วันพุธ

๓. เตโชกสิณภาวนา

 🙏 ๓. เตโชกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งเตโชกสิณกัมมัฏฐานนั้น ก็พึงจับเอานิมิตในไฟ ในโยบุคคล ๒ จําพวกนั้น สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจับตาเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดา คือเพ่งดูเปลวไฟในที่ใดที่หนึ่ง คือ ที่เปลวตะเกียง ที่เตาไฟ ที่กองไฟสําหรับระบมบาตรหรือที่ไฟไหม้ป่า อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ท่านจิตตคุตตเถระนั้นเข้าไปในโรงอุโบสถในวันธรรมสวนะ ขณะที่ท่านเพ่งดูเปลวตะเกียงอยู่นั่นแล อุคคหนิมิตได้เกิดขึ้นแล้ว

วิธีทําเตโชกสิณ
ส่วนโยบุคคลผู้ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน ต้องทํากสิณขึ้นเอง วิธีทำเตโชกสิณนั้นดังนี้ คือ เอาไม้แก่นชนิดที่มียางมาผ่าตากแดดให้แห้งแล้วตัดทอนเป็นท่อน ๆ แล้วเอาไปที่โคนไม้หรือที่ปะรำอันเหมาะสม ทำไม้นั้นให้เป็นกองโดยอาการเหมือนจะระบมบาตร ติดไฟให้ลุกแล้วจึงเจาะช่องกลม ๆ ที่เสื่อลำแพนหรือที่ผืนหนัง หรือที่ผืนผ้า ขนาดโต ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วยกไปตั้งข้างหน้ากองไฟนั้น

วิธีภาวนาเตโชกสิณ
โยคีบุคคลพึงนั่งเข้าที่ โดยทำนองดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล แต่นั้นอย่าได้มนสิการถึงหญ้าและฟื้นข้างล่าง หรืออย่ามนสิการถึงเปลวควันข้างบน จึงจับตาเอานิมิตในเปลวไฟอันหนาทึบตรงระหว่างกลางนั้น อย่าพิจารณาถึงสีของไฟด้วยสามารถแห่งสีเขียวหรือสีเหลืองเป็นต้น อย่ามนสิการถึงลักษณะด้วยสามารถเป็นสภาวะที่ร้อนจึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติ ด้วยอำนาจธาตุไฟซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น ในบรรดาชื่อของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก, กณหวตตนิ, ชาตเวโท, หุตาสโน เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่า เตโช เตโช หรือว่า ไฟ-ไฟ ดังนี้เรื่อย ๆ ไป


ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไปนั่นแล อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ตามทำนองที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นเที่ยว ในนิมิต ๒ อย่างนั้น อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นเหมือนเปลวไฟขาดตกหายไป ๆ แต่เมื่อจับเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาแล้ว (จิตไม่จับไปตรงไฟอย่างเดียว ไปมนัสสิการอย่างอื่นเข้ามาด้วย) โทษแห่งกสิณย่อมจะปรากฏให้เห็น กล่าวคือลูกไฟบ้าง ก้อนถ่านบ้าง ขี้เถ้าบ้าง ควันบ้าง ก็จะปรากฏขึ้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสภาวะที่ไม่เคลื่อนไหว ย่อมปรากฏเหมือนท่อนผ้ากัมพลแดงที่อยู่กลางแจ้ง และเหมือนตาลปัตรทองคำ หรือเหมือนเสาทอง โยคีบุคคลนั้นย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นทีเดียว และย่อมจะบรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล

จบเตโชกสิณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น