วันจันทร์

นางขุชชุตตราสาวพิการหลังค่อม

นางขุชชุตตรานางขุชชุตตรา มีชื่อว่า อุตตรา เป็นลูกสาวแม่นมของโฆษกเศรษฐี ด้วยความที่นางเป็นคนหลังค่อม คนทั่วไปจึงเรียกนางว่า “นางขุชชุตตรา นางอุตตระหลังค่อม” เมื่อเจริญวัยนางได้ทำงานเป็นสาวใช้ของนางสามาวดี บุตรีบุญธรรมของโฆษกเศรษฐี ต่อมานางสามาวดีได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอุเทน นางขุชชุตตราได้ติดตามไปรับใช้นางสามาวดีดังเดิมในการนี้นางได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นคนดูแลดอกไม้ที่ใช้สำหรับบูชาและประดับตกแต่งอาคารสถานที่ซึ่งนางก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยไม่มีข้อบกพร่อง

วันหนึ่งโฆษกเศรษฐีกับเพื่อน ๆ ได้กราบทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกเสด็จมาฉันภัตตาหารและถวายวัดที่ได้สร้างขึ้น นางขุชชุตตราได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดอกไม้เช่นเคย ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ประทับของพระพุทธเจ้าทำให้นางมีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ เมื่อจบพระธรรมเทศนานางได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน

วันต่อมาขณะที่นางขุชชุตตราถือดอกไม้มาจากตลาด นางสามาวดีสังเกตเห็นว่ามีดอกไม้มากกว่าปกติ จึงสอบถามว่าดอกไม้ราคาถูกหรืออย่างไร หรือว่าได้เงินซื้อดอกไม้เพิ่มขึ้นจึงสามารถซื้อดอกไม้ได้มากขนาดนี้ นางขุชชุตตราจึงยอมรับสารภาพว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนี้ เธอไม่ได้ซื้อดอกไม้เต็มตามจำนวนเงิน โดยซื้อเพียงครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้เท่านั้น ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว แต่หลังจากการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วทำให้เข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ดี แม้จะไม่มีใครเห็น แต่เรารู้แก่ใจของเราเองจึงตั้งใจเลิกประพฤติแบบนี้ วันนี้จึงซื้อดอกไม้มาเต็มราคา ดอกไม้จึงมีมากอย่างที่เห็นพร้อมกับกล่าวคำขอโทษต่อนางสามาวดี นางสามาวดียกโทษให้พร้อมขอให้นางช่วยบอกคำสอนที่ได้ฟังจากพระพุทธเจ้าให้ตนฟังบ้าง นางจึงเล่าสิ่งที่ได้รับฟังมาทั้งหมดแก่นางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ส่งผลให้นางสามาวดีพร้อมกับนางรับใช้เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน

ชีวิตบั้นปลาย นางขุชชุตตราเสียชีวิตลงพร้อมๆ กับนางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ภายในปราสาทที่ถูกวางเพลิงจากฝีมือของนางมาคันทิยา มเหสีอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนนั่นเอง

บุพกรรมล้อเลียนพระ 

สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถาม พระบรมศาสดาว่า:- 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นหญิงหลังค่อม พระเจ้าข้า”  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ในอดีตชาติ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เป็นผู้มีสภาพร่างกาย เป็น คนค่อมนิดหน่อย มาฉันภัตตาหารในราชสำนักเป็นประจำ นางกุมาริกานางหนึ่ง แสดงอาการเป็นคนค่อม ล้อเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความคึกคะนอง ต่อหน้าเพื่อนกุมาริกาทั้งหลาย เพราะกรรมนั้น จึงส่งผลให้เธอเป็นคนค่อมในอัตภาพนี้” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นทางทาสีของบุคคลอื่น พระเจ้าข้า ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีต ครั้งที่พระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ นางได้เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีภิกษุณีผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับตระกูลของนางมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ขณะนั้นนางกำลังแต่งตัวอยู่ ได้ออกปากขอให้พระเถรีช่วยหยิบกระเช้า เครื่องประดับส่งให้ พระเถรีนั้นคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบส่งให้ นางก็จักโกรธอาฆาตเรา เพราะกรรมนี้ เมื่อนางตายไปแล้ว ก็จะไปเกิดในนรก แต่ถ้าเราหยิบส่งให้นาง นางก็จักเกิดเป็นหญิงรับใช้คนอื่น เพราะกรรมที่ใช้พระอรหันต์"  ภิกษุณี จึงเลือกกรรมสถานเบา เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อนาง จึงได้หยิบกระเช้าส่งให้ เพราะ กรรมนี้นางจึงเกิดเป็นหญิงรับใช้บุคคลอื่น” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงมีปัญญามากและบรรลุพระ โสดาปัตติผล ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ ครั้งเดียวกันนั้น พระราชาได้ถวายข้าวปายาส ที่ยังร้อนอยู่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องเปลี่ยนมือถือบาตร กลับไป กลับมาด้วยความร้อน นางจึงถอดกำไล ที่ทำด้วยงาจากข้อมือ ๘ อัน ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้สำหรับรองมือ กันความร้อน ด้วยผลแห่งกรรมที่นางถวายกำไลข้อมือ และกรรมที่ช่วยบำรุง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ทำให้นางมีปัญญามาก และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล”

เพราะความที่นางขุชชุตตราเป็นผู้มีปัญญามา สามารถแสดงธรรมได้อย่างไพเราะลึกซึ้ง ดีกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้แสดงธรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น