แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด

วันจันทร์

๑.๓๐ ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”

ขณะจิตหนึ่งๆ ประกอบด้วยขณะเล็ก ๓ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรไป ขณะจิตเล็ก ๓ ขณะนี้รวมเป็นขณะจิตใหญ่ขณะ ๑ ขณะจิตใหญ่เกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปธรรมจึงดับหน ๑ กล่าวคือ จิต เกิดดับเร็วกว่า รูป ๑๗ เท่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการของจิตแบบที่เรียกว่า “อติมหันตารมณ์” ซึ่งเป็นจิตที่รับรู้ทางทวาร ๕ (ปัญจทวารวิถี) ประกอบด้วย ๑๗ ขณะจิตเล็ก ดังนี้

ขณะที่ ๑ อตีตภวังคจิต ภวังคจิตที่สืบต่อมา
ขณะที่ ๒ ภวังคจลนจิต ภวังคจิตเริ่มไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ
ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทจิต จิตขาดจากกระแสภวังค์ของอารมณ์เก่า
ขณะที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนจิต จิตขึ้นสู่ปัญจทวาร, คำนึงถึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ (ถ้าเป็นมโนทวารวิถี ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต)
ขณะที่ ๕ ปัญจวิญญาณจิต จิตรับรู้อารมณ์ในปัญจทวาร คือ เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ขณะที่ ๖ สัมปฏิจฉันนจิต จิตรับเอาอารมณ์จากปัญจวิญญาณ
ขณะที่ ๗ สันตีรณจิต จิตพิจารณาไต่สวนเปรียบเทียบอารมณ์
ขณะที่ ๘ โวฏฐัพพนจิต จิตตัดสินอารมณ์, กำหนดอารมณ์
ขณะที่ ๙-๑๕ ชวนจิต การแล่นไปในอารมณ์ เกิดดับอยู่อย่างนี้ติดต่อกัน ๗ ขณะ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยจะเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) อยู่ใน ๗ ขณะนี้
ขณะที่ ๑๖-๑๗ ตทาลัมพนจิต จิตยึดหน่วงเอาอารมณ์ตามชวนะ เป็นการเกิดวิบากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ก่อนตกภวังค์

ในรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถีดังข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (เรียกว่า อติมหันตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัวจนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔ จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏมีกำลังน้อย (ปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นอ่อนกำลังเกินไป (อติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย เรียกว่าเป็นโมฆวาระ

ส่วนในมโนทวารวิถี เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ แล้วเกิดเป็นวิถีจิต ๗ ขณะต่อไปเลย ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฏเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย

กรณีอื่นๆยังมีอีก เช่น เมื่ออ่อนกำลังชวนจิตเกิดแค่ ๖ ขณะก็มี, ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ, ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลังยิ่ง อย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดเพียง ๔-๕ ขณะ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะ ไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้เป็นต้น



วันพุธ

๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, วิญญาณขันธ์ (ศัพท์คำว่า “อารมณ์” ในภาษาบาลีหมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือ จิตระดับวิถี กับ จิตระดับภวังค์

วิถีจิต คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ วิถีจิตเป็นจิตภาคปฏิบัติการ จะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) ปรุงแต่งในวิถีจิตนี้เอง

ภวังคจิต คือ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ภพ+องค์) เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภวังคจิตเป็นจิตส่วนวิบาก (คือส่วนที่เป็นผล)

ตามแนวพระอภิธรรมเรียกวิญญาณขันธ์ว่าจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นลำพังโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าจิตแล้วไม่ว่างจากอารมณ์ (คือเมื่อมีจิตแล้วต้องมีสิ่งที่จิตเข้าไปรู้ หรืองานของจิตเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ) ถ้าจิตไม่จับยึดอารมณ์ในปัจจุบันก็ต้องจับยึดเอาอารมณ์ในอดีต แม้แต่ขณะหลับสนิท จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ภวังคจิตก็ยึดธรรมารมณ์ในอดีตเป็นอารมณ์ และถือว่าสรรพสังขารธรรมของจิตเกิดดับทุกขณะ สืบสันตติเรื่อยไปดุจดังสายน้ำในแม่น้ำซึ่งไหลไม่ขาดสาย จนกว่าจะถึงภาวะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภวังคจิตจึงดับสนิท

ประเด็นที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับภวังคจิต คือ
ประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะถูกบันทึกไว้ในภวังคจิตทั้งหมด

กรรมของเราสั่งสมสืบมาในภวังคจิตนี้ จึงเป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ทั้งนี้เป็นการ สั่งสม เคลื่อนย้าย เกิดดับ ไปในลักษณะของสังขตธรรม ไม่ได้เป็นอัตตา ยืนโรง ฝืนกระแสอยู่)

ภวังคจิต คือ มโน เป็นอายตนะที่ ๖ (มโนทวาร) อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต (ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพหรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ภายนอก

ภวังคจิตเป็นจิตส่วนหลักหรือส่วนใหญ่ของชีวิตเรา จะเรียกว่าเป็นจิตยืนพื้น จิตตสันดาน หรือปกติจิตก็ได้

ภวังคจิตทำงานเกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย และนำพาชีวิตไป (แม้แต่ช่วงที่จิตวิถีดับไป เช่น หลับสนิท หรือ หมดสติ ภวังคจิตก็ยังทำงานอยู่)

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นที่ว่า เมื่อพระอรหันต์อนุปาทิเสสนิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ประจักษ์แก่ตนเองก็ไม่สามารถรู้ชัดได้ กล่าวตามตำราคือ เป็นนิพพานธาตุ ซึ่งนิพพานธาตุนี้อาจมีข้อสงสัยว่า คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือ ไม่มีจิตซึ่งเสวยอารมณ์ใดๆเลย ปัญหาข้อนี้ในพระอภิธรรมแสดงไว้ชัดเจน

“ธรรมมีอารมณ์ เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์

“ธรรมไม่มีอารมณ์ เป็นไฉน? รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีอารมณ์

“ธรรมเป็นจิต เป็นไฉน? จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นจิต

“ธรรมไม่เป็นจิต เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นจิต” (มหันตรทุกะ)

    ในบทเดียวกันนี้ยังแสดงอีกว่า อสังขตธาตุ ไม่เป็นเจตสิก, วิปยุตจากจิต, ไม่เจือกับจิต, ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, ไม่เกิดร่วมกับจิต, ไม่เกิดคล้อยตามจิต (แต่จิตเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยะบุคคล) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับภาวะของนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นภาวะที่เข้าใกล้นิพพานที่สุด ท่านก็ว่านอกจาก เวทนา สัญญา ดับแล้ว ขันธ์ส่วนที่เป็นนามธรรมที่เหลืออย่าง สังขาร วิญญาณ ก็เกิดน้อยเต็มที (ในวิสุทธิมรรคท่านใช้คำว่า “ไม่มีจิต” เลยทีเดียว)

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้เป็นเรื่องรายละเอียด ซึ่งการจะทำเข้าใจให้กระจ่าง สิ้นสงสัย ก็ต้องเกิดจากการได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองไปตามลำดับ ท่าทีที่เหมาะสมของผู้ศึกษาอาจจะเพียงแต่พิจารณาลักษณะและภาวะของนิพพานตามตำราให้เข้าใจในหลักการสำคัญๆให้ชัดไว้ก็น่าจะเพียงพอในเบื้องต้น เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “กายก็แตกทำลายแล้ว สัญญาก็ดับแล้ว เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง

“เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น” (ทัพพะสูตร)



ภวังคจิต

ภวังคจิต ภวังคะ หรือ ภะ-วัง-คะ ภว+องฺคะ แปลตามพยัญชนะว่า "องค์ของภพ" มักใช้รวมกับจิต เป็นภวังคจิต ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า จิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสืบต่อสันตติของจิต ย่อมอาศัยการถ่ายทอดข้อมูลจากภวังคจิตจิตดวงเดิม ไปสู่จิตดวงใหม่ ด้วยกระบวนการของการทำงานของภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตเป็นเหตุให้สร้างจิตดวงใหม่ตลอดเวลาก่อนจิตดวงเก่าจะดับไป จึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่ง "ภพ" หรือเป็นเหตุสร้าง"ภพ" 


จิต ในทางศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
๑.วิถีจิต จิตสำนึก
๒.ภวังคจิต จิตใต้สำนึก

ภวังคจิต คือจิตใต้สำนึกในทางศาสนาพุทธหมายถึงเป็นกระบวนการทำงานแบบอัตตโนมัติของจิต จิตใต้สำนึกในความหมายของภวังคจิตนี้จึงอาจแตกต่างจากทางจิตวิทยาภวังคจิต เป็น วิบากจิต คือ จิตใต้สำนึกส่วนลึกที่สุดของจิตเป็นที่สั่งสมอารมณ์จนกลายเป็นอุปนิสัย ภวังคจิต จะเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตในแต่ละวาระ ทำหน้าที่สืบต่อและดำรงภพชาติ ภวังคจิต จะเกิดขึ้นเมื่อวิถีจิตดับและเมื่อเกิดวิถีจิตกลับมาทำหน้าที่ ภวังคจิตก็จะดับลง เมื่อวิถีจิตดับลงภวังคจิตจะเกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีภวังคจิต พอขาดวิถีจิต จิตจะไม่มีการสืบต่อสันตติก็เท่ากับสิ้นชีวิต ภวังคจิต ในขณะที่เปลี่ยนภพจุติใหม่สู่ชาติใหม่ จะใช้ชื่อว่า ปฏิสนธิจิตแทน ซึ่งเป็นขณะจิตแรกของแต่ละชาติ ภวังคจิตจึงสืบต่อภพในระดับเปลี่ยนชาติด้วย ภวังคจิต คือมโนทวารเป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต(ธรรมอันเป็นกลาง ระหว่างกุศลกับอกุศล ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล, กลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพปกติ เมื่อยังไม่ขึ้นสู่วิถีจิตรับรู้อารมณ์ จะเป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ เมื่อรับอารมณ์คือเจตสิก จะกลายเป็นมโนวิญญาณ

มีพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา" จิตที่ประภัสสรในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าหมายถึงภวังคจิต

อธิบายอินทรียสังวรศีล

อธิบายอินทรียสังวรศีล

ในอินทรียสังวรศีลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในลำดับแห่ง 🔎ปาติโมกขสังวรศีล โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุ ดังนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีล
คำว่า เห็นรูป
ด้วยจักษุ อธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูปได้ ซึ่งได้โวหารว่า จักษุด้วยอำนาจแห่งเหตุ ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า จักษุเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกันบุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตซึ่งมีจักขุปสาทเป็นวัตถุ ก็แหละ การพูดที่ประกอบด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมมีได้เหมือนอย่างในคำมีอาทิว่า คนยิงด้วยธนู เพราะฉะนั้น 
อรรถาธิบายในคำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนี้ ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณนั่นเทียว
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิต อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิตว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีนิมิตสวยงามเป็นต้น หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งอาการอันต่างด้วย มือ, เท้า, การยิ้ม, การหัวเราะ, การพูดและการเหลียวแลเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่า อนุพยัญชนะ เพราะกระทำความปรากฏ โดยเป็นที่ปรากฏเนือง ๆ ของกิเลสทั้งหลาย อาการใดปรากฏในสรีระนั้น ก็ถือเอาเพียงอาการนั้น เหมือนพระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่เจติยบรรพต

เรื่องพระมหาติสสเถระ

ได้ยินว่า ขณะเมื่อพระเถระจากเจติยบรรพตมายังเมืองอนุราธบุรี เพื่อเที่ยวบิณฑบาตนั้น ยังมีหญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง เกิดทะเลาะกับสามีแล้วประดับตกแต่งตนอย่างสวยงามเป็นเสมือนเทพกัญญา แล้วหนีออกจากเมืองอนุราธปุรีไปแต่เช้ามืดทีเดียว เมื่อเดินไปเรือนญาติ ได้พบพระเถระเข้าในระหว่างทางพอดี เกิดมีจิตวิปลาสขึ้น จึงหัวเราะเสียอย่างดัง พระเถระมองดูด้วยคิดว่า นี่อะไรกัน แล้วได้อสุภสัญญากัมมัฏฐานที่กระดูกฟันของหญิงนั้น เลยได้บรรลุพระอรหัต ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พระเถระนั้นเห็นกระดูกฟันของหญิงสะใภ้นั้นแล้วก็ ระลึกขึ้นได้ซึ่งอสุภสัญญากัมมัฏฐานที่ตนเคยได้มาแล้วในกาลก่อน ได้บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตทั้งยืน ณ ที่ตรงนั้นนั่นเทียว

ฝ่ายสามีของนางตามหาไปโดยทางนั้นเห็น
พระเถระเข้า จึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ท่านเห็นสตรีอะไร ๆ บ้าง ไหม ?” พระเถระได้ตอบกับชายสามีนั้นว่า “จะเป็นหญิงหรือเป็นชายเดินไปทางนี้ อาตมาไม่ทราบ แต่ว่าโครงกระดูกนี้เดินไปในทางใหญ่”

ฉะนี้
ในคำว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้จึงไหลไป คือพึ่งติดตามไปซึ่งบุคคลนี้ผู้ไม่ปิดซึ่งจักขุนทรีย์ด้วยบานประตูคือสติ คือไม่ได้ปิดจักขุทวาร เพราะการไม่สังวรจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ คือเพราะเหตุแห่งไม่สังวรจักขุนทรีย์ใด
คำว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรจักขุนทรีย์นั้น ความว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดซึ่งจักขุนทรีย์นั้นด้วยบานประตูคือสติ และเมื่อภิกษุปฏิบัติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั่นแลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า รักษาจักขุนทรีย์บ้าง ถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์บ้าง 

สังวร อสังวร ไม่มีที่จักขุนทรีย์

ในคำว่า ย่อมถึงซึ่งความสังวรในจักขุนทรีย์นั้น อันที่จริง ความสังวรหรือความไม่สังวร ย่อมไม่มีที่จักขุนทรีย์ดอก ความมีสติหรือความเผลอสติก็หาได้บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุปสาทไม่ ก็แต่ว่า กาลใดอารมณ์คือรูปมาสู่คลองจักษุ (รูปกระทบตา) กาลนั้นเมื่อ ภวังคจิต เกิดดับ ครั้ง > กิริยามโนธาตุ (หมายเอาปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำอาวัชชนกิจ* (กิจคือการนึกเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไปแต่นั้น จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้น ทำทัสสนกิจ (กิจคือการเห็นรูป) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากมโนธาตุ (หมายเอาสัมปฏิจฉันนจิต) เกิดขึ้น ทำปฏิจฉันนกิจ (กิจคือการรับเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอาสันตีรณจิต) เกิดขึ้น ทำสันตีรณกิจ (กิจคือการพิจารณารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอามโนทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำโวฏฐพพนกิจ (กิจคือการตัดสินรูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป ลำดับต่อจากกิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้น ชวนจิต ก็แล่นไป ๗ ขณะ สังวรและอสังวรมีขณะแห่งชวนจิต แม้ในสมัยเหล่านั้น สังวรก็ดี อสังวรก็ดี ย่อมไม่มีในภวังคสมัยนั่นเทียว ย่อมไม่มีในอาวัชชนสมัย เป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้าว่า ความทุศีล ความเผลอสติ ความไม่รู้ ความไม่อดทน หรือความเกียจคร้าน เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต อสังวรก็ย่อมมีได้ แหละอสังวรนั้นเมื่อมีอยู่โดยทำนองนี้ ท่านเรียกว่า ความไม่สังวรในจักขุนทรีย์

(* 
อาวัชชนกิจ หน้าที่ของจิตคือรำพึงถึงอารมณ์ หมายถึง กิจของวิถีจิตที่รู้อารมณ์ เป็นขณะแรกทางทวารทั้ง ๖ จิตที่ทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง เป็นอเหตุกิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง คือ
๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวาร
๒. มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร)

เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า เมื่ออสังวรนั้นมี แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันไม่รักษาแล้ว ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันไม่รักษาแล้วตลอดแถว 
ข้อความที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนประตูเมือง ๔ ประตูไม่ได้ปิด ถึงจะปิดประตูเรือน, ยุ้งฉางและห้องหับอันเป็นภายในอย่างเรียบร้อยแล้วก็ตาม แม้ถึงกระนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาไม่คุ้มครองสิ่งของทั้งมวลอันอยู่ภายในเมืองนั่นเทียว เพราะเหตุว่าโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูเมืองแล้วจะทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้อยู่ฉันใด เมื่อโทษทั้งหลายมีความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ชวนะ ครั้นความไม่สังวรมี
อยู่ที่ชวนะนั้น แม้ทวารก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมี อาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน นี้คือลำดับแห่งวิถีจิตที่เกิดขึ้นในทางจักขุทวารเป็นธรรมนิยม ต้อง 🔎เรียนพระอภิธรรมประกอบด้วย จึงจะเข้าใจแจ้งชัด สำหรับผู้เรียนพระอภิธรรมแล้ว แม้จะไม่แปล พอได้ยินศัพท์ก็เข้าใจได้ เช่นคำว่า อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ และกิริยามโนธาตุ วิปากมโนธาตุ เป็นต้น

แต่เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ นั้น แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันรักษาแล้วเช่นกัน 
ที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูเมืองปิดแล้ว ถึงเรือนทั้งหลายที่อยู่ภายในเมืองเป็นต้นมิได้ปิดประตู แม้ถึงกระนั้น ก็ได้ชื่อว่ารักษาดีแล้วคุ้มครองดีแล้ว ซึ่งสิ่งของทั้งมวล ที่มีอยู่ภายในเมืองนั่นแล เพราะเหตุว่า เมื่อปิดประตูเมืองทั้ง ๔ ประตูแล้ว โจรทั้งหลายย่อมเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ แม้ทวารก็ชื่อว่ารักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันรักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังบรรยายมา แม้ถึงความสังวรจะเกิดขึ้นอยู่ที่ขณะแห่ง ชวนะ ท่านก็กล่าวว่าความสังวรในจักขุนทรีย์ ฉะนี้ แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า ฟังเสียงด้วยโสตะ เป็นต้น ก็มีอรรถาธิบายโดยทำนองเดียวกันนี้นั่นเที่ยว

นักศึกษาพึงทราบว่า เมื่อว่าโดยย่อแล้ว อินทรียสังวรศีล นี้ มีอันเว้นจากการยึดถือซึ่งนิมิต อันเป็นที่ตามผูกพันแห่งกิเลสในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้





วันอาทิตย์

พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร


ประมาณปี พ .ศ. ๑๒๐๐ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราธบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งมากนั้นให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์ได้อาศัยพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์มาเป็นหลักในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ+ธัมมะ+อัตถะ+สัง+คหะ
อภิ = อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ = สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ = เนื้อความ
สัง = โดยย่อ
คหะ = รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึงคัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็ว พระอภิธรรมแบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉทมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงเรื่องธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อและโดย พิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบาก จิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงเรื่องเจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเพื่อปรุงแต่งจิต มี ทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภท เจตสิกฝ่ายกุศลและเจตสิกฝ่ายอกุศล

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค แสดงการนำจิตและเจตสิกมาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่
– ความรู้สึกของจิต (เวทนา)
– เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ)
– หน้าที่ของจิต (กิจ)
– ทางรับรู้ของจิต (ทวาร)
– สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์)
– ที่ตั้งที่อาศัยของจิต (วัตถุ)

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้วจะทำให้รู้กระบวนการทำงานของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญหรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิดประตูให้เกิดจิตบุญหรือจิตบาป จิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับการวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือการวางใจอย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ ) หากเราได้เข้าใจก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้จิตบาปเกิดขึ้นได้

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะ เกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษยภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ ) ขณะเวลาใกล้จะตาย ภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรวางใจอย่างไรจึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าตายแล้วต้องเกิดทันที มิใช่ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบายเรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาคและนิพพาน เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตและเจตสิก อันเป็นนามธรรมมาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูป ร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็นรูปต่างๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึงสมุฏฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่างๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร ในตอนท้ายได้กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานว่ามีสภาวะอย่างไร อันจะทำให้เข้าใจเรื่องของพระนิพพานได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค เมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มา จากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความสุขและธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ ในสภาวะความเป็นจริงแล้วกุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจและไม่รู้จักกับกุศลและอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรมที่ควรรู้ที่สำคัญๆได้แก่ อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทานยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น) อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์) , ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่ง สภาพ ของตน ), อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ ),โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลการตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏ ฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้ายยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุติโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึงความแตกต่างของสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตเกิดความสงบ และเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ) เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำสมาธิหรือสมถกรรมฐานนั้นเป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญสมถกรรมฐานถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุข อยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น
จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า จิต + เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตต่างก็มีการเกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป – เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนอะไรของใคร ไม่มี ใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็จะสามารถประหารกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด



วันจันทร์

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


วันอาทิตย์

๕. ลักษณะของจิต

คำว่าลักษณะนี้ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาใช้เรียกทั้งบัญญัติและปรมัตถ์ โดยมีหลักการแบ่งเป็นหลักอยู่ดังนี้

๑. ถ้าเป็นปรมัตถธรรม มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ หรือ วิเสสลักษณะ เช่น การรับรู้เป็นลักษณะของจิต เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “นี้เป็นจิต ไม่ใช่ดิน” เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้ก็คือตัวสภาวะนั้นๆนั่นเอง เพราะสามารถกำหนดหมายลงไปได้ด้วยตัวเอง เช่น จิตก็คือการรับบรู้-การรับรู้ก็คือจิต เป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงตั้งชื่อว่า ปัจจัตตลักษณะ(ปฏิ+อัตต+ลักขณะ) แปลว่า เอกลักษณ์, เอกลักษณ์เฉพาะตัว, สัญลักษณ์ส่วนตัว

๒.ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า “บัญญัติ” เช่น อนิจจลักษณะเป็นลักษณะของขันธ์ ๕ เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “สิ่งนี้เป็นตัวอนิจจัง(ขันธ์) ไม่ใช่นิพพาน” เช่นเดียวกัน นิจจลักษณะก็เป็นลักษณะของนิพพาน เพราะทำให้เราทราบได้ว่า “สิ่งนี้เป็นนิพพาน ไม่ใช่ขันธ์” คำว่า “จักขุปสาท” เป็นลักษณะของตัวจักขุปสาท เพราะทำให้เราระลึกถึงจักขุปสาทนั้นได้ เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทราบถึงตัวสภาวะได้(เช่นคำว่า “จักขุปสาท”) หรือไม่ก็สามารถจะทำให้ทราบถึงบัญญัติที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสภาวะได้ (เช่น อนิจจลักษณะ) เป็นต้น อนึ่ง ไตรลักษณ์ ก็จัดเข้าในลักษณะประเภทที่ ๒ นี้ด้วย เพราะท่านระบุไว้ว่าเป็นบัญญัติ
จิตมีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง (เกิด-ดับ) อยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป)
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จะ บังคับให้หยุดการเกิดดับก็ไม่ได้

สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” รูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายอันได้แก่ รูป จิตและ เจตสิก ย่อมจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด นอกจากจิตจะมีลักษณะสามัญตามที่กล่าวมาแล้ว จิตยังมีลักษณะพิเศษ เฉพาะตัว(วิเสสลักษณะ) อีก ๔ ประการ คือ
๑. มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ
๓. มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายเป็นผล
๔. มีอดีตกรรม ทวาร อารมณ์และเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้จิตเกิดขึ้น


การทำงานของจิต
การทำงานของจิตจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในพระสูตร ตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีใจความว่า “ยากที่จะนำสิ่งอื่นๆ ทั้งหลายในโลก มาเปรียบเทียบกับความเกิดดับอันรวดเร็วของจิต เพราะจิต เกิดดับๆรวดเร็วกว่าสิ่งใดๆ ในโลก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตจะเกิดดับถึง แสนโกฏิขณะ หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งล้านล้านดวง) ”

ที่ว่าจิตมีการเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตดวงที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันแล้วก็ดับไปอีก เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ดังในภาพ
ภาวะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นกระแสนี้ท่านเรียกว่า สันตติ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับกระแสน้ำที่ประกอบไปด้วยอณูของน้ำเล็กๆ เรียงติดต่อกันเป็นสาย ขณะที่กระแสจิตไม่ออกมารับรู้เรื่องราว (อารมณ์) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นเวลานอนหลับ จิตในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำหน้าที่ รักษารูปนามในภพปัจจุบันไว้มิให้แตกทำลายไป จนกว่าจะสิ้นอายุจากภพนี้
แม้ในขณะหลับสนิท (ไม่มีการฝัน) หรือสลบไป ก็จะมีภวังคจิตเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตภพ เมื่อใดก็ตามที่จิตออกมารับรู้เรื่องราว(อารมณ์) ทางประตู(ทวาร) ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นจิตจะขึ้นสู่วิถีซึ่งเรียกว่า วิถีจิต และ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวิถีก็จะมีภวังคจิตที่คอยรักษาภพชาติ เกิดคั่นอยู่ทุกครั้ง แต่ เราจะไม่รู้สึกตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว มาก



วันเสาร์

๔. สัพพสังคหะ

ในสัพพสังคหะนี้พระอนุรุทธาจารย์ได้สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยความเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ เป็นการสงเคราะห์สภาวธรรมให้เข้าเป็นหมวดหมู่ สิ่งที่จะได้รับจากการศึกษาโดยการจัดสงเคราะห์เป็นหมวดหมู่ คือโดยสัพพสังคหะนี้ จะเป็นประโยชน์มากในด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง เป็นจริง มีแสดงไว้อย่างละเอียดโดยนัยต่างๆ ดังนี้


หมวดที่ ๑ ขันธ์ ๕

คำว่า ขันธ์ ใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ ใช้ในความหมายว่า กอง หรือ ส่วน เช่น อุทกขันธ์ แปลว่า กองน้ำ พลขันธ์ แปลว่า กองพล บุญขันธ์ แปลว่า กองบุญ ศีลขันธ์ แปลว่า คุณคือศีล สมาธิขันธ์ แปลว่า คุณคือสมาธิ แต่ในที่นี้มุ่งในความหมายว่า “กอง”

ในสัพพสังคหะนี้ “ขันธ์”จึงมีความหมายว่า เป็นกลุ่ม เป็นกอง หมายถึงกลุ่ม กอง ของธรรมที่ต่างกันออกไป มี ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง

ธรรมที่จัดโดยความเป็นขันธ์ได้ ต้องมี ลักษณะดังนี้
ประเภทที่ ๑ ธรรมใดที่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้ รวมเป็น ๓ อย่าง
ประเภทที่ ๒ ธรรมใดที่เป็นทั้งภายใน ภายนอก ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๓ ธรรมใดที่มีความหยาบ ละเอียด ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๔ ธรรมใดที่มีความต่ำ ประณีต ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๕ ธรรมใดที่เป็นไปในที่ใกล้ ไกล ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง

รวมทั้งหมดเป็น ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง
ประเภทที่ ๑ ธรรมที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต 
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป กล่าวคือ ธรรมนั้นต้องมีสภาพเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต นั่นเอง ธรรมที่มีสภาพ ๓ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๒ ธรรมที่เป็น ภายใน ภายนอก
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏภายในตนเองได้ และเป็นธรรมที่เกิดภายนอกตนได้ หมายถึง ธรรมที่เกิดในคนอื่นหรือสัตว์อื่น ที่ไม่ใช่ตัวเราก็จัดว่าเป็นธรรมที่เกิดภายนอก ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๓ ธรรมที่ หยาบ ละเอียด
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่มีส่วนที่เป็นธรรมหยาบ และละเอียดได้ เช่น วิญญาณขันธ์ หมายถึง จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง จิตที่เป็นธรรมหยาบ ธรรมละเอียด เช่น
    อกุศลจิต หยาบกว่า กุศลจิต
    กุศลญาณวิปปยุตจิต 
หยาบกว่า กุศลญาณสัมปยุตจิต
    กามาวจรกุศลจิต หยาบกว่า รูปาวจรกุศลจิต
    รูปาวจรกุศลจิต หยาบ
กว่า อรูปกุศลจิต
    จิตที่มีทุกขเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีสุขเวทนา
    จิตที่มีโทมนัสเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีโสมนัส
เวทนา
    จิตในทุคติภูมิ หยาบกว่า จิตในสุขคติภูมิ
    จิตในกามภูมิ หยาบกว่า จิตในรูปภูมิ เป็นต้น

ส่วนรูปขันธ์ที่เป็น
ธรรมหยาบได้แก่ โอฬาริกรูป ๑๒ คือ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ จัดเป็นรูปหยาบ ส่วนสุขุมรูป ๑๖ จัดเป็นรูปละเอียด เป็นต้น ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๔ ธรรมที่ต่ำ ประณีต
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่อยู่ในฐานต่ำทราม และธรรมอันประณีต เป็นไปในทำนองเดียวกับประเภทที่ ๓

ประเภทที่ ๕ ธรรมที่ใกล้ ไกล
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏได้ทั้งใกล้และไกล ธรรมที่เป็นปัจจุบันจัดเป็นธรรมที่ใกล้ ธรรมที่เกิดในอนาคตจัดเป็นธรรมที่ไกล ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ธรรมที่สงเคราะห์ได้ทั้ง ๕ ประเภทนี้ คือ ธรรมทั้งปวง ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป เท่านั้น ไม่รวมถึงพระนิพพาน เพราะพระนิพพานมีคุณสมบัติไม่ครบทั้ง ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง กล่าวคือ

๑. พระนิพพาน ไม่มีประเภท แห่ง ปัจจุบัน อดีต อนาคต มีแต่กาลวิมุตติอย่างเดียว
๒. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมภายในนั้นไม่มี เป็นธรรมภายนอกอย่างเดียว
๓. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมหยาบไม่มี เป็นธรรมละเอียดอย่างเดียว
๔. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ต่ำทราม แต่เป็นธรรมที่ประณีตยิ่ง
๕. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ใกล้ แต่เป็นธรรมที่ไกล

ดังนั้น พระนิพพาน จึงพ้นจากความเป็นขันธ์ พระนิพพานจึงเรียกว่า ขันธวิมุตติ (และเป็นกาลวิมุตติด้วย) 

ขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป รูปมีทั้งหมด ๒๘ ดังนั้น รูปทั้ง ๒๘ เป็นรูปขันธ์
๒. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา เวทนา คือ เวทนาเจตสิกดวงเดียว เป็นเวทนาขันธ์
๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา สัญญา คือ สัญญาเจตสิกดวงเดียว เป็นสัญญาขันธ์
๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร สังขาร คือ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์
๕. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองจิต วิญญาณ คือ จิตทั้งหมด ๘๙ เป็นวิญญาณขันธ์

กองแห่งขันธ์ทั้ง ๕ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
๑. ขันธ์ทั้ง ๕ ถูกครอบงำด้วยทุกข์ 
ธรรมทั้งหลายที่ถูกทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ เป็นไปได้ด้วยความทุกข์ ธรรมนั้นชื่อว่า ขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ขันธ์ ๕ ถูกครอบงำจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิด นั้นเป็นการนำมาซึ่งขบวนการเกิดทุกข์ทั้งหลายไม่จบไม่สิ้น เมื่อเกิดแล้วก็ได้รับทุกข์ภัยต่าง ๆ ในชาติกำเนิดของตน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ทุกข์แบบมนุษย์ มีการดิ้นรนแสวงหาปัจจัยทั้งหลายเพื่อการบริโภค เพื่อการสะสม เพื่อการกอบโกย แสวงหาด้วยสุจริตก็ทุกข์ แสวงหาด้วยทุจริตก็ทุกข์ ฉะนั้นความเกิดจึงทุกข์ คือทุกข์ในการเกิด ทุกข์ในการแก่ ทุกข์ในการเจ็บ ทุกข์ในการตาย

๒. ขันธ์ทั้ง ๕ ว่างเปล่าจากตัวตน
ขันธ์ทั้ง ๕ แสดงความว่างเปล่าจากตัวตนอยู่แล้ว แต่ที่เราไม่เห็นความจริงนี้ก็เพราะว่า ธรรมดาคนทั้งหลายในโลก มักมีความเข้าใจว่า ความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแก่ตน เช่น การทำ การพูด การคิดความสุขสบาย หรือไม่สบาย ความดีใจ ความเสียใจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นต้น เหล่านั้นล้วนเป็นตัวเราเป็นของเราแทบทั้งสิ้น อันเป็นสภาพของสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดติดแน่นอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงมักมีความเข้าใจผิดคิดไปว่า เราทำ เราพูด เราคิด เราสบาย ไม่สบาย เราดีใจ เสียใจ เราเด็ก เราสาว เป็นต้น อาการเหล่านั้นถ้าปรากฏแก่ผู้อื่น เราก็ยึดถือว่า เป็นเขา ผู้นั้นผู้นี้ ทำ คิด พูด สบาย ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ เป็นต้น

รวมความแล้ว ความเข้าใจของปุถุชน จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีเรา มีเขา และ มีของเรา มีของเขา ซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดไปจากสภาพธรรม เป็นอัตตทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดคิดว่ามีตัวตน แท้จริงแล้ว ความเป็นไปต่างๆ เหล่านั้น หาใช่เป็นตัวเรา ตัวเขาไม่ แต่เป็นอาการเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

๓. ขันธ์ทั้ง ๕ มีอาการเฉพาะๆ ของตน
รูปขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้น เช่น ผมหงอก หนังเหี่ยว ฟันหัก สายตาเสื่อม หรือการเปลี่ยนแปลงโดยการเคลื่อนไหวกาย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การพูด เป็นต้น เหล่านี้ จัดเป็นอาการของรูปขันธ์ การเดินจึงเป็นเพียงอาการของรูป การยืนก็เป็นเพียงอาการของรูป เมื่อเข้าใจได้ถูกต้องจึงไม่ไปคิดว่า เราเดิน เรายืน และไม่เข้าใจผิดไปว่า รูปเดิน รูปยืน เป็นต้น แต่รู้ด้วยความเป็นจริงว่า ไม่มีเราเดิน ไม่มีรูปเดิน แต่เพราะการเดิน เป็นเพียงอาการของรูปเท่านั้น (คำว่ารูปก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ เป็นต้น)

เวทนาขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกสบาย ไม่สบาย รู้สึกเฉยๆ รู้สึกเบื่อบ้าน ทั้งๆ เมื่อก่อนนี้ก็รักบ้าน รู้สึกเบื่อรถทั้งที่เมื่อก่อนก็รักทะนุถนอมอย่างดี เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสภาพของ เวทนาขันธ์ เมื่อเข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงลักษณะอาการของเวทนาขันธ์เท่านั้น จะได้ไม่เข้าใจผิดไปว่าเป็นเราชอบ เราไม่ชอบ

สัญญาขันธ์ 
การจำเรื่องราวต่างๆ จำรูป จำสี จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เหล่านี้เป็นสภาพของสัญญาขันธ์

สังขารขันธ์ สังขาร คือ การปรุงแต่ง เมื่อรับอารมณ์มาแล้ว มีการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นการปรุงแต่งไป การดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เราทุกคนก็จะมีความรู้สึกว่ามีความอยากได้ ไม่อยากได้ มีความศรัทธา มีความเลื่อมใส มีความเพียรพยายาม เป็นต้น เหล่านี้เป็นสภาพของสังขารขันธ์

วิญญาณขันธ์ การรู้อารมณ์ต่างๆ มีการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสถูกต้อง รู้คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้จัดเป็นสภาพของวิญญาณขันธ์

ประเภทของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีความเป็นขันธ์ ๕ ประการเท่านั้น ไม่มากไปกว่านี้ กล่าวคือ เพราะอาศัยส่วนธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ คือ รูปทั้งหมด เป็น รูปขันธ์ เวทนา คือ ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ต่างๆ โดยความสุข ความทุกข์ ความเสียใจ ความเฉย ๆ เหล่านี้เป็น เวทนาขันธ์ ความจำได้ในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เป็น สัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกธรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเวทนาและสัญญา เป็น สังขารขันธ์ จิตหรือวิญญาณ เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ เป็น วิญญาณขันธ์ 

หมวดที่ ๒ อุปาทานักขันธ์ ๕

อุปาทานักขันธ์ หมายถึง ขันธ์ทั้งหลายที่ตัณหาและทิฏฐิเข้าไปยึดไว้ โดยความเห็นผิด คือ ยึดมั่นเป็นตัวตน เราเขา ความยึดมั่นนี้คือ การยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง

อุปาทานักขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปูปาทานักขันธ์ คือ กองรูป ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน ได้แก่รูปทั้งหมด คือ รูป ๒๘
๒. เวทนูปาทานักขันธ์ คือ กองเวทนา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เวทนาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๓. สัญญูปาทานักขันธ์ คือ กองสัญญา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่สัญญาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๔. สังขารูปาทานักขันธ์ คือ กองสังขาร ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เจตสิก ๕๐ (เว้นเวทนา และสัญญา) ที่ในโลกียจิต ๘๑
๕. วิญญาณูปาทานักขันธ์ คือ กองจิต ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑

พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ แล้วยังทรงแสดงอุปาทานขันธ์ซ้ำอีก ทั้งๆ ที่มีจำนวนขันธ์ ๕ ประการเท่ากัน แต่เพื่อแสดงความแตกต่างกัน คือ ที่กล่าวในแง่ของขันธ์ ๕ กล่าวโดยความเป็นวิสุทธิขันธ์ คือเป็น ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่ปะปนกันกับอาสวะ คือกิเลส และก็ไม่เป็นอารมณ์แก่อุปาทาน ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นไปตามสภาพของขันธ์ ๕ แท้ๆ ไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น พระอรหันต์ยังได้รับสุขทุกข์ต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจ แต่ความสุขทุกข์นั้นไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้น 

ที่กล่าวในแง่ของอุปาทานขันธ์ คือ การกล่าวถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น ขันธ์ 
๕ ของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ย่อมเป็นไปกับอาสวะ คือ กิเลส และเป็นที่ตั้งของอุปาทานได้ตามสมควรแก่บุคคลนั้นๆ

รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน

อุปาทานเกิดขึ้นเพราะตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาจึงเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน จะดับอุปาทานได้อย่างไร ? อุปาทานจะดับได้ก็ด้วยการดับตัณหา จะมีวิธีการดับตัณหาได้อย่างไร ? หนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับตัณหาและอุปาทาน ก็คือ การปฏิบัติที่ทำให้มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เจริญขึ้น และวิธีการจะละตัณหาก็ด้วยการปฏิบัติในอริยสัจ ๔ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์สัจ ตัณหา คือความยินดีพอใจทั้งหมด ควรละ เป็นสมุทยสัจ นิโรธ คือ พระนิพพาน นั้นควรทำให้แจ้งปรากฏ มรรค ควรเจริญให้มาก พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปาทานักขันธ์ ๕ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การเจริญวิปัสสนาเพื่อละกิเลส  เพราะผู้เจริญวิปัสสนาต้องรู้จักรูปนามขันธ์ ๕ อันเป็นที่อาศัยของกิเลสทั้งหลาย ให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของรูปนาม ขันธ์ ๕ จะได้ไม่ตกเป็นอารมณ์ของตัณหาอุปาทานได้

อุปาทานมี ๔ คือ
๑. กามุปาทาน
๒. ทิฏฐุปาทาน
๓. สีลัพพตุปาทาน
๔. อัตตวาทุปาทาน

อธิบาย
๑. กามุปาทาน
กามุปาทาน คือ ความยึดถือกาม กามนั้นได้แก่ วัตถุกาม กับ กิเลสกาม วัตถุกาม คือ ธรรมใดที่เป็นที่ชอบใจของกามตัณหา ชื่อว่า วัตถุกาม ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันที่เป็นที่ชอบใจ

กิเลสกาม คือ ธรรมชาติที่มีความต้องการ ธรรมชาติที่เข้าไปยึดในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธัมมารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กิเลสกาม ได้แก่ ตัณหา นั่นเอง ฉะนั้น กามุปาทาน คือ การยึดถือวัตถุกามด้วยกิเลสกามนั่นเอง คือ ยึดถือ รูป เสียง ฯลฯ ที่น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจนั้นเป็นเรา เป็นของเรา ยึดไว้ไม่ยอมปล่อย ยึดถือไว้ด้วยอำนาจของกิเลสกาม

สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสกามแล้ว เมื่อเห็นรูปแล้ว แม้นรูปนั้นจะน่ารักใคร่น่าปรารถนา ท่านก็ไม่เกิดความยินดีในการเห็นนั้น เพราะไม่มีกิเลสกามแล้ว

๒. ทิฏฐุปาทาน
ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดถือด้วยอำนาจของความเห็นผิด ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ และ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ทิฏฐิ ๖๒ (ในสามัญญผลสูตร)
    ๒.๑ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ
    ก. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี

    ข. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าการกระทำต่างๆเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย

    ค. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ และผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ

     ๒.๒ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ
    ๑) เห็นว่า โลกเที่ยง
    ๒) เห็นว่า โลกไม่เที่ยง
    ๓) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๔) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๕) เห็นว่า ชีวะและสรีระ เป็นอันเดียวกัน
    ๖) เห็นว่าชีวะและสรีระ เป็นคนละอัน
    ๗) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วเกิดต่อไปอีก
    ๘) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วไม่เกิดต่อไปอีก
    ๙) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี
    ๑๐) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้

     ๒.๓ ทิฏฐิ ๖๒ 
ในทิฏฐิ ๖๒ มีรายละเอียดมาก ในที่นี้จะนำมากล่าวเพียง ๒ ประการที่สำคัญให้ทราบดังนี้ 
    ก) สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือ เห็นว่าตายแล้วเกิดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดในอัตตาภาพเดิม ทุกภพทุกชาติ เวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุดในภพชาติของตน คือ เกิดเป็นคน ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นคนไปตลอด เกิดเป็นแมว ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นแมวไปตลอด
    ข) อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือ เห็นว่าตายแล้วสูญไม่กลับมาเกิดอีก

โทษของมิจฉาทิฏฐิ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถือในทิฏฐิอย่างมากจนดิ่ง ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆ ว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้อย่างเหนียวแน่น ก็เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงกล้า ยิ่งจะส่งผลให้ตกนรกได้

ฉะนั้น ความเห็นผิดในข้อนี้จึงให้โทษอย่างมหันต์ ผู้ที่นับถือพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ย่อมละความเห็นผิดอันมีโทษมหันต์อันร้ายแรงนี้ได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ย่อมจะไม่นับถือพุทธศาสนา

๓. สีลัพพตุปาทาน
สีลัพพตุปาทาน คือการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ยึดถือในศีลและวัตรที่ผิดศีลวัตร ศีล ได้แก่ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ วัตร ได้แก่ ข้อปฏิบัติ ศีล คือ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ ศีลในทางพุทธศาสนา แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น เช่น ศีล ๕ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนปาฏิโมกข์สังวรศีล คือ ศีลในพระปาฆิโมกข์สำหรับภิกษุ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ข้อห้าม คือ ข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำก็ต้องอาบัติ หนัก ปานกลาง หรือเบาตามพระบัญญัตินั้นๆ และมีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำวัตร คือ การประพฤติปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร การปฏิบัติ ธุดงค์ อุปัชฌายวัตร การปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์ ครู อาจารย์

ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา
ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา มีแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลายตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่น ศีลและวัตรของฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟก็ทำการบูชาไฟ ฤษีดาบสก็มีศีล คือข้อประพฤติ ที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่าง และมีวัตร คือข้อที่พึงปฏิบัติบางอย่าง เช่น การบูชาไฟดังกล่าวนั้น นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาภายนอกพระพุทธศาสนา เช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา กล่าวถึงศาสดา ๖ จำพวก ซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตรแก่สาวกของตนในทางต่าง ๆ กัน

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลวัตรที่แปลก ๆ เรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร คือมีความประพฤติความเป็นอยู่ เยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข เช่น เดิน ๔ ขา แบบสุนัขแบบโค ทำกิริยาอาการ ทำเสียงและบริโภคแบบสุนัขแบบโค ในครั้งพุทธกาลการถือศีลและวัตรแบบนี้ยังมี และก็มีแสดงไว้ว่าคนที่ถือโควัตร สุนัขวัตร บางคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อปฏิบัติแบบนี้แล้วสิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า (มีใจความโดยสรุปว่า) “ก็ไปเกิดเป็นสุนัขไปเกิดเป็นโค” ดังนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา

๔. อัตตวาทุปาทาน
คำว่า อัตตา แปลว่า ตน ในทางพุทธศาสนาได้แสดงไว้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รักษาตน คุ้มครองตน ฝึกตน และตรัสสอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ระดับที่สอง ตรัสสอนว่า มิใช่ตน ดังเช่นที่ตรัสสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตา ตัวตน หรือได้ตรัสสอนยกเอาอายตนะภายในภายนอก ภายในคือ ตา หู เป็นต้น ภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น และธรรมคือเรื่องราว เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ภายนอกคือสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายนอกตน นั้นก็หมายถึงสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เกิดกับคนอื่นสัตว์อื่น และได้ตรัสสอนไว้ว่าสังขารทั้งปวงเป็น อนิจจะ คือไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็น ทุกขะ คือเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือมิใช่อัตตาตัวตน และในธรรมทั้งปวงนี้แสดงอธิบายว่า ทั้งสังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขาร ทั้งอสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งอันเรียกว่าวิสังขาร ทั้งหมดเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

    ๔.๑ รู้สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ
    ก) สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ เป็นความจริงตามมติร่วมกัน หรือ หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่นคน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้
    ข) ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริงซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มี ๔ ประการ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน ปรมัตถสัจจะมี ๒ ประการ คือ
🙏 สภาวสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงตามสภาวะลักษณะ ได้แก่ กุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นต้น
🙏 อริยสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงโดยเฉพาะอริยบุคคลทั้งหลาย ได้แก่ อริยสัจ ๔มีทุกขสัจจะ เป็นต้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะให้รู้ถึงปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงโดยปรมัตถ์ จึงจะต้องหัดพิจารณาดูที่ตั้งของบัญญัติทั้งหลาย เช่น รถ เมื่อเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นล้อ เพลา และส่วนประกอบอื่น ๆ มาประกอบกันเข้า เสียงเรียกว่ารถจึงมี แต่ความจริงแล้ว รถจริงๆ นั้นไม่มี คำว่ารถเป็นบัญญัติเรียกขึ้นเท่านั้น เมื่อถอดแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกไป เสียงเรียกว่ารถก็หายไป

    ๔.๒ ทรงตรัสสอนให้พิจารณาแยกสังขาร
ในอัตตภาพนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ทรงตรัสชี้ให้รู้จักว่าสิ่งที่มาประกอบนั้นมีอะไรบ้างส่วนที่แข็งคือ ปถวีธาตุ เป็นธาตุดิน ร่างกายนี้ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ อาการ ๓๒ เป็นกองรูป กองรูปนี้เองเรียกแยกออกเป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา ฯลฯ มากองกันอยู่ เป็นกองรูป ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉย ๆ เป็นกองเวทนา ความจำได้หมายรู้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวต่าง ๆ เป็นกองสัญญา ความคิดปรุงแต่งต่างๆ เป็นกองสังขาร และกองวิญญาณ คือ รู้ในอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตาเห็นรูป ก็เกิดความรู้สึก เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น

ฉะนั้น เพราะขันธ์ ๕ เหล่านี้มาประกอบกัน ซึ่งเมื่อย่อแล้ว รูปก็คงเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็น นาม เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นที่ตั้งแห่งบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นเขา ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อมาพิจารณาด้วยปัญญาเห็นโดยความเป็นรูปเป็นนาม ก็จะถอนอัตตาตัวตนหมด หมดความเป็นเราเป็นเขา คงเหลือแต่สภาวะ รูปนาม เท่านั้น

    ๔.๓ ก่าหนดรู้ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์
เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นจริงด้วยวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริงรู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ มีชาติ คือ ความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชรา คือ ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งพยาธิในท่ามกลาง มีมรณะเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น จึงเป็น อนิจจะ คือ ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับ เป็น ทุกขะ คือ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็น อนัตตะ คือ บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว จึงจะสามารถถอนอัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือเป็นตัวตน โดยความเป็นเราเป็นเขา ก็จะทำให้ไม่หลงไม่ยึดถือ ถ้าไม่พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็ย่อมจะต้อมมีความหลง ความยึดถืออยู่ อันเป็นอัตตาทุปาทาน


หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒
อายตนะ มีความหมาย ๕ ประการ คือ
๑. เป็นที่เกิด หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เพราะเป็นที่เกิดของจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าบุญหรือบาป จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยอายตนะเหล่านี้
๒. เป็นที่อยู่ หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เป็นที่อาศัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ คล้ายกับเป็นที่อยู่อาศัยของวิถีจิต จึงเรียกว่าอายตนะ ซึ่งเป็นการกล่าวโดยอ้อม วิถีจิตไม่ได้อยู่ในอายตนะ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว วิถีจิตเหล่านั้นก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ได้ เหมือนระฆังกับเสียงระฆัง ย่อมกล่าวไม่ได้ว่า มีเสียงระฆังอยู่ในตัวระฆัง แต่เมื่อมีคนตีระฆังแล้วเสียงก็ปรากฏขึ้นและกังวานอยู่ได้ คล้ายกับว่าเสียงนั้นอยู่ในระฆัง ฉันใด วิถีจิตกับอายตนะภายในก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยบริบูรณ์แล้ว ก็เสมือนกับว่าวิถีจิตเหล่านั้น ตั้งอยู่ในอายตนะนั้น
๓. การเกิด หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับสัตว์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเกิดขึ้นมีอยู่ในสัตว์บุคคล เกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกภูมิไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ มนุษย์ภูมิ มีอายตนะครบ รูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตพรหมภูมิ) มีจักขายตนะ โสตายตนะและมนายตนะ อรูปภูมิ มีมนายตนะ อย่างเดียว
๔. เป็นที่ประชุม หมายความว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกัน คือ รูปายตนะ(รูป) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่ตา สัททายตนะ(เสียง) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่หู เป็นต้น เสมือนเป็นที่ประชุมแห่งวิถีจิตทั้งหลายด้วย ถ้าอายตนะไม่มาประชุมกัน วิถีจิตทางจักขุทวารวิถี เป็นต้น ก็ไม่เกิดขึ้น
๕. เป็นเหตุให้เกิด หมายความว่า ถ้าไม่มีอายตนะภายในและภายนอกแล้ว วิถีจิตทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เพราะธรรมดาวิถีจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอายตนะภายในและภายนอกเป็นเหตุให้เกิดขึ้น

จากความหมายทั้ง ๕ ประการข้างต้น ยังมีความหมายของคำว่าอายตนะในที่อื่น ๆ ได้กล่าวไว้ว่า
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นที่ขวนขวาย ตาก็ขวนขวายที่จะแสวงหาดูสิ่งต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นตัวนำไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแล้ว หมายความว่า อายตนะเหล่านี้นำไป คือ พาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแต่อดีต และก็ยังจะพาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อต่อไปในอนาคตอันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายมิได้อยู่ตลอดเวลา การเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลาย แท้จริงแล้วก็คือการพาไปของ อายตนะ ในสังสารทุกข์อันยืดเยื้อนั่นเอง

อายตนะมี ๑๒ คือ
๑. จักขายตนะ จักขุ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
๒. โสตายตนะ โสตะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
๓. ฆานายตนะ ฆานะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
๔. ชิวหายตนะ ชิวหา ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
๕. กายายตนะ กายะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
๖. รูปายตนะ รูปารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป ได้แก่ สีต่างๆ
๗. สัททายตนะ สัททารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป ได้แก่ เสียงต่างๆ
๘. คันธายตนะ คันธารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่างๆ
๙. รสายตนะ รสารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป รสชาติต่างๆ
๑๐. โผฏฐัพพายตนะ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ ปฐวี, เตโช, วาโย
 สัมผัสต่างๆ
๑๑. มนายตนะ จิต ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
๑๒. ธัมมายตนะ สภาพธรรมต่าง ๆ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และนิพพาน

อายตนะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ๑๒ อย่าง เพราะทรงกำหนดถึงทวารอันเป็นที่เกิด และอารมณ์ อันเป็นที่รู้แห่งวิญญาณ ๖ เมื่อจำแนกออกเป็นอายตนะภายในและอายตนะภายนอกแล้ว ได้อย่างละ ๖ ดังนี้

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาท รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์
โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาท สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์
ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาท คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์
ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาท รสายตนะ ได้แก่ รสารมณ์
กายายตนะ ได้แก่ กายปสาท โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ ปถวี เตโช วาโย
มนายตนะ ได้แก่ จิตทั้งหมด ธัมมายตนะ ได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

เมื่อธรรมะ คือ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกันแล้ว จิตเจตสิกก็เป็นไป อาจเป็น กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ผู้ปฏิบัติพึงมีโยนิโสมนสิการในการพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของการประชุมกัน ระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เพื่อป้องกันอกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


หมวดที่ ๔ 
ธาตุ ๑๘
ธาตุ หมายความว่า ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน โดยไม่วิปริตผันแปร ธาตุทั้งหลายที่เรารู้จักอาจจะรู้จักโดยชื่อว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ซึ่งแต่ละธาตุก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง คือ ธาตุไฟ ก็ร้อน เป็นต้น แต่โดยความหมายของคำว่า ธาตุ ในทางพระอภิธรรมนั้นมีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่านั้น

ธาตุ หมายถึง “อันสัตว์ทรงไว้” คือ ธาตุทั้งหลาย อันสัตว์ทั้งปวงต้องทรงไว้ หรือรับรองไว้ เหมือน
สัมภาระที่ถูกคนแบกหามรองรับไว้ ฉะนั้นธาตุ หมายถึง “เป็นการจัดแจง” คือ ธาตุทั้งหลายเป็นเพียงการจัดแจงทุกข์ไว้เท่านั้น หรือ เป็นตัวเหตุ อันกระทำให้สัตว์เป็นไปในสังสารทุกข์ต่าง ๆ เสมอ

ธาตุ หมายถึง “เป็นที่ตั้งแห่งสังสารทุกข์” ซึ่งสัตว์ได้กระทำไว้ต่าง ๆ รวมความแล้ว ที่ชื่อว่า ธาตุ เพราะเป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวลักษณะของตน ๆ โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง หรือ ธรรมชาติอันทรงไว้ หรือจัดแจงไว้ ธาตุที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมแสดงธาตุไว้ ๑๘ คือ
    ๑. จักขุธาตุ จักขุ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
    ๒. โสตธาตุ โสตะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ สัททารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
    ๓. ฆานธาตุ ฆานะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ คันธารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
    ๔. ชิวหาธาตุ ชิวหา ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ รสารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
    ๕. กายธาตุ กายะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ โผฏฐัพพารมณ์ได้
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
    ๖. รูปธาตุ รูปารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่างๆ
    ๗. สัททธาตุ สัททารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับโสตปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่างๆ
    ๘. คันธธาตุ คันธารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับฆานปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่างๆ
    ๙. รสธาตุ รสารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับชิวหาปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป คือ รสต่างๆ
    ๑๐.โผฏฐัพพธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับกายปสาทรูปได้
องค์ธรรมได้แก่ ปถวี เตโช วาโย คือ รับสัมผัสได้
    ๑๑.จักขุวิญญาณธาตุ จักขุวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ เห็นรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒
    ๑๒. โสตวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ ได้ยินเสียงได้  
องค์ธรรมได้แก่ โสตวิญญาณจิต ๒
    ๑๓. ฆานวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้กลิ่นได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานวิญญาณจิต ๒
    ๑๔. ชิวหาวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้รสได้
 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาวิญญาณจิต ๒
    ๑๕. กายวิญญาณธาตุ กายวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้การถูกต้องสัมผัสได้
องค์ธรรมได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒
    ๑๖. มโนธาตุ จิต ๓ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รู้ปัญจารมณ์ คือ รับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ได้
องค์ธรรมได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ 
สัมปฏิจฉนจิต ๒
    ๑๗. มโนวิญญาณธาตุ จิต ๗๖ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ การรับรู้อารมณ์ 
องค์ธรรมได้แก่ จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และมโนธาตุ ๓)
    ๑๘. ธัมมธาตุ สภาพธรรม ๖๙ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะของตน ๆ 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

หมวดที่ ๕ อริยสัจจะ ๔
อริยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจะธรรม พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกสัจจะธรรมว่า “อริยสัจจะ” คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยะ เป็นสัจจะอันแท้จริง ไม่ผิดพลาด ไม่คลาดเคลื่อน สัจธรรมเหล่านั้น ปุถุชนทั้งหลายรู้ไม่ได้ คือ เข้าไม่ถึงความลึกซึ้งของสัจจะธรรมนั้น ฉะนั้น จึงแสดงว่าใครก็ตามที่เข้าถึงสัจจะธรรมนั้น ย่อมสำเร็จความเป็นพระอริยะ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลายตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวโลก เรียกว่า “พระอริยะ” เพราะเป็นผู้ตรัสรู้อริยสัจนี้แลตามความเป็นจริง”

อริยสัจจะ มี ๔ คือ

๑. ทุกขสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะ) รูป ๒๘
๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๓. นิโรธสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ นิพพาน
๔. มัคคสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ องค์มรรค ๘ ที่ในมัคคจิต ๔

ขยายความอริยสัจจะ
๑. ทุกขสัจจะ มีลักษณะ ๔ ประการ คือ
    ๑.๑ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ถูกเบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์ มีตาก็ถูกเบียดเบียนด้วยรูปารมณ์ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ถูกเบียดเบียนด้วยโรคตา เป็นต้น
    ๑.๒ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ต้องได้รับการบำรุงปรุงแต่งอยู่เนืองๆ
    ๑.๓ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความเร่าร้อนอยู่ไม่ว่างเว้น เร่าร้อนในอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ มากมาย เพราะเพียงแค่ได้เห็น หรือเพียงแค่ได้ยิน เป็นต้น
    ๑.๔ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความไม่คงที่แปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมิได้ว่างเว้น

เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ทุกขสัจจะ คือ รูปกับนาม ทั้งกายและใจที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ 
อรูปภูมิ เป็นความจริงของทุกขสัจจะ

การจะละทุกขสัจจะได้ ต้องละด้วยปริญญากิจ คือ เป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้ หมายถึง ทุกขสัจจะนั้นมีประจำอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้กำหนดรู้ ฉะนั้น การจะละทุกข์ได้ก็ต้องด้วยการกำหนดรู้ คือ รู้นามและรูป ตามความจริง 

๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ทำให้ประกอบไว้ซึ่งทุกข์ ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารทุกข์ ทำให้กังวลอยู่แต่ในกองทุกข์ โดยพระสูตรได้แสดงเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ
    (๑.) กามตัณหา คือ ความปรารถนาในกามภพ มีความยินดีติดใจในกามคุณทั้ง ๕ พระอนาคามีเท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด
    (๒.) ภวตัณหา คือ ความปรารถนารูปภพ อรูปภพ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปฌาน พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด ภวตัณหา ใจความสูงสุดหมายถึงความกำหนัดยินดีในรูปภพและอรูปภพ คือความพอใจติดใจในฌานด้วยความปรารถนาภพ อันเป็นความยินดีที่ประกอบด้วยสัสสตทิฐิ คือความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเบญจขันธ์เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน มีติดต่อกันไปไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคืออยากเกิดอยากเป็นเช่นที่เป็นอยู่ตลอดไป
    (๓.) วิภวตัณหา หมายถึงความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คืออยากจะพ้นจากภาวะที่ตนไม่ต้องการไม่อยากได้ เช่น อยากพ้นจากความยากจนจากความเจ็บไข้ พ้นจากความยากจน หรือ ไม่อยากเจอหน้าคนที่เราไม่ชอบใจ เป็นต้น วิภวตัณหา อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ความคิดที่ผิด (อุจเฉททิฐิ) คือ เห็นว่าภพชาติไม่มี อันเป็นความความเห็นผิดที่ทำให้ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ เพราะความเห็นชนิดนี้เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี คนเราตายแล้วสูญ จึงทำให้ปฏิบัติตนไปตามใจปรารถนาด้วยอำนาจของตัณหา โดยไม่กังวลถึงผลที่จะตามมาภายหลัง

ตัณหาในภพทั้ง ๓ นี้ คือ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกขสัจจะ เรียกว่า สมุทยสัจจะ เมื่อกล่าวโดยนัยแห่งพระอภิธรรมแล้ว สมุทยสัจจะ ได้แก่ โลภเจตสิก

๓. นิโรธสัจจะ เป็นชื่อของธรรมที่ดับทุกข์ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกขนิโรธ คำว่า “นิ” หมายถึง พ้น , ออก “โรธ” หมายถึง การท่องเที่ยวไป ฉะนั้น “นิโรธ” หมายถึงไม่มีการท่องเที่ยวไป “ทุกขนิโรธ” จึงหมายความว่า “ไม่มีการท่องเที่ยวไปในทุกข์” หรือ การไม่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะเป็นสัจจะที่ว่างจากคติ คือการเวียนเกิดเวียนตายในภพภูมิทั้งปวง องค์ธรรมของทุกขนิโรธสัจจะ ได้แก่ พระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ หมายถึง สภาวะที่นำออกจากสังสารวัฏฏ์ สภาวะที่เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน สภาวะที่เห็นพระนิพพาน สภาวะที่เป็นใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน มัคคสัจจะ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพาน จึงมีชื่อเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นปฏิปทาเพื่อบรรลุความดับทุกข์นั่นเอง

มรรค ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค คือ องค์มรรค ๘ ที่มีหน้าที่ทั้งประหาณกิเลส จนบรรลุถึงพระนิพพาน
ด้วย องค์มรรค ๘ ได้แก่
    ๑) สัมมาทิฏฐิ
    ๒) สัมมาสังกัปปะ
    ๓) สัมมาวาจา
    ๔) สัมมากัมมันตะ
    ๕) สัมมาอาชีวะ
    ๖) สัมมาวายามะ
    ๗) สัมมาสติ
    ๘) สัมมาสมาธิ

หน้าที่ของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ คือ
๑. ทุกขสัจจะ เป็นปริญเญยยกิจ คือ กิจที่ควรกำหนดรู้ หมายความว่า รูปนามขันธ์ ๕ โดย สภาวธรรม ๑๖๐ ประการ (คือ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภเจตสิก) รูป ๒๘

รวมเป็น ๑๖๐ ประการ) เป็นทุกขสัจ ที่จะต้องกำหนดรู้ เพราะธรรมทั้ง ๑๖๐ ประการนี้ เป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือ สมุทัย

 ๒. สมุทยสัจจะ เป็นปหาณกิจ คือ กิจที่จะต้องละให้หมดไป หมายความว่า ตัณหา ๓ โดยสภาวะ ได้แก่ โลภเจตสิกนั้น เพียงแต่กำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เพราะเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกขสัจจะ ฉะนั้นจะต้องทำให้หมดสิ้นไป เมื่อสามารถทำให้หมดไปได้มากเท่าใด ทุกขสัจจะอันเป็นผลก็จะหมดสิ้นไปเท่านั้น

๓. นิโรธสัจจะ เป็นสัจฉิกิริยากิจ คือ เป็นธรรมที่ต้องทำให้แจ้ง ได้แก่ พระนิพพาน เป็นธรรมที่
ดับทุกข์ และดับตัณหานั้น มีหน้าที่จะต้องทำให้แจ้ง คือ เมื่อละตัณหาอันเป็นธรรมที่ควรละ จนตัณหาหมดไป จึงจะถึงพระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ เป็นภาวนากิจ คือ กิจที่จะต้องเจริญให้ยิ่งขึ้น มัคคสัจนี้เป็นผู้ทำงาน ไม่ใช่เป็นตัวอารมณ์กัมมัฏฐาน เพียงแต่จะกำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เป็นเหมือนผู้เดินทางทีจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย คือ นิโรธสัจจะ ด้วยเหตุนี้ กิจของมัคคสัจจะจึงต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้น ตามนัยแห่งพระสูตรสงเคราะห์ด้วยการปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนา โดยนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสงเคราะห์ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

ฉะนั้น ภาวนากิจที่จะต้องทำให้เจริญขึ้นนั้น อาจเจริญสมถะกัมมัฏฐานให้ได้ฌานเสียก่อน แล้วมาเจริญวิปัสสนาภายหลังก็ได้ หรือจะเริ่มต้นจากการเจริญสติปัฏฐาน พิจารณา นามและรูป ให้วิปัสสนาญาณเกิดโดยตรงก็ได้ นี่คือการทำงาน หรือปฏิปทาในภาวนากิจของมัคคสัจ

ในอริยสัจ ๔ นี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นธรรมที่เป็นไปเพื่อทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย ทุกขสัจจะกับสมุทยสัจจะ และ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ คือ พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ มัคคสัจจะและนิโรธสัจจะ

หนทางในการท่าให้เกิดปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ มี ๒ ทาง คือ
๑. การศึกษาปริยัติศาสนา ให้เข้าใจทุกข์และสมุทัย ตลอดถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ และต้องเรียนรู้ ถึงนิโรธสัจจะและมัคคสัจจะว่าพระนิพพานมีสภาพอย่างไร และการแสวงหาพระนิพพานนั้น จะต้องอาศัยปฏิปทาอย่างไร ตลอดจนรู้นามรูปด้วยวิปัสสนาปัญญา

๒. ปัญญาที่เกิดพร้อมกับอริยมรรค ทำกิจในการประหาณกิเลส และให้รอบรู้อริยสัจจะทั้ง ๔ ประการทันที อันที่จริงปฏิเวธญาณ คือ ปัญญาที่เข้าไปแจ้งอริยสัจ ๔ นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะ โลกุตตรปฏิเวธญาณเท่านั้น แต่โดยโวหารเทศนาก็สงเคราะห์เอาโลกียปฏิเวธ คือ เมื่อเรียนรู้ให้เข้าใจดีเสียก่อนแล้ว ก็ช่วยอุปการะแก่การปฏิบัติเพื่อแสวงหาโลกุตตรปฏิเวธญาณได้สะดวกยิ่งขึ้น ถ้าปราศจากการเรียนรู้ปริยัติศาสนาแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร อะไรเป็นผู้ทำให้เกิดทุกข์ และจะละเหตุให้เกิดทุกข์นั้นได้อย่างไร และความดับทุกข์จะมีสภาพอย่างไร ตลอดจนการบรรลุนิพพานเป็นอย่างไร