วันพฤหัสบดี

กูฏทันตสูตร (ย่อ)

พระสูตรเต็ม ศึกษาได้จากที่นี่ 👉 กูฎทันตสูตร 

🔅กูฏทันตสูตร (ย่อ)

เพื่อความเข้าใจ คำว่า "ยัญ, ยญฺญ(ยัน-ยะ)" เดิมทีก่อนพระพุทธองค์จะตั้งศาสนาพุทธ คำๆ นี้หมายถึงการบูชา เซ่นสรวง บนบาน ด้วยการฆ่าสัตว์หรือฆ่าคนเพื่อให้เทพเจ้าของตนพอใจจะได้ดลบันดาลให้ผู้ที่บนบาน เซ่นสรวงสมความปราถนาตามกิเลส ตามความเชื่อ

เมื่อ พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธ จึงวางหลักคำสอนใหม่ ให้นิยามของคำว่า ยัญ ใหม่ เป็นการบูชาที่ไม่ต้องฆ่า แต่มีการให้ การแจกจ่าย การประพฤติปฎิบัติเป็นสิ่งบูชา  เป็นความหมายใหม่ ซึ่ง ยัญ ในความหมายของพระพุทธองค์ก็มีอานิสงค์แตกต่างกัน ไล่ไปตามลำดับ เช่น ทานจากทรัพย์มีอานิสงค์น้อยกว่าการรักษาศีล การรักษาศีลมีอานิสงค์น้อยกว่าการปฎิบัติจนได้ณาน เป็นต้น


ข้าพเจ้า(พระอานนท์)ได้สดับมาอย่างนี้

        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้านขานุมัตต์ สมัยนั้นมีพราหมณ์ชื่อ
กูฏทันตะ เป็นผู้ดูแลหมูบ้านนี้อยู่ ซึ่งหมู่บ้านนี้ก็อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็มีความเป็นอยู่อย่างผาสุข อุดมด้วยหญ้าไว้เลี้ยงสัตว์ อุดมด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ฯ ก็ในสมัยนั้นศาสนาพราหม์ต่างนิยมการกระทำบูชายัญ ด้วยเชื่อว่าผลของการบูชายัญต่อเทพยาดานั้นจะดลบันดาลให้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุข พราหมณ์กูฏทันตะผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้านนี้ จึงได้ตระเตรียมจะกระทำมหาบูชายัญ จึงนำโคตัวผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคตัวผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว และแกะ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อรอการบูชายัญ 

ขณะเตรียมงานอยู่นั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ก็ได้ข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงจาริกมาประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกาใกล้ๆกับหมู่บ้าน กิตติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดม พระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ  ชาวบ้านต่างก็คิดว่าการเห็นพระอรหันต์จำนวนมากมาจาริกแสวงบุญ ย่อมเป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้น ทั้งพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านเป็นหมู่ๆ พากันเดินทางไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา

        สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะ ขึ้นพักกลางวันในปราสาทชั้นบน ได้เห็นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์ออกจากบ้านขานุมัตต์รวมกันเป็นหมู่ๆ พากันไปสวนอัมพลัฏฐิกาจึงเรียกนักการมาถามว่า "พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน ออกเดินทางไปไหนกัน?" นักการ จึงตอบว่า "มีเรื่องอยู่ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จมาประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ชาวบ้านจึงพากันเข้าไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น"

        ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้เกิดความคิดเช่นนี้ว่า เราก็เคยได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการซึ่งมีบริวาร ๑๖ (การบูชายัญที่มีอานิสงส์มาก) แต่เราไม่รู้ และตอนนี้เราก็กำลังเตรียมจะทำบูชามหายัญ ฉะนั้น เราควรเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม และทูลถามเรื่องยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ให้เกิดความเข้าใจก่อน ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะก็ได้เรียกนักการมาสั่งว่า "ท่านนักการ ท่านจงไปที่ขบวนของชาวบ้านแล้วบอกเขา เราพราหมณ์กูฏทันตะสั่งมาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน เราก็จักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย" นักการรับคำและดำเนินการทันที

        สมัยนั้น พราหมณ์หลายร้อยคนที่พักอยู่ในหมู่บ้านขานุมัตต์ ก็มมารออยด้วยหวังว่าเมื่อพราหมณ์กูฏทันตะ ได้กระทำมหาบูชายัญสำเร็จแล้ว พวกเราก็จะได้บริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอพวกพราหมณ์ที่มาเฝ้ารอ ได้ทราบว่าเจ้าภาพใหญ่พราหมณ์กูฏทันตะจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จึงต่างพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะแล้วถามว่า "ท่านจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริงหรือ?"

กูฏทันตะ : เราคิดว่าจักไปเฝ้าพระสมณโคดม จริง
พวกพราหมณ์ : อย่าเลย ท่านกูฏทันตะ ท่านไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าท่านไปเฝ้าท่านจักเสียเกียรติยศ เกียรติยศของพระสมณโคดมจักรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน ท่านเป็นผู้ที่เลิศกว่าใครๆ ด้วย

๑. ท่านเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้
๒. ท่านเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมากมาย
๓. ท่านเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเภท
๔. ท่านมี รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก
๕. ท่านเป็นผู้มีศีล
๖. ท่านเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีสำเนียงไพเราะ
๗. ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มากสอนมนต์มาณพถึง ๓๐๐ พวก
๘. ท่านเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม
๙. ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๑๐. ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๑๑. ท่านเป็นเจ้าปกครองหมู่บ้านขานุมัตต์ อันอุดมสมบูรณ์

เพราะเหตุนี้แหละ ท่านจึงไม่ควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะมาหาท่าน

กูฏทันตะ : ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นขอจงฟังข้าพเจ้าบ้าง เรานี้แหละ ควรไปเฝ้าท่านพระสมณโคดม เพราะได้ยินว่า
๑. พระสมณโคดมทรงเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้
๒. พระสมณโคดมทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ออกผนวชแล้ว
๓. พระองค์ท่านทรงสละเงินและทองทั้งหมดเพื่อออกผนวช
๔. พระองค์ท่านยังหนุ่มแน่นกลับไม่หลงระเริงกับวัย เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตเมื่อตอนหนุ่ม
๕. เเม้พระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาให้ผนวช ท่านก็มีจิตใจเด็ดเดี่ยว อาจหาญ
๖. พระองค์ท่านมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
๗. พระองค์ท่านเป็นผู้มีศีล มีศีลประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ประกอบด้วยศีลเป็นกุศล
๘. พระองค์ท่านมีพระวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ
๙. พระองค์ท่านเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก
๑๐. พระองค์ท่านสิ้นกามราคะแล้ว เลิกประดับตกแต่ง
๑๑. พระองค์ท่านเป็นกรรมวาที เป็นกิริยาวาทีไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์
๑๒. พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลสูง คือสกุลกษัตริย์อันไม่เจือปน
๑๓. พระองค์ท่านทรงผนวชจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
๑๔. ชนต่างรัฐต่างชนบทพากันมาทูลถามปัญหาพระองค์ท่าน
๑๕. เทวดาต่างมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๑๖. กิตติศัพท์อันงามของท่านขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๑๗. พระองค์ท่านทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
๑๘. พระองค์ท่านมีปรกติกล่าวเชื้อเชิญ เจรจาผูกไมตรี ช่างปราศรัย
๑๙. พระองค์ท่านเป็นผู้อันบริษัท ๔ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๐. เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากเลื่อมใสพระองค์ท่านยิ่งนัก
๒๑. พระองค์ท่านทรงพำนักอยู่ในบ้านหรือนิคมใด บ้านหรือนิคมนั้น อมนุษย์ไม่เบียดเบียนมนุษย์
๒๒. พระองค์ท่านเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะและเป็นคณาจารย์ ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก ๒๓. พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๔. พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมทั้งพระโอรสและพระมเหสี ทั้งราชบริษัทและอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๕. พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ทั้งบริษัทและอำมาตย์มอบชีวิตถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะ
๒๖. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนาพระนามว่าพิมพิสาร ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๗. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
๒๘. พระองค์ท่านเป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม

พระองค์ท่านเสด็จประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตต์ ท่านสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งมาสู่เขตบ้านของเรา ท่านเหล่านั้นจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกซึ่งเราควรสักการะเคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม เพราะเหตุนี้ เราต่างหากควรไปเฝ้าพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าทราบพระคุณของท่านพระโคดมเพียงเท่านี้ แต่ท่านพระโคดมมิใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริงพระองค์ท่านมีพระคุณหาประมาณมิได้

เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า

พวกพราหมณ์ : ท่านกูฏทันตะกล่าวชมท่านพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากพระองค์ท่านจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่อีก ๑๐๐ โยชน์ ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาอย่างท่านก็ควรแล้วที่จะไปเข้าเฝ้า

กูฏทันตะ :  ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักเข้าไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมด้วยกัน

        ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตต์บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งๆ พราหมณ์กูฏทันตะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำการบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส พระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงความหมายของยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทูลรับแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว*(เรื่องเคยมีมาแล้ว* หมายถึง เหตุการณ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกอื่น จักรวาลอื่น ไม่ใช่เหตุการณ์ในยุคสมัยของพระพุทธองค์) พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก วันหนึ่งเกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า "เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไรเราควรกระทำบูชามหายัญ เพื่อจะเป็นได้เป็นบุญกุศลและนำความสุขให้แก่เราตลอดกาลนาน " 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า "ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี ทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์จะโปรดฟื้นฟูพลีกรรม ในเวลานี้ก็ชื่อว่าทรงกระทำการมิสมควร บางคราวพระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนาม คือโจร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษหรือเนรเทศ อันการปราบปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลัง มันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ แต่ว่าการปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้

๑. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม(คนเลี้ยงวัว)ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร
๒. พลเมืองเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร
๓. ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร

พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมาก จักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูกและข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม พระราชทานทุนแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ข้าราชการในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตนๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมากได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า "ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ก็ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดำรงอยู่ในความเกษมหาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกรพราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน" 

พราหมณปุโรหิตกราบทูลว่า "
ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้นท่านต้องเรียกบุคคลเหล่านี้มาปรึกษาและขอความร่วมมือว่าท่านจะกระทำบูชามหายัญ คือกระทำมหาทานเพื่อสร้างกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ บุคคลที่ท่านต้องเชื้อเชิญมีดังนี้
๑. อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ 
๒. อำมาตย์ราชบริษัทเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์
๓. พราหมณ์มหาศาลเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์
๔. คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ อำมาตย์ราชบริษัท พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเราเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์ จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ

บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะกระทำบูชายัญ ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ ๔ เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น ดังนี้แล

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต (เกิดในตระกูลดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ)
๒. ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส 
๓. ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก 
๔. ทรงมีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา (มีอำนาจทางการทหาร อำนาจการปกครอง)
๕. ทรงพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี (เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี)
๖. ได้ทรงศึกษาทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก
๗. ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิต
๘. ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการดังกล่าวนี้ องค์ ๘ ประการแม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้

พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
๑. ทรงเป็นอุภโตสุชาต (เกิดในตระกูลดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ)
๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท 
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน
๔. เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา

พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ดังแสดงมานี้ องค์ ๔ ประการ แม้เหล่านี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญนั้นโดยแท้ ด้วยประการดังนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ (อุบายกำจัดวิปฎิสาร)ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญว่า

๑. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเราจักหมดเปลือง
๒. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเรากำลังหมดเปลือง
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญอยู่ ไม่ควรมีความคิดว่ากองโภคสมบัติของเราได้หมดเปลืองไปแล้ว

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี ๓ ประการ ดังแสดงมานี้ถวายพระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญนั้นเทียว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจเนื่องจากเสียดายข้าวของโภคทรัพย์) ของพระเจ้ามหาวิชิตราชไปแล้ว จากนั้นจึงให้อุบายในการกำจัดวิปฎิสารจากพวกปฏิคาหก (ผู้รับทาน) โดยอาการ ๑๐ ประการก่อนจะทรงทำการบูชายัญ โดยมีวิธีพิจารณาดังนี้

พวกปฎิคายกที่มารับทานนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปนเปกัน ขอให้พระเจ้ามหาวิชิตราช พึงปรารถที่จะให้ทานเฉพาะกับบุคคลเหล่านี้
๑. เฉพาะพวกที่งดเว้นจากปาณาติบาตเท่านั้น 
๒. พวกที่งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. พวกที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
๕. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียด
๖. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ
๗. พวกที่งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ
๘. พวกที่ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น
๙. พวกที่มีจิตไม่พยาบาท
๑๐. พวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดความวิปฏิสารของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก โดยอาการ ๑๐ ประการ ดังแสดงมานี้แล ก่อนทรงบูชายัญนั่นเทียว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งทรงบูชามหายัญอยู่ ห้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ คือ

๑. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ก็ได้ทรงชักชวนเหล่าอนุยนตกษัตริย์มาร่วมงานด้วย
๒. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าอำมาตย์ราชบริษัท ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ก็ได้ทรงเรียกเหล่าอำมาตย์ราชบริษัทมาร่วมงานด้วย
๓. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าพราหมณ์มหาศาล ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าพราหมณ์มหาศาลมาร่วมงานด้วย
๔. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ทรงกระทำบูชามหายัญ แต่มิได้ชักชวนเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกเหล่าคฤหบดีผู้มั่งคั่งมาร่วมงานด้วย
๕. หากมีใครคัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงพระชาติ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดาทรงถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
๖. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์ทรงมีพระรูปไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าดู ไม่น่าชมเสียเลย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงาม ทรงกอปรด้วยพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ทรงมีพระพรรณคล้ายพรหม น่าดู น่าชมมิใช่น้อย แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด
๗. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่งพอที่จะทรงกระทำบูชามหายัญ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
๘. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง มิได้ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสเพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง ทรงสมบูรณ์ด้วยเสนามีองค์ ๔ ซึ่งอยู่ในวินัยคอยปฏิบัติตามพระราชบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญราชศัตรูได้ด้วยพระราชอิสริยยศ แม้ด้วยประการเช่นนี้
๙.หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา มิได้ทรงเป็นทายก มิได้ทรงเป็นทานบดี แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นดุจบ่อน้ำที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก แม้ด้วยประการเช่นนี้
๑๐. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้ทรงศึกษา มิได้ทรงสดับเรื่องนั้นๆ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีที่ได้ทรงศึกษา ทรงสดับเรื่องนั้นๆ มาก
๑๑. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทราบอรรถแห่งข้อที่ทรงศึกษาและภาษิตนั้นๆ ว่า นี้อรรถแห่งภาษิตนี้ นี้อรรถแห่งภาษิตนี้
๑๒. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มิได้เป็นบัณฑิต มิได้ทรงเฉียบแหลม มิได้ทรงมีพระปรีชา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ทรงเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชา
๑๓. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิต
(ที่ปรึกษา) ของพระองค์มิได้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
๑๔. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้เล่าเรียน มิได้ทรงจำมนต์ มิได้รู้จบไตรเพท ฯ แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ เป็นผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท ฯ
๑๕. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นผู้มีศีล มิได้มีศีลยั่งยืน มิได้ประกอบศีลยั่งยืน แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน
๑๖. หากจะมีใครกล่าวว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์มิได้เป็นบัณฑิต มิได้เป็นผู้เฉียบแหลม มิได้มีปัญญา แม้ด้วยประการเช่นนี้ ขอให้ทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ในพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน 

ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ปุโรหิต ได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้ทรงบูชามหายัญอยู่ ให้ทรงเห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ ให้ทรงร่าเริง โดยอาการ ๑๖ ประการ ดังแสดงมานี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์ นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น บูชามหายัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเพียงเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้นแล พวกอนุยนตกษัตริย์ พวกพราหมณ์มหาศาล พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ต่างก็พากันนำทรัพย์มากมาย เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชกราบทูลว่า "ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าได้นำทรัพย์มากมายนี้มาเฉพาะพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับเถิด" พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า อย่าเลยพ่อ แม้ทรัพย์เป็นอันมากนี้ของข้าพเจ้าก็ได้รวบรวมมาแล้วจากภาษีอากรที่เป็นธรรม ทรัพย์ที่ท่านนำมานั้นจงเป็นของพวกท่านเถิด ก็และท่านจงนำทรัพย์จากที่นี้เพิ่มไปอีก

อนุยนตกษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล และพวกคฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นถูกพระราชาปฏิเสธ ต่างพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง คิดร่วมกันอย่างนี้ว่า การที่พวกเราจะรับทรัพย์เหล่านี้คืนไปบ้านเรือนของตนๆ อีกนั้นไม่เป็นการสมควรแก่พวกเราเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญอยู่ เอาเถอะ พวกเรามาบูชายัญตามเสด็จพระองค์บ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ ลำดับนั้น พวกอนุยนตกษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล และพวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ได้เริ่มบำเพ็ญทานโดย ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพังเพียงเนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้งน้ำอ้อย เท่านั้น
๑. ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริทั้ง ๔ จำพวก (อนุยนตกษัตริย์, อำมาตย์ราชบริษัท, พราหมณ์มหาศาล, คฤหบดีผู้มั่งคั่ง) ๒. พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ๓. พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ ดังกล่าวมานี้ รวมเรียกว่ายัญญสัมปทา ๓ ใน ๓ อย่างนี้ประกอบด้วยบริวาร ๑๖  นี้คือความหมายของยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่า โอ ยัญ โอ ยัญสมบัติ ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะ นั่งนิ่งอยู่ ต่อนั้น พราหมณ์เหล่านั้นได้ถามว่า "เพราะเหตุไรเล่า ท่านกูฏทันตะจึงไม่ชื่นชมคำสุภาษิตของพระสมณโคดม" พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เหตุอย่างนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ดังนี้ทีเดียว ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้คิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระสมณโคดมคงจะทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้เป็นเจ้าแห่งยัญ หรือทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้นแน่นอน" ดังนี้ แล้วจึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

กูฏทันตะ : พระโคดมผู้เจริญทรงทราบโดยแจ้งชัดหรือว่า ผู้บูชายัญและผู้อำนวยกาบูชายัญตามที่บอกนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :  ดูกรพราหมณ์ เราย่อมทราบโดยแจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญและผู้อำนวยการบูชายัญตามที่บอกนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรพราหมณ์ สมัยนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อำนวยการบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น


🙏ว่าด้วยทาน 🙏

อานิสงค์มากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖

กูฏทันตะ : 
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ มีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ มีอยู่ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้ เป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ นิตยทาน (การให้ทานสม่ำเสมอ ให้เป็นนิต ให้ประจำ) อันเป็นอนุกูลยัญอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล ก็ยัญนี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมไม่รับยัญ (ทาน) ที่มาจากการประหาร เข่นฆ่าชีวิต ส่วนนิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญ (เนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล พระอรหันต์ก็ดี ท่านที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมยอมรับการบูชาด้วยยัญเช่นนั้น เพราะเหตุไร เหตุเพราะในยัญนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการประหาร เข่นฆ่าชีวิต นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนั้น ซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญสมบัติทั้ง ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ นี้

อานิสงค์มากกว่านิตยทาน

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า นิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้ มีอยู่
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ยัญของบุคคลที่สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง ๔ (สร้างวิหารเสนาสนะแด่ภิกษุสงฆ์ โดยไม่เจาะจง) นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่านิตยทานอันเป็นอนุกูลยัญนี้

อานิสงค์มากกว่าสร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์

กูฏทันตะ :  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสร้างวิหารทานนี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ทานของบุคคลที่มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ดูกรพราหมณ์ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าวิหารทานนี้

อานิสงค์มากกว่าบุคคลที่ศรัทธาไตรสรณะคม

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสรณคมน์เหล่านี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ :ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ การที่บุคคลเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ดูกรพราหมณ์ นี้แหละเป็นยัญซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่าและมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ามีจิตศรัทธาไตรสรณคมน์นี้

อานิสงค์มากกว่าสมาทานศีล ๕

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าสิกขาบทเหล่านี้ยังมีอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : มีอยู่ พราหมณ์
กูฏทันตะ :ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ยัญนั้นเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้ฟังธรรมแล้วศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่าฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

🙏ว่าด้วยด้วยศีล🙏

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง จุลศีล มัชฌิมศีล และ มหาศีล เป็นการแบ่งลำดับของศีล ในระดับของความหยาบและละเอียดหากถิกษุพึงรักษาทั้ง จุลศีล มัชฌิมศีล และ มหาศีล ได้ครบถ้วนจึงได้ชื่อว่าภิกษุผู้นั้นถึงพร้อมด้วยศีล มีทั้งหมด ๔๓ สิกขาบท ศึกษาได้จาก 🔎พรหมชาลสูตร

🙏ว่าด้วยด้วยณาน🙏

ภิกษุบรรลุปฐมฌานอยู่ นี้แหละเป็นทานซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่าทานก่อนๆ
ภิกษุบรรลุทุติยฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
ภิกษุบรรลุตติยฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอยู่ มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญก่อนๆ

 🙏ว่าด้วยวิชชา ๘ วิปัสสนาญาณ🙏

ภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณที่เกิดจากวิปัสสนา เช่นเห็นการเกิดดับ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากยัญก่อนๆ
๒. มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ทางใจ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๓. อิทธิวิธญาณ (มีฤทธิ์ การแสดงฤิทธิ์) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๔. ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์ ได้ยินเสียงมนุษย์และเทวดา) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๕. เจโตปริยญาณ (รู้ใจคนอื่น รู้ความคิด) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติในอดีตได้หลายชาติ) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๗. จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ รู้เหตุการเกิด การตายของสัตว์) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ
๘. อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้จิตหลุดพ้น) มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่ายัญก่อนๆ

(ศึกษาความหมายของวิชชา ๘ ได้ใน 🔎สามัญญผลสูตร เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู ย่อหน้าที่ ๑๓๑-๑๓๘)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ก็ยัญสมบัติอื่นๆ ที่จะดียิ่งกว่า ประณีตยิ่งกว่ายัญสมบัตินี้ (อาสวักขยญาณ) ไม่มีอีกแล้ว

กูฏทันตะ : ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคผู้ ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็นจงพัดถูกสัตว์เหล่านั้นให้มีความสุขกายสบายใจเถิด

กูฏทันตพราหมณ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นทันที


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น