วันพุธ

วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

ก็แหละ คำว่า เรียน นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- อันโยคีบุคคลนั้นจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีลักษณะอาการตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในหัวข้อว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว พึงถวายตัวแต่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ แล้วจึงทำตนให้เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ แล้วจึงขอเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

🔅 คำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ในการถวายตัวนั้น โยคีบุคคลพึงกล่าวคำถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าว่าดังนี้
อิมาหํ ภควา อตฺตาภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายอัตภาพร่างกายอันนี้ แด่พระพุทธองค์

โทษที่ไม่ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

จริงอยู่ โยคีบุคคลครั้นไม่ได้ถวายตนอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ที่เสนาสนะอันเงียบสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งตั้งตนอยู่ได้ จะเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน เกิดเป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ก็จะพึงถึงซึ่งความฉิบหายเสีย

อานิสงส์ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ส่วนโยคีบุคคลผู้ได้ถวายตัวแล้ว ถึงแม้จะมีอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะเกิดความโสมนัสอย่างเดียวโดยที่จะได้เตือนตนว่า พ่อบัณฑิต ก็วันก่อนนั้น เจ้าได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าแล้ว มิใช่หรือ ? เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะพึงมีผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าที่ทำในแว่นแคว้นกาสี) อย่างดีที่สุด เมื่อผ้านั้นถูกหนูหรือพวกแมลงสาบกัดเขาก็จะพึงเกิดความโทมนัสเสียใจ แต่ถ้าเขาจะพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้ไม่มีจีวรไปเสีย แต่นั้นถึงเขาจะได้เห็นผ้านั้น อันภิกษุเอามาตัดทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขาก็จะพึงเกิดแต่ความโสมนัสอย่างเดียว ฉันใด แม้คำอุปไมยนี้นักศึกษาก็พึงทราบเหมือนฉันนั้น

🔅 คำถวายตัวแก่อาจารย์

โยคืบุคคล แม้เมื่อจะถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวคำถวายตัวดังนี้
อิมาหํ ภนุเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมขอมอบถวายอัตภาพร่างกายอันนี้แก่ท่านอาจารย์

โทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์

จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ถวายตัวอย่างนี้ ย่อมจะเป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ บางทีก็จะเป็นคนว่ายากไม่เชื่อฟังโอวาท บางทีก็จะเป็นคนตามแต่ใจตนเอง อยากไปไหนก็จะไปโดยไม่บอกลาอาจารย์ก่อน โยคีบุคคลเช่นนี้นั้น อาจารย์ก็จะไม่รับสงเคราะห์ด้วยอามิสหรือด้วยธรรมะคือการสั่งสอน จะไม่ให้ศึกษาวิชากัมมัฏฐานอันสุขุมลึกซึ้ง เมื่อเธอไม่ได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการนี้แล้ว ก็จะไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าไม่นานก็จะถึงซึ่งความเป็นคนทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไปเลย

อานิสงส์ที่ถวายตัวแก่อาจารย์

ส่วนโยคีบุคคลผู้ถวายตัวแล้ว จะไม่เป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ ไม่เป็นคนตามแต่ใจตนเอง จะเป็นคนว่าง่าย มีความประพฤติติดเนื่องอยู่กับอาจารย์ เมื่อเธอได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการจากอาจารย์แล้ว ก็จะถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา เหมือนอย่างพวกศิษย์อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระเป็นตัวอย่าง

เรื่องศิษย์พระติสสเถระ

มีเรื่องเล่าว่า มีภิกษุ๓ รูป ได้มาสู่สำนักของพระติสสเถระแล้ว ใน ๓ รูปนั้น รูปหนึ่งกราบเรียนอาสาแก่พระเถระว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ”

รูปที่สองกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่ สันเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่”

รูปที่สามกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะทำกาลกิริยาตายได้”

ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า “ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีความสมควรแล้ว” จึงได้บอกพระกัมมัฏฐานให้ ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ใน โอวาทของพระเถระ ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตแม้ทั้ง ๓ รูปแล

นี้เป็นอานิสงส์ในการมอบถวายตัว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า จึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่อาจารย์ ฉะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น