วันพุธ

๑.๒๘ วิสุทธิ ๗

พุทธพจน์ที่แสดงหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน มักเป็นไปในรูปของคำสอนให้พิจารณาสภาวธรรม อย่างที่ได้ยกมาอ้างไว้แล้วข้างต้น หากจะแสดงลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นระบบ ก็เป็นเพียงการแสดงขั้นตอนอย่างกว้างๆ จนถึงยุคของพระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงได้นำเอาแบบแผนและรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติเหล่านั้น มาเรียบเรียงบันทึกไว้ในคัมภีร์ ดังตัวอย่างที่เด่นคือ ใน🔎วิสุทธิมัคค์ ซึ่งได้แสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกทั้งด้านภายนอกและความเจริญก้าวหน้าภายใน โดยเค้าโครงทั่วไปท่านถือตามหลักการของไตรสิกขา แล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ ๗ ซึ่งในชั้นเดิมมีแสดงเพียงลำดับหัวข้อ

วิสุทธิ ๗ คือ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นขั้นๆไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ นิพพาน จำแนกเป็น ๗ ชั้น (วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์หมดจด)


ระดับศีล

๑. สีลวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ

 ระดับสมาธิ

๒. จิตตวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ว่าได้แก่อุปจารสมาธิขึ้นไป (ในหนังสือพุทธธรรมฯ ท่านว่าวิปัสสนาสมาธิ คือ สมาธิระดับขนิกสมาธิถึงอุปจารสมาธิ การเจริญวิปัสสนาถ้าไม่ได้ใช้ฌานเป็นบาท โดยปกติจะมีสมาธิอยู่ในระดับนี้, ขนิกสมาธิ แปลว่า สมาธิชั่วขณะหรือสมาธิขั้นต้น ซึ่งการเล่าเรียนหรือทำงานทั่วไปก็สามารถเกิดขึ้นได้เอง ใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้)

ระดับปัญญา

🔅 ญาตปริญญา

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด กล่าวคือ กำหนดได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น รูป แสง สี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณหรือการเห็น เป็นนามธรรม เป็นต้น (รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป, นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดทุกขสัจจ์)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ : ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ (ว่านามธรรมและรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน) จึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดสมุทัยสัจจ์)

🔅 ตีรณปริญญา 

๕. มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ ยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ทีละอย่างๆ เช่น พิจารณารูป โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดยอนัตตลักษณะ แล้วพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดย🔎อนัตตลักษณะ) ตามลำดับ จนพบว่าความหลุดพ้นคือทางประเสริฐสุด

ญาณข้อนี้เรียกว่า ดรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาญาณอ่อนๆ) แสดงถึงการเป็นผู้เริ่มเห็นแจ้ง ในช่วงนี้จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า 🔎วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นั้นไม่ใช่ทาง แล้วกำหนด วิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทางพ้นไปจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทางแท้จริง เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้น ก็เรียกว่า เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดมรรคสัจจ์)

🔅 ปหานปริญญา

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ คือพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเป็นต้นไปจนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน

วิปัสสนาญาณ ๙ มีดังนี้

    ๑. ญาณเห็นความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕
    ๒. ญาณเห็นความดับสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้นของสิ่งทั้งหลาย
    ๓. ญาณมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัย
    ๔. ญาณอันคำนึงเห็นโทษของสังขาร
    ๕. ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย (นิพพิทาญาณ)
    ๖. ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย
    ๗. ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป
    ๘. ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลาง ไม่ขัดใจติดใจ ในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย
    ๙. ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยตามต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณ ๙ นี้ตรงกับข้อ ๔-๑๒ ใน 
🔎ญาณ ๑๖)

เมื่อสำเร็จญาณข้อ ๙ แล้ว ก็จะเกิด โคตรภูญาณ ทำนิพพานอันปราศจากสังขารให้เป็นอารมณ์ เป็นการคำนึงถึงครั้งแรก (ปฐมทัศน์) ในอารมณ์พระนิพพาน แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ก้าวขึ้นจากภูมิของปุถุชนสำเร็จความเป็นอริยบุคคล

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ (มรรคญาณ) : ความหมดจดแห่งญาณทัศนะตามลำดับขั้นของความเป็นอริยบุคคล ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นหนึ่งๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น