และทั้งสามเป็นฐานของทุกข์ในอริยสัจ ได้บอกแล้วว่า ทุกข์ในไตรลักษณ์ คือลักษณะหรืออาการที่ปัจจัยต่างๆ ขัดแย้งกันกดอัดบีบคั้น ทำให้คงทนอยู่ไม่ได้นั้น เป็นสภาพของสังขารคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปจะรู้จักเข้าใจได้ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งโดยใช้คำที่แทนกันได้ว่า เป็นสภาวะตามธรรมดาแห่งธรรมชาติของขันธ์ทั้ง ๕ ถึงแม้ว่าทุกข์ คือภาวะกดดันขัดแย้งบีบคั้นที่ว่านี้ จะมีอยู่เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ แต่ตัวคนเองหมดทั้งชีวิต และสิ่งที่คนเกี่ยวข้องในการเป็นอยู่ทุกอย่าง ก็คือสังขารหรือขันธ์ ๕ ทั้งนั้น ถ้าคนไม่รู้เข้าใจ ปฏิบัติต่อมันไม่แยบคาย ก็จะกลายเป็นว่า คนนั่นแหละจะเกิดภาวะกดดันบีบคั้นทนไม่ได้ขึ้นมากับตัวเอง ซึ่งก็คือทุกข์ แต่เป็นทุกข์ของคน เป็นทุกข์ในอริยสัจ เป็นของจริงขึ้นมาในตัวคน ทั้งที่ไม่มีจริง ทั้งที่ไม่มีจริงในธรรมดาของธรรมชาติ

ที่นี้ ที่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ หรือประดาสังขารเป็นทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ ความจริงก็เป็นวิธีพูดให้สะดวกเท่านั้น ถ้าจะพูดให้ถูกจริง ก็ควรจะว่าเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ และลักษณะ ๓ นั้นก็คือ
   ➤ เป็นอนิจจา ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็สลายหายไป
   ➤ เป็นทุกขา มีปัจจัยที่ก่อที่เกี่ยวขัดแย้งบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้
   ➤ เป็นอนัตตา มีสภาวะของมันที่ปรากฏตามความเป็นไปของเหตุปัจจัย ไม่เป็นไม่มีตัวตนหรือตัวการพิเศษที่ไหนจะมาแทรกแซงครอบครองเป็นเจ้าของควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นไปได้

จะพูดให้จำง่ายก็ได้ว่า ไม่คงที่ ไม่คงทน และไม่คงตัว นี่ก็หมายความว่า ที่ว่าเป็นทุกข์นั้น ยังพูดแค่ลักษณะเดียว ที่จริง ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ หรือสรรพสังขารนั้น ไม่ใช่แค่เป็นทุกข์เท่านั้น แต่เป็นอนิจจา เป็นทุกขา และเป็นอนัตตา แล้วที่จากไตรลักษณ์ ไปเกิดเป็นทุกข์ในอริยสัจ ก็ไม่ใช่แค่จากทุกข์ในไตรลักษณ์ ไปเป็นทุกข์ในอริยสัจ แต่ที่จริงคือ จากไตรลักษณ์ครบ ๓ ทั้ง อนิจจา ทุกขา และอนัตตา ไปเป็นตัวตั้งให้คนที่รู้ไม่ทันมันก่อเป็นทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา นั่นแง่หนึ่งละว่าสังขารหรือเบญจขันธ์ซึ่งรวมคนหมดตัวแล้วทั้งกายและใจ เป็นอนิจจา ทุกขา และอนัตตา เป็นไตรลักษณ์ครบทั้ง ๓ เป็นเรื่องของสภาวะตามธรรมดาของธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ต้องมีตัวคนเข้าไปยุ่งเกี่ยว มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น จึงยังไม่มาเข้าในเรื่องของอริยสัจ (ทั้งที่ทุกข์ ทุกขา ก็มีอยู่ในไตรลักษณ์) ก็ถามต่อไปว่า แล้วเมื่อไรล่ะ เบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ จึงจะมาเป็นทุกข์ในอริยสัจ ก็ตอบว่า เมื่อมันกลายเป็นเบญจอุปาทานขันธ์ หรือเป็นอุปาทานขันธ์ ๕

อุปาทานขันธ์ ๕ คืออะไร? ก็คือ ขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานยึดถือยึดครอง ท่านใช้คำแบบทางการว่า “ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน” จะว่าขันธ์ ๕ ที่เกิดจากอุปาทาน เป็นที่วุ่นวายของอุปาทาน หรือที่รับใช้อุปาทาน ก็ได้ทั้งนั้น เป็นเรื่องของอวิชชาตัณหาอุปาทาน อันนี้แหละคือ ทุกข์ที่เป็นข้อ ๑ ในอริยสัจ ๔

เมื่อได้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่จะมองแล้ว ก็มาศึกษาพุทธพจน์ที่ตรัสในเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ดูความแตกต่างระหว่าง ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ (เคยแสดงในบทว่าด้วยขันธ์ ๕) ขอยกมาดูอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง”
“ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณ ซันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตามเหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕”
“อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ (สาสวะ) เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน (อุปาทานิยะ) เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕” (*๑๔๒)

ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไตรลักษณ์ จะตรัสเป็นประจำว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจา เป็นทุกขา เป็นอนัตตา เพราะเป็นเรื่องความจริงของสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ตรัสว่าอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอนิจจา เป็นทุกขา เป็นอนัตตา เพราะรวมอยู่แล้วในขันธ์ ๕ ที่ตรัสนั้น ไม่ต้องตรัสต่างหาก เพียงแต่ว่า ใครไปยึดขันธ์ ๕ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้นเข้า ก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ตัวอย่างที่ตรัสถึงขันธ์ ๕ ตามหลักไตรลักษณ์
“ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง (อนิจจัง) เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง;
“ภิกษุทั้งหลาย รูป ปัจจัยบีบคั้นคงสภาพอยู่มิได้ (ทุกข์) เวทนา...สัญญา...สังขารทั้งหลาย..วิญญาณ ปัจจัยบีบคั้นคงสภาพอยู่มิได้;
“ภิกษุทั้งหลาย รูป ไม่เป็นตัวตน (อนัตตา) เวทนา...สัญญา...สังขารทั้งหลาย..วิญญาณ
ไม่เป็นตัวตน; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดแม้ในรูป แม้ในเวทนา...แม้
ในสัญญา...แม้ในสังขารทั้งหลาย...แม้ในวิญญาณ, เมื่อหายติด (นิพพิทา) ย่อมคลายออก (วิราคะ),
เพราะคลายออก ย่อมหลุดพ้น; เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า สิ้น
กำเนิด จบมรรคาชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เสร็จกรณีย์ ไม่มีกิจอื่นอีกเพื่อภาวะเช่นนี้” (*๑๔๓)

พอรู้เข้าใจเบญจขันธ์ หรือบรรดาสังขาร ตามหลักไตรลักษณ์อย่างนี้ เห็นความจริงชัดแล้ว ก็ไม่เกิดเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา หรือเลิกเป็นอุปาทานขันธ์ แต่ตรงกันข้าม กลายเป็นหลุดพ้นอิสระ หมดปัญหา สว่างสดใสเบิกบาน ไม่เกิดมีทุกข์อีกต่อไป ผู้ที่เคยสวดหรือฟัง 🔎พระสูตรหมุนธรรมจักร ที่ทรงแสดงอริยสัจ ๔ แก่เบญจวัคคีย์ คงจำได้หรือนึกออกว่า พระพุทธเจ้าตรัสความหมายของอริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกข์ ค่อนข้างยาว และเราก็ถือกันเป็นหลักทำนองคำจำกัดความของทุกขอริยสัจนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลคือทุกขอริยสัจ: ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้น ก็เป็นทุกข์, โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ (*๑๔๔)

ข้อพึงสังเกตให้ชัดก็คือ คำสรุปความหมายตอนลงท้ายที่ว่า “โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์" (สงขิตุเตน ปญจุปาทานกุขนุธา ทุกขา) ตรงนี้เป็นสาระสำคัญ คือ ที่ว่านั่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์นั้น รวมความแล้ว ก็อยู่แค่ที่ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ แล้วก็ให้สังเกตต่อไปอีกว่า พระธรรมจักรที่ทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์นี้ เป็นปฐมเทศนา ไม่เคยมีใครได้ฟังมาก่อน พูดง่ายๆ ว่า ผู้ฟังไม่มีพื้นมาเลยที่จะรู้จักแม้แต่คำว่าทุกข์ในความหมายของพระพุทธศาสนา ที่นี้ จะขอให้เทียบกับพระสูตรที่ทรงแสดงอริยสัจในเวลาต่อมา

ครั้งหนึ่ง เมื่อประทับที่เมืองสาวัตถี (แสดงว่านานหลังจากปฐมเทศนา) พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจครบทั้งหมดแก่พระภิกษุสงฆ์ (แสดงว่าผู้ฟังมีพื้น) จะยกมาให้ดูว่า พระองค์ตรัสความหมายของทุกข์ ตรงไปที่อุปาทานขันธ์ ๕ อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นเลย ดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกข์เป็นไฉน? ทุกข์นั้น พึงกล่าวว่า คืออุปาทานขันธ์ ๕.
อุปาทานขันธ์๕ เป็นไฉน? คือ รูปอุปาทานขันธ์ ๕ เวทนาอุปาทานขันธ์ ๑ สัญญาอุปาทานขันธ์ ๕ 
สังขารอุปาทานขันธ์ ๑ วิญญาณอุปาทานขันธ์ ๑, ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยเป็นไฉน? คือ ตัณหา อันนำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ ครุ่นใคร่ใฝ่หาในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธเป็นไฉน? คือ ความจางคลายดับไปไม่เหลือ แห่งตัณหานั่นแล ความสละ ความไถ่ถอนเสียได้ ความหลุดพ้น ความไม่ติดค้าง ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขนิโรธ.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นไฉน? คือ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯถฯ สัมมาสมาธิ. ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (*๑๔๕)

เมื่อเทียบตามพุทธพจน์นี้แล้ว ทำให้มองได้ว่า ที่ตรัสในปฐมเทศนา เป็นต้น ว่านั่นก็เป็นทุกข์ นี่ก็เป็นทุกข์ มากหลายอย่างนั้น เป็นการยกสภาพต่างๆ ที่คนทั่วไปรู้เข้าใจพูดจานึกกันว่านั่นๆ คือทุกข์ เอามานำความเข้าใจก่อน แล้วจึงมาถึงตัวสาระของความหมายที่แท้จริง คืออุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งถ้าพูดขึ้นมาเดี่ยวๆ ทันที คนทั่วไปซึ่งไม่มีพื้นความรู้ จะไม่เข้าใจเลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ในกรณีอื่นๆ หรือในการทรงแสดงธรรมครั้งอื่น บางครั้ง พระพุทธเจ้า อาจทรงยกตัวอย่างทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์อย่างอื่นๆ มาแสดงว่าเป็นทุกข์ หรือสำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าเขาจะพูดถึง นึกถึงทุกข์นึกถึงปัญหาอะไรของคน ก็ว่ากันไป สุดแต่จะนึกขึ้นมา แต่ในที่สุดก็มาถึงตัวจริง ที่ทรงชี้ว่าทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็อยู่ที่อุปาทานขันธ์ ๕ อันนี้เอง ทั้งนี้ คงจะเป็นอย่างที่ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ในข้อที่เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขอริยสัจนั้น มีอักขระนับปริมาณมิได้ มีพยัญชนะนับปริมาณมิได้ มีคำชี้แจงแสดงไขนับปริมาณมิได้ ว่า ทุกขอริยสัจนี้ คือแม้ดังนี้ๆ ฯลฯ ในข้อที่เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น มีอักขระนับปริมาณมิได้ มีพยัญชนะนับปริมาณมิได้ มีคำชี้แจงแสดงไขนับปริมาณมิได้ ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ คือแม้ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงทำความเพียร เพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(*๑๔๖)

พุทธพจน์นี้ เท่ากับย้ำเตือนให้มองกว้างออกไปว่า ดังที่รู้กันอยู่แล้ว หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ก็รวมลงได้ในอริยสัจ ๔ นี้ แม้บางครั้ง คำสอนนั้นจะไม่จะไม่ได้ออกชื่ออริยสัจชัดออกมา แต่ก็เห็นได้ว่าอยู่ในอริยสัจนั่นเอง อย่างพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่จะตัดมาให้ดูจากจูฬทุกขักขันธสูตรต่อไปนี้ แสดงถึงปัญหาโทษภัยความทุกข์ที่เกิดจากกาม ก็คือจากกามตัณหา พร้อมทั้งการปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของอริยมรรค สู่ผลที่เป็นกุศลในระดับหนึ่งแห่งการก้าวไปสู่นิโรธขั้นสุดท้าย ขอคัดมาประกอบความเข้าใจในทุกขอริยสัจ ดังนี้


“ดูกรมหานาม แม้เรา ก่อนแต่สัมโพธิ เมื่อยังไม่ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็มองเห็นเป็นอย่างดี ด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก ดังนี้ แต่เรายังมิได้ประสบปีติและความสุข นอกเหนือจากกาม นอกเหนืออกุศลธรรม หรือประสบกุศลธรรมอื่นที่สงบซึ้งยิ่งกว่านั้น เราก็ยังปฏิญาณมิได้ก่อนว่าเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากาม แต่เมื่อใด เรามองเห็นเป็นอย่างดี ด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก ดังนี้ และเราก็ได้ประสบปีติและความสุข นอกเหนือจากกาม นอกเหนืออกุศลธรรม กับทั้งยังได้ประสบกุศลธรรมอื่นที่สงบซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากาม

ดูกรมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นคุณ (ความหวานชื่น ข้อดี) ของกามทั้งหลาย?
ดูกรมหานาม กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้ด้วยตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนรัก ชวนใคร่ น่าติดใจ, เสียงที่พึงรู้ด้วยหู ... กลิ่นที่พึงรู้ตัวยจมูก ... รสที่พึงรู้ตัวยลิ้น ... โผฏฐพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนรัก ชวนใคร่น่าติดใจ, ดูกรมหานาม เหล่านี้แล คือกามคุณ ๕ ประการ, ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้คือคุณของกามทั้งหลาย

ดูกรมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นโทษ (ข้อเสีย จุดอ่อน) ของกามทั้งหลาย?
กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยศิลปสถานะใด จะด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยวิชาคำนวณก็ดี ด้วยวิชาประเมิน
ก็ดี ตัวยกสิกรรมก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยวิชาแม่นธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ต้องหน้าสู้หนาว ต้องหน้าสู้ร้อน ถูกสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานรบกวน หิวกระหายเจียนตาย ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง

“ดูกรมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ทั้งที่ขยัน เอาการเอางาน พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะ
เหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ฟูมฟาย พิไรร่ำ ตีอก คร่ำครวญ ถึงความฟันเฟือนเลือนหลงว่า ความขยันของเราสูญเปล่าเสียแล้วหนอ ความพยายามของเราไม่ออกผลเลยหนอ ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว .. เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง

“ดูกรมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน เอาการเข้างาน พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้น
สำเร็จผล การคอยรักษาโภคะเหล่านั้นก็เป็นตัวบังคับ ให้เขากลับเสวยความทุกข์ยากไม่สบายใจว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบเอาโภคะของเราไปเสีย พวกโจรจะไม่มาปล้น ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาเอาไป ทายาทอัปรีย์จะไม่เอาไปผลาญเสีย”

เมื่อกุลบุตรนั้น คอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ ราชาทั้งหลายริบเขาโภตะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรมาปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดพาไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์เอาไปผลาญเสียก็ดีเขาย่อมเศร้าโศก ฟูมฟาย พิไรรา ตีอก คร่ำครวญ ถึงความฟันเพื่อนเลือนหลงว่า สิ่งที่เราเคยมี เป็นของเรา เราก็ไม่มี ไม่เป็นของเราเสียแล้ว ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง

“ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเค้า เพราะกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้ราชาทั้งหลายก็วิวาทกับพวกราชา แม้พวกกษัตริย์ที่วิวาทกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกับพวกพราหมณ์ แม้พวกคฤหบดีก็วิวาทกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่สาวน้องสาวก็วิวาทกับพี่สาวน้องสาว แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกับพี่สาวน้องสาว แม้เพื่อนก็วิวาทกับเพื่อน คนเหล่านั้นพากันเข้าทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามีอบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาสตราบ้าง ถึงความตายไปตรงที่นั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว

“ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ - เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแลฝูงชนต่างถือดาบและโล่ ผูกสอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ทั้ง ๒ ฝ่าย เข้าโรมรันพันตู เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลายถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้น บ้างถูกลูกศรเสียบ บ้างถูกหอกแทง บ้างถูกดาบตัดศีรษะ พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว ..เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง”

“ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ ... เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ ผูกสอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเชือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้น บ้างถูกลูกศรเสียบบ้างถูกหอกแทง บ้างถูกรดด้วยโคมัยร้อน บ้างถูกสับด้วยคราด บ้างถูกตัดศีรษะตัวยดาบ พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นชัดกับตัว เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง” (*๑๔๗)

(๑๔๒) สํ.ข.๑๗/๓๕-๙๖/๕๘-๖๐
(๑๔๓) เช่น สํ.ข.๑๗/๓๕-๔๑/๒๗
(๑๔๔) สํ.ม.๑๙/๑๖๖๕/๕๒๘
(๑๔๕) สํ.ข.๑๗/๒๗๙/๑๙๓; สํ.ม.๑๙/๑๖๗๘/๕๓๔ (แห่งนี้ มีคำว่าอริยสัจต่อท้ายทุกข้อ); สํ.ม.๑๙/๑๖๘๕๕๓๕ ว่า ทุกขอริยสัจ จึงกล่าวว่า คือ อายตนะภายใน ๖
(๑๔๖) สํ.ม.๑๙/๑๖๙๖/๕๓๙
(๑๔๗) ม.มู.๑๒/๒๑๑/๑๔๐

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                    (ข) ไตรลักษณ์มี ๓ ไม่ใช่แค่ทุกข์ และทั้งสามเป็นฐานของทุกข์ในอริยสัจ
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น