วันเสาร์

๔. กสิณ ๑๐

กสิณ ๑๐

กสิณ หมายถึง วัตถุอันจูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ ทำให้คุมใจได้มั่น จิตใจไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย วัตถุที่ใช้ในการเจริญกสิณมี ๑๐ อย่าง คือ

๑. ปฐวีกสิณ กสิณ ดิน
๒. อาโปกสิณ กสิณ น้้า
๓. เตโชกสิณ กสิณ ไฟ
๔. วาโยกสิณ กสิณ ลม
๕. นีลกสิณ กสิณ สีเขียว
๖. ปีตกสิณ กสิณ สีเหลือง
๗.โลหิตกสิณ กสิณ สีแดง
๘. โอทาตกสิณ กสิณ สีขาว
๙.อาโลกสิณ กสิณแสงสว่าง
๑๐. อากาสกสิณ หรือปริจฉินนากาสกสิณ กสิณที่ว่างหรืออากาศ



๑. ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) 
ต้องเตรียมดินที่จะใช้เป็นองค์กสิณ โดยเลือกดินสีอรุณ หรือสีพระอาทิตย์แรกขึ้น มีความเหนียวพอประมาณ เก็บสิ่งสกปรกที่ติดอยู่กับดินนั้นออกให้หมด ผสมกับน้ำนวดจนดินหมดฝุ่นละออง คลึงแผ่เป็นแผ่นวงกลมกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ทำหน้าดินให้เรียบเหมือนหน้ากลอง แต่งวงขอบของดินด้วยอีกสีหนึ่ง จะเป็นสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ให้มีขนาดเส้นขอบประมาณหนึ่งกระเบียด

ดวงกสิณนี้จะสร้างอยู่บนกระดาน บนผ้า บนกำแพง หรือบนดินก็ได้ แต่ต้องรักษาให้สะอาดเรียบร้อย และเรียบอยู่เสมอ เมื่อทำองค์กสิณเสร็จแล้วให้หาสถานที่สงบห่างไกลผู้คน เพื่อเพ่งปฐวีกสิณโดยตั้งองค์กสิณไว้เบื้องหน้าในระดับสายตาไม่สูงหรือต่ำเกินไป นั่งห่างจากองค์กสิณประมาณ ๒ ศอก ๑ คืบ หรือไม่ใกล้ –ไกล เกินไปนัก โดยนั่งขัดสมาธิ ทำจิตให้ระลึกถึงโทษของกามคุณว่า กามเป็นสิ่งน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก ให้โทษต่างๆ เปรียบดังหัวงูมีพิษ เพราะเป็นของน่ากลัว จึงควรทำตนให้พ้นจากกามคุณอารมณ์ต่างๆ ตั้งจิตให้ยินดีในฌาน ระลึกพระคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจึงลืมตาดูดวงกสิณนั้น บริกรรมว่า ปฐวีๆๆ (ดินๆๆ) เป็นร้อยครั้งพันครั้ง เมื่อลืมตาดูดวงกสิณแล้วหน่อยหนึ่งก็หลับตาลง แล้วจึงลืมตาขึ้นดูอีก ปฏิบัติจนได้อุคคหนิมิต คือหลับตาเห็น ลืมตาเห็นดวงกสิณ

จนคล่องแคล่ว ปฏิภาคนิมิตก็จะเกิดขึ้นเป็นสภาพที่สะอาด ไม่ด่างพร้อย จะใสเป็นกระจก งามกว่าอุคคหนิมิต จิตจะตั้งมั่น นิวรณ์ ๕ จะสงบระงับ พากเพียรต่อไปก็จะได้อัปปนาสมาธิ หากรักษาปฏิภาคนิมิตให้ดี พากเพียรปฏิบัติต่อไปก็จะได้ฌานเป็นลำดับขึ้นไป แต่หากรักษาปฏิภาคนิมิตไม่ดี สมาธิหรือฌานที่ได้ก็จะเสื่อมหายไป

๒. อาโปกสิณ (กสิณน้้า)
คือ การเพ่งน้ำ ผู้ที่เคยปฏิบัติอาโปกสิณในชาติก่อนๆ เมื่อเพ่งน้ำที่ใดที่หนึ่ง เช่น ในสระหรือในบ่อ ก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิตโดยง่าย หรือนำผ้าขาวขึงกลางแจ้งรองน้ำฝนบริสุทธิ์มาใส่ภาชนะเช่นขัน ใส่เต็มขอบปากภาชนะ เพ่งดูน้ำนั้นในที่สงบ บริกรรมว่า อาโปๆๆ (น้ำๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตตามลำดับ เช่นเดียวกับปฐวีกสิณ

๓. เตโชกสิณ (กสิณไฟ)
คือการเตรียมเปลวเพลิง ผู้ที่เคยปฏิบัติเตโชกสิณในชาติก่อนๆ อาจเพ่งเปลวไฟในเตา หรือที่ใดๆ จนได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับ โดยทั่วไปการจะเพ่งเตโชกสิณต้องเตรียมการโดยก่อไฟให้ลุกโพลง นำเสื่อ หรือ แผ่นหนังกั้นไว้หน้ากองไฟ เจาะช่องกลมโตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วเพ่งดูเปลวไฟ อย่าพิจารณาสีของเปลวไฟ หรือเถ้าถ่าน หรือควันไฟ เพราะจะกลายเป็นวรรณกสิณไป ขณะเพ่งเปลวไฟให้บริกรรมว่า เตโชๆๆ (ไฟๆๆ) จนอุคคหนิมิตปรากฏขึ้น และได้ปฏิภาคนิมิต ได้ฌานตามลำดับ อุคคหนิมิตของเตโชกสิณจะปรากฏภาพของเปลวไฟที่คุแต่อาจมีการพัดไหว ส่วนปฏิภาคนิมิตเปลวไฟจะนิ่ง มีสีทองหรือแดง

๔. วาโยกสิณ (กสิณลม)
คือ กสิณลม เจริญได้โดยต้องอาศัยการมองดู ยอดไม้ ใบไม้ เส้นผม เป็นต้น ที่สั่นไหวเพราะลมพัด หรือจะเจริญเมื่อลมพัดสัมผัสกายเราก็ได้ พร้อมบริกรรมว่า วาโยๆๆ (ลมๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิต เป็นลักษณะไอน้ำ น้ำตกหรือควันที่ไหวหวั่น แต่เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตจะไม่หวั่นไหวจะมีสภาพเป็นกลุ่มกอง เป็นเกลียวที่แน่นิ่ง

๕. นีลกสิณ (กสิณสีเขียว)
๖. ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง)
๗. โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง)
๘. โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว)

จะกล่าวรวมถึงวรรณกสิณ ทั้ง ๔ เพราะมีการปฏิบัติและลักษณะใกล้เคียงกัน นีลกสิณ คือ กสิณสีเขียว ผู้ที่มีวาสนาบารมีเคยเจริญกสิณนั้นมาก่อน เมื่อเห็นสีของใบไม้ ผ้า หรือวัตถุอื่นก็สามารถเพ่งดู และบริกรรมได้ทันที แต่ถ้าจะทำองค์นีลกสิณ ต้องใช้ดอกไม้ ใบไม้ วัตถุใดๆ ก็ตามที่มีสีเขียว ถ้าใช้ดอกไม้ เช่น ดอกบัว ก็ต้องนำมาใส่พาน หรือขันให้เต็มขอบภาชนะ หรือ ถ้าจะใช้ผ้า, กระดาษ, ก็ต้องใช้ผ้า กระดาษ สีเขียว มาตัดเป็นวงกลมกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว เอาสีเขียวทาบนแผ่นวงกลมให้เรียบร้อย ตัดขอบด้วยสีขาว แดง เพื่อเน้นให้สีเขียวเด่นชัดขึ้น เมื่อเพ่งก็บริกรรมว่า นีละ นีละ(เขียวๆๆ)

ส่วนกสิณสีอื่นๆ เช่น ปีตกสิณ กสิณสีเหลืองก็จัดทำเช่นเดียวกันโดยใช้ดอกไม้ หรือผ้า, กระดาษ บริกรรมว่า ปีตะ ปีตะ (เหลืองๆๆ)
โลหิตกสิณ คือกสิณสีแดง ให้บริกรรมว่า โลหิตะ โลหิตะ 
(แดงๆๆ)
โอทาตกสิณ คือ กสิณสีขาว ก็บริกรรมว่า โอทาตะ โอทาตะ (ขาวๆ)
ทำไปจนเกิดอุคคหนิมิต
ก็ไม่จำเป็นต้องเพ่งองค์กสิณอีก ให้เพ่งแต่อุคคหนิมิตที่ได้มา จนเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น และได้ฌานไปตามลำดับ

๙. อาโลกกสิณ (กสิณแสงสว่าง)
คือ กสิณแสงสว่าง เป็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงไฟเป็นต้น แต่เมื่อมิอาจ เพ่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงไฟต่างๆโดยตรง ก็ต้องทำองค์กสิณ โดยการหารอยแตกของฝาเรือน หลังคาที่พักอาศัย หรือเจาะให้แสงสว่างลอดเข้ามาปรากฏที่ฝาหรือพื้นเรือน หรือจุดตะเกียง หรือเปิดไฟไว้ เอาม่านกั้นให้มิดชิด เจาะรูม่านให้แสงลอดออกมาเป็นดวงที่ฝา แล้วเพ่งดูแสงสว่างนั้น บริกรรมว่าโอภาโส โอภาโส (แสงๆๆ) หรือ อาโลโก อาโลโก (สว่างๆๆ) จนอุคคหนิมิตเกิดขึ้นเป็นแสงสว่างไม่ต่างจากบริกรรมนิมิต ส่วนปฏิภาคนิมิตแสงสว่างจะเป็นกลุ่มก้อนคล้ายดวงไฟในโป๊ะไฟสีขาวสว่างรุ่งโรจน์กว่าอุคคหนิมิตหลายเท่า

๑๐. อากาสกสิณ หรือปริจฉินนากาสกสิณ (กสิณที่ว่างหรืออากาศ)
คือ การเพ่งอากาศว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ทำองค์กสิณโดยเจาะฝาให้เป็นช่องว่างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว หรือใช้ช่องหน้าต่าง ประตู เพ่งดูอากาศที่ปรากฏตามช่องนั้นๆ แล้วบริกรรมว่า อากาโสๆๆ (แจ้งๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิตเห็นอากาศที่ปรากฏตามช่อง มีขอบเขต เหมือนกับบริกรรมนิมิตทุกประการ แต่เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว จะปรากฏแต่อากาศอย่างเดียวไม่ปรากฏขอบเขต ทั้งยังสามารถขยายขอบเขตให้กว้างใหญ่เพียงไรก็ได้

คุณลักษณะพิเศษของกสิณ ๑๐ 

กสิณมีลักษณะพิเศษหลายประการ เช่น เมื่อได้รูปฌาน ๔ การเพ่งกสิณอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าต้องการอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตจากกสิณอีก ๙ อย่างที่เหลือ ก็ไม่ต้องจัดทำองค์กสิณขึ้นใหม่ให้มองดูสิ่งอื่นๆตามธรรมชาติ เช่นมองดูดิน (ปฐวีกสิณ) แล้วบริกรรมปฐวีๆๆ(ดินๆๆ) หรือ ดูแม่น้ำ ไฟ ลม สีต่างๆ แสงสว่าง อากาศ แล้วบริกรรมตามคำบริกรรมตรงกับสิ่งที่เราเพ่งนั้นๆ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ก็จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ กสิณยังเป็นกรรมฐานที่ทำให้ถึงฌานเร็วกว่ากรรมฐานอื่นๆ เพราะการเพ่งกสิณนั้น อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เกิดขึ้นง่าย ได้ฌานเร็ว โดยเฉพาะกสิณที่เกี่ยวกับสีทั้ง ๔ แล้วจะยิ่งเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต และฌานได้เร็วยิ่งกว่ามหาภูตกสิณ พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต


อานุภาพแห่งกสิณ ๑๐ ท้าให้เกิดฤทธิ์ต่างๆ
๑. ปฐวีกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๑.๑ เนรมิตคน ๆ เดียวให้กลายเป็นหลายร้อยหลายพันคน
    ๑.๒ เนรมิตตนเองให้เป็นพญานาค พญาครุฑ
    ๑.๓ ทำท้องอากาศ แม่น้ำ มหาสมุทร ให้เป็นพื้นแผ่นดิน ให้ยืน เดิน นั่ง นอน ได้
    ๑.๔ เนรมิต วิมาน วัดวาอาราม บ้านเรือน วัตถุสิ่งของต่างๆ ตามความประสงค์ของตน
    ๑.๕ ทำสิ่งที่เบาให้หนัก
    ๑.๖ ทำให้วัตถุติดแน่นตั้งมั่นอยู่ มิให้โยกย้ายเคลื่อนที่ไป
    ๑.๗ ได้ อภิภายตนะ คือ สามารถข่มทำลายธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจ และสามารถข่มอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา อยากได้ อยากพบ) และอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่อยากได้ ไม่อยากพบ) มิให้มาปรากฏภายในจิตใจของตนได้
๒. อาโปกสิณ มีอานุภาพ คือ

    ๒.๑ แทรกแผ่นดินไปแล้ว ผุดขึ้นมาได้
    ๒.๒ ทำให้ฝนตก
    ๒.๓ ทำพื้นแผ่นดินให้เป็นแม่น้ำ และมหาสมุทร
    ๒.๔ ทำน้ำธรรมดาให้เป็น น้ำมัน น้ำนม น้ำผึ้ง
    ๒.๕ ทำให้กระแสน้ำพุ่งออกมาจากร่างกาย
    ๒.๖ ทำให้ภูเขา ปราสาท วิมาน สะเทือนหวั่นไหว
๓. เตโชกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๓.๑ เกิดควันกำบังตน และทำให้เปลวไฟโชติช่วงขึ้นจากร่างกาย หรือวัตถุอื่นๆ
    ๓.๒ ทำให้ฝนถ่านเพลิงตกลงมา
    ๓.๓ ใช้ไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของตนดับไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลง
    ๓.๔ สามารถเผาผลาญบ้านเมือง วัตถุสิ่งของต่างๆได้
    ๓.๕ ทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น เพื่อจะได้แลเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
    ๓.๖ ทำให้เตโชธาตุ หรือไฟลุกไหม้สรีระในสมัยที่ปรินิพพาน
    ๓.๗ ทำให้ความมืดหายไป
๔. วาโยกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๔.๑ เหาะไปได้
    ๔.๒ สามารถไปถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปได้อย่างรวดเร็ว
    ๔.๓ ทำสิ่งที่หนักให้เบา
    ๔.๔ ทำให้พายุใหญ่เกิดขึ้น
๕. นีลกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๕.๑ ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีเขียว
    ๕.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นมรกต
    ๕.๓ ทำความมืดให้เกิดขึ้นไม่ว่าเวลาใด
    ๕.๔ ได้อภิภายตนะ
    ๕.๕ ได้สุภวิโมกข์ คือ บรรลุ มรรค ผล นิพพานโดยง่ายและสะดวกสบาย
๖. ปีตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๖.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีเหลือง
    ๖.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นทอง
    ๖.๓ ได้อภิภายตนะ
    ๖.๔ ได้สุภวิโมกข์
๗. โลหิตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๗.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีแดง
    ๗.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นแก้วทับทิม
    ๗.๓ ได้อภิภายตนะ
    ๗.๔ ได้สุภวิโมกข์
๘. โอทาตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๘.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีขาว
    ๘.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นเงิน
    ๘.๓ ทำให้หายจากความง่วงเหงาหาวนอน
    ๘.๔ ทำให้ความมืดหายไป แล้วทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
๙. อาโลกกสิณ มีอานุภาพ คือ
๙.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเกิดแสงสว่าง หรือทำให้ร่างกายเกิดแสงสว่างเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นมา
๙.๒ เนรมิตเป็นรูปต่างๆประกอบด้วยแสงสว่างอย่างรุ่งโรจน์
๙.๓ ทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน
๙.๔ ทำความมืดให้หายไป ทำความสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
๑๐. อากาสกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๑๐.๑ เปิดเผย สิ่งที่หลบซ่อนลี้ลับให้ปรากฏให้เห็นได้
    ๑๐.๒ ทำให้มีอากาศเป็นอุโมงค์ช่องว่างเกิดขึ้นภายในพื้นแผ่นดิน ภูเขา มหาสมุทร แล้วยืน เดิน นั่ง นอนได้
    ๑๐.๓ เข้าออกทางฝา หรือกำแพงได้

กสิณทั้ง ๑๐ อย่าง มีอานุภาพทำให้เกิดฤทธิ์ที่เหมือนๆ กัน คือ
ก. สามารถกำบังสิ่งต่างๆไม่ให้ผู้ใดแลเห็น
ข. ทำวัตถุสิ่งของเล็กให้กลับใหญ่ หรือที่ใหญ่ให้กลับเล็ก
ค. ทำระยะทางใกล้ให้ไกล และย่นระยะทางที่ไกลให้กลับเป็นใกล้
ง. กสิณ เมื่อเจริญแล้วทำให้สำเร็จรูปฌานและอรูปฌานได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น