วันศุกร์

จริยา ๖ อย่าง

 จริยา ๖ อย่าง

บัดนี้ จะอรรถาธิบายความในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า อันเหมาะสมแก่จริยาของตน ฉะนี้ต่อไป
คำว่า จริยา ได้แก่จริยา ๖ อย่าง คือ
        ๑. ราคจริยา* ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจราคะ
        ๒. โทสจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโทสะ
        ๓. โมหจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโมหะ
        ๔. สัทธาจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจศรัทธา
        ๕. พุทธิจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจปัญญา
        ๖. วิตกกจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจวิตก

(* คำว่า ราคจริยา มีอรรถวิเคราะห์ว่า คือความท่องเที่ยวไป ได้แก่ความเกิดขึ้นแห่งราคะในสันดานจนหนาแน่นเป็นอุปนิสัย เรียกว่า ราคจริยา จริยาอื่น ๆ ก็โดยทำนองเดียวกันนี้)

แต่เกจิอาจารย์ประสงค์เอาจริยาถึง ๑๔ อย่าง โดยบวกจริยา ๘ เข้าด้วย ดังนี้คือ จริยาอื่นอีก ๔ ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของราคจริยาเป็นต้น ราคโทสจริยา ๑ ราคโมหจริยา ๑ โทสโมหจริยา ๑ ราคโทสโมหจริยา ๑ และจริยา ๔ อย่างอื่นอีกด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของสัทธาจริยาเป็นต้น คือ สัทธาพุทธิจริยา ๑ สัทธาวิตกกจริยา ๑ พุทธิวิตกกจริยา ๑ สัทธาพุทธิวิตกกจริยา แต่เมื่อจะกล่าวประเภทแห่งจริยา ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันอย่างนี้แล้ว จริยาก็จะมีเป็นอเนกประการ โดยยกเอาราคจริยาเป็นต้นมาคละกันกับสัทธาจริยาเป็นต้น ความสำเร็จแห่งอรรถาธิบายที่ประสงค์ก็จะไม่พึงมี เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึ่งเข้าใจแต่โดยสังเขปว่า จริยามีเพียง ๖ อย่างเท่านั้น

จริตบุคคล ๖ ประเภท

คำว่า จริยา ๑ ปกติ ๑ ความหนาแน่น ๑ โดยใจความเป็นอันเดียวกัน และด้วยอำนาจแห่งมูลจริยา ๖ อย่างนั้น บุคคลจึงมี ๖ ประเภทเหมือนกัน ดังนี้
        ๑. ราคจริตบุคคล คนราคจริต
        ๒. โทสจริตบุคคล คนโทสจริต
        ๓. โมหจริตบุคคล คนโมหจริต
        ๔. สัทธาจริตบุคคล คนศรัทธาจริต
        ๕. พุทธิจริตบุคคล คนพุทธิจริต
        ๖. วิตกกจริตบุคคล คนวิตกจริต

จริยานี้ท่านแสดงไว้โดยพิสดารในสังยุตตสุตตฎีกา ผู้ปรารถนาพึงตรวจดูเถิด

🔅 อธิบายจริตบุคคล ๖ ประเภท

ราคจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับศรัทธาจริตบุคคลโดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนราคจริตนั้น ศรัทธามีกำลังมาก เพราะศรัทธามีคุณลักษณะใกล้กับราคะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล ราคะย่อมทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ไม่ห่อเหี่ยว ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็ทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยวฉันนั้น ราคะย่อมแสวงหาวัตถุกาม ฉันใด ศรัทธาก็ย่อมแสวงหาคุณมีศีลเป็นต้นฉันนั้น และราคะย่อมไม่ละวางซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ฉันใด ศรัทธาก็ไม่ละวางซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันนั้น

โทสจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับพุทธิจริตบุคคลโดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนโทสจริตนั้น ปัญญามีกำลังมาก เพราะปัญญามีคุณลักษณะใกล้กับโทสะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล โทสะไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็ไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันนั้น โทสะย่อมแสวงหาแต่โทษแม้ที่ไม่มีจริง ฉันใด ปัญญาก็ย่อมแสวงหาแต่โทษที่มีจริง ฉันนั้น และโทสะย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสัตว์ ฉันใด ปัญญาก็ย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสังขารฉันนั้น

แหละ โมหจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับวิตกจริตบุคคล โดยมีอรรถาธิบายว่าเมื่อโมหจริตบุคคลเพียรพยายามเพื่อทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นนั้น วิตกผู้ทำอันตรายย่อมซิงเกิดขึ้นเสียโดยมาก ทั้งนี้ เพราะวิตกมีลักษณะใกล้กับโมหะ ขยายความว่า โมหะเป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะเกลื่อนกลาดดาษดาไปในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไม่ตั้งมั่นเพราะตริตรึกนึกไปโดยประการต่าง ๆ ฉันนั้น และโมหะเป็นสภาพไหวหวั่นเพราะไม่หยั่งลงมั่นในอารมณ์ ฉันใดวิตกก็เป็นสภาพไหวหวั่นเพราะกำหนดอารมณ์รวดเร็ว ฉันนั้น

อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า จริยาอื่น ๆ ยังมีอีก ๓ อย่าง ด้วยอำนาจตัณหา๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ ใน ๓ อย่างนั้น ตัณหาก็ได้แก่ราคะนั่นเอง และมานะก็ประกอบด้วยราคะนั้น เพราะเหตุฉะนี้ ตัณหาและมานะทั้งสองจึงไม่พ้นราคจริตไปได้ ส่วนทิฏฐิจริยาก็บวกเข้าอยู่ในโมหจริยานั่นเอง เพราะทิฏฐิมีโมหะเป็นเหตุให้เกิด

🔅 ปัญหา ๓ ข้อในจริยา ๖ อย่าง

๑. จริยา ๖ อย่างนี้นั้น มีอะไรเป็นเหตุ ?
๒. จะทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้ เป็นราคจริต บุคคลนี้ เป็นโทสจริต เป็นต้น จริตใดจริตหนึ่ง ?
๓. บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร ?

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๑

ในจริยา ๖ อย่างนั้น เกจิอาจารย์กล่าวไว้ว่า จริยา ๓ อย่างข้างต้น มีกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อนเป็นเหตุ ๑ มีธาตุและโทษเป็นเหตุ ๑

อธิบายว่า บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนราคจริต บุคคลผู้สร้างเวรกรรมคือตัดช่องย่องเบาปล้นฆ่าและพันธนาจองจำไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากนรกและกำเนิดนาคมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโทสจริต บุคคลที่ดื่มน้ำเมามากและขาดการศึกษาการค้นคว้าในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากกำเนิดดิรัจฉานมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโมหจริต

เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้น มีกรรมที่สั่งสมมาในชาติก่อนเป็นเหตุอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือ ธาตุดินและธาตุน้ำมาก บุคคลจึงเป็นคนโมหจริต เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือธาตุไฟและธาตุลมนอกนี้มาก บุคคลจึงเป็นคนโทสจริตและเพราะมีธาตุหมดทั้ง ๔ ธาตุสม่ำเสมอกัน บุคคลจึงเป็นคนราคจริต ส่วนในข้อว่าด้วยโทษนั้นคือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนราคจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนโมหจริตหรือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนราคจริต เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้น มีธาตุและโทษเป็นเหตุอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

มติมหาพุทธโฆสเถระแย้งเกจิอาจารย์

คำของพวกเกจิอาจารย์ทั้งหมดนี้ เป็นคำที่ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อนก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนราคจริตไปเสียทั้งหมดมิได้ หรือบุคคลจำพวกสร้างเวรกรรมมีการตัดช่องย่องเบาเป็นต้นไว้มากก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากนรกเป็นต้นมาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนโทสจริต คนโมหจริต ไปเสียทั้งหมดมิได้ และการกำหนดเอาความมากของธาตุทั้ง ๔ โดยนัยตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่เป็นอย่างนั้นทีเดียว และในการกำหนดเอาโทษเล่า ก็กล่าวถึงเพียงคนราคจริตกับคนโมหจริต ๒ บุคคลเท่านั้น และแม้คำกำหนดด้วยอำนาจโทษนั้นก็ผิดกันทั้งเบื้องต้นเบื้องปลาย (เพราะการกำหนดจริยาด้วยอำนาจแห่งโทษว่า บุคคลเป็นคนราคจริตเป็นต้นด้วยมีโทษคือเสมหะเป็นต้นมากนั้น พวกเกจิอาจารย์กล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนราคจริตดังนี้แล้วกลับกล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต และว่าบุคคลมีลมมากเป็นคนโมหจริต แล้วยังกล่าวว่า บุคคลมีลมมากเป็นคนราคจริตอีกเล่า) และในศรัทธาจริยาเป็นต้น ก็มิได้กล่าวถึงเหตุแห่งจริยาอะไรเลย แม้แต่อย่างเดียว

มติของท่านอรรถกถาจารย์

ส่วนการวินิจฉัยตามแนวมติของท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ในอธิการนี้ มีดังนี้ กล่าวคือ ในการระบุเอาส่วนที่มากหนาของเหตุ ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้มีโลภะมากหนา เป็นผู้มีโทสะมากหนา เป็นผู้มีโมหะมากหนา เป็นผู้มีอโลภะมากหนา เป็นผู้มีอโทสะมากหนา และเป็นผู้มีอโมหะมากหนา ทั้งนี้โดยนิยามแห่งเหตุมีโลภะเป็นต้นอันเป็นไปในภพก่อน ดังนี้

อกุศลวาระ ๔

๑. บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย โลภะ อโทสะ อโมหะ มีกำลังมากแต่อโลภะ โทสะ โมหะมีกำลังน้อย อโลภะซึ่งมีกำลังน้อยของบุคคลนั้นย่อมไม่สามารถครอบงำโลภะได้ ส่วนอโทสะ, อโมหะมีกำลังมาก จึงสามารถครอบงำโทสะ โมหะได้ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ชื่อว่า บังเกิดด้วยอำนาจปฏิสนธิวิบากอันกรรมนั้นเผล็ดผลให้ ย่อมเป็นคนขี้โลภ แต่อ่อนโยน ไม่มักโกรธ มีปัญญา มีปรีชาญาณแหลมคมดังเพชร

๒. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย โลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก แต่อโลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนเจ้าปัญญามีญาณปรีชาแหลมคมดังเพชร เหมือนพระทัตตาภยเถระเป็นตัวอย่าง

๓. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย  โลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่อโลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย มีปัญญาน้อยด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนอ่อนโยน ไม่ขี้โกรธเหมือนพระพากุลเถระเป็นตัวอย่าง

๔. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย  โลภะ โทสะ โมหะ ครบทั้ง ๓ เหตุ มีกำลังมาก แต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ เหตุมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย มีปัญญาน้อยด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว

กุศลวาระ ๔

๑. ส่วนบุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ โทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ อโทสะ, อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่โลภ มีกิเลสน้อย แม้จะได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นทิพย์ ก็ไม่หวั่นไหวโดยนัยต้นนั่นเทียวแต่ว่าเป็นคนขี้โกรธ และมีปัญญาน้อย

๒. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภและไม่ขี้โกรธ อ่อนโยน โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนมีปัญญาน้อย

๓. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภและมีปัญญาดี โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนขี้โทโสขี้โกรธ

๔. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เหตุทั้ง ๓ ประการมีกำลังมาก แต่โลภะ โทสะ โมหะมีกำลังอ่อน บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้นย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภ ไม่ขี้โกรธ และมีปัญญาดี เหมือนพระมหารักขิตเถระ โดยนัยต้นนั่นเทียว

อรรถาธิบายของท่านฎีกาจารย์ 
(ยกมาจาก ปรมตุถมญชุสาฎีกา เพื่อให้นักศึกษาได้ความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น)

อกุศลวาระและกุศลวาระนี้ ท่านฎีกาจารย์ให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ ก็แหละในอรรถกถานั้น ได้วาระ ๑๔ วาระ คือ ในฝ่ายอกุศลได้ ๗ วาระ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจความมากหนาแห่งเหตุมีโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็น อย่างละหนึ่ง ๓ วาระ อย่างละสอง ๓ วาระ อย่างละสาม ๑ วาระ คือโลภวาระ ๑ โทสวาระ ๑ โมหวาระ ๑ โลภะ โทสวาระ ๑ โลภะ โมหวาระ ๑ โทสะ โมหวาระ ๑ และโลภะ โทสะ โมหวาระ ๑ ในฝ่ายกุศลก็ได้ ๗ วาระเหมือนกัน ทั้งนี้ด้วยอำนาจความมากหนาแห่งเหตุมี อโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็น อย่างละหนึ่ง ๓ วาระ อย่างละสอง ๓ วาระ อย่างละสาม ๑ วาระ คือ อโลภวาระ ๑ อโทสวาระ ๑ อโมหวาระ ๑ อโลภะ อโทสวาระ ๑ อโลภะ อโมหวาระ ๑ อโทสะ อโมหวาระ ๑ อโลภะ อโทสะ อโมหวาระ ๑

ใน ๑๔ วาระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์แสดงเป็นเพียง ๘ วาระเท่านั้น โดยจัดวาระในฝ่ายอกุศลเป็น ๓ วาระ ในฝ่ายกุศลเป็น ๓ วาระ เข้าไว้ในภายในดังนี้ ในฝ่ายกุศลท่านถือเอาโทสุสสทวาระด้วยวาระที่ ๓ ถือเอาโมรุสสทวาระด้วยวาระที่ ๒ และ ถือเอาโทสโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๑ ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า อโลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก, อโลภะ อโทสะ โมหะมีกำลังมาก, อโลภะ โทสะ โมหะมีกำลังมาก, ในฝ่ายอกุศลก็เหมือนกันท่านถือเอาอโทสุสสทวาระด้วยวาระที่ ๓ ถือเอาอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๒ และถือเอาอโทสอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๑ ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า โลภะ อโทสะ โมหะมีกำลังมาก, โลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก, โลภะ อโทสะ อโมหะมีกำลังมาก ก็แหละ ในอรรถกถานั้น บุคคลใดที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เป็นคนขี้โลภ ดังนี้ บุคคลนั้นเป็นคนราคจริต บุคคลที่ขี้โกรธและบุคคลมีปัญญาอ่อน เป็นคนโทสจริตและคนโมหจริต บุคคลผู้มีปัญญาดี เป็นคนพุทธิจริต บุคคลผู้ไม่โลภไม่โกรธเป็นคนศรัทธาจริต เพราะมีปกติเลื่อมใสศรัทธา อีกนัยหนึ่ง บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีอโมหะเป็นบริวาร เป็นคนพุทธิจริต ฉันใด บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีศรัทธาที่มีกำลังมากเป็นบริวาร ก็เป็นคนศรัทธาจริต ฉันนั้น บุคคลที่เกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีกามวิตกเป็นต้นเป็นบริวาร เป็นคนวิตกจริต บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีความผสมกับโลภะเป็นต้นเป็นบริวาร จัดเป็นคนมีจริตเจือปนนักศึกษาพึงทราบว่า กรรมอันให้เกิดปฏิสนธิวิบาก ซึ่งมีโลภะเป็นต้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นบริวาร นับเป็นเหตุแห่งจริยาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๒

ก็แหละ ในปัญหาที่ข้าพเจ้าตั้งไว้มีอาทิว่า จะพึงทราบได้อย่างไรว่าบุคคลนี้เป็นคนราคจริต ฉะนี้นั้น มีแนวทางที่จะให้ทราบได้โดยบทประพันธคาถา ดังนี้ อิริยาปถโต กิจฺจา โภชนา ทสฺสนาทิโต ธมุมปปวตุติโต เจว จริยาโย วิภาวเย นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายได้โดยประการเหล่านี้ คือ :

        ๑. โดยอิริยาบถ
        ๒. โดยการงาน
        ๓. โดยอาหาร
        ๔. โดยการเห็นเป็นต้น
        ๕. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม

๑. โดยอิริยาบถ

ในประการเหล่านั้น ข้อว่า โดยอิริยาบถ มีอรรถาธิบายว่า :- อิริยาบถเดิน คนราคจริตเมื่อเดินอย่างปกติ ย่อมเดินไปโดยอาการอันเรียบร้อย ค่อย ๆ วางเท้าลง วางเท้ายกเท้าอย่างสม่ำเสมอ และเท้าของคนราคจริตนั้นเป็นเว้ากลาง คนโทสจริตย่อมเดินเหมือนเอาปลายเท้าขุดพื้นดินไป วางเท้ายกเท้าเร็ว และเท้าของคนโทสจริตนั้นจิกปลายเท้าลง คนโมหจริตย่อมเดินด้วยกิริยาที่ส่ายไปข้าง ๆ วางเท้ายกเท้าเหมือนกับคนที่สะดุ้งตกใจ และเท้าของคนโมหจริตนั้นลงสัน ข้อนี้สมด้วยคำที่อรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอุปปัติแห่งคัณฑิยสูตรว่า คนขี้กำหนัดเท้าเว้ากลาง คนขี้โกรธเท้าจิกปลายลง คนขี้หลงเท้าลงส้น ส่วนเท้าชนิดนี่นี้ เป็นเท้าของท่านผู้ละกิเลส เหมือนดังหลังคาได้แล้ว

แม้อิริยาบถยืนของคนราคจริต ก็มีอาการหวานตา น่าเลื่อมใส ของคนโทสจริตมีอาการแข็งกระด้าง ของคนโมหจริตมีอาการซุ่มซ่ามแม้ในอิริยาบถนั่งก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนอิริยาบถนอน คนราคจริตไม่รีบร้อน ปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอค่อย ๆ นอนทอดองค์อวัยวะลงโดยเรียบร้อย นอนหลับด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสและเมื่อปลุกให้ตื่นก็ไม่ผลุนผลันลุกขึ้น ขานตอบเบา ๆ เหมือนคนมีความรังเกียจ คนโทสจริตรีบร้อน ปูที่นอนตามแต่จะได้ ทอดกายผลุงลง นอนอย่างเกะกะไม่เรียบร้อย และเมื่อปลุกให้ตื่นก็ผลุนผลันลุกขึ้นขานตอบเหมือนกับคนโกรธ คนโมหจริตปูที่นอนไม่ถูกฐานผิดรูป นอนทอดกายส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ คว่ำหน้ามาก และเมื่อปลุกให้ตื่นก็มัวทำเสียงซื้อซื้ออยู่ ลุกขึ้นอย่างเชื่องช้า ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้นเพราะมีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้น ฉะนั้น แม้คนศรัทธาจริตเป็นต้นจึงมอิริยาบถเหมือนกับคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอิริยาบถเป็นประการแรก ด้วยประการฉะนี้

๒. โดยการงาน

ก็แหละ ข้อว่า โดยการงาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ในการงานต่าง ๆ เช่นการปัดกวาดลานวัดเป็นต้น คนราคจริตจับไม้กวาดอย่างเรียบร้อย ไม่รีบร้อนไม่คุ้ยดินทรายให้เกลื่อนกลาด กวาดสะอาดราบเรียบ เหมือนลาดพื้นด้วยเสื้อปอและดอกไม้ คนโทสจริตจับไม้กวาดแน่นมาก ท่าทางรีบร้อน คุ้ยเอาดินทรายขึ้นไปกองไว้สองข้าง กวาดเสียงดังกราก ๆ แต่ไม่สะอาดไม่เรียบราบ คนโมหจริตจับไม้กวาดหลวม ๆ กวาดวนไปวนมาทำให้ดินทรายและหยากเยื่อกลาดเกลื่อน ไม่สะอาดไม่เรียบราบ ในกรณีปัดกวาด ฉันใด แม้ในการงานทั่ว ๆ ไป เช่นการซักจีวร ย้อมจีวรเป็นต้นก็เหมือนกัน คนราคจริตมักทำอย่างละเอียดลออ เรียบร้อย สม่ำเสมอ และด้วยความตั้งใจ คนโทสจริต มักทำอย่างเคร่งเครียด เข้มแข็ง แต่ไม่สม่ำเสมอ คนโมหจริตมักทำไม่ละเอียดลออ งุ่มง่าม ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แม้การนุ่งห่มจีวรสำหรับคนราคจริต นุ่งห่มไม่ตึงเกินไม่หลวมเกิน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล น่าเลื่อมใส สำหรับคนโทสจริต นุ่งห่มตึงเปรี้ยะ ไม่เป็นปริมณฑล สำหรับคนโมหจริต นุ่งห่มหลวม ๆ พะรุงพะรัง ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบโดยทำนองแห่งคนราคจริต เป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้น เหล่านั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการงาน ด้วยประการฉะนี้

๓. โดยอาหาร

ข้อว่า โดยอาหาร นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- คนราคจริตชอบอาหารที่มีรสหวานจัด และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวกลมกล่อม ไม่ใหญ่จนเกินไป มีความต้องการรสเป็นสำคัญ บริโภคอย่างไม่รีบร้อน และได้อาหารที่ดี ๆ แล้วจะเป็นอะไรก็ตามย่อมดีใจ คนโทสจริตชอบอาหารที่ไม่ประณีต มีรสเปรี้ยว และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวใหญ่เสียจนเต็มปาก ไม่ต้องการโอชารส บริโภคอย่างรีบร้อน และได้อาหารที่ไม่ดีแล้วจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมเสียใจ คนโมหจริตไม่ชอบรสอะไรแน่นอน และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวเล็ก ๆ ไม่กลมกล่อม ทำเมล็ดข้าวหกเรี่ยราดในภาชนะ ริมฝีปากเปื้อนเปรอะ บริโภคอย่างมีจิตฟุ้งซ่าน นึกพล่านไปถึงสิ่งนั้น ๆ ฝ่ายคนศรัทธาจริตเป็นต้นก็พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอาหาร ด้วยประการฉะนี้

๔. โดยการเห็นเป็นต้น

ข้อว่า โดยการเห็นเป็นต้น นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คนราคจริตเห็นรูปที่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อย ก็เกิดพิศวงแลดูเสียนาน ๆ ย่อมข้องติดอยู่ในคุณเพียงเล็กน้อย ไม่ถือโทษแม้ที่เป็นจริง แม้จะหลีกพ้นไปแล้วก็ไม่ประสงค์ที่จะปล่อยวาง หลีกไปทั้ง ๆ ที่มีความอาลัยถึง คนโทสจริตเห็นรูปที่ไม่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อยก็เป็นดุจว่าลำบากใจเสียเต็มที่ ทนแลดูนาน ๆ ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนเป็นทุกข์ในโทษแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ถือเอาคุณแม้ที่มีจริงแม้จะหลีกพ้นไปแล้ว ก็ยังปรารถนาที่จะพ้นอยู่นั่นเองหลีกไปอย่างไม่อาลัยถึง คนโมหจริตเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมอาศัยคนอื่นกระตุ้นเตือน ครั้นได้ยินคนอื่นเขานินทาก็นินทาตาม ครั้นได้ยินคนอื่นเขาสรรเสริญก็สรรเสริญตาม ส่วนลำพังตนเองเฉย ๆ ด้วยความเฉยเพราะไม่รู้ แม้ในกรณีที่ได้ฟังเสียงเป็นต้น ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการเห็นเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้

๕. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม

ข้อว่า โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเสแสร้ง, ความโอ้อวด, ความถือตัว, ความปรารถนาลามก, ความมักมาก, ความไม่สันโดษ, ความมีแง่งอน, และความมีเล่ห์เหลี่ยม ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนราคจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความโกรธ, ความผูกโกรธ, ความลบหลู่, ความตีเสมอ, ความริษยา และความตระหนี่ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่ คนโทสจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความหดหู, ความเชื่องซึม, ความฟุ้งซ่าน, ความรำคาญใจ, ความสงสัย, ความยึดถือมั่นด้วยสำคัญผิด และความไม่ปล่อยวางย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนโมหจริต

กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเสียสละเด็ดขาด, ความใคร่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย, ความใคร่ฟังพระสัทธรรม, ความมากไปด้วยปราโมช, ความไม่โอ้อวด, ความไม่มีมารยา และความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนศรัทธาจริต กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย, ความเป็นผู้มีมิตรดี, ความรู้จักประมาณในโภชนะอาหาร, ความมีสติสัมปชัญญะ, ความหมั่นประกอบความเพียร, ความเศร้าสลดในฐานะที่ควรเศร้าสลด และความเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายของผู้เศร้าสลดแล้ว ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนพุทธิจริต, อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความมากไปด้วยการพูด, ความยินดีในหมู่คณะ, ความไม่ใยดีในการภาวนากุศลธรรม, ความมีการงานไม่แน่นอน, ความบังหวนควันในเวลากลางคืน ความลุกโพลงในเวลากลางวัน และความคิดพล่านไปโน่น ๆ นี่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนวิตกจริต

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม ด้วยประการฉะนี้

วินิจฉัยวิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒

ก็แหละ เพราะวิธีแสดงจริยานี้ ไม่ได้มาในพระบาลีและอรรถกถาโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้ายกมาแสดงไว้โดยอาศัยมติของอาจารย์อย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ควรเชื่อถือเอาโดยเป็นสาระนัก เพราะเหตุว่า อาการทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้นของคนราคจริตที่แสดงไว้นั้น แม้จำพวกคนโทสจริตเป็นต้นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทก็สามารถทำได้อยู่ และสำหรับบุคคลผู้มีจริตผสมกันเพียงคนเดียว จริยาทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้นซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนวิธีแสดงจริยานี้ใดที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ข้อนั้นเท่านั้นควรเชื่อถือโดยเป็นสาระแท้ สมกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า อาจารย์ผู้ได้สำเร็จเจโตปริยญาณ จึงจักรู้จริยาแล้วบอกพระกัมมัฏฐานได้เอง ส่วนอาจารย์นอกนี้ต้องถามอันเตวาสิกผู้จะเรียนพระกัมมัฏฐานทั้งนั้น เพราะเหตุฉะนี้ จะพึงทราบได้ว่า บุคคลนี้ เป็นคนราคจริต บุคคลนี้ เป็นคนจริตใดจริตหนึ่งในโทสจริตเป็นต้น ก็ด้วยเจโตปริยญาณ หรือเพราะสอบถามตัวบุคคลผู้นั้นเอง ด้วยประการฉะนี้

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๓

ก็แหละ ในปัญหาข้อว่า บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนราคจริต

จะอธิบายถึงเสนาสนะสำหรับคนราคจริต เป็นประการแรก เสนาสนะ ชนิดที่ตั้งอยู่กับพื้นดิน ชายคารอบ ๆ ไม่ล้างเซ็ด ไม่ทำกันสาด เป็นกุฎีมุงหญ้า เป็นบรรณศาลาที่มุงบังด้วยใบตองอย่างใดอย่างหนึ่ง เปรอะไปด้วยละอองธุลี เต็มไปด้วยค้างคาวเล็ก ๆ ทะลุปรุโปร่ง และปรักหักพัง สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป อยู่ที่ดอน มีความรังเกียจด้วยภัยอันตราย มีทางสกปรก และสูง ๆ ต่ำ ๆ แม้จะมีเตียงและทั่งก็เต็มไปด้วยตัวเรือด รูปร่างไม่ดี สีไม่งาม ที่พอแต่เพียงแลเห็นก็ให้เกิดความรังเกียจ เสนาสนะเช่นนั้นเป็นที่สบายของคนราคจริต

ผ้านุ่งและผ้าห่ม ชนิดที่ขาดแหว่งที่ชาย มีเส้นด้ายสับสนสวนขึ้นสวนลง เช่นเดียวกับขนมร่างแห มีสัมผัสสากเหมือนปอป่าน เป็นผ้าเศร้าหมองและหนัก รักษาลำบากเป็นที่สบายของคนราคจริต แม้บาตร บาตรดินชนิดที่สีไม่งาม หรือบาตรเหล็กชนิดที่ทำลายความงามเสียด้วยแนวตะเข็บและหมุด เป็นบาตรที่หนัก ทรวดทรงไม่ดี น่าเกลียดเหมือนกะโหลกศีรษะ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้ทางสำหรับไปบิณฑบาต ก็เป็นทางชนิดที่ไม่พอใจ ห่างไกลหมู่บ้าน ขรุขระไม่เรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาตก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายเที่ยวไปทำเป็นเหมือนไม่เห็นและที่มีคนทั้งหลายนิมนต์ภิกษุผู้ได้ภิกษาแม้ในตระกูลหนึ่งแล้วให้เข้าไปสู่โรงฉันว่า “นิมนต์มาทางนี้ขอรับ” ครั้นถวายข้าวต้มและข้าวสวยแล้ว เมื่อจะไปก็พากันไปอย่างไม่เหลียวแล คล้าย ๆ กับคนรับจ้างเลี้ยงโค ต้อนโคเข้าในคอกแล้วก็ไม่เหลียวแลฉะนั้น หมู่บ้านเช่นนั้นเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้คนปรนนิบัติเลี้ยงดู ก็เป็นพวกทาสหรือกรรมกร ที่มีผิวพรรณดำไม่น่าดู ผ้านุ่งสกปรก เหม็นสาบ น่าเกลียดจริง ๆ ปรนนิบัติเลี้ยงดูด้วยอาการไม่ยำเกรงเป็นดุจเขาข้ามและข้าวสวยทิ้งฉะนั้น คนปรนนิบัติเลี้ยงดูเช่นนั้น จึงเป็นที่สบายแก่คนราคจริต แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่เลว สีสันไม่ดี ที่ทำด้วยข้าวฟ่างข้าวกับแก้และข้าวปลายเกวียนเป็นต้น เปรียงบูด ผักเสี้ยนดอง แกงผักเก่า ๆ ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว พอให้เต็มท้องเท่านั้น เหมาะสมแก่คนราคจริต แม้อิริยาบถ อิริยาบถยืนหรืออิริยาบถเดิน เหมาะสมแก่คนราคจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน🔎วรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ชนิดที่มีสีไม่สะอาดตา เหมาะสมแก่คนราคจริตนี้คือธรรมเป็นที่สบายของคนราคจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต

เสนาสนะ สำหรับคนโทสจริตนั้น เป็นชนิดที่ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป มีร่มเงาบริบูรณ์ด้วยน้ำใช้น้ำฉัน มีฝา เสาและบันไดที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย เขียนภาพลายดอกไม้ลายเครือวัลย์สำเร็จเสร็จสรรพ รุ่งเรืองงามด้วยจิตรกรรมนานาชนิด มีพื้นเรียบเกลี้ยงเกลา นุ่มนิ่ม มีพวงดอกไม้และผ้าสีอันวิจิตรประดับเพดานอย่างเป็นระเบียบคล้ายกับวิมานพรหม เครื่องปูลาดและเตียงตั้งจัดแจงแต่งไว้อย่างดี สะอาดน่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟังด้วยเครื่องอบดอกไม้ที่จัดวางไว้เพื่อให้อบ ณ ที่นั้น ๆ ซึ่งพอเห็นเท่านั้นก็ให้เกิดความปีติปราโมช เสนาสนะเห็นปานฉะนี้ เป็นที่สบายของคนโทสจริต แม้ทางสำหรับเสนาสนะ นั้น ก็เป็นสิ่งปลอดภัยอันตรายทั้งปวง มีพื้นสะอาดและสม่ำเสมอ ประดับตกแต่งเรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้เครื่องใช้สำหรับเสนาสนะ ในที่นี้ ก็ไม่ต้องมีมากนัก มีเพียงเตียง และตั้งตัวเดียวก็พอ ทั้งนี้เพื่อตัดไม่ให้เป็นที่อาศัยของจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่นแมลงสาบ เรือด งูและหนูเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต ผ้านุ่งและผ้าห่ม ก็เป็นประเภทผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองโสมาร ผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าเปลือกไม้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นของประณีตชนิดใด ก็ตาม เอาผ้าชนิดนั้น มาทำเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น เป็นผ้าเบา ย้อมดี มีสีสะอาด ควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต บาตร เป็นชนิดบาตรเหล็ก มีทรวดทรงดีเหมือนต่อมน้ำ เกลี้ยงเกลาเหลาหล่อเหมือนแก้วมณี ไม่มีสนิม มีสี่สะอาดควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต ทางสำหรับไปบิณฑบาต เป็นชนิดที่ปลอดภัยอันตราย สม่ำเสมอ น่าเจริญใจไม่ไกลไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต ก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าจักมาเดี๋ยวนี้แล้ว จึงปูอาสนะเตรียมไว้ ณ ประเทศที่สะอาดเกลี้ยงเกลา ลุกรับช่วยถือบาตรนิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว จึงอังคาสเลี้ยงดูด้วยมือของตนโดยความเคารพ หมู่บ้านเช่นนั้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต คนปรนนิบัติเลี้ยงดู เป็นคนรูปร่างสะสวย น่าเลื่อมใส อาบน้ำชำระกายดีแล้วไล้ทาตัวดีแล้ว หอมฟังด้วยกลิ่นธูปกลิ่นเครื่องอบและกลิ่นดอกไม้ ประดับตกแต่งด้วยผ้าและอาภรณ์ที่ย้อมด้วยสีต่าง ๆ ล้วนแต่สะอาดและน่าภูมิใจ มีปกติทำการปรนนิบัติด้วยความเคารพ คนปรนนิบัติเลี้ยงดูเช่นนั้น จึงเป็นที่สบายแก่คนโทสจริต แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่มีสีต้องตา ถึงพร้อมด้วยกลิ่นและรส มีโอชาน่าชอบใจ ประณีตโดยประการทั้งปวง และเพียงพอแก่ความต้องการจึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้อิริยาบถ ก็ต้องเป็นอิริยาบถนอนหรืออิริยาบถนั่ง จึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน🔎วรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ซึ่งเป็นชนิดที่มีสีสะอาดหมดจดเป็นอย่างดีนี้คือธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโมหจริต

เสนาสนะต้องหันหน้าสู่ทิศไม่คับแคบ ที่เมื่อนั่งแล้วทิศย่อมปรากฏโล่งสว่าง ในบรรดาอิริยาบถ ๔ อิริยาบถเดินจึงจะเหมาะสม ส่วน

อารมณ์กัมมัฏฐานขนาดเล็กเท่าตะแกรง หรือเท่าขันโอ ย่อมไม่เหมาะสมแก่คนโมหจริตนั้น เพราะเมื่อโอภาสคับแคบ จิตก็จะถึงความมึนงงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น🔎ดวงกสิณขนาดใหญ่กว้างมากจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ มีเสนาสนะเป็นต้นซึ่งควรจะยกมาแสดงสำหรับคนโมหจริต พึ่งเข้าใจว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันกับการที่ได้แสดงไว้แล้วสำหรับคนโทสจริตนั่นแล นี้คือธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนโมหจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนศรัทธาจริต
วิธีที่ได้แสดงมาแล้วในคนโทสจริตแม้ทุก ๆ ประการ จัดเป็นธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนศรัทธาจริตด้วยแหละในบรรดาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหลายเฉพาะ🔎อนุสสติกัมมัฏฐานจึงจะเหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต

ธรรมเป็นที่สบายของคนพุทธิจริต
ไม่มีข้อที่จะต้องกล่าวว่าในบรรดาสัปปายะทั้งหลายมีเสนาสนะสัปปายะเป็นต้น สิ่งนี้ย่อมไม่เป็นที่สบายแก่คนพุทธิจริตฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนวิตกจริต
เสนาสนะที่โล่งโถงหันหน้าสู่ทิศสว่าง ที่เมื่อนั่งแล้ว สวน, ป่า, สระโบกขรณี, ทิวแถบแห่งหมู่บ้าน, นิคมชนบท และภูเขาอันมีสีเขียวชะอุ่ม ย่อมปรากฎเห็นเด่นชัด เสนาสนะเช่นนั้นย่อมไม่เหมาะสม เพราะเสนาสนะ อันมีลักษณะเช่นนั้น ย่อมเป็นปัจจัยทำให้วิตกวิ่งพล่านไปนั่นเทียว เพราะฉะนั้นวิตกจริตบุคคลพึงอยู่ในเสนาสนะที่ตั้งอยู่ในซอกเขาลึก มีป่ากำบัง เช่นเงื้อมเขาท้องช้างและถ้ำชื่อมหินทะ เป็นต้น แม้อารมณ์กัมมัฏฐานชนิดกว้างใหญ่ก็ไม่เหมาะสมแก่คนวิตกจริต เพราะอารมณ์เช่นนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้จิตแล่นพล่านไปด้วยอำนาจแห่งวิตก แต่อารมณ์ชนิดเล็กจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ เหมือนกับที่ได้แสดงมาแล้วสำหรับคนราคจริตนั่นเทียวนี้คือธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนวิตกจริต ด้วยประการฉะนี้

อรรถาธิบายอย่างพิสดาร โดยประเภท, เหตุให้เกิด, วิธีให้รู้ และธรรมเป็นที่สบายของจริยาทั้งหลาย ซึ่งมาในหัวข้อว่า อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตนยุติเพียงเท่านี้ ส่วนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยานั้น ข้าพเจ้ายังจะไม่แสดงให้แจ้งชัดโดยสิ้นเชิงก่อน เพราะกัมมัฏฐานนั้น ๆ จักปรากฏแจ้งชัดด้วยตัวเอง ในอรรถาธิบายพิสดารของหัวข้อถัดไปนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น