วันจันทร์

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น