วันอังคาร

วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

 วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

เพราะเหตุฉะนั้น ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้นั้น ประการแรกนักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอาการ ๑๐ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน
๒. โดยการนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌาน
๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน
๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์
๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย
๖. โดยอารมณ์ของฌาน
๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด
๘. โดยการถือเอา
๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน

ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น ประการแรก ข้อว่า โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้ พระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ณ ที่นั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้เป็น ๗ หมวดดังนี้ คือ

๑. กสิณกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๑.๑ ปฐวีกสิณ กสิณสำเร็จด้วยดิน
        ๑.๒ อาโปกสิณ กสิณสำเร็จด้วยน้ำ
        ๑.๓ เตโชกสิณ กสิณสำเร็จด้วยไฟ
        ๑.๔ วาโยกสิณ กสิณสำเร็จด้วยลม
        ๑.๕ นีลกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเขียว
        ๑.๖ ปีตกสิณกสิณสำเร็จด้วยสีเหลือง
        ๑.๗ โลหิตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีแดง
        ๑.๘ โอทาตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีขาว
        ๑.๙ อาโลกกสิณ กสิณสำเร็จด้วยแสงสว่าง
        ๑.๑๐ ปริจฉินนากาสกสิณ กสิณสำเร็จด้วยช่องว่างซึ่งกำหนดขึ้น

๒. อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๒.๑ อุทธมาตกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นพองน่าเกลียด
        ๒.๒ วินีลกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นเป็นสีเขียวน่าเกลียด
        ๒.๓ วิปุพพกอสุภะ ซากศพที่มีหนองแตกพลักน่าเกลียด
        ๒.๔ วิจฉททุกอสุภะ ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ น่าเกลียด
        ๒.๕ วิกขายิตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียด
        ๒.๖ วิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ทิ้งไว้เรี่ยราดน่าเกลียด
        ๒.๗ หาวิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสับฟันทิ้งกระจัดกระจายน่าเกลียด
        ๒.๘ โลหิตกอสุภะ ซากศพที่มีโลหิตไหลออกน่าเกลียด
        ๒.๙ ปุฬวกอสุภะซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนน่าเกลียด
        ๒.๑๐ อัฏฐิกอสุภะ ซากศพที่เป็นกระดูกน่าเกลียด

๓. อนุสสติกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๓.๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
        ๓.๒ ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
        ๓.๓ สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์
        ๓.๔ สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
        ๓.๕ จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคที่ตนบริจาคแล้ว
        ๓.๖ เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
        ๓.๗ มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย
        ๓.๘ กายคตาสติ ระลึกถึงร่างกายซึ่งล้วนแต่ไม่สะอาด
        ๓.๙ อานาปานสติ ระลึกกำหนดลมหายใจเข้าออก
        ๓.๑๐ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง

๔. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๔.๑ เมตตา ความรักที่มุ่งช่วยทำประโยชน์
        ๔.๒ กรุณา ความสงสารที่มุ่งช่วยบำบัดทุกข์
        ๔.๓ มุทิตา ความพลอยยินดีต่อสมบัติ
        ๔.๔ อุเปกขา ความเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายใด

๕. อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๕.๑ อากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด
        ๕.๒ วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด
        ๕.๓ อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร
        ๕.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาละเอียด ซึ่งจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่

๖. สัญญากัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๖.๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความหมายรู้ในอาหารโดยเป็นสิ่งที่น่าเกลียด

๗. ววัตถานกัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๗.๑ จตุธาตุววัตถาน การกำหนดแยกคนออกเป็นธาตุ ๔

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยแสดงจำนวน ด้วยประการฉะนี้

๒. โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาณาน

ข้อว่า โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :-ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ คือยกเว้นกายคตาสติกับอานาปานสติเสีย อนุสสติกัมมัฏฐานที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ นำมาซึ่งอุปจารฌาน กัมมัฏฐานที่เหลือ ๓๐ ประการ นำมาซึ่งอัปปนาฌาน

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌานด้วยประการฉะนี้

๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน

ข้อว่า โดยความต่างกันแห่งฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- แหละในกัมมัฏฐานประการที่นำมาซึ่งอัปปนาฌานนั้น กสิณ ๑๐ กับ อานาปานสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จฌานได้ทั้ง ๔ ฌาน อสุภ ๑๐ กับ กายคตาสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จเพียงปฐมฌานอย่างเดียว พรหมวิหาร ๒ ข้างต้นให้สำเร็จฌาน ๓ ข้างต้น พรหมวิหาร ข้อที่ ๔ และอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ ย่อมให้สำเร็จฌานที่ ๔

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความต่างกันแห่งฌานด้วยประการฉะนี้

๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์

ข้อว่า โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ การผ่าน๒ อย่าง คือ การผ่านองค์ฌาน ๑ การผ่านอารมณ์ ๑ ใน ๒ อย่างนั้นการผ่านองค์ฌานย่อมมีได้ในกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จฌาน ๓ และฌาน ๔ แม้ทั้งหมดทั้งนี้ เพราะทุติยฌานเป็นต้นที่ฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุในอารมณ์เดียวกันนั้นต้องผ่านองค์ฌานทั้งหลาย มีวิตกและวิจารเป็นต้นขึ้นไป ในพรหมวิหารข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน เพราะแม้พรหมวิหารข้อที่ ๔ นั้น อันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุก็ต้องผ่านโสมนัสเวทนาในอารมณ์ของพรหมวิหาร ๒ มีเมตตาเป็นต้นไปเหมือนกัน

ส่วนการผ่านอารมณ์ ย่อมมีได้ในอารูปปกัมมัฏฐาน ๔ เพราะอากาสานัญจายตนฌานอันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านกสิณอันใดอันหนึ่งในบรรดากสิณ ๙ อย่างข้างต้น และวิญญาณัญจายตนฌานเป็นต้นอันฌานลาภิบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านอารมณ์ทั้งหลายมีอากาศเป็นต้นขึ้นไป การผ่านอารมณ์หาได้มีในกัมมัฏฐาน ที่เหลือนอกจากนี้ไม่

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ด้วยประการฉะนี้


๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย

ข้อว่า โดยควรขยายและไม่ควรขยาย นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้: กัมมัฏฐานที่ควรขยาย ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณกัมมัฏฐานควรขยายทั้ง ๑๐ ประการนั่นเทียว เพราะว่าโยคีบุคคลแผ่กสิณไปสู่โอกาสได้ประมาณเท่าใด ก็สามารถได้ยินเสียงด้วยทิพพโสตะ เห็นรูปได้ด้วยทิพพจักษุ และรู้จิตของสัตว์อื่นได้ด้วยจิต ภายในโอกาสประมาณเท่านั้น

กัมมัฏฐานที่ไม่ควรขยาย ส่วนกายคตาสติ กับ อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะเหตุไร ? เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ โยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ และเพราะไม่มีอานิสงส์อะไร และข้อที่กัมมัฏฐานเหล่านี้อันโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะนั้น จักปรากฏในแผนกแห่งภาวนาของกัมมัฏฐานนั้น ๆ ข้างหน้า แหละเมื่อโยคีบุคคล ขยายกัมมัฏฐานเหล่านี้แล้ว ก็เป็นแต่เพียงขยายกองแห่งซากศพเท่านั้น หามีอานิสงส์อะไรแต่ประการใดไม่ แม้ความข้อนี้สมกับที่ท่านกล่าวไว้ในโสปากปัญหาพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาค รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว แต่อัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัด ก็ในปัญหาพยากรณ์นั้นที่ท่านกล่าวว่า รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ได้ขยายนิมิต ส่วนที่ว่าอัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัดนั้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ไม่ได้ขยายนิมิต ส่วนพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุแผ่อัฏฐิกสัญญาไปสู่แผ่นดินทั้งสิ้น ฉะนี้นั้น พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจอาการที่ปรากฏแก่ภิกษุผู้มีอัฏฐิกสัญญา หาได้ตรัสด้วยการขยายนิมิตไม่ จริงอย่างนั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราช ได้มีนกกรเวกเห็นเงาของตนที่ฝาซึ่งทำด้วยกระจกโดยรอบ ๆ ตัวแล้ว มันสำคัญว่ามีนกกรเวกอยู่ในทั่วทุกทิศ จึงได้ร้องออกไปด้วยเสียงอันไพเราะ แม้พระเถระก็เช่นเดียวกัน เพราะท่านได้สำเร็จอัฏฐิกสัญญา จึงเห็นนิมิตปรากฏอยู่ในทั่วทุกทิศ เลยเข้าใจว่า แผ่นดินแม้ทั้งหมดเต็มไปด้วยอัฏฐิฉะนี้

หากเกิดปัญหาขึ้นว่า ถ้าเมื่อถือเอาความอย่างนี้แล้ว ภาวะที่อสุภฌานทั้งหลายมีอารมณ์หาประมาณมิได้อันใด ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในธัมมสังคหะๆ ข้อนั้นก็จะผิดเสียละซี ? วิสัชนาว่า ข้อนั้นไม่ใช่จะผิดไปเสียเลย เพราะโยคีบุคคลบางคนย่อมถือเอานิมิตในซากศพที่ขึ้นพองหรือในซากศพที่เป็นโครงกระดูกชนิดใหญ่ บางคนก็ถือเอานิมิตในซากศพเช่นนั้นชนิดเล็ก โดยปริยายนี้ฌานของโยคีบุคคลบางคนจึงมีอารมณ์เล็ก บางคนมีอารมณ์หาประมาณมิได้ อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ฌานมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ท่านหมายเอาโยคีบุคคลที่ไม่เห็นโทษในการขยายนิมิตแห่งอสุภกัมมัฏฐานนั้นแล้วขยายกัมมัฏฐานนั้น แต่อย่างไรก็ตาม กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะไม่มีอานิสงส์อะไร มิใช่แต่เท่านี้ แม้กัมมัฏฐานที่เหลือก็ไม่ควรขยายเช่นเดียวกับกายคตาสติและอสุภกัมมัฏฐานนี้ เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านั้น นิมิตแห่งอานาปานสติ เมื่อโยคีบุคคลขยาย ก็จะขยายแต่กองแห่งลมเท่านั้น และนิมิตแห่งอานาปานสตินั้นกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ เช่นนิมิตที่ปลายจมูกและริมฝีปากเป็นต้น ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐานจึงไม่ควรขยาย เพราะมีแต่โทษอย่างหนึ่ง เพราะโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะอย่างหนึ่ง พรหมวิหาร ๔ มีสัตว์เป็นอารมณ์ เมื่อขยายอารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้น ก็จะขยายแต่กองแห่งสัตว์เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์อะไรกับการขยายกองแห่งสัตว์นั้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้นก็ไม่ควรขยาย ส่วนพระพุทธพจน์ใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ ฉะนี้นั้นทรงแสดงด้วยอำนาจการกำหนดถือเอาต่างหาก หาใช่ด้วยอำนาจการขยายนิมิตไม่ จริงอยู่ภิกษุกำหนดเอาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในทิศหนึ่งแล้วจึงเจริญเมตตาไปโดยลำดับ มีอาทิว่า อาวาสหนึ่ง สองอาวาส ฉะนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ มิใช่ภิกษุขยายนิมิตกัมมัฏฐาน

อนึ่ง ในพรหมวิหารภาวนานี้เล่า ก็ไม่มีปฏิภาคนิมิตที่โยคีบุคคลนี้จะพึงขยายด้วย แม้การที่พรหมวิหารฌานมีอารมณ์เล็กน้อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ในอธิการนี้พึงทราบด้วยอำนาจการกำหนดเอาสัตว์จำนวนมากเป็นเกณฑ์ต่างหาก แม้ในอารมณ์ของอารุปปฌาน ๔ นั้น อากาศ (หมายเอาอากาสานัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นกสิณคฆาฏิมากาศ คืออากาศตรงที่เพิกกสิณออก จริงอยู่กสิณคฆาฏิมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณออก) นั้น โยคีบุคคลพึงสนใจแต่เพียงว่าเป็นที่ปราศจากกสิณเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้น แม้จะขยายก็ไม่มีประโยชน์อะไร วิญญาณ (หมายเอาวิญญาณัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม จริงอยู่ ใคร ๆ ก็ตามไม่สามารถจะขยายสภาวธรรมได้ ความปราศจากวิญญาณ (หมายเอาอากิญจัญญายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นภาวะสักว่าความไม่มีแห่งวิญญาณ อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกัน

กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๐ มีพุทธานุสสติเป็นต้น ก็ไม่ควรขยายด้วย ไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะกัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเท่านั้น ที่เป็นกัมมัฏฐานควรจะขยายและอารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตของกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ มีพุทธานุสสติ เป็นต้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรขยายอารมณ์นั้น ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยควรขยายและไม่ควรขยายด้วยประการฉะนี้

๖. โดยอารมณ์ของฌาน

ข้อว่า โดยอารมณ์ของฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิต กัมมัฏฐานที่เหลือ ๑๘ มีอารมณ์ไม่เป็นปฏิภาคนิมิต

อนึ่ง ในอนุสสติ ๑๐ ยกเว้นอานาปานสติกับกายคตาสติเสีย อนุสสติที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ วิญญาณัญจายตนะ ๑ เนวสัญญา นาสัญญายตนะ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นสภาวธรรม

กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นนิมิต

กัมมัฏฐานที่เหลือ ๕ คือ พรหมวิหาร ๔ อากาสานัญจายตนะ ๑ อากิญจัญญายตนะ ๑ มีอารมณ์ที่พูดไม่ถูก (คือใช่สภาวธรรมและไม่เป็นนิมิต)

อนึ่ง วิปุพพกอสุภะ ๑ โลหิตกอสุภะ ๑ ปุฬวกอสุภะ ๑ อานาปานสติ ๑ อาโปกสิณ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ และอารมณ์คือสื่งนั้น เช่นดวงแสงแห่งพระอาทิตย์เป็นต้นที่ฉายเข้าไปข้างในโดยทางช่องหน้าต่างเป็นต้น

ในอาโลกกสิณนั้น ๑ รวม ๔ กัมมัฏฐานนี้มีอารมณ์เคลื่อนไหวได้ แต่ก็เคลื่อนไหวได้ในเบื้องต้นก่อนแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนที่เป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็สงบนิ่งเหมือนกัน 

กัมมัฏฐานที่เหลือจาก ๔ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์ไม่เคลื่อนไหว
ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอารมณ์ของฌาน ด้วยประการฉะนี้

๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด

ก็แหละ ในข้อว่า โดยภูมิเป็นที่บังเกิด นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร เพราะซากศพและอาหารอันน่าเกลียดไม่มีในเทวโลก

ชั้นนั้น กัมมัฏฐาน ๑๒ นั้น รวมกับอานาปานสติ ๑ เป็น ๑๓ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลก เพราะลมอัสสาสะปัสสาสะไม่มีในพรหมโลก

กัมมัฏฐานอื่นจากอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ แล้วย่อมไม่บังเกิดในอรูปภพ

ส่วนในโลกมนุษย์ กัมมัฏฐานบังเกิดได้ครบหมดทั้ง ๔๐ ประการ

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยภูมิเป็นที่บังเกิด ด้วยประการฉะนี้


๘. โดยการถือเอา


ในข้อว่า โดยการถือเอา นั้น พึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐาน แม้โดยการถือเอาด้วยวัตถุที่ได้เห็น, ได้ถูกต้อง และที่ได้ยินดังนี้ ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น ยกเว้นวาโย กสิณเสีย กสิณที่เหลือ ๙ กับ อสุภ ๑๐ รวมเป็น ๑๙ กัมมัฏฐานนี้ พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อธิบายว่า ในเบื้องต้นต้องแลดูด้วยตาเสียก่อนแล้วจึงถือเอานิมิตของกัมมัฏฐานเหล่านั้นได้ ในกายคตาสติ อาการ ๕ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟันและหนัง พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อาการที่เหลืออีก ๒๗ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน ดังนั้น อารมณ์ของกายคตาสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยการถูกต้อง(สัมผัส) วาโยกสิณพึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและสัมผัสที่ได้ถูกต้อง กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๔ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน

แหละในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กัมมัฏฐาน ๕ คือ อุเปกขาพรหมวิหาร ๑ อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อันโยคีบุคคลผู้เริ่มลงมือทำกัมมัฏฐานจะพึงถือเอาไม่ได้ในทันทีทีเดียว กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๕ จึงถือเอาได้โดยทันที ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยการถือเอา ด้วยประการฉะนี้


๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

ข้อว่า โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละในบรรดา

กสิณ  ๙ ประการ (ยกเว้นอากาสกสิณ) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปฌานทั้งหลาย
กสิณทั้ง ๑๐ ประการ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อภิญญาทั้งหลาย
พรหมวิหาร ๒ (ข้างต้น) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่พรหมวิหารข้อที่ ๔
อารุปปกัมมัฏฐานบทต่ำ ๆ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปกัมมัฏฐานบทสูง ๆ
เนวสัญญานาสัญญายตนกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่นิโรธสมาบัติ
กัมมัฏฐานแม้ทั้งหมด ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การอยู่เป็นสุข แก่วิปัสสนากัมมัฏฐาน และแก่ภวสมบัติทั้งหลาย

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุนด้วยประการฉะนี้

๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

ในข้อว่า โดยเหมาะสมแก่จริยา นี้ พึงทราบการวินิจฉัยแม้โดยความเหมาะสมแก่จริยาทั้งหลาย ดังนี้ :
ประการแรก ในกัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น
กัมมัฏฐาน ๑๑ คือ อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ พรหมวิหาร ๔ วรรณกสิณ ๔ เหมาะสมแก่คนโทสจริต
อานาปานสติกัมมัฏฐานข้อเดียวเท่านั้น เหมาะสมแก่คนโมหจริตและคนวิตกจริต
อนุสสติ ๕ ข้างต้น เหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ มรณสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ เหมาะสมแก่คนพุทธิจริต
กสิณกัมมัฏฐานที่เหลือ ๖ กับอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ เหมาะสมแก่คนทุกจริต
แต่ว่าในกสิณ นั้น กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งที่เล็กขนาดขันโอ ย่อมเหมาะสมแก่คนวิตกจริต
กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งขนาดใหญ่กว่านั้นจนขนาดเท่าจานข้าวเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโมหจริต

ฉะนี้นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเหมาะสมแก่จริยาในกัมมัฏฐาน ๔๐ นี้ ด้วยประการฉะนี้

🔅 สรุปความในจริยา

ก็แหละ ถ้อยแถลงทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าแสดงไว้ด้วยอำนาจที่เป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจเป็นกัมมัฏฐานที่สบายแท้ ๆ อย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีขึ้นชื่อว่าภาวนาฝ่ายกุศลแล้ว ที่จะไม่กำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือที่จะไม่เป็นอุปการะแก่คุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เป็นอันไม่มี ข้อนี้สมด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งมีในเมฆยสูตรว่า พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือพึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายเพื่อประหานเสียซึ่งราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อประหานเสียซึ่งพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติ เพื่อกำจัดเสียซึ่งมิจฉาวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ

แม้ในราหุลสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระกัมมัฏฐาน ๗ ประการโปรดพระราหุลเถระเพียงองค์เดียว โดยนัยมีอาทิว่า ราหุล เธอจงเจริญซึ่งภาวนาอันมีเมตตาเป็นอารมณ์... เพราะเหตุฉะนี้ นักศึกษาจงอย่าได้ทำความยึดถือเพียงแต่ในถ้อยแถลงที่แสดงไว้ว่า กัมมัฏฐานอย่างโน้นเหมาะสมแก่จริตบุคคล ประเภทโน้นจึงค้นคว้าแสวงหาอรรถาธิบายในคัมภีร์ต่าง ໆ ทั่วไปเถิด การวินิจฉัยกัมมัฏฐานกถาโดยพิสดาร ในหัวข้อสังเขปว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ยุติเพียงเท่านี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น