๑.๒๗ หลักวิปัสสนาบางส่วนจากพระไตรปิฎก

วิปัสสนา แปลง่ายๆว่า การเห็นแจ้ง หรือ วิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง หมายถึง ปัญญาในส่วนของการบรรลุธรรม การละกิเลส เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา วิปัสสนา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ โดยหลักแล้วก็คือส่วนขยายของข้อความที่ท่านบรรยายไว้สั้นๆว่า “เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายก็หมดสิ้นไป” ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จะต้องผ่านการปฏิบัติส่วนนี้ทั้งสิ้น

การพิจารณาสังขารให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจชัด รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งเรียกสั้นๆว่าวิปัสสนานั้น เป็นส่วนสาระสำคัญของการตรัสรู้หรือบรรลุมรรคผล ซึ่งแม้จะมีหลายสำนวนแต่ก็ลงในแนวเดียวกัน กล่าวคือ สภาวธรรมหรือสังขารธรรมทั้งหลายมักถูกแยกแยะออกเป็นส่วนย่อยในรูปต่างๆ ซึ่งโดยมากแยกออกเป็นขันธ์ ๕ แล้วพิจารณาความจริงตามแนวไตรลักษณ์ มีมากแห่งที่เน้นเฉพาะแง่ที่เกี่ยวกับอัตตาและภาวะที่เป็นอนัตตา บางคราวก็สืบสาวความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามแนวปฏิจจสมุปบาท ถ้าพูดในแง่หลักปฏิบัติก็จะเป็นการกล่าวถึงหลักธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ซึ่งทั้ง ๓๗ ประการนั้น ก็สรุปลงได้ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั่นเอง) (ในจุดนี้ผู้บันทึกขอให้กำลังใจผู้ศึกษาบางท่านที่อาจรู้สึกว่า พระธรรมมีจำนวนมากมาย จนรู้สึกท้อแท้ในการศึกษา ควรเข้าใจว่า โลกุตรธรรมทั้งหมดนั้น มีสาระอย่างเดียวกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่อธิบายคนละแง่ด้าน หรืออธิบายต่างสำนวนกัน เหตุเพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงธรรมตามจริตของผู้ฟังที่ต่างกันนั่นเอง พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง”)


พึงพิจารณาตัวอย่างพระสูตรที่กล่าวถึงแนวทางการวิปัสสนาในแต่ละสำนวน ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะ (คุณ, ส่วนดี) ของอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพ (โทษ, ส่วนเสีย) โดยความเป็นอาทีนพ และซึ่งนิสสรณะ (ภาวะรอดพ้น, ทางออก, ความเป็นอิสระ) โดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก … ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ … บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี” (อัสสาทสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก … ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ … บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี” (อรหันตสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ, เมื่อหายติด (นิพพิทา) ย่อมคลายออก (วิราคะ), เพราะคลายออก ย่อมหลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว ; ย่อมรู้ชัดว่า สิ้นเกิด จบมรรคาชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เสร็จกรณีย์ ไม่มีกิจอื่นอีกเพื่อภาวะเช่นนี้ (อนิจจสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (ทุกขสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เป็นตน (อนัตตา) ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (อนัตตสูตร)

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งไกลทั้งใกล้ ภิกษุย่อมมองดู รูป ฯลฯ วิญญาณ นั้น ย่อมพินิจ ย่อมตรองดูโดยแยบคาย, เมื่อเธอมองดู พินิจ ตรองดูโดยแยบคาย ย่อมปรากฏแต่สิ่งที่ว่างเปล่า หาแก่นสารมิได้เลย, แก่นสารในรูป ฯลฯ วิญญาณ จะพึงมีได้อย่างไร ; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (เผณปิณฑสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ปัจจัยบีบคั้นได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ปัจจัยบีบคั้นได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดจากสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้ เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตน จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน ; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (ก็เป็นเช่นเดียวกัน) ; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (เหตุอัชฌัตตสูตร)

พระมหาโกฏฐิตะ : “ท่านสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยบีบคั้นได้ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ข้องขัดไม่สบาย เป็นดังคนพวกฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่จะต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่าไม่มีสาระจริง ไม่เป็นอัตตา, มีฐานะเป็นไปได้ที่เมื่อภิกษุผู้มีศีล โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”
พระมหาโกฏฐิตะ : “ภิกษุโสดาบันล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “แม้ภิกษุที่เป็นโสดาบัน ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่เมื่อภิกษุโสดาบัน โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล”
(ภิกษุสกทาคามี และภิกษุอนาคามี ก็เนื้อความทำนองเดียวกัน)
พระมหาโกฏฐิตะ : “พระอรหันต์ล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “แม้พระอรหันต์ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นแหละ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ, พระอรหันต์ไม่มีกิจซึ่งจะต้องทำยิ่งขึ้นไปอีก ก็แต่ว่าธรรมเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (สีลสูตร)

“ดูก่อนอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕) เป็นไฉน? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก (อุปธิ แปลว่า สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส) เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน

เธอย่อมเปลี้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ดังนี้, เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕” (มหามาลุงโกยวาทสูตร)

(พระสูตรบทนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับนิพพานแล้วภาวะอื่นใดในโลกย่อมเสมือนเป็นดังความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาวะที่ถือว่าเป็นสุขชั้นเยี่ยมยอดที่สุดของโลกอย่างฌานและอรูปฌาน ส่วนสุขระดับต่ำกว่าอย่างกามสุขนั้นย่อมเป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง)