วันจันทร์

เอาธรรมไปเป็นหลักประกันชีวิตและสังคมไว้ให้เจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม

อีกประการหนึ่งที่ควรจะเป็นข้อคิด ก็คือ การที่เราจะเข้าถึงธรรมด้วยอาศัยคำสอนของพระองค์ ให้บรรลุสิ่งประเสริฐแห่งชีวิตของเรานี้ย่อมเป็นกิจส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเราทุกคนมีหน้าที่สำหรับชีวิตของตนๆ เราควรจะต้องเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่ประเสริฐสุดของชีวิต คือการเข้าถึงธรรมอันจะทำให้ได้รับผลแห่งอมตะ อันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง คือ ในด้านที่เกี่ยวกับสังคม หรือการดำรงอยู่ของหมู่มนุษย์ เราจะต้องรู้ตระหนักถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งที่เป็นสังขาร ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่ทีนี้ อนิจจัง ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์นั้น เรามีศัพท์เรียกพิเศษ

อธิบายว่า ที่จริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของกลางๆ แต่เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปในด้านหนึ่ง ก็ถูกใจมนุษย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงไปอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ถูกใจมนุษย์ ทั้งที่ว่า ในแง่ของธรรมชาติ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร คือ ธรรมชาตินี้ไม่ได้ดีไม่ได้ร้ายเมื่อพูดในแง่ของกฎแห่งความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นมันก็เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ในแง่ที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่เป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนา เราเรียกว่า “ความเจริญ" ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนา เราเรียกว่า “ความเสื่อม" ความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่าความเสื่อม หรือความเจริญนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ เกี่ยวพันกับความต้องการของมนุษย์ มนุษย์นี้เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และมนุษย์ที่จะมาเป็นเหตุปัจจัยนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์สำหรับตนได้ และความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการทำเหตุปัจจัยให้ตรงกับผลอย่างนั้นได้นี้แหละ เรียกว่าความเจริญ

ฉะนั้น มนุษย์ที่มีสติปัญญา เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ เขาสามารถที่จะใช้ความรู้ในการเข้าถึงเหตุปัจจัยนั้น มากระทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงปรารถนา ที่เรียกว่า ความเจริญ พร้อมกันนั้น เขาก็สามารถรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าความเสื่อม แล้วด้วยความรู้นั้น เขาก็สามารถป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างเหตุปัจจัยแห่งความเจริญนั้นได้ 

คนที่มีปัญญา จึงสามารถทำให้สังคม รวมทั้งชีวิตของตน มีความสุขความเจริญดีงามขึ้นไปได้อันนี้เป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า เหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญ มนุษย์มีส่วนเข้าไปจัดการได้ และอันนี้ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของการมีปัญญาที่เข้าถึงธรรม แล้วนำความรู้ในธรรม โดยเฉพาะในเหตุปัจจัย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสถึงกับว่า ถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง เราจะสามารถสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติของเราให้มีแต่ความเจริญ
ไม่มีความเสื่อมก็ได้ อย่างเช่นในหลักอปริหานิยธรรม พระองค์ได้ตรัสแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม หรือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระองค์ถึงกับตรัสเป็นหลักประกันว่า "ตราบใดที่พระภิกษุทั้งหลายยังประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมเลย" แม้ในด้านชาวบ้าน รวมถึงทางฝ่ายบ้านเมือง ก็ตรัสไว้ก่อนแล้ว คือ แก่พวกกษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชี ที่เราผ่านมาแล้ว พระองค์ตรัสว่า "ถ้าหากกษัตริย์ลิจฉวี ชาวแคว้นวัชชี ยังตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ชาววัชชีก็จะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ไม่มีใครจะสามารถมาทำลายได้" อันนี้ก็เป็นการนำธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง

ทรงแสดงหลักอปริหานิยธรรมแก่จ้าวลิจฉวี

เป็นอันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องเกี่ยวกับธรรมดาของสังขาร และการเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนี้ มีคติที่เป็นประโยชน์ต่อแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคล คือสอนว่า เราจะมัวมาฝากความหวัง ฝากความสุขแห่งชีวิตของเรา ไว้กับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารภายนอกอันไม่เที่ยงแท้ ไม่เป็นสาระที่แท้จริงไม่ได้ เราควรจะเข้าถึงธรรมที่เป็นสาระเป็นแก่นสารที่แท้จริง ที่จะทำให้ชีวิตมีความประเสริฐ เลิศ มีความสุข ไร้ทุกข์ เข้าถึงความเป็นอิสระได้ พร้อมกันนั้น ในทางสังคม ก็สามารถน้อมนำเอาความรู้ในธรรมที่หยั่งถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายนี้ไปใช้ประโยชน์ ในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ด้วยการตั้งอยู่ในธรรม ที่เป็นหลักสำคัญ คือ ความไม่ประมาท

สาระสำคัญในวันนี้ก็คือ การโยงจากภาพที่เราพบเห็น ไปหาคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้รับประโยชน์เป็นอันมาก จุดที่จะต้องก็มีสองส่วนอย่างที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ที่จะให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงาม ที่ประเสริฐ แล้วก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ให้หมู่มนุษย์มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างที่พระองค์ทรงรับรองยืนยันไว้แล้วว่า ถ้าเราเข้าใจเหตุ ปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญแล้วปฏิบัติตามนั้น โดยไม่มัวแต่ทอดทิ้งสติ ไม่มัวแต่ปล่อยปละละเลยลุ่มหลงมัวเมาเสีย เราก็สามารถจะทำให้มีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมก็ได้ นี่ก็คือการใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์นั่นเอง และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้สําเร็จ ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมา และงอกงามสมบูรณ์บนฐานแห่งศรัทธาที่เป็นไปอย่างเหมาะสมถูกทาง วันนี้เราได้มา ณ ที่นี่แล้ว (พระมูลคันธกุฎี) โดยศรัทธาเป็นตัวนำเรามา แล้วก็ได้มานมัสการสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ เมื่อศรัทธาได้ทําหน้าที่ของมันอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้ศรัทธานั้นยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยมาเชื่อมต่อเข้ากับปัญญาที่จะเข้าถึงธรรม ดังที่กล่าวมา แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแก่พระ วักกลิ ก็จะเกิดผลต่อตัวเราด้วย

อย่างที่กล่าวแล้วว่า อย่ามัวแต่หลงอยู่แค่รูปกายของพระองค์เท่านั้น ผู้ใดถึงแม้แต่เกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ ตามพระองค์ไปตลอดเวลาทุกย่างพระบาท ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ การที่จะเห็นองค์พระพุทธเจ้าก็คือ ต้องเห็นธรรม การจะเห็นธรรมได้ ก็ต้องอาศัยพระพุทธองค์นั่นแหละ เพราะพระวรกายของพระพุทธเจ้าที่เสด็จเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ นั้น ก็นำเอาธรรมไปด้วย และเอาไปประกาศ เมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ได้ฟังธรรมของพระองค์ จากการฟังธรรมของพระองค์ เราก็สามารถเข้าถึงธรรม เมื่อเราเข้าถึงธรรมนั่นก็คือ ศรัทธานำไปสู่ปัญญาทำให้เกิดผลงอกงามอย่างที่กล่าวมา จึงขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่ได้เดินทางมาด้วยศรัทธา ขอให้ทุกท่านมีปีติ มีความอิ่มใจว่า ถึงแม้ว่าเราจะทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็ตามในการเดินทางมาถึงที่นี่ เราได้สละเวลา สละเรี่ยวแรง และกำลังกาย และ สละกำลังทรัพย์ มาจนถึงจุดหมายแห่งนี้แล้ว อันเป็นจุดสุดยอดแห่งหนึ่ง การเดินทางของเรา เราได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

พระธรรมปิฎก (สมณะศักดิ์ในขณะนั้น) ณ. คันธกุฎี ปี ๒๕๓๘

ขอให้ทุกท่านเกิดความสมใจปรารถนา มีปีติ อิ่มใจ ดังที่กล่าวมาแล้ว ปีตินี้จะเป็นเครื่องบำรุงใจให้มีกำลังและเข้มแข็งมั่นคง แท้จริง คนที่มีความปีติอิ่มใจนี้ สามารถอดอาหารได้นานๆ เพราะว่ามีปีติเป็นภักษา ปีติเป็นความอิ่มชนิดหนึ่ง คนเรารับประทานอาหาร ก็ได้ความอิ่ม แต่เป็นความอิ่มกาย เมื่ออิ่มกายแล้วก็ดำรงรักษาร่างกายไว้ได้ แม้ความอิ่มใจก็เหมือนกัน ความอิ่มใจก็หล่อเลี้ยงชีวิตของเรา ทำให้อยู่ได้นานๆ โดยมีปีติเป็นภักษา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ความอิ่มใจนี้มีผลดียิ่งกว่าอาหารที่ทำให้มีความอิ่มกายเสียอีก ถึงแม้อิ่มกาย แต่ถ้าใจไม่สบาย หน้าตาไม่สดชื่นผ่องใส ทั้งๆ ที่มีอาหารกินดี แต่หน้าตาก็ไม่อิ่มเอิบ ไม่ผ่องใส แต่ถ้าอิ่มใจ ก็จะทำให้หน้าตายิ้มย่องผ่องใส มีความสุขที่แท้จริงได้ ถ้าโยมถือว่า ปีตินั้นเป็นส่วนของใจ เราต้องมีความอิ่มทางกายด้วย ก็ขอให้ความอิ่มใจมาเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ความอิ่มกายนี้ได้ผลสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ จึงขอให้โยมทำใจให้เกิดปีติ เพื่อเป็นการปรุงแต่งในทางที่เป็นกุศล เรียกว่าบุญญาภิสังขาร อย่าไปปรุงแต่งให้เป็นบาปเป็นอกุศล การมาถึงนี้ ทำให้มีโอกาสปรุงแต่งใจด้วยบุญญาภิสังขาร ทำใจให้เป็นบุญกุศล แล้วบุญกุศลนั้น ก็จะปรุงแต่งให้ชีวิตของเรามีความเจริญก้าวหน้าพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ขออนุโมทนาโยมผู้ศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง ขอเอากำลังใจมาร่วมอวยพรโดยอ้างคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ณ ที่นี้แล้ว ก็ขออ้างพุทธานุภาพ เป็นเครื่องอำนวยพรแด่โยมญาติมิตรทุกท่าน จงเจริญด้วยปีติสุขทั่วกัน ทุกเมื่อ เทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น