วันอังคาร

อธิบายปฐมฌานปฐวีกสิณ

อธิบายปฐมฌานปฐวีกสิณ

บัดนี้ จะอรรถาธิบายในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ปฐมฌานปฐวีกสิณย่อมเป็นอันโยคืบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ต่อไปที่ชื่อว่า ปฐม ซึ่งแปลว่า ที่หนึ่ง เพราะเป็นลำดับแห่งการคำนวณ ที่ชื่อว่าปฐม เพราะว่า เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนี้ก็ได้ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเพ่งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า ฌาน เพราะเผาธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น แหละมณฑลแห่งดินคือวงกลมแห่งดิน เรียกว่า ปฐวีกสิณ ด้วยความหมายว่าดินทั้งสิ้น นิมิต ที่ได้เพราะอาศัยปฐวีกสิณนั้นก็ชื่อว่า ปฐวีกสิณ ฌานที่ได้นิมิตปฐวีกสิณ ก็เรียกว่า ปฐวีกสิณ ใน ๒ อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ฌานปฐวีกสิณประสงค์เอาในอรรถาธิบายนี้ (มิใช่นิมิตปฐวีกสิณ) ข้าพเจ้าหมายเอาฌานปฐวีกสิณนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ปฐมฌานปฐวีกสิณย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้วด้วยประการฉะนี้

🔅 ต้องจำอาการที่บรรลุฌานไว้ให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่อได้บรรลุปฐมฌานอย่างนี้แล้ว อันโยคีบุคคลนั้นจึงกำหนดสังเกตอาการทั้งหลายขณะที่ได้บรรลุไว้ให้แม่นยำ เหมือนนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัวเปรียบเหมือนนายขมังธนูยิงขนทราย อธิบายว่า เหมือนนายขมังธนูผู้ชาญฉลาด ประกอบกรรมในการยิงขนทราย เมื่อยิงถูกขนทรายในวาระใดเขาจะพึงกำหนดสังเกตอาการที่ยันเท้า อาการแห่งคันธนู อาการแห่งสายธนู และอาการแห่งลูกธนู ในวาระนั้นไว้อย่างแม่นยำว่า เรายืนท่านี้ จับคันธนูท่านี้ ขึ้นสายธนูอย่างนี้ วางลูกธนูอย่างนี้ แล้วจึงยิงขนทราย จำเดิมแต่นั้น เขายังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยประการนั้นนั่นแหละ ย่อมยิงถูกขนทรายอย่างไม่ผิดพลาดเลยฉันใด แม้อันโยคีบุคคลนี้ ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือ เธอพึงกำหนดสังเกตกิริยาอาการทั้งหลายมีอาการอันเป็นที่สบายเป็นต้นเหล่านี้ว่าเราบริโภคอาหารชนิดนี้ คบหาสมาคมบุคคลเห็นปานนี้ จึงได้บรรลุปฐมฌานนี้ ในเสนาสนะชนิดนี้ ด้วยอิริยาบถอย่างนี้ ในเวลาเช่นนี้ ครั้นสังเกตจดจำอาการไว้ได้อย่างนี้แล้ว แม้เมื่อสมาธิขั้นอ่อน ๆ นั้น เสื่อมหายไป โยคีบุคคลนั้น จักสามารถเพื่อที่จะทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมแล้วทำสมาธินั้นให้กลับเกิดขึ้นอีกได้ หรือจักสามารถเพื่อที่จะทำสมาธิที่ยังไม่คล่องแคล่วให้คล่องแคล่วกลับเป็นอัปปนาสมาธิบ่อย ๆ โดยไม่ลำบากเลย

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนพ่อครัวทำการเลี้ยงอาหารเจ้านาย คอยสังเกตอาการนั้น ๆ ที่เจ้านายชอบบริโภคไว้เป็นอย่างดี แต่นั้น ก็พยายามเตรียมจัดเฉพาะแต่สิ่งที่เจ้านายชอบใจเท่านั้นเข้าไปให้ เขาย่อมจะเป็นผู้มีส่วนได้รับรางวัล ฉันใด แม้โยคีบุคคลนี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คอยกำหนดจับเอาอาการทั้งหลายมีอาการอันเป็นที่สบายเป็นต้นในขณะที่บรรลุปฐมฌาน แล้วยังอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ ไม่ให้เลอะเลือน เมื่อสมาธินั้นเสื่อมหายไป ก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิกลับคืนมาเสมอ ๆ เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลนั้น จึงจำต้องคอยสังเกตจำอาการทั้งหลาย ในขณะที่ได้บรรลุปฐมฌานไว้ เหมือนดังนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายและเหมือนดังพ่อครัว ข้อนี้สมจริงดังพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ซึ่งมีความว่า :-

พระบาลีรับสมอ้างข้ออุปมา
"ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาด ทำการต้อนรับพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยอาหารทั้งหลายนานาชนิด คืออาหารที่มีรสเปรี้ยวบ้าง มีรสขมบ้าง มีรสเผ็ดบ้าง มีรสหวานบ้าง มีรสกร่อยบ้าง มีรสไม่กร่อยบ้าง มีรสเค็มบ้าง มีรสจืดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล เขาย่อมคอยจับดูอาการของเจ้านายของตนว่า วันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารชนิดนี้ หรือเจ้านายของเราเอื้อมมือเอาอาหารอย่างนี้หรือเจ้านายของเราหยิบอาหารชนิดนี้มาก หรือเจ้านายของเราพูดชมคุณอาหารอย่างนี้ หรือว่าวันนี้เจ้านายของเราชอบอาหารมีรสเปรี้ยว หรือเอื้อมมือเอาแต่อาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือชอบหยิบเอาอาหารมีรสเปรี้ยวเป็นส่วนมากหรือพูดชมคุณอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือว่า... พูดชมคุณอาหารที่มีรสจืด

ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแลเขาย่อมได้เครื่องนุ่งห่มด้วย ได้เครื่องบำเหน็จรางวัลด้วย ได้เครื่องบรรณาการด้วยข้อนั้น เพราะมีอะไรเป็นเหตุ ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า พ่อครัวผู้ชำนาญในการทำครัว มีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น เขาคอยจับตาดูอาการของเจ้านายของเขาด้วยประการดังกล่าวแล้ว ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดบางรูปในศาสนานี้ นี้ก็ฉันเดียวกันนั่นแล คือเธอย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชฌา ความดีใจ และโทมนัส ความเสียใจในโลกออกเสียได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมเป็นสมาธิ อุปกิเลสทั้งหลายย่อมหายไป เขาย่อมจ้องจับเอานิมิตนั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้นแล ย่อมไต้การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมได้สติและสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะมีอะไร เป็นเหตุเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุผู้ชำนาญมีปรีชาญาณชาญฉลาดนั้น คอยจ้องจับเอานิมิตแห่งจิตของตนได้เป็นเหตุโดยแท้ พึงรักษาฌานให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ"

แหละเมื่อโยคีบุคคล ทำอาการทั้งหลายให้ถึงพร้อมอยู่ด้วยการคอยจ้องจับเอานิมิตนั้น อัปปนาสมาธิเพียงสำเร็จคืนมาได้อีกเท่านั้น แต่หาได้สำเร็จเป็นการให้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ ไม่ ส่วนที่จะให้อัปปนาสมาธิดำรงอยู่ได้นาน ๆ นั้น ย่อมสำเร็จได้เพราะการชำระล้างธรรมทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดี


🔅 เหตุอยู่ในสมาบัติไม่ได้นาน

จริงอยู่ ภิกษุใดไม่ได้ข่มกามฉันทนิวรณ์ไว้เป็นอย่างดีด้วยอุบายวิธีมีการพิจารณาเห็นโทษของกามเป็นต้น ไม่ได้ทำความกระวนกระวายทางกายให้สงบลงด้วยดี ด้วยอำนาจทำกายให้สงบ ไม่ได้บรรเทาถีนมิทธนิวรณ์ด้วยดี ด้วยอำนาจมนสิการถึงอารัมภธาตุ คือการปรารภความเพียรเป็นต้น ไม่ได้ถอดถอนออกด้วยดี ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ด้วยอำนาจมนสิการถึงสมถนิมิตเป็นต้น แม้ธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิอย่างอื่น ๆ ก็ไม่ได้ชำระล้างให้สะอาดด้วยดีแล้วเข้าสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะออกจากฌานสมาบัติเสียโดยเร็วพลันนั่นเทียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัย ซึ่งมิได้ชำระให้สะอาด และเหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สกปรก ย่อมไม่สามารถที่จะทรงทนอยู่ได้นาน

🔅 เหตุให้อยู่ในสมาบัติได้นาน

ส่วนภิกษุใด ชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิให้สะอาดด้วยดีเสียก่อนแล้วจึงเข้าสู่ฌานสมาบัติ ภิกษุนั้นย่อมจะอยู่ได้ภายในแห่งสมาบัตินั่นแล แม้ตลอดกาลอันเป็นส่วนแห่งวันทั้งสิ้นทีเดียว เหมือนแมลงภู่ที่เข้าไปยังโพรงที่อยู่อาศัยซึ่งได้ชำระให้สะอาดแล้วเป็นอย่างดี และเหมือนพระราชาเสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดเป็นอย่างดี ฉะนั้นด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงได้ประพันธ์สุภาษิตไว้ ซึ่งมีความว่าโยคีบุคคล จึงกำจัดปัดเป่าเสียซึ่งความพอใจในกามทั้งหลาย ๑ ความเคียดแค้น ๑ ความฟุ้งซ่าน ๑ ความเซื่องซึม ๑ และความสงสัย ๑ แล้วพึงมีใจปราโมชซึ่งเกิดแต่ความสงัดจากนิวรณกิเลส อภิรมย์ชมชื่นอยู่ในฌานนั้น เหมือนพระราชาที่เสด็จเข้าไปสู่พระราชอุทยานที่สะอาดตลอดสุดบริเวณ ย่อมทรงอภิรมย์ชมชื่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้น เพราะเหตุฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่จะให้ฌานนั้นดำรงอยู่ได้นาน ๆ ก็จงชำระธรรมทั้งหลายอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นให้สะอาด แล้วจึงเข้าสู่ฌานสมาบัตินั้นเถิด

🔅 การขยายปฏิภาคนิมิต 

อีกประการหนึ่ง โยคีบุคคลผู้ฌานลาภีนั้น จึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความเจริญไพบูลย์แห่งสมาธิภาวนา ภูมิที่จะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นมี ๒ ภูมิ ได้แก่อุปจารภูมิ หรือ อัปปนาภูมิ กล่าวคือ โยคีบุคคลบรรลุถึงอุปจารภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้บรรลุถึงอัปปนาภูมิแล้วขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว จะพึงขยายได้ในฐานะอันเดียว ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า จึงขยายปฏิภาคนิมิตตามที่ได้มาแล้ว ฉะนี้

🔅 วิธีขยายปฏิภาคนิมิต

แนวทางแห่งการขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ดังต่อไปนี้ อันโยคีบุคคลอย่าได้ขยายปฏิภาคนิมิตนั้น ด้วยวิธีที่ขยายของบาตร วิธีขยายของขนม วิธีขยายของข้าวสุก วิธีขยายของเถาวัลย์ และวิธีขยายของผ้า พึงกะกำหนดประมาณแห่งนิมิตตามที่ได้มานั้นด้วยใจไว้ก่อนว่า ประมาณ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ๓ นิ้ว ๔ นิ้วโดยลำดับ แล้วจึงขยายไปเท่าที่กะกำหนดไว้เหมือนอย่างชาวนากะกำหนดสถานที่ซึ่งจะไถไว้ด้วยไถก่อน แล้วจึงไถเนื้อที่ภายในที่กำหนดไว้ แหละอีกประการหนึ่ง เหมือนภิกษุสงฆ์จะผูกสีมา กำหนดนิมิตทั้งหลายไว้ก่อนแล้วจึงผูกภายหลัง ฉะนั้น เมื่อไม่ได้กะกำหนดเสียก่อนแล้วอย่าเพิ่งขยาย ครั้นกะกำหนดขยายไปได้ขนาด ๔ นิ้วแล้ว แต่นั้นจึงขยายออกไปด้วยกำหนดเอาชั่วคืบหนึ่ง ศอกหนึ่ง ชั่วหน้ามุขหนึ่ง บริเวณหนึ่ง ชั่ววัดหนึ่ง หรือชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง ชั่วตำบลหนึ่ง ชั่วอำเภอหนึ่ง ชั่วจังหวัดหนึ่ง ชั่วประเทศหนึ่ง และชั่วมหาสมุทรหนึ่ง หรือพึงกำหนดขยายเขตออกไปชั่วจักรวาลหนึ่ง หรือแม้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ได้

เปรียบเหมือนลูกนกหงส์
เหมือนอย่างลูกนกหงส์ประเภทที่มีกำลังเร็ว นับแต่เวลาที่ขนปีกทั้งหลายงอกขึ้นเต็มที่แล้ว มันฝึกบินโฉบขึ้นไปคราวละเล็กละน้อยก่อน ครั้นฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วย่อมบินไปถึงที่ใกล้โลกพระจันทร์โลกพระอาทิตย์ก็ได้โดยลำดับ ฉันใด ภิกษุผู้ฌานลาภีก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือ เมื่อกำหนดขยายนิมิตออกไปโดยนัยที่กล่าวแล้วย่อมขยายออกไปจนถึงจักรวาลหนึ่งเป็นกำหนด หรือแม้ขยายให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไป
กว่านั้นก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิภาคนิมิตนั้นย่อมจะปรากฏแก่เธอในที่ขยายไปแล้วนั้น ๆ เหมือนหนังโคตัวผู้ที่ถูกเกี่ยวไว้ด้วยขอตั้งร้อยอัน ณ ตรงที่ดอนที่ลุ่มแห่งแผ่นดินตรงที่คดโค้งแห่งแม่น้ำ และตรงที่ลดหลั่นแห่งภูเขา

🔅 ต้องทำให้ชำนาญด้วยวสี ๕

ก็แหละโยคีบุคคลผู้แรกทำกัมมัฏฐาน ซึ่งได้บรรลุปฐมฌานในเพราะปฏิภาคนิมิตนั้น ต้องฝึกการเข้าฌานให้มาก ๆ แต่อย่าพิจารณาองค์ฌานให้มาก เพราะเมื่อพิจารณามากองค์ฌานทั้งหลายก็จะปรากฏเป็นสภาวะที่หยาบมีกำลังน้อย และเพราะเหตุปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น องค์ฌานเหล่านั้นก็จะถึงซึ่งความเป็นปัจจัยแก่ความขวนขวายเพื่อภาวนาเบื้องสูงขึ้นไปเสีย เมื่อเธอสาละวนขวนขวายอยู่ในฌานที่ยังไม่คล่องแคล่ว เธอก็จะเสื่อมจากปฐมฌานที่ได้บรรลุแล้วด้วย จะไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานด้วย

พระบาลีรับสมอ้าง
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ว่าเปรียบเหมือนแม่โคโง่ไม่ชำนาญภูเขา
"ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ตัวที่โง่ไม่ชำนาญไม่รู้เขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่เรียบราบ แม่โคนั้น จะพึงคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอเราจะพึงไปทิศที่ยังไม่เคยไป จะพึงได้กัดกินหญ้าที่ยังไม่เคยกัดกิน จะพึงได้ดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่ม ครั้นแล้วมันยังไม่ทันได้เหยียบเท้าหน้าไว้ให้ได้ที่ดีเสียก่อนแล้วยกเท้าหลังขึ้น มันก็จะไม่พึงไปถึงทิศที่ตนไม่เคยไป ไม่พึงได้กัดกินหญ้าที่ตนยังไม่เคยกัดกิน และไม่พึงได้ดื่มน้ำที่ตนยังไม่เคยดื่ม มิหนำซ้ำ มันยังไม่พึงกลับคืนมาโดยสวัสดียังสถานที่เดิมที่มันยืนคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงไปถึงทิศที่ยังไม่เคยไป จะพึงได้กัดกินหญ้าที่ยังไม่เคยกัดกิน จะพึงได้ดื่มน้ำที่ยังไม่เคยดื่มฉะนี้ด้วย ข้อนั้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า แม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขานั้น มันโง่ มันไม่ชำนาญ มันไม่รู้จักเขตที่หากิน มันไม่ฉลาดเพื่อที่จะท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่เรียบราบโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็ฉันเดียวกันนั่นเทียว คือเป็นคนโง่เพราะไม่ได้ร้องเสพสมถนิมิต เป็นคนไม่ชำนาญ เพราะไม่ทำสมาธิให้เจริญขึ้น เป็นคนไม่รู้จักขอบเขต เพราะไม่หมั่นทำให้มาก และเป็นคนไม่ฉลาดเพื่อที่จะบรรลุซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัดอยู่

เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ได้ต้องเสพนิมิตนั้น ไม่ทำนิมิตนั้นให้เจริญขึ้น ไม่ทำให้มาก ๆ เข้า ไม่ทำให้ตั้งอยู่ด้วยดี ถึงเธอจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่งทุติยฌานอันเป็นภายใน ประกอบด้วยความเลื่อมใสแห่งใจ มีภาวะที่ให้ธรรมอันประเสริฐเกิดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไปแล้ว มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งทุติยฌาน นั้นได้

ถึงเธอจะมีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่าทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่ความสงัดอยู่ เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแล้วแน่นอนจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เธอก็ไม่สามารถเพื่อที่จะบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน ... นั้นได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้พลัดตกเสียแล้วจากฌานทั้ง ๒ เป็นผู้เสื่อมสูญแล้วจากฌานทั้ง ๒ เปรียบเหมือนแม่โคที่ชอบเที่ยวไปตามภูเขา ซึ่งเป็นสัตว์โง่ไม่ชำนาญ ไม่รู้จักขอบเขตที่หากิน ไม่ฉลาดเพื่อท่องเที่ยวไปตามภูเขาอันไม่
เรียบราบนั้นๆ"

เพราะเหตุฉะนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจำต้องเป็นผู้สั่งสมวสีคือความสามารถด้วยอาการ ๕ อย่าง ในปฐมฌานนั้นนั่นเทียวเสียก่อน

วสี ๕ อย่าง
ในการสั่งสมวสีนั้น วสีมี ๕ อย่างดังนี้คือ :-
๑. อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยมโนทวาราวัชชนจิต
๒. สมาชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน
๓. อธิฏฐานวสี ความสามารถในการเข้าฌานดำรงอยู่ตามกำหนด
๔. วุฏฐานวสี ความสามารถในการออกจากฌานตามกำหนด
๕. ปัจจเวกขณวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิต

ฌานลาภิบุคคล ย่อมสามารถพิจารณาปฐมฌาน ตามที่ตนปรารถนาตลอดเวลาที่ต้องการ และในการพิจารณานั้นไม่มีความชักช้าเฉื่อยชา ดังนั้น จึงเรียกว่า อาวัชชนวสี ความสามารถในการพิจารณาองค์ฌาน ฌานลาภีบุคคลย่อมสามารถเข้าปฐมฌานได้ตามที่ตนปรารถนาทุกครั้งตลอดเวลาที่ต้องการ และในการเข้านั้นก็ไม่มีความชักช้าเฉื่อยชา ดังนั้น จึงชื่อว่า สมาปัชชนวสี ความสามารถในการเข้าฌาน แม้ วสี ๓ ที่เหลือ นักศึกษาก็พึงขยายความให้พิสดารโดยทำนองเดียวกันนี้

อรรถาธิบายวสี ๕ อย่าง
ก็แหละ ในวสี ๕ อย่างนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้:
๑. อธิบาย อาวัชชนวสี ขณะเมื่อฌานลาภีบุคคลออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาถึงองค์ฌาน คือวิตกนั้น ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีวิตกเป็นอารมณ์นั่นแลย่อมแล่นไป บางบุคคลที่ ๔ ขณะ บางบุคคลที่ ๕ ขณะ ต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ตัดภวังค์เกิดขึ้นนั้น ถัดนั้นภวังคจิต ก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากภวังคจิตนั้น มโนทวาราวัชชนจิตมีวิจารเป็นอารมณ์ก็เกิดขึ้นต่อไปอีก ชวนจิตทั้งหลายซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ก็เกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนะนั้น กาลใด ที่ฌานลาภีบุคคลสามารถส่งจิตไปพิจารณาในองค์ฌานทั้ง ๕ ติดต่อกันดังกล่าวมานี้ กาลนั้นชื่อว่า อาวัชชนวสี ย่อมสำเร็จแก่เธอ แหละอาวัชชนวสีที่กล่าวมานี้ ที่จัดเป็นวสีชั้นสูงถึงขั้นสุดยอด ย่อมมีได้แต่ในขณะที่พระผู้มีภาคทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ หรือในขณะที่เป็นที่บังเกิดขึ้นแห่ง อาวัชชนวสีอย่างฉับพลันของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะเป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว อาวัชชนวสีที่รวดเร็วฉับพลันเช่นนี้หามีไม่

๒. อธิบาย สมาปัชชนวสี แหละความสามารถในการเข้าฌานได้อย่างฉับพลัน เหมือนในการที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะทรมานพญานันโทปนันทนาคราช ชื่อว่า สมาชชนวสี

๓. อธิบาย อธิฏฐานวสี ความสามารถเพื่อที่จะทำให้ฌานดำรงอยู่ได้ ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่งหรือชั่วขณะประมาณ ๑๐ ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า อธิฏฐานวสี

๔. อธิบาย วุฏฐานวสี
ความสามารถเพื่อที่จะออกจากฌานได้อย่างฉับพลัน ชั่วขณะประมาณลัดนิ้วมือหนึ่ง หรือชั่วขณะประมาณ ๑๐ ลัดนิ้วมือก็ดี ชื่อว่า วุฏฐานวสี การข่มภวังคจิตไว้ไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ฌานดำรงเป็นไปตามเวลาที่ต้องการเหมือนสะพานกั้นกระแสน้ำไม่ให้ไหลไปเร็ว ชื่อว่า อธิฏฐาน เมื่อภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วก็ชื่อว่า วุฏฐาน คือการออกจากฌาน ความสามารถในอันให้ฌานดำรงอยู่ได้ คือ ไม่ให้ภวังคจิตเกิดด้วยอำนาจแห่งการบริกรรมเบื้องต้นว่า จักให้ฌานดำรงอยู่ชั่วขณะประมาณเท่านั้นเท่านี้ ชื่อว่า อธิฏฐานวสี ฉันใด ความสามารถในอันออกจากฌานด้วย อำนาจบริกรรมเบื้องต้นว่า เราอยู่ในฌานจักออกจากฌานชั่วขณะประมาณเท่านั้น นักศึกษาพึงทราบว่าเป็นวุฏฐานวสี ฉันนั้น เพื่อที่จะแสดงวสีทั้ง ๒ คืออธิฏฐานวสีกับวุฏฐานวสีให้แจ่มแจ้ง ควรนำเรื่องพระพุทธรักขิตเถระมาเล่าประกอบด้วย ดังต่อไปนี้ ได้ยินมาว่า ท่านพุทธรักขิตเถระนั้น จำเดิมแต่อุปสมบทมาได้ ๔ พรรษาขณะที่ท่านนั่งอยู่ ณ ท่ามกลางพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ทั้งหลายประมาณ ๓,๐๐๐ องค์ ซึ่งพากันมายังที่เยี่ยมไข้ของพระมหาโรหณคุตตเถระที่เถรัมพัดถลวิหาร ท่านได้เหลียวเห็นพญาครุฑกำลังโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยหมายว่าจักเฉียวเอาพญานาคผู้อุปัฏฐาก ซึ่งกำลังถวายข้าวต้มแก่พระเถระอยู่ ท่านจึงนิรมิตภูเขาขึ้นในทันใดนั้นแล้วฉวยเอาพญานาคมาไว้ในหว่างแขนแล้วใส่เข้าไปในหลืบภูเขาที่ท่านนิรมิตขึ้นนั้น ฝ่ายพญาครุฑกระทบเข้ากับภูเขาเข้าปังใหญ่แล้วก็บินหนีไป” พระมหาโรหณคุตตเถระจึงได้พูดสรรเสริญว่า “อาวุโสทั้งหลาย ถ้ามิได้มีพระภิกษุพุทธรักขิตะแล้ว เราทั้งหมดนั้นก็จักถูกครหาว่า “ผู้มีฤทธิ์มากมายถึงเพียงนี้ ไม่สามารถรักษาอุปัฏฐากเพียงคนเดียวให้รอดพ้นจากครุฑได้ ฉะนี้”

๕. อธิบาย ปัจจเวกขณวสี
ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงไว้แล้วในอาวัชชนวสีนั้นแล้ว เพราะปัจจเวกขณชวนะ ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นติดต่อมโนทวาราวัชชนะในวิถีจิตเดียวกันนั้น กล่าวคือ ชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะเหล่าใดซึ่งเกิดขึ้นต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานมีวิตกเป็นต้นไปตามลำดับโดยความเป็นอาวัชชนวสี ชวนจิตเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่พิจารณาองค์ฌานเหล่านั้น โดยความเป็น ปัจจเวกขณวสีด้วย นักศึกษาพึงทราบว่าความสำเร็จเป็นอาวัชชนวสีด้วยอารมณ์ใด ความสำเร็จเป็นปัจจเวกขณวสีก็ด้วยอารมณ์นั้น ด้วยประการฉะนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น