วันพุธ

๔. วาโยกสิณภาวนา

🙏 ๔. วาโยกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งวาโยกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงพยายามจับเอาซึ่งนิมิตในลม ก็แหละ นิมิตนั้นจะพึงจับเอาได้ด้วยสามารถที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้อง เพราะเหตุที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาวาโยกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในลม คือ ย่อมกำหนดยอดอ้อยที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไผ่ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไม้ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไป หรือกําหนดปลายผม ลมพัดให้ล้มลงให้ล้มราบลง หรือกำหนดตรงที่ลมมาถูกต้องกาย ฉะนั้น โยคีบุคคลครั้นได้เห็นอ้อยหรือไผ่หรือต้นไม้ซึ่งมีใบหนาขึ้นอยู่อย่างมียอดเสมอกัน ถูกลมพัดอยู่ก็ดี หรือได้เห็นศีรษะของบุรุษผู้มีผมดกยาวประมาณ ๔ องคุลี ถูกลมพัดอยู่ก็ดี จึงตั้งสติไว้ว่า ลม ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้นหรือพึ่งตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่าง หรือทางรูฝาแล้วมากระทบประเทศของกายครั้นแล้วในบรรดาชื่อของลมทั้งหลาย เช่น วาโต, มารุโต, อนิล เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถแห่งชื่อที่ปรากฏรู้จักกันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่าวาโต - วาโต หรือว่า ลม ลม ดังนี้เรื่อย ๆ ไป



ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
ในวาโยกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตมีลักษณะคล้ายกับเกลียวไอของข้าวต้มที่ปลงลงจากเตาใหม่ ๆ ย่อมปรากฏเป็นสภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตเป็นสภาพสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนอุคคหนิมิต คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วใน 🔎ปฐวีกสิณภาวนานั้นนั่นเทียว

จบวาโยกสิณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น