วันพุธ

อธิบายอินทรียสังวรศีล

อธิบายอินทรียสังวรศีล

ในอินทรียสังวรศีลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในลำดับแห่ง 🔎ปาติโมกขสังวรศีล โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุ ดังนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีล
คำว่า เห็นรูป
ด้วยจักษุ อธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูปได้ ซึ่งได้โวหารว่า จักษุด้วยอำนาจแห่งเหตุ ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า จักษุเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกันบุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตซึ่งมีจักขุปสาทเป็นวัตถุ ก็แหละ การพูดที่ประกอบด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมมีได้เหมือนอย่างในคำมีอาทิว่า คนยิงด้วยธนู เพราะฉะนั้น 
อรรถาธิบายในคำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนี้ ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณนั่นเทียว
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิต อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิตว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีนิมิตสวยงามเป็นต้น หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งอาการอันต่างด้วย มือ, เท้า, การยิ้ม, การหัวเราะ, การพูดและการเหลียวแลเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่า อนุพยัญชนะ เพราะกระทำความปรากฏ โดยเป็นที่ปรากฏเนือง ๆ ของกิเลสทั้งหลาย อาการใดปรากฏในสรีระนั้น ก็ถือเอาเพียงอาการนั้น เหมือนพระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่เจติยบรรพต

เรื่องพระมหาติสสเถระ

ได้ยินว่า ขณะเมื่อพระเถระจากเจติยบรรพตมายังเมืองอนุราธบุรี เพื่อเที่ยวบิณฑบาตนั้น ยังมีหญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง เกิดทะเลาะกับสามีแล้วประดับตกแต่งตนอย่างสวยงามเป็นเสมือนเทพกัญญา แล้วหนีออกจากเมืองอนุราธปุรีไปแต่เช้ามืดทีเดียว เมื่อเดินไปเรือนญาติ ได้พบพระเถระเข้าในระหว่างทางพอดี เกิดมีจิตวิปลาสขึ้น จึงหัวเราะเสียอย่างดัง พระเถระมองดูด้วยคิดว่า นี่อะไรกัน แล้วได้อสุภสัญญากัมมัฏฐานที่กระดูกฟันของหญิงนั้น เลยได้บรรลุพระอรหัต ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พระเถระนั้นเห็นกระดูกฟันของหญิงสะใภ้นั้นแล้วก็ ระลึกขึ้นได้ซึ่งอสุภสัญญากัมมัฏฐานที่ตนเคยได้มาแล้วในกาลก่อน ได้บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตทั้งยืน ณ ที่ตรงนั้นนั่นเทียว

ฝ่ายสามีของนางตามหาไปโดยทางนั้นเห็น
พระเถระเข้า จึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ท่านเห็นสตรีอะไร ๆ บ้าง ไหม ?” พระเถระได้ตอบกับชายสามีนั้นว่า “จะเป็นหญิงหรือเป็นชายเดินไปทางนี้ อาตมาไม่ทราบ แต่ว่าโครงกระดูกนี้เดินไปในทางใหญ่”

ฉะนี้
ในคำว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้จึงไหลไป คือพึ่งติดตามไปซึ่งบุคคลนี้ผู้ไม่ปิดซึ่งจักขุนทรีย์ด้วยบานประตูคือสติ คือไม่ได้ปิดจักขุทวาร เพราะการไม่สังวรจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ คือเพราะเหตุแห่งไม่สังวรจักขุนทรีย์ใด
คำว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรจักขุนทรีย์นั้น ความว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดซึ่งจักขุนทรีย์นั้นด้วยบานประตูคือสติ และเมื่อภิกษุปฏิบัติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั่นแลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า รักษาจักขุนทรีย์บ้าง ถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์บ้าง 

สังวร อสังวร ไม่มีที่จักขุนทรีย์

ในคำว่า ย่อมถึงซึ่งความสังวรในจักขุนทรีย์นั้น อันที่จริง ความสังวรหรือความไม่สังวร ย่อมไม่มีที่จักขุนทรีย์ดอก ความมีสติหรือความเผลอสติก็หาได้บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุปสาทไม่ ก็แต่ว่า กาลใดอารมณ์คือรูปมาสู่คลองจักษุ (รูปกระทบตา) กาลนั้นเมื่อ ภวังคจิต เกิดดับ ครั้ง > กิริยามโนธาตุ (หมายเอาปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำอาวัชชนกิจ* (กิจคือการนึกเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไปแต่นั้น จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้น ทำทัสสนกิจ (กิจคือการเห็นรูป) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากมโนธาตุ (หมายเอาสัมปฏิจฉันนจิต) เกิดขึ้น ทำปฏิจฉันนกิจ (กิจคือการรับเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอาสันตีรณจิต) เกิดขึ้น ทำสันตีรณกิจ (กิจคือการพิจารณารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอามโนทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำโวฏฐพพนกิจ (กิจคือการตัดสินรูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป ลำดับต่อจากกิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้น ชวนจิต ก็แล่นไป ๗ ขณะ สังวรและอสังวรมีขณะแห่งชวนจิต แม้ในสมัยเหล่านั้น สังวรก็ดี อสังวรก็ดี ย่อมไม่มีในภวังคสมัยนั่นเทียว ย่อมไม่มีในอาวัชชนสมัย เป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้าว่า ความทุศีล ความเผลอสติ ความไม่รู้ ความไม่อดทน หรือความเกียจคร้าน เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต อสังวรก็ย่อมมีได้ แหละอสังวรนั้นเมื่อมีอยู่โดยทำนองนี้ ท่านเรียกว่า ความไม่สังวรในจักขุนทรีย์

(* 
อาวัชชนกิจ หน้าที่ของจิตคือรำพึงถึงอารมณ์ หมายถึง กิจของวิถีจิตที่รู้อารมณ์ เป็นขณะแรกทางทวารทั้ง ๖ จิตที่ทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง เป็นอเหตุกิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง คือ
๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวาร
๒. มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร)

เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า เมื่ออสังวรนั้นมี แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันไม่รักษาแล้ว ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันไม่รักษาแล้วตลอดแถว 
ข้อความที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนประตูเมือง ๔ ประตูไม่ได้ปิด ถึงจะปิดประตูเรือน, ยุ้งฉางและห้องหับอันเป็นภายในอย่างเรียบร้อยแล้วก็ตาม แม้ถึงกระนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาไม่คุ้มครองสิ่งของทั้งมวลอันอยู่ภายในเมืองนั่นเทียว เพราะเหตุว่าโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูเมืองแล้วจะทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้อยู่ฉันใด เมื่อโทษทั้งหลายมีความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ชวนะ ครั้นความไม่สังวรมี
อยู่ที่ชวนะนั้น แม้ทวารก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมี อาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน นี้คือลำดับแห่งวิถีจิตที่เกิดขึ้นในทางจักขุทวารเป็นธรรมนิยม ต้อง 🔎เรียนพระอภิธรรมประกอบด้วย จึงจะเข้าใจแจ้งชัด สำหรับผู้เรียนพระอภิธรรมแล้ว แม้จะไม่แปล พอได้ยินศัพท์ก็เข้าใจได้ เช่นคำว่า อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ และกิริยามโนธาตุ วิปากมโนธาตุ เป็นต้น

แต่เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ นั้น แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันรักษาแล้วเช่นกัน 
ที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูเมืองปิดแล้ว ถึงเรือนทั้งหลายที่อยู่ภายในเมืองเป็นต้นมิได้ปิดประตู แม้ถึงกระนั้น ก็ได้ชื่อว่ารักษาดีแล้วคุ้มครองดีแล้ว ซึ่งสิ่งของทั้งมวล ที่มีอยู่ภายในเมืองนั่นแล เพราะเหตุว่า เมื่อปิดประตูเมืองทั้ง ๔ ประตูแล้ว โจรทั้งหลายย่อมเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ แม้ทวารก็ชื่อว่ารักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันรักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังบรรยายมา แม้ถึงความสังวรจะเกิดขึ้นอยู่ที่ขณะแห่ง ชวนะ ท่านก็กล่าวว่าความสังวรในจักขุนทรีย์ ฉะนี้ แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า ฟังเสียงด้วยโสตะ เป็นต้น ก็มีอรรถาธิบายโดยทำนองเดียวกันนี้นั่นเที่ยว

นักศึกษาพึงทราบว่า เมื่อว่าโดยย่อแล้ว อินทรียสังวรศีล นี้ มีอันเว้นจากการยึดถือซึ่งนิมิต อันเป็นที่ตามผูกพันแห่งกิเลสในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น