วันพุธ

๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, วิญญาณขันธ์ (ศัพท์คำว่า “อารมณ์” ในภาษาบาลีหมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือ จิตระดับวิถี กับ จิตระดับภวังค์

วิถีจิต คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ วิถีจิตเป็นจิตภาคปฏิบัติการ จะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) ปรุงแต่งในวิถีจิตนี้เอง

ภวังคจิต คือ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ภพ+องค์) เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภวังคจิตเป็นจิตส่วนวิบาก (คือส่วนที่เป็นผล)

ตามแนวพระอภิธรรมเรียกวิญญาณขันธ์ว่าจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นลำพังโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าจิตแล้วไม่ว่างจากอารมณ์ (คือเมื่อมีจิตแล้วต้องมีสิ่งที่จิตเข้าไปรู้ หรืองานของจิตเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ) ถ้าจิตไม่จับยึดอารมณ์ในปัจจุบันก็ต้องจับยึดเอาอารมณ์ในอดีต แม้แต่ขณะหลับสนิท จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ภวังคจิตก็ยึดธรรมารมณ์ในอดีตเป็นอารมณ์ และถือว่าสรรพสังขารธรรมของจิตเกิดดับทุกขณะ สืบสันตติเรื่อยไปดุจดังสายน้ำในแม่น้ำซึ่งไหลไม่ขาดสาย จนกว่าจะถึงภาวะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภวังคจิตจึงดับสนิท

ประเด็นที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับภวังคจิต คือ
ประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะถูกบันทึกไว้ในภวังคจิตทั้งหมด

กรรมของเราสั่งสมสืบมาในภวังคจิตนี้ จึงเป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ทั้งนี้เป็นการ สั่งสม เคลื่อนย้าย เกิดดับ ไปในลักษณะของสังขตธรรม ไม่ได้เป็นอัตตา ยืนโรง ฝืนกระแสอยู่)

ภวังคจิต คือ มโน เป็นอายตนะที่ ๖ (มโนทวาร) อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต (ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพหรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ภายนอก

ภวังคจิตเป็นจิตส่วนหลักหรือส่วนใหญ่ของชีวิตเรา จะเรียกว่าเป็นจิตยืนพื้น จิตตสันดาน หรือปกติจิตก็ได้

ภวังคจิตทำงานเกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย และนำพาชีวิตไป (แม้แต่ช่วงที่จิตวิถีดับไป เช่น หลับสนิท หรือ หมดสติ ภวังคจิตก็ยังทำงานอยู่)

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นที่ว่า เมื่อพระอรหันต์อนุปาทิเสสนิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ประจักษ์แก่ตนเองก็ไม่สามารถรู้ชัดได้ กล่าวตามตำราคือ เป็นนิพพานธาตุ ซึ่งนิพพานธาตุนี้อาจมีข้อสงสัยว่า คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือ ไม่มีจิตซึ่งเสวยอารมณ์ใดๆเลย ปัญหาข้อนี้ในพระอภิธรรมแสดงไว้ชัดเจน

“ธรรมมีอารมณ์ เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์

“ธรรมไม่มีอารมณ์ เป็นไฉน? รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีอารมณ์

“ธรรมเป็นจิต เป็นไฉน? จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นจิต

“ธรรมไม่เป็นจิต เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นจิต” (มหันตรทุกะ)

    ในบทเดียวกันนี้ยังแสดงอีกว่า อสังขตธาตุ ไม่เป็นเจตสิก, วิปยุตจากจิต, ไม่เจือกับจิต, ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, ไม่เกิดร่วมกับจิต, ไม่เกิดคล้อยตามจิต (แต่จิตเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยะบุคคล) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับภาวะของนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นภาวะที่เข้าใกล้นิพพานที่สุด ท่านก็ว่านอกจาก เวทนา สัญญา ดับแล้ว ขันธ์ส่วนที่เป็นนามธรรมที่เหลืออย่าง สังขาร วิญญาณ ก็เกิดน้อยเต็มที (ในวิสุทธิมรรคท่านใช้คำว่า “ไม่มีจิต” เลยทีเดียว)

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้เป็นเรื่องรายละเอียด ซึ่งการจะทำเข้าใจให้กระจ่าง สิ้นสงสัย ก็ต้องเกิดจากการได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองไปตามลำดับ ท่าทีที่เหมาะสมของผู้ศึกษาอาจจะเพียงแต่พิจารณาลักษณะและภาวะของนิพพานตามตำราให้เข้าใจในหลักการสำคัญๆให้ชัดไว้ก็น่าจะเพียงพอในเบื้องต้น เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “กายก็แตกทำลายแล้ว สัญญาก็ดับแล้ว เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง

“เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น” (ทัพพะสูตร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น