วันพุธ

อินทรียสังวรศีล

อินทรียสังวรศีล เป็นกิจของสมณะต้องประพฤติเสมอ

บัดนี้จะว่าในอินทรียสังวรศีล ความสำรวมระวังรักษาซึ่งอินทรีย์ทั้ง ๖ อันเป็น🔎อายตนะภายใน เมื่อกระทบถูกอายตนะภายนอก อย่าพึ่งทำความยินดีให้เกิดขึ้นด้วยสังกิเลสธรรม อันเป็นเครื่องเศร้าหมองในสันดาน จึงกำหนดให้เห็นลงด้วยปัญญาเป็นไปสักแต่ว่า🔎ธาตุ และยึดถือเอาพระ🔎ไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ โดยความที่ว่าเป็นของไม่เที่ยง แลเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อทำปัญญาให้เป็นไปโดย🔎ปัจจเวกขณวิธี พิจารณาเห็นลงซึ่งสังขารธรรมให้เป็นไปดังนี้ ก็เป็นเหตุที่จะกำจัดสังกิเลสธรรมเครื่องลามกเศร้าหมองเสียให้ห่างไกลได้ จิตของภิกษุนั้นก็ปราศจากกังวล ตั้งมั่นในการเจริญสมณธรรมเป็นเบื้องหน้า ในอินทรีย์ ๖ นี้ คือ

จักขุนทรีย์
(อินทรีย์ คือ ตา สำหรับดูรูป ๑)
โสตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สำหรับฟังเสียง ๑)
ฆานินทรีย์ (อินทรีย์ คือ จมูก สำหรับดม ๑)
ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ลิ้น สำหรับลิ้มรส ๑)
กายินทรีย์ (อินทรีย์ คือ กายสำหรับถูกต้อง โผฏฐพพารมณ์ ๑)
มนินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ใจ สำหรับรู้เหตุผล ๑)

รวมเป็น ๖ ประการ ซึ่งให้สำรวมระวังนั้น คือ

๑. ตาได้มองเห็นรูป
ชายหญิง หรือรูปอื่น ๆ ที่ ประณีตหรือเลวทราม ที่หยาบหรือละเอียดในที่ใดที่หนึ่ง ตนจะชอบใจหรือมิชอบใจก็ตาม อย่าพึงทำความรักยินดี และความไม่รักไม่ยินดี ควรระงับความโสมนัสเป็นต้นเสีย หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ส่วนเดียว อันนี้ ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในจักษุ (ตา)

๒. หูได้ยินเสียง
บุรุษหรือสตรี และเสียงอื่น ๆ ในที่ใกล้หรือไกลประการใด อย่าพึ่งทำความรักแลยินดี และไม่รักไม่ยินดี ระงับความโสมนัสแลโทมนัสเป็นต้นเสีย หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ฝ่ายเดียว อันนี้ ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในโสตะ (หู)

๓. จมูกได้ดมกลิ่น
เหม็นหรือหอม ก็พึงระงับ ความยินดีแลไม่ยินดีไว้ หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ส่วนเดียว อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในฆานะ (จมูก)

๔. ลิ้นได้ลิ้มรส
หวาน ขม เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น ประการใด ๆ ก็ดี จะเป็นที่ชอบใจ หรือมิชอบก็ตาม จึงระงับความยินดีและไม่ยินดีไว้ พิจารณาให้เห็นเป็นส่วนพระไตรลักษณ์อย่างเดียว อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในชิวหา (ลิ้น)

๕. กายได้สัมผัส
ถูกต้องเครื่องนุ่งห่ม หรืออาสนะ ที่นั่งนอน อ่อนหรือกระด้าง หรือกระทบความร้อนเย็น เป็นต้นประการใด ๆ ก็ดี พึงระงับความยินดีและอดกลั้นความกระสับกระส่ายเสีย ทำสติให้ระลึกอยู่ในพระไตรลักษณ์ อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในกาย (ตัว)

๖. ใจที่คิดไปในอารมณ์ใด
ที่เป็นส่วนโลกีย์ ประกอบด้วยโสมนัสหรือโทมนัส ก็พึงอดกลั้น อย่าให้ความกำหนัดยินดีอันเป็นส่วนราคะ หรือความทุกข์เป็นเครื่องเศร้าหมองใจบังเกิดขึ้นในจิตสันดานได้ จึงผูกอยู่ในกรรมฐาน คือ🔎อนุสสติ ๑๐ หรือ🔎สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จึงได้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในใจ (ใจ)


รวมเป็นความสำรวมระวังรักษาในอินทรีย์ทั้ง ๖ อย่างนี้เรียกว่าอินทรียสังวรศีล เป็นของภิกษุจะพึง ประพฤติและปฏิบัติ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเครื่อง เศร้าหมองในสันดานให้น้อยลงหรือระงับไป จิตของภิกษุนั้นจึงจะบริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนี้ท่านจึงยกอินทรียสังวรศีล เข้าใจจตุปาริสุทธิศีลด้วย

จบอินทรียสังวรศีลสังเขปแต่เพียงเท่านี้

(อธิบายเพิ่มเติม วิสุทธิมรรค 🔎อินทรียสังวรศีล)

สมณวิสัย

🔅 อินทรียสังวรศีล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น