วันจันทร์

การฝึกสมาธิเบื้องต้นเพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน

ในยุคสมัยที่มีสิ่งเสพบริโภคให้แสวงหาความสุขกันอย่างพรั่งพร้อม และผู้คนก็ติดในสุขจากการเสพบริโภคกันมากอย่างที่บางครั้งเรียกว่าเป็นยุค “สุขนิยม” เมื่อผู้คนสนใจในความสุขกันมากดังนี้แล้ว ก็อาจเป็นการดีที่จะยกเอาประโยชน์ด้านความสุขนี่แหละขึ้นมาตั้งพิจารณาให้เห็นประจักษ์ สุขจากการเสพบริโภค กับสุขจากการเจริญสมาธิ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร

ผู้ปฏิบัติเมื่อก้าวหน้าไปตามลำดับ แม้ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นได้ด้วยตนเอง โดยในที่นี้จะใช้การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีที่ในพระไตรปิฎกปรากฎว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง (การฝึกสมาธิ รวมถึงสติ ในรูปแบบอื่นๆ ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้วล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น” (มหาวิภังค์)

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

อย่างไรก็ตาม ต้องขอออกตัวไว้แต่ต้นว่า ผู้เขียนไม่เคยได้สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิเลย แต่ในอานาปานสติ และกสิณบางอย่าง เมื่อไม่มีปัญหาสุขภาพรบกวน สามารถเจริญอุปจารสมาธิขึ้นได้ไม่ยากนัก ความเข้าใจในระดับที่ประจักษ์แจ้งกับตัวนั้น จึงตันอยู่แค่ระดับอุปจารสมาธิ ขั้นที่สูงไปกว่านี้เป็นเพียงการบรรยายไปตามหลักการที่ได้ศึกษามาและตามความเห็นส่วนตัวเท่านั้น


สมาธิ เป็นภาวะที่จิตสรรสร้างขึ้น ความเข้าใจในตัวสภาวะ และวิธีปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีฝึกสมาธิทุกวิธีล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดภาวะที่จิตสามารถแนบสนิทอยู่กับงาน (อารมณ์กรรมฐาน) อย่างเดียวต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีอารมณ์อื่นฟุ้งขึ้นมารบกวนแม้ขณะจิตเดียว ท่านเปรียบเสมือนเปลวไฟที่ใหม้ไส้เทียนไปเรื่อยๆโดยไม่มีการกระเพื่อมไหวเพราะแรงลม เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ก็จะมีกำลังพอที่จะข่มกิเลสให้สงบลงได้ตลอดช่วงระยะเวลานั้น ทางพระอภิธรรมท่านอธิบายว่าในอัปปนาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกมีกำลังแรง ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอดต่อเนื่องไม่ขาดสายไม่ตกภวังค์ นิวรณ์ ๕ จึงไม่มีช่องให้แทรกฟุ้งขึ้นมา (อุปจารสมาธิก็เป็นลักษณะเดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ)

“สมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้ว ชื่อว่าเป็นนิพพานโดยปริยาย” (สันทิฏฐิกสูตร)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการฝึกสมาธิ ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสโดยตรงกับภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิ (วิขัมภนวิมุตติ) เมื่อได้สัมผัสเองแล้ว ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องคาดเดา หรือจินตนาการวาดภาพขึ้นมาลอยๆ ว่าภาวะนั้นจะดีเลิศเพียงใด อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า ภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิดังกล่าวนั้น ท่านหมายถึงสมาธิระดับฌาน ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้กระนั้น ผู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก้าวหน้าเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ก็จะได้สัมผัสกับภาวะที่สุขสงบประณีตในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยกำลังของอุปจารสมาธิหรือแม้แต่ขณิกสมาธิก็เพียงพอที่จะข่มกิเลสลงได้อย่างมีนัยยะให้ตัวผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ ขอให้ลองนึกถึงเวลาที่ฟังเพลง ชมภาพยนตร์ หรือทำงานอดิเรกอะไรก็ตามที่ชอบมากๆ บางครั้งจะมีบางช่วงบางตอนที่ท่านรู้สึกว่ามันสุดแสนจะประทับใจ จนความสนใจทั้งหมดถูกดึงดูดไปที่สิ่งๆนั้นเพียงสิ่งเดียว และได้ดื่มด่ำกับความสุขของช่วงเวลานั้น นั่นคือสิ่งๆนั้นมีอิทธิพลต่อความสนใจอย่างมากจนดึงดูดให้สมาธิเกิดขึ้นมาได้เอง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอจะนึกออกกันหรือเปล่า แบบที่บางคนเวลาฟังเพลงที่เพราะมากๆแล้วรู้สึกขนลุก นั่นเป็นอาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดปีติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) องค์ธรรมเหล่านี้อุปจารสมาธิก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่อ่อนกำลังกว่าและเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ภาวะเช่นนี้ เกิดขึ้นได้เองบางครั้งในชีวิตประจำวัน นี่เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่า ทำไมบางครั้งการฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาเศร้า แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุข สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสิ่งนั้นดึงดูดความสนใจของเราได้มากในระดับที่เริ่มจะเกิดสมาธินั่นเอง (ผู้เขียนเข้าใจว่าสมาธิที่เกิดขึ้นเองนี้จะไม่เกินขณิกสมาธิ คือ อย่างมากได้แค่เฉียดเข้าไปใกล้อุปจารสมาธิเท่านั้น)

ทั้งนี้สมาธิในลักษณะนี้เกิดจากความวิจิตรของสิ่งเสพบริโภคนั้นดึงดูดใจเรา ต่างจากสมาธิจากการปฏิบัติซึ่งเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นเอง กล่าวคือ สุขจากสมาธินั้นเราเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมาได้เอง (นิรามิสสุข) โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งเสพบริโภคจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุข (สามิสสุข) ซึ่งเป็นการแสวงหาความสุขที่มีข้อบกพร่อง มีโทษภัยมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ในที่นี้จะใช้อานาปานสติเป็นหลักในการอธิบาย

“… นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า …”

เฉพาะส่วนที่เป็นสมถภาวนา ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเบื้องต้นเราอาจจับหลักไว้เพียงเท่านี้ เนื้อความต่อจากนี้เป็นการใช้อานาปานสติเป็นฐานของการพิจารณาสังขตธรรม กล่าวคือเป็นส่วนที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนานั่นเอง เช่น ในอานาปานสติสูตร, สติปัฏฐานสูตร, ฯลฯ (พึงทราบว่าโดยมากครูอาจารย์ท่านจัด สติปัฏฐาน ๔ เฉพาะหมวดแรกทั้งหมวด คือ กายานุปัสสนา เป็นสมถะ) นอกจากนี้ผู้สนใจควรศึกษาเพิ่มเติมจากปฏิสัมภิทามรรค อานาปาณกถา, คัมภีร์วิสุทธิมรรค อานาปาณสติกถา การที่คัมภีร์ในชั้นพระไตรปิฏกไม่ค่อยพบเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนาโดยละเอียดนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะสมัยพุทธกาล การฝึกสมาธิเป็นของที่ทำกันได้อยู่แล้ว แม้ในผู้ปฏิบัติภายนอกพุทธศาสนา ไม่เป็นของพิเศษน่าอัศจรรย์อะไร ท่านจึงแสดงวิธีการเจริญสมาธิเพียงเล็กน้อย แล้วแสดงวิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด

ก็แต่ว่าเราๆท่านๆในยุคนี้ห่างเหินจากการเจริญจิตเจริญปัญญากันพอสมควร ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าในที่นี้เราควรจับเอาเฉพาะด้านสมถภาวนาก่อน ให้ได้เห็นผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ปฏิบัติจริงๆ ทีละเรื่องไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อความสำเร็จเฉพาะด้านสมาธิก่อน ยังไม่ขยายผลไปสู่การเจริญปัญญา ขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิมิต (เครื่องหมาย) ที่จะใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในที่นี้คือ ลมหายใจ ในการหายใจเข้า-ออก สิ่งที่ควรทำคือ มีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มความซับซ้อนให้นิมิต โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามปกติ ลมหายใจจะสั้นหรือยาว ลึกหรือตื้น ท้องยุบหรือพอง สัมผัสของลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ควรถือเป็นสำคัญ เพราะบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติตอนนั้น เช่น ตื่นเต้น เหนื่อย หรือง่วง บางอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปฏิบัติแต่ละคน เช่น รูปทรงของจมูก ไปจนถึงท่านั่งที่ถนัด ซึ่งผู้ปฏิบัติแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ตัวการปฏิบัติจริงๆคือมีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลักษณะและสัมผัสของลมหายใจควรปล่อยให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ ขอให้ลองเทียบกับนิมิตของกสิณต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ ตามคัมภีร์ท่านให้ใช้ดินที่เป็นสีเดียวกันล้วน ไม่มีสีอื่นปน ไม่มีก้อนหิน รากหญ้า ฯลฯ แม้กระทั่งเวลาจะทรงจำก็ให้ตั้งห่างจากสายตาพอประมาณเพื่อไม่ให้เห็นรอยฝ่ามือหรือตำหนิอื่นๆในดินนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ใช้เป็นนิมิตสำหรับการจำที่ดีนั้น โดยมากล้วนมีลักษณะเรียบง่าย กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดู 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรค)

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนิมิต คือ ระดับของสมาธิที่ใช้ในการวิปัสสนา ที่ท่านใช้คำว่า วิปัสสนาสมาธินั้น จัดอยู่ในระหว่างขั้น ขนิกสมาธิ ถึง อุปจารสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการวิปัสสนานั้นเป็นลักษณะของการปะติดปะต่อความรู้ และประสบการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เป็นการนำความรู้ด้านปริยัติ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติ เข้ามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือ ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เห็นประจักษ์กับตัว สิ้นสงสัยในเรื่องนั้นๆ ลักษณะที่ต้องปะติดปะต่อเชื่อมโยงกันนี้เอง วิปัสสนาสมาธิจึงไม่สามารถแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิได้ (ยกเว้นผู้ปฏิบัติแนวสมถยานิก) นิมิตของกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ปฏิบัติใช้นิมิตที่มีความซับซ้อนมาก หรือใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนมาก สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย กรรมฐานบางกอง เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ท่านจึงกล่าวว่าให้สมาธิระดับสูงสุดไม่เกินอุปจารสมาธิ ส่วนในเรื่องของการบริกรรมภาวนานั้น ไม่ใช่อารมณ์หลักของกรรมฐาน ผู้เขียนเข้าใจว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านเสริมเข้ามาเพื่อช่วยประคองจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปได้ง่ายในช่วงแรกของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะเลือกใช้คำใดก็ได้ ในที่นี้ใช้คำว่า พุท-โธ พร้อมไปกับการหายใจ เข้า-ออก เมื่อสมาธิเจริญขึ้นเรื่อยๆ ประโยชน์ของการบริกรรมภาวนาก็ลดน้อยลง จะละจากการบริกรรมภาวนาเสีย ให้จิตมีสมาธิอยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าลมหายใจกับการบริกรรมภาวนานั้นกลมกลืนกันไปด้วยดี จะบริกรรมภาวนาไปด้วยตลอดการปฏิบัติก็ได้

ท่านั่งที่เหมาะสมในการปฏิบัติ สมัยพุทธกาลท่านถือตามสำนวน “นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรง” ซึ่งเป็นท่านั่งที่ถือว่าสบายๆ ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับพระภิกษุและชาวบ้านทั่วไปในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีข้าวของเครื่องใช้เหมือนสมัยนี้ ควรดูที่วัตถุประสงค์คือ นั่งให้สบายๆ ถูกสุขลักษณะ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนนั่งในท่าที่รู้สึกปวดเมื่อย ไม่สบาย (แต่ควรนั่งหลังตรง การนั่งหลังงอนอกจากไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว มักจะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย) สมาธิ ท่านตรัสว่า มีสุขเป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ การปฏิบัติด้วยวิธีที่สบายๆ จึงเอื้อต่อการเกิดสมาธิมากกว่าการปฏิบัติที่จะต้องฝืนทน ข่มกาย ข่มใจ มากจนเกินไป ดังพุทธพจน์

“… เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ” (เทวธาวิตักกสูตร)

บางครั้งผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้ปฏิบัติบางท่านเมื่อฝึกสมาธิไปสักระยะหนึ่ง มักเกิดความรับรู้บางอย่างปรากฏขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ อาจเป็นภาพหรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ซึ่งไม่ใช่นิมิตที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน (ในที่นี้คือลมหายใจ) แต่เรียกว่านิมิตเหมือนกันเพราะศัพท์คำว่านิมิตนั้นเป็นคำกลางๆ แปลว่า เครื่องหมาย ผู้ปฏิบัติพึงเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ของตัวเราเองที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา บางท่านเห็นไปในลักษณะที่ชวนให้เกิดศรัทธาปสาทะ เช่น เห็นองค์พระพุทธรูป เห็นแสงสว่างมีรัศมีเรืองรอง เห็นสวรรค์วิมาน ได้กลิ่นหอม เป็นต้น บางท่านเห็นไปในลักษณะที่น่าหวาดกลัว เช่น เห็นซากศพมีกลิ่นเหม็น เห็นโครงกระดูก เห็นเหวลึก เห็นนรก เป็นต้น ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นไปในเชิงดีหรือร้าย ผู้ปฏิบัติไม่ควรถือเอาเป็นสาระ ควรเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จิตของเราเองปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ต่างอะไรกับความฝันนั่นเอง อนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะพิจารณานิมิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นโดยความเป็นไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตนแท้) คือนำมาใช้เจริญวิปัสสนาก็ได้ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักความสุขจากสมาธิเป็นเบื้องต้นก่อน การเจริญวิปัสสนายกไว้ในลำดับถัดไป พึงมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อรักษาจิตให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานจนสติละเอียดปราณีตสมาธิแนบแน่นขึ้นตามลำดับ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับความสุขอันเกิดจากความสงบลงของกิเลสภายในจิตใจมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน วิธีการปฏิบัติอานาปานสติในส่วนของสมถภาวนาในเบื้องต้นก็มีเพียงเท่านี้

เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละบุคคล เนื่องจากความสม่ำเสมอในการปฏิบัติมีผลต่อความก้าวหน้าของสมาธิมากพอสมควร รวมถึงขึ้นอยู่กับอินทรีย์อันเป็นพื้นฐานที่สั่งสมมาแต่กาลก่อนและความเจริญขึ้นในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น