วันพุธ

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

อธิบาย การบรรลุจตุตถฌาน

ก็แหละ เมื่อได้บรรลุตติยฌานแม้นั้นด้วยประการฉะนี้แล้ว โยคีบุคคลพึงสั่งสม 🔎วสี ด้วยอาการ ๕ อย่าง โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วนั่นแล ครั้นออกจากตติยฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในตติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อปีติอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้ยังมีองค์อันทุรพล เพราะสุขเป็นสภาพที่หยาบดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า "องค์อันใดแล ที่ทำใจให้พะวงว่าเป็นสุขในตติยฌานนั้น ด้วยองค์นั้น ตติยฌานนี้จึงปรากฏเป็นสภาพที่หยาบ" ฉะนี้แล้วพึ่งมนสิการถึงจตุตถฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในตติยฌานแล้วพึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุจตุตถฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากตติยฌานแล้ว มีสติมีสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น สุขคือโสมนัสอันเกิดขึ้นทางใจจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ อุเปกขาเวทนากับจิตเตกัคคตาจะปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียด กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน เพื่อละเสียซึ่งองค์ที่หยาบและเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้นมโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณนั้นนั่นแลให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิตเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า จตุตถฌานจักเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดนั้นไป ชวนจิตก็จะแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแล ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง (ตามควรแก่โยคีบุคคลที่เป็นติกขบุคคลหรือมันทบุคคล) บรรดาชวนจิตเหล่านั้น ดวงหนึ่งที่สุดท้ายเข้าเป็น🔎 รูปาวจรกุสลจิตขั้นจตุตถฌาน ดวงที่เหลือนอกนั้นเป็น กามาวจรกุสลจิต มีประการดังกล่าวแล้วใน🔎ปฐมฌานนั่นเทียว ส่วนที่พิเศษกว่ากันนั้น ดังนี้ คือ เพราะเหตุที่สุขเวทนาเป็นปัจจัยโดยอาเสวนาปัจจัยแก่อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ และอทุกขมสุขเวทนาจะต้องเกิดขึ้นในจตุตถฌานฉะนั้น ชวนจิตเหล่านั้นจึงย่อมประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา และแม้ปีติก็เป็นอันสร่างหายไปในจตุตถฌานนี้ด้วย เพราะเหตุที่จตุตถฌานประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั่นแล แหละด้วยลำดับแห่งภาวนาวิธีมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่เบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ จตุตถฌานปฐวีกสิณ อันละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ มีความงาม ๓ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย เพราะละสุขและทุกข์เป็นต้น
ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะละสุขและละทุกข์ ความว่า เพราะละกายิกสุขคือสุขทางกายและกากทุกข์คือทุกข์ทางกาย คำว่า แต่เบื้องต้น ความว่าการละนั้นแล ได้ละมาแต่เบื้องต้นแล้ว ไม่ใช่ละในขณะแห่งจตุตถฌาน คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไป ความว่า เพราะความดับหายไปแต่เบื้องต้นแห่งเวทนา แม้ทั้ง ๒ นี้ คือ สุขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ ทุกขเวทนาที่เกิดทางใจ ๑ อธิบายว่า เพราะละเวทนาทั้ง ๒ เสียได้แต่ในเบื้องต้นนั่นเอง

ถาม - ก็แหละ การละเวทนาเหล่านั้น ละในขณะไหน ?
ตอบ - ละในขณะแห่งอุปจาระของฌานทั้ง ๔ อธิบายว่า โสมนัสเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของจตุตถฌาน ทุกขเวทนา โทมนัสเวทนาและสุขเวทนา ย่อมละในขณะแห่งอุปจาระของปฐมฌาน ทุติยฌานและตติยฌาน ตามลำดับ

นักศึกษาพึงทราบอย่างนี้ การละซึ่งสุข ทุกข์ โสมนัส และโทมนัสเวทนาทั้งหลายแม้ในจตุตถฌานนี้ซึ่งแม้จะมิได้ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการละซึ่งเวทนาเหล่านั้น แต่ทรงแสดงไว้ตามลำดับแห่งการแสดงซึ่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์นั่นเทียว

ถาม - ก็แหละ ถ้าองค์ธรรมเหล่านี้ ย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานนั้น ๆ จริงแล้ว ก็เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงแสดงความดับแห่งองค์เหล่านั้นไว้ตรงที่ฌานทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างนี้ว่า ก็ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ย่อมบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ปฐมฌานนี้และโทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมบรรลุซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้น อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา และโสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่จตุตถฌานนี้
ตอบ - การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับแห่งองค์ธรรมทั้งหลายไว้ตรงที่ฌานโดยเฉพาะเช่นนั้น เพราะทรงประสงค์เอาความดับอย่างสนิท อธิบายว่า ในขณะแห่งฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับอย่างสนิทขององค์ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ความดับอย่างสามัญ ส่วนในขณะแห่งอุปจาระเป็นความดับอย่างสามัญ ไม่ใช่ความดับอย่างสนิท (ในที่นี้ ท่านแสดงเวทนาไว้โดยแสดงลำดับตามลำดับแห่งอินทรีย์ มิได้แสดงตามลำดับแห่งการละ ลำดับแห่งการละนั้น คือ ละทุกข์, โทมนัส, สุข, และโสมนัส ส่วนลำดับแห่งอินทรีย์นั้น คือ สุขินทรีย์, ทุกอินทรีย์, โสมนัสสินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย์)

🔅 ละทุกข์ได้สนิทที่ปฐมฌาน
เป็นความจริงอย่างนั้น แม้ทุกข์ที่ดับไปในขณะอุปจาระแห่งปฐมฌาน ซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ด้วยถูกเหลือบและยุงกัด หรือด้วยการปวดเมื่อยเพราะนั่งไม่เรียบ แต่ภายในอัปปนาฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เล อีกประการหนึ่ง แม้ทุกข์ที่ดับไปแล้วในขณะอุปจารฌานนี้ ชื่อว่า ยังดับไม่สนิทดีเพราะยังไม่ได้ถูกปฏิปักขธรรมทำลาย ส่วนภายในอัปปนาฌานนั้นทั่วสรรพางค์กายอันสุขชโลมแล้วเพราะปีติแผ่ซ่านไป และบุคคลผู้มีกายอันสุขชโลมแล้วนั้นย่อมมีความทุกข์ดับไปอย่างสนิท เพราะถูกปฏิปักขธรรมทำลายแล้ว

🔅 ละโทมนัสได้สนิทที่ทุติยฌาน
อนึ่ง แม้โทมนัสที่ละได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานซึ่งมีอาวัชชนจิตมากหลายเช่นกันนั้น จะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเมื่อมีความลำบากกาย และมีความเหนื่อยใจ อันมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย โทมนัสนี้ก็จะเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีวิตกและวิจารเป็นปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นไม่เลย ส่วนในฌานใดที่โทมนัสเกิดขึ้นได้อยู่ ในฌานนั้นยังมีวิตกและวิจารเป็นปัจจัย และวิตกและวิจารนั้นก็ยังละไม่ได้ที่เดียวในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌาน ดังนั้น โทมนัสนั้นจึงยังบังเกิดขึ้นได้ในขณะอุปจาระแห่งทุติยฌานนั้น แต่ในขณะทุติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะละปัจจัยคือวิตกและวิจารเสียแล้ว

🔅 ละสุขได้สนิทที่ตติยฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้สุขที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งตติยฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แก่ฌานลาภิบุคคล ผู้มีกายอันรูปประณีตซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐานแผ่ซ่านไป แต่ในขณะตติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะในขณะตติยฌานนั้นปีติอันเป็นปัจจัยแก่สุขได้ดับไปแล้วโดยสิ้นเชิง

🔅 ละโสมนัสได้สนิทที่จตุตถฌาน
อีกประการหนึ่ง แม้โสมนัสที่ละได้แล้วในขณะอุปจาระแห่งจตุตถฌานนั้น ยังจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้อย่างหนึ่ง เพราะยังไม่บรรลุถึง อัปปนาฌานอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่มีอุเบกขาอย่างหนึ่ง เพราะยังไม่ผ่านไปโดยชอบอย่างหนึ่งแต่ในขณะจตุตถฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด

แหละเพราะเหตุดังพรรณนามานี้นั่นแหละ ศัพท์ว่า อปริเสสํ ที่แปลว่า ไม่มีเหลือ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ในฌานนั้น ๆ ว่า เอตถุปฺปนนํ ทุกขินฺทริยํ อปริเสสํ นิรุชฺณติ ความว่า ทุกอินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปอย่างไม่มีเหลือ ณ ที่ฌานนั้น ฉะนี้

🔅 เหตุที่ทรงแสดงเวทนา ๔ ในจตุตถฌาน
หากจะมีผู้กล่าวติงในอธิการว่า ก็แหละ แม้เวทนาเหล่านี้เป็นอันละได้แล้วในอุปจาระแห่งฌานนั้น ๆ อย่างนี้ เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงทรงยกมาไว้ในจตุตถฌานนี่อีกเล่า ? ข้าพเจ้าขอแถลงแก้ว่า การที่พระพุทธองค์ทรงยกเวทนาเหล่านี้มาแสดงในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะให้ถือเอาใจความได้ง่าย อธิบายว่า อทุกขมสุขเวทนานี้ใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ว่า อทุกขมสุขํม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ อทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นสภาพละเอียดเข้าใจได้ยาก ใคร ๆ ก็ไม่อาจที่จะถือเอาความหมายได้โดยสะดวก เพราะเหตุนั้น เพื่อให้ถือเอาความหมายได้โดยสะดวก พระผู้มีพระภาคได้ทรงสงเคราะห์เอาเวทนาทั้งหมดมาไว้ในจตุตถฌาน นี้แหละ ครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านี้รวมไว้อย่างนี้แล้ว ย่อมทรงสามารถที่จะให้ใคร ๆ จับเอาอทุกขมสุขเวทนานี้ได้ว่า ธรรมชาติใดที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่โสมนัสไม่ใช่โทมนัส ธรรมชาตินี้คือ อทุกขมสุขเวทนา ดังนี้ เช่นเดียวกับโคดุร้ายที่ใคร ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไปคล้องเอามันได้ด้วยวิธีใด ๆ เพื่อที่จะให้คล้องเอาได้โดยสะดวก เจ้าของโคจึงต้อนโคทั้งหมดเข้ามาไว้ในคอกเดียวกัน ทีนั้นจึงไล่ให้ออกไปทีละตัวแล้วสั่งให้คล้องเอาโคตัวนั้นซึ่งออกมาตามลำดับว่า นี้แหละโคตัวนั้น ช่วยคล้องให้ที ฉะนี้

🔅 เวทนา ๔ เป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ
อีกอย่างหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่า แม้เวทนา ๔ เหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อจะทรงชี้ถึงปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุติ จริงอยู่ปฐมฌานอันเป็นเครื่องละซึ่งทุกข์เป็นต้น จัดเป็นปัจจัยของอทุกขมสุขเจโตวิมุตินั้น สมดังที่พระธัมมทินนาเถรี แสดงไว้ว่า อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคืออทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่างแล อาวุโส ภิกษุในศาสนานี้ บรรลุแล้วซึ่งจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขและละทุกข์แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปแล้วแต่ในเบื้องต้นแล อันมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อาวุโส ปัจจัยของสมาบัติคือ อทุกขมสุขเจโตวิมุติ มี ๔ อย่าง เหล่านี้แล

🔅 จตุตถฌานเหมือนตติยมรรค
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบแม้อย่างนี้ว่า สังโยชน์ ๑๐ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ถึงจะละได้มาแล้วแต่ในมรรคอื่น ๆ แต่ก็ทรงแสดงไว้ว่าละได้ในตติยมรรค (อนาคามิมรรค) นั้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะสรรเสริญคุณแห่งตติยมรรค ฉันใด เวทนา ๔ เหล่านี้ ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้อีก ก็เพื่อที่จะทรงสรรเสริญคุณแห่งฌานนี้ ฉันนั้น

🔅 ราคะโทสะอยู่ไกลจตุตถฌานมาก
อีกประการหนึ่ง นักศึกษาพึงทราบดังนี้ว่า เวทนา ๔ เหล่านี้ที่ทรงแสดงไว้ในจตุตถฌานนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงราคะและโทสะเป็นสภาพที่อยู่ห่างไกลมาก เพราะได้ทำลายสิ่งที่เป็นปัจจัยมาแล้ว จริงทีเดียว ในบรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โสมนัสเวทนา โสมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่ราคะ ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทมนัสเวทนา โทมนัสเวทนาเป็นปัจจัยแก่โทสะ และราคะโทสะพร้อมทั้งปัจจัย ชื่อว่าอันจตุตถฌานนี้กำจัดไปแล้วด้วยเหตุที่ได้ทำลายสุขเวทนาเป็นต้นมาแล้ว ดังนั้นราคะและโทสะจึงชื่อว่า มีอยู่ในที่ห่างไกลมาก ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
คำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น มีอรรถาธิบายว่า ที่ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะเหตุที่ทุกข์ไม่มี ที่ชื่อว่า ไม่มีสุข เพราะเหตุที่สุขไม่มี ด้วยคำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนี้ ท่านแสดงถึงเวทนาที่ ๓ (คืออุเปกขาเวทนา) อันเป็นปฏิปักษ์แก่ทุกขเวทนาและสุขเวทนาในจตุตถฌานนี้ ไม่ใช่แต่เพียงแสดงความไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเท่านั้น และ อทุกขมสุขเวทนาชื่อว่าเวทนาที่ ๓ เรียกว่าอุเปกขาเวทนาก็ได้ นักศึกษาพึงทราบว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น มีอันเสวยอารมณ์ที่ผิดจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลาง ๆ เป็นรส มีความปรากฏชัดเป็นอาการปรากฏ มีความดับไปแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นปทัฏฐาน ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบาย มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
คำว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นั้นหมายความว่า ความบริสุทธิ์แห่งสติอันอุเบกขาให้เกิดแล้ว อธิบายว่า สติในฌานนี้เป็นสภาพบริสุทธิ์มาก และความบริสุทธิ์ใดแห่งสตินั้นความบริสุทธิ์นั้นอันอุเบกขาปรุงแต่งให้มิใช่สิ่งอื่นปรุงแต่งให้เพราะฉะนั้น ฌานนี้พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ว่า สตินี้เป็นสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์และผุดผ่องเพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

🔅 อุเบกขาคือตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ก็แหละ ความบริสุทธิ์แห่งสติในจตุตถฌานนี้ ย่อมสำเร็จเพราะอุเบกขาอันใด อุเบกขานั้น นักศึกษาพึงทราบว่า โดยใจความก็ได้แก่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก และไม่ใช่แต่สติเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น แม้สัมปยุตธรรมทั้งสิ้นก็เป็นสภาพบริสุทธิ์โดยแท้แล แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้ด้วย ทรงยกสติเป็นประธาน

🔅 อุเบกขาเวทนาเหมือนราตรี
ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเหมือนดวงจันทร์ แม้ว่า ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ จะมีอยู่ในฌานทั้ง ๒ ข้างต้นนั้นก็ตาม แต่ก็เปรียบเหมือนดวงจันทร์ในเวลากลางวัน จะมีอยู่ก็ไม่สว่างไม่ขาวนวล ทั้งนี้ เพราะแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีอันมีส่วนเข้ากันได้ โดยเป็นที่ส่องแสงหรือโดยเป็นอุปการะแก่ตน ฉันใด แม้ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีอยู่ในประเภทแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ทั้งนี้ เพราะเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกันไว้ และเพราะไม่ได้ราตรี คืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ อนึ่ง เมื่อตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นยังไม่บริสุทธิ์ แม้สหชาตธรรมทั้งหลาย (ธรรมที่เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน) เช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่ไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เหมือนแสงจันทร์ที่ไม่ขาวนวลในเวลากลางวัน เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ในบรรดาฌานทั้ง ๓ นั้น แม้เพียงฌานเดียว พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงแสดงว่ามีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ส่วนในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะไม่มีเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นข่มกัน และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันมีส่วนเข้ากันได้ และเพราะเหตุที่ตัตรมัชฌัตตุเบกขาเป็นสภาพบริสุทธิ์แล้วนั้น แม้สหชาตธรรมทั้งหลายเช่นสติเป็นต้น ก็พลอยเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เช่นเดียวกับแสงจันทร์อันสว่างขาวนวล ฉะนั้น เพราะเหตุดังพรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบว่า จตุตถฌานนี้เท่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฉะนี้

 อธิบาย จตุตถฌาน

ที่แปลว่าที่ ๔ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ฌานที่เรียกว่าที่ ๔เพราะเป็นลำดับของการคำนวณ หรือฌานนี้ที่จัดเป็นที่ ๔ เพราะเหตุที่โยคีบุคคลย่อมเข้าเป็นอันดับที่ ๔ ดังนี้ก็ได้

🔅 จตุตถฌานละองค์ ๑
ก็แหละ ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ละองค์ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ใน ๒ ข้อนั้น ข้อว่า จตุตถฌานละองค์ ๑ นั้น นักศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจที่ละซึ่งโสมนัสเวทนา และโสมนัสเวทนานั้นละมาได้แต่ในชวนจิตดวงต้น ๆ ในวิถีเดียวกันนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น โสมนัสเวทนานั้น จึงเรียกว่าเป็นองค์สำหรับละของจตุตถฌานนี้

🔅 จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒
ส่วนข้อที่ว่า จตุตถฌานประกอบด้วยองค์ ๒ นั้น นักศึกษาพึงทราบ ด้วยอำนาจความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ อุเบกขาเวทนา ๑ จิตเตกัคคตา ๑ คำที่เหลือมีนัยดังที่แสดงมาแล้วในปฐมฌานนั่นแล ตามที่พรรณนามานี้เป็นแนวในฌาน ๔ ประเภท ที่บังเกิดด้วยอำนาจแห่งฌานที่เป็นจตุกกนัย เป็นประเภทแรก

🔅 อธิบาย ฌานปัญจกนัย
ส่วนโยคืบุคคลผู้จะเจริญฌานปัญจกนัยให้บังเกิดขึ้นนั้นออกจากปฐมฌานที่คล่องแคล่วแล้ว พิจารณาเห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิตกเป็นสภาพที่หยาบฉะนี้แล้ว จึงมนสิการถึงทุติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในปฐมฌานแล้ว จึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป

🔅 บรรลุทุติยฌาน
ก็แหละ กาลใด เมื่อโยคืบุคคลออกจากปฐมฌานแล้วมีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิตกอย่างเดียวก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบ องค์ฌานอื่น ๆ มีวิจารเป็นต้น คงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดกาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแลอย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน ดังนี้ เพื่อจะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ละเอียดอยู่นั้น ทุติยฌานก็จะบังเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของทุติยฌานนั้นมีวิตกอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๔ มีวิจารเป็นต้น คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั้นเที่ยว

🔅 บรรลุตติยฌาน
ก็แหละ เมื่อได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นอย่างนี้แล้ว โยคีบุคคลนั้นถึงทำให้วสีสามารถดีแล้วด้วยอาการ ๕ อย่างโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล ออกจากทุติยฌานที่คล่องแคล่วแล้วพิจารณาเห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า สมาบัตินี้ยังใกล้ต่อวิตกอันเป็นข้าศึกอยู่ และว่าสมาบัตินี้มีองค์อันทุรพล เพราะวิจารเป็นสภาพที่หยาบ ครั้นแล้ว มนสิการถึงตติยฌานโดยเป็นสภาพที่ละเอียด คลายความยินดีในทุติยฌานแล้วจึงลงมือทำความเพียรเพื่อบรรลุตติยฌานต่อไป

แหละกาลใด เมื่อโยคีบุคคลออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาองค์ฌานอยู่นั้น องค์ฌานเพียงแต่วิจารก็จะปรากฏโดยเป็นสภาพที่หยาบขึ้น องค์ฌานอื่น ๆ มีปีติเป็นต้นคงปรากฏโดยเป็นสภาพที่ละเอียดอยู่ กาลนั้น ขณะที่โยคีบุคคลมนสิการถึงปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล อย่างแล้ว ๆ เล่า ๆ ว่า ปฐวี-ปฐวี หรือ ดิน-ดิน ฉะนี้ เพื่อที่จะละองค์ที่หยาบและให้ได้มาซึ่งองค์ที่ละเอียดอยู่นั้น ตติยฌานก็จะเกิดขึ้นโดยนัยที่ได้แสดงมาแล้วนั่นแล องค์สำหรับละของตติยฌานนั้นมีแต่วิจารอย่างเดียว ส่วนองค์ประกอบมี ๒ มีปีติเป็นต้น เหมือนกับในทุติยฌานโดยจตุกกนัย คำที่เหลือเหมือนดังที่แสดงมาแล้วทุกประการนั่นเที่ยว

สรุปฌานปัญจกนัย
ด้วยประการฉะนี้ ทุติยฌานใดในฌานจตุกกนัยนั้น ในฌานปัญจกนัยนี้ทุติยฌานนั้นแยกออกเป็น ๒ ฌาน คือ เป็นทุติยฌานและตติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน ในฌานจตุกกนัยนั้นแยกเป็นจตุตถฌานและปัญจมฌานในฌานปัญจกนัยนี้ ส่วนปฐมฌานคงเป็นปฐมฌานตามเดิม ฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๔ ชื่อว่า ปฐวีกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้น เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น