วันพฤหัสบดี

ศรัทธาและปัญญา นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

บัดนี้เรามาถึงเมืองนี้ซึ่งมีความสำคัญดังได้กล่าวแล้ว และได้มาประชุมกันที่พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ที่เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญพุทธกิจ และศาสนกิจทั้งหมดในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว จึงควรจะได้มีความปลาบปลื้มใจและอิ่มใจว่า เราได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทไว้ว่า แม้พระรูปกายของพระองค์จะล่วงลับไป แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็ยังคงอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีทั้งในขั้นของศรัทธา และปัญญา ด้วยศรัทธานั้นในแง่หนึ่งเราก็อยากจะมาเฝ้านมัสการพระพุทธเจ้า ด้วยการไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระองค์ เราเรียกสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับว่าเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง


เจดีย์ คือสิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เจดีย์นั้นมีหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือ บริโภคเจดีย์ ซึ่งแปลว่า เจดีย์คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย พระคันธกุฎี เป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ เป็นเสนาสนะที่พระองค์เคยใช้สอย จึงจัดเป็นปริโภคเจดีย์หรือบริโภคเจดีย์ชนิดหนึ่งด้วย เรามานมัสการพระองค์ที่นี่ คือมานมัสการบริโภคเจดีย์ แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่จริง เมื่อมาถึงมาดูมาเห็นมากราบไหว้ด้วยตัวเองอย่างนี้แล้ว จิตใจของเราก็เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มดื่มด่ำขึ้นมาว่า เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ แม้จะห่างจากพระพุทธองค์โดยกาลเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี และห่างโดยสถานที่ คือเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งห่างไกลจากประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป แม้จะมีความห่างไกลทั้งสองประการนั้น แต่บัดนี้ เราได้นำตัวเข้ามาใกล้พระองค์ มาอยู่หน้าที่ประทับแล้ว เมื่อน้อมใจรำลึกถึงพระ
องค์ เราก็มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจ ดังที่ได้กล่าวมา เป็นเครื่องเจริญศรัทธา และศรัทธาก็จะน้อมนำจิตใจของเราให้เจริญงอกงามในธรรม แต่ศรัทธาจะเกิดผลดังกล่าวได้ จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านให้เกื้อกูลต่อปัญญา เริ่มแรกก็ประกอบด้วยปัญญา และจะต้องนำไปสู่ปัญญาเสมอ

ศรัทธาของเรานำไปสู่ปัญญาเบื้องต้น โดยเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ใจเราก็จะน้อมไปถึงคำสอนของพระองค์ จะไม่ติดอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น เราจะนึกไปถึงว่า อ้อ! พระองค์ทรงสอนเราไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติดีงามอย่างนี้ๆ เมื่อเราระลึกถึงพระองค์แล้ว ก็มาระลึกถึงคำสอนของพระองค์ ทำให้มีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราปฏิบัติ นอกจากมีผลต่อชีวิตของเราเองแล้ว ก็ยังมีผลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เมื่อทุกคนประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติสุขสืบต่อไป

โดยนัยนี้ ศรัทธาจึงต้องนำไปสู่ปัญญา เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนอยู่เสมอ อย่างเช่นพระสาวกองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชแล้วก็มีความหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า คือติดใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก แม้มาบวชก็บวชด้วยความรู้สึกอย่างนั้น คืออยากอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าคอยติดตามพระองค์ได้เรื่อยไป ท่านผู้นั้นคือ พระวักกลิ เมื่อบวชแล้วก็คอยติดตามพระองค์ไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความเป็นไปหรือพฤติกรรมเหล่านี้ของพระวักกลิอยู่เสมอ ทรงปรารถนาประโยชน์แก่พระวักกลิ โดยทรงเห็นว่า ถ้าพระวักกลิมามัวแต่ติดใจอยู่กับพระรูปกายของพระองค์ ก็จะไม่ก้าวหน้าในธรรม จะอยู่แค่ในขั้นศรัทธา ควรให้ศรัทธานั้นนำสู่ปัญญาสืบต่อไป คือศรัทธานั้น ควรจะเป็นสื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงามของพระวักกลิเอง จนบรรลุถึงความเป็นอิสระด้วยปัญญา พระองค์จึงทรงรอเวลา เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสจะสอนอะไร พระองค์จะทรงตรวจความพร้อมของบุคคล เช่น ทรงตรวจดูความแก่ของอินทรีย์ หรือความสุกงอมของอินทรีย์ก่อน ในกรณีของพระวักกลิน เหตุการณ์ก็ดำเนินมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสออกไปเป็นการให้สติแก่พระวักกลิ แต่วิธีตรัสของพระองค์ บางครั้งก็ทรงใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงบ้าง เพื่อต้องการให้สะดุดหรือกระตุก เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่สะท้อนขึ้นมา หรือทำให้เกิดการคิดขึ้นใหม่ ที่จะก้าวต่อไปได้ อันจะนำไปสู่ผลที่ดีงามสืบไปข้างหน้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระวักกลว่า “ดูกรวักกลิ เธอจะตามไปทำไมกับร่างที่เปื่อยเน่าได้นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" (เช่น สํ.ข. ๑๗/๒๑๖)

พระองค์ยังตรัสไว้ ณ ที่อื่นอีกว่า "ผู้ใด แม้จะจับมุมชายผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปทุกย่างพระบาท แต่ถ้าเขาถูกกิเลสครอบงำใจ ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากพระองค์ เพราะผู้นั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นพระองค์ แต่ผู้ใด ถึงจะอยู่ห่างไกลพระองค์ตั้งร้อยโยชน์ แต่จิตใจมั่นคงไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ เพราะผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็เห็นพระองค์" (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗๒)

พระดำรัสนี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญ เรามักจำกันได้แต่ก่อนที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” หมายความว่า เพียงแต่มาติดตามพระองค์มองเห็นพระวรกายของพระองค์นี้ ไม่ใช่เป็นการเห็นพระองค์อย่างแท้จริง แต่เมื่อใดเห็นธรรม เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ขอย้ำพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสเตือนไว้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” หมายความว่า การเห็นองค์พระพุทธเจ้า กับการเห็นธรรมนั้น มีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าผู้ใดจะติดตามพระองค์เพื่อดูพระวรกายแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ได้เห็นอะไร นอกจากขันธ์ ๕ ที่มีความแตกดับเสื่อมสลายไปได้ ถ้าจะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ต้องเห็นธรรม อันนี้เป็นคำตรัสเตือนสติที่สำคัญมาก และเป็นการโยงศรัทธา ศรัทธาที่เกิดจากการมีความเลื่อมใสในองค์พระพุทธเจ้า อย่างเรามานมัสการพระองค์ ณ สถานที่นี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้ระลึกต่อไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า คือตัวธรรมะ และพยายามประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลต่อชีวิตอย่างแท้จริงไปสู่ปัญญา เป็นการใช้ศรัทธาให้เป็นประโยชน์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น