แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอโศก แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอโศก แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดี

มคธผ่านสู่ยุคอโศก

เมืองปาตลีบุตรได้เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธก่อนพระเจ้าอโศกตั้ง นาน คือหลังพุทธกาลไม่นาน แล้วก็เป็นสืบมา พระเจ้าอโศกนี้มิใช่อยู่ใน วงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู หรือพระเจ้าพิมพิสาร แม้จะอยู่แคว้นมคธ และครองแคว้นมคธก็จริง แต่เป็นกษัตริย์วงศ์อื่น

เรื่องมีว่า กษัตริย์วงศ์พระเจ้าพิมพิสารที่ครองแคว้นมคธนั้น ลูกฆ่าพ่อตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ชื่ออุทัยภัทร ก็ฆ่าพระบิดาอีก ต่อมาโอรสของพระเจ้าอุทัยภัทรก็ฆ่าพระบิดาอีก ฆ่ากันมาหลายชั่วกษัตริย์ จนพวกอำมาตย์และราษฎรทนไม่ไหวก็เลยยืดอานาจ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้น ราชวงศ์ใหม่ก็ปกครองกันมาขยายอำนาจกว้างขวางขึ้น ต่อมาในอินเดีย แคว้นต่างๆ ก็ค่อยๆ หมดอำนาจ จนเหลือแต่แคว้นมคธที่ยังยิ่งใหญ่ ระหว่างที่กษัตริย์ยุคหลังๆ ครองราชย์กันต่อมา ก็มีกษัตริย์วงศ์หนึ่ง ชื่อว่า วงศ์โมริยะ ซึ่งเป็นเจ้าเผ่าหนึ่ง ได้เรืองอำนาจขึ้น ในสมัยหลังพุทธกาลประมาณ ๑๐๐ กว่าปี เจ้าเผ่าโมริยะนี้ ว่ากันว่าเป็นสายพระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าศากยะที่ถูกล้างเผ่า ถ้าพูดอย่างนี้อาจจะงง แต่เรื่องราวก็มีอยู่ ซึ่งต้องโยงเรื่องไปหาสมัยพุทธกาลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้าคือ วงศ์ศากยะ ซึ่งตอนท้ายได้ถูกกษัตริย์แคว้นโกศลยกทัพไปปราบทำลายหมด กษัตริย์แคว้นโกศลตอนนั้นชื่อว่า พระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ตอนท้ายพุทธกาล พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพไปปราบแคว้นศากยะแล้วก็ทำลายแคว้นศากยะหมด กษัตริย์สายศากยะที่หลงเหลืออยู่ อาจหนีไปอยู่ตามเชิงเขาหิมาลัย ต่อมา ก็ได้ค่อยๆ รวบรวมพวกพ้องเผ่าพันธุ์จนมีกำลังมากขึ้น โมริยะนี้ก็เป็นศากยะสายหนึ่ง

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๑๖๑ ก็ได้มีคนสำคัญในวงศ์โมริยะเกิดขึ้นชื่อว่าจันทรคุปต์ ซึ่งได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจและชิงแคว้นมคธ เวลานั้นแคว้นมคธใหญ่มาก โมริยะเป็นเพียงชนเผ่าหนึ่งเท่านั้น พวกโมริยะ โดยจันทรคุปต์เป็นหัวหน้าได้พยายามเข้ามายึดอำนาจ พอดีถึงยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช มีอำนาจขึ้นมาทางกรีก ต้องการแผ่อำนาจไปทั่วโลก ก็ได้กรีฑาทัพตีมาตลอด จนถึงชายแดนประเทศอินเดีย และคิดว่าต้องตีประเทศอินเดียด้วย จึงได้พักกําลังพลอยู่ชายแดนประเทศอินเดียที่เมืองตักศิลา (บาลีสันสกฤต = ตกฺษศิลา; ฝรั่งเขียนตามกรีก = Taxila) แคว้นมคธ แต่ก็ยังทำการไม่สำเร็จ

ตักศิลา เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ที่ตักศิลานั้น อเล็กซานเดอร์มหาราชเตรียมวางแผนที่จะทำสงครามกับชมพูทวีป คือแคว้นมคธนี้ ซึ่งกำลังเป็นแคว้นมหาอำนาจอยู่ พอดีประจวบเวลาเดียวกันกับปู่ของพระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์ ก็กำลังพยายามจะเข้ายึดอำนาจแคว้นมคธ จึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมารวมเป็นพันธมิตรกัน แล้วช่วยกันรบ ก็จะเอาชนะแคว้นมคธได้ ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็คิดว่า ถ้าได้คนอินเดียเองมาช่วย การรบก็จะมีกำลังทําให้สําเร็จง่ายขึ้น ฝ่ายจันทรคุปต์ก็เช่นเดียวกัน คิดว่าถ้าได้อาศัยฝ่ายอเล็กซานเดอร์มาช่วย ก็จะสามารถรบชนะได้ เพราะตนมีกำลังไม่พอ ทั้งสองฝ่ายมีความคิดร่วมกันอย่างนี้ ก็นัดพบกัน พอพบกัน ก็เกิดมีปัญหาว่าใครจะเคารพใครก่อน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ถือตัวไม่ยอมเคารพก่อน ฝ่ายจันทรคุปต์ (พวกกรีกเรียกว่า Sandrocotus หรือ Sandracottos) เข้าไปในเขตอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เพราะเข้าไปพบในค่ายของเขา เพราะเกี่ยงกันทำความเคารพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เลยสั่งจับเอาจันทรคุปต์เข้าคุกขังไว้ แต่มีเรื่องเล่าว่า ต่อมาจันทรคุปต์หนีออกไปได้ และมีนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องที่จันทรคุปต์หนีออกมา

ส่วนทางฝ่ายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เอง คิดไปคิดมาอย่างไรไม่ทราบ ก็ยกทัพกลับ แล้วก็ไปสวรรคตกลางทาง ดินแดนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เคยยึดได้ พระองค์ก็ทิ้งแม่ทัพนายกองไว้ให้ปกครอง แม่ทัพนายกองเหล่านั้นต่อมาก็ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เกิดเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น แคว้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงสืบต่อกันมาซึ่งชาวพุทธรู้จักกันมาก ก็คือ แคว้นโยนก ของพระเจ้าเมนานเดอร์ (Menander บางทีเขียนเป็น Minedra บ้าง Menadra บ้าง) เรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ซึ่งหันมานับถือพุทธศาสนาในสมัยพุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ปี (แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งว่าประมาณ พ.ศ. ๔๐๐) พระเจ้ามิลินท์เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในราชวงศ์ที่สืบมาจากแม่ทัพกรีก ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ ครองราชย์ที่เมืองสาคละ นักประวัติศาสตร์ว่าเป็นราชาแห่งประเทศแบกเตรีย (king of Bactria) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอาฟกานิสถาน ในคัมภีร์บาลีเรียกว่าแคว้นโยนก และถือกันว่าเป็นกษัตริย์อินเดียเชื้อสายกรีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (the greatest of the Indo-Greek kings Encycl. Britannica 1988, vol. 8, p.1) พญามิลินท์นี่ เป็นเรื่องสมัยหลังสืบมาอีกนาน คือยุคใกล้ พ.ศ. ๕๐๐ แต่เป็นเรื่องที่โยงถึงกัน ก็เลยเอามาพูดแทรกไว้หน่อย

ขอย้อนกลับไปเรื่องเมื่อกี้ สมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐ โน่น ที่เล่าค้างอยู่ กล่าวฝ่ายพระเจ้าจันทรคุปต์ เมื่อหนีออกมาจากเงื้อมมือของพระเจ้าอเลกซานเดอร์ได้แล้ว ก็ต้องมาหาวิธียึดอำนาจแคว้นมคธด้วยตนเองต่อไป และมีเรื่องมีราวมากมาย เช่น ครั้งหนึ่งเคยนึกว่าตัวเองมีกำลังมากพอแล้ว ก็ยกทัพเข้าตีแคว้นมคธ ปรากฏว่าพ่ายแพ้ จันทรคุปต์เองเอาชีวิตแทบไม่รอด แล้วก็หนีซอกซอนไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนั้น พอดีผ่านมาทางบ้านที่ยายคนหนึ่งกำลังทำขนมเบื้องให้หลานกิน ทีนี้พอเอาลงจากเตา เรียกว่าทอดเสร็จใหม่ๆ ก็หยิบส่งให้หลาน หลานรับมากำลังร้อนๆ กัดกร่วมลงไปตรงกลางก็ร้องไห้จ้าเพราะมันร้อนจัด ลวกเอาลิ้นเอาปากเข้า เมื่อหลานร้องขึ้นมา ยายก็เลยด่าเอาว่า “เอ็งมันโง่เหมือนเจ้าจันทรคุปต์ ไปกัดไปกินได้ยังไงตรงกลางยังร้อนจัด มันต้องและเล็มกินจากขอบข้างนอกเข้ามาก่อน” ขอบมันบาง ก็เย็นเร็วกว่า

พระเจ้าจันทรคุปต์ กำลังหนีซอกซอนมาในชนบทถึงหมู่บ้านนั้นพอดี เมื่อได้ยินเสียงยายด่าหลานอย่างนี้ ก็ได้ความคิดขึ้นมาทันที จึงเปลี่ยนแผนการรบใหม่ว่า จะไปรบโดยตรงบุกทะลวงเข้าไปคงไม่ไหว กำลังเราน้อยกว่า ต้องใช้วิธีแบบกินขนมเบื้อง คือเล็มจากขอบเข้ามา จึงค่อยๆ ไปซ่องสุมกำลังใหม่ โดยทำสัมพันธไมตรีกับเผ่าเล็กเผ่าน้อย รวมไพร่พลได้มากขึ้นแล้ว จึงเข้ามาที่อาณาจักรมคธ ด้วยวิธีล้อมเข้ามาจากรอบนอกตามลำดับ ในที่สุด พระเจ้าจันทรคุปต์ก็รบชนะแคว้นมคธ แล้วก็เข้าครอบครองแผ่นดินมคธ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์โมริยะ ในภาษาบาลี ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียก เมารยะ และครองเมืองปาตลีบุตรนี้สืบมา

โอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์นั้นมีพระนามว่าพินทุสาร โอรสของพระเจ้าพินทุสารมีนามว่าอโศก ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชนี่แหละ พระเจ้าอโศกมหาราช แต่แรกก็เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก คือตอนเป็นเจ้าชาย ได้ไปเป็นอุปราชที่เมืองอุชเชนีที่บอกชื่อเมื่อกี้ ครั้นพระราชบิดา คือพระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกก็ได้ฆ่าพี่น้องหมดประมาณ ๑๐๐ องค์ เหลือไว้เฉพาะพระอนุชาร่วมมารดาองค์เดียว ด้วยความกระหายอำนาจ ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ผู้เดียว พอขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคว้นมคธได้แล้วไม่พอ ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ก็แสวงอำนาจต่อไป เมื่อพร้อมแล้วก็ยกทัพไปรุกรานที่ประเทศอื่น โดยหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อไปในประวัติศาสตร์ หรือผู้เดียวในชมพูทวีป พระเจ้าอโศกได้ยกทัพตีลงไปจนกระทั่งถึงแคว้นกลิงคะ ซึ่งเป็นแคว้นที่ได้ชื่อว่ามีนักรบที่เก่งกาจ มีกองทัพที่เข้มแข็ง มีความสามารถอย่างยิ่ง ได้รบกันอยู่เป็นเวลานาน เกิดความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ชนะ แคว้นกลิงคะก็แตกไป แต่การรบครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงมาก คนตายกันเป็นแสน สูญหายเป็นแสน ถูกจับเป็นเชลยก็เป็นแสน ถึงตอนนี้นี่แหละที่พระเจ้าอโศกทรงสลดพระทัย แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ถึงขั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

แผ่นจารึกธรรมและรัฐบัญญัติสมัยพระเจ้าอโศกที่เธาลีคีรี เมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ จากการเอาชนะด้วยสงคราม มาสู่ธรรมวิชัยแปลว่าเอาชนะด้วยธรรม คือเอาชนะใจกันด้วยความดี ก็ได้สร้างสมความดีเป็นการใหญ่ มีการทํางานเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นอันมาก