วันจันทร์

๑. สติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน หมายความว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งสติ เรียกว่าสติปัฏฐาน เช่น กายเป็นที่ตั้งของสติ และสตินั้นก็เป็นที่ตั้งได้ด้วยและเป็นตัวสติด้วย คำว่า สติ คือการระลึกได้ ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมุ่งหมายถึง สติที่มีการระลึกได้ใน กาย เวทนา จิต ธรรม

เหตุที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง ก็เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์ที่มีจริตต่างกัน คือ

๑. ตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์ที่หยาบจะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดที่มีนิมิตเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักก็เหมาะสมกับพวกสมถยานิกะประเภทยังอ่อน (พวกที่ปฏิบัติสมถะ)

๒. ตัณหาจริตอย่างกล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ละเอียดจะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับพวกสมถยานิกะประเภทแก่กล้า

๓. ทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์ละเอียดแต่ก็แยกรายละเอียดออกไปไม่มากนัก จะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับผู้ที่เป็นวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน

๔. ทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์อันละเอียดลึกซึ้งแยกประเภทออกไปมาก จะเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ และเหมาะสมกับผู้ที่เป็นวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า

สติปัฏฐาน ๔ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อละสุภวิปัลลาส สุขวิปัลลาส นิจจวิปัลลาส และอัตตวิปัลลาส เป็นทางสายเอกที่จะนำเหล่าเวไนยสัตว์ให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ ข้ามพ้นโสกะปริเทวะ ดับทุกข์ โทมนัส บรรลุเญยยธรรม แจ่มแจ้งในพระนิพพาน


ข้อเปรียบเทียบพระนิพพานเหมือนพระนคร
โลกุตตรมรรคประ
กอบด้วยองค์ ๘ เหมือนประตูพระนคร
ผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ต้อง
ปฏิบัติด้วยการระลึก เช่น การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี ๑๔อย่างแล้ว (มีอานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ เป็นต้น) ก็จะไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน คือ พระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของกายานุปัสสนา เหมือนคนทั้งหลายเดินทางมาจากทิศตะวันออกถือเอาสิ่งของที่มีในทิศตะวันออก ก็เข้าพระนครได้ ฉะนั้น

สติปัฏฐาน มี ๔ คือ
๑. 🔎กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณากาย เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ  พิจารณากายเป็นอารมณ์กรรมฐานจึงจะสามารถกำจัดอภิชฌา (คือ โลภะ ความยินดีพอใจ) และโทมนัส (คือ โทสะ ความไม่ยินดีไม่พอใจ) ที่เกิดเพราะกายเป็นเหตุได้

๒. 🔎เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาเวทนา เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ พิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะเวทนาเป็นเหตุได้


๓. 
🔎จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาจิต เป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะพิจารณาจิตเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะจิตเป็นเหตุได้

๔. 🔎ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลักการใช้สติพิจารณาสภาวธรรมเป็นกรรมฐานที่ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องเป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ พิจารณาสภาวธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงจะสามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสที่เกิดเพราะสภาวธรรมเป็นเหตุได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น